ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. .... เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเลของไอแอลโอ โดยมีสาระเพื่อคุ้มครองผู้ที่ทำงานบนเรือเดินทะเล
20 ส.ค.56 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ก่อนส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา และเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร
โดยสาระสำคัญของร่างกฎหมาย กำหนดให้ผู้ที่ทำงานบนเรือหรือคนประจำเรือต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 16 ปี ห้ามผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในเวลากลางคืน คนประจำเรือต้องแสดงใบรับรองแพทย์ และต้องผ่านการฝึกอบรมการทำงานบนเรือ
กำหนดชั่วโมงการทำงานรวมไม่เกิน 14 ชั่วโมงในรอบ 24 ชั่วโมง และชั่วโมงพักผ่อนไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมงในรอบ 24 ชั่วโมง และให้มีวันหยุดประจำปีไม่น้อยกว่าปีละ 30 วัน
เจ้าของเรือต้องทำข้อตกลงการจ้างงานเป็นหนังสือ ห้ามเจ้าของเรือหักค่าจ้างและค่าล่วงเวลา คนประจำเรือมีสิทธิลาขึ้นฝั่ง มีสิทธิเดินทางกลับเมื่อสิ้นสุดข้อตกลงการจ้างงาน และให้เจ้าของเรือจัดทำหลักประกันทางการเงินเพื่อส่งตัวกลับ ในกรณีที่เรือเสียหายหรือเรือจม เจ้าของเรือต้องจ่ายค่าทดแทนให้แก่คนประจำเรือ
เจ้าของเรือต้องจัดที่พักอาศัย สถานที่สันทนาการบนเรือ และจัดเตรียมอาหาร น้ำดื่มที่มีคุณภาพแก่คนประจำเรือ และต้องมีการคุ้มครองสุขภาพ การรักษาพยาบาล สวัสดิการ และประกันสังคมแก่คนประจำเรือ ต้องมีห้องพยาบาลและอุปกรณ์พยาบาลบนเรือ โดยเจ้าของเรือเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเจ็บป่วยและบาดเจ็บของคนประจำเรือ
การเป็นผู้จัดหาคนงานไปเป็นคนประจำเรือ ต้องได้รับอนุญาตและต้องวางหลักประกัน และห้ามเรียกเก็บค่าบริการจัดหางานจากคนประจำเรือ
นอกจากนี้ ร่าง พรบ.ยังกำหนดให้คนประจำเรือและเจ้าของเรือมีสิทธิรวมตัวกัน เพื่อเจรจาต่อรองหรือเรียกร้องให้ได้มาซึ่งสิทธิหรือประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้างและสภาพการทำงานด้วย
โดยทั้งนี้ การยกร่าง พรบ.แรงงานทางทะเลฉบับดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล พ.ศ.2549 (Maritime Labor Convention, 2006 : MLC) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization-ILO) หรือไอแอลโอ ซึ่งมีผลบังคับใช้กับสมาชิกทุกประเทศ แม้จะยังไม่ได้ให้สัตยาบันก็ตาม โดยอนุสัญญาฉบับนี้ให้อำนาจกับรัฐเจ้าของท่าเรือที่ให้สัตยาบันสามารถตรวจสภาพการจ้าง สภาพการทำงานของคนประจำเรือที่เข้ามาเทียบท่าในประเทศ และสามารถสั่งกักเรือหรือสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องบนเรือนั้นให้เป็นไปตามที่อนุสัญญากำหนดได้ โดยปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล พ.ศ.2549 ฉบับดังกล่าว