‘เกษียร’ กับคำอธิบายรัฐพันลึก เครือข่ายที่ไม่เป็นทางการ การพลาดพลั้งของอเมริกา การเปลี่ยนรุ่นคนและการผงาดขึ้นของจีนจนนำไปสู่ The First Chinese coup ในวันที่ประเทศไทยไม่มี The Bhumibol Consensus อีกต่อไป
- 'รัฐพันลึก'หรือ 'รัฐคู่ขนาน'คือรัฐซ้อนรัฐและเป็นอิสระ ไม่ขึ้นกับรัฐบาลที่เห็นด้วยตา รัฐพันลึกยังสามารถสร้างสถานการณ์วิกฤตได้ และล้มล้างรัฐบาลบนดินได้
- การเปลี่ยนรุ่นของคนในที่นี้หมายถึงทหารและสถาบันกษัตริย์อาจทำให้จีนเข้ามาแทนที่สหรัฐฯ ในเกลียวสัมพันธ์ของ 'Network Monarchy'
- ชนชั้นนำไทยนิยมตัวแบบจีนมากกว่าตะวันตกคือมีเศรษฐกิจแบบเปิด แต่มีการเมืองแบบปิด
- เมื่อไม่มี 'The Bhumibol Consensus'อีกต่อไป กลุ่มอำนาจต่างๆ ก็พยายามขยายเขตอำนาจออกไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อสร้างประเทศไทยในความฝันของตน
คำอธิบายการเมืองไทยด้วยแนวคิด Deep State หรือรัฐพันลึก เป็นแนวคิดที่ถูกกล่าวถึงโดยนักวิชาการไทยหลายคน วันที่ 27 มิถุนายน 2561 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงานเสวนาในหัวข้อ รัฐพันลึก: บทบาทระบบราชการในการเมืองไทย โดยมี เกษียร เตชะพีระ ศาสตราจารย์ จากสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้บรรยาย
คลิปการบรรยายของเกษียร ตั้งแต่ต้นถึงนาทีที่ 1.48.00
“ผมอยากบอกตั้งแต่ต้นว่า ที่ท่านจะฟังต่อไปนี้เป็นการทดลองคิดและตีความ ประกอบกับข้อมูลความรู้ที่มี ไม่ใช่ข้อสรุปที่แน่ชัด ผมเอาแนวคิดเรื่องรัฐพันลึกมาตีความและขยายต่อให้กว้างและลึกขึ้น รัฐพันลึกคืออะไร ภาพขวาแสดงได้ชัดเจน (ภาพสภาคองเกรสที่มีรากขนาดใหญ่อยู่ใต้ดิน) ภาพนี้ทำให้เห็นว่าข้างล่างสภาคองเกรสมีรากยืดใหญ่โตมาก ใหญ่กว่าสภาคองเกรสด้วย
“ความคิดเรื่องรัฐพันลึกคือบนฉากของระเบียบการเมืองบนดิน สิ่งที่เราไม่เห็นคือระเบียบการเมืองอีกชุดที่หยั่งรากลึกและปฏิบัติการอย่างลับๆ เมื่อถึงจุดหนึ่งมันสามารถควบคุมระเบียบการเมืองที่เห็นด้วยตาและอยู่ข้างบนได้ ถ้าระเบียบการเมืองข้างบนขัดขวางรากเหล่านี้ มันก็สามารถทำให้ระเบียบการเมืองข้างบนล้มได้”
รัฐพันลึกคืออะไร
เกษียรอ้างอิงนิยามรัฐพันลึกของผาสุก พงษ์ไพจิตร และนิธิ เอียวศรีวงศ์ โดยทำการอธิบายว่า
“วิธีเข้าใจ (รัฐพันลึก) ง่ายๆ คือเป็นรัฐซ้อนรัฐ ประเด็นต่อมาคือเป็นอิสระ ไม่ขึ้นกับรัฐบาลบนดินที่เราเห็นด้วยตา และสามารถสร้างสถานการณ์วิกฤตได้ และที่สร้างวิกฤตนี้ในความเข้าใจของบุคลากรที่อยู่ในรัฐพันลึกก็เพื่อความมั่นคงของชาติ”
จากนิยามที่ผาสุกกล่าวถึง เกษียรจำแนกลักษณะของรัฐพันลึกว่า
“ประเด็นแรก รัฐพันลึกไม่ได้เป็นก้อน เป็นหนึ่งเดียว ในคำของอาจารย์ผาสุกที่เอามาจาก Eugénie Mérieau คือมันมีมุ้งต่างๆ และแก่งแย่งอำนาจกันภายในรัฐพันลึก ประการที่ 2 มันมีผลประโยชน์ของตัวมันเอง ผลประโยชน์ของกลุ่มที่มาประกอบเป็นรัฐพันลึกอาจประกอบด้วย 3 ส่วน คือผลประโยชน์ของบุคคล ผลประโยชน์ของกลุ่มก้อนต่างๆ ที่มาประกอบ และผลประโยชน์ของชาติบนความหมายที่รัฐพันลึกเข้าใจ ซึ่งไม่แน่ว่าจะตรงกับผลประโยชน์ของชาติที่รัฐบนดินหรือสังคมเข้าใจ ประการที่ 3 รัฐพันลึกไม่ต้องขีดเส้นว่าอยู่แต่ในส่วนเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น อยู่ในเครือข่ายนอกรัฐก็ได้ พูดง่ายๆ คือมีพันธมิตร มี กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) มีดารา มีอธิการบดีหลายมหาวิทยาลัย
“แก่นแกนสำคัญของรัฐพันลึกคือเจ้าหน้าที่รัฐ พูดภาษาราชการคือไปจัดการงานนอกสั่งคือล้มล้าง ขัดขวาง นโยบายหรือคำสั่งของรัฐบาลปกติ ทำสิ่งเหล่านี้แบบลับๆ เป้าหมายสูงสุดอาจเป็นรัฐพันลึกรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลของตัวเองได้
“แนวคิดนี้ปรากฏขึ้นมาและถูกใช้เป็นตัวอย่างอ้างอิงคือช่วงที่อเมริกามีอำนาจมากทั่วโลก ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลประเทศไหน แม้จะมาจากการเลือกตั้ง ถ้ามีนโยบายขัดขวางผลประโยชน์ของอเมริกา อเมริกาจะเข้าแทรกแซงหรือร่วมมือกับกลุ่มทหาร ตำรวจ หรือกลุ่มที่อยู่ในประเทศนั้นล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้น เช่น ในละตินอเมริกา ในอิหร่าน ตัวอย่างของรัฐพันลึกที่พูดถึงก็จะมีรัฐเหล่านี้ แม้แต่ในอเมริกาเองก็มีองค์กรข่าวกรอง องค์กรสืบราชการลับ ซึ่งไม่ค่อยชอบทรัมป์เท่าไหร่”
ในส่วนนิยามของนิธิ เอียวศรีวงศ์ คือการแยกแนวคิดเพื่อให้เข้าใจชัดเจนขึ้นว่ารัฐพันลึกคืออะไร โดยอธิบายว่ามันไม่เหมือนกับรัฐทางการอย่างไร และไม่เหมือนกับเครือข่ายที่ไม่เป็นทางการอย่างไร
“เมื่อเทียบกับเครือข่ายที่ไม่เป็นทางการ รัฐพันลึกคือเครือข่ายที่ไม่เป็นทางการที่ถูกทำให้เป็นสถาบัน ไม่ใช่ว่าทุกเครือข่ายไม่เป็นทางการเป็นรัฐพันลึก แล้วเมื่อเทียบกับรัฐทางการต่างตรงไหน รัฐทางการที่มาโดยชอบธรรม มาจากเลือกตั้ง มันมีสองเรื่องต้องอธิบายต่อสังคมคือต้องพร้อมรับผิดและต้องพร้อมตอบปัญหาความชอบธรรมว่าทำไมจึงมีความชอบธรรมมาปกครองเรา รัฐพันลึกไม่ต้องตอบคำถามเหล่านี้ เพราะมันอยู่ข้างล่าง มันทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องพร้อมรับผิด ไม่ต้องมีความชอบธรรม ปัญหาจึงเกิดเมื่อรัฐพันลึกโผล่พ้นผิวน้ำ กล่าวคือเมื่อมันล้มรัฐทางการไปแล้ว รัฐพันลึกกลายเป็นรัฐทางการ ก็ต้องตอบคำถามเหล่านี้
“อาจารย์นิธิอธิบายว่าทำไมเครือข่ายไม่เป็นทางการ อย่าง Network Monarchy ต้องกลายเป็นรัฐพันลึก อาจารย์นิธิอธิบายว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีบารมีสูงยิ่งและทำให้เครือข่ายไม่เป็นทางการทำงานได้ แต่ท่านไม่ได้อยู่กับเราตลอดไป อีกเรื่องหนึ่งคือแนวโน้มที่การเมืองเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และยิ่งเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยมากเท่าไหร่ บทบาทของรัฐพันลึกก็ยิ่งสำคัญมากขึ้นเท่านั้นในการที่จะทำลาย เพราะเห็นว่าขัดผลประโยชน์”
ข้อความจากบทความของนิธิเรื่อง รัฐพันลึกกับร่างรัฐธรรมนูญ ที่เผยแพร่ในประชาไทออนไลน์ วันที่ 6 เมษายน 2559 เขียนว่า
‘ดังนั้น อุดมคติที่รัฐพันลึกมุ่งหวังก็คือ รัฐไทยที่อยู่ข้างบนและมองเห็นได้โดยคนทั่วไป มีลักษณะประชาธิปไตย เช่น มีการเลือกตั้ง มีพรรคการเมือง มีรัฐสภา มีเสรีภาพของสื่อ ฯลฯ แต่การชี้นำและกำกับควบคุมจะอยู่กับรัฐพันลึกซึ่งไม่ต้องปรากฏโฉมให้เห็น หากมีการกำกับควบคุมจากสถาบันที่รัฐธรรมนูญรองรับ ซึ่งที่จริงเป็นสถาบันหรือองค์กรในกำกับของรัฐพันลึกอีกทีหนึ่ง จนดูเหมือนเป็นการทำงานตามกลไกประชาธิปไตยโดยปรกติ การปกครองด้วยเสียงข้างมากจากการเลือกตั้งจึงไม่ได้อยู่ในกำกับควบคุมของเสียงข้างมาก แต่อยู่ในกำกับควบคุมของรัฐพันลึก โดยเสียงส่วนใหญ่ไม่ทันรู้ตัว หรือพอใจให้เป็นอย่างนั้น’
“วิธีเข้าใจย่อหน้านี้คือย่อหน้านี้เป็นการเล่าถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน” เกษียร กล่าว “ระเบียบรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันพยายามทำย่อหน้านี้ให้เป็นจริง คือมีรัฐข้างบนที่เป็นประชาธิปไตย มีเสรีภาพ มีการเลือกตั้ง จากนั้นรัฐบาลจากการเลือกตั้งมีอำนาจจำกัดเพราะถูกคุมโดยสถาบันที่รัฐธรรมนูญรองรับ เช่น ถูกคุมโดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่อยู่ลึกไปกว่านั้นคือมีรัฐพันลึกคุมสถาบันเหล่านี้อีกที เหมือนเป็นการชักหุ่นสองชั้น”
รัฐพันลึก-รัฐคู่ขนาน
เกษียรกล่าวถึงบทความของ Eugénie Mérieau เรื่อง Thailand’s Deep State, royal power and the Constitutional Court (1997-2015) และบทความของ Paul Chamber & Napisa Waitoolkiat เรื่อง The resilience of monarchized military in Thailand ซึ่งหมายถึงความยืดหยุ่นคงทนของกองทัพที่อยู่ภายใต้ความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ ซึ่ง Paul Chamber & Napisa Waitoolkiat เห็นว่าเป็นปัจจัยสำคัญยิ่ง
“Eugénie Mérieau เป็นคนที่เริ่มบอกว่าเมืองไทยมีรัฐพันลึก แต่แกสรุปว่ามันล้มเหลว เพราะถ้ามันสำเร็จ มันก็ไม่ต้องทำรัฐประหาร แต่การที่ไม่สำเร็จ จึงต้องรัฐประหาร ทำให้รัฐพันลึกต้องโผล่พ้นผิวน้ำขึ้นมา แล้วคนเห็น การโผล่พ้นผิวน้าคือความล้มเหลว เพราะถ้าอยู่ใต้ดินแล้วคุมได้ทั้งหมด คุณไม่ต้องรับผิด ไม่ต้องมีปัญหาความชอบธรรม
“Eugénie Mérieau เป็นนักนิติศาสตร์ที่มาจับเรื่องรัฐพันลึก และเชื่อว่าประเทศไทยไม่เป็นไปตามกฎหมาย มีการเปลี่ยนแปลง มีการดำเนินไปที่ไม่เหมือนกับในกฎหมาย ที่เป็นเช่นนี้เพราะมีรัฐพันลึก Eugénie Mérieau จับปรากฏการณ์ที่ศาลตุลาการมีบทบาททางการเมืองและชี้ขาดปัญหาการเมืองมากขึ้น ซึ่งไม่ได้เกิดเฉพาะในเมืองไทย บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญในไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมาก็เด่นชัดขึ้นในการกำกับแทรกแซงการเมืองและจับเรื่องตุลาการภิวัตน์
“หลักฐานที่ Eugénie Mérieau ใช้เพ่งความสนใจอยู่ที่ตัวบทรัฐธรรมนูญและบันทึกการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เวลาเริ่มเข้าใจว่ารัฐพันลึกคืออะไร เราจะเห็นรัฐพันลึกยั่วเยี้ยะไปหมด ไม่ได้อยู่แค่ในตัวร่างรัฐธรรมนูญหรือในคณะกรรมการร่างฯ เท่านั้น แต่มีปรากฏการณ์ให้เราเห็นมากมาย แปลกที่แกจำกัดไว้แค่นี้และพูดราวกับว่ารัฐพันลึกเพิ่งเกิดไม่เกินสิบปี ก่อนหน้านี้ไม่มีเหรอ ซึ่งนำมาสู่บทความที่สองของ Paul Chamber & Napisa Waitoolkiat”
ขณะที่ Paul Chamber & Napisa Waitoolkiat เรียกว่ารัฐคู่ขนาน โดยนัยคิดไม่ต่างจากรัฐพันลึก แต่แทนที่จะดูที่กฎหมาย กลับดูที่ปฏิบัติการของทหารที่เชื่อมโยงกับสถาบันกษัตริย์ เป็นข้อมูลที่ออกไปนอกตัวบทกฎหมาย ซึ่งชัดเจนกว่า เป็นรูปธรรมกว่า และมีประวัติศาสตร์
“ผมอยากเสนอว่าจะเข้าใจรัฐพันลึกหรือรัฐคู่ขนานต้องเข้าใจสองเรื่องก่อน คือเครือข่ายที่ไม่เป็นทางการและองค์กรจัดตั้งที่เป็นทางการ ทุกการรวมตัวของเครือข่ายที่เป็นทางการ มีการร่วมตัวแบบที่ไม่เป็นทางการทั้งสิ้น ถ้ามองย้อนกลับไป เราเอาการจัดตั้งองค์กรแบบฝรั่งเข้ามาสมัยรัชกาลที่ 5 เอาระบบราชการแบบฝรั่งเข้ามา แต่เอาเข้ามาไม่ทันไร ท่านก็ตั้งเครือข่ายที่ไม่เป็นทางการขึ้นเอง”
เครือข่ายส่วนตัวที่ไม่เป็นทางการ
“มันอยู่ในหนังสือของอาจารย์กุลดา เกษบุญชู มี้ด คือแต่ก่อนคุณจะเป็นขุนนาง คุณต้องไปถวายตัว จนกระทั่งท่านจำหน้าได้และเกิดความไว้วางใจ แล้วตั้งเป็นขุนนาง มันอยู่บนความสัมพันธ์ส่วนตัว ความไว้วางใจส่วนตัว พอสร้างระบบราชการขึ้น มันเปลี่ยนหมด เรากำลังพูดถึงการเอาคนเป็นพันเป็นหมื่นเข้ามาในสถานที่ทำงานแบบฝรั่ง
“ในหลวงรัชกาลที่ 5 สร้างระบบนี้ขึ้นมาเอง ท่านเดินเข้าไป ท่านเห็นแต่คนแปลกหน้า ไม่ใช่ตระกูลขุนนางเก่า เป็นลูกคนทำสวนทุเรียน มันก็เกิดความรู้สึกว่าจะไว้ใจคนแปลกหน้าเหล่านี้ได้อย่างไร ท่านจึงตั้ง The Secret League เป็นเครือข่ายที่ไม่เป็นทางการของผู้สร้างระบบราชการ หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดเครือข่ายไม่เป็นทางการอื่นๆ ขึ้นมา คือจักรวรรดิส่วนตัวไม่เป็นทางการของขุนนางข้าราชการชั้นผู้ใหญ่”
เกษียณยกข้อความจากหนังสือ The Rise and Decline of Thai Absolutism ของกุลดา เกษบุญชู มี้ด ที่กล่าวถึง Secret League ว่า
‘Although victorious, King Chulalongkorn was yet again reminded that the possibilities of insurrection were not entirely extinguished. In 1881, he created a secret League from a group of trusted officials with the purpose of defending the king, and of ensuring that his still-youthful first son from a high-ranking queen should succeed him.’
เกษียรยังยกตัวอย่างกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ที่ไปเรียนกฎหมายที่อังกฤษและเป็นบุคคลสำคัญที่สร้างกระทรวงยุติธรรม กรมหลวงราชบุรีฯ ไม่เพียงแต่เป็นผู้บังคับบัญชา แต่ยังสอนกฎหมายให้แก่ข้าราชการด้วย กรมหลวงราชบุรีฯ จึงไม่เพียงเป็นนายเท่านั้น แต่ยังเป็นครู ความจงรักภักดีจึงอยูกับกรมหลวงราชบุรีฯ ภายหลังเมื่อมีความเห็นไม่ตรงกันเรื่องคดีความระหว่างรัชกาลที่ 5 และกรมหลวงราชบุรีฯ ทำให้กรมหลวงราชบุรีฯ ลาออกโดยไม่ขออนุญาตรัชกาลที่ 5 ทำให้ข้าราชการ 25 คนลาออกตาม รัชกาลที่ 5 ทรงกริ้วมากและไม่อนุญาตให้ลาออก นี่คือเครือข่ายส่วนตัวที่ไม่เป็นทางการ
“ปัญหาเหล่านี้จะมีเป็นพักๆ พูดง่ายๆ คือเมื่อสร้างองค์กรทางการหรือระบบราชการขึ้นมาแล้ว มันเกิดปัญหา Divided Loyalties สำหรับข้าราชการที่ลาออกตามกรมหลวงราชบุรีฯ ทหารเรือที่รู้สึกขุ่นเคืองที่กรมหลวงชุมพรฯ ไม่ได้เป็นแม่ทัพเรือ พวกเขามีปัญหาว่าจะจงรักภักดีกับใคร กับรัฐในความหมายชาติ กับพระเจ้าแผ่นดิน หรือกับนาย หรือองค์กรของตัว มันจึงยุ่ง”
รัฐพันลึกเกิดขึ้นตอนไหน
เครือข่ายไม่เป็นทางการ เช่น แก๊ง พรรคพวก เป็นธรรมชาติธรรมดาขององค์การจัดตั้งทางการอย่างรัฐราชการ ข้อน่าสนใจคือเมื่อใดที่มันจะตกผลึกและก่อตัวเป็นสถาบันจนกลายเป็นรัฐพันลึกขึ้นมา เกษียรเสนอเป็นคำถามและตอบว่า
“ผมคิดว่าต้องมีภัยคุกคามความมั่นคงของกลุ่มผลประโยชน์ที่ไม่เป็นทางการอย่างถึงชีวิต จนจำเป็นต้องปฏิบัติการมากไปกว่าเครือข่ายไม่เป็นทางการ ถ้าเราดูในช่วงที่สฤษดิ์ขึ้น ในระดับโลกคือสงครามเย็น ระดับภูมิภาคคือสงครามเวียดนาม ในประเทศเราเองก็มีสงครามประชาชน ภัยคุกคามมันชัดเจนคือคอมมิวนิสต์ ซึ่งถ้าเทียบเคียงกัน ผมอยากเสนอว่าคนเสื้อแดงถูกมองเป็นภัยคุกคามถึงระดับคอมมิวนิสต์
“ผมคิดว่าจะก่อตัวเป็นรัฐพันลึกได้ต้องมีแกนกลาง ผมดึงข้อเสนอของ Benjamin Zawacki ในหนังสือ Thailand: Shifting Ground between the US and a Rising China แกนกลางที่ประกอบด้วย M1+M2+J M1 คือ Monarchy M2 คือ Military J คือ Judicially เหล่านี้คือแกนกลางการก่อตัวของรัฐพันลึก ศูนย์อบรม โรงเรียน เช่น เตรียมทหาร โรงเรียนนักร้อยพระจุลจอมเกล้า วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร มีบทบาทมากและสร้างเครือข่ายสถาบัน ข้ามทัพบก เรือ อากาศ ข้ามข้าราชการพลเรือน และต่อมาคือบุคคลภายนอกที่เป็นนักธุรกิจเข้าไปด้วย มันเป็นแหล่งบ่มเพาะเครือข่าย เมื่อถึงจุดหนึ่ง คุณสามารถดึงเครือข่ายเหล่านี้เข้ามาร่วมในรัฐพันลึก
“มีการเกาะเกี่ยวเชื่อมโยงกันนอกแบบระหว่างสถาบันต่างๆ อย่างข้าราชการบวกภาคธุรกิจ และมีการหนุนช่วยจากมหาอำนาจจากต่างประเทศอย่างสหรัฐฯ ผมคิดว่าจะเป็นรัฐพันลึกได้ต้องใช้ทรัพยากรมากและการหนุนช่วยพอสมควร ผมคิดว่าบทบาทของมหาอำนาจสำคัญยิ่ง ถ้าไม่มีมหาอำนาจเข้ามา การเปลี่ยนจากเครือข่ายไม่เป็นทางการเป็นรัฐพันลึกจะเกิดขึ้นได้ยาก และถ้าอ่านงานของ Benjamin Zawacki จะเห็นว่าอเมริกาเข้ามาลึกมากในสมัยสงครามเย็น สมัยสฤษดิ์ ถนอม
“สรุปคือถึงแม้ว่ารัฐพันลึกจะเริ่มจากงานของ Eugénie Mérieau ผมกลับคิดว่าถ้าเราจะสาวมันต้องใช้งานของ Paul Chamber & Napisa Waitoolkiat และเอาแนวคิดใจกลางเรื่อง Monarchised Military เป็นตัวสาว แล้วเราจะเห็นชัดเจน”
The last American coup
เกษียร ยังยกคำพูดที่กระทบใจของวสันต์ เหลืองประภัสร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่กล่าวในงานเสวนา การเมืองและกฎหมายในระบอบประชาธิปไตย 99.99% ที่ว่า ‘ระบบราชการไทยมีทั้งด้านแข็งและอ่อน ด้านแข็งคือมีความสามารถต้านทานความเปลี่ยนแปลงสูงมาก ด้านอ่อนคือสามารถอยู่รัฐบาลใดก็ได้’ และ
