Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

สภาพักประชุมแก้ รธน. เรื่องที่มา ส.ว. หลังชุลมุน วิป 3 ฝ่ายกำหนดกรอบ ก่อนถกต่อพรุ่งนี้

$
0
0

ประชุมร่วมสองสภาแก้ไข รธน. เลิก ส.ว. สรรหาเป็น ส.ว. เลือกตั้ง เกิดการประท้วงเนื่องจากประธานสภาสั่งลงมติตัด 57 ส.ส. - ส.ว. ไม่ให้แปรญัตติ เนื่องจากเนื้อหาที่จะอภิปรายขัดหลักการของร่างแก้ไข และมีเสียงกรีดร้องของ ส.ส. ขณะเกิดชุลุมุนช่วงตำรวจควบคุม ส.ส.ฝ่ายค้านออกจากที่สภา สุดท้ายประธานสภาต้องพักการประชุม ให้วิป 3 ฝ่าย ไปหารือเรื่องกรอบเวลาและเนื้อหาการอภิปรายมาก่อน แล้วจะเริ่มใหม่ 21 ส.ค.

ตามที่ตั้งแต่เวลา 09.30 น. ของวันที่ 20 ส.ค. มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ในวาระการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 111 มาตรา 112 มาตรา 115 มาตรา 116 วรรคสอง มาตรา 117 มาตรา 118 มาตรา 120 และมาตรา 241 วรรคหนึ่ง และยกเลิกมาตรา 113 และมาตรา 114 ประเด็นที่มาของ ส.ว.

ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 190 และร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ.... มาตรา 68 และมาตรา 237 ซึ่งคณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้วนั้น

โดยกรอบการพิจารณาประเด็นที่มา ส.ว. ในวาระ 2 จะใช้เวลา 2 วัน คือ วันที่ 20-21 สิงหาคม เวลา 09.30 น. - 22.00 น. ซึ่งมีเนื้อหา ให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 200 คน จากเดิมที่ ส.ว. มีที่มาจากการเลือกตั้ง และอีกครึ่งหนึ่งมาจากการสรรหา และให้ยกเลิกคุณสมบัติต้องห้ามตัดข้อห้ามที่เคยระบุว่าห้ามสังกัดพรรคการเมืองเป็นระยะเวลา 5 ปี ออกไป รวมถึงตัดข้อห้ามเรื่องการเป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่ง ส.ส. และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกไป พร้อมทั้งบัญญัติในท้ายร่างด้วยว่า เมื่อมีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เลือกตั้ง ส.ว.แล้ว ส.ว.ชุดเดิมจะปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการพิจารณาบุคคลดำรงตำแหน่ง หรือถอดถอนบุคคลใดออกจากตำแหน่งตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมิได้ จนกว่าสมาชิกวุฒิสภาซึ่งมาจากการเลือกตั้งทั่วไปตามร่างที่แก้ไขจะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่

ภาพบันทึกจากวิดีโอในช่วงที่ตำรวจพยายามเข้าไปควบคุมตัว ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในสภา ในช่วงท้ายจะได้ยินเสียงร้องของนริศา อดิเทพวรพันธุ์ และพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ด้วย (ที่มาของภาพ: http://youtu.be/l1aaU02BO6c)

คลิปที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ ส.ส.ฝ่ายค้าน พรรครักประเทศไทย บันทึกในช่วงเกิดเหตุชุลมุนในสภา เมื่อ 20 ส.ค. โดยนายชูวิทย์โพสต์ด้วยว่ามี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ถามด้วยว่า "ชูวิทย์ถ่ายคลิปไปทำไม? อย่าทำให้เพื่อนๆพรรคประชาธิปัตย์เขากังวล"(ที่มา: เพจชูวิทย์)

หลังเหตุชุลมุนในช่วงบ่าย ทำให้ทุกครั้งที่มี ส.ส.ฝ่ายค้านประท้วง และเข้ามาใกล้ที่นั่งของประธานรัฐสภา ประธานจะสั่งให้ตำรวจเข้ามายืนล้อม (ที่มา: โทรทัศน์รัฐสภา)

 

อย่างไรก็ตาม ในเวลา 13.50 น. ได้เกิดเหตุวุ่นวายขึ้นในสภา โดยหลังจากที่ประชุมรัฐสภามีมติเสียง 339 ต่อ 15 คะแนนไม่ให้สมาชิกรัฐสภาจำนวน 57 คนอภิปรายในที่ประชุมรัฐสภา จากทั้งหมด 202 คน ที่ได้เสนอคำแปรญัตติเพื่อแก้ไขถ้อยคำในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ขัดกับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 96 วรรค 3 กำหนดไว้ว่าการเสนอแก้ไขถ้อยคำที่ขัดกับร่างแก้ไขในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านการขั้นตอนการรับหลักการจะกระทำไม่ได้

โดยนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ระบุว่า "สมาชิกรัฐสภาทั้ง 57 คนได้เสนอคำแปรญัตติที่หลากหลาย เช่น การเสนอตัดบทบัญญัติทุกมาตรา และให้การได้มาซึ่ง ส.ว. กลับไปสู่ระบบสรรหาผสมกับการเลือกตั้ง ซึ่งถือว่าขัดกับหลักการของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาได้รับเอาไว้ โดยในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 1 ที่รัฐสภารับหลักการไว้ คือ ให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้น การเสนอคำแปรญัตติเพื่อยกเลิกบทบัญญัติดังกล่าวจะไม่สามารถกระทำได้"

มติชนออนไลน์รายงานว่า ทั้งนี้ระหว่างที่นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธาน กมธ. ดังกล่าว กำลังอ่านรายงานของคณะ กมธ.เพื่อเข้าสู่เนื้อหาเป็นรายมาตรา ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้ส่งเสียงโห่เป็นระยะ อย่างไรก็ตามสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ทำหน้าที่ประธานรัฐสภา ได้เรียกตำรวจรัฐสภาเข้ามาควบคุมตัว ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์  ที่ประท้วงไม่ยอมให้ประธานดำเนินการประชุม  ออกนอกห้องประชุม

โดย ส.ส. ที่ตำรวจเข้าไปควบคุมตัวได้แก่ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส. พัทลุง นายกุลเดช พัวพัฒนกุล ส.ส. อุทัยธานี นายวัชระ เพชรทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยได้พากันยืนตะโกนว่า "สภาทาส"และ "ขี้ข้าทักษิณ" และเกิดเหตุุชุลมุนขึ้น เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามนำตัวนายกุลเดช ออกจากห้องประชุม ส.ส.ประชาธิปัตย์จึงช่วยกันเข้ามาแก้ไข โดยนายธานี เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี ได้เข้ามาผลักเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ล็อกตัวนายกุลเดช ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาจับนายธานี เหตุการณ์เป็นไปอย่างชุลมุน อย่างไรก็ตาม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ได้ช่วยกันต่อว่าเจ้าหน้าที่ว่า "กล้าทำผู้แทนหรือ"ตำรวจจึงหยุดปฏิบัติดังกล่าว โดยมีรายงานด้วยว่าเมื่อออกห้องประชุมไปแล้วตำรวจได้พนมมือไหว้ ส.ส. กลุ่มดังกล่าว

โดยระหว่างที่มีการควบคุมตัว ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้มีเสียงร้องของ ส.ส. ดังขึ้นมาในสภา ทราบชื่อภายหลังคือ น.ส.นริศา อดิเทพวรพันธุ์ และ น.ส. พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โดยช่วงเหตุการชุลมุนดังกล่าว สามารถชมคลิปได้ที่นี่

อนึ่ง ตลอดทั้งวันมีการพักการประชุมไปทั้งหมด 4 ครั้ง และต่อมาสำนักข่าวแห่งชาติรายงานว่าหลังการอภิปรายของฝ่ายค้าน คือนายเทพไท เสนพงศ์ และนายวัชระ เพชรทอง ที่ระบุว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 1 ชื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรวม 10 มาตรา ซึ่งเป็น มาตราที่เกี่ยวข้องกับที่มาของ ส.ว. เพราะไม่ผ่านการทำประชามติจากประชาชน ขณะเดียวกันระหว่างการอภิปราย ฝ่ายค้านได้ยกมือประท้วงการทำหน้าที่ของประธานฯ ตลอดเวลา เนื่องจากเห็นว่าควรให้สิทธิ นายธนา ชีระวินิจ ส.ส. ฝ่ายค้าน ได้อภิปรายเพราะสงวนคำแปรญัตติไว้แล้ว แต่ประธานยืนยันว่าไม่สามารถให้อภิปรายได้ เพราะแปรญัตติขัดต่อหลักการ

จากนั้นประธานจึงวินิจฉัยว่าไม่มีผู้ติดใจในมาตราที่ 1 จึงเดินหน้าเข้าสู่การพิจารณามาตราที่ 2 ทันที ท่ามกลางบรรยากาศที่วุ่นวาย ประธานจึงสั่งพักการประชุมอีก 10 นาที รวมเป็นการพักการประชุมครั้งที่ 5 และเมื่อเปิดการประชุมอีกครั้ง ที่ประชุมได้ลงมติผ่านความเห็นชอบมาตราที่ 1 ชื่อร่างแก้รัฐธรรมนูญ ด้วยคะแนนเสียง 330 ต่อ 6 เสียง งดออกเสียง 9 เสียง จากนั้นจึงเริ่มพิจารณามาตรา 2 ต่อทันที อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังคงความวุ่นวาย เมื่อฝ่ายค้านและ ส.ว. สรรหา ไม่พอใจการทำหน้าที่ของประธานฯ จึงเสนอให้เลื่อนการประชุมออกไปก่อน

โดย สำนักข่าวแห่งชาติรายงานว่า ในที่สุด นายเจริญ จรรย์โกมล ส.ส.พรรคเพื่อไทย เสนอที่ประชุมให้เลื่อนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไปก่อน เพื่อสร้างบรรยากาศการประชุมให้ราบรื่น และยุติความวุ่นวาย แล้วให้วิป 3 ฝ่าย ไปหารือร่วมกัน เพื่อกำหนดกรอบเวลาและเนื้อหาการอภิปรายให้ชัดเจน ก่อนเริ่มประชุมต่อในวันที่ 21 ส.ค. พร้อมเสนอให้เพิ่มวันประชุมอีก 1 วัน คือ วันที่ 22 สิงหาคม 2556 ทำให้บรรยากาศการประชุมดีขึ้น เพราะเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย แต่ขณะเดียวกันการประชุมยังคงต่อเนื่อง โดยสมาชิกทั้ง ส.ส. พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ว. ยังคงผลัดกันเสนอความเห็นเพื่อการประชุมวันพรุ่งนี้ (21 ส.ค.56) เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จากนั้นประธานสั่งพักการประชุมในเวลาประมาณ 21.40 น. แล้วนัดประชุมต่อพรุ่งนี้ในเวลา 09.00 น.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles