Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all 14385 articles
Browse latest View live

ศาลพม่าตั้งข้อหานักข่าวรอยเตอร์ 2 คน 'เปิดเผยความลับทางราชการ'กรณีรายงานข่าวการสังหารหมู่ชาวโรฮิงญา

$
0
0

นักข่าวรอยเตอร์ 2 ราย ถูกศาลตั้งข้อหาละเมิดกฎหมายความลับทางราชการหลังจากที่พวกเขาให้ข้อมูลเรื่องทหารพม่าสังหารประชาชนชาวโรฮิงญาในหมู่บ้านอินน์ดินเพื่อนำเสนอข่าวเชิงลึกผ่านรอยเตอร์ องค์กรเสรีภาพสื่อและสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้ยกเลิกการตั้งข้อหากับนักข่าวที่ทำหน้าที่ของตัวเองทั้งสองคนนี้ ขณะที่ทนายความของทั้งสองคนมองว่ายังมีความหวังที่จะแก้ต่างให้พวกเขาในเรื่องนี้

12 ก.ค. 2561 สื่ออิระวดีรายงานว่าศาลแขวงในเขตตอนเหนือของกรุงย่างกุ้งตั้งข้อหาให้นักข่าวรอยเตอร์ 2 คน มีความผิดข้อหาละเมิดกฎหมายความลับทางราชการจากการที่พวกเขาถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้นำเอกสารลับของรัฐบาลออกเผยแพร่ 

สองนักข่าวโกวาโลน (Ko Wa Lone) และ โกแกวซอโอ (Ko Kyaw Soe Oo) ถูกตั้งข้อหาละเมิดมาตรา 3 [1] ที่ระบุถึงกรณีความลับทางราชการ ซึ่งเป็นกฎหมายมีมาตั้งแต่ยุคอาณานิคมแล้ว โดยในกฎหมายระบุว่าผู้ที่ละเมิดจะถูกจำคุกสูงสุด 14 ปี อย่างไรก็ตามนักข่าวทั้งสองคนแก้ต่างว่าพวกเขาไม่ได้มีความผิดเพราะไม่ได้มีเจตนาสร้างความเสียหายต่อผลประโยชน์ของรัฐบาลเลย พวกเขาแค่ทำหน้าที่รายงานข่าวโดยไม่ได้เก็บข้อมูลหรือสำเนาเอกสารใดๆ มาจากรัฐบาล

อูขิ่นหม่องซอว์ (U Khin Maung Zaw) ทนายความของนักข่าวสองคนนี้เปิดเผยว่า รัฐบาลกล่าวหาจำเลยทั้งสองคนว่าทำการเก็บข้อมูลลับของรัฐบาลเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2560 และอ้างว่าจำเลยทั้งสองคนจะนำข้อมูลนี้ไปเผยแพร่กับศัตรูหรือใช้มันสร้างความเสียหายต่อผลประโยชน์ของรัฐบาล หรือนำไปเผยแพร่ต่อ ซึ่งทางทนายความบอกว่าเขาไม่พอใจต่อการตั้งข้อหาของศาลและมีแผนการจะโต้ตอบข้อกล่าวหาเหล่านี้ โดยจะมีการนัดสืบพยานอีก 6 รายในชั้นศาลอีกภายในวันที่ 16 ก.ค. ที่จะถึงนี้

นักข่าวรอยเตอร์ทั้ง 2 คนถูกขังก่อนการพิจารณาคดีมาตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค. 2560 ทันทีหลังจากที่ถูกจับกุม พวกเขากำลังทำข่าวสืบสวนสอบสวนกรณีที่กองทัพรัฐบาลพม่าสังหารชาวโรฮิงญา 10 คนรวมถึงเด็กในหมู่บ้านอินน์ดินทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ หลังจากนั้นสื่อรอยเตอร์ก็นำเสนอเรื่องเกี่ยวกับการสังหารหมู่ดังกล่าวเป็นรายงานเชิงลึก ในเดือน เม.ย. 2561 ที่ผ่านมารัฐบาลทหารก็ประกาศว่ามีการสั่งลงโทษทหาร 7 นาย ด้วยการจำคุก 10 ปีจากการที่พวกเขาสังหารคนนอกกระบวนการกฎหมาย

สตีเฟน เจ แอดเลอร์ ประธานรอยเตอร์และหัวหน้ากองบรรณาธิการกล่าวว่าทางรอยเตอร์รู้สึก "ผิดหวังอย่างมาก"ต่อคำวินิจฉัยของศาลและบอกว่าการดำเนินคดีกับนักข่าวของพวกเขา "ไม่มีมูลความจริง"แอดเลอร์บอกว่านักข่าวของเขาทำงานอย่างอิสระและไม่เลือกข้าง ไม่มีข้อเท็จจริงใดๆ เลยที่บ่งบอกว่าพวกเขาผิดกฎหมาย ทำให้การตั้งข้อหาของศาลในครั้งนี้ทำให้น่าสงสัยต่อพันธกรณีของรัฐบาลพม่าในเรื่องเสรีภาพสื่อและหลักนิติธรรม

ก่อนหน้านี้ในปี 2557 ก็เคยมีกรณีนักข่าว 5 รายจากวารสารยูนิตีเจอนัลถูกตั้งข้อหามาตรา 3 [1] [a] ว่าด้วยความลับทางราชการและต่อมาก็ถูกตัดสินจำคุก 10 ปี และลดโทษเหลือ 7 ปี หลังจากอุทธรณ์ผ่านศาลระดับภูมิภาค

ในวันเดียวกันกับที่มีการตั้งข้อหา องค์กรเพื่อเสรีภาพสื่อและองค์กรสิทธิมนุษยชนอย่าง Article 19, แอมเนสตี อินเตอร์เนชันแนล และคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการยกเลิกการตั้งข้อหานักข่าว 2 รายล่าสุด โดยที่แมธธิว บูเออร์ ประธานโครงการภาคพื้นเอเชียของ Article 19 กล่าวว่าการวินิจฉัยของศาลในครั้งนี้ถือเป็นเรื่องอยุติธรรม เพราะนักข่าวทั้ง 2 คน ต่างก็เสี่ยงชีวิตเพื่อเปิดเผยเรื่องราวที่ถูกซ่อนไม่ให้สาธารณชนรับรู้ ควรจะชื่นชมการทำงานที่ส่งเสริมการตรวจสอบของพวกเขามากกว่าจะดำเนินคดีกับกระบวนการกฎหมายที่ "ไร้สาระอย่างที่สุด"

 

เรียบเรียงจาก

Two Reuters Reporters Charged With Violating Official Secrets Act, The Irrawaddy, 09-07-2018

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปักธงผ่าตัดผู้ป่วยต้อกระจกทั่วประเทศ สธ.ผนึก สปสช.ยกระดับคุณภาพชีวิต

$
0
0
สธ. ร่วมกับ สปสช.ตั้งเป้ากวาดล้าง 'ตาบอดจากต้อกระจก'ให้หมดไทย รองอธิบดีกรมการแพทย์ ชี้ประเทศพัฒนาแล้วมองสายตาเอียงเป็นโรคที่ต้องมีสิทธิประโยชน์รองรับ จ่อผลักดัน 'เลนส์แก้วตาแก้สายตาเอียง'เข้าสู่ระบบบัตรทอง หวังยกระดับคุณภาพชีวิต
 
12 ก.ค.2561 นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงแนวทางการดูแลผู้ป่วยตาต้อกระจก ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ชัดเจนว่าสิทธิประโยชน์ของผู้ป่วยตาต้อกระจกที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ดีขึ้นตามลำดับ โดยเป้าหมายในปัจจุบันคือต้องการขจัดปัญหาตาบอดจากต้อกระจกให้หมดไปจากประเทศไทย
 
นพ.ปานเนตร กล่าวว่า ในอดีตพบปัญหาผู้ป่วยเข้าไม่ถึงบริการและการให้บริการก็ไม่มีความแน่นอน เพราะต้องอาศัยเงินบริจาคจากมูลนิธิหรือองค์กรสาธารณะประโยชน์ต่างๆ จึงจะสามารถออกหน่วยให้บริการประชาชนได้ อย่างไรก็ตามภายหลังมีระบบบัตรทองและได้ทำโครงการแก้วตาดวงใจเทิดไท้ 72 พรรษามหาราชินี ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ใช้งบประมาณจากภาครัฐในการส่งเสริมให้เกิดการผ่าตัดทั่วประเทศได้ 1 แสนดวงตา จากนั้นทาง สปสช.ก็เข้ามารับช่วงต่อในการดูแล กำหนดสิทธิประโยชน์ และเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อให้เกิดความยั่งยืน
 
นพ.ปานเนตร กล่าวว่า ในอดีตจะใช้เลนส์ขนาด 6 มิลลิเมตร ผ่าตัดแผลใหญ่และต้องเย็บแผลหลายเข็ม แต่ในระยะหลังมีการศึกษาวิจัยจนพบว่าสามารถใช้คลื่นอัลตร้าซาวน์ผ่าตัดต้อกระจกแผลเล็กได้ แต่ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ซึ่งเมื่อเทียบเคียงความคุ้มค่าที่ผู้ปวยจะฟื้นตัวเร็ว สามารถกลับไปทำงานหารายได้ได้ สปสช.จึงได้อนุมัติให้มีการเบิกจ่ายการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดแผลเล็ก โดยใช้เลนส์แก้วตาเทียมชนิดนิ่มที่พับได้ ซึ่งนับว่าผู้ป่วยจะได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
 
“แต่ก่อนเราบอกว่าของฟรีคงไม่ค่อยดี แต่ที่จริงไม่ใช่แล้ว เพราะมีมาตรฐานดี มีคณะกรรมการดูแลและพิจารณาอย่างละเอียด” นพ.ปานเนตร กล่าว
 
รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวอีกว่า ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา มีการพัฒนาบุคลากรด้านจักษุ รวมถึงพยาบาลในท้องถิ่น และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อรองรับการดำเนินโครงการมาโดยตลอด ถึงแม้ว่าปัจจุบันยังไม่เพียงพอแต่ก็นับว่าดีขึ้นและให้บริการได้อย่างครอบคลุม โดยปัจจุบัน สธ.ได้ร่วมมือกับราชวิทยาลัยเพื่อให้โควต้าจักษุแพทย์เพิ่มขึ้นอีกกว่า 100 คน ซึ่งหากเป็นไปตามอัตรานี้อีก 2-3 ปีข้างหน้า คาดว่าบุคลากรจะเพียงพอ จากนั้นก็จะมีการบริหารจัดการระบบเพื่อให้เกิดความยั่งยืน
 
ขณะเดียวกันมีการทำระบบสารสนเทศเพื่อให้ส่วนกลางสามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดตามตัวชี้วัดหรือไม่ เช่น ป่วยชนิดบอดต้องผ่าตัดภายใน 30 วัน หรือถ้าไม่ถึงกับบอดต้องได้รับการผ่าตัดภายใน 90 วัน
 
“การมอร์นิเตอร์นี้ถือเป็นการประกันคุณภาพการรักษา และเพิ่มศักยภาพในการผ่าตัดได้มากขึ้น โดยสถิติพบว่าผู้ป่วยต้อกระจกเกิดใหม่เฉลี่ยปีละ 6 หมื่นราย และมีผู้ป่วยตกค้างที่ยังไม่ได้รับการรักษาอีกราวๆ แสนกว่าราย ขณะที่การให้การรักษาในปัจจุบันนื้เคยทำได้สูงสุดถึงปีละ 1.8 แสนราย นั่นหมายความว่าผู้ป่วยก็จะลดลงเรื่อยๆ ปัญหาใหม่ก็จะไม่มี ปัญหาเก่าๆ ก็จะค่อยๆ เคลียร์” นพ.ปานเนตร กล่าว
 
นพ.ปานเนตร กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้โรงพยาบาลทั่วประเทศ ตั้งแต่โรงพยาบาลชุมชนบางแห่งไปจนถึงโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ก็มีแพทย์ด้านตาหมดแล้ว ส่วนในพื้นที่ที่ยังขาดแคลนจริงๆ ก็มีการออกหน่วยเคลื่อนที่ โดยใช้โรงพยาบาลชุมชนเป็นฐานในการผ่าตัด
 
“หลังจากเราเคลียร์ผู้ป่วยต้อกระจกชนิดบอดได้แล้วก็จะเข้าสู่สิ่งที่เรียกว่าระดับคุณภาพชีวิต คือจริงๆ แล้วตาของเราจะมีสายตาเอียงอยู่ด้วย ซึ่งต้องแก้ด้วยการใส่แว่น แต่พัฒนาการในปัจจุบันพบว่ามีเลนส์แก้วตาเทียมที่แก้สายตาเอียงได้ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ออสเตรเลีย เขาให้เบิกเลนส์แก้วตาเทียมเพื่อแก้สายตาเอียงได้ด้วย ซึ่งจะจบทีเดียวเลยโดยที่ไม่ต้องไปตัดแว่นอีก ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้ผู้ป่วยด้วย”
 
นพ.ปานเนตร กล่าวว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วมองว่าสายตาเอียงเป็นโรค ต้องมีสิทธิประโยชน์ในการดูแล ซึ่งขณะนี้เราพยายามเสนอให้พิจารณานำเลนส์แก้วตาเทียมชนิดแก้เอียงเข้ามาอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วราคาของเลนส์เกือบ 1 หมื่นบาท แต่ถ้าเราซื้อมากๆ และมีการต่อรองราคา เชื่อว่าราคาก็จะลดลงเป็นอย่างมาก
 
“สมมุติว่าราคาเลนส์แก้สายตาเอียงอยู่ที่ 8,000 บาท ขณะที่เลนส์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันราคา 2,800 บาท นั่นหมายความว่าราคาแพงขึ้นราวๆ 5,000 บาท โดยเรามีผู้ป่วยที่ต้องใช้เลนส์แก้สายตาเอียงประมาณ 6 หมื่นคน แต่ถ้าเราใช้กระบวนการต่อรองราคาน่าจะทำให้ต่ำลงเหลือไม่ถึง 5,000 บาทได้ ซึ่งคิดว่าเป็นสิ่งที่คุ้มค่า” นพ.ปานเนตร กล่าว
 
นพ.ปานเนตร กล่าวว่า สธ.มีนโยบายให้หน่วยบริการภาครัฐทั่วประเทศดำเนินการตามไกด์ไลน์ที่อยู่ใน Service Plan ด้านตา ซึ่งมีทั้งการกำหนดพันธกิจและมีตัวชี้วัดอย่างชัดเจน แต่ก็เห็นใจหน่วยบริการเพราะมีโครงการเรื่องสายตาด้านอื่นๆ อีก ซึ่งทำให้ภาระงานของพื้นที่สูงขึ้น นั่นเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาในเชิงระบบต่อไป
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เตือน! ผักไฮโดรโปนิกส์มีสารเคมีเกินมาตรฐานกว่า 60% ยังไม่มีหน่วยงานรัฐรับผิดชอบ

$
0
0

ไบโอไทยเผยพบสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐานของผักไฮโดรโปนิกส์เกิดในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ด้วย เหตุผสมปุ๋ยเคมีเพื่อให้พืชดูดสารพิษเพื่อฆ่าแมลง

ที่มาภาพประกอบข่าว: Aqua Mechanical

12 ก.ค. 61 ไบโอไทยเปิดเผยข้อมูลว่า เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) เปิดเผยผลการตรวจสอบพบว่า ผักไฮโดรโปนิกส์ที่จำหน่ายในห้างค้าปลีกสมัยใหม่ (โมเดิร์นเทรด) มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินมาตรฐานมากกว่า 60% ของตัวอย่างที่มีการสุ่มตรวจ สั่นคลอนความเชื่อของผู้คนที่เข้าใจว่าผักที่ปลูกโดยระบบที่ไม่ใช้ดินนี้ปลอดภัยกว่าผักทั่วๆ ไป

ไบโอไทยพบว่า ปัญหาสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐานของผักไฮโดรโปนิกส์นั้นไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น การสุ่มตรวจในออสเตรเลียซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการส่งเสริมการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์มากที่สุดในโลกก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน รวมทั้งนิวซีแลนด์ด้วย

รายงานการวิเคราะห์ของอุตสาหกรรมไฮโดรโปนิกส์เอง ซึ่งเป็นการศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลของทั้งสองประเทศค้นหาสาเหตุพบความจริงหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบางเรื่องที่ถูกปิดบังมานาน เช่น การผสมสารเคมีกำจัดศัตรูพืชลงในสารอาหาร(ปุ๋ยเคมี)เพื่อให้รากของพืชดูดสารพิษเหล่านั้นเพื่อฆ่าแมลงศัตรูพืชในระบบไฮโดรโปนิกส์ เป็นต้น

นับตั้งแต่มีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว เรายังไม่เห็นการแสดงความรับผิดชอบใดๆของหน่วยงานของรัฐ และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด

ส่วนสาเหตุที่พบสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐานในผักไฮโดรโปนิกส์มากกว่าผักปลูกโดยใช้ดิน เนื่องจาก 1.) ส่วนใหญ่อยู่ในโรงเรือนที่มีร่มเงา/ผนังกั้น สารเคมีกำจัดโรคและแมลงที่ฉีดพ่นจึงสลายตัวด้วยแสงแดดช้ากว่า ไม่ถูกชะล้างด้วยฝนหรือน้ำเหมือนผักทั่วไป ทำให้สะสมอยู่ในโรงเรือนและวัสดุปลูก และไม่ถูกสลายด้วยจุลินทรีย์ในดิน 2.) ฟาร์มไฮโดรโปนิกส์ส่วนใหญ่ทั้งระบบปิดและเปิดใช้สารเคมีกำจัดแมลงและเชื้อรา 3.) ผักสามารถดูดซึมสารละลายไนเตรทอย่างรวดเร็วโดยตรง และมีโอกาสสะสมอยู่ในส่วนต่างๆ ได้ง่ายกว่าผักที่ปลูกบนดิน 4.) มีการใส่สารเคมีกำจัดศัตรูพืชผสมอยู่ในสารละลายปุ๋ยเคมีและสะสมอยู่ในผักหลังการเก็บเกี่ยว

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จับนายกเทศมนตรีเผาศาลากลางขอนแก่น ขัง 8 เดือนไม่ได้ประกัน เจ้าตัวยันนำรถดับเพลิงไปควบคุมเพลิง

$
0
0

พยานเป็นผู้สื่อข่าวผู้จัดการชี้ตัวตามภาพถ่ายระบุ เห็นใช้โทรศัพท์มือถือและชี้มือมีลักษณะสั่งการ จำเลยยืนยันนำรถดับเพลิงและเรียกลูกบ้านไปเพื่อระงับเหตุ หลังเกิดเหตุไม่ได้หลบหนีไปไหนจนถูกจับ ยื่นประกัน 3 ครั้ง หลักทรัพย์ห้าล้าน ศาลไม่อนุมัติอ้างเกรงหลบหนี 

(เมื่อวานนี้) 11 กรกฎาคม 2561 เวลาประมาณ 09.30 น. ห้องพิจารณาคดีที่ 1 ชั้น 2 ศาลจังหวัดขอนแก่น ได้มีนัดสืบพยานโจทก์คดีเผาศาลากลาง จ.ขอนแก่น โดยเหตุเกิดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ในช่วงเหตุการณ์การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงที่บริเวณแยกราชประสงค์ 

อัยการได้สืบพยานโจทก์ปากที่ 3 นายภัคพงษ์ นครแก้ว วัย 39 ปี ซึ่งเป็นผู้สื่อข่าว ASTV ศูนย์ขอนแก่นที่อยู่ในเหตุการณ์ ภัคพงษ์ได้ให้การยืนยันต่อศาลว่า ภาพที่ได้จากการแคปเจอร์จากคลิปวิดีโอ เป็นภาพของนายชารี โดยในวันเกิดเหตุตนได้แฝงตัวและทำตัวตีสนิทไปกับกลุ่มคนเสื้อแดง ในที่เกิดเหตุได้เห็นนายชารีอยู่ในเหตุการณ์แสดงกริยารับโทรศัพท์และโบกมือไปมามีลักษณ์เหมือนสั่งการ เมื่อทนายได้ถามถึงรายละเอียด ภัคพงษ์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าจำเลยแต่งกายในชุดสุภาพปกติ ไม่ได้แต่งกายแบบคนเสื้อแดงและไม่ได้ถือหรือพกพาเครืองมือใดๆ