‘ชนชั้นนำไทยที่ทำรัฐประหารแต่ละครั้ง มีเหตุผลหลายเรื่อง แต่ผมคิดว่าคำถามหนึ่งที่อาจช่วยให้เรามองเห็นอะไรบางอย่างคือ ทั้งหมดเกิดขึ้นมาเพื่อปกป้องอะไรบางอย่างเสมอ... ผมคิดว่าคือการพยายามรักษาความเป็นราชการที่จะนำสังคมต่อไป แล้วทำไมต้องหวงแหนไว้ขนาดนี้ ทำเราจึงควรเป็นสังคมที่มีราชการนำอยู่’
“จากคำพูดของอาจารย์วสันต์ที่ว่า ระบบราชการไทยมีจุดแข็งคือต้านทานความเปลี่ยนแปลงสูงมาก จุดอ่อนคือสามารถอยู่กับรัฐบาลใดก็ได้ ผมมีข้อสังเกตว่าข้อสังเกตนี้อาจไม่ถ้วนตลอดทั้งระบบราชการ บางหน่วยอาจจะอนุรักษ์มากหน่อย บางหน่วยน้อยหน่อย บางหน่วยอาจอยู่ได้กับทุกรัฐบาลมากหน่อย บางหน่วยน้อยหน่อย แต่ผมยอมรับว่ามันสะท้อนบุคลิกทั่วไปของระบบราชการไทยที่เรามองเห็นได้ เช่น ด้านแข็งที่ต้านทานความเปลี่ยนแปลงอาจน้อยกว่าบ้างในหน่วยราชการตั้งใหม่ โดยเฉพาะด้านเทคโนแครต วิชาการ เช่น กระทรวงพลังงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นต้น ในทางกลับกัน ด้านอ่อนที่อยู่กับรัฐบาลใดก็ได้นั้น ก็ไม่ถ้วนตลอดทั่วถึงทั้งระบบเช่นกัน โดยเฉพาะที่เด่นชัดยิ่งคือกองทัพ ตุลาการ และหน่วยงานบางหน่วยที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ผมไม่คิดว่าหน่วยงานเหล่านี้อยู่กับรัฐบาลใดก็ได้ เพราะถ้าอยู่กับรัฐบาลใดก็ได้คงไม่เกิดรัฐประหารเพื่อรักษาการนำของระบบราชการตามข้อสังเกตประการต่อมา
“ผมอยากเสนอว่าแกนเกลียวสัมพันธ์ของบางหน่วยราชการที่ไม่สามารถอยู่กับรัฐบาลใดก็ได้นี่แหละคือฐานที่ตั้งหรือกรอบโครงและวิญญาณของรัฐพันลึกในรัฐไทย ซึ่งทำตัวเสมือสมองและหัวใจของรัฐราชการ รัฐพันลึกเป็นพรรคการเมืองหรือกรมการเมืองที่อยู่ข้างในรัฐราชการอีกที รัฐราชการใหญ่กว่ารัฐพันลึก รัฐพันลึกเป็นส่วนหนึ่งของรัฐราชการ ไม่ใช่ข้าราชการทุกคนที่สังกัดรัฐพันลึก แต่ในตัวระบบราชการทั้งหมด รัฐพันลึกเหมือนเป็นกรมการเมือง”
การบรรยายในช่วงต่อมา เกษียรอ้างอิงจากหนังสือ Thailand: Shifting Ground between the US and a Rising China ของ Benjamin Zawacki ที่เสนอว่าระเบียบอำนาจไทยดังที่เป็นอยู่ตั้งแต่ช่วงสงครามเย็น สงครามอินโดจีนถึงราวกลางคริสต์ทศวรรษ 2000 ตั้งอยู่บนเกลียวสัมพันธ์ชนชั้นนำที่ประกอบด้วยกองทัพ สถาบันกษัตริย์ และสหรัฐฯ เป็นความผูกพันที่แน่นแฟ้น และถ้าดูตัวแสดงทางการเมือง การทูตในประเทศไทย Benjamin Zawacki เห็นว่ามีผู้ที่มีอุดมการณ์จริงเพียงไม่กี่คน และหนึ่งในนั้นคือในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีอุดมการณ์จริง คืออุดมการณ์ชาตินิยม อนุรักษนิยม ต่อต้านคอมมิวนิสต์ ทรงโปรดอเมริกันและสากลนิยม แต่ทรงระมัดระวังโลกาภิวัตน์
“ในขณะที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่มีอุดมการณ์ ที่สำคัญคือเขาเห็นความสำคัญมากของในหลวงรัชกาลที่ 9 ต่อช่วงสงครามเย็น เขาประเมินอย่างสูงว่าเมื่อทอดสายตาไปทั่วอุษาคเนย์ พันธมิตรที่ยืนนานที่สุดและเหนียวแน่นที่สุดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา คือในหลวงรัชกาลที่ 9
“อีกทั้งนายทหารกองทัพไทยยุคสงครามเย็นจำนวนมากเป็นทหารผ่านศึกกอดคอร่วมรบร่วมเป็นร่วมตายกับทหารอเมริกันในสงครามอินโดจีน ผ่านการฝึกอบรมทางทหารร่วมกันในสหรัฐฯ ที่ Fort Leavenworth เมื่อกลับไทย ความที่รับการฝึกอบรมความรู้ทางทหารใหม่ล่าสุดมา จึงไต่เต้าขึ้นเร็วในกองทัพและได้กุมตำแหน่งสำคัญ สหรัฐฯ จึงมี Leavenworth Pipeline ต่อท่อเข้าถึงแกนนำกองทัพไทย มีความเป็นมืออาชีพ ฝึกมาดี เอาจริงเรื่องความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่อาจเซ็งลี้ แย่งชิงอาจในกองทัพ แทรกแซงการเมืองด้วยก็ตาม การไปฝึกที่อเมริกา มันได้เพาะบ่มสายสัมพันธ์ อิทธิพลของอเมริกันต่อกองทัพไทยจึงสูงยิ่ง การประเมินของ Benjamin Zawacki นายทหารไทยที่อยู่ในสาย Leavenworth คือร้อยละ 15 ของนายทหารไทยทั้งหมด และเป็นกลุ่มที่ไต่เต้าเร็ว เพราะสายสัมพันธ์ดี ความรู้ดี
