กสทช. เรียก กสท ทรูมูฟ ดีพีซี เตรียมดำเนินการตามประกาศเยียวยาคลื่น 1800 ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ ให้รีบส่งแผนการดำเนินการ พร้อมเร่งประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้า 1800 ทราบถึงการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน 15 กันยายนนี้
วันนี้ (20 ส.ค. 56) ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ได้เชิญบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (กสท) บริษัท ทรู มูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (ดีพีซี) มาประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินการตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือ สัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 ที่จะมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยให้ทั้ง 3 บริษัทร่วมกันจัดทำแผนคุ้มครองผู้ใช้บริการ ในช่วงมาตรการเยียวยา 1 ปี เพื่อนำเสนอ กทค. ภายใน 15 วันหลังจากที่ประกาศมีผลบังคับใช้
โดยแผนความคุ้มครองผู้ใช้บริการ จะต้องมีเนื้อหาอย่างน้อย ดังนี้ 1. ข้อมูลการให้บริการ เช่น ข้อมูลผู้ใช้บริการ จำนวนคงค้างในระบบ 2. แผนงานประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการทราบถึงการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน 3. แผนงานส่งเสริมให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ย้ายค่ายเบอร์เดิม) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เลือกปฏิบัติ และเป็นไปอย่างทั่วถึง 4. ค่าใช้จ่ายในการให้บริการ และภาระที่เกิดขึ้นจากการที่ต้องรักษาคุณภาพมาตรฐานในขณะที่จำนวนผู้ใช้บริการลดลงตลอดเวลา
นอกจากนั้นยังให้ทั้ง 3 บริษัท เร่งทำการประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าที่ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 1800 MHz ของตนทราบ ถึงการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในวันที่ 15 กันยายน 2556 และประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงสิทธิที่ผู้ใช้บริการจะได้รับความคุ้มครองให้สามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง และสิทธิในการใช้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตนจนสิ้นสุดระยะเวลาความคุ้มครองไม่เกิน หนึ่งปีตามประกาศดังกล่าว รวมถึงการแจ้งช่องทางการติดต่อและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ผ่านการส่งข้อความสั้น (SMS) สัปดาห์ละสองครั้ง โดยการโทรสอบถามข้อมูลดังกล่าวผู้ใช้บริการจะได้รับยกเว้นค่าใช้บริการจากการโทรศัพท์
สิ่งสำคัญ คือ ประชาชนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 1800 MHz สามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง สามารถติดต่อสื่อสารได้ตามปกติ และภายในระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี จะมีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้ทราบสิทธิว่าสามารถบริการเปลี่ยนไปใช้บริการกับผู้ให้บริการรายอื่นได้ตามที่ต้องการโดยตลอด
ฐากร กล่าวว่า ในช่วงเวลาของการคุ้มครองตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือ สัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 ที่จะมีผลบังคับใช้ผู้ประกอบการทั้ง 3 บริษัท นอกจากจะต้องดำเนินการประชาสัมพันธ์แจ้งเงื่อนไขความคุ้มครอง กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดความคุ้มครอง และบริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ให้ผู้ใช้บริการทราบอย่างต่อเนื่องตามแผนงานที่ได้กำหนดมาให้ กสทช. แล้ว ทั้ง 3 บริษัทจะพักหรือหยุดการให้บริการไม่ได้ ไม่มีสิทธิในการรับลูกค้าใหม่ และจะต้องให้บริการผู้บริโภคด้วยมาตรฐานการบริการเช่นเดิม โดยต้องดูแลคุณภาพสัญญาณบริการให้ได้คุณภาพดังเช่นการให้บริการปกติ ในขณะที่ต้องเร่งรัดการโอนย้ายผู้ใช้บริการตามแผนงาน และรับภาระค่าใช้จ่ายในการพัฒนาช่องทางและเพิ่มประสิทธิภาพในการโอนย้ายเลขหมาย รวมทั้งต้องรายงานจำนวนผู้ใช้บริการคงเหลือให้ กทค. ทราบภายในวันที่ 7 ของทุกเดือน
ในส่วนเงินรายได้ที่จะนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน ตามร่างประกาศฉบับนี้ ในช่วงเวลาเยียวยา รายได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นถือเป็นรายได้ของแผ่นดิน จะนำส่งรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย 3 ส่วน คือ ค่าต้นทุนโครงข่าย ค่าธรรมเนียมเลขหมาย และต้นทุนรายจ่ายในการบริหารจัดการ ส่งเข้ากระทรวงการคลังเป็นรายได้ของแผ่นดิน โดยจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณารายได้และรายจ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างมาตรการเยียวยา
ภายหลังการหารือ ฐากรระบุว่า ผู้ประกอบการทั้ง 3 รายชี้แจงว่าได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย กสท ได้ชี้แจงว่าได้มีการส่งหนังสือยังทรูมูฟ และดีพีซี ให้แจ้งเตือนลูกค้าแล้ว โดยดีพีซีได้ชี้แจ้งว่าได้ทำการส่งข้อความ (เอสเอ็มเอส) ไปยังลูกอย่างต่อเนื่องแล้วโดยตลอด และทางทรูมูฟ ได้ชี้แจงว่า ได้เริ่มส่งเอสเอ็มเอสบอกลูกค้าไปแล้วเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ในอัตราวันละ 1 ล้านข้อความ คาดจะส่งครบราว 17 ล้านเลขหมาย ราวต้นเดือนกันยายน
ในส่วนของสายด่วน (คอลเซ็นเตอร์) ซึ่ง กทค. มีคำสั่งให้ผู้ประกอบการเปิดให้บริการฟรี เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ลูกค้า ทางทรูมูฟ ได้ชี้แจงแล้วว่า ได้ส่งเอสเอ็มเอสแจ้งเตือนแก่ลูกค้าแล้วว่าสามารถสอบถามในเรื่องดังกล่าวได้ฟรี ที่เลขหมาย 026479999 และทาง ดีพีซี ชี้แจงว่า กรณีเดียวกันลูกค้าสามารถขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่คอลเซ็นเตอร์ 1175 ฟรีโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
ที่มา:จดหมายข่าว กสทช. และ มติชนออนไลน์