ภัคพงษ์ได้ให้การว่าตัวเองเป็นผู้สื่อข่าวของ ASTV ที่มีจุดยืนทางการเมืองตรงข้ามกันกับกลุ่มคนเสื้อแดง 

ต่อมาได้มีการสืบพยานโจทก์ปากที่ 4 เป็นชายวัย 61 ปี ซึ่งเคยเป็นกำนันตำบลสาวะถี ได้ยืนยันว่าชาวบ้านในพื้นที่ได้ยืนยันว่าจำเลยได้ชักชวนไปยังที่เกิดเหตุจริงแต่เท่าที่ได้ร่วมงานกับจำเลยมาเห็นว่าจำเลยทำงานตามหน้าที่ไม่ได้ฝักใฝ่การเมือง

ศาลได้นัดสืบพยานโจทก์และจำเลยต่อไปในวันที่ 17-19 กรกฎาคม 2561

ชารี พานสายตา ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2561 โดยถูกกรมสืบสวนคดีพิเศษ DSI แจ้งข้อหาว่าได้กระทำความผิดร่วมกันวางเพลิงเผาศาลากลางจังหวัดในเหตุการณ์สลายการชุมนุม 19 พฤษภาคม 2553 อัยการได้ทำการส่งฟ้องศาลเมื่อ 15 พฤษภาคม 2561 โดยหลังการถูกจับกุมที่ที่พักจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 8 เดือน นายชารีได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวแล้ถึง 3 ครั้ง โดยใช้หลักทรัพย์วงเงินห้าล้านบาท แต่ศาลยกคำร้องไม่ให้ประกันตัวโดยให้เหตุผลว่าคดีร้ายแรงเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี

ชารี กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ขอยืนยันว่าในวันเกิดเหตุได้ไปทำหน้าที่ระงับเหตุโดยได้เกณฑ์ลูกบ้านและนำรถดับเพลิงของเทศบาลไปด้วย แต่เมื่อถึงที่หมาย ไม่สามารถนำรถดับเพลิงเข้าไปได้ เนื่องจากถูกผู้ชุมนุมปิดกั้น จึงเข้าไปแต่ตัว โดยเข้าไปทำการห้ามปรามประชาชนเท่านั้น 

ผู้ต้องขังในคดีการเมืองวัย 55 ปี เล่าว่า ตนคลุกคลีกับกิจกรรมชุมชนตั้งแต่ยังเด็ก เป็นประธานกลุ่มเยาวชน หลังบวชเรียน 4 พรรษา ได้ชั้น นักธรรมเอก เมื่อสึกออกมาก็ได้รับเลือกเป็น ผู้ใหญ่บ้าน 13 ปี ได้รับเลือกเป็นกำนัน 4 ปี โดยได้รับรางวัลกำนันแหนบทอง และต่อมาก็ได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรี ต.สาวะถึอีก 1 วาระ 4 ปี นอกจากนั้นยังทำงานในภาคประชาสังคมเป็นคณะกรรมการของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน จ.ขอนแก่นด้วย 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“ยุติธรรมไทยวิบัติ กฎหมายไทยวิปลาส” ฟังวงสนทนาของเหล่านักกฎหมาย

$
0
0

ทนาย EnLaw ชี้ ต้องมีพหุกฎหมายที่เอื้อให้เกิดสิทธิชุมชน กฎหมายต้องเปิดช่องให้ตรวจสอบแสดงความเห็น อดีตผู้กำกับ สภ. เผยยุติธรรมไทยวิบัติ ตำรวจจับคนบริสุทธิ์ต้องทำให้กลายเป็นคนผิด ไม่งั้นผิด ม. 157 ด้านอัยการชี้กฎหมายไทยวิปลาส ไม่ตามหลักสากล ใน ตปท. อัยการตัดสินว่าจะแจ้งข้อหาหรือไม่ ถ้าพิสูจน์ว่าไม่ผิดก็ปล่อยและไม่โดนมาตรา 157

11 ก.ค. 2561 WAY Dialogue ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย จัดเสวนา “ประเทศเหลื่อมล้ำความยุติธรรมชำรุด” ณ อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา ประกอบด้วย พ.ต.อ.วิรุตน์ ศิริสวัสดิบุตร อดีต ผกก.สภ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี คอลัมนิสต์ ผู้เขียนหนังสือวิกฤตตำรวจและงานสอบสวนจุดดับกระบวนการยุติธรรม, สุรชัย ตรงงาม ทนายความมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) และน้ำแท้ มีบุญสร้าง อัยการจังหวัด สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิ์และช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี จังหวัดกาญจนบุรี ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนกันในหัวข้อ “เราเห็นอะไรในกระบวนการยุติธรรม” โดยจักรชัย โฉมทองดี เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

จากซ้ายไปขวา สุรชัย ตรงงาม, น้ำแท้ มีบุญสร้าง, พ.ต.อ.วิรุตน์ ศิริสวัสดิบุตร, จักรชัย โฉมทองดี

ต้องมีพหุกฎหมายเอื้อให้เกิดสิทธิชุมชน และเปิดช่องให้ตรวจสอบแสดงความเห็น

นอกจากคุกจะมีไว้ขังคนจนแล้วยังมีไว้ขังคนที่มีปากมีเสียงอีกด้วย

 

สุรชัย กล่าวว่า กลไกการผูกขาดใดๆ ไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาที่เป็นธรรม ถ้าความยุติธรรมทางอาญาไม่มีการตรวจสอบของหลายๆ หน่วยงานก็กลายเป็นปัญหาได้ ถ้าถามในมุมมองของคนที่ทำเรื่องสิทธิชุมชน สิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น กรณีของชาวประมงที่ใช้เครื่องมือทำมาหากินที่ชื่อว่าโพงพางนั้น รัฐบอกว่าเครื่องมือนี้เป็นเครื่องมือที่ผิดกฎหมาย แต่ตอนนี้ประเทศไทยมักมองกฎหมายเป็นเนื้อเดียวกันหมดทุกพื้นที่ จริงๆแล้วชาวบ้านมีสิทธิจะพูดว่ากฎหมายที่บอกว่าผิดนั้นแต่ในพื้นที่ของชาวบ้านมันมีประโยชน์มากกว่าโทษ แต่ไม่มีช่องทางที่จะให้เขาไปแสดงความคิดเห็นหรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ได้เลย กลับบอกว่ากฎหมายก็คือกฎหมายแล้วเอามาวาง ในกรณีนี้มองว่าเราไม่เคยยอมรับกฎหมายที่เป็นพหุ ที่เป็นกฎเกณฑ์ของชุมชนหรือสิทธิชุมชนต่างๆ รวมถึงในกรณีของขยะปนเปื้อนซึ่งอยู่ดีๆ ขยะมาอยู่ในนาข้าวของชาวบ้านได้อย่างไร แปลว่าเมื่อมีของอันตรายขนาดนั้นอยู่ในชุมชนแล้ว ชาวบ้านก็ไม่มีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นว่าการพัฒนาในชุมชนเขานั้นเป็นอย่างไร อะไรที่เป็นผลกระทบ

ถ้าในกรณีนี้ถ้าชาวบ้านเกิดสงสัยแล้วสามารถไปตรวจสอบได้ที่ไหน จริงๆ เรามีหลักกฎหมายข้อมูลข่าวสาร มีคดีหนึ่งที่ไปฟ้องศาลแต่ก็ไม่ไปถึงไหน ไม่มีหลักประกันเลยว่ามีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมเพราะกฎหมายไม่เปิดช่อง หรือเปิดโอกาสที่จะให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงตรงนั้น ต้องรอให้ประชาชนตื่นตัวขอให้สื่อลงไปทำ ไปขอให้สภาทนายความช่วยจึงจะนำไปสู่การฟ้องร้องคดี

กลไกแบบนี้ไม่สามารถทำให้เรามั่นใจได้เลยว่าจะมีหลักประกันในการดูแลทรัพยากร อย่างกรณีของชาวบ้านสกลนครไปร้องเรียนกับ อบต. ว่ามีการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลที่ไปกระทบกับที่ดินสาธารณะประโยชน์ ทั้งๆ ที่แค่ไปร้องเรียนแต่กลับโดนฟ้องได้ เหมือนกับการฟ้องเพื่อปิดปากไม่ได้มีวัตถุประสงค์หลักให้ได้รับผลจากการดำเนินคดีโดยตรงแต่ว่าเพื่อให้ไม่เกิดการเป็นภาระและไม่ให้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ กรณีแบบนี้แสดงให้เห็นว่ากลไกไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอให้คนไปใช้สิทธิ ซึ่งนอกจากคุกจะมีไว้ขังคนจนแล้วยังมีไว้ขังคนที่มีปากมีเสียงอีกด้วย

ยุติธรรมไทยวิบัติ ตำรวจจับคนบริสุทธิ์ต้องทำให้ผิด ไม่งั้นผิด ม. 157

เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับคนไปแล้ว ปรากฏว่าคนๆนั้นบริสุทธิ์เจ้าหน้าที่ไม่สามารถปล่อยกลับได้ก็ต้องหาความผิดให้ คือถ้าไม่ใช่คนผิดก็ต้องทำให้ผิด เพราะไม่อย่างนั้นก็จะโดนข้อหามาตรา 157

 

วิรุตน์ กล่าวว่า ตนไม่ได้มองว่าความยุติธรรมของไทยชำรุดแต่ตนมองว่าเข้าขั้นวิบัติและได้สร้างความเสียหายมายาวนานมาก บ่อยครั้งคนทำความผิดที่รวยๆ ไม่ได้รับโทษ แต่ผู้บริสุทธิ์หรือคนจนกลับถูกดำเนินคดี ศาลที่เป็นหลักประกันขั้นสุดท้ายว่าผู้บริสุทธิ์จะไม่ถูกลงโทษนั้นก็ยังไม่แน่นอน บางกรณีมีคนเป็นแพะตั้งแต่ศาลชั้นต้นจนตัดสินคดีก็ยังมีคนบอกว่าเป็นแพะอยู่ มีคนยื่นขอให้รื้อฟื้นคดีอาญายุติธรรมใหม่หลายรายแต่ก็ไม่เคยสำเร็จ นั่นสะท้อนว่ามีความจริง 50% แต่ที่เหลือคือเรื่องหลอกซึ่งนี่คือปรากฏการณ์ของปัญหา   

ความเหลื่อมล้ำในความคิดของตนนั้นมีทุกมิติโดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยเป็นอันดับ 3 ของโลกเรื่องความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นปัญหาทางโครงสร้างสังคม แต่อย่างไรก็ตามในทางกฎหมายไม่ควรจะมีความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้น เพราะรัฐธรรมนูญเขียนว่าบุคคลย่อมเสมอภาคกันโดยกฎหมาย นี่คืออุดมคติหลังจากที่เรามีรัฐธรรมนูญ แต่สมัยก่อนที่ยังไม่มีรัฐธรรมนูญก็ต้องยอมรับความไม่เท่าเทียมในทางกฎหมาย จนมีคำพูดว่า “นิสัยไมตรีไม่ถึงประชา อาญาไม่ถึงคนชั้นสูง” แต่ในยุคหลังๆ จะได้ยินว่า “คุกมีไว้ขังคนจน” ปัญหาของประเทศเรามีข้าราชการที่ทุจริตมากมายแต่ไม่เคยมีใครถูกดำเนินคดีจนติดคุกหรือมีแต่น้อยมาก แตกต่างจากประเทศจีนที่เขาตัดสินโทษประหารข้าราชการที่ทุจริต  กระบวนการยุติธรรมของประเทศเราต่อให้เราปฏิบัติโดยชอบด้วยกฎหมายก็มีความเสียหายอยู่แล้ว ทุกคนมักจะบอกว่าทำหน้าที่โดยครบถ้วนสมบูรณ์แล้วแต่ทำไมถึงยังมีปัญหาเกิดขึ้นได้

ความแม่นตรงของกระบวนการยุติธรรมในไทยนั้นมีปัญหา ที่มีปัญหาที่สุดคือในชั้นสอบสวนของตำรวจ ตำรวจมีหน้าที่เพื่อป้องกันอาชญากรรม ตำรวจไม่ได้มีบทบาทของการสอบสวนโดยแท้ แต่ในไทยตำรวจมีหน้าที่สอบสวน เมื่อตำรวจจับใครมาคนนั้นต้องไม่รอด ผู้เสียหายคือหวังพึ่งอัยการให้ความเป็นธรรม แต่ในความเป็นจริงเป็นไปไม่ได้ เพราะอัยการตัดสินคดีความไปตามสำนวนคำสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้วไปว่ากันในศาล สรุปคือมีปัญหาตั้งแต่ชั้นจับกุม ในการจับกุมบางทีอาจจะมีความคลาดเคลื่อนในนั้น ซึ่งเราไม่หวังว่าการจับกุมจะถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับคนไปแล้ว ปรากฏว่าคนๆนั้นบริสุทธิ์เจ้าหน้าที่ไม่สามารถปล่อยกลับได้ก็ต้องหาความผิดให้ คือถ้าไม่ใช่คนผิดก็ต้องทำให้ผิด เพราะไม่อย่างนั้นก็จะโดนข้อหามาตรา 157

ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาทหรือ ทั้งจำทั้งปรับ"

 

สำหรับบางคนที่คุยกันได้ก็จะเข้าสู่กระบวนการเยียวยา อย่างเช่นถ้าขึ้นศาลแล้วติดคุกก็ให้วันละ 300 คือถ้าติด 2 วันก็รับไป 600 บางคนมองว่าคดีที่สั่งยกฟ้องนั้นมีความยุติธรรม แต่จริงๆแล้วครึ่งหนึ่งคือความอยุติธรรม คดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องศาลยกฟ้องมันคือความอยุติธรรม นี่คือช่องว่างของความวิบัติ ตำรวจนั้นถือว่าหากคนนั้นมีคุณสมบัติน่าเชื่อว่าเป็นผู้กระทำความผิดสามารถจับกุมได้เลย ซึ่งในชั้นแจ้งข้อหาไม่มีการตรวจสอบตำรวจ ในไทยมีคนที่ถูกออกหมายจับโดยไม่รู้ตัว เพราะกระบวนการที่ไม่มีการกลั่นกรองของตำรวจ ซึ่งอัยการก็ยึดหลักฐานถ้าหลักฐานพอฟ้องก็คือฟ้อง แสดงว่าอัยการก็ไม่มั่นใจมันจึงกลายเป็นปัญหา

กฎหมายไทยวิปลาส ไม่ตามหลักสากล ใน ตปท. อัยการตัดสินจะแจ้งข้อหาหรือไม่ ถ้าไม่ผิดก็ปล่อยและไม่โดน ม. 157

กฎหมายที่ใช้ดำเนินคดีของไทยนั้นวิปลาส ตั้งแต่เรื่องปรัชญาที่บอกว่าปล่อยคนผิดไปสิบคนดีกว่าดำเนินคดีทำร้ายคนบริสุทธิ์เพียงคนเดียว

 

น้ำแท้ กล่าวว่า นักกฎหมายไทยเห็นความยุติธรรมแค่ในตัวบทกฎหมาย ส่วนในเรื่องของความเหลื่อมล้ำจะมีในเชิงนโยบายในการออกกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย แต่จะพูดแค่ในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายทางอาญา เมื่อพูดถึงความเหลื่อมล้ำแปลว่าไม่เสมอภาค อีกอย่างหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมทุกคนจะพูดว่าเราต้องเสมอภาคกันทางกฎหมาย หมายความว่าคุณจะจนหรือรวยก็จะถูกบังคับใช้กฎหมายอย่างเดียวกันต้องไม่ได้รับการยกเว้น พอเกิดความไม่เป็นธรรมในสังคมก็ต้องไปหาสื่อมวลชน มูลนิธิหรือไปขอให้ทนายช่วย แปลว่ากระบวนการยุติธรรมไม่สามารถให้ความเป็นธรรมได้ กระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรมได้ทุกคนต้องมีความเสมอภาคกันก่อน ดังนั้นเจ้าหน้าที่รัฐไม่จำเป็นต้องตั้งโต๊ะแถลงข่าวเลยว่าจะให้ความเป็นธรรมกับคนนั้นคนนี้

ระบบที่ดีต้องเป็นระบบที่ไม่สามารถบิดเบือนอะไรได้ คือต้องสร้างระบบที่กระบวนการยุติธรรมมีความตรงไปตรงมา กฎหมายที่ใช้ดำเนินคดีของไทยจะต่างกับของต่างประเทศ ถ้ามองถึงกฎหมายบ้านเราไม่ได้มองว่าชำรุดแต่มองว่ากฎหมายที่ใช้ดำเนินคดีของไทยนั้นวิปลาส ตั้งแต่เรื่องปรัชญาที่บอกว่าปล่อยคนผิดไปสิบคนดีกว่าดำเนินคดีทำร้ายคนบริสุทธิ์เพียงคนเดียว ตรงนี้เป็นหลักตั้งต้นซึ่งแปลว่าถ้าจะดำเนินคดีอะไรก็จะต้องทุ่มเทต้องหาทางพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้ได้ ถ้าด้วยกลักปรัชญาสากลคือว่าด้วยเรื่องของสิทธิมนุษยชน คือห้ามจับตามอำเภอใจ

ถ้าลองเปรียบเทียบกฎหมายที่ใช้ดำเนินคดีของไทยกับของต่างประเทศในประเทศอเมริกาการดำเนินคดีในชั้นฟ้องคดี จะต้องรวดเร็วและเปิดเผย อัยการจะต้องมีเวลาแค่ 72 ชั่วโมงเท่านั้นที่จะแจ้งข้อกล่าวหา ไม่ใช่ให้ตำรวจแจ้ง ถ้าอัยการไม่แจ้งก็คือปล่อยได้ ส่วนของไทยเมื่อจับผิดแล้วถ้าปล่อยก็จะกลัวมาตรา 157 ดังนั้นวิธีการจับของสากลคือผู้ที่สงสัยว่าจะกระทำความผิดสามารถจับได้แต่ต้องให้อัยการตัดสินว่าจะแจ้งข้อหาหรือไม่ ถ้าพิสูจน์ว่าไม่ผิดก็ต้องปล่อยและจะไม่โดนมาตรา 157 เพราะจับตามเหตุอันควรสงสัย แต่นักฎหมายไทยไม่รู้จักข้อนี้พอจับผิดตัวก็ยัดยาให้เพราะจะได้ไม่ย้อนมาเอาผิดตัวเองตามกฎหมาย 157 ซึ่งเกิดขึ้นมากมาย

เราจะเห็นว่าการดำเนินคดีของต่างประเทศนั้นยากและดำเนินไปตามปรัชญาตั้งต้น ซึ่งนักกฎหมายไทยจะต้องมาเปลี่ยนวิธีคิดปรัชญากันใหม่ ในประเทศอังกฤษถ้าจะดำเนินการจับใครจะต้องมั่นใจว่าจะได้คนที่กระทำความผิดจริงแต่ในบ้านเราสงสัยคือฟ้อง ต้องมาทำความเข้าใจในส่วนที่ว่าถ้ายกฟ้องแล้วฟ้องอีกไม่ได้ดังนั้นต้องเข้าใจว่าช้าแต่ชัวร์ดีกว่า 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

2 พรรคใหญ่ 3 พรรคใหม่ ร่วมอภิปราย ‘ประเทศเหลื่อมล้ำ ความยุติธรรมชำรุด’

$
0
0
  • ‘อนาคตใหม่’ ชี้เมื่อผู้ถือกฎหมายคิดว่าตัวเองเป็นนาย ศักดิ์ศรีเราจึงไม่เท่ากัน เสนอเปลี่ยนระบบกล่าวหาเป็นระบบไต่สวน
  • ‘สามัญชน’ ชี้ความยุติธรรมกับความเหลื่อมล้ำแปรผันตามกัน ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ แต่ค่าแรงขั้นต่ำขยับไม่กี่บาท สวัสดิการไม่เคยมาถึงประชาชน
  • ‘เกียน’ โยนโจทย์ลดปัจจัยสร้างอาชญากร ให้โอกาสผู้อพยพพัฒนาตนเอง
  • ‘ประชาธิปัตย์’ เสนอปฏิรูปตำรวจ - ยกสถานะ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์เป็นองค์กรอิสระ - E-Justice
  • ‘เพื่อไทย’ ชี้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/60 ทำสมาชิกและสาขาพรรคหาย ขัดหลักนิติธรรม วิจารณ์ คสช. โดน ม. 116 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน ขณะที่ ‘สามมิตร’ รอดฉลุย

 

เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา WAY Dialogue ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดงานเวทีเสวนา ‘ประเทศเหลื่อมล้ำ ความยุติธรรมชำรุด’ ที่อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยา ในช่วงที่ 3 ของงานคือการนำเสนอนโยบายพรรคการเมืองเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม โดย นิรามาน สุไลมาน พรรคอนาคตใหม่, เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ พรรคสามัญชน, สมบัติ บุญงามอนงค์ พรรคเกียน, ราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ และชวลิต วิชยสุทธิ์ พรรคเพื่อไทย

อนาคตใหม่’ เสนอเปลี่ยนระบบกล่าวหาเป็นระบบไต่สวน

นิรามาน สุไลมาน

นิรามาน สุไลมาน พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า เราอยู่ในสภาวะชะงักงัน ด้านเศรษฐกิจหนักหนาที่สุด ส่วนด้านกระบวนการยุติธรรมเป็นวัฒนธรรมที่ฟังรากลึก คนในพื้นที่ส่วนกลางก็ยังถูกละเมิด แต่การละเมิดเหล่านั้นก็ยังอยู่ภายใต้การที่หลายฝ่ายช่วยกันเฝ้าระวัง แต่พี่น้องชายแดนใต้ประสบปัญหา เช่น ด้านภาษา คุยกันไม่ค่อยเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ เมื่อถูกจับกุมมีการสอบสวน หลายครั้งที่เขาตอบไม่ถูก ตอบไม่ตรงประเด็น ผู้ถือกฎหมายยังไม่เปลี่ยนทัศคติว่าตัวเองเป็นนาย ต้องอยู่ภายใต้การรักษากฎหมายของฉัน แต่ความจริงไม่ว่าท่านเป็นใครท่านมีศักดิ์ศรีเท่ากัน เรามีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเปลี่ยนโครงสร้างสังคมใหม่ ให้ทุกคนเท่ากันและเคารพสิทธิของกันและกัน

กระบวนการยุติธรรมไทยให้อำนาจพนักงานสอบสวนล้นฟ้า การใช้ดุลยพินิจไม่มีประเทศไหนให้อำนาจเท่าประเทศไทย ดังนั้นต้องมีกรอบในการให้เขาใช้อย่างจำกัด ถึงเวลารึยังที่จะเปลี่ยนระบบกล่าวหาเป็นระบบไต่สวน ก่อนที่จะไปจับกุมต้องมีพยานหลักฐานชัดเจน

ความไม่โปร่งใสในกระบวนการมีอยู่ แต่หน่วยงานแรกที่ต้องปะทะสังสรรค์กับประชาชนคือตำรวจก็ต้องคุยกับประชาชนอย่างดีก่อนที่จะจับกุม แต่ข้อเท็จจริงคือตำรวจจะใช้พฤติกรรมก้าวร้าวต่อผู้จับกุม เข้าใจว่าต้องใช้วิธีการฉับพลัน แต่นั่นคือปลายเหตุ ต้นเหตุของปัญหามันคือความฟอนเฟะของสังคม มันเต็มไปด้วยสิ่งที่เป็นมลพิษทางศีลธรรม

อยากจะเห็นสังคมวันนี้เริ่มต้นฟื้นฟูศีลธรรมของทุกศาสนา นอกจากยืนหยัดในระบอบประชาธิปไตยต่อสู้กับระบบเผด็จการ หากท่านกุมอำนาจแล้วเอาเปรียบเขา ท่านไม่ใช่ลูกผู้ชายชาติทหาร วันนี้สังคมกำลังเรียกร้องให้ คสช. ลงจากอำนาจ คืนความสุขให้ประชาชน เลือกตั้งให้เร็วที่สุด แล้ววันนั้นประชาธิปไตยจะเบ่งบาน เงินในกระเป๋าพ่อแม่พี่น้องจะมากขึ้น ทุกพรรคการเมืองมาร่วมกันสร้างสรรค์ประชาธิปไตยเพื่อชาติพันธุ์ต่อไปครับ

สามัญชน’ชี้ความยุติธรรมกับความเหลื่อมล้ำแปรผันตามกัน

 

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ พรรคสามัญชน กล่าวว่า อยากจะวิจารณ์นโยบายของรัฐบาลชุดนี้ สัปดาห์ที่ผ่านมา ครม. เสนอ ขึ้นเงินเดือนข้าราชการยุติธรรม 10% และมีเงินเดือนย้อนหลัง 4 ปีคือตั้งแต่มีรัฐประหาร ซึ่งต้องใช้งบประมาณจ่ายเงินเดือนย้อนหลัง 450 ล้านบาท ย้อนหลังไปเมื่อเดือนมกราคม หน่วยงานด้านแรงงานของรัฐอนุมัติค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศต่ำสุด 308 บาท สูงสุด 330 บาท โดยเฉลี่ยเพิ่มเป็น 316 บาท

ประเด็นอยู่ที่ ครม. อ้างว่าขึ้นเงินเดือนข้าราชการยุติธรรมเพื่อให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่สูงขึ้นและเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งที่มีเงินเดือน 80,000 กว่าบาท มีเงินประจำตำแหน่ง 50,000 กว่าบาท แต่อ้างเหตุผลนี้ ขณะที่กระบวนการแรงงานหลายกลุ่มเรียกร้องแทบตายหลายปีเพื่อต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำอย่างต่ำที่ 450 บาทต่อวัน เพื่อให้เกิดค่าจ้างที่เป็นธรรมพียงพอต่อการดูแลครอบครัว

จะเห็นว่าผู้ปกครองมีทัศนคติที่ไม่ค่อยดีต่อผู้เป็นแรงงาน การเรียกร้องขึ้นค่าจ้างของแรงงาน ผู้ปกครองก็มีท่าทีเหยียดหยามแรงงานว่าเป็นภาระของชาติ แต่มีท่าทีอีกแบบต่อข้าราชการ ทั้งที่แรงงานคือผู้สร้างผลกำไรและความมั่งคั่งให้แก่นายจ้างและรัฐ แต่กลับไม่ได้รับผลกำไรจากความมั่งคั่งที่เกิดจากหยาดเหงื่อแรงงานของพวกเขาเลย นี่แหละความเหลื่อมล้ำ นโยบายแรกของสามัญชน น่าจะลดเงินเดือนข้าราชการศาล

คำถามคือทำไมคนในกระบวนการยุติธรรมจึงส่วนที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำขึ้น จนทำให้กระบวนการยุติธรรมชำรุด ก็เพราะการค้าความยุติธรรมด้วยการเอาตนเองและองค์กรในกระบวนการยุติธรรมที่ตัวเองสังกัดมาค้ำบัลลังก์รัฐประหารด้วยการไม่ตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจของรัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. เพราะเหตุที่หวังมาตลอดว่าเขาจะขึ้นเงินเดือนให้แก่ตนเองเป็นเรื่องที่น่าละอายยิ่งนัก อำนาจที่มาจากรัฐประหารทำงานเองไม่ได้ถ้ามี่อำนาจตุลาการค้ำจุลอยู่ ผลที่เกิดขึ้นทำให้กระบวนการยุติธรรมละเลยการทำหน้าที่ แต่ส่งเสริมอำนาจที่มาจากรัฐประหารกระทำการลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชนแทน

เหตุที่บ้านเรามีทัศนคติเช่นนี้เพราะเรามีรัฐบาลที่ออกกฎหมายตามอำเภอใจ ตรวจสอบไม่ได้ กลไกการตรวจสอบถ่วงดุลจากกระบวนการยุติธรรมก็ง่อยเปลี้ยไปหมดจากหลายสาเหตุ การขึ้นเงินเดือนก็คงเป็นสาเหตุหนึ่งด้วย คนพวกนี้ดูดผลกำไรและความมั่งคั่งไปจากสังคม แทนที่ประชาชนจะได้ผลประโยชน์ในรูปสวัสดิการและการบริการสาธารณะ จากผลกำไรและความมั่งคั่งที่เกิดจากรายได้และการลงแรงของแรงงาน แต่กลับต้องเก็บไว้จ่ายเงินเดือนแกคนพวกนี้ เราจึงไม่มีสวัสดิการและบริการสาธารณะที่ดีต่อคุณภาพชีวิตของพวกเรา มีคนกลุ่มหนึ่งดูดผลกำไรไปจากพวกเรา เป็นเรื่องน่าเศร้าที่คนกลุ่มนั้นคือคนในกระบวนการยุติธรรม

ยังมีคนอีกกลุ่มที่อยู่นอกเหนือจากแรงงานในโรงงาน ขณะที่ค่าการศึกษาของลูกสูงมาก ราคาพืชผลการเกษตรกลับตกต่ำมาก และสาเหตุที่พืชผลราคาตกเนื่องจากการกักตุนสินค้าด้านพืชผลการเกษตรในโกดังของบริษัทใหญ่เพื่อรอเทขายทำกำไร เช่น โรงงานยางพาราขนาดใหญ่แถววังสะพุง กดราคายางพาราไปที่กิโลกรัมละ 18 บาท บางช่วง 15 บาท คุณภาพชีวิตตกต่ำจากที่เคยมีเงินเก็บ ก็ต้องกู้ยืมเงินในและนอกระบบมากขึ้น

ความเหลื่อมล้ำของราคาพืชผลก็เป็นอีกอย่างหนึ่งระหว่างอำนาจเงินมหาศาลของบริษัทกับประชาชนที่ต้องการขายผลผลิตเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิต ซึ่งมีรัฐเป็นผู้ควบคุมกำกับดูแลกลไกราคาที่ไร้ประสิทธิภาพมาก

ขณะที่สถานการณ์ถือครองที่ดินมีการกระจุกตัวสูงมาก ที่ดินส่วนใหญ่อยู่ในการถือครองของคนส่วนน้อย ผู้คนจำนวนมากขาดแคลนที่ดินทำกิน ปี 2555 พบว่าสัดส่วนการถือครองที่ดินระหว่างผู้มีการถือครองที่ดินมากที่สุด 10% มีส่วนการถือครองที่ดิน 61%  และผู้ถือครองที่ดินน้อยที่สุด 10% หลัง ห่างกันถึง 854 เท่า ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำของคนรวยที่มีโอกาสถือครองที่ดินและคนจนที่ไม่มีโอกาสถือครองที่ดินจากการบีบของนโยบายและกฎหมาย

แน่นอนว่าปัญหานี้เป็นปัญหาต่อเนื่องยาวนานของรัฐบาลหลายสมัย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาลชุดนี้มีแนวโน้มจะทำให้การถือครองที่ดินระหว่างคนรวยและคนจนถ่างกว้างขึ้นไปอีก เพราะเป็นคำสั่งที่ขับไล่คนตัวเล็กตัวน้อยให้ต้องสูญเสียที่ดินทำกินในเขตป่า

นอกจากนี้หลังรัฐประหาพบคดีความที่เกิดจากความขัดแย้งจากการผลักดันนโยบาย โครงการพัฒนา และกฎหมายที่ไม่เป็น สัดส่วนของรัฐฟ้องคดีความต่อประชาชนเพิ่มขึ้นด้วยกฎหมายชุมนุมและคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/58 มีตัวอย่างคดีและการถูกข่มขู่คุกคามที่ไม่ได้เป็นคดีที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถลุกขึ้นมาชุมนุมได้จำนวนมาก ตัวอย่างคดีจากกฎหมายชุมนุมล่าสุดเดือน พ.ค. กลุ่มชาวบ้านอำเภอวานรนิวาส ร่วมกันออกมาคัดค้านการขุดเจาะสำรวจแร่โปแตสหลุมที่ 4 ของบริษัทจากทุนจีน จำนวน 2 คนถูกฟ้องข้อหาชุมนุมโดยไม่แจ้ง และข่มขืนใจเหมือง อีก 7 คนถูกฟ้องข้อหาข่มขืนใจเหมือง หลักฐานที่เอามาฟ้องคดีเอามาจากรูปถ่ายที่ทหารตำรวจถ่ายส่งให้กับเหมือง กฎหมายชุมนุมจึงเป็นเครื่องมือของรัฐในการฟ้องคดีกลั่นแกล้งเพื่อปิดปากประชาชนธรรม และส่งเสริมผลประโยชน์ของบริษัทและขยายความมั่นคงของรัฐมากเสียจนไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนแทน กรณีคดีจากคำสั่ง คสช. 3/58 ปัจจุบันมีผู้ถูกฟ้องคดี 421 คน การแทรกแซงของคำสั่งดังกล่าว ส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถชุมนุมทางการเมืองหรือไม่ใช่การเมืองได้โดยง่าย กฎหมายและคำสั่งดังกล่าวได้ปิดกั้นสิทธิและการแสดงความเห็นด้วยการห้ามทำกิจกรรมเกือบทุกรูปแบบที่ ผลคือทำให้รัฐดำเนินโครงการหรือนโยบายขนาดใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว โดยไร้การตรวจสอบจากประชาชน สิ่งนี้คือความเหลื่อมล้ำอีกประการหนึ่ง

สรุปก็คือความยุติธรรมกับความเหลื่อมล้ำแปรผันตามกัน บ้านเมืองใดมีความเหลื่อมล้ำสูงความชำรุดของกระบวนการยุติธรรมก็มีผลตามไปด้วย บ้านเมืองใดมีความชำรุดของกระบวนการยุติธรรมสูง ความเหลื่อมล้ำก็สูงเช่นเดียวกัน

เกียน’โยนโจทย์ลดปัจจัยสร้างอาชญากร

สมบัติ บุญงามอนงค์

สมบัติ บุญงามอนงค์ พรรคเกียน กล่าวว่า ครั้งหนึ่งตอนตนเริ่มต้นงานพัฒนาเปนอาสาสมัคร ตนไปสัมภาษณ์ผู้นำชุมชนในสลัมแห่งนึง ตนถามว่าพี่คิดว่ามีความชอบธรรมอะไรในการไปอยู่ในที่ดินเอกชนที่ไม่ใช่ที่ของพี่ เขาเล่าเรื่องนึงให้ตนฟังว่า เมื่อหลายปีก่อนเขาเป็นทหารเกณฑ์ที่ชายแดน มีจดหมายจากภรรยาของเขาซึ่งกำลังตั้งท้องลูคนที่สอง ภรรยาเขาบอกว่าบ้านที่เราอยู่กำลังจะถูกไล่ที่ เขาในฐานะสามีเกิดคำถามว่า ในขณะที่เขายืนอยู่ที่ชายแดนและถูกอธิบายว่าเขาจะป้องแผ่นดินนี้ เขาปกป้องแผ่นดินนี้ให้ใคร ในเมื่อลูกและเมียของเขาไม่มีแม้แต่แผ่นดินจะอยู่ ดังนั้นเวลาเราอธิบายตามกฎหมาย แน่นอนบุคคลเหล่านี้เป็นผู้บุกรุก แต่ถ้าถามเรื่องความยุติธรรม โดยสามัญสำนึกมันไม่ยุติธรรมเลย มันต้องกาอะไรรบางอย่างมาคลี่คลายเงื่อนไขนี้ กฎหมายจึงไม่ใช่ความยุติธรรม

เรื่องที่สอง ตนไปใช้ชีวิตบนดอยอยู่ 7 ปี วันหนึ่งเด็กถามพ่อว่า นกที่บินอยู่บนสะพานเป็นนกสัญชาติไทยหรือพม่า พ่อตอบไม่ได้ เพราะมันบินข้ามไปมา ตนมีคำถามคล้ายกันตอนอยู่ที่ที่ว่าการอำเภอเชียงราย ทำไมเด็กชาวเขาที่วิ่งเล่นอยู่แถวนั้นจึงเป็นเด็กไม่มีสัญชาติ ชุดอธิบายคือเด็กคนนั้นเกิดที่ไทยแต่พ่อแม่ที่ไม่ใช่คนไทย ตนบอกว่าถ้าตนเกิดประเทสไทย พ่อแม่ตนไม่ได้เกิดไทย ทำไมตนมีสัญชาติไทยตั้งแต่เกิด ความต่างระหว่างพ่อตนกับพ่อของเด็กชาวเขา คือ พ่อตนพอขึ้นฝั่งก็ไปทำใบสำคัญต่างด้าวซึ่งตอนนั้นรัฐมีนโยบาย ทำให้พ่อตนมีถานะเป็นผู้เข้าเมือง แต่ขณะที่ขาวเขาไม่มีและกลายเป็นผู้หลบหนีเข้าเมือง

กฎหมายสมมติฐานว่า ลูกของคนที่เข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมายเป็นคนที่มิชอบด้วยกฎหมาย เรามีปัญหาที่ข้อกฎหมายไม่ถูกสันนิษฐานไปตามข้อเท็จจริง แต่ปัจจุบันเรื่องพวกนี้ก็เริ่มคลี่คลาย แต่ขณะเดียวกันก็มีผู้อพยพลี้ภัยสงครามอีกมากที่ต้องอยู่ในสถานะผู้หลบหนีเข้าเมือง และเขาหลี้ภัยความตายมา เช่น คนโรฮิงญา คนซีเรีย คนพวกนี้อยูในซอกหลีบทอับที่เรามองไม่เห็น

ข้อเสนอว่าเราจะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร กระบวนการยุติธรรมเรามักจะพูดช่วงกลางและท้าย ไม่ได้ดูที่ต้นเหตุ กรมราชทัณฑ์บอกว่ามีคนในคุก 300,000 กว่าคน แต่ศักยภาพคุกไทยรับได้ 100,000 กว่าคน สองในสามถูกคดียาเสพติด เราต้องกลับไปที่จุดเริ่มต้นว่าอะไรที่ผลิตคนเหล่านี้

ย้อนไปที่เรื่องผู้อพยพ ฝ่ายความมั่นคงมองว่าเป็นปัญหาหากเปิดกว้างให้แก่ผู้อพยพเข้ามามากๆ แต่ตนอธิบายว่า คนที่ตนสัมภาษณ์ซึ่งเป็นคนขนยาให้หว้าแดง เขาเป็นชาวเขาและเป็นเด็กกำหร้า เขียนไม่ด่านไม่ออก คนที่ไม่ได้รับการพัฒนาและถูกปิดกั้น โดยที่คุณเองก็ผลักเขาออกไปนอกประเทศไม่ได้ คนพวกนี้จะเป็นภัยของคุณในอนาคต คุณต้องให้สัญชาติเด็กที่คุณไม่มีปัญญาผลักคนพวกนี้ออกไป ดังนั้นรัฐไทยต้องให้โอกาสในการพัฒนาเขา 10 กว่าปีผ่านไปพอเขาได้สัญชาติเขาทำงานเรื่องเป็นราว เป็นบุคคลมีคุณภาพของสังคมได้ มีสองคนทำงานกับตนอยู่

ทำอย่างไรจะทำให้ปัจจัยที่สร้างอาชญากรลดลง อาชญากรไม่ได้มาจากขุมนรก แต่มาจากสภาพการณ์ทางสังคม เป็นผลผลิตจากสังคมแท้ๆ เราละเลยที่จะพูดถึงรากของปัญหาจริงๆ มีคนเสนอให้สอนเรื่องศีลธรรม ตนเห็นด้วย เพียงแต่ต้องเป็นการสอนศีลธรรมที่ทันสมัย ตนเห็นด้วยกับการเรียนปรัชญา หรือการเรียนแบบ critical thinking ตั้งแต่ชั้นประถม เช่นที่บ้านกาญจนา เขาเอาข่าวมาให้เด็กอภิปรายกัน เกิดการเรียนรู้ รู้จักคุณค่าของชีวิต ถ้ามนุษย์ไม่เข้าใจชีวิต ไม่เข้าใจคุณค่ามนุษย์ มันง่ายมากที่จะประกอบอาชญากรรม

ปชป.ปฏิรูปตำรวจ -ยกสถานะ ส.นิติวิทยาศาสตร์เป็นองค์กรอิสระ -E-Justice

ราเมศ รัตนะเชวง

ราเมศ รัตนะเชวงรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นโยบายเรื่องกระบวนการยุติธรรม ปัญหาความเหลื่อมล้ำนอกจากเกิดจากกฎหมาย เจ้าหน้าที่ในกระบวนการก็มีส่วนเกี่ยวข้องมาก การบังคับใช้กฎหมาย การมองประชาชนด้วยสายตาไม่เป็นธรรม เลือกปฏิบัติ เหตุผลเพราะประชาชนใส่เสื้อผ้าไม่ดี เอาฐานะของประชาชนมาเลือกปฏิบัติ พรรคจะกำจัดสิ่งเหล่านี้ออกไปให้ได้

ปัญหาเรื่องการประมง ได้รับความเดือดร้อนจากกฎหมาย คสช. ถ้าหากมีการเลือกตั้ง กฎหมายเหล่านี้พรรคจะสังคายนาให้หมด

มีประเด็นน่าสนใจคือ ความเชื่อมโยงระหว่างกฎหมายกับสังคมไม่มี ไม่มีการรับฟังความเห็นของประชาชน  พรรคจะมีนโยบายเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมาย โดยการเสนอกฎหมายเพิ่มเติมให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้นในการร่างกฎหมายทุกฉบับ

นโยบายอีกอย่างคือ จะแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่มีความไม่เป็นธรรมกับประชาชน เช่น พ.ร.บ. ว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ เช่น ประชาชนเดือดร้อนจากเกษตรจะออกมาเรียกร้อง ก็ควรได้รับสิทธิ

รัฐบาล คสช. บอกว่าจะแก้ไขเรื่องการทุจริต แต่รัฐบาลชุดนี้ทำสวนทางกันหมดทุกกรณี คุณออกกฎหมายมากี่ฉบับที่ลิดรอนการตรวจสอบการป้องกันการทุจริต เมื่อประชาธิปัตย์เข้าไปในสภารอบหน้าเราจะแก้ พ.ร.บ. ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง ไม่ให้มีการปกปิด เปิดให้มีการตรวจสอบ

ประเด็นถัดมาเรื่ององค์กรกระบวนการยุติธรรม เราจะให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกัน เราจะปฏิรูปองค์กรตำรวจอย่างแน่นอน แต่ก็ต้องยอมรับว่าตำรวจที่ดีก็มี

นโยบายแยกการสอบสวนออกจาก สน.ตำรวจแห่งชาติเพื่อให้เป็นอิสระ แยกระบบปฏิบัติงานความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จะมีนโยบายให้ทุกสถานีตำรวจประกาศผลงานเพื่อให้ประชาชนตรวจสอบถ่วงดุล และมีนโยบายออกกฎหมายแยกว่าเมื่อประชาชนร้องทุกข์ต้องรับเป็นเลขคดี และประชาชนที่ตกเป็นผู้ต้องหาจะต้องแจ้งรายละเอียดชัดเจน เหตุผลเพราะประชาชนจะได้ใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรมขั้นต้นแสดงหลักฐานยืนยันได้ และชั้นพนักงานสอบสวนไปจนถึงกระบวนการศาลจะต้องบันทึกภาพและเสียงครบถ้วน

สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ คดีล่าสุดที่ตัดสินประหารชีวิตไม่มีหลักฐานของนิติวิทยาศาสตร์เลย ดังนั้นต้องอออกกฎหมายยกสถานะนิติวิทยาศาสตร์ให้เป็นองค์กรอิสระ เพื่อช่วยเหลือประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

การแจ้งความดำเนินคดี ควรมีอัยการเข้ามาถ่วงดุล และจะออกนโยบายหากตำรวจแจ้งความกับประชาชน ตำรวจคู่กรณีไม่มีหน้าที่สอบสวนคดีนี้ ส่วนในขั้นตอนอัยการต้องมีระเบียบชัดเจนเปิดเผยคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องให้ประชาชนทราบ และที่สำคัญพรรคมีนโยบายการชะลอฟ้องในคดีลหุโทษ อัยการต้องกลั่นกรองข้อหาและการออกหมายจับ คนที่ถูกคดีและอยู่ในคุกจะต้องมีระยะเวลากำหนดชัดเจนในการดำเนินคดีให้เสร็จ และสุดท้ายประชาชนยื่นฟ้องทางอินเตอร์เน็ตได้ ประชาธิปัตย์จะมีนโยบาย E-Justice เพื่อลดต้นทุนให้แก่ประชาชน

เพื่อไทยชี้คำสั่ง คสช. ขัดหลักนิติธรรมตอกย้ำยุติธรรมชำรุด

ชวลิต วิชยสุทธิ์

ชวลิต วิชยสุทธิ์พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า 4 ปีนี้ประชาชนจนลง หนี้สินเพิ่ม ร้านค้าทยอยปิด จีดีพีที่เพิ่มขึ้นเพิ่มแค่ข้างบนไม่กี่บริษัท นี่คือความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากการรัฐประหารซึ่งมีมาต่อเนื่อง ทำอย่างไรจะหมดไป

พ.ร.ก. พรรคการเมือง มีผลบังคับใช้แล้ว แต่กลับมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/60 มาทับ ทำให้สมาชิกของพรรคการเมืองแต่ละพรรคต้องมายืนยันตัวตน ส่งผลให้สมาชิกพรรคและสาขาพรรคบางแห่งหายไปโดยปริยาย พรคคประชาธิปัตย์สมาชิกหายไปเป็นล้าน สาขาพรรคหายไปเป็นร้อย จนบัดนี้ก็ยังไม่มีการแก้ไข เมื่อคำสั่งถือเป็นกฎหมาย หลักนิติธรรมบอกว่ากฎหมายไม่มีผลย้อนหลังไปถึงโทษแก่บุคคล แต่อันนี้เป็นโทษ สมาชิกหาย สาขาพรรคหาย ขัดหลักนิติธรรม นี่คือกระบวนการยุติธรรมที่ชำรุดหรือไม่

รัฐบาลชุดนี้อยู่มา 4 ปี ทุกปีเพื่อไทยจะต้องวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลในรอบปี ทำเป็นปกติ ไม่เคยถูกดำเนินการอะไร พอครบ 4 ปี พรรคเพื่อไทยตั้งโต๊ะวิจารณ์ผลงานรัฐบาล เพราะในสภาไม่ได้ตรวจสอบอะไรเลย มีแค่การยกมืออย่างเดียว พิจารณางบประมาณผ่านไปโดยรวดเร็วทั้งที่เป็นเงินภาษีอากรของประชาชนและเรามีสิทธิตรวจสอบ ปีนี้ทางพรรคเตรียมการวิจารณ์โดยใช้สมาชิก 8 คน 3 คนโดนข้อหามาตรา 116 และคำสั่งห้ามชุมนุมเกิน 5 คน และอีก 5 คนก็โดนข้อหาห้ามชุมนุมเกิน 5 คน

ขณะที่ ‘สามมิตร’ พลังดูด ไปตามจังหวัดเป้าหมายอย่างเปิดเผย แจ้งทีวีก่อนด้วย เกินห้าคนแน่นอน ให้ข่าวว่าไปเจรจาการเมือง แต่ไม่โดนข้อหาอะไรเลย อย่างนี้กระบวนการยุติธรรมชำรุดไหมครับ ยังมีเรื่องแบบนี้อีกมาก

ยกตัวอย่างทีมฟุตบอลหมูป่า ทำไมเขาได้รับความสนใจ ความเอื้ออาทร เมตตาสงสาร มนุษยธรรม แต่นี่คนไทยทุกคนประสบกับตัวเอง อยากให้ครั้งนี้มันถล่มทลายเลยได้ไหม เหมือนกับอองซานซูจี ตนไม่ได้บอกว่าให้มาเลือกพรรคเพื่อไทย แต่อยากให้ทุกคนดูพรรคที่อยู่ในแนวทางประชาธิปไตย

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เห็นชอบ 5 จาก 7 รายชื่อเป็น กกต. ส่วนที่ว่างยังไม่แน่ใจว่าจะใช้การทาบทามหรือไม่

$
0
0

มติ สนช. เห็นชอบ ผู้ดำรงตำแหน่ง กกต. 5 รายชื่อ แต่ตีตก 2 รายชื่อ 'อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรฯ กับอดีตผู้ว่าฯ พีระศักดิ์ หินเมืองเก่า'ขณะที่ รองนายกฯ วิษณุ เชื่อ 5 คนก็สามารถเตรียมเดินหน้าจัดการเลือกตั้งได้ ส่วนอีก 2 ที่นั่งที่ว่างอยู่ ยังไม่แน่ใจว่าจะใช้การทาบทามหรือไม่ แต่กฎหมายไม่ได้ห้าม

แฟ้มภาพ

12 ก.ค. 2561 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาวาระให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จำนวน 7 คน ประกอบด้วย มาจากการสรรหาโดยกรรมการสรรหาฯ 5 คน คือ ศาสตราจารย์ สันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี / สมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ / อิทธิพร บุญประคอง อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และอดีตเอกอัครราชทูต กรุงโนโรบี สาธารณรัฐเคนยา และกรุงเฮก ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ / พีระศักดิ์ หินเมืองเก่า อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี บุรีรัมย์ ระนอง ชุมพร นครศรีธรรมราช / ธวัชชัย เทอดเผ่าไทย อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ปราจีนบุรี เพชรบูรณ์ ระยอง ลำปาง และเป็นอดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ(สปท.) ส่วนที่มาจากการเลือกของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามี 2 คน คือ ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และ ปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา

ภายหลังการประชุมลับเพื่อพิจารณารายงานประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรม ของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และลงคะแนนลับ ปรากฏว่า

ศาสตราจารย์สันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ ได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบ 178 คะแนน ไม่เห็นชอบ 20 และงดออกเสียง 3 

อิทธิพร บุญประคอง ได้รับคะแนนเห็นชอบ 186 ไม่เห็นชอบ 10 งดออกเสียง 5 

ธวัชชัย เทอดเผ่าไทย ได้รับคะแนนเห็นชอบ 184 ไม่เห็นชอบ 12 งดออกเสียง 

ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ได้รับคะแนนเห็นชอบ 184 ไม่เห็นชอบ 11 งดออกเสียง 6

และปกรณ์ มหรรณพ ได้รับคะแนนเห็นชอบ 185 ไม่เห็นชอบ 10 และงดออกเสียง 6 

โดยทั้ง 5 คนได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่คือ 123 คะแนนขึ้นไป จึงถือว่าบุคคลดังกล่าวได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่ง

ส่วน สมชาย ชาญณรงค์กุล ได้รับคะแนนเห็นชอบ 3 ไม่เห็นชอบ 193 งดออกเสียง 5 และพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า ได้รับคะแนนเห็นชอบ 28 ไม่เห็นชอบ 168 งดออกเสียง 5 ซึ่งได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงน้อยกว่ากึ่งหนึ่ง จึงถือว่าไม่ได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่ง.

ทั้งนี้การลงมติให้พิจารณาผู้สมควรดำรงตำแหน่ง กกต. ในครั้งถือเป็นการลงมติเป็นครั้งที่ 2 นับจากมีการประกาศใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยในครั้งแรกนั้น เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2561 สนช. ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำรง กกต. โดยมีมติไม่เห็นชอบผู้สมควรดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้งทั้ง 7 คน ได้แก่

ประชา เตรัตน์ อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย และอดีตผวจ.หลายจังหวัด มีคะแนนไม่เห็นชอบ 125 เห็นชอบ 57 งดออกเสียง 86

เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ มีคะแนนไม่เห็นชอบ 175 เห็นชอบ 10 งดออกเสียง 14

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)  มีคะแนนไม่เห็นชอบ 156 เห็นชอบ 27 งดออกเสียง 17

อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ มีคะแนนไม่เห็นชอบ149 เห็นชอบ 30 งดออกเสียง 21

ชมพรรณ์ พงษ์เจริญ สุธีรชาติ ที่ปรึกษากฎหมาย บริษัท วรวิสิฏฐ์ จำกัด และหัวหน้าสำนักงานกฎหมายสุธีรชาติ มีคะแนนไม่เห็นชอบ 168 เห็นชอบ 16 งดออกเสียง 16

ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา มีคะแนนไม่เห็นชอบ 128 เห็นชอบ 46 งดออกเสียง 26

ปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา มีคะแนนไม่เห็นชอบ 130 เห็นชอบ 41 งดออกเสียง 29

โดยเหตุผลที่สนช.ลงมติไม่เห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อทุกคน แม้ทุกคนจะมีคุณสมบัติครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากสนช.เห็นว่างานของกกต.ตามรัฐธรรมนูญใหม่มีภารกิจสำคัญเรื่องการเลือกตั้ง จึงอยากได้บุคคลมีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ในการทำงาน โดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่งสมาชิกสนช.ส่วนมากยังไม่เชื่อมั่นในฝีมือของผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้ง 7 คน ที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของสาธารณชน และยังไม่เคยแสดงฝีมือการทำงานให้เป็นที่ประจักษ์ ในส่วนผู้ได้รับการเสนอชื่อจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 2 คน อาจมีปัญหาเรื่องที่มาการสรรหาได้ดำเนินการอย่างถูกต้องหรือไม่ แม้สนช.จะได้รับหนังสือยืนยันจากศาลฎีกาว่ากระบวนการสรรหาดำเนินการอย่างถูกต้อง แต่สนช.เกรงว่าจะมีผู้ไปยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยในภายหลัง ซึ่งจะเกิดความวุ่นวายตามมา ดังนั้น สนช.จึงอยากได้คนใหม่ที่มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และความตั้งใจที่ดีที่สุด 

ทั้งนี้ผู้ที่สมัครเข้ารับการสรรหาเป็น กกต. ชุดใหม่นี้มีผู้สมัครทั้งสิ้น 33 คน มีผู้ผ่านคุณสมบัติ 24 คนซึ่งได้เข้าสัมภาษณ์ และแสดงวิสัยทัศน์รายบุคคล กับคณะกรรมการสรรหา กกต

คณะกรรมการสรรหา กกต. ประกอบด้วย

ชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นกรรมการ
ปิยะ ปะตังทา ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นกรรมการ
บุคคลซึ่งศาลรัฐธรรมนูญแต่งตั้ง ได้แก่ ศาสตราจารย์เจริญศักดิ์ โรจนฤทธิ์พิเชษฐ์ เป็นกรรมการ
บุคคลซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินแต่งตั้ง ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.อนุสรณ์ ลิ่มมณี เป็นกรรมการ
บุคคลซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติแต่งตั้ง ได้แก่ ประเสริฐ โกศัลวิตร เป็นกรรมการ
และบุคคลซึ่งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินแต่งตั้ง ได้แก่ วิโรจน์ จิวะรังสรรค์ เป็นกรรมการ


สำหรับกรณีได้รับความเห็นชอบไม่ครบ 7 คนนั้น วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณสื่อมวลชนเมื่อวานนี้ว่า หากยังมี กกต. ไม่ครบ 7 คนก็ยังสามารถทำงานได้ และให้สัมภาษณ์หลังจากทราบผลการลงมติในวันนี้ว่า การมี กกต. ใหม่แล้ว 5 คนก็สามารถที่จะดำเนินการจัดการเลือกตั้งได้ ส่วนตำแหน่งที่ยังว่างอยู่ แม้กฎหมายจะเปิดโอกาสให้ให้สามารถทาบทามตัวบุคคลมาดำรงตำแหน่งได้ วิษณุเห็นว่า เรื่องนี้อาจจะยังใหม่กับสังคมและไม่เป็นที่ยอมรับ ดังนั้นจึงไม่ควรเพราะดุลพินิจที่จะบอกว่าให้ใช้วิธีทาบทามตัวถือว่าล่อแหลมมาก แต่กฎหมายไม่ได้ห้ามอะไร
 

เรียบเรียงจาก: เว็บข่าวรัฐสภาไทยรัฐออนไลน์

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เวิร์คพอยท์'สั่งพักงานไม่มีกำหนด 'บ.ก.ข่าวภูมิภาค'ปมปล่อยเสียงวิทยุช่วย 'ทีมหมูป่า'

$
0
0

'เวิร์คพอยท์'ลงโทษสั่งพักงานไม่มีกำหนด บรรณาธิการข่าวภูมิภาค ปมปล่อยเสียงวิทยุเครือข่ายเครื่องสีแดงช่วย 'ทีมหมูป่า'ระบุทำโดยพลการและขาดการใช้วิจารณญาณในการปฏิบัติงาน แม้ กสทช. ชี้ ว.เเดง เป็นคลื่นสาธารณะ ทุกคนฟังได้ ไม่ผิด กม. ก็ตาม

12 ก.ค.2561 เมื่อเวลา 18.29 น. ที่ผ่านมา เฟสบุ๊กแฟนนเพจ 'Workpoint News - ข่าวเวิร์คพอยท์'เผยแพร่ ประกาศลงโทษบรรณาธิการข่าวภูมิภาค เวิร์คพอยท์นิวส์ สถานีโทรทัศน์เวิร์คพอยท์ โดยระบุว่า กรณีการนำเสนอข่าวของบรรณาธิการข่าวภูมิภาค เวิร์คพอยท์นิวส์ ทางสถานีโทรทัศน์เวิร์คพอยท์ที่นำมาเผยแพร่ออกอากาศทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อต่างๆ 

ประกาศระบุต่อว่า การกระทำดังกล่าว ทางบริษัทฯ มิได้นิ่งนอนใจ ได้ทำการสืบสวนหาข้อเท็จจริงและพบว่าบรรณาธิการข่าวได้กระทำโดยพลการและขาดการใช้วิจารณญาณในการปฏิบัติงาน อันเกี่ยวข้องกับจริยธรรมในการนำเสนอข่าว บริษัทฯ จึงได้กำหนดบทลงโทษ โดยให้ ฤทธิชัย ชูวงษ์ ตำแหน่งบรรณาธิการข่าวภูมิภาค พักงานโดยไม่มีกำหนด และมีผลตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค.เป็นต้นไป ทางบริษัทฯ ขอน้อมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นและขอยืนยันว่าจะพยายามอย่างดีที่สุดที่จะกำกับดูแลไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวขึ้นอีก 
 
ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากมีการวิพากษ์วิจารณ์กรณีเวิร์คพอยท์นิวส์เผยแพร่เสียงวิทยุเครือข่ายเครื่องสีแดง ที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือทีมหมูป่าอะคาเดมี ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย แต่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการดักฟังวิทยุราชการ
 
อย่างไรก็ตาม วันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา ทีมข่าวเวิร์คพอยท์ ได้ออกมาชี้แจงผ่านแถลงคำขอโทษกรณีดังกล่าว พร้อมระบุว่า เสียงที่เผยแพร่เป็นของ พลสิงห์ แสนสุข ประธานศูนย์พญาอินทรี ซึ่งเป็นการส่งข้อมูลข่าวสาร (ว.8) ที่ประชาชนเข้าถึงได้ปกติ รวมทั้ง ถ่ายทอดผ่านแอพพลิเคชั่น Zello และต่อมา เฟสบุ๊กแฟนเพจ 'โครงการพลังอาสา พลังแห่งแผ่นดิน'เผยแพร่ คำชี้แจงจาก ศูนย์พญาอินทรี โดย พลสิงห์ ระบุว่า การรับฟังข่าวสารจากศูนย์พญาอินทรี ประชาชนคนไทยสามารถรับฟังได้โดยเสรี หากมีวิทยุสื่อสารเครื่องแดงในมือ ดังนั้นการที่ ศูนย์ข่าวเวิร์คพอยท์รับฟังนั้น สามารถกระทำได้ เสมือนคนไทยทั่วไป 
 
ต่อมา 10 ก.ค.61 ฤทธิชัย เขียนคำชี้แจงกรณีดังกล่าว ถึง บรรยงค์ สุวรรณผ่อง ปธ.กก. จริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยเรื่องนี้ ก่อนมีคำสังพักงานดังกล่าว
 

กสทช. ประวิทย์ ชี้ ว.เเดง เป็นคลื่นสาธารณะ ทุกคนฟังได้ ไม่ผิด กม.

สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แสดงความเห็นกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ต่อกรณีการนำเสนอเสียงจากสัญญาณวิทยุสื่อสาร ในระหว่างภารกิจช่วยเหลือครั้งนี้ ว่า วิทยุสื่อสารสีแดง (ว.แดง) เป็นวิทยุคลื่นสาธารณะ ไม่ใช่คลื่นเฉพาะ ทุกคนจึงฟังได้ ดังนั้น จึงไม่มีความผิดฐานลักลอบดักฟัง อย่างไรก็ตาม กรณีที่เกิดขึ้นประเด็นอยู่ที่ความเหมาะสมมากกว่า ในการนำเนื้อหาที่คนอื่นพูดไปเผยแพร่ต่อ

“ยังไม่เห็นข้อกฎหมายใดเข้าข่าย เพราะ ว.ปกติ ไม่บันทึกเสียงอยู่แล้ว เหมือนกับโทรศัพท์ พูดคุยกันเสร็จ ข้อความการสนทนานั้นจะหายไป หรืออัดเสียงระหว่างคุยโทรศัพท์ไม่มีความผิดตามกฎหมาย” กรรมการ กสทช. กล่าว และว่า ว.สีแดง ไม่มีระบบอัดเสียง จึงแสดงว่า มีการอัดเสียงผ่านระบบอัดเสียงอื่นอีกต่อหนึ่ง ซึ่งยังบอกไม่ได้ว่า ผิดกฎหมายอย่างไร

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรรมการสิทธิฯ หยุดตามปมบุคคลภาวะเพศกำกวม หลัง สปสช.ยันใช้สิทธิประกันสุขภาพได้

$
0
0

สปสช. ระบุ LGBTI ที่ภาวะเพศกำกวมและจะผ่าตัดเพื่อรักษาให้ตรงกับเพศสภาพ จัดอยู่ในประเภทและขอบเขตของการบริการสาธารณสุขที่บุคคลมีสิทธิได้รับตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

<--break- />

12 ก.ค.2561 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รายงานว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 24/2561 เมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา  มีมติเห็นชอบการดำเนินงานของหน่วยงานตามมาตรการหรือแนวทางของ กสม. ตามรายงานผลการตรวจสอบที่ 211/2560 เรื่อง สิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุขและสวัสดิการจากรัฐ อันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิและสถานะบุคคล กรณีขอให้มีการตรวจสอบและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนสำหรับบุคคลที่มีภาวะเพศกำกวม

สืบเนื่องจาก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 มีผู้ร้องเรียนต่อ กสม. ขอให้ตรวจสอบกรณีกล่าวอ้างว่า ผู้ร้องเป็นบุคคลที่มีภาวะเพศกำกวม มีความประสงค์ที่จะเข้ารับการตรวจพิสูจน์ว่าตนเองมีภาวะเพศกำกวมหรือไม่ เพื่อยื่นเรื่องขอเปลี่ยนคำนำหน้านาม แต่ไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากแพทย์ยังไม่สามารถวินิจฉัยเพื่อยืนยันภาวะเพศกำกวมได้ ทำให้ผู้ร้องไม่มีหลักฐานประกอบการพิจารณาขอเปลี่ยนคำนำหน้านาม

กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า ประเทศไทยมีการออกกฎหมาย ระเบียบ และแนวปฏิบัติในการให้สิทธิบุคคลที่มีภาวะเพศกำกวมสามารถเปลี่ยนคำนำหน้านามให้ถูกต้องและสอดคล้องกับเพศสภาพในปัจจุบันของบุคคลดังกล่าวได้ อีกทั้งยังให้สิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลและสิทธิในการเข้าถึงยาประเภทต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการบำบัดรักษาภาวะเพศกำกวมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งถือเป็นการคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่มีภาวะเพศกำกวมให้ได้รับการยอมรับจากสังคม รวมทั้งใช้สิทธิต่าง ๆ ได้เช่นเดียวกับบุคลทั่วไป อย่างไรก็ดี ในกรณีนี้ผู้ร้องยังไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นบุคคลที่อยู่ในภาวะเพศกำกวมในอันที่จะได้รับสิทธิในการบริการสาธารณสุขและการเปลี่ยนแปลงแก้ไขทะเบียนบุคคล ดังนั้น เพื่อสิทธิประโยชน์ที่ผู้ร้องพึงมีพึงได้ กสม. จึงอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 15 (5) ส่งเรื่องให้องค์กรอื่นที่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาดำเนินการ และมีผลการดำเนินงานตามแนวทางของ กสม. ดังนี้ 

1) กสม. ขอให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ผู้ร้องรับการวินิจฉัยอยู่แล้ว พิจารณาตรวจวินิจฉัยว่าผู้ร้องเป็นบุคคลที่มีภาวะเพศกำกวมหรือไม่ ตามวิธีการทางการแพทย์ตามสภาพความเป็นจริง ต่อมา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีหนังสือแจ้งกลับเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2560 ระบุว่า ยินดีตรวจวินิจฉัยให้กับผู้ร้องแล้ว

2) กสม. ขอให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พิจารณากรณีกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTI) ซึ่งเข้าข่ายเป็นบุคคลที่มีภาวะเพศกำกวม หรือ มีเพศสรีระมากกว่าหนึ่งเพศ (Intersex) ตามที่แพทย์ให้การรับรองแล้ว สามารถดำเนินการผ่าตัดแปลงเพศของตนตามคำรับรองของแพทย์โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาตามสิทธิหลักประกันสุขภาพที่บุคคลดังกล่าวพึงมีตามกฎหมาย และเพื่อคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่ผ่านการผ่าตัดแปลงเพศ หรือ คนข้ามเพศ (Transgender) ในระยะยาว อาจให้ได้รับสิทธิในการผ่าตัดเพื่อปรับเปลี่ยนร่างกายตามความรู้สึกของตนเองให้ตรงตามเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ โดยอาศัยสิทธิตามหลักประกันสุขภาพ

ต่อมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีหนังสือแจ้งกลับเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2560 ระบุว่า บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTI) ที่เข้าข่ายบุคคลที่มีภาวะเพศกำกวม ที่จะผ่าตัดเพื่อการรักษาให้ตรงกับเพศสภาพตามที่แพทย์ให้การรับรอง จัดอยู่ในประเภทและขอบเขตของการบริการสาธารณสุขที่บุคคลมีสิทธิได้รับตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ส่วนกรณีที่บุคคลซึ่งผ่านการผ่าตัดแปลงเพศแล้ว หรือ คนข้ามเพศ (Transgender) นั้น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะรวบรวมข้อมูลนำเสนอต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อพิจารณาประกาศกำหนดให้เป็นประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุขที่บุคคลจะมีสิทธิได้รับตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 5 วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ต่อไป

ดังนี้แล้ว กสม. จึงเห็นควรยุติการติดตามผลการดำเนินการกรณีดังกล่าว ตามระเบียบ กสม. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน พ.ศ. 2561 ข้อ 60 (1) กรณีที่บุคคลหรือหน่วยงานได้ดำเนินการตามมาตรการหรือแนวทางของ กสม. ทั้งหมดหรือบางส่วนที่เป็นสาระสำคัญแล้ว

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พบแฮ็กเกอร์ทำงานให้รัฐบาลจีนสอดแนม-เก็บข้อมูลเลือกตั้งกัมพูชา

$
0
0

บริษัทความปลอดภัยไซเบอร์สหรัฐฯ รายงาน พบกลุ่มแฮ็กเกอร์เชื่อมกับทางการจีนพยายามแทรกซึม สอดแนมเลือกตั้งกัมพูชาที่จะมีในวันที่ 29 ก.ค. นี้ด้วยการเชิญให้คลิกเนื้อหาในอีเมล์ ทำเว็บปลอมเพื่อหลอกเก็บข้อมูล ล่าสุดมีกลุ่มองค์กรสิทธิฯ สื่อ ส.ส. ฝ่ายค้าน ทูต กกต. และกระทรวงมหาดไทยถูกแฮ็กไปแล้ว

ภาพบัตรลงคะแนนเลือกตั้งที่กัมพูชา (ที่มา: Flickr/ Daniel Littlewood)

สื่อไทม์รายงานว่า บริษัทความปลอดภัยทางไซเบอร์จากสหรัฐฯ 'FireEye'สืบพบปฏิบัติการขนาดใหญ่จากกลุ่มจารกรรมไซเบอร์ของจีนที่พยายามแทรกซึมชาวกัมพูชาเพื่อสอดแนมการเลือกตั้งระดับประเทศของกัมพูชาที่จะมีขึ้นในช่วงวันที่ 29 ก.ค. ที่จะถึงนี้ โดยในช่วงหลายเดือนก่อนหน้านี้เคยมีกลุ่มสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่ม สื่อมวลชน และผู้สังเกตการณ์ตั้งข้อสังเกตว่า มีความพยายามแทรกซึมด้วยการล่อลวงเอารหัสหรือหมายเลขบัตรเครดิตทางไซเบอร์ด้วยเว็บปลอมหรืออีเมลปลอม หรือที่เรียกว่าฟิชชิง (phishing) และมีความพยายามในการแฮ็กระบบด้วย

บริษัท FireEye ออกรายงานเมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่ากลุ่มแฮ็กเว็บชื่อ TEMP.Periscope ตั้งเป้าล้วงข้อมูลจากผู้มีชื่อเสียงในกลุ่มฝ่ายค้าน เจ้าหน้าที่กระทรวง นักสิทธิมนุษยชนและองค์กรสื่อต่างๆ โดยกลุ่มที่ถูกแฮ็กไปเรียบร้อยแล้วได้แก่คณะกรรมการการเลือกตั้งกัมพูชา กระทรวงมหาดไทย นักการทูต และ ส.ส.ของฝ่ายค้าน

ก่อนหน้านี้ TEMP.Periscope เคยตั้งเป้าแฮ็กกลุ่มบรรษัท สถาบันการศึกษา และเอกชนผู้รับเหมาด้านกลาโหมในสหรัฐฯ ไต้หวัน ฮ่องกง และทวีปยุโรปมาก่อน บริษัท FireEye เคยศึกษากลุ่ม TEMP.Periscope มาตั้งแต่ปี 2556 แล้ว และระบุว่ามีความเป็นได้สูงมากที่กลุ่มนี้จะทำงานให้กับรัฐบาลจีน

ประเทศจีนเป็นพันธมิตรที่มีความใกล้ชิดกับกัมพูชาและลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนา การช่วยและและการสนับสนุนทางการทหารไปหลายพันล้านดอลลาร์ เบนจามิน รีด ผู้จัดการอาวุโสของฝ่ายวิเคราะห์การจารกรรมไซเบอร์ที่ FireEye กล่าวว่าจากหลักฐานที่พวกเขาเก็บรวบรวมได้แสดงให้เห็นว่าจีนสนใจการเลือกตั้งในกัมพูชาอย่างมาก เพราะถ้าผลการเลือกตั้งพลิกโผแบบที่เกิดขึ้นในมาเลเซียก็จะสร้างปัญหาให้กับการดำเนินโครงการต่างๆ ของจีนได้

อย่างไรก็ตาม สื่อไทม์ระบุว่าโอกาสที่การเลือกตั้งในกัมพูชาจะพลิกโผนั้นมีน้อย เพราะพรรครัฐบาลกัมพูชาเพิ่งสั่งยุบพรรคที่เป็นคู่แข่งและคุมขังผู้นำพรรค แต่นั่นก็ทำให้จีนยังคงเป็นกังวลจนต้องจับตามองสิ่งที่เกิดขึ้นภายในกัมพูชาอย่างใกล้ชิดทั้งมิตรและศัตรู

ในรายงานของ FireEye ระบุว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นหนึ่งในตัวอย่างล่าสุดที่รัฐชาติพยายามเก็บข้อมูลการเลือกตั้งของประเทศอื่นๆ นอกจากในกัมพูชาแล้วยังเป็นไปได้ว่าอาจมีปฏิบัติการแบบนี้เกิดขึ้นที่อื่นนอกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

อู พันนาริธ ประธานฝ่ายความปลอดภัยไอซีทีของกระทรวงไปรษณีย์และโทรคมนาคมของกัมพูชากล่าวว่า การพิสูจน์เรื่องการโจมตีทางไซเบอร์ในกัมพูชานั้นทำได้ยาก ซึ่งโดยมากก็เกิดขึ้นจากการขาดมาตรฐานและความเข้าใจด้านความปลอดภัยออนไลน์ อย่างไรก็ตามพวกเขามีทีมปฏิบัติการโต้ตอบฉุกเฉินทางคอมพิวเตอร์ (CERT) ที่คอยให้คำปรึกษาในเรื่องนี้และมีการออกคำแนะนำด้านความปลอดภัยให้กับเว็บไซต์ต่างๆ ของกัมพูชาเพื่อช่วยปิดช่องทางที่เสี่ยงต่อการถูกโจมตีทางไซเบอร์

Licadho กลุ่มสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียงในกัมพูชาเปิดเผยว่าพวกเขาเผชิญกับการโจมตีทางไซเบอร์หลายครั้งในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา โดยมีลักษณะที่ดูซับซ้อนขึ้น และมีการโจมตีซ้ำๆ มากขึ้น พวกเขามีความกังวลเพราะว่าต้องเก็บข้อมูลสำคัญต่างๆ ของเหยื่อและผู้คนที่ให้ข้อมูลในฐานะที่เป็นคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ดังนั้นการโจมตีทางไซเบอร์จึงเป็นเรื่องใหญ่

มีการยกตัวอย่างการโจมตีทางไซเบอร์อีกกรณีหนึ่งคือกรณีของ เข็ม โมโนวิทยา โฆษกของพรรค CNRP ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านกัมพูชาที่ถูกโจมตีโดย TEMP.Periscope ด้วยการส่งอีเมลหลอกล่อ อ้างว่ามาจากคนทำงานที่ Licadho โดยชื่อของบุคลากรเป็นคนที่ทำงานใน Licadho จริง ชื่อของอีเมลก็ถูกต้อง ทว่าเบอร์โทรศัพท์ไม่ถูกต้อง และบุคลากรคนดังกล่าวก็ไม่ได้เขียนอีเมล์ในลักษณะนั้น มีการตั้งข้อสังเกตว่าผู้ที่ส่งจดหมายปลอมนี้อาศัยอ้างชื่อคนๆ เดียวกันส่งข้อความร้องขอในเรื่องต่างกันหลายครั้ง เช่น ขอให้เปิดไฟล์ที่แนบมาพร้อมอีเมล (attachment) หรือทำเรื่องอื่นๆ ไปจนถึงแอบอ้างเอาโลโก้องค์กรไปใช้

FireEye ยังสืบพบอีกว่า เคยมีการโจมตีทางไซเบอร์ที่เชื่อมโยงได้กับทางการเวียดนาม เหตุเกิดกับ Licadho ในเดือน พ.ค ที่ผ่านมา ที่มีการส่งอีเมลหลอกลวงแบบเดียวกันให้กับนักข่าว ทูต และนักวิชาการโดยปลอมตัวเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งกัมพูชา ซึ่งในเวลาเดียวกันกับการโจมตีทางไซเบอร์ รัฐบาลกัมพูชาได้ประกาศว่าจะมีการสอดแนมกิจกรรมในโลกออนไลน์มากขึ้น และมีการจับกุมผู้คนหรือข่มขู่ผู้คนที่โพสต์โซเชียลมีเดียออนไลน์ต่อต้านรัฐบาลแล้วก่อนหน้านี้

นพ วี ผู้อำนวยการด้านสื่อของศูนย์เพื่อสื่ออิสระกัมพูชาและเจ้าของสื่ออิสระวอยซ์ออฟเดโมเครซีกล่าวว่า การที่แฮ็กเกอร์อาจสามารถล้วงข้อมูลการสนทนาระหว่างองค์กรและสื่อมวลชน ไปจนถึงการยึดหน้าเว็บไซต์เพื่อโพสท์ข้อมูลเท็จที่อาจสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดี หรือถูกใช้เป็นข้ออ้างในการดำเนินคดีต่อพวกเขาซึ่งศาลเองก็อาจไม่เข้าใจเรื่องการถูกแฮ็กนั้นเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง

องค์กรสิทธิแรงงาน CENTRAL มีการฝึกอบรมนักสหภาพ กลุ่มเยาวชน นักคุ้มครองสิทธิ และนักข่าวในเรื่องความปลอดภัยดิจิทัล โดยหัวหน้าองค์กรเปิดเผยว่าอาจมีการโจมตีทางไซเบอร์เพิ่มขึ้นมากกว่านี้อีกในช่วงหนึ่งเดือนก่อนการเลือกตั้ง และเขาก็เป็นห่วงกรณีการใช้บัญชีบุคคล (account) ในโลกออนไลน์เพื่อโพสต์ข่าวปลอมหรือบงการคนในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดการแพร่ข้อมูลผิดๆ หรือเกิดความโกลาหลได้

เรียบเรียงจาก

Chinese State-Linked Hackers in Large Scale Operation to Monitor Cambodia's Upcoming Elections, Report Says, Time, Jul. 11, 2018

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘คณิต’ ชี้ประหารไม่แก้ปัญหา ผอ.ศูนย์วิจัยนิติฯ ย้ำการลงโทษควรเน้นที่การพัฒนามนุษย์

$
0
0

คณิต ณ นคร ชี้ประหารชีวิตไม่แก้ปัญหา ระบุคนไม่ได้กลัวโทษแต่กลัวประสิทธิภาพกระบวนการยุติธรรม แต่เรายังมีความผิดเพี้ยนของกระบวนการยุติธรรม เผยเคยดันยกเลิกโทษประหาร เมื่อครั้งเป็นสสร. 40 เหตุมันขัดแย้งกับการยอมรับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขณะที่ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาทางนิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ปรีดีฯ  แนะการลงโทษควรเน้นที่การพัฒนามนุษย์

เมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา ณ ห้องสัจจา เกตุทัต อาคารสำนักอธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จัดงานเสวนาวิชาการในหัวข้อ “โทษประหารชีวิตแก้ปัญหาสังคมไทยหรือไม่” โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.คณิต ณ นคร ที่ปรึกษาคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และอดีตประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ผศ.ดร.ธานี วรภัทร์ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาทางนิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ปรีดีฯ ร่วมเสวนา  จิรวุฒิ ลิปิพันธ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรมหาบัณฑิต สาขานิติศาสตร์เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

รายละเอียดดังนี้

ประหารไม่แก้ปัญหา คนไม่ได้กลัวโทษแต่กลัวประสิทธิภาพกระบวนการยุติธรรม

คณิต กล่าวว่า คำถามที่ขึ้นในหัวข้อการเสวนาในวันนี้ตอบได้เลยว่าไม่ช่วยแก้ปัญหา กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เราจะพูดถึงวันนี้มีอยู่ 3 กฎหมายคือกฎหมายอาญา, กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและกฎหมายว่าด้วยการบังคับโทษ ซึ่งตนจะพูดในมิติของกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อย่างที่กล่าวมาข้างต้นว่าคำถามในหัวข้อวันนี้ช่วยแก้ปัญหาไม่ได้เลย คือมนุษย์เราหรือคนที่กระทำความผิดเขาไม่ได้กลัวโทษแต่เขากลัวประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรม แต่กระบวนการยุติธรรมของเราไม่เข้าท่า การปฏิรูปตำรวจถ้าฟังดูก็ไปไม่ถึงไหน อัยการเองก็ไม่ค่อยได้เรื่องและรวมถึงศาลด้วย เพราะฉะนั้นแล้วตอบได้เลยว่าผู้กระทำความผิดนั้นเขากลัวกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ กระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพหมายความว่าการทำงานของกระบวนการยุติธรรมต้องถูกต้องและเป็นไปตามกฎหมาย

กฎหมายวิธีพิจารณาความหรือว่ากฎหมายอาญาของเรานั้นมีการปฏิรูปสองครั้งในอดีต ครั้งแรกก็คือในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการตั้งศาลยุติธรรม ครั้งที่สองปฏิรูปขนานใหญ่คือรัฐธรรมนูญปี 40 ในกรณีของครูจอมทรัพย์นี่คือเหยื่อของกฎหมายฉบับนี้ ความผิดพลาดของกระบวนการยุติธรรมนั้นมันผิดพลาดโดยรัฐ รัฐเท่านั้นที่จะแก้ไข รัฐก็คือพนักงานอัยการที่จะแก้ไข ซึ่งคุณจอมทรัพย์ท่านรู้สึกว่าไม่ถูกต้องเลยฟ้องให้รื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่แล้วท่านก็ถูกดำเนินคดี เมื่อคุณจอมทรัพย์ถูกดำเนินการอย่างนี้แล้วอัยการควรจะสั่งไม่ฟ้องครูจอมทรัพย์ คนในกระบวนการยุติธรรมก็มีข้อด้อยอีกอันหนึ่งคือมีความกลัว ทำงานก็ไม่ลงลึก

ลองเปรียบเทียบกระบวนการยุติธรรมเราเหมือนการเล่นฟุตบอล ฟุตบอลจะมีสูตร 4:3:3 และในกระบวนการยุติธรรมก็มีสูตรคือสูตร 3:3:3 โดยที่ 3 ตัวแรกก็คือการทำงานของกระบวนการยุติธรรมไม่มีประสิทธิภาพ 3 ที่สองประจบการเมือง ส่วน 3 สุดท้ายคือกฎหมาย นักกฎหมายและการศึกษากฎหมาย ซึ่งกล้ายืนยันว่ากฎหมายเราทันสมัยไม่แพ้ประเทศใด แต่นักกฎหมายเราแย่เพราะการเรียนการสอนมันแย่เพราะฉะนั้นจึงมองว่ามีความแย่อยู่ 3 ประการ แย่แรก คือประสิทธิภาพแย่ จะลงโทษได้นั้นน้อยมาก สองคือกระบวนการยุติธรรมคุกคามสิทธิมากที่สุดแม้กระทั้งคนที่เป็นทนายความยังโดนจับ สามคือแพงมาก ประเทศอื่นๆ มีผู้พิพากษาแค่ไม่กี่คนแต่ของไทยมีเป็นร้อยเพราะฉะนั้นถึงแพงมาก ดังนั้นคำตอบก็คือโทษประหารช่วยสังคมไม่ได้แต่เราก็ไม่ใช่ว่าจะปล่อยเลยตามเลยต้องมีการปรับปรุงกัน

เคยดันยกเลิกโทษประหาร เมื่อครั้งเป็นสสร. 40

คณิต กล่าวว่า ตอนที่ตนเป็น สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) 40 ตนเคยผลักดันให้มีการยกเลิกโทษประหารเพราะเห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 40 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ของโลกที่พูดถึง Human Dignity หรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เมื่อเรายอมรับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แล้วเราก็จะต้องยกเลิกโทษประหารเพราะมันขัดแย้ง จึงเสนอว่าให้ยกเลิกแต่คณะกรรมการยกร่างไม่เห็นด้วย หลังจากรัฐธรรมนูญปี 40 ของปี 50 ก็ยังมีอยู่แม้กระทั้งปีรัฐธรรมนูญปี 60 ก็ยังคงมีอยู่ เท่าที่ติดตามข่าวที่มีการประหารชีวิตเมื่อเร็วๆนี้รู้สึกว่าญาติๆเขาไม่รู้เรื่องเลยนี่ก็คือจุดบกพร่องอีกประการหนึ่ง ของเยอรมันมีมาตรา 1 เขาบอกว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่สามารถละเมิดได้ และในมาตรา 120 หรือ 122 ก็บอกว่าโทษประหารชีวิตให้เป็นอันยกเลิกซึ่งเขายกเลิกโดยรัฐธรรมนูญในต่างประเทศเขาทยอยยกเลิกไปเหลืออยู่ประมาณ 20 ประเทศ แต่ของเรานั้นยังมีติดกันมา 3 ฉบับ แต่สิ่งที่น่าเศร้าสำหรับบ้านเราคือคนที่เป็นทนายความสู้อยู่เรื่องเดียวคือข้อเท็จจริงไม่คิดหาข้อกฎหมายมาต่อสู้ด้วย

ความผิดเพี้ยนของกระบวนการยุติธรรม

อดีตประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า อัยการจริงๆ แล้วมีบทบาทสูงมากในทางกฎหมาย เป็นผู้รับผิดชอบก่อนคดีถึงศาลไม่ใช่ปล่อยให้พนักงานสอบสวนทำไปอย่างในบ้านเรา เพราะในความเป็นจริงประเทศที่เจริญแล้วอัยการจะมีบทบาทมากเพื่อให้การตรวจสอบความจริงขั้นต้นสมบูรณ์แบบ พอพิพากษาเสร็จแล้วบทบาทอัยการอีกแบบหนึ่งคือเป็นผู้ขอให้มีการลงโทษ ของไทยคือปล่อยให้ผู้พิพากษาทำหมด ความจริงบทบาทของอัยการในกระบวนการยุติธรรมจะสูงมาก ผู้พิพากษาจะมุ่งไปที่ (concentrate) เฉพาะการพิจารณาพิพากษาเท่านั้น มีผู้เชี่ยวชาญด้านปรัชญาท่านหนึ่งบอกไว้ว่าเขาสามารถประกอบอาชีพอะไรได้หมดยกเว้นพนักงานอัยการเพราะอัยการทำงานคนเดียว ของเรามีเรื่องหนึ่งที่ยังบกพร่องอยู่ในวิธีการพิจารณาอาญา คือความผิดที่ร้ายแรงและเป็นผู้เยาว์รัฐจะจัดหาทนายให้ แต่ถ้าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นคนหูหนวก ตาบอดคือไม่ได้จัดหาให้ ซึ่งต่อไปน่าจะต้องแก้ไขให้สมบูรณ์ เพราะที่แก้ไขกันไปไม่ค่อยได้เรื่อง อัยการควรจะเข้าไปสอบสวนดูแลไม่ใช่ให้ตำรวจทำจนเสร็จ อัยการเองเป็นผู้บริหารงานคดี ศาลเป็นผู้พิจารณาพิพากษา จริงๆศาลไม่มีอำนาจหน้าที่บริหารงานคดี การที่จะให้ศาลลงโทษคืออัยการต้องมีบทบาท การที่จะแก้ไขกฎหมายให้เกิดความถูกต้องดีงามมีอยู่น้อยมาก แต่ที่ยังผิดเพี้ยนอยู่ก็เพราะความผิดพลาดของมนุษย์หรือของกระบวนการยุติธรรม

ถ้าพูดถึงวงการพระแนะนำให้ไปอ่านนิติศาสตร์แนวพุทธ ศีลกับกฎหมายอันเดียวกันศีลคือข้อฝึก กฎหมายก็คือข้อฝึกเอาไว้ใช้ฝึกมนุษย์ เรื่องโทษประหารในอนาคตไม่น่าจะมีประเทศไหนใช้แล้วน่าจะลดลงเรื่อยๆ ในอังกฤษเป็นประเทศที่แปลก เขาจะรักตำรวจมากจะสังเกตได้ว่าตำรวจจะไม่พกปืนจะพกเป็นกระบองแทน เพราะตำรวจคือเพื่อนของประชาชน ต่อมาอังกฤษก็มีการตัดสินให้ฆ่าตำรวจ ชาวบ้านก็เรียกร้องว่ามาฆ่าเพื่อนทำไม สุดท้ายก็ต้องยกเลิกอย่างถาวร ดังนั้นจึงคิดว่าการประหารชีวิตมันเป็นอารมณ์ของคนเราจึงควรทำใจให้เป็นกลาง

การลงโทษควรเน้นที่การพัฒนามนุษย์

ธานี กล่าวว่า ตนมีความคิดเห็นตรงกันกับ อ.คณิต ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทางวิชาการในเชิงความคิดเห็นนั้นถามว่าโทษประหารชีวิตช่วยให้เกิดประโยชน์อะไรในสังคม คำตอบยังคงเหมือนกันว่าไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรในทางสังคมเลย ลองมาดูในมุมมองทางศาสตร์ในการบังคับโทษ ในส่วนแรกลองคิดไปในช่วงนับหนึ่งกันก่อนเพราะไม่ค่อยมีคนคิดกัน โดยเฉพาะนักกฎหมายเราชอบไปออกกฎบังคับมนุษย์ด้วยกันโดยที่เราไม่รู้จักว่ามนุษย์นั้นเป็นยังไง สิทธิหรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คืออะไร ในทางนิติปรัชญาสิ่งสำคัญอันหนึ่งก็คือเรื่องของธรรมชาติที่ออกแบบแล้วมีมนุษย์เกิดขึ้นมาบนโลกสิทธิของความเป็นมนุษย์สำคัญยิ่ง

มนุษย์เกิดมาตามธรรมชาติและตายไปตามธรรมชาติ มีรักโลภโกรธหลง มีความขัดแย้งกันเองได้ ถ้าเราลองมองอะไรที่ต่ำลงไปกว่ามนุษย์ในตามธรรมชาติ เช่น เสือฆ่ากวาง ซึ่งก็เป็นธรรมชาติและเป็นสมดุลของโลกมนุษย์ แต่มนุษย์จะสามารถพัฒนาได้มากกว่า จึงมีมนุษย์กลุ่มหนึ่งที่ตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นมา กฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและโทษคือสิ่งที่มนุษย์คิด คนที่คิดกฎหมายนี้ขึ้นมาแรกๆ เพื่อให้สังคมมีความสงบเรียบร้อย จึงเริ่มคิดว่าคนจะมีโทษยังไง มนุษย์ยุคก่อนเขายังใช้ความรุนแรงกันแต่ก็ค่อยๆ พัฒนามา มีการวางทฤษฎีวางรัฐธรรมนูญออกมาเรื่อยๆ จากความโหดร้ายทารุณป่าเถื่อนก็ค่อยๆ ศิวิไลซ์เพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้นช่วงเปลี่ยนผ่านของโลกที่มีการใช้ความรุนแรงก็เริ่มเปลี่ยนไปใช้เหตุใช้ผล เพราะฉะนั้นกระบวนการยุติธรรมหรือกฎหมายต้องมีไว้เพื่อฝึกมนุษย์หรือแก้ไขมนุษย์ทำให้มนุษย์ดีขึ้นถึงจะตรงกับแนวทางที่มนุษย์ออกแบบมา

หลายๆ ประเทศได้ยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงโทษที่ทำลายมนุษย์ โทษที่ทำลายมนุษย์โทษแรกเลยคือการประหารชีวิตนั้นเริ่มหมดไปจากหลายประเทศ อันนี้เป็นปัจจัยสำคัญมากในการพัฒนาประเทศพัฒนามนุษย์ โทษจำคุกแต่ก่อนบอกให้จำคุกแรงๆ โหดร้าย แต่วันนี้โทษจำคุกก็เปลี่ยน มันเป็นการพัฒนาโทษช่วงเปลี่ยนผ่าน มีบางประเทศที่เขายกเลิกไปหมดเลยเพราะเขามีการพัฒนาความรู้ความคิดไปไกลกว่าคนอื่น แต่ในขณะเดียวกันหลายประเทศก็ยังมีอยู่หรือยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน มันอยู่ในนโยบายของรัฐ อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ของเรานั้นช่วงเปลี่ยนผ่านที่ยาวมา 9 ปี ต้องยอมรับว่ามันก็ถูกเบรกไปเรื่อยๆ แต่พอถึงยุคนี้อาจจะมีผู้เกี่ยวข้องบางท่านมุมมองความคิดยังเป็นอย่างนั้นอยู่ ถ้ากฎหมายดีสมดุลก็สร้างสมดุลให้กับสังคมและไม่ไปทำร้ายสังคมทำร้ายมนุษย์ พื้นฐานโครงสร้างทางสังคมไทยก็เป็นปัญหามากและเป็นส่วนสำคัญที่มารับกับกฎหมายกับกระบวนการยุติธรรมที่ยังต้องการการพัฒนาอีกมากจึงทำให้การลงโทษมีการคลาดเคลื่อน

การตรวจสอบค้นหาความจริงไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ในยุคสมัยก่อนยังคิดเรื่องแก้แค้นเป็นหลัก ความคิดนี้เป็นความคิดที่ยังติดอยู่ในกฎหมายหลายฉบับแล้วยังถูกสอนไปยังผู้ที่เรียนกฎหมายคือเน้นเรื่องแก้แค้นทดแทน การลงโทษข่มขู่ทำให้กลัว แต่ก็ไม่ได้แก้แค้นเสมอไปยังมีบอกไว้ว่ามีไว้แก้ไขคนที่กระทำความผิดให้ดีขึ้น ซึ่งวัตถุประสงค์ของการบังคับโทษนั้นต้องกระทำเพื่อให้เขาดำเนินชีวิตในอนาคตได้ ดำรงไว้ซึ่งการดำรงเผ่าพันธุ์ความเป็นมนุษย์ ดังนั้นการลงโทษควรเน้นที่การพัฒนามนุษย์หรือเพื่อความเปลี่ยนแปลงดีกว่า คือใช้โทษเพื่อการสร้างสรรค์พัฒนามนุษย์ไม่ควรใช้โทษเพื่อไปทำลายมนุษย์ด้วยกันเอง เหนือสิ่งอื่นใดประเทศใดก็ตามที่จะมั่นคงและนำไปสู่การบังคับโทษที่มีประสิทธิภาพกระบวนการยุติธรรมต้องมีประสิทธิภาพด้วย

เรื่องใหญ่คือนักกฎหมายยิ่งคนที่จะมารับไม้ต่อต้องศึกษามากเรียนรู้มากใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ กระบวนการยุติธรรมเป็นเส้นสำคัญที่จะทำให้ประเทศชาติมั่นคงทุกคนมีชีวิตที่ดี มันสะท้อนถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ ถ้าเกิดกระบวนการยุติธรรมไม่เข้าแข็งก็เพราะนักกฎหมายเพราะฉะนั้นการพัฒนาในกระบวนการยุติธรรมต้องพัฒนาที่ตัวมนุษย์หรือตัวนักกฎหมาย วันนี้คนที่เกิดมาในยุคปัจจุบันอยู่ในทุนนิยมไม่เหมือนกับอดีต ดังนั้นการที่จะเข้าถึงแก่นแท้ของชีวิตเด็กรุ่นใหม่จะไม่ค่อยเข้าใจ ยึดวัตถุนิยม ยึดเงินเป็นตัวตั้งของชีวิต จนล้ำศีลธรรมที่อยู่ในตัวล้ำเกินเส้นของกฎหมายถ้าคนในกระบวนการยุติธรรมจัดการกับคนที่ล้ำเส้นไม่ได้หรือจัดการได้แต่ผิดวิธีสังคมก็จะมีปัญหาแน่นอน ยิ่งถ้าเป็นคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมแล้วติดกับดักพวกนี้จะยิ่งแย่ กระบวนการยุติธรรมที่ซื้อด้วยเงินมันทำลายประเทศชาติเพราะฉะนั้นนักกฎหมายควรจะมีสติปัญญาและความกล้าหาญคุณธรรมจริยธรรมเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง โทษประหารควรทำให้ถูกต้อง ถ้าเลือกระหว่าง

จิรวุฒิ กล่าวโดยสรุปว่า ถูกใจแต่ไม่ถูกต้องคือถูกใจประชาชนแต่ไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมายในการลงโทษหรือหลักสากล หรือว่าถูกต้องแต่ไม่ถูกใจ สิ่งที่เราพยายามทำคือพยายามนำเสนอสิ่งที่เชื่อว่าน่าจะจรรโลงสังคมน่าจะแก้ไขสังคมได้แต่ในเมื่อไม่ถูกใจ เราคงต้องต่อสู้กันต่อไป ในที่สุดแล้วเรามีสิ่งที่น่าจะทดแทนสิ่งที่เรียกว่าประหารชีวิตได้ทั้งในทางปฏิบัติและทางทฤษฎี อยากให้คนรุ่นใหม่ได้ไปศึกษาว่าจริงๆ แล้วมันคืออะไรไม่ใช่ไปฟังกระแสสังคม ศึกษาว่าจริงๆแล้วทาประหารชีวิตเขามีไว้ทำไมและมีในบริบทไหนและไม่มีในบริบทไหน เพราะฉะนั้นอยากให้ลองคิดดูว่าจริงๆ แล้วโทษประหารชีวิตแก้ปัญหาสังคมได้แค่ไหน

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมัชชาคนจน โวย กฟผ.-จังหวัดอุบล ไม่ยอมเปิดประตูเขื่อนปากมูล

$
0
0

สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล โวย กฟผ.-จังหวัดอุบล ไม่ยอมเปิดประตูเขื่อนปากมูล ประกาศ ขอพบกับนายกฯ ระหว่างประชุม ครม. สัญจร 23 – 24 ก.ค.นี้

 

13 ก.ค.2561 สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล ออกแถลงการณ์ระบุว่า เมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมาได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อให้ปฏิบัติตามข้อตกลง คือการเร่งเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทั้ง 8 บาน แต่ทางผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ก็ยังไม่ดำเนินการใดเลย พร้อมเรียกร้องด้วยว่า ในวันที่ 23 – 24 ก.ค.ที่จะถึงนี้ ซึ่งจะมีการประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ในพื้นที่จังหวัดอบุลราชธานี สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพบกับนายกรัฐมนตรีให้ได้ เพื่อให้รัฐบาลดำเนินการตามข้อตกลง ด้วยการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล ทั้ง 8 บาน ในทันที

รายละเอียดคำแถลงมีดังนี้ 

แถลงการสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล กฟผ.และจังหวัดอุบล ฉีกข้อตกลงไม่ยอมเปิดประตูเขื่อนปากมูล

นับเป็นเวลากว่า 27 ปี ที่เขื่อนปากมูลได้สร้างปัญหาต่อระบบนิเวศและวิถีชีวิตของชาวบ้าน ซึ่งปัญหาหลักคือการปิดกั้นเส้นทางเดินของปลา ไม่ให้ปลาจากแม่น้ำโขงสามารถเดินทางข้ามเขื่อนปากมูลเข้ามาสู่แม่น้ำมูนได้ จนทำให้ปลาในแม่น้ำมูนลดจำนวนลงเป็นจำนวนมาก ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล ต้องทำการเรียกร้องให้รัฐบาล เปิดประตูเขื่อนปากมูล เพื่อเปิดทางให้ปลาจากแม่น้ำโขงเดินทางเข้ามาสู่แม่น้ำมูน ได้ ซึ่งการเรียกร้องที่ผ่านมาเป็นไปอย่างยากลำบาก จนกระทั่งปี 2558 คณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐบาลได้กำหนดเกณฑ์ในการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล คือ หลักเกณฑ์การเปิด = เมื่ออัตราการไหลที่ M7 เกินกว่า 500 cms หรือ ระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำห้วยสะคาม มีระดับตั้งแต่ 95 ม.รทก. อย่างใดอย่างหนึ่ง ให้ดำเนินการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลได้เลย ( ม.รทก. หมายถึง ม. = เมตร ส่วน รทก.= ระดับน้ำทะเลปานกลาง : 95 ม.รทก. หมายถึง = ความสูง 95 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง) ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ใช้ปฏิบัติมาทุกปี (ใช้มาแล้วในปี 2558 , 2559 และ ปี 2560)

ในปีนี้ (2561) ระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำห้วยสะคามมีระดับที่ 95 ม.รทก. มาตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2561 และในปัจจุบัน (13 กรกฎาคม 2561) ระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำห้วยสะคามมีระดับอยู่ที่ 97.51 ม.รทก. สูงกว่าเกณฑ์ 2.51 เมตร และสูงกว่าเกณฑ์มาแล้ว 16 วัน แต่ก็ยังไม่การเปิดประตูเขื่อนปากมูล แต่อย่างใด

เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อให้ปฏิบัติตามข้อตกลง คือการเร่งเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทั้ง 8 บาน แต่ทางผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ก็ยังไม่ดำเนินการใดเลย

ดังนั้น ในวันที่ 23 – 24 กรกฎาคม 2561 ซึ่งจะมีการประชุม ครม.สัญจร ในพื้นที่จังหวัดอบุลราชธานี สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพบกับนายกรัฐมนตรีให้ได้ เพื่อให้รัฐบาลดำเนินการตามข้อตกลง ด้วยการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล ทั้ง 8 บาน ในทันที

เชื่อมั่นในพลังประชาชน

สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล

13 กรกฎาคม 2561

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เครือข่ายประชากรข้ามชาติ'ออกข้อสังเกต-ข้อเสนอต่อการดำเนินการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ

$
0
0

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ออกจดหมายเปิดผนึก 4 ข้อสังเกตและข้อเสนอต่อการดำเนินการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติหลัง 30 มิ.ย.61 

13 ก.ค.2561 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ออกจดหมายเปิดผนึก เรื่อง ข้อสังเกตและข้อเสนอต่อการดำเนินการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติหลัง 30 มิ.ย.2561 จำนวน 4 ประเด็น 1. รัฐบาลควรออกมาแถลงว่าเหตุใดตัวเลขที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติถึงไม่ตรงกัน และควรมีทีมสำรวจข้อมูลการหายไปของแรงงาน เนื่องจากแรงงานกลุ่มดังกล่าวนี้เบื้องต้นมีการขึ้นทะเบียนเป็นผู้อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวแล้ว

2. เปิดพื้นที่ให้แรงงานที่หายไปจากกระบวนการพิสูจน์สัญชาติเข้าสู่กระบวนการแสดงตนอีกครั้ง เพื่อสำรวจปัญหาที่เกิดขึ้น โดยขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่อาจจะมีข้อมูลสภาพปัญหาอยู่แล้ว 3. ใช้เครื่องมือทางกฎหมายหรือนโยบายที่รัฐมีอยู่แล้ว เช่น พ.ร.ก.การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว พ.ศ.2560 หรือฉันทามติอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงานข้ามชาติ ที่ได้บัญญัติการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติที่ได้กลายเป็นผู้ไม่มีเอกสารแสดงตนโดยไม่ได้เป็นความผิดของพวกเขา ในการบริหารจัดการสภาพปัญหาของแรงงานที่พบ แทนการปราบปรามโดยการจับกุมและส่งกลับ
 
4. ในระยะยาว เห็นว่ารัฐบาลและกระทรวงแรงงานควรพิจารณาใช้กลไกตาม  พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 มีกลไกคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว เป็นกลไกสำคัญในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์และมาตรการบริหารจัดการเพื่อรองรับการจัดการในอนาคต โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอื่นๆ  ควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในการดำเนินการ

จดหมายเปิดผนึก

วันที่ 7 กรกฎาคม 2561
 
เรื่อง ข้อสังเกตและข้อเสนอต่อการดำเนินการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติหลัง 30 มิถุนายน 2561
 
เรียน นายกรัฐมนตรี
 
ตามที่รัฐบาลไทยได้ดำเนินนโยบายในการดำเนินการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ เพื่อพัฒนาสถานะของแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านทุกคนให้เป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยให้มีการขึ้นทะเบียนเพื่อถือเอกสารการทำงานและอาศัยอยู่ชั่วคราว มาตั้งแต่ปี 2557 และให้แรงงานเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ ผ่านมติคณะรัฐมนตรี โดยข้อมูลจากการแถลงข่าว ระบุว่า มีแรงงานจำนวน 1,999,240 ล้านคน ที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติให้แล้วเสร็จภายใน 31 ธันวาคม 2560 และต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 ให้ขยายระยะเวลาการพิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติออกไปจนถึง 30 มิถุนายน 2561 โดยมีการแถลงข่าวถึงความคืบหน้าในการทำให้แรงงานเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติอยู่เป็นระยะๆ
 
อย่างไรก็ตาม ทางเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ได้ติดตามความคืบหน้าด้านการดำเนินการของรัฐในการนำแรงงานเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ พบว่า รัฐบาลมีการเสนอตัวเลขแรงงานที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในการพิสูจน์สัญชาติที่ไม่ตรงกันและรัฐบาลไม่สามารถยืนยันได้ว่ากลุ่มเป้าของจำนวนแรงงานข้ามชาติที่ต้องผ่านการพิสูจน์สัญชาติจริงๆ เป็นจำนวนเท่าไหร่ เช่น เดือนธันวาคม 2560 รัฐบาลระบุว่ามีแรงงานที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ 1.9 ล้านคน และในเดือนต่อมามีการรายงานตัวเลขของแรงงานที่ต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติลดลงไปเรื่อยๆ เป็น 1.6 ล้าน และ 1.3 ล้าน  (แถลงข่าวของกระทรวงแรงงานระบุว่า มีแรงงานข้ามชาติจำนวน 1.3 ล้านคนที่ต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ และหลังจากสิ้นสุดระยะเวลาผ่อนผันให้แรงงานมาดำเนินการพิสูจน์สัญชาติ มีแรงงานที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบการพิสูจน์สัญชาติจำนวน 132,232 คน[1])
 
ความไม่ชัดเจนของการนำเสนอตัวเลขของรัฐบาล เครือข่ายฯเห็นว่า อาจจะมีแรงงานข้ามชาติที่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติได้มากถึง 811,437 คน หากพิจารณาจากตัวเลขเป้าหมายเดิม 1.9 ล้านคนตามมติคณะรัฐมนตรี 16 มกราคม 2561 มิใช่จำนวน 132,232 คน ตามที่เป็นข่าวหลังการปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ  นอกจากนั้นแล้วรัฐได้แถลงยืนยันว่าจะดำเนินการจับกุม ดำเนินคดีและส่งกลับกลุ่มแรงงานที่ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติได้ตามกำหนด และเริ่มมีข่าวด้านการกวาดล้างจับกุมแรงงานมาตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 โดยมิได้ตรวจสอบสาเหตุของการของการที่แรงงานไม่สามารถเข้าถึงระบบการพิสูจน์สัญชาติได้ตามที่นโยบายได้ขีดเส้นตายไว้ ดังนั้น เครือข่าย จึงมีความเห็นว่า
 
1.       รัฐบาลควรออกมาแถลงว่าเหตุใดตัวเลขที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติถึงไม่ตรงกัน และควรมีทีมสำรวจข้อมูลการหายไปของแรงงาน เนื่องจากแรงงานกลุ่มดังกล่าวนี้เบื้องต้นมีการขึ้นทะเบียนเป็นผู้อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวแล้ว
 
2.       เปิดพื้นที่ให้แรงงานที่หายไปจากกระบวนการพิสูจน์สัญชาติเข้าสู่กระบวนการแสดงตนอีกครั้ง เพื่อสำรวจปัญหาที่เกิดขึ้น โดยขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่อาจจะมีข้อมูลสภาพปัญหาอยู่แล้ว เช่น ที่เป็นกลุ่มแรงงานมุสลิมที่ไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติจากประเทศต้นทาง เป็นแรงงานที่ถูกกล่าวหาว่าใช้เอกสารปลอม หรือกลุ่มแรงงานที่นายจ้างไม่นำไปเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ เพราะไม่ต้องการแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดความเป็นจริง เป็นต้น
 
3.       ใช้เครื่องมือทางกฎหมายหรือนโยบายที่รัฐมีอยู่แล้ว เช่น พระราชกำหนดการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว พ.ศ.2560 หรือฉันทามติอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงานข้ามชาติ (ASEAN Consensus on the Protection and Promotion of the Rights of Migrant Workers) ที่ได้บัญญัติการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติที่ได้กลายเป็นผู้ไม่มีเอกสารแสดงตนโดยไม่ได้เป็นความผิดของพวกเขา (บทที่ 1 หลักการทั่วไป ย่อหน้าที่ 15) ในการบริหารจัดการสภาพปัญหาของแรงงานที่พบในข้อที่ 1 และ 2 แทนการปราบปรามโดยการจับกุมและส่งกลับ
 
4.       ในระยะยาว เห็นว่ารัฐบาลและกระทรวงแรงงานควรพิจารณาใช้กลไกตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 มีกลไกคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว เป็นกลไกสำคัญในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์และมาตรการบริหารจัดการเพื่อรองรับการจัดการในอนาคต โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอื่นๆ  ควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในการดำเนินการ
 
ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
 
เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ
 
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เลื่อนสืบพยานปากแรกออกไปอีก หลัง 'แหวน วัดปทุม'ติดคุกมาแล้ว 3 ปี 4 เดือน

$
0
0

พิจารณาคดีลับอีกอ้างเป็นคดีความมั่นคง พยานโจทก์ ม.112 เบี้ยวไม่มาศาล ทนายโวยลูกความถูกกลั่นแกล้ง แหวนป่วย ซึมเศร้า เยี่ยวเป็นเลือด อาจเป็นกรวยไตอักเสบและติดเชื้อในกระแสเลือด ไม่ได้รับการตรวจรักษาจากราชทัณฑ์ แถมหลักทรัพย์ยังไม่พอยื่นประกัน

12 ก.ค.2561 ศาลทหาร กรุงเทพ ได้มีการพิจารณาคดีสืบพยานโจทก์คดีดำ 19ก./2560 กรณี'แหวน'ณัฎฐริดา มีวังปลา พยาบาลอาสาฯ พยานคดี 6 ศพวัดปทุมฯ ที่ได้ถูกฟ้องว่ามีการกระทำความผิดตามประมวล ก.ม.อาญา ม.112 จากการสื่อสารในกลุ่มไลน์ในช่วงต้นปี 2558 โดยวันนี้เป็นการสืบพยานโจทก์ครั้งแรก โดยโจทก์จะได้นำ พลตรีวิจารณ์ จดแตง และ พล.ต.ต.สุรศักดิ์ ขุนณรงค์ เข้าเบิกความ

เบื้องต้นศาลได้สั่งให้เป็นการพิจารณาคดีลับเนื่องจากเป็นคดีที่มีความที่มีความอ่อนไหวเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ หากมีการเผยแพร่ออกไปอาจทำให้เกิดความเสื่อมเสีย ขณะที่ทนายได้แย้งไปว่า ข้อความในไลน์ที่ได้ถูกนำมาเป็นข้อกล่าวหานั้นมีเพียงแค่ข้อความเดียว ไม่ได้นำมาซึ่งความเสื่อมเสียต่อสถาบัน แต่ศาลก็ยังยืนยันให้พิจารณาลับโดยอ้างว่าเป็นเรื่องของความมั่นคง

วิญญัติ ชาติมนตรี ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า เมื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดี อัยการได้ชี้แจงต่อศาลว่าวันนี้พยานได้มาเพียงผู้เดียวคือ พล.ต.วิจารณ์ จดแตง ส่วน พล ต.ต.สุรศักดิ์ ขุนณรงค์ ไม่ได้มา จึงขอให้สืบ พล ต.วิจารณ์ก่อน แต่ทางทนายความได้แย้งว่าในกรณีนี้ เป็นการสืบพยานคู่ ซึ่งหมายความว่าพยานทั้งสองคนในอยู่ในเหตุการณ์เดียวกัน คือในการสอบจำเลยทั้งที่ในเรือนจำชั่วคราว  มทบ.11 และที่ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บชน.) ซึ่งหากสอบพยานเพียงปากใดปากหนึ่งก่อนฝ่ายจำเลยจะเสียเปรียบ เนื่องจากพยานโจทก์อาจนำรายละเอียดในการถามค้านพยานโจทก์ไปบอกเล่าเพื่อให้พยานอีกปากฟังเพื่อจะได้มีการเตรียมการมา

ศาลได้พิจารณาจากเหตุผลของโจทก์และจำเลยแล้ว เห็นว่าจำเลยเสียเปรียบจริงจึงให้เลื่อนการสืบพยานโจทก์ไปเป็นวันศุกร์ที่ 20 ก.ค.2561 


ภาพของแหวนขณะทำการปฐมพยาบาล อัฐชัย ชุมจันทร์ หนึ่งในผู้เสียชีวิต
บริเวณวัดปทุมฯ ขณะที่คนขวาสุดสวมชุด ปอเต็กตึ๊ง คือ มงคล เข็มทอง
และคนที่ยืนด้านหลังของ แหวน คือ อัครเดช ขันแก้ว อาสาพยาบาล
ซึ่งต่อมาทั้งคู่ถูกยิงเสียชีวิต รวมอยู่ใน 6 ศพวัดปทุมฯ เช่นกัน

วิญญัติ ได้กล่าวอีกว่า ณัฏฐริดา มีวังปลา หรือ แหวน มีปัญหาด้านสุขภาพ ซูบผอมลงมาก แหวนเล่าว่าแหวนมีอาการปวดท้องและปัสสาวะมีเลือดปนออกมา คาดว่ามีอาการกรวยไตอักเสบและติดเชื้อในกระแสเลือด โดยที่ไม่ได้รับการดูแลตรวจรักษาจากกรมราชทัณฑ์ และสภาพจิตใจของแหวนค่อนข้างย่ำแย่เนื่องจากติดคุกมาสามปีกว่าแล้วโดยที่ไม่ได้ประกันตัว แหวนเริ่มมีอาการทางประสาท พูดน้อยลง มีอาการซึมเศร้า นั่งพูดบ่นแต่คำว่า"เมื่อไหร่จะได้ออกไป เมื่อไหร่จะได้ประกัน"

ทนายความของ แหวน พยานปากสำคัญในกรณีสังหารหมู่ 6 ศพวัดปทุม ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า แหวนถูกกลั่นแกล้งทางคดีไม่ได้รับความเป็นธรรม ในคดี ม.112 ที่แหวนถูกกล่าวหาว่ามีการกระทำความผิดตั้งแต่ 8 มีค.2558 แต่ทางเจ้าหน้าที่กลับไม่ดำเนินคดี รอจนแหวนได้รับการประกันตัวในคดีระเบิดศาลอาญาหลังจากติดคุกมา 2 ปี 4 เดือนแล้ว จนท.จึงได้ขออายัดตัวมาคุมขังและดำเนินคดี ม.112 ต่อ แทนที่จะดำเนินคดีตั้งแต่ที่แหวนถูกจับกุมครั้งแรกเลย สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้สภาพจิตใจของแหวนย่ำแย่ลง

วิญญัติ กล่าวว่าจะยื่นประกันตัวแหวนอีกครั้งหลังจากที่สามารถรวบรวมเงินสดและหลักทรัพย์เพื่อยื่นประกันตัวทั้งสองคดีรวม 900,000 บาทได้ครบและรอสืบพยานโจทก์ปากที่ 1 และ 2 ซึ่งเป็นปากสำคัญให้แล้วเสร็จก่อน ซึ่งหากไม่มีการเลื่อนอีกก็อาจยื่นประกันได้

หมายเหตุ: ท่านที่มีความประสงค์จะบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือ "แหวน"ณัฎฐธิดา มีวังปลา สามารถติดต่อได้ที่ สมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส.) Facebook United Lawyers For Rights & Liberty หรือสามารถบริจาคเงินเพื่อสมทบทุนได้ที่ บัญชีธนาคารกสิกรไทย_สาขาศาลยุติธรรม ประเภทบัญชีออมทรัพย์ บัญชีเลขที่ 039-3-80178-6 ชื่อบัญชี นายกัณต์พัศฐุ์ สิงห์ทอง และนายศุภวัส ทักษิณ

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พระราชทานยศ 'นาวาตรี'เป็นกรณีพิเศษให้ 'จ.อ.สมาน'

$
0
0
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศนาวาตรีเป็นกรณีพิเศษให้จ่าเอกสมาน กุนัน และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นประถมาภรณ์ช้างเผือกเป็นกรณีพิเศษ

 
 
14 ก.ค. 2561 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศเรื่อง พระราชทานยศทหารและเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นกรณีพิเศษ จ่าเอก สมาน กุนันโดยระบุว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงมีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศว่าจ่าเอกสมาน กุนัน ทหารกองหนุนประเภทที่ 1 ชั้นที่ 3 สังกัดกองเรือยุทธการ เป็นผู้ที่ประกอบคุณงามความดี และได้อุทิศความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์จนกระทั่งตนเองเสียชีวิต มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน องค์กร และนานาประเทศ
 
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 5 และมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติยศทหาร พุทธศักราช 2479 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานยศ นาวาตรี เป็นกรณีพิเศษ ให้แก่ จ่าเอก สมาน กุนัน และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นประถมาภรณ์ช้างเผือก เป็นกรณีพิเศษ
 
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม พุทธศักราช 2561
ประกาศ ณ วันที่ 14 กรกฎาคม พุทธศักราช 2561 เป็นปีที่ 3 ในรัชกาลปัจจุบัน
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เจ้าหน้าที่รุดช่วยเหลือนักท่องเที่ยวติดน้ำป่า อ.ปาย

$
0
0
ฝนตกหนักน้ำป่าทะลักปิดทางเข้า-ออกน้ำตกแม่เย็น ต.แม่ฮี้ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน นักท่องเที่ยวติดในป่าเจ้าหน้าที่เร่งช่วยเหลือได้อย่างปลอดภัย สั่งห้ามเข้าเที่ยวน้ำตกชั่วคราว

 
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2561 เวลา 22.00 น. พ.ต.ท.วุฒิพงษ์ จีนอิ่ม สารวัตรสำนักงานตำรวจท่องเที่ยว 4 กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว 2 ( สว.ส.ทท.4 บก.ทท.2 ) หัวหน้าสำนักงานตำรวจท่องเที่ยวแม่ฮ่องสอน ได้รับแจ้งเหตุจาก ปายเซอร์คัสรีสอร์ท อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ว่า มีนักท่องเที่ยว จำนวน 2 คน เป็นหญิงสาว ติดอยู่ในน้ำตกแม่เย็น หลังฝนตกหนักและน้ำป่าไหลหลากเชี่ยวกราก ไม่สามารถเดินทางกลับออกมาได้ ต่อทางตำรวจท่องเที่ยว สำนักงานปาย ได้ประสานไปยัง ฝ่ายปกครองอำเภอปาย , สถานีตำรวจภูธรอำเภอปาย หน่วยกู้ภัยปายสามัคคีปาย ร่วมกับ ร.ต.เอี่ยม กันทาน้อย กำนันตำบลแม่ฮี้ และ นางจุไรรัตน์ จันทร์พรมมิน ผู้ใหญ่บ้านแม่เย็น หมู่ 1 ต.แม่ฮี้ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน รุดไปยังที่เกิดเหตุ เพื่อทำการช่วยเหลือนักท่องเที่ยว
 
เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุ พบนักท่องเที่ยวหญิงจำนวน 2 รายคือ เป็นนักท่องเที่ยวชาวเยอรมัน ได้แก่ นางสาว Thiele Alice อายุ 23 ปี และ นางสาว Haubner Anne อายุ 21 ปี ติดอยู่บริเวณน้ำตกแม่เย็น ไม่สามารถข้ามน้ำที่เชี่ยวกรากออกมายังถนน เพื่อเดินทางกลับที่พักได้ ทางเจ้าหน้าที่พร้อมด้วยทีมกู้ภัย จึงได้ทำการโยงเชือกข้ามแม่น้ำและลำเลียงออกมาได้สำเร็จโดยใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง
 
นางจุไรรัตน์ จันทร์พรมมิน ผญบ.แม่เย็น ต.แม่ฮี้ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า น้ำตกแม่เย็น เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจำนวนมาก พากันเดินทางไปเที่ยว แต่เนื่องจากในห้วงนี้ ได้เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับนักท่องเที่ยวไม่เข้าใจถึงสถานการณ์เกี่ยวกับฝนและเรื่องน้ำป่า ทำให้เล่นน้ำเพลิน จนเกิดน้ำป่าและไม่สามารถเดินทางออกมาได้
 
อย่างไรก็ตามล่าสุดในวันนี้ ( 14 ก.ค.2561 ) ทางหมู่บ้านแม่เย็นจะมีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการระงับการเข้าไปเที่ยวบริเวณน้ำตกแม่เย็น จนกว่า สถานการณ์เกี่ยวกับฝนจะเข้าสู่ภาวะปกติ
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คลิปขอบคุณจาก 13 หมูป่าอะคาเดมี่ ยืนยันว่าสุขภาพแข็งแรงดี

$
0
0
เพจโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เผยแพร่ภาพการรายงานสถานการณ์ทางการแพทย์ของสมาชิกทีมหมูป่าอะคาเดมี่พร้อมคำกล่าวขอบคุณเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ยืนยันว่าสุขภาพแข็งแรงดี รมว.สาธารณสุขขอความร่วมมือสื่อต่างๆ ให้ความร่วมมือให้พ้นช่วงรักษาบาดแผลทางใจก่อนเชิญออกสื่อ

 
 
14 ก.ค. 2561 เพจโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ได้เผยแพร่ภาพการรายงานสถานการณ์ทางการแพทย์ของสมาชิกทีมหมูป่าอะคาเดมี่ที่ยังคงพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล หลังจากได้รับการช่วยเหลือออกมาจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน พร้อมเผยคลิปสมาชิกหมูป่าอะคาเดมี่แต่ละคนกล่าวขอบคุณเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยทุกคนต่างยืนยันว่าสุขภาพแข็งแรงดี
 
 
นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เยี่ยมให้กำลังใจนักฟุตบอลเยาวชนทีมหมูป่าและโค้ช 13 คน ซึ่งพบว่าทุกคนมีสภาพร่างกายที่ฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ ปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้เป็นอย่างดี ขณะนี้อยู่ระหว่างรอให้ยาปฏิชีวนะครบ 7 วันตามแผนการรักษา ส่วนด้านจิตใจทุกคนมีสภาพจิตใจที่ดี โดยครอบครัวและญาติเข้าเยี่ยมได้ ภายใต้ระบบการป้องกันการติดเชื้อของโรงพยาบาลที่มีมาตรฐาน สำหรับผลการตรวจ ทางห้องปฏิบัติการ ไม่พบเชื้อโรคติดต่อที่เป็นอันตราย และหากสภาพร่างกายแข็งแรงไม่มีปัญหาการติดเชื้อใดๆ คาดว่าจะออกจากโรงพยาบาลได้ในเร็วๆ นี้
 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงมี 2 เรื่องสำคัญ ดังนี้เรื่องที่ 1 เมื่อกลับไปอยู่ที่บ้านต้องระวังการติดเชื้อจากคนหมู่มากที่มาเยี่ยม เพราะทีมหมูป่ายังอยู่ในระยะพักฟื้น อาจจะติดโรคจาก ผู้ที่มาเยี่ยมได้ง่ายกว่าคนปกติทั่วไป จึงจำเป็นต้องอธิบายให้ผู้ปกครองและญาติเข้าใจ เรื่องที่ 2 ทีมหมูป่าอาจถูกสัมภาษณ์หรือเชิญไปออกรายการต่างๆ ซึ่งทีมจิตแพทย์ได้แนะนำให้ทีมหมูป่าได้รับการฟื้นฟูจิตใจจากเหตุการณ์ที่เป็นวิกฤตของชีวิตอย่างน้อย 1 เดือน โดยอยู่กับครอบครัวอยู่กับเพื่อนหรือทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น ทำบุญ หรือบวช เป็นต้น ดังนั้นในช่วงเวลาฟื้นฟูจึงขอความร่วมมือสื่อต่างๆ ให้ความร่วมมือให้พ้นช่วงรักษาบาดแผลทางใจจะเป็นสิ่งที่ดีกับทีมหมูป่าทั้งหมด
 
"ขอชื่นชมและขอขอบคุณทีมแพทย์ พยาบาล สหวิชาชีพ จากทุกหน่วยงาน และทีมต่างชาติ ที่ทุกคนเสียสละทำงาน มุ่งให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์ ทั้งที่โรงพยาบาลสนามและที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ นับเป็นการทำงานระดับชาติที่จะเป็นบทเรียน และประสบการณ์นำไปใช้ในภาวะวิกฤตต่างๆ และยืนยันว่าโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์มีศักยภาพในการจัดระบบดูแลด้านการแพทย์ ทั้งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือ รวมทั้งการบริหารจัดการทุกขั้นตอน และการป้องกันควบคุมโรคที่ได้มาตรฐาน จนทำให้การดูแลรักษาทีมหมูป่าเป็นไปด้วยดี โดยไม่ส่งผลกระทบกับการบริการผู้ป่วยทั่วไป"รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าว
 
อย่างไรก็ตามการดูแลรักษาในโรงพยาบาลขณะนี้เป็นไปตามมาตรฐานการรักษามีการดูแลจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุกสาขารวมทั้งทีมจิตแพทย์ พร้อมทั้งได้เตรียมแผนติดตามการดูแลต่อเนื่องเมื่อ เด็กๆ นักฟุตบอล และโค้ช ออกจากโรงพยาบาลไปพักฟื้นต่อที่บ้าน โดยมีทีมหมอครอบครัวโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ โรงพยาบาลแม่สายและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เข้าไปดูแลทั้งร่างกายและจิตใจ
 
โฆษก ยธ.กระตุกคิด พวกแขวะหมูป่า อย่าเยอะ อย่านอยด์
 
เว็บไซต์คมชัดลึกรายงานว่านายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรมและโฆษกกระทรวงยุติธรรม โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊คส่วนตัว ระบุว่า อย่าเยอะ อย่านอยด์...!! นับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศไทยมาจวบจนถึงปัจจุบัน ตนยังไม่เคยเห็นมีกิจกรรมใดที่ทำให้คนรู้จักประเทศไทยของเราตั้งแต่ผู้นำประเทศ ผู้นำทางศาสนา ทุกวงการ จนถึงลูกเด็กเล็กแดงในทุกประเทศทั่วโลกรู้จักประเทศไทยได้มากเท่านี้ ตนเดินทางไปทั่วโลกในนามประเทศไทยแนะนำตนเองว่า เรามาจากประเทศไทย คนก็จะถามย้อนว่า ไต้หวัน เจอหน้าก็ทักเราก่อนว่า หนีห่าว คิดว่าเราเป็นคนจีน แต่ต่อไปนี้แนะนำตนเอาว่ามาจากประเทศไทย เชื่อว่าเขาจะรู้จักดีจากเหตุการณ์นี้ และยังชวนเราสนทนาเหตุการณ์นี้ต่อ ทำให้เรามีโอกาสแนะนำสิ่งดีงามในประเทศของเราต่อยอดไปได้อีก
 
รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ระบุด้วยว่าเหตุการณ์นี้ เป็นเหตุการณ์ที่ดึงเครื่องมือที่ดีที่สุดและคนที่เก่งที่สุดในโลกมารวมตัวก่อให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถอดบทเรียนและพัฒนาต่อยอดไปสู่สิ่งที่ดีกว่าเพื่อช่วยมนุษยชาติโดยไม่หวังผลตอบแทน ยังไม่รวมถึงการดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยว ซึ่งอาจมากไม่แตกต่างจากอุบัติด้านการท่องเที่ยวแบบพืชสวนโลก แต่ที่สำคัญคนมาจากทั่วโลก ก่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพรวมทั้งของประเทศและท้องถิ่น เหตุการณ์ที่เกิดเป็นอุบัติภัยมิได้เกิดจากการจงใจหรือประมาท แต่สามารถสร้างอุบัติการณ์ด้านต่างๆ ที่มีคุณูปการต่อท้องถิ่นประเทศและมวลมนุษยชาติในโลกนี้อย่างมหาศาล
 
แค่นี้ยังไม่เป็นการสร้างคุณูปการอีกหรือ..!!
 
“ผมเคารพในความคิดเห็นต่าง แต่ก็ขอสงวนสิทธิที่จะแสดงความเห็นและเหตุผลเพื่อชวนให้สังคมได้ตระหนักรู้และคิดรวมกัน การให้ประโยชน์กับเด็กถือเสียว่าเป็นการปลอบขวัญแทนการสวมกอด เหมือนผู้ใหญ่ใจดีที่เรียกขวัญกลับคืนมาก็น่าจะเป็นประโยชน์กับเด็กชุดนี้ เพราะถึงอย่างไร เขาก็ยังต้องใช้ชีวิตที่เหลืออีกยาวนานที่จะทำประโยชน์ให้กับชุมชน สังคมและประเทศนี้ต่อไปได้อีกมากมาย” รองปลัดกระทรวงยุติธรรมระบุ

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'สุเทพ'มั่นใจ 'รวมพลังประชาชาติไทย'ได้สมาชิกครบ 500 คนภายในเดือน ก.ค. 2561 นี้

$
0
0
'สุเทพ'ระบุทุนประเดิมตั้งพรรคเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการเมือง หวังให้ทุกคนเป็นเจ้าของพรรคร่วมกัน มั่นใจเดือนนี้ได้ครบ 500 คน 'ภูมิใจไทย'พร้อมเดินหน้าเลือกตั้งระบุประชาชนเบื่อข่าวเรื่องดูด ส.ส. ชี้สุดท้ายประชาชนจะเป็นคนตัดสินว่าจะเลือกใคร

 
 
สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2561 ที่ผ่านมาว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) และในฐานะประธานคณะทำงานรณรงค์เชิญชวนประชาชนให้มาร่วมเป็นเจ้าของพรรคไลฟ์สดผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว suthep thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ) เรื่องผู้ร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นหนึ่งที่ประสงค์จะทำความเข้าใจว่าเป็นบทบัญญัติในกฎหมายพรรคการเมือง ที่ต่อไปนี้ถ้าจะจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้น จะต้องรวบรวมผู้ที่มีอุดมการณ์เดียวกันไม่น้อยกว่า 500 คนเพื่อร่วมกันจัดตั้ง โดยกฎหมายกำหนดว่าผู้ที่จะร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองจะต้องออกเงินเป็นทุนประเดิมจัดตั้งพรรค 
 
“ทั้ง 500 คนเศษนี้อย่างน้อยต้องออกทุนประเดิมคนละไม่ต่ำกว่า 1 พันบาทและสูงสุดไม่เกิน 5 หมื่นบาท ตรงนี้สำคัญ เป็นเรื่องที่สามารถกล่าวได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปทางการเมือง เมื่อก่อนนี้การจะตั้งพรรคการเมืองจะไปรวบรวมญาติพี่น้องเพื่อนฝูงเพียงไม่กี่คนก็ไปจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองได้ แต่วันนี้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เจตนารมณ์ของกฎหมายพรรคการเมืองต้องการให้พรรคการเมือง จึงได้กำหนดตัวเลขขั้นต่ำสำหรับการที่จะเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคหรือจัดตั้งพรรคอย่างน้อย 500 คน” นายสุเทพ กล่าว
 
นายสุเทพ กล่าวว่า ขณะนี้พรรครวมพลังประชาชาติไทยรวบรวมผู้มีอุดมการณ์เดียวกันได้กว่า 400 กว่าคนแล้ว และมั่นใจภายในเดือนนี้จะมีผู้ร่วมก่อตั้งได้เกิน 500 คน หลังจากนั้นจะจัดการประชุมผู้ร่วมจัดตั้งพรรค เลือกคณะกรรมการชุดที่จะดำเนินการให้พรรคการเมืองของเรา ของประชาชนเป็นพรรคที่สมบูรณ์แบบตามเจตนารมณ์ของพวกเรา โดยตั้งใจว่าจะประชุมประมาณต้นเดือนสิงหาคมนี้ โดยจะประชุมเพื่อเลือกคณะผู้บริหารพรรคชุดแรก แล้วจะนำหลักฐานการประชุมไปจดทะเบียนให้เป็นพรรคการเมืองที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย 
 
“จากนั้นจะรณรงค์ให้ประชาชนมาเป็นเจ้าของร่วมหรือเป็นสมาชิกพรรค โดยขอให้แต่ละคนเสียสละเงินคนละ1บาทต่อวันหรือปีละ 365 บาท เงินที่ผู้จัดตั้งพรรคช่วยกันเสียสละคนละ 5 หมื่นบาทหรือเงินที่สมาชิกพรรคช่วยกันเสียสละวันละ 1 บาทจะเป็นเงินทุนสำหรับพรรคในการดำเนินงานทางการเมือง ให้มีความสมบูรณ์แข็งแรงเพียงพอในการรับใช้บ้านเมืองรับใช้ประเทศชาติและประชาชนต่อไป และหากผู้ใดสนใจขอให้ติดตามทางหน้าเฟซบุ๊กส่วนตัวของผมได้ ผมจะมารายงานให้ทราบเป็นระยะถึงความคืบหน้าในการดำเนินการ” นายสุเทพ กล่าว
 
'ภูมิใจไทย'พร้อมเดินหน้าเลือกตั้งระบุประชาชนเบื่อข่าวเรื่องดูด ส.ส.
 
14 ก.ค. 2561 นายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงความพร้อมของพรรคหากมีการปลดล็อคทางการเมือง และเดินหน้าเข้าสู่โรดแม็พในช่วงต้นปี 62 ว่า ในส่วนของพรรคภูมิใจไทยถือว่าเหลือเวลาอีกไม่มากที่จะถึงวันเลือกตั้ง ซึ่งทางพรรคได้เตรียมความพร้อมมาอย่างตลอดต่อเนื่อง หากปลดล็อกทางการเมืองก็จะลุยได้เลยทันที ส่วนนโยบายของพรรคเรายังยึดประชาชนเป็นหลักสำคัญ พรรคต้องการที่จะแก้ปัญหาให้กับประชาชนทั้งในระยะเร่งด่วน และแกัปัญหาในระยะยาว โดยเราเอาสภาพปัญหาเป็นตัวตั้งจากการพบปะกับพี่น้องประชาชนทั่วทุกภาค ถ้าหากนโยบายของเรานำไปสู่การปฏิบัติก็เชื่อว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้จริง ยกตัวอย่างคือเรื่องการแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทั้ง ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ที่ผ่านมามันไม่ได้แก้แบบองค์รวม ดังนั้น จึงอยากฝากพี่น้องประชาชนว่า เมื่อถึงเวลาเดินเข้าคูหา ต้องให้ 1 คะแนนเสียงที่ท่านมีอยู่ ทำให้มันคุ้มค่าที่สุด เพราะเรามีบัตรเพียง 1 ใบ นั่นคืออำนาจที่ประชาชนมี อย่าให้เสียของ
 
เมื่อถามถึง พลังดูดจากกลุ่มสามมิตร ที่เดินหน้าดูด อดีตส.ส. จากพรรคการเมืองต่าง ๆ ในขณะนี้ รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ตอนนี้พี่น้องประชาชนเบื่อจะฟังข่าวเรื่องพลังดูดทางการเมืองแล้ว และส่วนตัวก็เห็นว่าใครจะย้ายไปไหนก็เป็นสิทธิของท่าน แต่ท้ายที่สุดประชาชนจะเป็นผู้กำหนดว่าใครจะได้เป็นผู้แทนราษฎร เพราะฉะนั้น อย่าไปให้ความสำคัญมากนัก เพราะอาจเป็นแค่การปั่นราคาสร้างมูลค่าให้กับตัวเองมากกว่า
 
"วันนี้เราต้องใช้กลไกการเลือกตั้งแก้ปัญหา รีบเลือกนายกรัฐมนตรีเพื่อให้การเมืองเข้าสู่การเมืองปกติ หลังจากนี้ก็ว่ากันไปตามระบอบรัฐสภา อย่าลากการเมืองออกไปข้างถนนอีกเหมือนที่ผ่าน ๆ มา"นายศุภชัย กล่าว
 
ที่มาเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย [1][2]
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เพื่อไทย'ค้านยกเลิกเลือกตั้งสมาชิกสภาเขต กทม.

$
0
0
'นพดล ปัทมะ'อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศพรรคเพื่อไทย ค้านการแก้กฎหมายที่จะไม่ให้คน กทม. เลือกสมาชิกสภาเขตหรือ สข. อีกต่อไป แต่จะให้มาจากการแต่งตั้ง ระบุประชาชนควรมีสิทธิเลือกตัวแทน

 
14 ก.ค. 2561 เว็บไซต์แนวหน้ารายงานว่านายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่าที่มีการเปิดรับฟังความเห็นประกอบการแก้กฎหมายที่จะไม่ให้ คนกรุงเทพฯเลือกสมาชิกสภาเขตหรือ สข. อีกต่อไป แต่จะให้มาจากการแต่งตั้งนั้น ตนไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ เนื่องจากเป็นการสวนกระแสการกระจายอำนาจให้คนกรุงเทพฯมีสิทธิเลือกตัวแทนของตนไปดูแลงานในเขตต่างๆ ทั้ง 50 เขต สข. ที่ประชาชนเลือกน่าจะตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในเขตมากกว่าการได้รับการแต่งตั้ง อีกทั้งยังเป็นปากเป็นเสียงให้คนในชุมชนและหมู่บ้านต่างๆ
 
“การให้ประชาชนเลือกเอง คิดเองไม่ดีกว่าหรือ อีกทั้งสภาเขตเป็นเวทีฝึกฝนประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมในระดับพื้นที่ด้วย คำถามที่ผู้เสนอแก้กฎหมายต้องตอบคือที่ผ่านมาหลายสิบปีการมีสข. มีปัญหาอะไร  เป็นอุปสรรคในการทำงานอย่างไร ท่านยังเชื่อในการตัดสินใจของคนกรุงเทพหลายล้านคนหรือจะเชื่อในคนที่จะแต่งตั้งไม่กี่คน และถามว่าคนที่ประชาชนเลือกจะช่วยตรวจสอบการทำงานของเขต การใช้งบประมาณ ดีกว่าการแต่งตั้งหรือไม่” นายนพดล กล่าว 
 
นายนพดล กล่าวว่านอกจากไม่ควรยกเลิกสภาเขตแล้วมีประเด็นว่าควรให้คนกรุงเทพเลือกผู้บริหารในเขตพื้นที่ของตนหรือไม่ เพราะคนที่ประชาชนเลือกด้วยตนเอง น่าจะตอบสนองการแก้ไขปัญหาในเขตได้ดีกว่า ซึ่งในเรื่องนี้มีการพูดคุยเบื้องต้นในพรรคเพื่อไทย ถ้าได้ข้อสรุปอย่างไรคงจะได้รับฟังความเห็นจากชาวกรุงเทพฯต่อไป เมื่อสามารถทำได้ตามกฎหมายเนื่องจากปัญหาของคนกรุงเทพฯต้องแก้โดยคนกรุงเทพฯ และต้องรับฟังความเห็นอย่างกว้างขวาง 
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พระราชทานเพลิงศพ 'นาวาตรีสมาน กุนัน'

$
0
0

พระราชทานเพลิงศพ 'นาวาตรีสมาน กุนัน'อย่างสมเกียรติ 'ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร'ผอ.ศอร.อ่านคำไว้อาลัย ปาฏิหาริย์ครั้งนี้จะไม่เกิดขึ้นหากปราศจากความทุ่มเทของทุกคน และความดีของ 'จ่าแซม'จะตราตรึงในใจของพวกเราตลอดไป 

 
 
 
14 ก.ค. 2561 เว็บไซต์เดลินิวส์ รายงานบรรยากาศที่วัดบ้านหนองคู ต.เมืองหงษ์ อ.จตุรพักตรพิมาน จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งได้มีการจัดพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ นาวาตรี สมาน กุนัน หรือ จ่าแซม อดีตหน่วยซีล เสียชีวิตขณะเข้าช่วยเหลือ 13 ชีวิตทีมหมูป่าที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ซึ่งช่วงบ่ายวันนี้มีพิธีพระราชทานเพลิงศพ ท่ามกลางความไว้อาลัยของครอบครัว ญาติ และแขกเหรื่อเป็นจำนวนมาก
 
โดย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องค์มนตรี ผู้แทนพระองค์ ได้เดินทางเข้าไปในศาลาสถานที่ที่จัดเตรียมไว้ จากนั้นพล.ร.อ.นริส กลิ่นประทุม ผู้บัญชาการทหารเรือคนใหม่ (ผบ.ทร.)ได้อ่านพระราชโองการพระราชทานยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์พร้อมใบกำกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และสัญญาบัตรยศ จากนั้นครอบครัวของนาวาตรีสมาน โดยนางวลีพร กุนัน ภรรยา ได้เข้ารับพระราชโองการรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์พร้อมใบกำกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และสัญญาบัตรยศ แล้วมอบให้เจ้าหน้าที่นำไปวางหน้าหีบศพ
 
จากนั้น นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย และ ผวจ.พะเยา ได้กล่าวขอบคุณและไว้อาลัย 'จ่าแซม'ว่าปาฏิหาริย์ ครั้งนี้จะไม่เกิดขึ้นเลยหากปราศจากความทุ่มเทของทุกคน และท่านหนึ่งคือจ่าแซมที่ช่วยเราจนสุดความสามารถและจากเราไปอย่างไม่มีการกลับ ซึ่งความดีของจ่าแซมจะตราตรึงในใจของพวกเราตลอดไป
 
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 14385 articles
Browse latest View live