Benjamin Zawacki ประเมินว่าสหรัฐฯ เป็นสมาชิกโดยตำแหน่งของ Network Monarchy
“แต่กลางคริสต์ทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในเกลียวอำนาจนี้เนื่องจากการเปลี่ยนรุ่นคน นายทหารรุ่นพันธมิตรผ่านศึกกับอเมริกันพากันทยอยเกษียณอายุหมด พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นหนึ่งในนายทหารคนท้ายๆ ของรุ่นนี้ นายทหารรุ่นถัดไปที่ขึ้นมานำกองทัพหลังจากนั้น อย่างบูรพาพยัคฆ์ วงศ์เทวัญ แม้สหรัฐฯ จะอุดหนุนฝึกสร้างขึ้นสมัยสงครามเย็น แต่ก็วิวัฒนาการคลี่คลายขยายตัวไปตามสถานการณ์ในและนอกประเทศ และไม่ค่อยมีประสบการณ์การรบ การฝึกร่วมกับอเมริกันเข้มข้นแบบรุ่นก่อน
“ผมคิดว่าประเด็นนี้น่าสนใจ ที่ผ่านมาเวลาเราจะเข้าใจการเมืองไทย เราอาจให้ความสำคัญกับเรื่องชนชั้น เพศสภาพ ชาติพันธุ์ แต่เรื่องรุ่นคนเรายังไม่ให้ความสำคัญเท่าไหร่ น่าสนใจว่า Benjamin Zawacki หยิบขึ้นมาเป็นปมสำคัญและชี้ว่ามีการเปลี่ยนรุ่นที่สำคัญในหมู่นายทหารไทย รุ่นที่ทำสงครามเย็นร่วมกับอเมริกัน ประมาณหลังปี 2000 ไล่มา เกษียณหมด รุ่นใหม่ที่ขึ้นมาจะไม่มีความสัมพันธ์แบบ Leavenworth แม้ตอนสร้างหน่วยงานที่คนเหล่านี้สังกัด อเมริกาจะมีส่วนช่วย แต่เขาไม่ได้ผ่านประสบการณ์การฝึกแบบนั้นแล้ว นำไปสู่ข้อสรุปของเขาว่า รัฐประหารของ คปค. (คณะปฏิรูปการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ปี 2549 จึงนับเป็น The last American coup ในไทย
“ทำไมตีความแบบนี้ ถ้าเราดูคนที่ทำรัฐประหาร สนธิ บุญยรัตกลิน ป่าหวาย เลือกสุรยุทธ์เป็นนายกฯ ป่าหวายเหมือนกัน ซึ่งคนรุ่นนี้ยังมีประสบการณ์สงครามอินโดจีน แต่หลังจากนั้นไม่แล้ว คนรุ่นนี้เกษียณหมดแล้ว และเนื่องจากประสบการณ์ร่วมกันนี้ ภาพฝันถึงการเมืองที่ดีเป็นอย่างไร ถ้าบอกว่าระบอบไหนดี เขาก็ต้องบอกว่าระบอบเสรีประชาธิปไตยแบบฝรั่ง เพียงแต่เมืองไทยยังไม่พร้อม ดังนั้น รัฐประหารปีเดียวเลือกตั้งเลย มันยังเป็นรัฐประหารเวอร์ชั่นเก่ากลับมาเป็นประชาธิปไตยแบบที่โลกเป็น”
The First Chinese coup
ตรงกันข้าม นายทหารรุ่นหลังมีแนวโน้มใกล้ชิดและให้ความสำคัญกับจีนมากขึ้นและในบางกรณีกระทั่งมากกว่าอเมริกา โดยพลิกแพลงถ่วงดุลตามสถานการณ์การเมืองการทูตในประเทศ โดยเฉพาะนายทหารในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่ง Benjamin Zawacki สรุปว่ามองไปที่ Palace&Peking โดยเฉพาะตัวแบบจีนและแนวทางควบคุมสังคมแบบอำนาจนิยมของรัฐจีน จากตรรกะของ Benjamin Zawacki ที่ปรากฏในหนังสือนำไปสู่ข้อสรุปของเกษียรว่า
“รัฐประหารของ คสช. เป็น The First Chinese coup ของไทยในแง่สปิริตและสไตล์ นี่ไม่ใช่คำของ Benjamin Zawacki แต่มันพาวิ่งไปทางนั้น”
เกษียรกล่าวว่า กลางคริสต์ทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในเกลียวอำนาจนี้เนื่องจากการเปลี่ยนรุ่นคน สถาบันกษัตริย์เข้าสู่การผลัดแผ่นดิน พระบรมวงศานุวงศ์ทรงใกล้ชิดและประพาสจีนเป็นประจำ ซึ่งจีนก็ต้อนรับและให้เกียรติสูงยิ่งโดยตีความเปรียบเทียบว่าฐานะของสถาบันกษัตริย์ไทยก็เหมือนฐานะของพรรคคอมมิวนิสต์จีน Benjamin Zawacki เสนอว่าเมื่อมองระยะไกล จีนกำลังพยายามเข้าแทนที่สหรัฐฯ ในเกลียวสัมพันธ์กับ Network Monarchy
ขณะที่อเมริกาก็พะวงอยู่กับสงครามต่อต้านการก่อการร้ายสากลจนละเลยให้จีนรุกใหญ่ในเอเชียและไทย เช่นตัวอย่างความล้มเหลวของประธานาธิบดีบุชผู้ลูกที่จะเข้าเฝ้าในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อเดือนสิงหาคม 2551 ที่พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ทั้งที่กระทรวงต่างประเทศไทยได้พยายามผลักดันจัดแจงเรื่องนี้อย่างแข็งขัน แต่เหตุการณ์นี้ไม่เกิดขึ้น เพียงเพราะสนามบินหัวหินขาดเครื่องอำนวยความสะดวกในทางขึ้นลงของเครื่องบินแอร์ ฟอร์ซ วัน เป็นเหตุให้รัฐมนตรีสมัยรัฐบาลทักษิณคนหนึ่งวิจารณ์สหรัฐฯ ว่า ‘ไม่เข้าใจสถาบันพระมหากษัตริย์เอาเลย’ มัวแต่หมกมุ่นอยู่กับสงครามต่อต้านการก่อการร้ายสากล จนละเลยพื้นที่ยุทธศาสตร์ใจกลางทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่นับวันจะทวีความสำคัญขึ้นทุกทีในการแข่งขันถ่วงทานอำนาจกับจีนต่อไปข้างหน้า”
แม้ต่อมาประธานาธิบดีโอบามาจะปรับแนวทางนโยบายหันมาปักหมุดเอเชีย โดยเดินทางมาเข้าเฝ้าถามไถ่พระอาการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ถึงโรงพยาบาลศิริราชเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2555 ด้วยความห่วงใย 11 วันหลังจากได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในวาระ 2 แต่อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ Ralph Boyce ก็ยังบอกว่า “Too late, too late”
ตัวแบบจีน
เกษียรอธิบายตัวแบบจีนว่ามีความแตกต่างจากตัวแบบตะวันตก ขณะที่ตัวแบบตะวันตกหรืออเมริกันคือเศรษฐกิจเป็นทุนนิยม การเมืองเป็นเสรีประชาธิปไตย แต่ตัวแบบจีนคือเศรษฐกิจเป็นทุนนิยม แต่การเมืองเป็นอำนาจนิยม กล่าวคือการเมืองปิด เศรษฐกิจเปิด
“ข้อเสนอแบบนี้เข้ามาในไทยระยะหนึ่งแล้ว Benjamin Zawacki ประเมินว่าชนชั้นนำไทยชอบ ทักษิณก็ชอบ พันธมิตรก็ชอบ แล้วเราจะหนีไปไหน แนวโน้มนี้ไม่เปลี่ยน ถึงแม้โค่นทักษิณ แต่รัฐบาลชุดต่อๆ มาไม่เปลี่ยนท่าทีนี้ต่อตัวแบบจีน ทำไมชนชั้นนำไทยที่รู้สึกว่าตัวแบบจีนที่เศรษฐกิจเปิด การเมืองปิด จึงดึงดูดใจ คำอธิบายไทยคือชนชั้นนำไทยอยากได้สองอย่างซึ่งตัวแบบจีนเหมือนจะเป็นคำตอบ คือประกันให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างแน่วแน่สม่ำเสมอ ถ้าจะให้ดีที่สุดก็คือให้คนจนมีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้นในอัตราเท่าทันกับความเหลื่อมล้ำที่ถ่างกว้างออกไป คนรวยอาจรวยขึ้นด้วยอัตราที่เร็วกว่าคนชั้นอื่นก็ได้ไม่เป็นไร แต่จะปล่อยให้มาตรฐานการครองชีพของคนจนชะงักงันนานเกินไปไม่ได้ หากทำได้ดังนี้ก็จะมีการชุมนุมประท้วงของชนชั้นรากหญ้าน้อยลง ซึ่งเป็นคำตอบต่อโจทย์ที่สอดคล้องต้องตรงกับแง่มุมด้านการพัฒนาของตัวแบบจีน
“ชนชั้นนำไทยยอมรับว่าสังคมไทยเหลื่อมล้ำมาก แต่ไม่ต้องการให้ความเหลื่อมล้ำนี้หายไป ต้องการให้ความเหลื่อมล้ำเป็นที่พอทนได้ วิธีคือทำให้เศรษฐกิจโต ถ้าคุณทำให้จีดีพีโตไปเรื่อยๆ ได้ คนข้างล่างมองคนข้างบนไม่เห็นเพราะอยู่คอนโดฯ ชั้นที่ 80 แต่ที่เขาทนได้ เพราะเมื่อมองย้อนกลับไปเมื่อห้าปีสิบปีก่อน เขาดีขึ้น เขาจะทนกับความเหลื่อมล้ำ เขาจะไม่ทนถ้าเขาหยุดนิ่งและมันเหลื่อมล้ำ ดังนั้นจึงต้องอีอีซี แจ็ค หม่า ต้องขายทุเรียน เพื่อกระตุ้นจีดีพีให้โต ให้คนไทยทนอยู่กับความเหลื่อมล้ำขนาดนี้ได้
“ขณะเดียวกันต้องจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม แสดงออก และการจัดตั้งรวมตัวกันอย่างเข้มงวด เพื่อที่ว่าหากจะมีการชุมนุมประท้วงเดินขบวนใดๆ เกิดขึ้น ก็จะมีขนาดเล็กและอายุสั้น หากกีดกันไม่ให้ชุมนุมประท้วงได้เลยก็ทำ แต่ถ้าเกิดการชุมนุมขึ้นแล้วก็จำต้องรับมือตอบโต้ ซึ่งก็เป็นคำตอบต่อโจทย์ที่สอดคล้องต้องตรงกับแง่มุมด้านเสถียรภาพ อย่างน้อยก็ในระดับพื้นผิวที่ปรากฏของตัวแบบจีนเช่นกัน”
ประเทศไทยในวันที่ไม่มี The Bhumibol Consensus
เกษียรทิ้งคำถามในช่วงท้ายว่า เมื่อรัฐพันลึกไทยกำลังโผล่ขึ้นเหนือผิวน้ำท่ามกลางการเปลี่ยนรุ่นของชนชั้นนำและเปลี่ยนดุลอำนาจทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคและโลก มันจะนำไปสู่อะไร
จากกองทัพและสถาบันบวกเกลียวสัมพันธ์อเมริกาจะเปลี่ยนไปสู่กองทัพและสถาบันบวกเกลียวสัมพันธ์จีนหรือไม่?
กองทัพ กลุ่มทุนใหญ่ พรรคการเมือง ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน จะเอียงเอนไปพิงทางไหน จีนหรือสหรัฐฯ?
กองทัพ กลุ่มทุนใหญ่ พรรคการเมือง ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน จะเอาอย่างใคร ตัวแบบตะวันตกหรือตัวแบบจีน?
ในสภาพที่ไม่มีพระราชอำนาจนำของในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่มีอนุญาโตตุลาการสุดท้ายในหมู่ชนชั้นนำ ไม่มี The Bhumibol Consensus เกลียวสัมพันธ์ชนชั้นนำแบบเก่าจะธำรงอยู่ได้หรือไม่? จะปรับตัวอย่างไร?
“ตอนนี้ในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่อยู่แล้ว ในสมัยพระองค์พูดได้ว่าพระองค์มีพระราชอำนาจนำในความหมายที่ว่า ถ้าพระองค์ตรัสแบบนี้ คนไทยวิ่งตาม อยากสนองพระราชประสงค์ แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว ดังนั้น เวลาชนชั้นนำไทยขัดแย้งกันใครจะเป็นอนุญาโตตุลาการสุดท้าย เราไม่มีสิ่งที่ผมเรียกว่า The Bhumibol Consensus ซึ่งไม่ใช่กฎหมาย แต่เป็นวิถีการบริหารจัดการความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ดำรงอยู่มาในรัชกาลของพระองค์ เมื่อไม่มีสิ่งนี้แล้ว เกลียวสัมพันธ์ชนชั้นนำแบบเก่าจะอยู่ได้หรือไม่ จะต้องปรับตัวอย่างไร
“ผมรู้สึกว่าในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา ต่อให้อธิบายว่ามีรัฐพันลึก มีรัฐคู่ขนาน แต่มันไม่เพียงพอที่จะอธิบายสังคมไทยด้วยซ้ำ หมุดกลางเมืองหายไปไม่มีใครรู้สักคน แต่ทุกคนรู้ แสดงว่าไม่ได้มีอำนาจศูนย์เดียว มันมีรัฐในรัฐในรัฐในรัฐ แต่ก่อนง่ายกว่านี้เพราะมี The Bhumibol Consensus แต่เมื่อไม่มี ทุกคนก็แย่ง ทุกคนขยายเขตอำนาจเข้าไปคว้าอะไรที่ใกล้มือ วิธีที่ คสช. ทำคือออกกฎหมายๆ แล้วกฎหมายเหล่านี้คือกฎหมายที่กวาดอำนาจเข้าไปอยู่ในมือทหาร คสช. และเครือข่าย คนอื่นใช้วิธีอื่น กลุ่มอำนาจอื่นใช้วิธีอื่น กวาดอำนาจโดยการเปลี่ยนอันนั้น เปลี่ยนอันนี้ เพราะระเบียบเดิมมันหาย แล้วทุกคนก็คิดถึงอดีต ล่าสุดคือออเจ้า อยุธยา แปลว่าอะไร
“The Bhumibol Consensus คือคำตอบของในหลวงรัชกาลที่ 9 และประเทศไทยกับการเปลี่ยนแปลงให้ทันสมัยแบบตะวันตก วิธีการของในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านรับบางอย่าง แต่ไม่รับทั้งหมด ท่านปรับและทำให้เข้ากับความเป็นไทยแบบอนุรักษนิยม แบบรักษาประเพณี ในความหมายของท่าน เราไม่ได้เป็นประชาธิปไตยเต็มตัว ความฝันของเราก็ไม่ได้อยากเป็นเผด็จการเต็มตัว เราอยากจะเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คุณว่าไม่ประชาธิปไตยไม่ได้ แต่ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย เพราะมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผมว่านี่คืออัจฉริยะภาพของพระองค์ที่หาวิธีการที่จะรอมชอมความเป็นสมัยใหม่แบบฝรั่งเข้ากับระเบียบ ประเพณี วัฒนธรรมของไทย แล้วตอนนี้มันหาย พระองค์ไม่อยู่แล้ว
“ปัญหาคือทุกคนก็มีความฝันของตน เพราะความฝันของตนอยู่ใต้ The Bhumibol Consensus มา พอ The Bhumibol Consensus หายไป ทุกคนก็ฟื้นคืนชีวิต บางคนฝันถึงสมัยสฤษดิ์ หวนคิดถึงอดีตที่คิดว่านั่นแหละคือเมืองไทยในอุดมคติ แต่อยากจะกลับไปจริงมั้ย ไม่ ไม่ได้จะกลับ แต่อยากจะเอาอันนั้นมาเป็นแบบอย่างของปัจจุบัน บางคนอยากกลับไปสมัยรัชกาลที่ 7 หรือรัชกาลที่ 5 ทุกคนมีการหวนหาอดีต เพราะทุกคนวางอุดมคติของตนไว้กับอดีตอันใดอันหนึ่ง การหันหาอดีตคือการชะลอมันเพื่อมาบอกปัจจุบันว่าเอาแบบนี้สิ”
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai