เยี่ยมยุทธ สุทธิฉายา สัมภาษณ์/เรียบเรียง
อัจฉริยา บุญไชย/อิศเรศ เทวาหุดี กราฟิกประกอบข่าว
คุยกับผู้เขียนหนังสือ 'การเมืองไทยร่วมสมัย'สืบเนื่องจากคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขแดงที่ 2247/2561 ย้อนดูประวัติศาสตร์การยึดอำนาจ รัฐธรรมนูญหลายเวอร์ชั่นที่แก้การรัฐประหารไม่ได้ ย้อนสู่คำถามพื้นฐาน ใครต้องรับผิดชอบกับโครงสร้างสังคม การเมืองที่ยึดแย่งอำนาจได้ง่ายดายนี้
- บัณฑิตมองว่าการรัฐประหารว่าเป็นการยึดเอาอำนาจจากคนที่ครองอำนาจอยู่เดิม แล้วตั้งตัวเองเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งปัจจุบันเป็นเรื่องผิดปกติมากขึ้นเรื่อยๆ
- วังวนรัฐประหารเริ่มต้นขึ้นหลังปี 2490 เป็นช่วงเวลาที่คนยึดอำนาจขึ้นมาก็ฉีกรัฐธรรมนูญแล้วเขียนใหม่เมื่อมีอำนาจในมือ
- รัฐธรรมนูญหลายฉบับพยายามแก้ไขการรัฐประหาร ปฏิรูปการเมือง แต่สุดท้ายการรัฐประหารก็วนลูปกลับมาอีกครั้ง
- การพูดถึงระบอบรัฐประหารเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ปัญหาวงจรอุบาทว์ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดเพราะทหารฝ่ายเดียว แต่ผู้ศรัทธาอำนาจจากกระบอกปืนเองก็มีส่วน
‘ระบอบรัฐประหาร’ เป็นคำที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์กรณีที่จ่าสิบเอกอภิชาติ พงษ์สวัสดิ์ นักวิชาการด้านการปฏิรูปกฎหมาย ฝ่าฝืนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 7/2557 หลังชูป้ายกระดาษขนาด A4 “ไม่ยอมรับอำนาจเถื่อน” เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2557 หนึ่งวันหลัง คสช. เข้ายึดอำนาจ
“จำเลยอุทธรณ์ในประเด็นที่ว่า ประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ไม่มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย เนื่องจาก คสช. ได้อำนาจการปกครองมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประเด็นนี้ศาลอุทธรณ์โดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า แม้การกระทำของ คสช. ในเบื้องต้นจะมีลักษณะเป็นการได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่บังคับใช้อยู่ในขณะนั้น แต่เมื่อ คสช. เข้าควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ ไม่มีการต่อต้านขัดขืนจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ตลอดจนหน่วยงานหรือองค์การใดๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน แม้แต่คณะรัฐบาลรักษาการก็ไม่อาจโต้แย้งขัดขวางการยึดอำนาจและบริหารราชการของ คสช. ถือเป็นการใช้กำลังยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงรัฐบาลตามนัยของระบอบแห่งการรัฐประหารได้เป็นผลสำเร็จแล้ว”
(ส่วนหนึ่งของคำพิพากษา อ่านคำพิพากษาตัวเต็มที่นี่)
