Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all 14385 articles
Browse latest View live

อียูลงมติคัดค้าน มาตรา 13 กม. ลิขสิทธิ์ออนไลน์ใหม่ หลังถูกประท้วงจากหลายฝ่าย

$
0
0

จากกรณีที่ชาวเน็ตและผู้ให้บริการข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตอย่างวิกิพีเดียประท้วงต่อต้านร่างกฎหมายลิขสิทธิ์ออนไลน์ฉบับใหม่ของสหภาพยุโรป ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่ผ่านมา ทางสภายุโรปลงมติคัดค้านมาตรา 13 ของกฎหมายฉบับดังกล่าวแล้ว โดยผู้วิพากษ์วิจารณ์บอกว่ามันเป็นมาตราที่เป็นอันตรายต่ออินเทอร์เน็ตที่เปิดกว้างและเสรี

 
 
สื่อ Wired รายงานเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2561 ระบุว่าสภายุโรปลงมติคัดค้านมาตรา 13 ของร่างกฎหมายลิขสิทธิ์ออนไลน์ฉบับใหม่ หลังจากมีการประท้วงและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะเป็นภัยต่ออินเทอร์เน็ตที่เปิดกว้างและเสรี สภายุโรปลงมติคัดค้านมาตราดังกล่าวด้วยคะแนนเสียง 318 ต่อ 278 โหวต โดยมี 31 เสียงที่งดออกเสียง
 
การโหวตคัดค้านมาตราดังกล่าวทำให้ร่าง กม. ถูกส่งกลับไปในกระบวนการร่างใหม่อีกครั้ง ทั้งนี้ร่างกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ของอียูจะมีการนำมาถกเถียงอภิปรายอีกครั้งในเดือน ก.ย. ที่จะถึงนี้ทำให้กลุ่มผู้แทนฯ มีเวลาในการหารือและปรับปรุงร่างกฎหมายนี้ต่อไป 
 
หนึ่งใน ส.ส. ยุโรปที่ต่อต้านกฎหมายใหม่นี้คือ จูเลีย เรดา สมาชิกสภายุโรปจากพรรคโจรสลัด (Pirate Party) เธอระบุถึงเรื่องการลงมติคัดค้านมาตรา 13 ผ่านทวิตเตอร์ว่าถือเป็น "ความสำเร็จครั้งใหญ่ การประท้วงของพวกคุณได้ผล!"
 
ร่างกฎหมายมาตราดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่ผลักภาระให้กับเว็บไซต์ต่างๆ มากเกินไปในการตรวจเช็คเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ ผู้ที่ต่อต้านในเรื่องนี้มีทั้ง พอล แมคคาร์ทนีย์ อดีตสมาชิกวงดนตรีบีทเทิลและผู้คิดค้นระบบเวิร์ลไวด์เว็บ ทิม เบอร์เนอร์ลี
 
สมาคมอุตสาหกรรมสิ่งบันทึกเสียงอังกฤษ (BPI) แถลงถึงเรื่องการโหวตคัดค้านในครั้งนี้ว่าพวกเขาจะทำงานร่วมกับผู้กำหนดนโยบายในการ "อธิบายว่ามาตรการที่เสนอมานี้จะให้ผลประโยชน์ไม่ใช่เพียงต่อความคิดสร้างสรรค์ของชาวยุโรปเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและภาคส่วนเทคโนโลยีด้วย"แต่มูลนิธิโมซิลลาเจ้าของเบราเซอร์ Firefox ชื่นชมการโหวตคัดต้านในครั้งนี้ว่า กม. ลิขสิทธิ์อียูจะบีบให้บริษัทอินเทอร์เน็ตต้องกรองเว็บตัวเองและทำให้เกิดการเก็บภาษีการวางลิงค์ออนไลน์อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
 
สื่อ Wired ระบุว่าการลงมติในครั้งนี้แต่ละกลุ่มก็มีการพยายามวื่งเต้นในแบบของตัวเอง ขณะที่ฝ่ายเจ้าของลิขสิทธิ์อ้างว่าควรจะมีกฎหมายที่บังคับใช้กับระบบตลาดในอียู แต่สำหรัยคนจำนวนมากมองว่าร่างกม.ฉบับนี้ยังคงคลุมเครือมากเกินไปและมีการบังคับใช้ตีขลุมกว้างเกินไปโดยที่ไม่มีความเข้าใจว่าอินเทอร์เน็ตทำงานอย่างไร
 
ในจดหมายเปิดผนึกต่อต้านกม.นี้จากผู้นำไอที 70 ราย รวมถึงเบอร์เนอร์-ลี  เตือนว่าร่างกม.นี้จะเป็น "ภัยร้ายแรง"ต่ออนาคตของอินเทอร์เน็ต โดยที่นอกจากกม.มาตรา 13 ที่ระบุให้บังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์จริงจังมากขึ้นแล้ว อีกมาตราหนึ่งคือมาตรา 11 ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากเรื่องการบังคับให้ต้องจ่ายเงินถ้าหากมีการแชร์ลิงค์ด้วย ทำให้ถึงแม้ว่ามาตรใหม่นี้จะอ้างเจตนาว่าต้องการอัพเดทกฎหมายลิขสิทธิ์ให้เข้ากับเทคโนโลยีปัจจุบัน แต่บางส่วนของกม.นี้ก็ใช้การจริงไม่ได้ อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการใช้ลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หรือการแสดงออกสร้างสรรค์ต่างๆ ทางอินเทอร์เน็ตด้วย
 
 
เรียบเรียงจาก
The EU's dodgy Article 13 copyright directive has been rejected, Wired, 05-07-2018
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โพลระบุประทับใจคนไทยสามัคคีกันมากที่สุดจากปฏิบัติการช่วยเหลือ 13 ชีวิตในถ้ำหลวง

$
0
0
กรุงเทพโพลสำรวจความเห็น 1,198 คน 91.2% ระบุว่าปรากฏการณ์ที่ประทับใจมากที่สุด จากปฏิบัติการช่วยเหลือ 13 ชีวิต ในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน คือได้เห็นความสามัคคี ความมีน้ำใจและความช่วยเหลือจากคนไทยด้วยกันทั้งชาวบ้านและจิตอาสา 52% อยากแทนความสำเร็จของการค้นหา 13 ชีวิต ด้วยคำว่า “ขอบคุณความเสียสละและความช่วยเหลือจากทุกฝ่าย” ทั้งนี้บทเรียนหรือข้อคิดที่คนไทยได้จากปฏิบัติการครั้งนี้คือ ทุกภาคส่วนที่เข้ามาช่วยเหลือต้องปฏิบัติงานร่วมกันในเชิงบูรณาการจึงสำเร็จ

 
 
7 ก.ค. 2561 จากข่าวการปฏิบัติการช่วยเหลือ 13 ชีวิต ทีมหมูป่าอะคาเดมี ที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงรายในขณะนี้ กรุงเทพโพลโดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ  จึงสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง“ปรากฏการณ์ที่คนไทยเห็นจาก ปฏิบัติการช่วยเหลือ 13 ชีวิต...ในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน” โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,198 คน พบว่า
 
ปรากฏการณ์ที่คนไทยเห็นและประทับใจมากที่สุด จากปฏิบัติการช่วยเหลือ 13 ชีวิต ในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน คือ ได้เห็นความสามัคคี ความมีน้ำใจและความช่วยเหลือจากคนไทยด้วยกันทั้งชาวบ้านและจิตอาสา ร้อยละ 91.2 รองลงมาคือ เห็นการอาสาเข้าช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์จากนานาชาติ ร้อยละ 80.8 และเห็นความความช่วยเหลือจากองค์กรและหน่วยงานต่างๆ เช่น การเดินสายไฟ เครื่องสูบน้ำ เครื่องเจาะบาดาล การวางถังออกซิเจน ฯลฯ ร้อยละ 76.9 นอกจากนี้ยังเห็นถึงความกระตือรือร้นของภาครัฐทั้งส่วนกลางและในพื้นที่ นายกฯ ผู้ว่า ตำรวจ ทหาร ร้อยละ 76.2 และเห็นประชาชนทั่วประเทศร่วมเกาะติดสถานการณ์และส่งใจไปช่วยทหารหน่วย ซีล ในการช่วยเหลือ 13 ชีวิต ร้อยละ 68.4
 
ทั้งนี้ความสำเร็จของการค้นหา 13 ชีวิตครั้งนี้ คนไทยส่วนใหญ่อยากแทนด้วยคำพูดว่า “ขอบคุณความเสียสละและความช่วยเหลือจากทุกฝ่าย” ร้อยละ 52.0 รองลงมาคือ “คนไทยไม่ทิ้งกัน” ร้อยละ 31.0 และ “สุดยอดมาก” ร้อยละ 6.9
 
สำหรับบทเรียนที่คนไทยได้จากปฏิบัติการช่วยเหลือ 13 ชีวิต ในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน คนไทยส่วนใหญ่ระบุว่า ความสำเร็จในการช่วยเหลือ 13 ชีวิต ในถ้ำหลวง เกิดจากการปฏิบัติงานร่วมกันในเชิงบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วน ร้อยละ 39.0 รองลงมาระบุว่า ความรวดเร็วในการให้ความช่วยเหลือกันและกันจากสังคมทั่วโลกในยามคับขันเป็นสิ่งสำคัญและมีค่า ร้อยละ 31.0 และระบุว่าผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยหรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา ร้อยละ 14.5
 
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสม. ประณามการวางกับระเบิดในพื้นที่สวนยางพารายะลา

$
0
0
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์ประณามการวางกับระเบิดในพื้นที่สวนยางพาราจังหวัดยะลา

 
 
7 ก.ค. 2561 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์ประณามการวางกับระเบิดในพื้นที่สวนยางพาราจังหวัดยะลา โดยระบุว่านับตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.-5 ก.ค. 2561 ได้เกิดเหตุระเบิดในบริเวณสวนยางพารา พื้นที่จังหวัดยะลา จำนวน 5 ครั้ง โดยเหตุการณ์ดังกล่าวสืบเนื่องจากการฝัง ‘กับระเบิด’ ไว้ในบริเวณสวนยางพาราเป็นเหตุให้เกษตรกรชาวสวนยางพาราได้รับบาดเจ็บสาหัสทั้งสิ้นจำนวน 5 ราย
 
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ขอแสดงความเสียใจต่อผู้ได้รับบาดเจ็บจากการกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม ผิดต่อกฎหมาย และละเมิดสิทธิในชีวิตด้วยการวางกับระเบิดในสวนยางพาราอันเป็นพื้นที่ทำมาหากินของเกษตรกรและเป็นพื้นที่ที่ประชาชนใช้สัญจรไปมาอยู่เสมอ จึงเป็นการกระทำที่หวังผลทำลายล้างโดยไม่เลือกกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งประชาคมโลกไม่เห็นด้วยและประณามการกระทำในลักษณะดังกล่าว ส่งผลให้มีการจัดทำอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิต และโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ค.ศ. 1997 หรือ อนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (Anti-Personnel Mine Ban Convention) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีผลบังคับใช้กับประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2542
 
กสม.มีความห่วงใยต่อเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นอย่างยิ่งและขอประณามการกระทำของผู้ก่อเหตุการณ์ความรุนแรงด้วยการวางกับระเบิดหรือทุ่นระเบิดสังหารบุคคลผู้บริสุทธิ์ในครั้งนี้ อนึ่ง กสม. จะติดตามสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างใกล้ชิดโดยหวังว่าทุกภาคส่วนจะร่วมกันดำเนินการใด ๆ เพื่อระงับ ยับยั้ง ภยันตรายทั้งปวงที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตและความสงบสุขอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่องต่อไป
 
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิด ‘ข้อเสนอบริการสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับคนไร้บ้าน’ แนะปรับสิทธิบัตรทองครอบคลุม ลดภาระ รพ.

$
0
0
เปิด “ร่างข้อเสนอการบริการสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับคนไร้บ้าน” เขตสุขภาพที่ 7 ปรับระบบบัตรทองครอบคลุมกลุ่มคนไร้บ้าน-คนไทยไม่มีบัตรประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ เข้าถึงการรักษาได้ เสนอจัดสรรงบดูแล ลดภาระค่าใช้จ่าย รพ. พัฒนาโปรแกรมบันทึกข้อมูล พร้อมจัดแนวทางเบิกจ่ายและบริการจำเพาะสำหรับกลุ่มคนไร้บ้าน อาทิ สนับสนุนค่าเดินทาง การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเชิกรุก และการจัดให้มีผู้ประสานงานเพื่อติดตามดูแลต่อเนื่อง  

        
 
7 ก.ค. 2561 ผศ.ดร.วิบูลย์ วัฒนนามกุล หัวหน้ากลุ่มวิจัยความอยู่ดีมีสุขและการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะคณะทำงาน (ร่าง) ข้อเสนอการบริการสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับคนไร้บ้านในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7 (ร้อยแก่นสารสิน) กล่าวว่า การจัดทำร่างข้อเสนอการบริการสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับคนไร้บ้านฯ เริ่มต้นจาก สปสข.เขต 7 ขอนแก่น ได้จัดกระบวนการรับฟังความเห็นต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนไร้บ้านเป็นหนึ่งในประเด็นที่ถูกนำเสนอ จึงได้ประสานให้ร่วมเป็นคณะทำงานตั้งต้นในการรับฟัง รวบรวมความเห็น และจัดทำเป็นข้อเสนอแนวทางการพัฒนาระบบเพื่อให้คนไร้บ้านเข้าถึงบริการได้   
 
ทั้งนี้คนไร้บ้านเนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่มีที่อยู่และพื้นเพไม่เอื้อต่อความเป็นอยู่ปกติเหมือนคนทั่วไป ดังนั้นในเรื่องสุขภาพไม่ว่าจะเป็นผลสำรวจทั้งในและต่างประเทศ จะพบปัญหาสุขภาพที่แย่กว่าคนทั่วไปในหลายมิติ ทั้งการเจ็บป่วย โรคเรื้อรังและอายุขัยที่สั้นกว่าคนทั่วไป รวมถึงการเข้าถึงบริการสุขภาพ เพราะส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ ไม่มีบัตรประชาชน หลายคนเคยมีบัตรประชาชนแล้วหาย ไม่ต่ออายุบัตร และมีทั้งที่ไม่เคยมีบัตรประชาชนมาก่อนเลย ทำให้ไม่สามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ทั้งที่จากที่ได้สัมผัสพูดคยคนกลุ่มนี้ล้วนเป็นคนไทย ไม่ได้เป็นคนต่างชาติ และมีอยู่จำนวนไม่น้อย จากที่เคยทำสำรวจกลุ่มคนไร้บ้าน เฉพาะในเทศบาลนครขอนแก่นมีประมาณกว่าร้อยคน    
 
“ที่ผ่านมาได้มีความพยายามคืนสิทธิความเป็นคนไทยให้กับคนกลุ่มนี้ จากที่ได้ทำงานร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) คนไร้บ้านบางคนที่เคยมีบัตรประชาชนและอยากทำบัตร เราก็จะช่วยเหลือพาไปทำ โดยประสานเจ้าหน้าที่เพื่อค้นข้อมูลเดิมในฐานะทะเบียนราษฎร์และยืนยันตัวตนให้ ทำให้ได้สามารถทำบัตรประชาชนได้ แต่บางคนที่ไม่มีหลักฐานใดๆ เลย เป็นเรื่องยาก ทั้งยังมีขั้นตอนพิสูจน์สิทธิที่ยุ่งยาก เพราะต้องตามหาญาติพิสูจน์ตรวจดีเอ็นเอ ทำให้คนเหล่านี้จึงยังคงไม่มีบัตรประชาชนและเสียสิทธิต่างๆ ตามสวัสดิการรัฐที่ควรได้รับ”
 
อย่างไรก็ตามในกรณีที่จำเป็นต้องเข้าถึงการรักษาพยาบาล โดยในกลุ่มที่ยังพิสูจน์สถานะไม่ได้นั้น ที่ผ่านมาจากที่ได้ทำงานร่วมกับโรงพยาบาลในพื้นที่ อย่าง โรงพยาบาลขอนแก่นจะให้การดูแลคนเหล่านี้ค่อนข้างดี โดยให้การรักษาพยาบาลก่อนและมีนักสังคมสงเคราะห์คอยดูแล ซึ่งกรณีที่ไม่มีเงินค่ารักษาโรงพยาบาลจะไม่เรียกเก็บ แต่ปัญหาคือหากโรงพยาบาลต้องดูแลคนกลุ่มนี้ต่อเนื่อง โดยไม่มีงบประมาณจากภาครัฐสนับสนุน จะกลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่โรงพยาบาลต้องแบกรับ ดังนั้นจึงนำมาสู่การระดมความเห็นเพื่อร่วมหาทางออก
 
ผศ.ดร.วิบูลย์ กล่าวว่า ในการจัดทำร่างข้อเสนอบริการสุขภาพที่เหมาะสมกับคนไร้บ้านนั้น คณะทำงานได้ทำรวบรวมข้อมูลผลการสำรวจสุขภาพคนไร้บ้าน เปิดรับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ เจ้าหน้าที่เทศบาล เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลและศูนย์จิตเวชในพื้นที่ เอ็นจีโอที่ทำงานกับคนไร้บ้าน เป็นต้น และได้จัดเวทีระดมความเห็น โดยได้สังเคราะห์ข้อเสนอในร่างข้อเสนอบริการสุขภาพที่เหมาะสมกับคนไร้บ้านเพื่อเดินหน้าในระบบบัตรทอง อาทิ สปสช.ควรจัดสรรเงินดูแลสุขภาพคนไร้บ้าน โดยมีแนวทางการเบิกจ่ายเพื่อการดูแลที่มากกว่าคนทั่วไป อย่างค่าเดินทาง เพราะคนเหล่านี้ไม่มีเงิน ค่าเดินทางจึงเป็นอุปสรรคหนึ่งต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพ, การสนับสนุนส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเชิงรุก ไม่เพียงบริการนอกสถานที่ แต่เน้นการบูรณาการทำงานร่วมกับชุมชน, การจัดให้มีผู้ประสานงาน รับผิดชอบและติดตามสุขภาพคนไร้บ้าน โดยใช้แนวคิดเดียวกับการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
 
ข้อเสนอให้ สปสช.ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ (พม.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รุกดูแลคนไร้บ้านที่เป็นเด็กให้ครอบคลุมบริการที่จำเป็น เช่น การแจ้งเกิด การให้วัคซีน การดูแลสุขภาพและป้องกันโรคทุกช่วงวัย เป็นต้น, สปสช.ควรให้บริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่จำเป็น ครอบคลุมบริการจำเป็นสำหรับคนไร้บ้านจำเพาะ อาทิ การตรวจหาเชื้อวัณโรค ไม่เพียงแต่นำไปสู่การรักษา แต่ยังเป็นการป้องกันการเกิดเชื้อดื้อยาและการแพร่ระจายโรค, สปสช.ควรกำหนดหลักเกณฑ์การส่งต่อคนไร้บ้านเป็นกรณีเดียวกับอุบัติเหตุที่ไม่มีเงื่อนไขเรื่องสิทธิการรักษาหรือค่าใช้จ่ายในการรักษา เนื่องจากคนไร้บ้านส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องสิทธิ ไม่มีบัตรประชาชนและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และ สปสช.ควรพัฒนาโปรแกรมฐานข้อมูลการบันทึกกิจกรรมให้สามารถบันทึกกิจกรรมการรักษากลุ่มคนไร้บ้านที่ไม่มีบัตรประชาชนได้ เพื่อเป็นฐานข้อมูล ทั้งจำนวนและการบริการ เพื่อสนับสนุนนการจัดสรรงบประมาณ และเป็นประโยชน์ต่อหน่วยบริการในการดูคนกลุ่มนั้  
 
นอกจากนี้ยังให้ สปสช.ควรร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ สช. ในการสร้างความเข้าใจและปรับทัศนคติคนในสังคมที่มีต่อคนไร้บ้านที่เป็นอุปสรรคสำคัญค่อการพัฒนาเพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และการสนับสนุนให้เกิดความเข้าใจในการประสานการนำส่งคนไร้บ้านเพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสม เช่น ศูนย์คุ้มครองคนไร้บ้าน ศูนย์จิตเวช และสถานีตำรวจ เป็นต้น
 
หัวหน้ากลุ่มวิจัยความอยู่ดีมีสุขและการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวว่า จากข้อเสนอการบริการสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับคนไร้บ้านนี้ คณะทำงานฯ จะนำเสนอต่อ สปสช.เพื่อดำเนินการต่อไป ซึ่งข้อเสนอบางส่วน สปสช.สามารถที่จะดำเนินการได้ทันที เช่น การพัฒนาโปรแกรมฐานข้อมูลการบันทึกกิจกรรมของคนไร้บ้านที่เข้ารับบริการยังโรงพยาบาล แต่บางข้อเสนออาจต้องใช้เวลาและผลักดัน อย่างการจัดงบประมาณเพื่อจัดบริการสุขภาพสำหรับคนไร้บ้าน ซึ่งตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ในการจัดสรรงบประมาณรวมถึงการเบิกค่าใช้จ่ายจะต้องผูกติดกับบัตรประชาชนและเลข 13 หลัก ที่คนไร้บ้านส่วนใหญ่ไม่มี ทั้งการพิสูจน์สิทธิยังเป็นสิ่งที่ยุ่งยาก
 
อย่างไรก็ตามจากมติบอร์ด สปสช.เมื่อปี 2549 ในสมัย นพ.มงคล ณ สงขลา เป็น รมว.สาธารณสุข ได้เห็นชอบให้เสนอ ครม.เพื่อขออนุมัติงบระบบบัตรทองให้ครอบคลุมประชากรที่รอพิสูจน์สถานะ เป็นช่องทางที่เป็นไปได้ เพราะหากปล่อยให้โรงพยาบาลต้องแบกรับค่ารักษากลุ่มคนไร้บ้านเอง แนวโน้มอนาคตจะทำให้โรงพยาบาลไม่อยากดูแลคนกลุ่มนี้ เพราะไม่สามารถเบิกเงินสนับสนุนได้ อีกทั้งเรื่องนี้ไม่ได้ซ้ำซ้อนกับกองทุนรักษาพยาบาลคนรอพิสูจน์สถานะ เนื่องจากกองทุนดังกล่าวเน้นการดูแลเฉพาะชาวเขาที่อยู่ตามพื้นที่ชายขอบของประเทศ และกลุ่มคนเชื้อสายจีนที่อยู่ในประเทศไทยมานาน 50-60 ปี   
 
“หลายคนสงสัยว่าทำไมเราต้องไปช่วยเหลือกลุ่มคนไร้บ้าน บางคนก็เมาเหล้า บางคนก็ติดยา ซ้ำขโมยของ ไม่มีงานทำเป็นหลักแหล่งเป็นปัญหาสังคม แต่เมื่อเข้าไปดูต้นเหตุที่ทำให้เขาเหล่านี้กลายเป็นคนไร้บ้าน นอกจากจากปัจจัยตัวบุคคลแล้ว และมาจากความเหลื่อมล้ำในสังคมที่มีความแตกต่างกันอย่างมาก ทั้งรายได้ การศึกษา และความเป็นอยู่ เป็นต้น สังคมจึงเป็นผู้ผลิตคนไร้บ้าน ดังนั้นจำเป็นต้องมีการช่วยเหลือเพื่อลดช่องว่างนี้ และการเข้าถึงบริการสุขภาพเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไร้บ้านได้รับการดูแลที่ดีขึ้นได้” ผศ.ดร.วิบูลย์ กล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ส่งฟ้อง 38 ผู้ชุมนุมอยากเลือกตั้งชุด UN 62

$
0
0
อัยการส่งฟ้อง 38 ผู้ชุมนุมอยากเลือกตั้งชุด UN62 ชุมนุมครบรอบ 4 ปี คสช. 5 ข้อหา ศาลนัดตรวจหลักฐานเช้า 20 ส.ค.นี้

 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่าเมื่อ 6 ก.ค. 2561 เวลา 9.30 น. ที่ศาลแขวงดุสิต พนักงานอัยการศาลแขวงดุสิตได้นัดหมายผู้ต้องหาในคดีชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และหน้าองค์การสหประชาชาติ ในช่วงกิจกรรมครบรอบ 4 ปี การรัฐประหาร เมื่อวันที่ 21-22 พ.ค. 61 หรือคดี “UN62” เพื่อสั่งฟ้องคดีต่อศาล
 
สำหรับการยื่นฟ้อง อัยการได้ฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมดใน 5 ข้อหาหลัก ได้แก่
 
- ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง
- ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 216 ไม่เลิกมั่วสุม เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิก
- ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
- ข้อหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ได้แก่ กีดขวางทางเข้าออกสถานที่ราชการและสถานศึกษา ตามมาตรา 8 (1)(3), มีการชุมนุมระหว่างมีคำสั่งห้ามชุมนุมฯ ตามมาตรา 11, ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้ชุมนุม ตามมาตรา 16 (1)(4)(7)(9) และไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขและคำสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ ตามมาตรา 19
- ข้อหาตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 108 และ 114 เรื่องการเดินขบวนและวางสิ่งของกีดขวางการจราจร
 
อัยการยังได้บรรยายฟ้องถึงการชุมนุมเมื่อวันที่ 21-22 พ.ค. 61 ว่าเป็นการชุมนุมทางการเมืองซึ่งมีวัตถุประสงค์ปราศรัยแสดงความคิดเห็น ขับไล่และโจมตีการทำงานของรัฐบาลและคสช. เรียกร้องให้กองทัพเลิกสนับสนุนและเลิกปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาล เรียกร้องให้ทหารไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาเหนือตนที่ชอบด้วยกฎหมาย และให้ทหารออกมายืนเคียงข้างกับผู้ชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาลและคสช. ซึ่งเป็นการยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนและข้าราชการทหารเกิดความกระด้างกระเดื่อง
 
อัยการได้บรรยายฟ้องโดยสรุปถึงเหตุการณ์ชุมนุมพร้อมระบุว่าจำเลยทั้ง 38 ไม่ได้รับอนุญาตให้ชุมนุมทางการเมืองจากหัวหน้าคสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย มีการเคลื่อนย้ายการชุมนุมก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะอันเป็นที่ชุมนุม และทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อน กีดขวางทางเข้าออกสถานที่ทำการพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ และสถานศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กีดขวางการจราจาร และได้บังอาจร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยร่วมกันใช้รถยนต์ขับขี่เข้าชนแนวแผงเหล็ก ร่วมกันใช้มือยื้อยุดฉุดกระชากและผลักแนวแผงเหล็กได้รับความเสียหาย เจ้าพนักงานผู้ดูแลการชุมนุมสาธารณะได้รับบาดเจ็บจำนวนหลายนาย และเมื่อเจ้าพนักงานผู้ดูแลการชุมนุมสาธารณะได้ออกคำสั่งให้เลิก จำเลยทั้ง 38 คนไม่ยอมเลิกการชุมนุม อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย
 
ศาลแขวงดุสิตได้รับฟ้องคดีนี้ไว้ จำเลยทั้งหมดจึงได้ถูกนำตัวเข้าไปยังห้องขังใต้ถุนศาล เพื่อรอการพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราว ก่อนที่เวลาประมาณ 12.25 น. ศาลแขวงดุสิตจะอนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลยทั้ง 38 คน โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ประกัน เนื่องจากจำเลยทั้งหมดมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนี ศาลแขวงดุสิตได้กำหนดวันนัดพร้อมคดีต่อไปในวันที่ 20 ส.ค 25.61 เวลา 9.00 น.
 
สำหรับคดีนี้มี พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ คณะทำงานด้านกฎหมายของ คสช. เป็นผู้ได้รับมอบอำนาจจาก คสช. เข้าแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวน 41 ราย และผู้ที่ถูกออกหมายเรียกได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่สน.นางเลิ้ง เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 61
 
ก่อนหน้านี้ พนักงานสอบสวนได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีในส่วนของนายชเนศ ชาญโลหะ คนเสื้อแดงในจังหวัดระยองและเป็นหนึ่งในผู้ต้องหา ซึ่งให้การตั้งแต่ต้นว่าไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทั้งสองวันดังกล่าวแต่อย่างใด แต่กลับถูกแจ้งความดำเนินคดี
 
ส่วนผู้ถูกออกหมายเรียกอีก 1 ราย ได้แก่ น.ส.อาอิซะห์ เสาะหมาน ไม่ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาพร้อมกันกับผู้ถูกออกหมายเรียกคนอื่นๆ จนถึงปัจจุบัน ทำให้ต่อมาพนักงานสอบสวนได้มีการขออำนาจศาลในการออกหมายจับแล้ว
 
หากนับตั้งแต่วันแจ้งข้อกล่าวหาจนถึงการสั่งฟ้องของอัยการในวันนี้เป็นเวลา 1 เดือนพอดี โดยที่อัยการเพิ่งได้รับสำนวนจากพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ที่ผ่านมา
 
ทั้งนี้ จำเลยหนึ่งรายในคดีนี้ คือนางสาวนีรนุช เนียมทรัพย์ ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน แม้จะให้การยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้ชุมนุมตามที่ถูกกล่าวหา แต่ไปปฏิบัติหน้าที่เก็บข้อมูลและสังเกตการณ์การชุมนุมในฐานะเจ้าหน้าที่ของศูนย์ทนายฯ โดยในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ผู้ต้องหาได้มีการแขวนบัตรและสวมเสื้อเจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายฯ เพื่อแสดงตัวตามปกติของการปฏิบัติงานแล้ว แต่ก็ยังมีการสั่งฟ้องจำเลยรายนี้ในที่สุด
 
แก้ไขเนื้อหาเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2561 เวลา 18.00 น.

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ชินวัฒน์'ปราม ส.ส.เพื่อไทยย้ายพรรค หากไปอยู่กับซีกเผด็จการอาจเป็น 'แกะดำ'

$
0
0
'ชินวัฒน์ หาบุญพาด'อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง ระบุหาก ส.ส.เพื่อไทยและนักประชาธิปไตยย้ายไปอยู่ซีกเผด็จการ ไม่นึกถึงวันที่เคยขึ้นเวทีพูดเรื่องประชาธิปไตยกับประชาชนไว้บ้างหรือ เท่ากับโกหกคนทั้งประเทศ แน่ใจหรือว่าจะได้เป็น ส.ส. จะได้ทำงาน ไปอยู่ตรงนั้นก็เป็นแกะดำอีก 

 
นายชินวัฒน์ หาบุญพาด อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง
 
7 ก.ค. 2561 เว็บไซต์แนวหน้ารายงานว่านายชินวัฒน์ หาบุญพาด อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กรณีออกมาโจมตีอดีต ส.ส. และนักการเมืองพรรคเพื่อไทยที่ย้ายพรรคไปร่วมงานกับขั้วตรงข้าม โดยถึงขั้นเปรียบเปรยเป็นโสเภณีย้ายซ่อง (อ่านรายละเอียดข่าว : กระหรี่ย้ายซ่อง! แกนนำเสื้อแดงด่าแหลก อดีต ส.ส.เพื่อไทยย้ายพรรค)ว่าที่พูดอย่างนั้นก็เพื่อจะบอกว่า คนที่ย้ายออกบางคน โดยเฉพาะคนที่เคยร่วมเวทีเสื้อแดงแล้วย้ายออกไป เป็นเหมือนพวกยาหมดอายุแล้ว คนพวกนี้จะไปอยู่ซีกเสื้อเหลืองเขาก็ไม่เอา เลยต้องมาอยู่ตรงนี้ บางคนเคยต่อสู้กับประชาชนมา เรียกร้องประชาธิปไตย หากไปอยู่พรรคซีกประชาธิปไตยจะไม่ว่าเลยแต่ไปอยู่กับซีกเผด็จการอย่างนี้ไม่นึกถึงวันที่เคยขึ้นเวทีพูดเรื่องประชาธิปไตย บอกเผด็จการไม่ดี ที่เคยพูดไว้กับประชาชนบ้างหรือ การทำอย่างนี้เท่ากับโกหกคนทั้งประเทศใช่หรือไม่ แล้วแน่ใจหรือว่า ไปอยู่ตรงนั้นแล้วจะได้เป็น ส.ส. จะได้ทำงาน เพราะภาพคุณมีความเป็นเสื้อแดงอยู่ไปอยู่ตรงนั้นก็เป็นแกะดำอีก 
 
“ที่ผมเปรียบเทียบพวกย้ายพรรคเป็นเหมือนโสเภณีนั้น ไม่ได้เป็นการดูถูกหรือเหยียดหยามผู้หญิงที่ทำอาชีพนี้ แต่เพื่อต้องการทำให้มองเห็นแบบชี้ชัดว่า ไม่ใช่ว่าซ่องไหนดีกว่าหรือได้ตังค์มากกว่า ได้ประโยชน์มากกว่าเลยต้องถีบออกจากที่เดิม ที่ผ่านมาก็เห็นแล้ว การบริหารเป็นอย่างไร เศรษฐกิจก็ไม่ดี บ้านเมืองก็วุ่นวายแล้วยังไปอยู่กับกลุ่มนี้ แล้วประเทศ ประชาชนจะเป็นอย่างไร อย่างนี้เท่ากับทำลายนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยทั้งหมดหรือไม่ คนเลยยิ่งด่าว่านักการเมืองเข้ามาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์”
 
นายชินวัฒน์ กล่าวต่อว่า สำหรับแกนนำกลุ่มสามมิตร ต้องดูว่ามาเล่นการเมืองหวังเรื่องอะไร ในอดีตเคยมีตำแหน่งเป็นอดีตเลขาธิการพรรค เป็นเพราะประชาชนศรัทธาในความเป็นพรรค ไม่ใช่ตัวคุณ ดังนั้นอย่าทะนงตัวว่าไปอยู่พรรคไหนแล้วจะได้เป็นรัฐบาล
 
เมื่อถามว่า ส่วนตัวถูกทาบทามให้ไปร่วมงานพรรคการเมืองอื่นบ้างหรือไม่ นายชินวัฒน์ กล่าวว่า มี แต่ไม่ใช่พรรคทหาร แต่เป็นพรรคที่พรรคพวกแยกออกไปตั้งพรรคเอง แต่ก็ได้บอกว่า ถึงเป็นนักการเมืองคนจน ก็ไม่ได้ต้องการตำแหน่ง ขออยู่กับพรรคที่ยังยืนในระบอบประชาธิปไตยต่อไป พรรคไหนที่ตั้งขึ้นแล้วสนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตย ยินดีกับทุกพรรค แต่ถ้าไปอิงกับทหาร รัฐบาลนี้หรือไปสนับสนุนบิ๊กไหนก็ตาม หากเป็นเพื่อนกันก็ต้องขอตัดขาดจากความเป็นเพื่อนกัน
 
นายชินวัฒน์ ยังกล่าวถึงกรณีการโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ต้องไปดูว่าทำไม เป็นเพราะไม่ถูกใจแล้วถึงย้ายใช่หรือไม่ บ้านเมืองเรา คนมีอำนาจถ้ามีอำนาจแล้วใช้อย่างเป็นธรรม ยุติธรรม คงไม่ว่า ไม่ใช่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ มันเลยเกิดความแตกแยก เมื่อก่อนเป็นเสื้อสี วันนี้มีสีรัฐบาลอีก ไปเป็นศัตรูคนอีกซีกเท่ากับก่อตัวเป็นอีกกลุ่มขึ้นมาอีก บ้านเมืองจะสงบได้อย่างไร แล้วจะมาอยู่ต่ออีก5 ปี 10 ปี พวกที่ไปสนับสนุน ไม่ได้มองตรงนี้เลยหรือ
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เผยยอดเสียชีวิตเหตุเรือล่มภูเก็ตล่าสุดรวม 41 คน

$
0
0
เจ้าหน้าที่อาจต้องขยายพื้นที่ค้นหาผู้รอดชีวิตและผู้สูญหายจากเหตุเรือล่มที่ จ.ภูเก็ต ล่าสุดช่วงบ่ายของวันที่ 7 ก.ค. พบร่างผู้เสียชีวิตแล้ว 41 ราย พิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลแล้ว 17 ราย

 
 
7 ก.ค. 2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่านายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการ จ.ภูเก็ต เปิดเผยว่าขณะนี้ (เวลาประมาณ 15.00 น. ของวันที่ 7 ก.ค.) ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุเรือล่มที่ จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2561 มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 41 คน และยังสูญหาย 15 คน ยืนยันปฏิบัติการในวันนี้จะยังไม่ยุติลง และจะพยายามหาผู้สูญหายให้ครบในวันนี้ (7 ก.ค.) และเจ้าหน้าที่อาจต้องขยายพื้นที่ค้นหาผู้รอดชีวิตและผู้สูญหาย โดยจะเน้นที่ซากเรือฟีนิกซ์ไดวิ่งบริเวณห้องโถงและห้องเครื่อง นอกจากนี้ผู้ว่าราชการ จ.ภูเก็ต ยังระบุว่าพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลแล้ว 17 ราย ส่วนอุปสรรคสำคัญในการค้นหาคือความลึกถึง 40 เมตร
 
สธ.ตั้ง รพ.วชิระภูเก็ตเป็น One stop service เหตุเรือล่ม
 
ก่อนหน้านี้ นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์หลังประชุมร่วมกับรองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ตำรวจ ทหาร เจ้าของบริษัทเรือ ว่า กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข โรงพยาบาล (รพ.) วชิระภูเก็ต บูรณาการการทำงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยเรือล่ม ภายใต้การสั่งการของผู้ว่าราชการจังหวัด  ขณะนี้อยู่ระหว่างการค้นหานักท่องเที่ยวที่สูญหาย
 
นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานดูแลสำหรับผู้ประสบเหตุเรือล่มทั้งหมด อาทิ การติดตามผู้บาดเจ็บ ผู้สูญหาย การเยียวยาผู้ประสบภัย การประสานส่งกลับ โดยได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน จิตอาสา สมาคมนักธุรกิจยุคใหม่ไทย-จีน ช่วยเป็นล่าม รวมทั้งจัดทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (MCATT) ประกอบด้วย จิตแพทย์ นักจิตวิทยา พยาบาลจิตเวช ดูแลด้านสุขภาพจิตร่วมกับจิตอาสาและล่าม สำหรับญาติและผู้ร่วมทริปเดินทาง ระหว่างรอการค้นหาผู้ประสบภัยและรอการพิสูจน์อัตลักษณ์ผู้เสียชีวิต 
 
ส่วนผู้บาดเจ็บที่เข้ารักษาเหลือนอนพักรักษา 13 คนใน 2 โรงพยาบาล คือ รพ.องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต 10 คน และรพ.วชิระภูเก็ต 3 คน ทุกคนอาการปลอดภัยอยู่ระหว่างฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจ 
 
"รมว.สาธารณสุข มีความห่วงใยมอบให้ผมมาดูแล เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอุบัติเหตุที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ซึ่งเราพร้อมจะสนับสนุนดูแลเต็มที่ในทุกเรื่องร่วมกับหน่วยงานอื่นๆทั้งตำรวจ ทหาร ท้องถิ่น เอกชน อาสาสมัคร และจิตอาสา"ปลัดสธ. กล่าว
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย [1][2][3]
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สรุปปฏิบัติการกู้ภัยถ้ำหลวงวันที่ 14 เร่งหาโพรงส่งอากาศ-ระบายน้ำ

$
0
0
สรุปปฏิบัติการกู้ภัยถ้ำหลวงวันที่ 14 ผบ.ถ้ำหลวงระบุเร่งทำ 2 ภารกิจ "หาโพรงส่งอากาศ-ระบายน้ำ"ลำเลียงท่ออากาศไปยังจุดพบเข้าสู่บริเวณที่พบผู้ประสบภัย (เนินนมสาว) ปัจจุบันถึงแค่จุดโถง 3 ด้านบนสำรวจโพรงใหม่อีก 2 โพรง ที่ทหารลาดตระเวนผ่านและได้ยินเครื่องเสียงจักรกลทำงานด้านล่าง คาดว่าจะเป็นจุดที่อยู่ใกล้กับหาดพัทยา

 
 
7 ก.ค. 2561 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่านายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ฐานะผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย แถลงย้ำถึงภารกิจที่ต้องทำต่อไปหลังจากการค้นหาเยาวชนทั้ง 13 คนเจอแล้ว คือ การกู้ภัย และส่งกลับ ซึ่งการกู้ภัยนั้นมีควมยากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับการภารกิจค้นหา ทั้งนี้ยอมรับว่าการปฏิบัตงานในระยะดังกล่าวเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุด เพราะไม่เคยมีเหตุการณ์มาก่อนในโลก ส่วนที่หลายฝ่ายสอบถามว่าการทำงานที่ล่าช้า อาจทำให้เยาวชนทั้ง 13 คนเป็นอันตรายนั้น ตนขอชี้แจงว่าปัจจุบันได้ใช้เทคโนโลยี และความสามารถเฉพาะตัวของนักดำน้ำเข้าปฏิบัติหน้าที่และทำงานอย่างหนัก ดังนั้นผู้ที่ไม่อยู่หน้างานอาจไม่รู้ถึงความยากของภารกิจนี้
 
นายณรงค์ศักดิ์ แถลงด้วยว่าสำหรับภารกิจหลังจากนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การกู้ภัยเพื่อนำตัวเยาวชนออกมาจากถ้ำ และ การหาโพรง เพื่อนำอากาศและอาหารลงไปให้กับคนที่ติดในถ้ำ อย่างไรฏ็ตามการหาโพรงรวมถึงการเจาะถ้ำนั้นยังไม่มีจุดใดที่ตรงกับพื้นที่ที่ทีมเยาวชนหมู่ป่าอะคาเดมี่อยู่ เพราะพิกัดไม่ชัดเจน ขณะที่การระบายน้ำภายในถ้ำอยู่ในระดับที่น่าพอใจ
 
"สิ่งที่ห่วงมากที่สุด คือ ปริมาณออกซิเจนที่อยู่ในถ้ำ เพราะหากปริมาณเหลือน้อยกว่า 12 เปอร์เซ็นต์อาจทำให้คนที่อยู่ภายในมีอาการมึน เบลอ หรือหมดสติได้ เพราะจะมีปัจจัยอื่นรวมด้วย ทั้งปริมาณคอร์บอนไดออกไซด์ เพราะหากออกซิเจนมีน้อยปอดจะไม่สามารถเปลี่ยนออกซิเจอกับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ทำให้เกิดพิษในร่างกาย ดังนั้นสิ่งที่ต้องเร่งทำคือ เพิ่มอากาศภายในถ้ำ และจากการติดตามข้อมูลพบว่าพื้นที่โถง 3 มีปริมาณออกซิเจนเหลือน้อยเช่นกัน ดังนั้นเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับเจ้าหน้าที่ จึงนำถอนกำลังออกมาบางส่วนและเหลือไว้เฉพาะคนที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานเท่านั้น"นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว
 
นายณรงค์ศักดิ์ แถลงด้วยว่าสำหรบแผนกู้ภัยนั้นได้วางแผนและทดสอบเพื่อให้ปลอดภัยมากที่สุด ซึ่งแต่ละแผนจะมีองค์ประกอบและปัจจัยพิจารณาที่สำคัญ อาทิ นำตัวเยาวชนออกทางหน้าถ้ำ แต่ปริมาณน้ำขณะนี้มีจำนวนมาก หากจะรอให้ระดับน้ำลดจนเข้า-ออกปลอดภัยนั้น ต้องรอไปจนถึงเดือนธันวาคมหรือเดือนมกราคม ซึ่งตามแนวทางช่วยเหลือแผนที่จะรอนั้นเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นการตัดสินใจช่วยเหลือ ยอมรับว่าทุกทางมีความเสี่ยง ดังนั้นแผนช่วยเหลืออาจไม่สมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมด้วย เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียขึ้นอีก
 
ผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย กล่าวถึงสภาพของ 13 เยาวชนที่ติดในถ้ำหลวง ด้วยว่า มีสภาพร่างกายที่ดี แต่ยังมีอาการอ่อนเพลีย และอาการบาดเจ็บเล็กน้อย ดังนั้นในอีก 1-2 วันหากสภาพร่างกายของเยาวชนดีขึ้น สภาพอากาศดี และสถานการณ์น้ำดีที่สุด ต้องหารือถึงการปฏิบัติการร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดต่อการนำตัวเยาวชนกลับบ้านอย่างปลอดภัย
 
"ผมขอความกรุณาสื่อหลายๆ ท่านหรือเกรียนคีย์บอร์ดที่อาจจะมีประสบการณ์จากการอ่านตำราอย่างเดียวไม่เคยออกมาเจอสถานการ์จริงหน้างาน เพราะหน้างานคนที่อยู่ตรงนี้ทราบสถานการณ์ดี ไม่เหมือนคนที่เล่นหมากรุกคนที่เล่นดูไม่ออก แต่คนดูคนนอกรู้ว่าคนไหนจะชนะ แต่คนเล่นเล่นทีไรก็แพ้ ดังนั้นเราจึงได้มองหลายๆมุม โดยหารือกับผู้ที่มีความรู้ นักวิชาการ ที่มีประสบการณ์ในด้านต่างๆ เพื่อให้สิ่งที่ออกมาดีที่สุด ปลอดภัยที่สุด ในสถานการณ์ของพวกเรา และเอาชนะสงครามที่เหลือ คือ การสู้กับน้ำและรักษาน้องๆ ให้ได้"ผู้บัญชาการศูนย์ฯ กล่าว
 
ลำเลียงท่ออากาศไปยังจุดพบเข้าสู่บริเวณที่พบผู้ประสบภัย (เนินนมสาว) ปัจจุบันได้ลำเลียงถึงจุดโถง 3
 
เพจกองทัพเรือ Royal Thai Navyรายงานว่าเมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. การปฏิบัติของชุดช่วยเหลือ (หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ (นสร.กร.)/NAVY SEAL) เพื่อช่วยเยาวชนทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี่ 13 คน ที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ปฏิบัติการของ NAVY SEAL ณ วันที่ 14 การปฏิบัติ จัดชุดช่วยเหลือฯ (NAVY SEAL) จำนวน 3 นาย, พ.ท.ภาคย์ โลหารชุน ฝึกทักษะการดำน้ำ ทำการตรวจประเมินสุขภาพและฟื้นฟูให้กับผู้ประสบภัย โดยจัดชุดช่วยเหลือฯ (NAVY SEAL) ส่วนใหญ่ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารบก, นักดำน้ำจากต่างประเทศ (อังกฤษ, สหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย, จีน) ,นักดำน้ำอาสาสมัครกู้ภัย และเจ้าหน้าที่ กฝผ. ดำเนินการลำเลียงอาหาร , เกลือแร่ , น้ำดื่ม , ยา และขวดอากาศ เข้าสู่บริเวณที่พบผู้ประสบภัย (เนินนมสาว) ดำเนินการติดตั้งระบบสูบน้ำบริเวณปากทางเข้าถ้ำ และโถง 2 ลำเลียงขวดอากาศเพิ่มเติมเพื่อให้ชุดช่วยเหลือฯ (NAVY SEAL) สามารถปฏิบัติงานได้เพียงพอ พร้อมทั้งสำรวจหาโพรงที่อาจจะสามารถเชื่อมต่อกับเนินนมสาวหรือบริเวณใกล้เคียง
 
ทั้งนี้พบว่าระดับน้ำจุดเริ่มดำ 50 ซม. คงที่จากที่ผ่านมา หน้าถ้ำ 24 ซม. คงที่จากที่ผ่านมา ด้านสภาพอากาศไม่มีฝนตก ส่วนผู้ประสบภัยที่อยู่ในถ้ำ 13 คน ปลอดภัย ความตั้งใจในการปฏิบัติต่อไป ดำเนินการที่ได้ปฏิบัติมา รวมถึงการดำเนินการลำเลียงท่ออากาศไปยังจุดพบเข้าสู่บริเวณที่พบผู้ประสบภัย (เนินนมสาว) ปัจจุบันได้ลำเลียงถึงจุดโถง 3
 
คณะทำงานจะสำรวจโพรงใหม่อีก 2 โพรง ที่ทหารลาดตระเวนผ่านและได้ยินเครื่องเสียงจักรกลทำงานด้านล่าง คาดว่าจะเป็นจุดที่อยู่ใกล้กับพัทยาบีช
 
สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์รายงานเมื่อเวลา 16.36 น. ว่านายกมลไชย คชชา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 เปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่จากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชจำนวน 180 นาย พร้อมตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ได้เร่งออกสำรวจโพรงถ้ำที่คาดว่าอยู่ใกล้เนินพัทยาบีช ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนเพิ่มเติม หลังจากเมื่อวานนี้ (6 ก.ค.) ได้ร่วมกับทีมเก็บรังนกนางแอ่น บนเกาะลิบง จ.ตรัง ออกสำรวจโพรงถ้ำไป 4 จุด แล้วพบว่าไม่สามารถไปต่อได้ทั้งหมด ซึ่งความสูงของถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร วันนี้จะสำรวจโพรงใหม่อีก 2 โพรง ที่ทหารลาดตระเวนผ่านและได้ยินเครื่องเสียงจักรกลทำงานด้านล่าง คาดว่าจะเป็นจุดที่อยู่ใกล้กับพัทยาบีชเลยจากโถงที่ 3 มาแล้ว และเลยบริเวณที่หน่วยซีลดำน้ำผ่านเข้าไป นอกจากนี้ยังได้แบ่งกำลังไปสำรวจเส้นทางน้ำบริเวณกิ่วคอนาง และลำห้วย 3 เส้น คือลำห้วยกิ่วคอนาง ห้วยน้ำดั้น และห้วยฮี้ เพื่อหาทางเบี่ยงเบนลำน้ำไม่ให้น้ำไหลลงไปในถ้ำและเพิ่มระดับน้ำขึ้นอีก นอกจากนั้นจะลาดตระเวนสำรวจโพรงถ้ำบริเวณผาฮี้ที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร เป็นพื้นที่ราบที่อยู่บนเขา ซึ่งการเดินทางยากลำบากต้องสำรวจทั้งวันทั้งคืน 
 
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คกก.ชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูฯ ชุมชนลุ่มน้ำมูล ระบุเรื่องพรรคการเมืองเป็นสิทธิของชาวบ้าน

$
0
0
คณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูล (ชชช.) ออกแถลงการณ์รับรองคณะทำงานจำนวน 18 คน ชี้ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านปากมูน เกิดขึ้นจากความร่วมมือของชาวบ้านไม่มีใครมีสิทธิ์ผูกขาดเป็นเจ้าของ หรือกีดกันไม่ให้ชาวบ้านเข้ามาใช้พื้นที่ ระบุเคารพมติที่ประชุมพ่อครัวใหญ่ของสมัชชาคนจนที่ไม่มีการชี้นำทางการเมือง ยืนยันว่าเรื่องพรรคการเมืองเป็นสิทธิของชาวบ้าน 

 
 
7 ก.ค. 2561 คณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูล (ชชช.) ได้ออกแถลงการณ์โดยระบุว่าคณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูล (ชชช.) ได้จัดประชุมใหญ่ ตามกำหนดการที่ได้นัดหมายในวันที่ 2 ก.ค. 2561 ณ ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านปากมูน โดยมีสมาชิกเข้าร่วมประชุมจำนวน 1,907 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาและฟื้นฟูศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านปากมูน และติดตามสถานการณ์การแก้ปัญหาตามข้อเรียกร้องของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล ซึ่งได้ประชุมเสร็จสิ้นไปแล้วนั้น จึงขอชี้แจงสรุปผลการประชุมและรายงานเหตุการณ์ดังต่อไปนี้
 
1. ที่ประชุมคณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูล (ชชช.)ได้มีมติที่ประชุมรับรองคณะทำงานจำนวน 18 คน ให้ทำหน้าที่ประสานงานกับแกนนำตัวแทนชาวบ้านอีกบ้านละ 1 คน (43 หมู่บ้าน)เพื่อวางแผนพัฒนาและฟื้นฟูศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านปากมูน เนื่องจากที่ผ่านมาขาดการดูแลบำรุงรักษาจนอาคารศูนย์ฯและสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ มีสภาพทรุดโทรมผุพัง 
 
2. ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านปากมูน เกิดขึ้นจากความร่วมมือของชาวบ้านโดยได้รับการสนับสนุน งบประมาณจากกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม (SIF) เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล และใช้เป็นสถานที่ทำงานขับเคลื่อนกิจกรรมทางสังคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ โดยชาวบ้านทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน ไม่มีใครมีสิทธิ์ผูกขาดเป็นเจ้าของ หรือกีดกันไม่ให้ชาวบ้านเข้ามาใช้พื้นที่นี้ได้ 
 
3. ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านปากมูน บริหารจัดการโดยคณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูล (ชชช.) มีสมาชิกผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล จำนวน 3,000 กว่าครอบครัว จาก 3 อำเภอ 56 หมู่บ้าน และเป็นคนละส่วนกันกับสหกรณ์การเกษตรปากมูล จำกัด ซึ่งมีปัญหาคาราคาซังและไม่ได้ดำเนินงานมาหลายปีแล้ว ซึ่งปัจจุบันสหกรณ์การเกษตรปากมูล จำกัด มีสมาชิกคงเหลืออยู่ประมาณ 300 คน 
 
4. นายกฤษกร ศิลารักษ์ (หรือ นายไพจิตร ศิลารักษ์ หรือ ป้าย ) ที่อ้างตัวเองเป็นผู้จัดการสหกรณ์ฯ เป็นผู้ดูแลสถานที่และต้องขออนุญาตใช้ก่อนนั้น ถือเป็นเรื่องเข้าใจผิด และสำคัญตัวเองผิดคิดเอาเอง เพราะว่านายกฤษกร ศิลารักษ์ ไม่มีสิทธิ์อะไรทั้งสิ้น ในการใช้พื้นที่ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านปากมูน หากจะอ้างตัวว่าเป็นพนักงานสหกรณ์ฯ ก็ต้องดูว่าสมาชิกสหกรณ์ฯ คิดเห็นอย่างไรต่อเรื่องนี้ เพราะยังไม่ได้จัดให้มีการประชุมใหญ่ชี้แจงต่อสมาชิก ในการแต่งตั้งตำแหน่งผู้จัดการสหกรณ์อย่างเป็นทางการ เพียงหารือกับแกนนำกรรมการสหกรณ์ฯไม่กี่คน ก็ตั้งตนขึ้นมาควบคุมการดำเนินงานแนวทางกิจกรรมของสหกรณ์ฯ โดยที่สภาพที่แท้จริงของสหกรณ์การเกษตรปากมูล จำกัด ไม่ได้ดำเนินกิจการใดๆ มาเป็นเวลานานแล้ว จึงมีสมาชิกร้องเรียนไปยังสหกรณ์จังหวัด ให้ออกมาตรวจสอบการดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรปากมูล จำกัด 
 
5. สืบเนื่องจากการกระทำของนายกฤษกร ศิลารักษ์ ที่มีพฤติกรรมอวดอ้างตัวเองเป็นที่ปรึกษาสมัชชาคนจนฯพยายามครอบงำความคิดแกนนำชาวบ้านและประพฤติตนกล่าวอ้างอยู่เหนือองค์กรชาวบ้านอยู่ตลอดเวลา นำพาชาวบ้านไปสู่ความขัดแย้งแตกแยก สร้างความร้าวฉานภายใน จนชาวบ้านอึดอัดใจและห่วงกังวลว่าปัญหาจะบานปลายจนยากจะเยียวยา คณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูล (ชชช.) จึงมีข้อสรุปให้ นายกฤษกร ศิลารักษ์ ยุติบทบาทการทำงานที่ใดๆเกี่ยวข้องกับชาวบ้านปากมูน และชวนเชิญให้กลับไปยังที่ที่เคยจากมา และขอยืนยันว่านายกฤษกร ศิลารักษ์ ไม่ได้เป็นที่ปรึกษาของสมัชชาคนจน ที่เป็นองค์กรของชาวบ้านตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด 
 
6. ช่วงเวลา 8.00 น.ชาวบ้านจำนวน 1,907 คน มีความจำเป็นต้อง สะเดาะแม่กุญแจเพื่อเปิดประตูรั้วเข้าไปใช้อาคารศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านปากมูน เพื่อใช้เป็นสถานที่ประชุมใหญ่สมาชิก เพื่อติดตามแนวทางในการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเขื่อนปากมูล การที่นายกฤษกร ศิลารักษ์  โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊คส่วนตัวและแชร์ต่อในที่สาธารณะกล่าวให้ร้าย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ว่าเสมือนเป็นผู้กระทำการทุบกุญแจเข้าไปนั้นถือว่าเป็นการตั้งใจของนายกฤษกร ศิลารักษ์ ที่ต้องการทำลายชื่อเสียงและเบี่ยงเบนประเด็นให้กลายไปเป็นเรื่องการเมืองตามสถานการณ์นั้น ถือเป็นการกระทำที่น่าละอายอย่างยิ่งและหมิ่นต่อการกระทำผิดกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่กล่าวละเมิดต่อผู้อื่นพร้อมเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนไม่ถูกต้อง หากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจจะฟ้องร้องก็สามารถกระทำได้ ทั้งนี้คงเป็นเรื่องส่วนตัว
 
7. นาย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจและครอบครัว เดินทางมาถึงศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านปากมูน เวลา 9.20 น. เพื่อมาแวะเยี่ยมเยียนกลุ่มชาวบ้านปากมูนที่กำลังประชุมกันตามปกติ ในฐานะลูกหลานที่เคยลงพื้นที่และร่วมต่อสู้กับชาวบ้านปากมูนตั้งแต่สมัยอดีตเป็นนักศึกษาและทำงาน สนนท. ชาวบ้านก็รักเหมือนลูกหลานคนหนึ่งเหมือนกับนักศึกษาคนรุ่นใหม่อีกหลายๆคน พอรู้ข่าวการมาเยี่ยมเยียนของเอก ธนาธร ชาวบ้านจึงตระเตรียมผูกข้อมือข้อบายศรีสู่ขวัญถือเป็นพิธีกรรมตามธรรมเนียมของคนอีสานที่แสดงความรักต้อนรับแขกผู้มาเยือน และพอทราบว่า เอก ธนาธร จะลงมือทำงานด้านพรรคการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย ชาวบ้านก็แสดงความยินดีด้วยและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน
 
8. คณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูล (ชชช.) เคารพมติที่ประชุมพ่อครัวใหญ่ของสมัชชาคนจน ที่ไม่มีการชี้นำทางการเมือง ยืนยันว่าเรื่องพรรคการเมืองเป็นสิทธิของชาวบ้าน และมีจุดยืนชัดเจนว่าพวกเราไม่ฝักใฝ่เผด็จการและสนับสนุนระบอบการปกครองประชาธิปไตยอย่างเต็มที่
 
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กระทรวงการต่างประเทศตอบโต้ TIME ชี้คนไทยไม่เรียก 'สฤษดิ์น้อย'ต้องเรียก 'ลุงตู่'

$
0
0

อธิบดีกรมสารนิเทศชี้แจงนิตยสารไทม์ฉบับ 'พล.อ.ประยุทธ์'ว่าไทยไม่ได้ถอยหลังไปสู่ 'เผด็จการถาวร'แต่เรียกว่า 'ประชาธิปไตยยั่งยืน'บวกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พร้อมปฏิเสธสัมพันธ์แนบแน่นไทย-จีน เพราะไทยคบทุกชาติรวมทั้งสหรัฐ ที่สำคัญห้ามเรียก 'สฤษดิ์น้อย'ต้องเรียก 'ลุงตู่'สะท้อนบุคลิกภาพเปิดเผย-เข้าถึงได้

กรณีนิตยสารไทม์ ฉบับ Jul 2, 2018 Vol 192 ที่ตีพิมพ์บทความ "Thailand’s Leader Promised to Restore Democracy. Instead He’s Tightening His Grip"ของ Charlie Campbell โดยมีภาพปกเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี และต่อมาเอกชนในประเทศไทยที่เป็นผู้นำเข้านิตยสารไทม์ระบุว่าจะไม่นำเข้านิตยสารฉบับดังกล่าวมาวางจำหน่ายเพราะ "มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม"ตามรายงานของวอยซ์ออนไลน์นั้น

แฟ้มภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะออกเดินทางโดยรถไฟขบวนพิเศษ เพื่อตรวจโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ระหว่างสถานีชุมแสง และสถานีนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ เมื่อ 11 มิถุนายน 2561 (ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย)

ปกนิตยสารไทม์ฉบับ Jul 2, 2018 Vol 192

ต่อมากระทรวงการต่างประเทศโดย น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้ทำหนังสือเปิดผนึกลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 ชี้แจงนิตยสารไทม์ เกี่ยวกับบทความที่ไทม์ตีพิมพ์ในฉบับวันที่ 2 กรกฎาคม เรื่องผู้นำไทยสัญญาที่จะคืนประชาธิปไตยแต่กลับกระชับอำนาจ (Thailand's Leader Promised to Restore Democracy. Instead He's Tightening His Grip) ว่า "เป็นบทความที่น่าผิดหวังอย่างยิ่ง"

หนังสือเปิดผนึกดังกล่าวระบุต่อไปว่า "บทความดังกล่าวมีความไม่สมดุลและมีการบิดเบือนข้อมูล ทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดไปกับบทสรุปที่เป็นเท็จต่อเนื้อหาและวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บทความดังกล่าวเขียนขึ้นจากความคิดที่มีอคติเพื่อจะทำให้เป็นไปตามวาระที่สรุปไว้ก่อนแล้ว ผู้เขียนได้เลือกที่จะหยิบข้อมูลเพียงบางส่วนจากการสัมภาษณ์ เพื่อสนับสนุนความเห็นที่ต่อต้านนายกรัฐมนตรี ซึ่งแสดงให้เห็นผ่านการโควตคำพูดที่เป็นลบจากองค์กรพัฒนาเอกชนและกลุ่มการเมือง ซึ่งไม่สะท้อนความเห็นส่วนใหญ่ของคนในประเทศไทย"

ในขณะที่ผู้เขียนพยายามที่จะทำให้รัฐบาลไทยมีความด่างพร้อย ด้วยการระบุถึงจุดอ่อนมากมาย ข้าพเจ้าขอชี้ว่ารัฐบาลไทยเคารพเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่และเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นหลักการพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย บทวิเคราะห์ของผู้เขียนบทความระบุว่าประเทศไทยกำลัง 'ถอยหลังไปสู่การเป็นเผด็จการอย่างถาวร'เป็นการกล่าวหาที่เกินจริงอย่างเลวร้าย มองข้ามการดำเนินการของไทยเพื่อไปสู่การเป็นประเทศประชาธิปไตยยั่งยืนตามโรดแมปที่รัฐบาลได้ประกาศไว้

ในข้อเท็จจริง นับตั้งแต่รัฐบาลปัจจุบันเข้ามาบริหารประเทศ ตัวเลขสถิติต่างๆ แสดงให้เห็นว่าการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมทำให้เกิดผลขึ้นได้จริง และยังมีการแก้ไขปัญหาที่ฝังรากลึกและมีความยากลำบาก อาทิ การค้ามนุษย์ การทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม(ไอยูยู)  มากไปกว่านั้นรัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลแรกที่ประกาศเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ

รัฐบาลมีเป้าหมายส่งเสริมการเติบโตและพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่านยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ยุทธศาสตร์นี้ไม่ได้เป็นอย่างที่บทความนำเสนอว่าจะเป็นเครื่องมือเพื่อสืบทอดอำนาจ แต่จะเป็นการช่วยรัฐบาลให้มีแนวทางที่ชัดเจนสำหรับการวางแผนระยะยาวและเป็นมาตรการเพื่อให้การปฏิรูปบังเกิดผล

 

หนังสือชี้แจงนิตยสารไทม์ของอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ

ในจดหมายของอธิบดีกรมสารนิเทศ ยังระบุว่า ด้วยพื้นฐานที่เข้มแข็งของประเทศและวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนสำหรับอนาคต รัฐบาลได้ประกาศนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยคุณค่าและนวัตกรรม และอ้างว่าความพยายามเหล่านี้ได้รับการตอบรับจากคู่ค้าจากสหภาพยุโรป จะเห็นได้จากการเยือนที่ประสบความสำเร็จครั้งล่าสุดของนายกรัฐมนตรีที่สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส

อธิบดีกรมสารนิเทศกล่าวด้วยว่า นับตั้งแต่ 12 กันยายน ค.ศ. 2016 รัฐบาลได้เลิกใช้ศาลทหารไต่สวนคดีของพลเรือน ซึ่งก่อนหน้านี้อยู่ภายใต้เขตอำนาจของศาลทหาร ซึ่งยุทธศาสตร์ดังกล่าวที่บทความในนิตยสารไทมส์ระบุไว้ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับสถานการณ์ในปัจจุบันแล้ว

ในแง่ของความสัมพันธ์กับมิตรประเทศที่สำคัญ เรื่องนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ เลยที่ไปอ้างถึงกรณีโรงงานผลิตอาวุธร่วมทุนที่ จ.ขอนแก่น ว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่างจีนและประเทศไทย ที่เป็นการสูญเสียของสหรัฐอเมริกา ในข้อเท็จจริง ประเทศไทยไม่ได้ติดต่อกับจีนฝ่ายเดียว แต่มาตรการดูแลรักษานี้เป็นหนึ่งในโครงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ประเทศไทยได้เชิญจีน ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ มาเข้าร่วม นอกจากนี้ในปีนี้ประเทศไทยกำลังฉลองครบรอบ 200 ปีแห่งความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา แม้ว่าจีนจะเป็นประเทศคู่ค้าใหญ่ที่สุด แต่ไทยยังคงรักษาความสัมพันธ์อย่างสมดุลกับทุกประเทศ

"ข้อสุดท้ายแต่สำคัญไม่น้อย คำเรียก "สฤษดิ์น้อย" (Little Sarit) ที่อ้างถึงโดยผู้เขียนบทความ ไม่เป็นที่รับรู้อย่างแพร่หลายในสาธารณชนชาวไทย และเป็นเรื่องผิดประเด็น ทั้งบุคลิกภาพและบริบททางประวัติศาสตร์ของผู้นำทั้ง 2 คนนั้นต่างกัน ในข้อเท็จจริงคนไทยมักจะเรียกชื่อเล่นยอดนิยมของนายกรัฐมนตรีว่า "ลุงตู่" (Uncle Tu) ซึ่งสะท้อนถึงบุคลิกภาพที่เข้าถึงได้และมีความเปิดเผย เพราะคำว่า "ลุง"เป็นคำที่คนไทยใช้เรียกขานผู้ที่เป็นสมาชิกในครอบครัว"

"ข้าพเจ้าหวังว่าท่านจะตีพิมพ์จดหมายฉบับนี้ เพื่อชี้แจงผู้อ่านของท่านด้วยมุมมองต่อประเทศไทยที่ยุติธรรมและสมดุล และนอกจากนี้เพื่อรักษามาตรฐานความเป็นมืออาชีพด้านวารสารศาสตร์ที่นิตยสารไทม์พยายามรักษาเอาไว้"อธิบดีกรมสารนิเทศระบุ

หนังสือชี้แจงนิตยสารไทม์ของอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Toma Feminista การเคลื่อนไหวสตรีนิยมในหมู่นักศึกษาชิลี การสร้างพื้นที่ใหม่ท้าทายการครอบงำแบบเดิม

$
0
0

3 เดือนที่แล้วจนถึงตอนนี้กลุ่มนักเรียนนักศึกษาในหลายสถานศึกษาทั่วชิลีร่วมกันปฏิบัติการต่อต้านชั้นเรียนที่ถูกครอบงำทางความคิดจากระบอบปิตาธิปไตย ทั้งการยึดพื้นที่ การจัดหารืออภิปราย และการสร้างพื้นที่ให้ผู้หญิงได้พูดประเด็นความอยุติธรรมของตัวเอง เรื่องนี้อาจจะมาจากความไม่พอใจจากคำตัดสินกรณีอาจารย์ล่วงละเมิดทางเพศ แต่ก็มีผู้คนเห็นว่าน่าจะขยายผลไปสู่ประเด็นอื่นๆ ที่กระทบจากเรื่องเพศสภาพด้วย

 
8 ก.ค. 2561 ในชิลีมีกลุ่มนักเรียนนักศึกษาหญิงจากหลายสิบสถานศึกษาทั่วประเทศปฏิบัติการต่อต้านวัฒนธรรมกดขี่ข่มเหงแบบชายเป็นใหญ่ในชั้นเรียนของชิลี มีนักเรียนนักศึกษาเข้าร่วมหลายหมื่นคน พวกเธอเริ่มจากการทำการประท้วงยึดกุมพื้นที่ของมหาวิทยาลัยพร้อมป้ายผ้า "Toma Feminista"หรือ "การยึดกุมพื้นที่ของเฟมินิสต์"จากการประท้วงครั้งนั้นผ่านมาแล้ว 3 เดือน การเคลื่อนไหวก็ยังคงดำเนินต่อไป
 
สื่อ Toward Freedom ระบุว่าชิลีเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์การประท้วงของนักศึกษามาเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งมักจะเป็นการประท้วงต่อต้านการทำให้ระบบการศึกษาออกนอกระบบกลายเป็นของเอกชนซึ่งเป็นปัญหาที่ตกทอดมาจากสมัยเผด็จการทหาร ออกุสโต ปิโนเชต์ การประท้วงครั้งนี้ก็มีที่มาจากขบวนการในอดีตแต่มีเสาหลักเป็นประเด็นสตรีนิยม
 
การเคลื่อนไหวต่อเนื่องครั้งล่าสุดนี้เริ่มต้นที่การประท้วงยึดพื้นที่อาคารคณะปรัชญาและมนุษยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยออสตรัลในวัลดิเวียเมื่อวันที่ 17 เม.ย. ที่ผานมาเพื่อประท้วงการจัดการของคณะในกรณีที่ศาตราจารย์คนหนึ่งถูกพบว่ามีความผิดฐานล่วงละเมิดทางเพศ อีกสิบวันหลังจากนั้นก็มีการประท้วงตามมาที่คณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งชิลีในซานติเอโก จนกลายเป็นการจุดฉนวนให้เกิดการเคลื่อนไหวไปทั่วประเทศ
 
สิ่งที่เป็นฟางเส้นสุดท้ายสำหรับพวกเธอคือกรณีการล่วงละเมิดทางเพศที่ศาตราจารย์ คาร์ลอส คาร์โมนา อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญมีส่วนเกี่ยวข้อง ทางมหาวิทยาลัยใช้เวลามากถึง 8 เดือนในการดำเนินคดีและลงโทษแค่ให้คาร์โมนาพักงานเป็นเวลา 3 เดือน โทษฐาน "ขาดคุณธรรม"ซึ่งไม่ได้ระบุถึงปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ เรื่องนี้ทำให้เกิดการยึดพื้นที่ประท้วงจนกระทั่งลามไปทั่วสถานศึกษาอื่นๆ ของชิลี
 
มิลลาเรย์ ฮัวคิมิลลา โฆษกของกลุ่มยึดพื้นที่อธิบายว่าโดยส่วนหนึ่งแล้วพวกเขาต้องการเน้นให้เห็นถึงปัญหาเรื่องการพยายามใช้ "ยาแก้ปวดชั่วคราว"ดำรงระบบปิตาธิปไตย แต่ไม่ได้จัดการปัญหาจริงๆ พวกเขาต้องการให้มีการรับผิดชอบต่อความรุนแรงทางเพศผ่านทางกฎระเบียบของมหาวิทยาลัย จากที่ถึงแม้ว่าทางมหาวิทยาลัยจะมีหลักเกณฑ์เหล่านี้ แต่นักศึกษาก็มองว่ายังไม่ดีพอ พวกเขาต้องการให้สร้างระเบียบและหลักสูตรในแบบที่ไม่มีการเหยียดเพศ และมีความละเอียดอ่อนต่อเรื่องเพศสภาพและเพศวิถี
 
ทั้งนี้ ในการประท้วงแต่ละแห่งก็ยังมีประเด็นนำที่ให้ความสำคัญสูงสุดในแบบของตัวเองอยู่ มีจำนวนมากที่ให้ความสำคัญกับเรื่องพื้นที่สำหรับนักเรียนนักศึกษาได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายและทางจิตใจ สำหรับหลายแห่งข้อเรียกร้องหลักๆ คือการให้สถานศึกษายอมรับความแตกต่างหลากหลายของเพศสภาพและเพศวิถี บางแห่งก็มีประเด็นเรื่องขอให้นักเรียนนักศึกษาที่มีลูกระหว่างเรียนยังคงศึกษาต่อไปได้
 
นอกจากจะเป็นการต่อสู้เพื่อให้ผู้มีอำนาจในมหาวิทยาลัยรับผิดชอบต่อการกระทำผิดของตัวเองแล้ว การประท้วงยึดพื้นที่ในครั้งนี้ยังกลายเป็นพื้นที่สำหรับการสะท้อนความคิดของผู้เข้าร่วมและพื้นที่การมีส่วนร่วมทางประชาธิปไตย จากการที่พวกเขาต้องการมีส่วนร่วมในการร่างเอกสารร้องเรียนในกระบวนการที่เน้นความเป็นหมู่คณะและเป็นไปในแนวระนาบ นอกจากนี้ยังมีกระบวนการตัดสินใจผ่านการโหวตลงมติแบบประชาธิปไตยด้วย
 
ก้าวแรกของขบวนการนี้เริ่มจากการให้ผู้เข้าร่วมได้พูดถึงประสบการณ์การถูกเหยียดเพศมาก่อน รวมถึงสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับระบบวัฒนธรรมที่ทำให้เกิดการเหยียดเพศเช่นนี้ ในสถานศึกษาบางแห่งยังมีการจัดงานวันเกี่ยวกับสตรีนิยมที่มีตั้งแต่การฝึกซ้อมป้องกันตนเอง การเวิร์กช็อปการเย็บปักถักร้อยในเชิงแสดงออกต่อต้าน การเดี่ยวไมโครโฟนสตรีนิยม การอภิปรายกันเรื่องสังคมนิยมสตรีนิยม การจัดแข่งฟุตบอลในแบบที่ไม่มีวัฒนธรรมแบบชายเป็นใหญ่มาครอบงำ และบทเรียนเรื่องกายวิภาคอวัยวะเพศ
 
คาทาลินา ซานเชซ โฆษกของวิทยาลัยสังคมสงเคราะห์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยียูทีเอ็มที่เข้าร่วมโครงการนี้พูดถึงเรื่องที่การรวมกลุ่มปรึกษาหารือสตรีนิยมที่เธอเข้าร่วมทำให้เกิดสายสัมพันธ์แบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับครอบครัวเธอ ทำให้เธอรู้สึกตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นในครอบครัว คาทาลินายังเน้นย้ำถึงเรื่องที่พวกเธอมาจากแหล่งคนยากจนที่เป็นคนชายขอบของสังคมเธอพูดถึงว่ากลุ่มคนยากจนต้องเผชิญกับความรุนแรงที่มีพื้นฐานจากการเหยียดเพศอย่างไรบ้าง และวิจารณ์ว่าการเคลื่อนไหวบางส่วนยังคงละเลยเรื่องความได้เปรียบเสียเปรียบทางชนชั้นในหมู่ผู้หญิงด้วย สำหรับคาทาลินาแล้ว สตรีนิยมควรจะท้าทายทุนนิยมที่มีการกดขี่ทางเชื้อชาติและชนชั้นด้วย
 
ถึงแม้การประท้วงจะขยายตัวไปตามที่ต่างๆ ในมหาวิทยาลัย แต่ผู้ที่เชี่ยวชาญประเด็นเพศสภาพก็บอกว่าพวกเขาจะต้องขยายผลการเคลื่อนไหวต่อไปนอกมหาวิทยาลัยด้วย ลูนา โฟลเลกาตี นักประวัติศาสตร์ที่เน้นศึกษาเรื่องประเด็นเพศสภาพกล่าวว่าเธอเห็นด้วยที่ขบวนการสตรีนิยมในชิลีควรขยายผลออกไปให้มากกว่าเรื่องนโยบายการศึกษาแบบไม่มีการเหยียดเพศ โดยควรจะขยายไปสู่การท้าทายประเด็นสังคมอื่นๆ อย่างสุขภาวะ ที่อยู่อาศัย สวัสดิการ ซึ่งผู้หญิงอยู่ในสภาพสุ่มเสี่ยงมากกว่าในประเด็นเหล่านี้
 
การประท้วงของนักเรียนนักศึกษา ทำให้เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี เซบาสเตียน ปิเนรา ประกาศให้มี "วาระของผู้หญิง"ซึ่งจะเป็นการออกมาตรการสร้างความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงชายในหลายประเด็น เช่น เรื่องสุขภาวะ เรื่องการถูกล่วงละเมิด เรื่องการดูแลเด็ก แต่มาตรการของประธานาธิบดีก็จะส่งผลดีแค่กับผู้หญิงส่วนน้อยที่เป็นชนชั้นมีอันจะกินเท่านั้นแต่ไม่ได้ส่งผลดีกับผู้หญิงที่เป็นแรงงานและมีงานทำแบบไม่ประจำซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศเลย อีกทั้งฮัวคิมิลลายังวิจารณ์ว่าเป็นมาตรการที่ออกมาเพียงเพื่อให้ผู้หญิงยอมตามระบบตลาดเท่านั้น แต่ทางรัฐไม่ได้ยอมรับประเด็นของผู้หญิงเอง
 
ในขบวนการประท้วงของนักศึกษาชิลีในปัจจุบัน บ้างก็มีการยกเลิกการเคลื่อนไหวไปแล้ว แต่ก็มีบางส่วนที่เพิ่งเข้าร่วม ถึงแม้จะยังไม่รู้ว่าขบวนการเคลื่อนไหวจะพัฒนาไปในทิศทางใดต่อไป แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือขบวนการนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างมากในระดับไม่เคยมีมาก่อนและทำให้ผู้คนได้เห็นปัญหาความรุนแรงจากฐานเรื่องเพศสภาพ นอกจากนี้ยังถือได้ว่าประสบความสำเร็จในแง่ของการท้าทายบทบาททางเพศแบบที่ถูกครอบงำจากบรรทัดฐานแบบรักต่างเพศ (heteronormative) และที่สำคัญที่สุดคือการสามารถสร้างพื้นที่ใหม่เพื่อสะท้อนจินตนาการการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
 
ในขณะที่ประธานาธิบดีฝ่ายขวายังคงกุมอำนาจอยู่ ขบวนการเคลื่อนไหวชุดนี้ถือเป็นการต่อต้านเชิงวัฒนธรรมที่ส่งผลดีและอาจจะกลายเป็นแหล่งกำเนิดของแรงบันดาลใจให้เกิดปฏิบัติการในประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากชิลี
 
 
 
เรียบเรียงจาก
 
An Unprecedented Wave of Feminist Civil Disobedience Sweeps Chile, Toward Freedom, 02-07-2018
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

10 ปี ทันตกรรมสิทธิบัตรทอง เสริมสุขภาพ ปชช.เพิ่มความสุข มีฟันบดเคี้ยว

$
0
0
สปสช.เผย สิทธิประโยชน์ทันตกรรมใส่ฟันเทียมกว่า 10 ปี ดูแลประชาชนแล้วกว่า 6.3 แสนคน ช่วยส่งเสริมสุขภาพ ยกคุณภาพชีวิตคนไทยเพิ่มขึ้น เน้นผู้สูงอายุ ชี้ผลสำเร็จจากความร่วมมือกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข หน่วยบริการทันตกรรมทั่วประเทศ และคณะทันตแพทยศาสตร์ 9 มหาวิทยาลัย   

 
 
8 ก.ค. 2561 นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การมีสุขภาพปากและฟันที่ดีเป็นส่วนสำคัญต่อการมีสุขภาพกายที่ดี เพราะทำให้กินอาหารที่ดีมีประโยชน์ นำไปสู่การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้ ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เล็งเห็นความสำคัญของการบริการทันตกรรม โดยเฉพาะการใส่ฟันเทียมให้กับผู้ที่ไม่มีฟันบดเคี้ยว ในปี 2551 จึงได้บรรจุบริการทันตกรรมและใส่ฟันเทียมเป็นหนึ่งในสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการใส่ฟันเทียมในผู้ที่จำเป็น ต่อมาในปี 2554 จึงได้ร่วมมือกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ดำเนิน “โครงการฟันเทียมพระราชทาน ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” เพื่อสนับสนุนให้ผู้สูงอายุที่ไม่มีฟันบดเคี้ยวเข้าถึงบริการอย่างทั่วถึง
 
ทั้งนี้จากการดำเนินสิทธิประโยชน์ใส่ฟันเทียมในปี 2551 ที่เป็นปีแรกเริ่มต้น มีผู้รับการใส่ฟันเทียม ทั้งที่ใส่ฟันเทียมบางส่วนและใส่ฟันเทียมทั้งปาก ครอบคลุมทั้งกลุ่มผู้อายุต่ำกว่า 60 ปี และผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี จำนวน 28,390 คน และหลังจากนั้นได้มีการดำเนินสิทธิประโยชน์ใส่ฟันเทียมมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ในช่วงระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2551-2561 (ข้อมูล ณ 31 มี.ค. 61) มีผู้รับบริการใส่ฟันเทียมทั้งสิ้นจำนวน 631,051 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุ อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 367,291 คน คิดเป็นร้อยละ 58.20 และผู้ที่อายุต่ำกว่า 60 ปี จำนวน 263,759 คน คิดเป็นร้อยละ 41.8  
 
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า เมื่อดูข้อมูลจำเพาะในส่วนผู้รับบริการฟันเทียมทั้งปากตาม “โครงการฟันเทียมพระราชทานภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ที่ได้เริ่มตั้งแต่ปี 2554 จากผลดำเนินงานในช่วงระยะเวลา 7 ปี 6 เดือน (ข้อมูล ณ 31 มี.ค. 61) มีผู้รับบริการ 412,844 คน โดยเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 274,579 คน คิดเป็นร้อยละ 66.51 และกลุ่มอายุต่ำกว่า 60 ปี จำนวน 138,265 คน คิดเป็นร้อยละ 33.49โดยการดำเนินงานบริการทันตกรรมใส่ฟันเทียมทั้งปากในปี 2560 ยังเป็นไปตามเป้าหมาย มีผู้เข้ารับบริการทันตกรรม จำนวน 33,670 คน จากเป้าหมาย 35,000 คน คิดเป็นร้อยละ 96.2 ส่วนในปี 2561 นี้ มีผู้เข้ารับบริการใส่ฟันเทียมทั้งปากแล้วจำนวน 17,707 ราย (ข้อมูล ณ 31 มี.ค. 61) จากเป้าหมาย 35,000 คน คาดการณ์ว่าการบริการจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้เช่นกัน
 
นอกจากนี้เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับบริการใส่ฟันอย่างครอบคลุมและทั่วถึงยิ่งขึ้น นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า สปสช.จึงได้ดำเนิน “โครงการฟันเทียมพระราชทาน โดยความร่วมมือกับคณะทันตแพทยศาสตร์ 9 มหาวิทยาลัย เพื่อใส่ฟันเทียมให้กับผู้สูงอายุ โดยคณะทันตแพทยศาสตร์ที่ร่วมโครงการ ประกอบด้วย 1) รพ.คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.มหิดล 2) รพ.คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3) รพ.คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ 4) รพ.คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ 5) รพ.คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.รังสิต 6) รพ.คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ 7) รพ.คณะทันตแพทย์ศาสตร์ ม.นเรศวร 8) รพ.คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น 9) รพ.คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ ทั้งนี้จากข้อมูลปีงบประมาณ 2560 ดำเนินการไปแล้วจำนวน 1,124 คน โดยในปี 2561 ได้มีการขยายเวลาดำเนินการต่อเนื่องเพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการใส่ฟันครบตามเป้าหมายโครงการจำนวน 1,610 คน
 
“สิทธิประโยชน์ทันตกรรม โดยเฉพาะการใส่ฟันเทียมให้กับผู้ที่มีปัญหาไม่มีฟันบดเคี้ยวอาหาร สามารถดำเนินงานจนเห็นผลสำเร็จ โดยมีผู้รับบริการแล้วกว่า 630,000 คน นับเป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข หน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ รวมถึง คณะทันตแพทย์ศาสตร์ 9 มหาวิทยาลัย เพื่อร่วมดูแลประชาชนทั่วประเทศตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี” เลขาธิการ สปสช.กล่าว
 
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 2-8 ก.ค. 2561

$
0
0

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เตือนนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดผิดกฎหมาย โทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 1 แสนบาท

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดห้ามไม่ให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุด เพื่อให้ลูกจ้างได้มีโอกาสพักผ่อนหรือทำกิจธุระ หากนายจ้างมีความจำเป็นต้องให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดเพื่อประโยชน์แก่การผลิต จำหน่าย และบริการอาจให้ลูกจ้างทำงานได้ แต่ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราว ๆ ไป

ทั้งนี้เมื่อให้ลูกจ้างทำงานแล้วนายจ้างจะต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้กับลูกจ้าง โดยจ่ายไม่น้อยกว่า 1 เท่า ของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนที่ทำ ส่วนกรณีที่นายจ้างฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจะมีโทษสูงสุดคือ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กสร.จึงขอให้นายจ้างปฏิบัติให้ถูกต้อง

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 7/7/2561

 กสร.เผยข่าวดีเตรียมให้สัตยาบัน ILO 98 ภายในปี 2562

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง ว่า ขณะนี้คืบหน้าไปมาก โดยได้ดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์  พ.ศ. …. เพื่อปรับปรุงกฎหมายที่ใช้บังคับมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 ซึ่งอาจมีบทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวจะเป็นการส่งเสริมและให้สิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองแก่ลูกจ้างเพิ่มขึ้นและสอดคล้องกับอนุสัญญาฉบับที่ 98 ด้วย

นายอนันต์ชัย กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายกระทรวงแรงงาน และคาดว่าจะเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ในเดือนตุลาคม 2561  ในส่วนของการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 98 คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในปี 2562 ซึ่งนับว่าเป็นการพัฒนาอีกหนึ่งก้าว ในการยกระดับการดูแลแรงงานที่ทำงานในประเทศไทยให้สามารถเข้าถึงสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะทำให้คนทำงานทุกภาคส่วนสามารถรักษาสิทธิและผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ และเพื่อส่งเสริมความเป็นธรรมทางสังคมและการอยู่ร่วมกัน   อย่างสันติและเป็นไปตามมาตรฐานสากล

ที่มา: โลกวันนี้, 6/7/2561

หวั่น 8 แมตช์สุดท้ายฟุตบอลโลก เล่นพนันสูงขึ้น ห่วง "แรงงาน"กลุ่มเสี่ยงเกิดหนี้สิน

ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีเสวนา“นับถอยหลัง 8 แมตช์อันตราย เหยื่อพนันจะเลี่ยงหรือจะเสี่ยง?” โดยนายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า ฟุตบอลโลก 2018 เหลือ 8 แมตช์สุดท้ายชี้ชะตา ซึ่งน่าห่วงว่ากระแสชวนพนันอาจขึ้นสูง ไม่เฉพาะเด็กเยาวชน แต่กลุ่มคนวัยทำงานยิ่งมีเงินยิ่งมือเติบ และเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่เล่นพนันบอลมากกว่ากลุ่มเด็กเยาวชน ทั้งจำนวนคนเล่นและจำนวนเงินที่ใช้เล่น ทั้งนี้ คนเล่นพนันบอลที่เสียตั้งแต่เริ่มเล่น มักจะเล่นไม่นานก็เลิก แต่คนที่เล่นแล้วได้ในตอนแรก มักจะได้ใจและเล่นต่อจนถลำลึก เข้าทำนองไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา ซึ่งมีประมาณ 6 โลง คือ 1.การงานย่ำแย่ เพราะเอาสมาธิและเวลางาน เวลาเรียนไปหมกมุ่นกับการคิดและหาข้อมูลเล่นพนันบอล

2.แพ้พนันจนเพลีย เพราะที่ผ่านมาเชื่อว่าโชคต้องเข้าข้าง แต่วันนั้นก็ไม่มาถึงเสียที 3.เสียจนหมดตัว เพราะพนันบอลมักจะเดิมพันสูง บางคนเล่นคู่ละหลักหมื่นขึ้นไป ยิ่งเสียมากในคู่ก่อนๆ ยิ่งทำให้ทุ่มหมดหน้าตักในคู่ต่อไป จนเสียหายหนัก 4.กลัวเขามาอุ้ม เป็นอาการของนักพนันที่ไปกู้หนี้นอกระบบมา และยังเคลียร์ไม่ได้ ก็กังวลว่าจะโดนอุ้มไปทำร้าย 5.กลุ้มคุกทุกข์เข็ญ คือ กลุ่มที่กังวลว่าจะถูกเจ้าหน้าที่สืบสาวมาจนถึงตนเองว่าเป็นผู้เล่นพนัน และมีโทษตามกฎหมายถูกจำคุก และ 6.เห็นหายนะเพื่อน คือ เริ่มเห็นเพื่อนที่เล่นพนันมาด้วยกันประสบผลเสียหาย เช่น ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกออกจากงาน หรือประสบปัญหาครอบครัว

นายภาคภูมิ สุกใส ประธานสหภาพแรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์ กล่าวว่า ปัญหาการพนันในกลุ่มผู้ใช้แรงงานยังคงน่าห่วง ไม่เฉพาะบอลโลก แต่บอลทุกฤดูเอื้อต่อการเล่นพนันได้ ปัญหาใหญ่ คือ การจัดการเรื่องเงินของผู้ใช้แรงงานมักไม่เป็นระบบ สิ้นเดือน กลางเดือน ต้องมาใช้หนี้บัตรเครดิต เพราะกดไปเล่นพนันบอล ส่งผลให้ไม่มีเงินเก็บ คุณภาพชีวิตก็ย่ำแย่ สุดท้ายกลายเป็นภาระของลูกหลาน หลังจากบอลโลกจบต้องจับตาดูว่าจะมีคนอีกจำนวนมากที่ถูกตามเช็กบิลตามทวงหนี้พนันบอล ฝากรัฐบาลทำการบ้านเร่งหาแนวทางป้องกันและหยุดปัญหาการพนันให้ได้

“ต้องยับยั้งสื่อโฆษณาที่โหมกระตุ้นให้เกิดการเล่นพนัน โดยเฉพาะที่มากับสื่อออนไลน์ มือถือ ตอนนี้เว็บไซต์หรือหน้าเพจที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก มักพบว่ามีป็อบอัปของเว็บพนันโผล่ขึ้นมาชักจูงใจให้เล่น ซึ่งตรงนี้ต้องเร่งจัดการ ไม่ใช่แค่ลุยกันเฉพาะช่วงบอลโลกเป็นแค่ไฟไหม้ฟาง ในส่วนขององค์กรแรงงานเราอยากเห็นรัฐบาลนี้กล้าหาญ ตั้งคณะกรรมการควบคุมการพนันแห่งชาติขึ้นมา เพราะไม่ว่าจะเป็นการพนันรูปแบบไหนก็ต้องถูกจัดการและควบคุมด้วยคณะกรรมการชุดนี้ ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะมีเจ้าภาพในการจัดการปัญหาการพนัน” นายภาคภูมิ กล่าว

นายเอกซ์ (นามสมมติ) หนุ่มโรงงานแห่งหนึ่ง เล่าถึงประสบการณ์ที่เสียหายกับการพนันฟุตบอล ว่า เริ่มจากเล่นตามเพื่อนๆ ในโรงงาน ค่อยๆ ขยับจากแทงบอลชุด50 บาท ยามใจมาแทงบอลเดี่ยวคู่ละหลักร้อย แทงปากเปล่าสองอาทิตย์เคลียร์กันที จนมาเสียหนักในคืนเดียวราวห้าหมื่นบาท พยายามเล่นหวังจะเอาเงินคืน ช่วงนั้นเสียไปมากกว่าห้าแสน ต้องกู้เงินทุกวิถีทาง ทั้งบัตรเครดิตต่างๆ ทั้งเงินกู้นอกระบบ จนมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ คือ ย่าผู้ที่เลี้ยงผมมา ท่านป่วยแต่มีเงินไม่พอรักษา เพราะเงินที่ย่ามี ก็เอามาช่วยใช้หนี้พนัน ย่าเสียชีวิตโดยที่ตนช่วยอะไรได้ บ้านและที่ดินต้องขายเอาเงินมาใช้หนี้พนัน จึงก้มกราบเท้าย่าและตั้งใจเลิกเล่นพนันตั้งแต่นั้นมา

“กว่าจะใช้หนี้พนันหมดก็หลายปี ส่วนที่เป็นหนี้นอกระบบผมก็ต้องหนี เพราะถูกขู่จะทำร้าย ผมไม่กล้ากลับบ้าน เก็บตัวอยู่ในหอพัก ไม่มีแม้เงินจะซื้อข้าวกิน การเลิกพนันอยู่ที่ใจล้วนๆ ถ้าตั้งใจจริงเราเลิกได้ เพื่อนไม่โกรธ ไม่เลิกคบ คนใกล้ชิดมีอิทธิพลมาก ถ้าอยู่ในสังคมที่เพื่อนร่วมงานเล่นพนัน เราต้องเข้มแข็ง กล้าปฏิเสธ สถานที่ทำงานต้องหาทางตัดตอนไม่ให้มีคนกลางมาชวนเล่นพนัน และควรส่งเสริมให้พนักงานมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนแบ่งปันประสบการณ์ชีวิต และสนับสนุนให้มีระบบการดูแลกันและกัน ทุกวันนี้มีโอกาสผมจะพยายามแนะนำน้องๆ ที่ทำงานเสมอ ดูบอลเป็นกีฬา คุยกันวิเคราะห์ผลกันได้ แต่ไม่จำเป็นต้องเล่นพนัน” นายเอกซ์ กล่าว

ด้าน นางสาวหนึ่ง (นามสมมติ) อายุ 32ปี กล่าวถึงกรณีที่คนในครอบครัวเล่นพนันบอลจนเกิดผลกระทบว่า พ่อมีอาชีพเปิดร้านขายของเล็ก ๆในชุมชน กิจการพออยู่ได้มาตลอด สักพักเริ่มมาเอ่ยปากยืมเงินจากแม่ จนสุดท้ายขอยืมจากตน เมื่อผิดสังเกตจับได้ว่าพ่อเอาเงินไปเล่นพนันบอล ทั้งรับแทงพนันจากพนักงานบริษัทแถวนั้นแล้วส่งต่อโต๊ะใหญ่ และเล่นพนันเองด้วยจากแทงบอลชุดขยับมาแทงบอลเดี่ยวพอไม่พอใช้ก็มาขอยืมเงินจากตน รวมทั้งให้ไปช่วยค้ำประกันเงินกู้จากคนรู้จักแถวบ้าน ทำให้ตนกับสามีทะเลาะกัน เมื่อไม่พอใช้หนีพนันห้าแสน ก็ต้องขายทุกอย่างในบ้าน สุดท้ายพ่อเลิกเล่นพนันบอลและทำงานหนักทั้งที่อายุ54แล้ว เงินเดือนที่ได้นำมาใช้หนี้ทั้งหมด

“ด้วยความที่เป็นพ่อ ทำให้ลูกไม่อยากเข้าไปยุ่งในตอนแรกที่รู้ว่าเริ่มเล่นพนันบอล แต่ตอนนี้ไม่ได้แล้ว ลูกๆ เข้าไปดูแลจัดการเรื่องเงินแทนทั้งหมด พ่อเป็นคนขี้เหนียว ไม่คิดว่าเขาจะพลาดขนาดนี้ ทุกวันนี้มาทำงานที่เครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน ทำให้พ่อหยุดยั้งตัวเองได้ คนแถวนั้นที่เคยเป็นลูกค้าแทงบอลกับพ่อ ได้เห็นป้าย เห็นสื่อรณรงค์หยุดพนันก็หยุดยั้งมีสติกันมากขึ้น แม้ยังมีเล่นพนันกันอยู่บ้างแต่ก็เล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น” น.ส.หนึ่ง กล่าว

ที่มา: MRG Online, 6/7/2561

บังคับใช้ พ.ร.ก.ต่างด้าว 3 วันแรก จับต่างด้าวได้กว่า 100 ราย

วันที่ 4 ก.ค. 2561 นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยผลการบูรณาการปราบปรามแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายของชุดปฏิบัติการ 113 ทีม ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่กรมการจัดหางาน ตำรวจ และฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ที่ร่วมกันออกตรวจตรวจสอบ ปราบปราม จับกุมและดำเนินคดีนายจ้าง สถานประกอบการและแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย หลังปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS) พบว่า ล่าสุด ตั้งแต่ 1-3 ก.ค. 2561 เพียง 3 วัน สามารถตรวจสอบนายจ้าง สถานประกอบการได้ 298 ราย พบกระทำความผิด 26 ราย แบ่งเป็น ดำเนินคดีในข้อหารับคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 22 ราย และดำเนินคดีในความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 จำนวน 4 ราย

ขณะเดียวกัน ได้ตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าว จำนวน 2,879 คน พบกระทำความผิด จำนวน 118 คน เป็นเมียนมา 94 คน ลาว 7 คน กัมพูชา 8 คน เวียดนาม 7 คน และอื่นๆ อีก 2 คน แบ่งเป็นดำเนินคดีในข้อหาทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน จำนวน 58 คน แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และดำเนินคดีในความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 จำนวน 60 คน โดยคนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ มีโทษปรับ 5,000-50,000 บาท และเมื่อชำระค่าปรับแล้ว คนต่างด้าวจะถูกส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และห้ามขออนุญาตทำงานภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับโทษ ส่วนนายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ มีโทษปรับ 10,000-100,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี

"หากผู้ใดพบคนต่างด้าวทำงานผิดกฎหมาย หรือพบการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทำงานของคนต่างด้าว สามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนได้ที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน หรือโทร. 0-2354-1729 หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือโทร.สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบต่อไป"นายอนุรักษ์ กล่าว

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 4/7/2561

กสร. จับมือประธาน JCC หารือกฎหมายแรงงาน

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2561 ได้ให้การต้อนรับ Mr. Yosuhiro Morita ประธานคณะกรรมการด้านแรงงานหอการค้าญี่ปุ่น (JCC) พร้อมคณะ ในโอกาสเข้าพบเพื่อหารือเกี่ยวกับความคืบหน้าในการปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยเฉพาะประเด็น การจ่ายค่าชดเชยในอัตรา 400 วัน ให้แก่ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ซึ่งทาง JCC มีความห่วงใยว่าสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างจำนวนมากอาจเตรียมตัวเรื่องงบประมาณไม่ทัน ทั้งนี้ ได้ชี้แจงว่าการปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวมุ่งยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองแรงงานให้ลูกจ้างได้รับการคุ้มครองเพิ่มขึ้นและเป็นธรรมต่อลูกจ้างที่ทำงานกับนายจ้างมาเป็นระยะเวลายาวนาน ซึ่งก่อนจะเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว กสร. ได้จัดสัมมนาไตรภาคีเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ของกรม ผลจากการรับฟังนายจ้าง ลูกจ้าง และผู้เกี่ยวข้องเห็นด้วยในประเด็นการเพิ่มอัตราค่าชดเชย ขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ผ่านการตรวจพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวแล้วและกสร. ได้ยืนยันร่างกฎหมายเพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาดำเนินการก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

​อธิบดีกสร. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ยังได้ร่วมหารือเกี่ยวกับประเด็นความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมที่จะต้องมีการพัฒนาในการให้สัตยาบันดังกล่าว โดยจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สอดรับโดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับองค์กร สหภาพแรงงาน และสมาคมนายจ้างเป็นส่วนใหญ่ สำหรับกระบวนการในการเจรจาต่อรองเรื่องที่ต้องปรับปรุงกฎหมาย เช่น การขยายเวลาในการเจรจา เป็นต้น รวมไปถึงการลดอำนาจของภาครัฐในการแทรกแซงด้วย ซึ่งคาดว่าจะให้สัตยาบันได้ภายในปี 2562

“ผู้ประกอบการถือเป็นส่วนสำคัญในการให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับกฎหมาย เพราะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่จะต้องรับไปปฏิบัติ กสร.มีความยินดีที่จะชี้แจงรายละเอียดของกฎหมายและหารือร่วมกันถึงแนวทางในการดำเนินงานต่อไปเพื่อให้สถานประกอบกิจการเตรียมความพร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว” อธิบดีกสร.กล่าว

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 4/7/2561

ตม.แม่สอดจี้ผู้ประกอบการใช้แรงงานต่างด้าวผิด กม.เจอโทษปรับหนัก

พ.ต.อ.แมน รัตนประทีป ผู้กำกับการด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตาก (ด่านแม่สอด) นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจด่าน ตม.ตาก (แม่สอด) บูรณาการกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แม่สอด หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 14 แม่สอด กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 346 แม่สอด สำนักงานจัดหางานจังหวัดตาก และอาสาสมัคร( อส.) อ.แม่สอด ออกตรวจกวดขันจับกุมแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในลักษณะผิดกฎหมายอย่างจริงจัง หลังหมดช่วงเวลาการผ่อนผันการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว

พ.ต.อ.แมน รัตนประทีป ผู้กำกับการด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตาก (ด่านแม่สอด) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ต.บัณฑิต ตุงคะเศรณี ผู้บังคับการกองบังคับการด่าน ตม.5 และ พ.ต.อ.ชูศักดิ์ พนัสอัมพร รองผู้บังคับการ ตม.5 ที่ได้มีคำสั่งให้ ตำรวจด่าน ตม.ตาก (แม่สอด) ได้เพิ่มความเข้มข้นในการกวาดล้างจับกุมแรงงานต่างด้าวที่ใช้แรงงานผิดกฎหมาย หลังจากที่หมดระยะเวลาการผ่อนผัน

ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 การกวาดล้างจับกุมแรงงานที่ผิดกฎหมายบริเวณตลาดสดพาเจริญ เขตเทศบาลนครแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก เจ้าหน้าที่ได้จับกุมตัวนางโมโมอ่อง(Mr. Moe Moe Aung) อายุ 32 ปี สัญชาติพม่า พร้อมพวกรวม 6 คน ในข้อหา เป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิที่จะทำได้ โดยแรงงานต่างด้าวที่ถูกจับกุมนั้นถูกจับกุมระหว่างขายของอยู่ในตลาดพาเจริญ จากนั้นเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้นำตัวผู้ต้องหาทั้งหมดส่งพนักงานสอบสวน สภ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายและผลักดันออกนอกราชอาณาจักรต่อไป

พ.ต.อ.แมน รัตนประทีป ผู้กำกับการด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตาก (ด่านแม่สอด) กล่าวว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจับกุมแรงงานต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต หรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิที่จะทำได้ ซึ่งมีโทษปรับ 5,000-50,000 บาท พร้อมส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และห้ามขออนุญาตทำงานภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับโทษ

สำหรับนายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับ 10,000-100,000 บาท ต่อแรงงานต่างด้าว 1 คน และหากพบมีการกระทำผิดซ้ำก็จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000-200,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ และห้ามจ้างแรงงานต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งต่อไปนี้หากแรงงานต่างด้าวที่ประสงค์จะทำงานในประเทศไทยจะต้องเข้ามาในรูปแบบการนำเข้าตามระบบ MOU เท่านั้น

ที่มา: MRG Online, 3/7/2561

ปลัดแรงงานชี้ยังไม่ถึงเวลาปรับโครงสร้าง ‘ประกันสังคม’

เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2561 นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) และภาคีเรียกร้องให้มีการปฎิรูประบบประกันสังคม โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างองค์กรให้เป็นอิสระ ไม่ยึดโยงกับระบบราชการ และบริหารงานอย่างมืออาชีพ ว่า เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่และมีการเรียกร้องกันมาระยะหนึ่ง

"เรารับรู้ และรับฟังเรื่องนี้มาพอสมควร แต่การจะทำหรือไม่ทำเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล ซึ่งหากทำจะต้องมีการศึกษาข้อมูลรายละเอียด หาข้อดีข้อเสียระหว่างการคงสภาพเดิม หรือปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องใช้เวลา ไม่ใช้เรียกร้องแล้วสามารถทำได้ทันที เพราะเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ ต้องทำในระดับนโยบาย"นายจรินทร์ กล่าวและว่า นับตั้งแต่มีระบบประกันสังคมในประเทศไทย แม้จะมีปัญหาบ้างในบางเรื่อง แต่ส่วนใหญ่จะได้รีบการแก้ไขจนระบบสามารถเดินไปได้อย่างไม่ติดขัด จนถึงวันนี้ยังไม่เห็นมีเรื่องใดที่วิกฤตจนถึงขั้นที่จะต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร

อย่างไรก็ตาม นายจรินทร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ไม่ได้นิ่งนอนใจกับเรื่องนี้ แม้จะทำในระดับโครงสร้างไม่ได้ แต่ก็ได้มีการพัฒนาการให้บริการผู้ประกันตนให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสภาพปัจจุบันมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเรื่องของการให้สิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น และสามารถดูแลผู้ประกันตนได้เป็นที่น่าพอใจดีขึ้นตามลำดับจนได้รับคำชื่นชมจากนานาชาติเรื่อยมา และยังไม่เคยเห็นนานาประเทศมองว่าประกันสังคมของไทยบกพร่องแต่อย่างใด

ทางด้าน นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องรอฟังระดับนโยบายสั่งการลงมา หากมีแนวโน้มจะปรับโครงสร้างองค์กร ก็ต้องศึกษาในรายละเอียดทั้งหมด ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้เคยศึกษาหรือไม่ว่าองค์กรในลักษณะเดียวกับ สปส.ในต่างประเทศมีโครงสร้างการบริหารอย่างไร นพ.สุรเดช กล่าวว่า แต่ละประเทศมีโครงสร้างและการบริหารจัดการขึ้นอยู่กับบริบทและสภาพแวดล้อมของประเทศนั้นๆ เอง

ที่มา: มติชนออนไลน์, 2/7/2561

ปิดศูนย์ทะเบียนแรงงานต่างด้าว ป้อนเข้าระบบกว่า 1.2 ล้านคน

เมื่อวันที่ 1 ก.ค. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แถลงปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS) ทำทะเบียนประวัติแรงงานต่างด้าว ว่า มีแรงงานต้องเข้าศูนย์ OSS ตามมติ ครม. 16 ม.ค.61 จำนวน 1,320,035 คน ดำเนินการภายใน 31 มี.ค. จำนวน 840,736 คน และต่อมามติ ครม. ได้มีการขยายเวลาให้เจ้าหน้าที่ในการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 มิ.ย. ซึ่งในระยะที่ 2 มี 348,022 คน ผลการดำเนินงานจนถึงวันสุดท้ายในวันที่ 30 มิ.ย. เป็นที่น่าพอใจ มีแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา มาจัดทำทะเบียนประวัติและขออนุญาตทำงานทั้งสิ้น 347,067 คน คิดเป็น 99.73% เป็นกัมพูชา 156,569 คน ลาว 18,210 คน เมียนมา 172,288 คน โดยสรุปมียอดแรงงานต่างด้าวที่เดิมทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต และได้รับการผ่อนผันมาตั้งแต่ปี 2558 เข้าสู่ระบบถูกต้องตามกฎหมาย 1,187,803 คน เป็นกัมพูชา 350,840 คน ลาว 59,746 คน เมียนมา 777,217 คน ส่วนยอดที่หายไปกว่า 1 แสนคน ส่วนใหญ่ออกนอกประเทศไปแล้ว และกลับเข้ามาใหม่ตามเอ็มโอยู บางส่วนอาจยังเป็นแรงงานผิดกฎหมาย แต่มีจำนวนน้อยลงมาก

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ได้บูรณาการร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำหนดแผนการตรวจสอบ ปราบปราม จับกุมและดำเนินคดีแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย อย่างเคร่งครัดต่อเนื่อง หากพบกระทำผิด ทั้งนายจ้างและแรงงานต่างด้าวจะต้องถูกดำเนินคดี คนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ จะมีโทษปรับ 5,000 - 50,000 บาท และเมื่อชำระค่าปรับ จะถูกส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และห้ามเข้ามาทำงานภายใน 2 ปี นับส่วนนายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ มีโทษปรับ 10,000-100,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี

ส่วนแผนการตรวจสอบปราบปรามแรงงานผิดกฎหมาย จะเริ่มช่วงแรกตั้งแต่วันที่ 1-15 ก.ค. จะบูรณาการการร่วมกับตำรวจ และฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ ออกตรวจจับอย่างต่อเนื่อง ทั่วประเทศจะมีชุดปฏิบัติการ 113 ชุด เน้นจับในกลุ่มคนผิดกฎหมายก่อน และจะตรวจเข้มใน 3 เดือนแรก ได้มีการประสานทูตทั้ง 3 ชาติ เปิดศูนย์รับส่งคนผิดกลับประเทศ ตามแนวชายแดนจังหวัด ระนอง ตาก เชียงราย ซึ่งการจัดระบบจะทำให้มีฐานข้อมูลต่างด้าวที่ชัดเจน โดยในประเทศมีแรงงานต่างชาติทุกกลุ่ม ทำงานตามกฎหมาย 3.2 ล้านคน ถือว่ามีจำนวนมาก ซึ่งต่อไปการใช้แรงงานต่างชาติจะต้องตามความจำเท่านั้น

ที่มา: ไทยรัฐ, 2/7/2561

สศอ.แนะเอกชนปรับการผลิต ใช้หุ่นยนต์มากขึ้น รับแรงงานนอกตีตั๋วกลับบ้าน

นายณัฐพล รังสิตพล รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่าผู้ประกอบการไทยจะต้องเร่งปรับตัว โดยการนำเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ เข้ามาช่วยในการผลิต โดยจะต้องเริ่มวิเคราะห์กระบวนการผลิตว่าควรจะเริ่มในจุดใดก่อน จากนั้นก็ค่อยๆขยายไปสู่ระบบการผลิตอัตโนมัติเต็มรูปแบบ ทำให้ในแต่ละขั้นตอนการปรับปรุงใช้เม็ดเงินไม่มาก และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ส่วนอุตสาหกรรมที่ไม่คุ้มในการนำหุ่นยนต์มาใช้ และต้องใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก ก็ควรจะย้ายไปตั้งฐานการผลิตในประเทศอื่นที่มีค่าแรงต่ำ

“แม้ว่าในขณะนี้ผู้ประกอบการยังคงสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ แต่ก็มีความเสี่ยงสูงมาก เห็นได้จากในช่วงปีที่ผ่านมา ที่รัฐบาลใช้มาตรการเข้มงวดตรวจจับแรงงานต่างด้าว และเร่งดำเนินการให้แรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนให้ถูกกฎหมาย ทำให้มีแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมากรีบกลับประเทศ ทำให้หลายธุรกิจต้องหยุดดำเนินกิจการเกิดการช็อกทางธุรกิจ ซึ่งในอนาคตแรงงานต่างด้ายก็จะค่อยๆกลับไปทำงานของประเทศตัวเองมากขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจะต้องเร่งปรับตัวรับมือกับปัญหาแรงงานที่จะเกิดขึ้น”นายณัฐพล กล่าว

ทั้งนี้ จากการศึกษาค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำของประเทศเพื่อนบ้านเปรียบเทียบกับประเทศไทยพบว่าในปี 2561 ไทยมีค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำอยู่ที่ 6,314 – 8,195 บาทต่อเดือน เงินประกันสังคม 5% รวมค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 6,630 – 8,605 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับพื้นที่ รองลงมาประเทศเวียดนาม มีค่าจ้างขั้นต่ำ 3,850 – 5,552 บาทต่อเดือน แตกต่างกันตามพื้นที่ มีเงินประกันสังคม 17.5% เงินประกันสุขภาพ 3% เงินประกันการว่างงาน 1% รวมแล้วอยู่ที่ 4,679 – 6,747บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นอัตราที่ต่างจากไทยไม่มาก จึงคาดว่าแรงงานจากเวียดนาม จะเป็นกลุ่มแรกที่ย้ายกลับประเทศ

ส่วนประเทศรองลงมาเป็นประเทศกัมพูชา มีค่าจ้างขั้นต่ำ 5,421 บาทต่อเดือน มีเงินประกันสังคม 0.8% รวมแล้วอยู่ที่ 5,465 บาทต่อเดือน สปป.ลาว ค่าแรงขั้นต่ำ 4,168 บาทต่อเดือน เงินประกันสังคม 5% รวมแล้วอยู่ที่ 4,377 บาทต่อเดือน และประเทศเมียนมา มีค่าแรงขั้นต่ำ 2,910 บาทต่อเดือน เงินประกันสังคม 2.5% รวมแล้วอยู่ที่ 2,982 บาทต่อเดือน

ที่มา: ไทยโพสต์, 2/7/2561

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักเศรษฐศาสตร์เสนอปฏิรูประบบมาตรฐานความปลอดภัย-พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว

$
0
0
คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต เสนอปฏิรูประบบมาตรฐานความปลอดภัยและการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว กิจการท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐานเพื่อชีวิตและความปลอดภัยของทุกชีวิต เสริมความแข็งแกร่งของการท่องเที่ยวไทยและเศรษฐกิจไทย

 

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
    
8 ก.ค. 2561 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่ากรณีเรือล่มมีนักท่องเที่ยวเสียชีวิตจำนวนมาก เด็ก 13 คนติดในถ้ำหลวงและอุบัติภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยมีมาตรฐานความปลอดภัยไม่ดีนัก การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว กิจการท่องเที่ยว กฎระเบียบและการบังคับใช้กฎหมายความปลอดภัยก็ยังไม่ได้มาตรฐาน คนต่างชาติบางส่วนที่เข้ามาทำธุรกิจท่องเที่ยวในไทยก็หลบเลี่ยงกฎหมายใช้นอมินีคนไทยในการดำเนินการในกิจการที่กฎหมายห้ามไม่ให้ทำ ทำให้การกำกับดูแลและการบังคับใช้กฎหมายไม่เต็มประสิทธิภาพ เหตุการณ์ดังกล่าวได้ซ้ำเติมภาพลักษณ์เกี่ยวกับปัญหาด้านความปลอดภัย ปัญหาด้านอาชญากรรมที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อธุรกิจอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนหนึ่งมีทัศนคติด้านลบต่อความปลอดภัยของไทยอยู่แล้ว เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนสูงติดอันดับ 2 ของโลก หากปล่อยให้ปัญหาต่างๆเกิดขึ้นโดยไม่มีการปฏิรูประบบมาตรฐานความปลอดภัย การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว กิจการท่องเที่ยว การบังคับใช้กฎหมายให้ได้มาตรฐานเพื่อชีวิตและความปลอดภัยของทุกชีวิต ระบบการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพและฉับไว ระบบเยียวยาผู้เสียหายอย่างเหมาะสมแล้ว จะส่งผลกระทบต่อรายได้การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในระยะยาวได้ นอกจากนี้ไทยยังมีความจำเป็นในการพัฒนาคุณภาพของโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมโดยเฉพาะการขนส่งทางน้ำทางทะเล และระบบราง ระบบรางไทยสามารถเดินทางด้วยความเร็วราว 50-60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น แตกต่างจากประเทศที่มีรถไฟความเร็วสูงทำให้ประหยัดเวลาและมีความปลอดภัย การขยายสนามบินหลายแห่งในไทยมีความล่าช้าไม่สามารถทันต่อการขยายตัวของนักท่องเที่ยว อย่างสนามบินสุวรรณภูมิมีจำนวนผู้โดยสารล่าสุดมากกว่า 54 ล้านรายต่อปี แต่สนามบินรองรับได้ประมาณ 45 ล้านรายต่อปี หรือเกินความจุกว่า 120%  
 
ดร. อนุสรณ์ กล่าวอีกว่าภาคการท่องเที่ยวนั้นมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รายได้จากการท่องเที่ยวขึ้นมาอยู่ที่มากกว่า 12% ของ GDP อุตสาหกรรมท่องเที่ยวนั้นส่งผลดีต่อการจ้างงาน มีการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าหากรายได้ของการท่องเที่ยวลดลง 10%-15% จะส่งผลกระทบต่อ GDP ลดลงถึง -0.9-1% ขณะนี้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจึงมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าอุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆ ภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยนั้นมีจุดเด่นและมีความสามารถในการแข่งขันอยู่แล้ว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อน ท่องเที่ยวพ่วงบริการทางการแพทย์ การท่องเที่ยวด้านการจัดประชุม ทางการควรส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านใหม่ เช่น การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงกีฬา การท่องเที่ยวเชิงการศึกษาและวัฒนธรรม การท่องเที่ยวผจญภัย เป็นต้น ภาครัฐและภาคเอกชนท่องเที่ยวต้องร่วมกันพัฒนาด้านอุปทานของธุรกิจอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้มีคุณภาพมากขึ้น การบำรุงรักษาแหล่งท่องเที่ยว มีความเพียงพอของบุคลากรในการดูแลด้านความปลอดภัย นอกเหนือจากการพัฒนาทักษะทางด้านภาษาและคุณภาพการบริการ เป้าหมายสร้างรายได้ท่องเที่ยวปี พ.ศ. 2561 ททท. ตั้งเป้าไว้ที่ 3.1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศ 2.1 ล้านล้านบาท จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเติบโต 5% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 34-35 ล้านคน ซึ่งยังคงเป็นเป้าหมายที่มีความเป็นไปได้หากสามารถจัดการปัญหาต่างๆที่เป็นอุปสรรคได้อย่างมีประสิทธิภาพและมียุทธศาสตร์ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น รวมทั้งขยายการท่องเที่ยวไปยังกลุ่มเป้าหมายใหม่และเมืองรอง 
 
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทางการจีนจะส่งเจ้าหน้าที่ร่วมสอบสวนเหตุเรือล่ม จ.ภูเก็ต

$
0
0
ยอดผู้เสียชีวิตเหตุเรือนักท่องเที่ยวล่มที่ จ.ภูเก็ต ณ วันที่ 8 ก.ค. อยู่ที่ 41 คน และสูญหาย 15 คน ทางการจีนจะมีการส่งคณะทำงานเข้าร่วมตรวจสอบหาสาเหตุร่วมกับทางการไทย

 
8 ก.ค. 2561 ความคืบหน้าเหตุเรือนักท่องเที่ยวล่มที่ จ.ภูเก็ต จนถึงขณะนี้ยอดของผู้เสียชีวิตที่มีการแถลงอย่างเป็นทางการยังคงตัวเลขอยู่ที่ 41 คน และสูญหาย 15 คน เช้านี้หลายฝ่ายยังคงเร่งค้นหาผู้สูญหายที่เหลือ ขณะที่บรรยากาศการท่องเที่ยวทางทะเลที่ภูเก็ต ยังคงมีนักท่องเที่ยว เดินทางลงทะเลตามปกติ
 
การค้นหาผู้สูญหายวันนี้พุ่งเป้าไปที่การใช้อากาศยานค้นหา หลังจากที่ทางเจ้าหน้าที่ประเมินสถานการณ์แล้วเชื่อว่าขณะนี้ 99 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีร่างของผู้เสียชีวิตติดอยู่ภายในเรือ Phoenix ลำที่จบแล้ว โดยวันนี้การค้นหาจะเพิ่มรัศมีให้กว้างขึ้น พุ่งเป้าไปที่ บริเวณเกาะพีพี และเกาะลันตา ห่างจากจุดที่เรือจมประมาณ 50ไมล์ทะเล 
 
โดยการขึ้นบินค้นหา จะเป็นไปในลักษณะของการบินพร้อมกันครั้งละ 2 ลำ ไล่ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือตามทิศทางการไหลของกระแสน้ำ คู่ขนานไประหว่างเกาะยาวใหญ่ และเกาะพีพี  แต่หากวันนี้ไม่พบร่างผู้สูญหายก็อาจต้องค้นหาในจุดที่อยู่ไกลออไปบริเวณเกาะดอกไม้ 
 
ส่วนกรณีที่มีรายงานว่าพบร่างผู้เสียชีวิตจำนวน 1 คน ติดอยู่บริเวณช่วงหัวเรือฟินิกส์ที่จม แต่ยังนำออกมาไม่ได้นั้น เจ้าหน้าที่ยังคงอยู่ ระหว่างการหาแนวทาง รวมกันอยู่ว่าจะใช้วิธีการไหน อย่างไร  ซึ่งหากนับร่างผู้เสียชีวิตที่ยังติดอยู่ในเรือรายนี้ด้วยก็จะทำให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตอย่างไม่เป็นทางการรวมทั้งสิ้น 42 คน คงเหลือสูญหาย 14 คน
 
ด้าน นายหลู่ว เจี้ยน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย และ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมต.ท่องเที่ยวและกีฬา ได้เดินทางมายังศูนย์บัญชาการเหตุการณ์เรือล่ม เป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 3 วัน หลังเกิดเหตุการณ์ 
 
โดยเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยระบุว่าพอใจการค้นหาผู้สูญหายที่ทางการไทยยังคงกำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้ และพอใจที่ทางการไทยรับปากว่าจะไม่ยุติการค้นหาหากยังไม่พบผู้สูญหายที่เหลือ  โดยทางการจีนจะมีการส่งคณะทำงานเข้าร่วมตรวจสอบหาสาเหตุ เรือล่มร่วมกับทางการไทยด้วย เพื่อหาว่าใครต้องผู้รับผิดชอบเหตุการณ์นี้บ้าง ส่วนการเยียวยาการช่วยเหลือผู้สูญเสียว่าจะชดเชย และดูแลอย่างไรบ้างจะมีการคุยกันอีกครั้งหลังจากนี้ 
 
ด้าน นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมต.ท่องเที่ยว ระบุว่าวันนี้ ทางการไทยจะมีการตั้งศูนย์รับรองครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บที่ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต และจุดอำนวยความสะดวกแบบ ONESTOP SERVICE ภายในสนามบินนานาชาติภูเก็ต ยืนยันว่า ทางการไทยจะยังคงใช้ความพยายามอย่างเต็มความสามารถเพื่อค้นหาผู้สูญหาย และจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างดีที่สุด โดยเฉพาะการช่วยเหลือ ดูแล เยียวยาทั้งทางร่างกาย ทรัพย์สิน และสภาพจิตใจของครอบครัวผู้สูญเสีย รวมไปถึงการหาทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ความสูญเสียที่เป็นโศกนาฏกรรมครั้งรุนแรงเหมือนเช่นครั้งนี้ขึ้นอีก 
 
ทั้งนี้ หลังจากเกิดเหตุเรือล่มที่เกาะเฮและเกาะไม้ท่อน จังหวัดภูเก็ต ตั้งแต่ช่วงวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา วันนี้ยังถือเป็นวันแรกที่มีการเปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาลงเรือที่ท่าเทียบเรืออ่าวฉลองได้ หลังจากที่ทางสำนักงานเจ้าท่าประกาศปิดบริการชั่วคราวเป็นเวลา 2 วัน 
 
โดยจากการสังเกตพบว่า นักท่องเที่ยวมาลงเรือบริเวณนี้เพื่อไปท่องเที่ยวและดำน้ำตามเกาะแก่งต่างๆ ส่วนใหญ่ยังคงเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน
ตม.ตั้งศูนย์ส่วนหน้า ช่วยผู้ประสบภัยเรือล่ม
 
ด้านผู้บัญชาการตำรวจตรวจคนเข้าเมืองได้สั่งด่าน ตม.สนามบินภูเก็ต ตั้งศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้าช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยประสานข้อมูลผู้บาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต โรงพยาบาล เบอร์โทรศัพท์ติดต่อประสานงาน แนะนำขั้นตอนของ ตม. ศุลกากร และล่ามแปลภาษาจีน เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ประสบภัย เจ้าหน้าที่ฑูต  และญาติผู้ประสบภัยที่มาจากประเทศจีน รวมถึงการอำนวยความสะดวกการส่งศพ กลับทางเครื่องบิน ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุมีผู้ประสบภัย ที่ไม่ได้รับบาดเจ็บหรือบาดเจ็บเล็กน้อย เดินทางกลับประเทศแล้ว 18 คน ส่วนญาติผู้สูญหายเดินทางมาประเทศไทย เพื่อติดตามข้อมูลแล้ว 78 คน
 
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย [1][2] 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสวนาชี้การรับน้องคือการทำลายตัวตนด้วยอำนาจนิยม

$
0
0

เสวนา 'รับน้องต้องสมัครใจ ไม่ละเมิด เปิดเผย'ระบุการรับน้องคือการทำลายความเป็นตัวตนโดยใช้อำนาจนิยมที่ปลูกกันฝังมาในสังคมไทย แนะแก้ไขระบบโซตัสเบื้องต้นอาจให้คนหัวก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชน มาเป็นผู้มีอิทธิพลในกลุ่มรุ่นพี่

 
 
8 ก.ค. 2561 มติชนออนไลน์รายงานว่าที่ Warehouse 30 ซอยเจริญกรุง เขตบางรัก New Gen Network จัดเสวนา “รับน้องต้องสมัครใจ ไม่ละเมิด เปิดเผย” ประกอบด้วย น.ส.วิภาพรรณ วงษ์สว่าง หรือ “นานา” กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ตัวแทนเครือข่ายคนรุ่นใหม่, นายภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย หรือ “เหน่อ หนองกระโดน” อดีตรองเลขากลุ่มปฏิรูปการรับน้องประชุมเชียร์เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (Anti Sotus), นายชนสรณ์ เฉียบเอี่ยมเชาน์ ประธานนักศึกษาภาควิชาคอมพิวเตอร์ศึกษาคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมปี 2560 (เทียบโอน) ม.พระจอมเกล้าพระนครเหนือ และนายภัทร กองทรัพย์ อดีตนักศึกษาวิทยาลัยชุมชนในอเมริกา ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนสถานการณ์รับน้องในประเทศ แชร์กิจกรรมทางเลือกสร้างสรรค์ และหาทางออกสู่การรับเพื่อนใหม่อย่างมีความเป็นมนุษย์ ซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและผู้เข้าร่วมฟังเสวนาเป็นจำนวนมาก
 
น.ส.วิภาพรรณ วงษ์สว่าง กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่าจากประสบการณ์การรับน้องโดยส่วนตัวคิดว่าคือการทำลายความเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละคน เพราะคนที่เข้าเรียนปีหนึ่งส่วนใหญ่จะมีความเป็นตัวของตัวเองสูง พอเข้าไปในมหาวิทยาลัยแล้วระบบโซตัสจะทำลายอัตลักษณ์ของแต่ละคนหลายคน โดยสั่งให้เปลี่ยนสีผม เปลี่ยนทรงผม การแต่งตัว บางครั้งถูกบังคับให้ทำอะไรเหมือนๆ คนอื่น รวมถึงความรุนแรง ซึ่งคนแต่ละคนมีเส้นความรุนแรงแตกต่างกัน หลายคนอาจรับได้หรือไม่ได้กับความรุนแรง แต่ความจริงระบบโซตัสคือเรื่องของการกดความคิด เช่น คำพูดจากรุ่นพี่ที่ใช้ด่าทอน้องๆว่า "ทำได้แค่นี้เองเหรอ""อ่อนแอ"หรือ "เสียงดังได้แค่นี้"หลายคนต้องทนเพราะไม่อยากให้ถูกตราหน้าว่าอ่อนแอ ซึ่งคือการทำลายความเป็นตัวตนของคนๆ นั้น โดยใช้อำนาจนิยมที่ปลูกกันฝังมาในสังคมไทย
 
"บางมหาลัยมีบังคับด้วยว่าการไม่เข้ากิจกรรมรับน้องจะเรียนไม่จบ เพื่อกดดันนักศึกษาที่เข้าใหม่ ซึ่งก็คือการละเมิดสิทธิมนุษยชน ระบบการศึกษาของบางมหาลัยก็เหมือนอำนาจนิยมที่ส่งเสริมและให้สิทธิแก่รุ่นพี่ในการตัดสินว่าคนๆนี้จะผ่านหรือไม่ผ่านกิจกรรมจนหลายสิ่งหลายอย่างเกื้อหนุนให้รุ่นพี่คิดว่าตัวเองมีอำนาจและจะสั่งให้รุ่นน้องทำอะไรก็ได้ตามต้องการ และเด็กปีหนึ่งทุกคนต้องทำตามถ้าไม่ทำตามจะเรียนไม่จบ บางครั้งรุ่นพี่ก็ใช้อนาคตมากดกันอย่างเช่น การบอกรุ่นน้องว่าโลกการทำงานมันแคบถ้าไม่สร้างความสัมพันธ์หรือสร้างเครือข่ายตอนนี้จะถูกกีดกันในการทำงาน"
 
“ระบบการศึกษาหลายสถาบันควรจะเลิกตั้งคำถามได้แล้วว่าจะให้รุ่นน้องที่เข้าใหม่ ร่วมร้องเพลงเชียร์หรือทำกิจกรรมร่วมกันได้อย่างไร หรือสร้างคนให้เป็นเหมือนกันอย่างไรเพื่อให้น้องพี่สามัคคีกันได้ ซึ่งสิ่งนี้เหมือนคือการกดคนให้เป็นแบบที่คุณต้องการ ทำไมไม่ลองคิดว่าคุณอยากสร้างคนแบบไหนขึ้นมา ระหว่างคนที่ถูกจำกัดความคิดไว้ให้เป็นแบบที่คุณต้องการเหมือนๆ กันหมด หรืออยากจะรับคนที่มีหัวคิดก้าวหน้า ที่มีความคิดเป็นของตัวเอง” น.ส.วิภาพรรณกล่าว
 
นายภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย กล่าวว่า การรับน้องเป็นเรื่องของผลประโยชน์มหาศาล และความรุนแรงในระบบโซตัสที่น่ากลัวที่สุดคือการที่ทำให้ทุกคนที่เข้าการรับน้องตื่นมาทุกเช้าแล้วเกิดความหวาดกลัวว่าวันนี้จะทำอะไรไม่ถูกใจรุ่นพี่หรือเปล่า ซึ่งนักศึกษาปีหนึ่งมักเป็นประจำ การรับน้องคือวัฒนธรรมที่สิ้นเปลือง เราไม่จำเป็นต้องรับน้อง ทุกคนมีสิทธิเลือก บางคนคิดว่าถ้าไม่ทนบน้องจะโดนต่อต้านจากรุ่นพี่และถูกรุ่นพี่ดูถูก เรียนไม่จบหรืออะไรก็ตาม ร้ายแรงสุดคือผู้ชายจะถูกรุ่นพี่ทำร้ายร่างกาย สิ่งเหล่านี้เราไม่จำเป็นต้องทนกับมัน ไม่ว่าจะละเมิดหรือไม่ละเมิด ตนไม่เคยเข้ารับน้องก็เรียนจบได้มีอนาคตได้
 
“คำว่าละเมิด-ไม่ละเมิด พูดได้ยาก การรับน้องที่ดีก็แค่ทำกิจกรรมสันทนาการก็พอแล้ว ถึงแม้จะมีความเป็นอำนาจนิยมบ้าง แต่คือทางเลือกที่ดีที่สุดหากอยากจะรู้จักกัน ไม่จำเป็นต้องมาจูบปากหรือจูบดิน ความสามัคคีเกิดขึ้นได้เสมอแค่ระยะสั้นๆ บางคนไปเข้าค่ายกันแค่สองวันก็ก็สนิทกันไปถึง 4 ปี ระบบโซตัสต้องการให้สร้างความสามัคคีระยะยาว แต่บังคับให้คนต้องสนิทกันทุกวันแค่นี้ก็คือความเผด็จการแล้ว”
 
นายชนสรณ์ เฉียบเอี่ยมเชาน์ กล่าวว่าการรับน้องคือการใช้ความกลัวเป็นเครื่องมือ โซตัสถูกพ่วงกับระบบอำนาจนิยม เมื่อต้องการให้รุ่นน้องเชื่อฟัง ก็ต้องใช้ความกลัวเข้าข่ม หลายคนต้องอดทนตลอด 1 ปี หรืออาจต้องทนไปจนเรียนจบ สิ่งเหล่านี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นในระบบการศึกษาของไทย การแก้ไขระบบโซตัสเบื้องต้น โดยส่วนตัวคือการค้นหาบุคคลที่มีหัวก้าวหน้าในเรื่องของสิทธิมนุษยชน ถ้าสามารถดันคนแบบนั้นขึ้นมาเป็นผู้มีอิทธิพลในกลุ่มรุ่นพี่ได้ ก็อาจจะแก้ไขได้ในส่วนหนึ่ง
 
นายภัทร กองทรัพย์ กล่าวว่าสิ่งที่ตนได้ไปพบเจอมาจากระบบการศึกษาของที่อเมริกาซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องความเป็นสิทธิมนุษยชนมาก แต่พอย้ายมาเรียนปีหนึ่งที่ประเทศไทย ความแตกต่างเหล่านั้นทำให้รู้สึกไม่โอเค จุดประสงค์ของระบบโซตัสในไทยคือการทำให้คนในองค์กรได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันและปรับเข้าหากัน ทั้งที่ต้องเป็นองค์กรเองที่ต้องเรียนรู้แล้วปรับตัวให้เข้ากับคนที่เข้ามาใหม่ได้อย่างไร ต้องคงไว้ซึ่งความคิดและตัวตนของเขา ไม่ใช่กดความคิดให้เขาคิดเหมือนๆ กัน ในฐานะที่เคยเรียนที่อเมริกาที่นั่นไม่มีระบบการรับน้อง ไม่มีการสร้างสังคมแบบไทย แต่การสร้างความสัมพันธ์ของที่นั่นคือระบบชมรมหรือคลับที่มีปลดปล่อยอิสระทางความคิดของนักศึกษา เป็นช่วงเวลาที่รุ่นพี่และรุ่นน้องได้สร้างความสัมพันธ์อย่างแท้จริงโดยที่ไม่จำเป็นต้องมาว้ากใส่กัน มากดดัน มาบังคับความคิดกันเลยด้วยซ้ำ
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วันดีเดย์พาเยาวชนหมูป่าออกจากถ้ำหลวง ช่วยได้แล้ว 4 ราย (8 ก.ค. 19.47 น.)

$
0
0

ผลปฏิบัติการวันแรกช่วยเยาวชนหมูป่าอะคาเดมีได้แล้ว 4 ราย หลัง 'ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร'ผบ.ศูนย์อำนวยการร่วมฯ ประกาศดีเดย์-ส่งผู้เชี่ยวชาญดำน้ำศักยภาพสูงไทยและเทศเข้าถ้ำ ใช้วิธีประกบเด็ก 1 ต่อผู้ดูแล 2 โดยต้องช่วยให้ได้วันนี้หลังประเมินความพร้อม 4 ด้าน 1. สภาพอากาศ 2. ระดับน้ำ 3. ผู้ปฏิบัติงาน และ 4. จิตใจน้องๆ ขณะที่ปฏิบัติการช่วยเหลือรอบ 2 จะเริ่มทันทีเมื่อพร้อมภายใน 10-20 ชม. ข้างหน้า

กรณีความคืบหน้าการช่วยเหลือทีมฟุตบอลเยาวชนหมูป่าอะคาเดมีแม่สายและโค้ช รวม 13 คน ที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน ก่อนที่ทีมกู้ภัยจะพบตัวเมื่อเวลา 21.38 น. คืนวันที่ 2 กรกฎาคม และมีการเตรียมแผนเคลื่อนย้าย 13 เยาวชนนั้น

 

ผบ.ศูนย์อำนวยการร่วมฯ สรุปปฏิบัติการรอบแรกช่วยทีมหมูป่า 4 ราย

ล่าสุดวันนี้ (8 ก.ค.) เวลา 20.47 น. ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน แถลงข่าวที่ อบต.โป่งผา ซึ่งมีการไลฟ์ผ่านเฟสบุ๊คเพจ PR.Chiangrai ประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย โดยณรงค์ศักดิ์กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า "16 วันแห่งการรอคอย วันนี้เราเห็นหน้าหมูป่าแล้ว วันนี้เป็นวันที่สมบูรณ์ที่สุด สถานการณ์ดีที่สุด ทั้งสภาพอากาศ สภาพร่างกายเด็ก ระดับน้ำในถ้ำที่จัดการได้ดี 4-5 วันที่ผ่านมา และมีปฏิบัติการกู้ภัย"

โดยอย่างที่เคยกล่าวไว้ว่าขั้นตอนช่วยเหลือประกอบด้วย 1. ค้นหา 2. กู้ภัย 3. ส่งกลับ โดยผ่านขั้นตอนค้นหาแล้ว และวันนี้เริ่มขั้นตอนกู้ภัยและส่งกลับ โดยยืนยันว่าส่งเยาวชน 4 คน ไปที่ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์แล้ว

ทีมกู้ภัยของปฏิบัติการวันนี้ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศที่เป็นนักดำน้ำ 10 อีก 3 คนเป็นเจ้าหน้าที่เทคนิคคอยประสานงานและจัดระเบียบ และมีทีมซีลไทย 5 คนเข้าไปช่วย

ขณะที่ในการปฏิบัติการจริง มีเจ้าหน้าที่ดำน้ำทั้งหมด 90 นาย 50 กว่ารายเป็นนักดำน้ำต่างประเทศ ประมาณ 40 รายเป็นดำน้ำจากของไทย  สำหรับรูปแบบการเคลื่อนย้ายเยาวชนสวมหน้ากากดำน้ำที่กันน้ำเข้า มีระบบเซฟตี้ น้องๆ สามารถหายใจแบบปกติได้

โดยทีมช่วยเหลือเข้าปากถ้ำไปตั้งแต่เวลา 10.00 น. เคยประเมินว่าเห็นคนแรกออกมา 21.00 น. แต่ปฏิบัติการสำเร็จมากกว่าที่คาด น้องคนแรกพ้นถ้ำเวลา 17.40 น. น้องคนที่ 2 ออกมาเวลา 17.50 น. หรือ 10 นาทีถัดมา หลังจากดูแลสุขภาพให้มั่นคงแล้วก็ไปส่ง รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์

เยาวชนลำดับที่ 3 กับ ลำดับที่ 4 ออกมาเวลา 19.40 น. และ 19.50 น. และส่งไป รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์แล้ว

ถือว่าวันนี้ได้กู้ภัยและส่งตัวที่ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ 4 คนแล้ว ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง

หลังจากนี้ทุกฝ่ายทุกด้านจะมีการประเมินว่าจะปฏิบัติการอย่างไรต่อ โดยต้องวางถังอ็อกซิเจนและอุปกรณ์ช่วยเหลือใหม่ โดยทีมที่ทำหน้าที่วางถังอ็อกซิเจนเมื่อพร้อมก็จะวางทันที โดยปฏิบัติการถัดไปจะเริ่มเมื่อไหร่ยังบอกไม่ได้ แต่ประเมินว่าภายใน 10 กว่าชั่วโมง ไม่เกิน 20 ชั่วโมงข้างหน้า ถ้าสถานการณ์ Stable (นิ่ง) ก็จะเริ่มเลย

โดยในเวลา 21.00 น. คืนนี้ จะเรียกทุกทีมมาประเมินสถานการณ์ รวมทั้งปรับแก้ไขสำหรับภารกิจในครั้งต่อไป รวมทั้งแผนเคลื่อนย้าย แผนจัดการจราจร ทีมแพทย์ทุกคนต้องเตรียมหมดว่าเมื่อกู้ภัยแล้วสภาพร่างกายเยาวชนเป็นอย่างไร ให้อ็อกซิเจนแล้วผลเป็นอย่างไร หายใจอย่างไร รวมทั้งประเมินอุปกรณ์ที่ใช้ในช่วงกู้ภัยในถ้ำ และประเมินทุกทีม รวมทั้งทีมตำรวจทีมบริหารจัดการทั้งหมด

"วันนี้เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงที่สำเร็จของทีมปฏิบัติงานทุกทีม"ณรงค์ศักดิ์กล่าว พร้อมกล่าวขอบคุณสื่อมวลชนที่สละพื้นที่หน้าถ้ำ โดยกล่าวด้วยว่าใช้เวลาเคลื่อนย้ายเยาวชนจากหน้าถ้ำไปถึงจุดจอดเฮลิคอปเตอร์ใช้เวลา 2 นาที ไวกว่าที่เคยฝึกซ้อมแรกๆ ที่ใช้เวลาถึง 10 นาที

ณรงค์ศักดิ์กล่าวด้วยว่า "ขอบคุณทุกคนที่ร่วมส่งกำลังใจ ที่สำคัญที่สุดคือด้วยเดชะพระบารมีของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์ท่านกรุณาพวกเราทุกคน ทรงให้กำลังใจพวกเราทุกคน วันนี้เราถึงมีภารกิจที่สำเร็จในวันนี้ ผมในนามตัวแทนทีมปฏิบัติทุกคน กราบขอบพระคุณทุกท่านที่ช่วยให้กำลังใจพวกเรา ถือว่าสำเร็จไปอีกขั้นหนึ่งแต่ยังไม่ครบถึงทั้งหมด โดยเราจะทำภารกิจต่อไปให้ดีเท่าๆ กับวันนี้"

โดยเท่าที่รายงานข่าวในขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเผยรายชื่อเยาวชน 4 รายที่ได้รับการช่วยเหลือออกมาจากถ้ำ โดยจะมีรายงานเพิ่มเติมในลำดับต่อไป

 

เพจหน่วยซีลยืนยันช่วยได้แล้ว 4 ราย

ก่อนหน้านี้เมื่อ เวลา 19.47 น. ในเพจ Thai NavySEALของหน่วยซีลแจ้งว่า "19.47 หมูป่าตัวที่ 4 ออกจากถ้ำ"

เวลา 19.35 น. ในเพจ Thai NavySEAL ยืนยันว่า "หมูป่า 3 ตัวออกจากถ้ำ"

เวลา 19.17 น. สำนักข่าวรอยเตอร์อ้างคำพูด นพ.ทศเทพ บุญทอง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ระบุว่ามีเยาวชน 2 คน ออกจากถ้ำหลวงแล้ว และกำลังตรวจเช็คสภาพร่างกาย

 

จัดโซนรายงานข่าวใหม่ กันพื้นที่ห่างจากหน้าถ้ำ

06:45 น. ตั้งแต่เช้าวันนี้ เจ้าหน้าที่ขอให้สื่อมวลชนออกจากพื้นที่บริเวณหน้าถ้ำ โดยจัดพื้นที่แถลงข่าวใหม่เป็นด้านหน้า อบต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย นอกจากนี้มีการกั้นพื้นที่ไม่ให้สื่อมวลชนเข้าในเขตโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ที่เด็ก ๆ และโค้ชที่จะถูกส่งตัวไป และให้สื่อมวลชนไปรอรายงานอยู่ที่โรงเรียนเทศบาล 5 ห่างจากโรงพยาบาล 1 กม.

 

ผบ.ศูนย์อำนวยการฯ ดีเดย์ส่งผู้เชี่ยวชาญดำน้ำไทย-เทศ 18 รายเข้าถ้ำ

ก่อนหน้านี้เมื่อเวลา 10.00 น. เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ 13 คน และผู้เชี่ยวชาญของไทยที่มีศักยภาพในการดำน้ำสูงจำนวน 5 คนเข้าไปปฏิบัติภารกิจในการช่วยเหลือ 13 เยาวชนและโค้ช

ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน แถลงเมื่อเวลา 10.25 น. วันที่ 8 ก.ค. 61 (ที่มา: สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์)

10.25 น. ในรายงานของสำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน แถลงว่าว่าหลังจากช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ได้ปร้บสภาพพื้นที่ ยืนยันว่าในการช่วยเหลือเด็กทั้ง 13 คนจะต้องมีความพร้อมทุกอย่าง ทั้งตัวเด็ก เจ้าหน้าที่ และระดับน้ำ ซึ่งในวันนี้เป็นวันดีเดย์จะปฏิบัติการนำตัวเด็กทั้ง 13 คนออกจากถ้ำ โดยส่งผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ 13 คน และผู้เชี่ยวชาญไทย 5 คน เข้าไปช่วยเหลือเแล้ว ยืนยันว่าขณะนี้มีความพร้อมทุกด้าน ขอให้ทุกคนรอฟังข่าวดี และส่งกำลังใจให้การปฏิบัติภารกิจประสบความสำเร็จ จากการประเมินคาดว่าจะนำตัวเด็กคนแรกออกมาเร็วที่สุดในเวลา 21.00 น. และจะมีการทำภารกิจต่อเนื่องจนกว่าเด็กจะออกมาจากถ้ำได้ทั้งหมด

ในการแถลงข่าว ผบ.ศูนย์อำนวยการร่วมฯ ชี้แจงว่า วิธีช่วยเหลือจะใช้วิธีประกบคู่เด็กหนึ่งคนต่อผู้ดูแลสองคน จะเลือกใช้วิธีที่เหมาะสมที่สุด เนื่องจากน้ำลดตั้งแต่โถง 1 ถึงโถง 3 สามารถเดินได้หลายจุด อุปสรรคสำคัญของปฏิบัติการครั้งนี้คือน้ำกับเวลา จึงต้องทำทุกวิถีทาง ขอให้มีเพียงเสี้ยววินาทีที่เหมาะสมพอเพียงที่จะนำเด็กออกมา อย่างปลอดภัย หากเป็นไปตามแผน เยาวชนคนแรกจะออกมาถึงประมาณ 21.00 น. คืนนี้ (8 ก.ค.61) ซึ่งการปฏิบัติงานต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 3 - 4 วัน 

ส่วนการเจาะโพรงและนำน้ำออกจากถ้ำก็ยังดำเนินการควบคู่กันตลอดเวลา แต่ยังไม่พบโพรงที่เชื่อมกับถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ขอขอบคุณสำหรับความช่วยเหลือทั้งจากชาวไทยและต่างประเทศ ที่ส่งผู้เชี่ยวชาญ เครื่องมือ และทรัพยากรมาช่วยทำงาน ขณะนี้มีความพร้อม 4 ด้านทั้ง 1. สภาพอากาศ 2. ระดับน้ำ 3. ความพร้อมของผู้ปฏิบัติงาน และ4. ความพร้อมของจิตใจน้องๆ

ณรงค์ศักดิ์ ให้ข้อมูลระดับน้ำด้วยว่า วันนี้ระดับน้ำลดลงต่ำสุด อย่างไรก็ตามจากพยากรณ์อากาศพายุลูกใหม่กำลังจะเข้ามา ถ้ามีน้ำฝนเติมเข้ามาอีก การทำงานต้องเริ่มต้นใหม่  ขณะเดียวกันเด็กๆ ทั้งหมดรับทราบภารกิจ พร้อมจะออกมากับเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะเผชิญอะไร ครอบครัวของเด็ก ๆ รับทราบและเห็นด้วยกับภารกิจแล้ว ขณะที่ทีมแพทย์มีความพร้อม ได้ซักซ้อมทดสอบแผนช่วยเหลือก่อนปฏิบัติจริง โดยภารกิจจะดำเนินการต่อเนื่องจนกว่าคนสุดท้ายจะออกมา ได้มีการซักซ้อมรับทั้งทางบก ทางอากาศ จัดเฮลิคอปเตอร์ไว้ 6 ลำ รถพยาบาล 13 คัน

สาธารณสุขเชียงรายยืนยันความพร้อมทุกด้าน ปภ.พร้อมสูบน้ำเต็มที่

11.00 น. ข้อมูลเพิ่มเติมจากศูนย์ปฏิบัติการประชาสัมพันธ์ถ้ำหลวง กรมประชาสัมพันธ์ พล.ต.ฉลองชัย ชัยยะคำ รองแม่ทัพภาคที่ 3  กล่าวว่า ปฏิบัติการร่วมใช้แผนที่มีความสมบูรณ์ ง่าย และปฏิบัติได้จริง โดยได้เลือกแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด มีการซ้อมแผน เมื่อมั่นใจจึงปฏิบัติ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

ด้าน นพ.ทศเทพ บุญทอง สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย กล่าวยืนยันความพร้อมทุกด้านทางการแพทย์ ขณะนี้เตรียมพร้อมทั้งหมดแล้ว

ส่วนกอบชัย บุญอรณะ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า การสนับสนุนไฟฟ้าในถ้ำเพื่อช่วยในการสูบน้ำมีความเสถียร ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ขณะนี้ระดับน้ำในถ้ำลดอย่างต่อเนื่อง

ด้านสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยให้ข้อมูลด้วยว่า  สภาพอากาศ ที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ในวันนี้ ท้องฟ้าครึ้มมีเมฆปลุกคุมมากและมีฝนตกลงมาบ้างเล็กน้อย

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายเหตุประเพทไทย #217 ทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตะวันตก-ตะวันออก

$
0
0

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ ชานันท์ ยอดหงษ์ และปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ ชวนคุยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ภายหลังการเติบโตอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นมหาอำนาจของจีนแผ่นดินใหญ่ ทั้งนี้นักวิเคราะห์จากตะวันตกก็กังวลว่าการแข่งอิทธิพลเช่นนี้จะนำไปสู่สงครามกับสหรัฐอเมริกา หรือเกิดการเปลี่ยนถ่ายอำนาจนำจากสหรัฐอเมริกาไปยังจีนหรือไม่ อย่างไรก็ตามกรอบทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบโลกตะวันออกอาจไม่สามารถใช้อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในเอเชีย เมื่อชาติต่างๆ ไม่ได้คิดจะคานอำนาจกับจีน และการขยายอิทธิพลของจีนก็ไม่ถึงจุดที่ทำให้เกิดสงครามแบบที่เคยเกิดขึ้นในยุโรป

ทั้งนี้การจะเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจจะไม่สามารถเข้าใจโดยผ่านทฤษฎีที่พัฒนาจากโลกตะวันตกได้ทั้งหมด รวมทั้งมีความจำเป็นต้องพัฒนาทฤษฎีการศึกษาระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยยกตัวอย่างหรือใช้มุมมองจากภูมิภาคนั้นๆ แทน

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่
เฟสบุ๊ค https://www.facebook.com/maihetpraphetthai
หรือลงทะเบียนรับชมที่ https://youtube.com/prachatai

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทีมข่าวเวิร์คพอยท์ขอโทษปมปล่อยเสียงวิทยุสื่อสารระหว่างช่วยทีมหมูป่า แจงไม่ได้ดักฟังราชการ

$
0
0

ทีมข่าวเวิร์คพอยท์แถลงขออภัยกรณีนำเสนอเสียงจากสัญญานวิทยุสื่อสาร ในระหว่างภารกิจช่วยเหลือ ทีมหมูป่าอะคาเดมี พร้อมแจงไม่เคยดักฟังวิทยุสื่อสารของราชการอย่างที่มีผู้กล่าวอ้าง เสียงที่ปรากฎในข่าวมาจากวิทยุเครือข่ายเครื่องสีแดงที่ประชาชนฟังได้ทั่วไป 

9 ก.ค.2561 เมื่อเวลา 11.43 น. เฟสบุ๊คแฟนเพจ 'Workpoint News - ข่าวเวิร์คพอยท์'ออกแถลงคำขอโทษจากทีมข่าวเวิร์คพอยท์กรณีนำเสนอเสียงจากสัญญานวิทยุสื่อสาร ในระหว่างภารกิจช่วยเหลือ ทีมหมูป่าอะคาเดมี ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย

รายละเอียดคำแถลงของ ทีมข่าวเวิร์คพอยท์ ระบุว่า

ทีมข่าวเวิร์คพอยท์ขออภัยกรณีนำเสนอเสียงที่ได้มาจากสัญญานวิทยุสื่อสาร ในรายการข่าว

กรณีรายการข่าวเวิร์คพอยท์ เช้าวันที่ 9 ก.ค.2561 ได้มีการนำเสนอเสียงจากสัญญานวิทยุสื่อสาร ในระหว่างภารกิจช่วยเหลือ 13 นักเตะ
.
เบื้องต้นเราขออธิบายและขออภัย
.
1. ทีมข่าวไม่เคยดักฟังวิทยุหรือการสื่อสารของราชการอย่างที่มีผู้กล่าวอ้าง เสียงที่ปรากฎในข่าวมาจากวิทยุเครือข่ายเครื่องสีแดงที่ประชาชนฟังได้ทั่วไป รวมทั้ง ถ่ายทอดผ่านแอพพลิเคชั่น Zello โดยผู้พูดคืออาจารย์พลสิงห์ แสนสุข ประธานศูนย์พญาอินทรี ซึ่งเป็นการส่งข้อมูลข่าวสาร(ว.8)ที่ประชาชนเข้าถึงได้ปกติ 

2. ข่าวดังกล่าวถูกนำเสนอ พร้อมกับการสัมภาษณ์สดทางโทรศัพท์นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายภายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เพื่อสอบถามความถูกต้อง โดยช่องได้รายงานคำยืนยันของผู้ว่าว่าข้อมูลดังกล่าวคลาดเคลื่อนทันที การนำเสนอในโซเชียลมีเดียเฉพาะภาพเสียงจากวิทยุสื่อสารภาพเดียว แล้วระบุว่าเราดักฟังคลื่นราชการจึงเป็นการตัดตอนบริบทที่ทำให้สังคมเข้าใจข้อมูลไม่ครบถ้วนตามความเป็นจริง

3. เราขออภัยที่รีบเผยแพร่เสียงนี้ จนเกิดความไม่เหมาะสมต่อสถานการณ์ ที่มีความละเอียดอ่อน ทั้งในเชิงการทำงานของเจ้าหน้าที่ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับ 13 นักเตะ
.
เป็นความผิดพลาดที่ไม่ควรเกิดขึ้น หลังจากนี้เราจะเรียนรู้จากความผิดพลาดและปฏิบัติภารกิจนำเสนอข่าวและข้อมูล ช่วยเหลือน้องๆ นักเตะทีมหมูป่าด้วยความระมัดระวังอย่างเต็มที่
.
ทีมข่าวเวิร์คพอยท์ขออภัยต่อความไม่สบายใจของทุกท่านครับ

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โทษประหารในมุมชัยวัฒน์ : อาชญากรไม่ได้หล่นมาจากฟ้า แต่ผุดขึ้นจากเนื้อนาดินสังคม

$
0
0

'ชัยวัฒน์ สถาอานันท์'ชวนสังคมไทยตั้งคำถามต่อโทษประหาร ลงโทษทำไม ทำไมการลงโทษจึงมีความเปลี่ยนแปลง และสังคมไทยต้องการอะไรจากโทษประหาร หรือโทษประหารกำลังสะท้อนความสิ้นหวังของเราเองต่อมนุษย์และสังคม

  • อาชญากรไม่ได้หล่นลงมาจากท้องฟ้า แต่ผุดขึ้นจากเนื้อนาดินของสังคมไทย
  • ทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำล้วนเป็นเหยื่อ
  • โทษประหารมีพลวัตและเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด
  • โทษประหารสะท้อนความสิ้นหวังของเราต่อสังคมไทยและมนุษย์
 

การประหารผู้ต้องขังครั้งล่าสุดหลังจากว่างเว้นไปเกือบ 10 ปี จุดกระแสการถกเถียงอันร้อนแรงในสังคมไทยว่า โทษประหารควรมีอยู่หรือไม่ มันนำไปสู่การโต้เถียงด่าทอกันระหว่างสองฟากความคิด

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยได้จัดงานเสวนาเรื่อง ‘ทางออกโทษประหารกับปัญหากระบวนการยุติธรรม’ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยหนึ่งในวิทยากรคือ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักวิชาการด้านปรัชญาการเมือง ศาสตราจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งชวนตั้งคำถามที่น่าสนใจหลายประการ

อาชญากรไม่ได้หล่นลงมาจากท้องฟ้า แต่ผุดขึ้นจากเนื้อนาดินของสังคมไทย

ผมอยากชวนตั้งคำถามสามสี่ข้อ

1.โทษประหารเป็นการลงโทษอย่างหนึ่ง คำถามที่อยากชวนคิดคือเวลาลงโทษ เราลงโทษทำไม

2.โทษประหารในสังคมไทยเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ถึงปัจจุบัน ผมอยากสรุปสั้นๆ ว่าทำไมมันเปลี่ยน

3.การเรียกร้องโทษประหารในสังคมไทย จริงๆ แล้วสังคมไทยต้องการอะไร

จากคำถามข้อแรก โทษประหารเป็นการลงโทษ แต่เวลาคิดเรื่องโทษประหาร เรื่องความยุติธรรม ทำไมเราคิดเรื่องการลงโทษแบบนี้ เอาชีวิตไปก็ต้องใช้ด้วยชีวิต ประวัติศาสตร์โบราณของเรื่องนี้คือประวัติศาสตร์ของการจัดบัญชีให้เท่ากัน เราเองก็เชื่อทำนองนั้นในความหมายที่ว่าทำอะไรก็เท่ากัน ความยุติธรรมแบบนี้เป็นความต้องการหนึ่ง ดังนั้น การลงโทษจึงเป็นไปเพื่อแก้แค้น

ประการที่ 2 การลงโทษเป็นไปเพื่อป้องกัน ในอดีตจึงประหารในที่สาธารณะ เชื่อว่าทำแบบนี้จะป้องกันไม่ให้เกิด วิธีประหารก็พิสดารหลากหลายมาก ผมเข้าใจว่าในยุโรป ในจีนก็ทำแบบเดียวกันคือฉีกสังขาร ให้ม้าสี่ตัวดึงร่างของนักโทษออกจากกัน โดยเชื่อว่าความแรงของการลงโทษจะทำให้คนเชื่อฟังกฎหมายและไม่ทำความผิด เชิงอรรถของผมก็คือไม่รู้มันทำงานแบบเดียวกับซองบุหรี่หรือเปล่า ซองบุหรี่มีภาพปอดทะลุ แต่ปรากฏว่าบุหรี่ก็ยังขายได้ดี

ประการที่ 3 เขาเชื่อว่าการลงโทษเป็นไปเพื่อแก้ไขผู้กระทำผิด การคิดเรื่องนี้ต้องคิดอย่างบูรณาการ การที่คนหนึ่งจะตัดสินใจเป็นอาชญากร ไม่ใช่อยู่ดีๆ เป็น แต่มีเหตุปัจจัยจำนวนมากที่ทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ การบอกว่าโทษประหารยกเลิกไม่ได้หรอก เพราะมีปัญหาอื่นเช่นความมเหลื่อมล้ำ มีความไม่ยุติธรรม มีความยากจน ความไม่รู้มากมายไปหมด ทั้งหมดนี้ผมเรียกว่าปัจจัยทางโครงสร้าง ปัจจัยเหล่านี้แหละครับที่มันให้กำเนิดฆาตกร ไอ้หื่น อาชญากรไม่ได้หล่นลงมาจากท้องฟ้า แต่ผุดขึ้นจากเนื้อนาดินของสังคมไทย ซึ่งมีคุณภาพแบบนี้ มันจึงออกมาในสภาพแบบนี้ คำถามคือทำไมคนอื่นไม่เป็น ก็เพราะเงื่อนไขไม่เอื้ออำนวย มันมีเงื่อนไขบางอย่างที่ทำให้เราเป็นอย่างที่เราเป็นในทางสังคม ถ้าคิดจากมุมสังคมศาสตร์เราจึงต้องโฟกัสที่เหตุปัจจัยทางสังคม ซึ่งมีความสำคัญไม่แตกต่างกันและมีความสัมพันธ์กัน

มีคำถามว่า มียีนที่ทำให้เกิดมาเป็นอาชญากรหรือไม่ ในทางกฎหมายมีคำอธิบายอย่างหนึ่ง แต่ในทางวิทยาศาสตร์พบว่าในเด็กจำนวนหนึ่งที่ส่วนบางส่วนในสมองถูกฉีกห่างออกจากกันและทำให้กลายเป็นคนก้าวร้าวรุนแรง ในทางการแพทย์ที่ซ่อมสมอง เขาก็ทำ ใส่ส่วนนี้กลับไป ความก้าวร้าวรุนแรงก็ลดลง ถ้าสนใจต้องเข้าไปในโลกของประสานวิทยา

แต่ทั้งหมดแปลว่าบางทีคนที่ก่ออาชญากรมันมีเหตุอย่างอื่น เวลาเราคิดถึงอาชญากรทั้งหลายและคิดถึงคนอีกคนหนึ่งที่ใช้ดาบเชือดคอ เอาปืนยิง เราชอบคิดว่าคนยิงเป็นคนทำความรุนแรงและอีกฝ่ายเป็นเหยื่อ เหยื่อถูกกระทำ เป็นไปได้หรือไม่ว่าในทุกฉากฆาตกรรมมีเหยื่อสองคน คนหนึ่งอยู่ที่ปลายกระบอก อีกคนอยู่ที่ไกปืน ถ้าเราคิดแบบนี้มันจะวิ่งไปยังประเด็นที่ว่าในประเทศนี้มีแต่ความเหลื่อมล้ำเต็มไปหมด การกำจัดคนไปคนหนึ่งจึงไม่แก้ปัญหา แล้วก็เกิดคนอื่นขึ้นมาอีก ถ้าเหตุปัจจัยเหล่านี้ไม่หมดไป และเหตุปัจจัยเหล่านี้บางทีมันเล็กน้อยมาก มันมีคดีฆาตกรรมพยาบาลคนหนึ่งในซอยที่ถูกฆ่าข่มขืน เหตุเกิดเพราะซอยนั้นมันเปลี่ยว ไม่มีไฟ

มนุษย์ทำอะไรบางอย่างบนเงื่อนไขบางอย่าง เราที่นั่งอยู่ตรงนี้อาจดูเหมือนเป็นคนดี เชื่อฟังกฎหมาย เชื่อฟังหลักศีลธรรม แต่พอไฟมืดหมด เราก็คิดเรื่องชั่วร้ายได้มากมายเหมือนกัน ในแง่นี้อาชญากรรมก็เป็นผลของเหตุปัจจัย ความน่าสนใจคือไม่ใช่ว่าตัวแปรทุกตัวเท่ากัน บางตัวเป็นเหตุปัจจัยที่ส่งผลทันที เพราะฉะนั้นถ้าเชื่อแบบนี้ คนกระทำผิดก็อาจแก้ไขได้ หลายประเทศจึงยกเลิกโทษประหาร เพราะการมีโทษประหารคือการบอกกับตัวเราเองว่าเราหมดหวังกับคนนี้แล้ว แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว

ผมทราบครับว่าการแก้ไขต้องลงทุน อันนี้เป็นปัญหาของสังคมต้องคิดว่าเราอยากจะลงทุนหรือไม่ เราจะได้ย้อนกลับไปคิดว่าทำไมเขาจึงเดินมาถึงจุดนี้ ทำไมเขาจึงฆ่าคน อันนี้สังคมไทยต้องถาม

ส่วนคำถามที่ว่าเรื่องนี้เกี่ยวของกับความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์หรือไม่ ข้อต่างสำคัญ ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์โฟกัสที่ความสัมพันธ์ ไม่ใช่ที่เป้าหมาย เพราะฉะนั้นถ้าถามว่ามันซ่อมแซมอะไร มันซ่อมแซมความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำผิดกับเหยื่อ ไปถึงเรื่องการให้อภัยและอื่นๆ อีกมากมาย ถามว่าสังคมไทยเป็นเนื้อนาบุญของการให้อภัยหรือไม่ แน่นอน เราอยู่ในสังคมซึ่งอาบอยู่ด้วยรสพระธรรมของพุทธศาสนา มันก็มีพลังแบบนั้นอยู่ คำถามที่น่าสนใจคือทำไมพลังแบบนั้นจึงดูเหมือนถูกบดบังด้วยความโหดร้ายที่เกิดขึ้นในสังคม แต่มีคนลุกขึ้นมาให้อภัยหรือเปล่า มีนะครับ

พลวัตของโทษประหาร

ประเด็นต่อมา โทษประหารในสังคมไทยเปลี่ยนแปลงมาพอสมควร ก่อนหน้านั้นเรามีพระอัยการกบฏศึก มีการทรมานก่อนด้วย ทั้งหมดนี้มาเปลี่ยนใน ร.ศ.127 หยุดพระอัยการกบฏศึก หยุดการตัดหัว ทำไมถึงหยุด คำตอบคือสังคมไทยสมัยรัชกาลที่ 5 กำลังเปลี่ยนแปลงเป็นสมัยใหม่ สิ่งที่ท่านต้องทำคือต้องต่อรองกับอังกฤษและฝรั่งเศสที่มีอิทธิพลต่อประเทศไทยและไม่ยอมขึ้นต่อกฎหมายไทย รัชกาลที่ 5 จึงเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้เพื่อหยุดสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ความจริงรัชกาลที่ 5 เองท่านก็เสด็จประพาสไปที่ต่างๆ ท่านก็เห็นว่าต้องเปลี่ยน แล้วมาเปลี่ยนอีกครั้งหนึ่งปี 2477 เปลี่ยนจากตัดหัวเป็นยิงเป้า ไม่ให้คนยิงเห็น ยิงเสร็จแล้วก็ไป พยายามทำให้การลงโทษไม่เป็นเรื่องส่วนบุคคล เปลี่ยนอีกทีปี 2539 เปลี่ยนจากการยิงเป้าเป็นเป็นฉีดยา แต่มาใช้จริงปี 2546

ประเด็นคือโทษประหารไม่ได้อยู่นิ่ง มีพลวัตและเปลี่ยนแปลงตามเหตุปัจจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอิทธิพลจากการที่สังคมไทยดำรงอยู่ในมิตินานาชาติ บางคนเรียกปรากฏการณ์นี้ว่ากระบวนการทำให้สังคมไทยเป็นอารยะ  ก้าวต่อไปสู่การยกเลิกโทษประหารก็เป็นทำนองเดียวกัน เป็นเส้นทางพัฒนาการของสังคมไทย สังคมไทยเอาหรือไม่เอา ไม่ทราบ แต่พัฒนาการของสังคมในหลายประเทศเป็นเช่นนั้นและเดินทางไปสู่การไม่มีโทษประหาร

สิ่งที่สังคมไทยต้องการจากโทษประหาร

สังคมไทยต้องการอะไรเวลาใช้โทษประหาร ตอบอย่างรวดเร็วคือคนผิดต้องได้รับการลงโทษ แต่ความคิดนั้นอยู่บนฐานความเข้าใจที่สำคัญว่าเป็นความทุกข์ของญาติพี่น้องของคนตาย ที่บอกว่าความคิดนี้เป็นข้อเท็จจริงล้วนๆ ไม่มีทฤษฎี บังเอิญผมมาจากสำนักที่เชื่อว่าบนโลกนี้ไม่มีอะไรที่เป็นข้อเท็จจริงล้วนๆ มีแต่ทฤษฎี รวมทั้งความคิดที่เชื่อว่าชีวิตต้องแลกด้วยชีวิตก็เป็นทฤษฎีหนึ่ง

ยกตัวอย่างเช่นอาชญากรฆ่าข่มขืนคนไปประมาณ 80 คน เหยื่อคนหนึ่งถามทำไมทำแบบนี้ มันไม่ยุติธรรมที่เอาชีวิตคนไป ในบทสนทนาที่ถอดเทปไว้ฆาตกรบอกว่า คุณเรียกร้องความยุติธรรม ความยุติธรรมยังไงเหรอ ผมฆ่าคนมาแล้ว 80 คน แล้วคุณประหารผม คุณคิดว่ายุติธรรมเหรอ ชีวิตผมแทนคนที่ผมฆ่าคนไหนเหรอ หรือคุณกำลังจะบอกว่าชีวิตผมสำคัญเท่ากับคน 80 คน โจทย์นี้น่าสนใจมาก เพราะมันกลายเป็นคำถามว่าสิ่งที่เราเรียกว่าความยุติธรรมมันเป็นจริงหรือเปล่า ชีวิตมันเท่ากันจริงหรือเปล่า แล้วมันส่งผลต่อสังคมอย่างไร

คำถามสุดท้ายคือเวลาสังคมไทยคิดถึงโทษประหาร จริงๆ แล้วสังคมไทยต้องการอะไร ถ้าคำตอบคือต้องการแก้แค้น คำถามก็วิ่งไปว่าในที่สุดแล้วการแก้แค้นทำได้หรือไม่ ถ้าเขาฆ่าคนตายเยอะแยะ แล้วมันเป็นการแก้แค้นให้ใคร คนก็มีแค่ชีวิตเดียว ถ้าตอบว่าดีกว่าทำอย่างอื่น ถ้าตอบแบบนี้ คำถามก็คือว่าโทษประหารทุกครั้งที่เราทำ มันบ่งชี้อะไร ผมคิดว่ามันบ่งชี้ความรู้สึกหมดหวัง คล้ายๆ เราหมดหวังกับสังคม หมดหวังกับคนในสังคม คนนี้เอาไว้ไม่ได้แล้วต้องตัดหัวเขา

ในความหมายนี้จึงเป็นสัญญาว่า เรารู้สึกหมดหวังกับมนุษย์ หมดหวังกับสังคม หมดหวังกับอะไรหลายๆ อย่าง อาจมีเหตุผลที่ประเทศต่างๆ ในโลกพัฒนาไปสู่ความคิดที่ว่ามนุษย์ยังมีทางออก มันต้องเถียงกันเยอะเลยว่าตกลงมีสิ่งที่เรียกว่าสันดานดิบอยู่จริงๆ หรือไม่ เป็นคำถามที่เราต้องถามตัวเองว่า ในที่สุดแล้วสังคมอยากจะเดินไปทางไหน ซึ่งแต่ละทางมีผลต่อการตัดสินใจว่าเราเป็นอะไร สังคมคิดอย่างไรกับเรื่องแบบนี้ เป็นแบบทดสอบที่น่าสนใจ

เรารับผิดชอบแค่ไหนเมื่อฆาตกรปรากฏตัว

ประเด็นที่อยากตั้งข้อสังเกตคือการประหารชีวิตคือการฆ่า มันยุติทุกอย่างต่อชีวิต มันต้องตั้งคำถามว่าการลงโทษประหาร ฆ่าผิดตัวได้หรือเปล่า ในอเมริกาตอนนี้มีขบวนการของผู้บริสุทธ์ เขาเชื่อว่าคนที่รอโทษประหารจำนวนหนึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ อาจมี 2-5 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้บริสุทธิ์ ถามว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร คำตอบของการศึกษาระยะหลังคือตำรวจซึ่งเป็นต้นทางทำงานไม่ได้เรื่อง สอง-พยานที่บอกว่าเห็น จริงๆ ไม่ได้เห็น มันเป็นอีกอย่าง สาม-การทำผิดพลาดของอัยการเอง สี่-ทนายจำเลยอาจไม่พร้อม เช่น บางกรณีไม่ได้ประมวลพยานให้มากเพียงพอ สัมภาษณ์พยานบุคคลไม่ครบ อีกอย่างคือหลักฐานทางนิติเวชที่เก็บมาอาจทำได้ไม่ดีพอ ผลที่ตามมาคือในอเมริกาจึงมีขบวนการผู้บริสุทธิ์เพื่อกรองสิ่งเหล่านี้ ที่ต้องทำก็เพราะโทษประหารเป็นการลงโทษที่เป็นที่สุด มันเอาชีวิตคน พูดตามหลักศาสนา มันเป็นหน้าที่ของพระเจ้าว่าจะสิ้นสุดชีวิตมนุษย์เมื่อไหร่ แต่ตอนนี้รัฐกำลังทำหน้าที่นี้แทนพระเจ้า มันจึงต้องมีกระบวนการกรอง

ปัญหามีอยู่อันหนึ่งคือในสังคมไทยและสังคมโลกมีสิ่งที่นักวิชาการเรียกว่า Confirmation Bias คือเห็นโลกตามที่ถูกบอกให้คิดว่าคนนี้ผิดจริง คุณเชื่อแบบนี้ก็หาหลักฐานที่สนับสนุนมา แต่หลักฐานที่ไม่สนับสนุนไม่หา หลักฐานมันมีทั้งสองด้าน แต่คุณอาจให้ความสำคัญกับอีกด้านหนึ่งน้อยเกินไปหรือเปล่า นี่เป็นโจทย์ที่เราต้องคิด

ในที่สุดแล้ว สังคมไทยจะต้องหวนคิดเพราะการรอนสิทธิ์ชีวิตคน มันเป็นที่สุด ถึงมีระบบกรอง แต่ระบบเราดีจริงหรือไม่ก่อนที่เราจะตัดสินใครสักคน บางทีในอดีตที่มีโทษประหาร มันอยู่ในระบบคิดแบบหนึ่งว่าตายแล้วก็กลับมาเกิดใหม่ แต่ถ้าเราไม่เชื่อแบบนั้น เราเชื่อว่ามีชีวิตเดียวและสำคัญ มันก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง

เวลาเราใช้โทษประหารคือความหมดหวังต่อชีวิตคนนั้น ถามเลยไปอีกหน่อยว่าสังคมไทยมีบทบาทรับผิดชอบแค่ไหน เมื่อใครสักคนปรากฏตัวขึ้นในสังคมในฐานะฆาตกร เราเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้อง เราเกี่ยวข้องแค่ไหน เราเกี่ยวข้องในฐานะคนซึ่งนั่งดูเฉยๆ เราเกี่ยวข้องในฐานะของคนที่สนับสนุน สื่อมวลชนซึ่งสื่อความรุนแรงที่ในที่สุดสร้างคนเหล่านี้ขึ้นมา และเราไม่เคยยกมือห้าม

ผมเห็นเคสที่ทำวิจัย บางทีแค่นิดเดียวเพราะถนนมันมืด แต่เราไม่เคยสนใจเลยว่าต้องติดไฟถนน ถ้าเราไม่สนใจ แล้วมันเกิดขึ้น เราชี้ว่าคนนี้ทำผิด ทุกครั้งที่เราชี้ไปคนอื่น มันมีสามนิ้วชี้มาหาเรา แล้วเราควรทำอะไรบ้างหรือไม่เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ ผมถึงอธิบายว่าเวลาเรายิงใครสักคน ไม่ได้มีเหยื่อคนเดียวที่อยู่ปลายปากกระบอกปืน มีเหยื่อที่ไกด้วย แต่เหยื่อที่อยู่ที่ไก เรามองไม่ค่อยเห็นเพราะมาจากเหตุปัจจัยทางสังคม และนั่นเป็นปัญหาของเราทุกคน เรื่องโทษประหารจึงเป็นโอกาสดีที่เราจะคิดว่า เราควรทำอะไรเพื่อยุติสิ่งเหล่านี้ หันมาสู่สังคมที่ยังมีความหวัง และให้โอกาสมนุษย์

บนโลกนี้มีวิธีที่ง่ายและมีวิธีที่ยาก คำถามที่น่าสนใจคือวิธีที่ง่ายและดูเหมือนทันใจเป็นวิธีที่ดีสำหรับการสร้างสังคมที่เราต้องการหรือเปล่า อันนี้ผมไม่ทราบ

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 14385 articles
Browse latest View live