การสานเสวนาหรือถกเถียงต่อคำสำคัญดังกล่าวบนฐานแนวคิดทางกฎหมายก็เป็นทางหนึ่ง แต่ในแง่การเมืองว่าด้วยแนวคิดการรัฐประหาร ความชอบธรรม รวมถึงปมปัญหาบนเส้นทางของวงจรการยึดอำนาจรัฐไทยที่เกิดแล้วเกิดอีกประหนึ่งว่าตั้งค่าให้เพลย์ลิสต์เล่นเพลงซ้ำวนไปวนมา หรือที่อาจจะรู้จักกันในชื่อ ‘วงจรอุบาทว์’ ก็เป็นเรื่องที่น่าหยิบยกมาพูดอีกครั้งเมื่อสถาบันตุลาการอย่างศาลหยิบพูดถึง ‘ระบอบรัฐประหาร’ ขึ้นมา
ประชาไทคุยกับ ผศ.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียนหนังสือ ‘การเมืองไทยร่วมสมัย’ ถึงแนวคิดการสถาปนาอำนาจรัฐ ประวัติศาสตร์การเมืองไทย กับความพยายามตัดวงจรรัฐประหารจนสุดท้ายรู้ตัวอีกทีก็กลับมายืนที่เดิม ในวันที่การชูป้ายแสดงความเห็นเป็นเรื่องต้องห้ามในข้อหาท้าทายอำนาจรัฐอีกครั้งหนึ่ง
ว่าด้วยคอนเซปต์ เส้นทางความคิด และวงจรของการรัฐประหาร
บัณฑิตให้ความหมายของการรัฐประหารว่าเป็นการยึดฉวยเอาอำนาจจากคนที่ครองอำนาจอยู่เดิม แล้วตั้งตัวเองเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาแต่โบราณ แต่การยึดอำนาจค่อยๆ ถูกมองเป็นเรื่องไม่ปกติมากขึ้นเรื่อยๆ ตามการเคลื่อนที่ของอำนาจจากผู้ถือครองคนหนึ่งไปสู่คนหนึ่ง หรือตามแนวคิดด้านการเมืองการปกครองที่ขยับและ/หรือขยายไปตามเวลา
คลิกเพื่อดูภาพขนาดใหญ่
“เวลาเราพูดถึงการตั้งรัฐ อำนาจรัฐ การเป็นรัฏฐาธิปัตย์ก็ต้องเริ่มจากการอธิบายว่าที่มาของรัฐเป็นอย่างไร สมัยโบราณเราก็บอกว่าอำนาจรัฐเป็นเรื่องของการสืบตระกูล พอโลกเปลี่ยนแปลงเราก็เห็นว่ามีอะไรใหม่ๆ มีการพูดถึงอำนาจรัฐที่ไม่ใช่เพียงแค่การแย่งชิงกัน แต่เป็นเรื่องราชวงศ์ที่เมื่อมีอำนาจก็มีการสืบอำนาจในตระกูล เป็นเรื่องเครือญาติ ระบบธรรมเนียมประเพณี จนกระทั่งมันมีความท้าทายของความคิดสมัยใหม่ที่บอกว่าอำนาจรัฐมันเป็นของที่คนจะต้องตกลงกันไม่ใช่ว่าคุณจะมาตั้งรัฐแล้วบริหารตามอำเภอใจ ทฤษฎีจำพวกนี้คือทฤษฎีสัญญาประชาคม ทฤษฎีว่าด้วยการก่ออำนาจรัฐสมัยใหม่ อันนี้ก็เปลี่ยนความรู้ความเข้าใจของเราเกี่ยวกับรัฐว่าใครควรจะมีอำนาจอันนี้คือหลักคิดพื้นฐาน การท้าทายตัวนี้ก็จะมีสิ่งที่เรียกว่ารัฐราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional monarchy) คือกษัตริย์มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ถ้ารัฐธรรมนูญไม่เขียนคือกษัตริย์ไม่มีอำนาจ แล้วเราก็มีระบอบการเมืองที่เรียกว่าสาธารณรัฐ (Republic) คือรัฐซึ่งประชาชนรวมตัวกันเลือกผู้นำ คือไม่มีกษัตริย์ แนวคิดแบบนี้ก็ทำให้เกิดคำถามกับรัฐสมัยใหม่ที่เราเห็นมาในรอบ 100-200 ปี ระบอบการเมืองเก่าๆ มันก็เริ่มสูญหายไป รัฐสืบราชสมบัติก็ลดน้อยลง รัฐที่เป็นอำนาจอธิปไตยสมบูรณ์ยังอยู่ที่กษัตริย์ก็เหลือไม่กี่รัฐถ้ามีก็เป็นรัฐขนาดเล็กมากๆ จำนวนหนึ่งก็เปลี่ยนเป็นอำนาจของกษัตริย์ถูกจำกัดภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ หรือเราจะเรียกว่าเป็นระบอบกษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญก็ตามแต่”
บัณฑิตเล่าต่อไปว่าไทยได้รับอิทธิพลทางความคิดเรื่องใครจะเป็นผู้ถืออำนาจแห่งรัฐ หรืออำนาจอธิปไตยเอาไว้ จะเป็นกษัตริย์ ประชาชน หรือใคร ซึ่งเป็นข้อถกเถียงมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เรื่อยมาจนมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองสมัยรัชกาลที่ 7 เมื่อ พ.ศ. 2475 แต่วงจรอุบาทว์ของการยึดอำนาจอย่างแท้จริงมาเริ่มในช่วงหลัง พ.ศ. 2490
“ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปรับเปลี่ยนพระราชประเพณีโบราณในหลายส่วน โดยเฉพาะการที่ทรงเห็นว่าการดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยาหรือการแช่งน้ำ หรือดื่มน้ำสาบานนั้น แทนที่จะเป็นฝ่ายขุนนางดื่มถวายกษัตริย์แต่ฝ่ายเดียว ก็ทรงให้ดื่มร่วมกันทั้งสองฝ่ายคือพระเจ้าแผ่นดินกับข้าราชบริพาร”
(ที่มา: บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ, การเมืองไทยร่วมสมัย)
“ปี 2475-2490 มันยังไม่เกิดสิ่งที่เรียกว่าวงจรอุบาทว์ มันยังไม่เกิดสิ่งที่เรียกว่า วัฏจักรชั่วร้ายของการเมืองไทย เพราะว่าการทำรัฐประหารของพระยาพหลพลพยุหเสนาในปี 2476 ต่อรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาก็เนื่องมาจากพระยามโนฯ งดใช้รัฐธรรมนูญและปิดสภา คือปิดไม่ให้มีตัวแทนของประชาชนออกมาพูดออกมาทำงาน เพราะฉะนั้นสิ่งที่พระยาพหลทำก็คือยึดอำนาจแต่ว่าไม่ได้ฉีกรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญปี 2475 ฉบับ 10 ธ.ค. 2475 ยังคงอยู่ เป็นการยึดอำนาจเพื่อเปิดใช้รัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง ไม่ใช่ฉีกรัฐธรรมนูญ รัฐประหารที่ฉีกรัฐธรรมนูญคือรัฐประหารปี 2490 ทีนี้คนก็สงสัยว่ารัฐธรรมนูญ 2489 ล่ะ รัฐธรรมนูญ 2489 มันเกิดจากความพยายามที่จะแก้ปัญหาของคณะราษฎร ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จอมพล ป. พิบูลสงครามพยายามที่จะอาศัยจังหวะที่เกิดสงคราม อาศัยจังหวะที่คนไม่ค่อยมั่นใจต่อความเปลี่ยนแปลงและความแปรปรวนในสถาบันการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันทางประเพณี จอมพล ป. ก็ใช้โอกาสนี้ในการสร้างความนิยมของตัวเองให้มาเป็นผู้นำในลักษณะหนึ่งที่เราอาจจะเข้าใจว่าเป็นยุคเชื่อผู้นำชาติพ้นภัย ในยุคนี้ก็มีการเลื่อนการเลือกตั้งเพราะฉะนั้นหมายความว่าจอมพล ป. ได้อำนาจที่ค่อนข้างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
เมื่อสิ้นสุดช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เราจะเห็นว่าคณะราษฎรพยายามจะแก้ปัญหาก็เริ่มจากการแก้รัฐธรรมนูญ พอเริ่มแก้ไปแก้มา กรรมาธิการที่แก้ก็บอกว่าแก้แบบนี้ไม่ไหวร่างใหม่ดีกว่าจึงเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2489 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เองที่แบ่งอำนาจออกเป็นสองส่วนชัดๆ ในส่วนของอำนาจนิติบัญญัติก็คือให้มีวุฒิสภาในสมัยนั้นเรียกว่า พฤฒสภา กับสภาผู้แทนราษฎร คือให้มีสภาผู้ทรงคุณวุฒิกับสภาที่เป็นตัวแทนของประชนทั่วไป ทีนี้ก็กลายมาเป็นต้นแบบของรัฐธรรมนูญฉบับถาวรอื่นๆ เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญปี 2489 คือจุดเริ่มต้น บังเอิญเกิดกรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 สถานะของรัฐบาลปรีดี และหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ในเวลาต่อมาก็เกิดสั่นคลอนและถูกรัฐประหารโดยคณะกลุ่มราชครูในปี 2490 ซึ่งกลุ่มนี้ก็ร่างรัฐธรรมนูญการปกครองฉบับชั่วคราวแล้วก็และฉบับถาวรในเวลาต่อมา ซึ่งใช้เพียง 2 ปีก็ฉีกทิ้งแล้วเอาฉบับ 2475 ที่แก้ไขเพิ่มเติมมาใช้ เราก็จะเห็นได้ว่านับตั้งแต่ปี 2490 ใครก็ตามที่ต้องการยึดอำนาจก็จะฉีกรัฐธรรมนูญแล้วประกาศตัวเองว่าเป็นผู้บริหารประเทศ”
ใครมีส่วนรับผิดชอบต่อภาวะรัฐประหารที่ง่ายดายและรัฐธรรมนูญหลายเวอร์ชั่น
บัณฑิตเล่าประวัติศาสตร์การเมืองว่าด้วยเวอร์ชั่นของรัฐธรรมนูญที่ต่อจากปี 2490 เรื่อยมา ตั้งแต่สมัยประชาชนขับไล่เผด็จการแล้วร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในยุค 14 ต.ค. 2516 ต่อด้วยการยึดอำนาจของพลเรือเอกสงัด ชลออยู่หลังเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 ตามมาด้วยรัฐธรรมนูญใหม่ในปี 2521 ที่ถูกฉีกอีกครั้งหลังรัฐประหารปี 2534 และแทนที่ด้วยฉบับ 2535 ที่ถูกฉีกอีกครั้งหลังเหตุการณ์พฤษภาฯ ทมิฬ ซึ่งถือเป็นจุดจบของประชาธิปไตยครึ่งใบและเริ่มมีการพูดถึงการตัดวัฏจักรของการยึดอำนาจที่บ่อยจนดูยืดยาวเมื่อต้องเขียนเป็นความเรียง แต่ท้ายที่สุดเมื่อมีการรัฐประหารเกิดขึ้นซ้ำอีกครั้งในปี 2549 และ 2557 ตามมาด้วยสภาวะการปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออก ก็ต้องวนลูปกลับมาถามคำถามพื้นฐานกันใหม่ว่า ใครกันแน่ที่มีส่วนรับผิดรับชอบ
“(หลังพฤษภาฯ ทมิฬ) ก็บอกว่าอย่างนี้ไม่เอา มันเป็นวงจรอุบาทว์ เป็นวัฏจักรชั่วร้าย ต้องมองการปฏิรูปการเมือง มองช่องทางที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมมีการยึดโยง จึงมีการถกเถียง มีการทำวิจัยกันใหญ่โตเพื่อที่จะหาโครงสร้างทางการเมืองที่เหมาะสมแล้วในที่สุด ก็มีการบอกว่าเพื่อที่จะผ่าทางตันทางการเมืองไทยนั้นต้องแก้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2535 รัฐธรรมนูญฉบับปี 2535 เขาแก้เพื่อให้มีการเลือกตั้งชั่วคราวแก้เพื่อที่จะให้มีนายกฯ มาจากการเลือกตั้งก็จริงแต่มันยังไม่ได้แก้ปัญหาพื้นฐาน กรรมการการปฏิรูปการเมืองในสมัยนั้นคือการรณรงค์ให้แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 211 (ว่าด้วยหลักเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ) เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง”
“ในที่สุดก็เกิดรัฐธรรมนูญปี 2540 คือรัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยอย่างมากมายมหาศาล เพราะว่าองค์กรอิสระมีหน่วยทางการเมืองใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน หน่วยทางการเมืองเหล่านี้ก็มีพูดถึงแม้กระทั้งเรื่องของการต้านรัฐประหารโดยสันติ สิทธิของประชาชนที่จะมายืนบนถนนต่อต้านรัฐประหารอย่างสันติเป็นสิ่งที่ได้รับการรับรอง แต่อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราพูดกันในกระดาษแต่ความเป็นจริงมันก็เป็นอย่างที่เราเห็น ถ้าถามว่าในรอบ 80 กว่าปีนี้เราเผชิญกับอะไร คือเราเผชิญกับปัญหาพื้นฐานของการนิยามคำว่าอำนาจอธิปไตย อำนาจของประชาชนแล้วมันถูกสั่นคลอนเพราะอะไร มันถูกสั่นคลอนเพราะหนึ่งคือตัวนักการเมืองเอง มันถูกสั่นคลอนเพราะว่าความมั่นใจจากอำนาจที่มาจากปากกระบอกปืนของคนจำนวนหนึ่งเหมือนกัน จะไปโทษทหารฝ่ายเดียวไม่ได้ แล้วตรงนี้เองก็เป็นจุดที่ทำให้คิดว่าคำอธิบายเกี่ยวกับระบอบรัฐประหารมันค่อนข้างมีความละเอียดอ่อน”
“สิ่งที่เราตั้งคำถามตอนนี้ตกลงเรามีสิทธิต้านรัฐประหารไหม เรามีสิทธิตั้งคำถามกับคณะรัฐประหารที่ถือปืนมายึดอำนาจเราไหม แล้วถ้าเราตั้งคำถามแล้วใครจะคุ้มครองเราซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่ยากที่สุด บางท่านบอกว่าผมยังคุ้มครองตัวเองไม่ได้เลยผมจะมาคุ้มครองอะไรคุณ มันก็จะกลับไปหลักพื้นฐานเรื่องความกล้าหาญทางจริยธรรมในวิชาชีพว่า ยามถึงวิกฤติแล้วคุณเอาตัวรอดโดยไม่คำนึงถึงการวิชาชีพหรือเปล่า แล้วคุณเคยคำนึงถึงที่เคยปฏิญาณหรือเคยสัญญาเอาไว้ไหม มันเป็นปัญหาพื้นฐานที่รัฐสมัยใหม่ในโลกเผชิญกันมาแล้วทั้งสิ้น”
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ยังอธิบายองค์ประกอบของภาวะยอมรับการยึดอำนาจทั้งในด้านแนวคิดที่รับรองการได้มาซึ่งอำนาจด้วยวิธีใดก็ได้ และโครงสร้างรัฐที่สอดรับกับการยึดอำนาจ ซึ่งเขามองว่าเป็นรากฐานของการรัฐประหารที่ค่อนข้างง่ายดายและเบ็ดเสร็จในไทย
“ในความเป็นจริงทฤษฎีอำนาจเป็นธรรม (แนวคิดว่าคนที่มีอำนาจสามารถบัญชาการได้ ใครมีปืน มีกำลังคนนั้นก็คือคนที่มีอำนาจ[ที่มา:บัณฑิต]) เหมือนกับเป็นทฤษฎีที่มีการยอมรับกันอยู่ แม้กระทั่งฝ่ายซ้ายเองก็ยอมรับว่าอำนาจรัฐนั้นจักมาด้วยปากกระบอกปืน คณะรัฐประหารทุกคณะถ้าไม่มีกองทัพก็ไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้นเรื่องการมีกำลังทางกายภาพมันเป็นปัญหาใหญ่ ทีนี้คำถามต่อไปคือว่าใครเป็นคนให้ฉันทานุมัติในการเอากองทัพมาใช้งาน ใครมีอำนาจ ผบ.ทบ. หรือเปล่าหรือจะเป็นคนอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือว่ากำลังพลจำนวนหนึ่งก็เพียงพอแล้วสำหรับการยึดอำนาจ หลายคนบอกว่าประเทศไทยนั้นยึดอำนาจได้ง่ายมาก คุณมีกองพันที่อยู่ในกรุงเทพฯจำนวนหนึ่ง มีนายทหารยศพันเอกจำนวนหนึ่งคุณก็สามารถดึงคนมายึดอำนาจได้แล้ว”
“มันมีสภาวะยกเว้นที่มันเกิดขึ้นหลายๆ อย่างเกิดขึ้นโดยที่ระบบกลไกอำนาจรัฐก็ยอมรับรัฐประหาร มันเกิดสภาวะยกเว้นแม้กระทั่งเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับถาวรด้วยว่าการกระทำของคณะรัฐประหารนั้นเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา เรามีรัฐธรรมนูญที่ยอมรับอำนาจของการรัฐประหารตรงนี้คิดว่ามันจะเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต เพราะมันไม่มีหลักประกันเลยว่าสิ่งที่คณะรัฐประหารกระทำนั้นมันจะถูกต้องเสมอไป
สิ่งที่บัณฑิตพูดถึงคือมาตรา 309 ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 โดยเขาเห็นว่าเป็นฐานคติหนึ่งที่ทำให้การยึดอำนาจด้วยกระบอกปืนเป็นไปได้และเป็นที่ยอมรับกัน
บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำ ที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและ การกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ (ที่มา:www.ombudsman.go.th)
“ในขณะที่ทฤษฎีทางการเมืองแบบประชาธิปไตยบอกว่าประชาชนมีอำนาจถ้าประชาชนไม่ยินยอมก็ใช้อำนาจนั้นไม่ได้ คำถามคือคนที่ถือปืนใช้อะไรยึดโยงกับประชาชน ก่อนรัฐประหารปี 2535 คุณสุจินดา คราประยูรบอกว่าถ้ามีไปรษณียบัตรถึงเขา จำไม่ได้ว่าเท่าไหร่ คงประมาณหนึ่งล้านใบแล้วจะก่อรัฐประหารยึดอำนาจ ตอนนั้นคุณทวี ไกรคุปต์ (อดีตหัวหน้าพรรคประชาไทย ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นพรรครวมไทย และพรรคเอกภาพ; ที่มา วิกิพีเดีย) ถึงกับตั้งคำถามว่า ท่าน ผบ.ทบ. ใช้อะไรคิดใช้อะไรพูดซึ่งก็สร้างความตึงเครียดทางการเมืองไปพักหนึ่ง หลายท่านก็บอกไม่ยึด ไม่ปฏิวัติ ไม่รัฐประหาร ถึงคราวก็ลากรถถังลากปืนออกมา คือมันแทบจะไม่มีอะไรแน่นอน เพราะฉะนั้นทฤษฎีอำนาจคือธรรม ธรรมคืออำนาจคือคนที่มีกำลังทางกายภาพสามารถกดดันข่มขู่ได้”
ประชาธิปไตยไทยเถียงเรื่องรัฐประหารกันยังไม่จบ-แลดูยังไม่เห็นทางออก
ต่อคำถามเรื่องการเอาการเมืองไทยออกจากวังวนรัฐประหาร บัณฑิตเห็นว่าเป็นข้อถกเถียงที่จบแล้วในหลายที่ทั่วโลก แต่ไม่ใช่ที่ไทย เจตนารมณ์ของการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันการรัฐประหารเมื่อปี 2540 บัดนี้ตกหายไปภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
“เราเถียงกันในสิ่งที่เขาเถียงจบไปแล้วร้อยปี เรากำลังพูดถึงการเปลี่ยนผ่านสังคมการเมืองเข้าสู่ลักษณะอีกแบบหนึ่ง ซึ่งมันน่าเสียดายว่าเราทุบทำลายสถาบันการเมืองจำนวนมากที่เคยเหนี่ยวรั้ง ที่เคยให้สติ นักวิชาการ เพื่อนผม กระทั่งอาจารย์หลายคนก็ติดคดีเพียงแค่ออกมาวิจารณ์การรัฐประหาร เพียงแค่ชูป้าย ซึ่งว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่น่าหดหู่ที่สุดในรอบ 20 มานี้เรายังไปไหนได้ไม่ไกล”
“วิกฤตในรอบนี้ถ้าจะเข้าใจมันต้องไปดูความพยายามที่จะแก้ปัญหาหลังปี 2535 แล้วก็เป็นที่มาของการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งมันเปลี่ยนภูมิทัศน์การเมืองไทย ภูมิทัศน์การเมืองไทย ช่วงชั้นของคนในสังคม ความเป็นอิสระในทางเศรษฐกิจของแต่ละคนเปลี่ยนแปลงไป การเติบใหญ่ก้าวหน้าทางการศึกษาของคนในสังคมเปลี่ยนแปลงไป คุณภาพเหล่านี้ ถ้าเปลี่ยนแปลงแบบมีนัยยะสำคัญมันก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองคือธรรมชาติของระบบการเมืองใดๆ เมื่อเอาสมการนี้ไปใส่ในรัฐธรรมนูญ 40 เราก็จะเห็นได้ว่าช่วงชั้นทางการเมืองไทยมันเปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล”
“สภาพสังคมมันเปลี่ยนไปจนเราไม่สามารถนิยามสังคมได้แบบเดิมอีกต่อไป แต่เรายังมีความนิยามกฎหมายที่ค่อนข้างไม่สอดคล้องต่อสิ่งที่มันควรจะเป็นต่อโลกที่ทันสมัย จุดนี้ถ้ามาดูตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา ดูรัฐธรรมนูญ 2540 ที่มันพยายามจะออกแบบสถาบันการเมืองขึ้นเพื่อแก้ปัญหา เพื่อเหนี่ยวรั้งไม่ให้เกิดปัญหาเดิมๆ เกิดขึ้นอีก คำถามที่มันสำคัญมากอีกชุดหนึ่งคืออะไรที่มันทำให้คนที่เคยสนับสนุนรัฐธรรมนูญ 2540 ออกมาสนับสนุนทหารให้ยึดอำนาจ”
“ตอนเราเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ผมคิดว่าคณะราษฎรต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในอนาคตชะตากรรมของชาติ มีรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับผิดรับชอบแทนที่จะเป็นสถาบันกษัตริย์แล้วคนเหล่านี้ควรจะต้องตรวจสอบได้ในฐานะที่เป็นรัฐบาลของประชาชน แต่ว่าสถานการณ์บ้านเมืองของสังคมไทยมันเปลี่ยนแปลงไป มันถึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงอื่นๆตามมา การปฏิรูปการเมืองที่เราเห็นเมื่อปี 2540 ก็คือพยายามที่จะมิให้เกิดวงจรอุบาทว์ตามมาอีก ความพยายามที่จะป้องกันมิให้นักการเมืองฉวยโอกาสที่ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชน 4 ปีโดยที่ไม่ฟังใครนี่คือเจตนารมณ์ เพราะฉะนั้นเราถึงมีองค์กรอิสระ เราถึงมีการจัดการโน่นนี่นั่นเข้ามา เจตนารมณ์ปี 2540 มันคือความพยายามที่จะแก้ปัญหาตรงนี้
แต่เราก็จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญ 2560 พยายามกลับไปมากกว่าเดิม ทั้งยุทธศาสตร์ 20 ปีรวมไปถึงระเบียบยิบย่อยอื่นๆ คือมันไม่ได้อยู่เฉพาะในรัฐธรรมนูญ แต่ลงในรายละเอียดแม้กระทั่งวิธีการปฏิบัติราชการในปัจจุบัน ความกลัวการทุจริตอย่างออกหน้าออกตา ผมคิดว่ามันทำให้เราเห็นความไม่ไว้วางใจในสังคมมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันในความไม่ไว้วางใจ เราก็กลับไปฝากความคาดหวังไว้กับอำนาจที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด อำนาจที่เหนือกว่าอำนาจของพลังประชาชน ตรงนี้แหละที่มันจะก่อปัญหาระยะยาว คือภูมิทัศน์มันเปลี่ยนไปแล้ว ผมไม่อยากจะบอกว่านี่คือประชาธิปไตยครึ่งใบแต่ผมคิดว่ามันย้อนกลับไปเมื่อปี 2500 คือย้อนกลับไป 60 ปี นิตยสารไทม์ถึงได้นิยามว่านี่คือสฤษดิ์น้อย”
บัณฑิตให้ความเห็นทิ้งท้ายในประเด็นแบบอย่างกลไกอำนาจรัฐที่ต่อต้านหรือปฏิเสธการรัฐประหารว่า อย่างน้อยที่สุดประชาชนต้องมีพื้นที่ในการแสดงออกและตรวจสอบรัฐบาลตามธรรมชาติของระบอบประชาธิปไตย
“ในบางประเทศสถาบันกษัตริย์ก็มีบทบาทอย่างในประเทศสเปน แต่เราคงไม่ต้องไปถึงขั้นนั้น แต่สำคัญที่สุดคือเราควรจะคิดถึงประชาชนมากขึ้นว่ากระดาษแผ่นเดียวมันจะทำลายความมั่นคงของชาติได้อย่างไร ที่ออกมาชูป้าย หรือว่าถ้านักวิชาการบอกว่ามหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหารคือมันควรจะเป็นสิ่งที่เราพูดได้หรือเปล่า แล้วยิ่งมีรัฐธรรมนูญปี 2560 แล้วเรายังพูดในสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ การกระทำในช่วงที่เกิดขึ้นระหว่างที่คณะรัฐประหารมีอำนาจอยู่ เราตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านี้ไม่ได้แล้วจะไปตรวจสอบรัฐบาลในอนาคตได้อย่างไร ผมคิดว่าคำถามพื้นๆ เหล่านี้มันจะดันไปที่กลุ่มคนที่มีอำนาจมากกว่า ต่อให้เขาไม่ตอบในเวลานี้หรือต่อให้เขาจะเลื่อนคำตอบของเขาไปเรื่อยๆ แต่ในสักวันเขาก็ต้องตอบคำถามเหล่านี้ในที่สุดและตรงนั้นก็จะบอกอนาคตการเมืองไทย
คืออย่างน้อยประชาชนทุกคนจะต้องมีพื้นที่ ผมว่ามันเป็นเรื่องธรรมชาติถ้าเราทำอะไรที่มันฝืนธรรมชาติระบบการเมืองนั้นก็จะอยู่ไม่ได้ แม้กระทั้งคนที่ไปขัดขวางการเลือกตั้งเมื่อปี 2557 ทุกวันนี้ก็ยังรอเลือกตั้งยังกลับมาตั้งพรรคการเมือง มันจะมีโครงสร้างการเมืองไหนที่ดีกว่านี้ นั่นแสดงว่าเขาตอบตัวเองได้แล้วว่ามันไม่ดี ที่เป็นอยู่มันไม่ใช่”
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai