นักวิจัยสองคนจากมหาวิทยาลัยรัฐเทนเนสซี วิจัยโดยการสัมภาษณ์บุคคลผู้เป็นอเทวนิยม ซึ่งแม้จะไม่เชื่อในศาสนาเหมือนกันแต่ก็มีแนวทางด้านภววิทยาต่างกัน ตั้งแต่กลุ่มที่ออกตัวต่อต้านศาสนาอย่างจริงจังและก้าวร้าว ไปจนถึงผู้ไม่ยินดียินร้ายกับการมีหรือไม่มีศาสนา
นักวิจัยสองคนจากมหาวิทยาลัยรัฐเทนเนสซี ศึกษาและแบ่งประเภทของกลุ่มอเทวนิยม (atheists) เป็นหลายประเภทตั้งแต่กลุ่มนักกิจกรรมที่ประกาศต่อต้านศาสนา ไปจนถึงกลุ่มผู้ไม่เชื่อในศาสนาแต่ก็ยังเข้าร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ในพิธีกรรมทางศาสนาบางอย่าง
คริสโตเฟอร์ ซิลเวอร์ นักศึกษาปริญญาเอก และ โทมัส โคลแมน นักศึกษาปริญญาตรี กล่าวไว้ในรายงานการวิจัยว่า จากการศึกษาของพวกเขาทำให้ได้คำตอบหลักว่า กลุ่มคนที่ไม่เชื่อในศาสนามีความแตกต่างกันทางภววิทยา (Ontology - แขนงหนึ่งของปรัชญา ที่ศึกษาเรื่องการมีอยู่จริง หรือสภาวะของความจริง)
ซิลเวอร์กล่าวอีกว่า การแบ่งผู้มีแนวคิดอเทวนิยมออกเป็น 6 ประเภท ในงานวิจัยของเขาเป็นการแบ่งเพียงเบื้องต้นเท่านั้น ในอีก 30 ปี ข้างหน้าอาจมีการแบ่งได้เป็น 32 ประเภท
งานวิจัยของซิลเวอร์ และ โคลแมน ใช้วิธีการสัมภาษณ์คน 59 คน ซึ่งสามารถแบ่งประเภทของอเทวนิยมได้ดังนี้
พวกที่ 1 คือ กลุ่มปัญญาชนไม่มีศาสนา หรือกลุ่มไญยนิยม ที่เชื่อว่าพระเจ้าเป็นสิ่งพิสูจน์ไม่ได้ (Intellectual atheist/agnostic)
คนกลุ่มนี้มักจะนิยมหาข้อมูลและพยายามกระตุ้นการสนทนาเกี่ยวกับความเชื่อว่าไม่มีพระเจ้า พวกเขาชอบการถกเถียงแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะตามหน้าเว็บไซต์อินเทอร์เน็ต คนกลุ่มนี้มีความรู้เกี่ยวกับศาสนาและแนวคิดไม่มีศาสนาโดยอ่านจากหนังสือหรือบทความต่างๆ และมักจะอ้างอิงหนังสือหรือบทความเหล่านั้นอยู่บ่อยๆ
พวกที่ 2 คือ กลุ่มนักกิจกรรม (Activist)
คนกลุ่มนี้คิดว่าแค่การไม่เชื่อในพระเจ้านั้นยังไม่เพียงพอ พวกเขาต้องการป่าวประกาศให้คนอื่นรู้ว่าเหตุใดพวกเขาถึงปฏิเสธศาสนาและเหตุใดสังคมถึงจะดีขึ้นหากทุกคนจะกลายเป็นผู้ไม่มีศาสนาเหมือนกัน
คนกลุ่มนี้มักจะเป็นปากเสียงในประเด็นการเมืองเช่น สิทธิเกย์ สตรีนิยมสิ่งแวดล้อม และการดูแลสัตว์
พวกที่ 3 คือ กลุ่มที่เชื่อว่าพระเจ้าพิสูจน์ไม่ได้แต่ก็เปิดใจ (Seeker-agnostic)
คนกลุ่มนี้ไม่แน่ใจว่าพระเจ้ามีอยู่จริงหรือไม่ แต่ก็เปิดใจและเข้าใจว่ามนุษย์มีความรู้และประสบการณ์ที่จำกัดในการหาคำตอบ
ซิลเวอร์ และ โคลแมน กล่าวว่าคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ตั้งคำถามกับความเชื่อของตัวเองอยู่ตลอดเวลาและไม่ยึดติดกับจุดยืนความเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนกลุ่มนี้สับสนในตัวเอง พวกเขาแค่ยอมรับเรื่องความไม่แน่นอน
พวกที่ 4 คือกลุ่มต่อต้านเทวนิยม (Anti-theist)
ซิลเวอร์และโคลแมน กล่าวว่า คนกลุ่มนี้มักจะออกมากล่าวต่อต้านศาสนาและความเชื่อทางศาสนา โดยวางตัวเองไว้เป้นฝ่ายตรงข้ามของแนวคิดทางศาสนาโดยสิ้นเชิง
"กลุ่มต่อต้านเทวนิยมมองศาสนาว่าเป็นความโง่เขลาเบาปัญญา และมองว่าบุคคลหรือสถาบันใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับศาสนาจะถือว่าล้าหลังและเป็นภัยต่อสังคม"นักวิจัยเขียนไว้ในรายงาน
"กลุ่มต่อต้านเทวนิยมมีมุมมองที่ชัดเจน และในสายตาของพวกเขาแล้วพวกเขามองตัวเองมีความเหนือกว่าในแง่ความเข้าใจเรื่องข้อจำกัดและอันตรายของศาสนา"
กลุ่มต่อต้านเทวนิยม มักจะชอบประกาศตน มีความทุ่มเท และชอบท้าทายสิ่งที่พวกเขาไม่เชื่อ พวกเขาเชื่อว่า "ความคิดผิดๆ ที่เห็นได้ชัดในศาสนาควรถูกนำมากล่าวถึงด้วยความอุกอาจในทางใดทางหนึ่ง"
พวกที่ 5 คือ ผู้ไม่ยุ่งเกี่ยวเรื่องศาสนา (Non-theist)
เป็นกลุ่มที่มีอยู่น้อยที่สุดจากทั้ง 6 กลุ่ม เป็นกลุ่มคนที่ไม่ยุ่งเกี่ยวทั้งกับศาสนาและการต่อต้านศาสนา และในหลายกรณีก็รู้สึกเฉยเมยหรือไม่มีอารมณ์ร่วมกับสิ่งเหล่านี้เลย
"กลุ่มผู้ไม่ยุ่งเกี่ยวเรื่องศาสนา คือคนที่ไม่เอาตัวเองไปผูกกับประเด็นศาสนาเลย"ซิลเวอร์ และ โคลแมน เขียนไว้ในรายงาน "ศาสนาไม่มีบทบาทหรืออิทธิพลใดๆ ต่อจิตสำนึกหรือการมองโลกของคนๆ หนึ่ง และผู้ไม่ยุ่งเกี่ยวกับศาสนาก็ไม่สนใจขบวนการของกลุ่มต่อต้านศาสนาหรือกลุ่มไญยนิยม"
ผู้วิจัยกล่าวอีกว่า "พวกเขาเพียงแค่ไม่มีความเชื่อ และในทางเดียวกัน การไม่มีความศรัทธาก็หมายถึงการไม่มีอะไรเลยที่เกี่ยวข้องกับศาสนาในพื้นที่จิตใจของพวกเขา"
พวกที่ 6 คือ นักอเทวนิยมที่ยังประกอบพิธีกรรม
พวกเขาไม่เชื่อในพระเจ้า พวกเขาไม่ยุ่งเกี่ยวกับศาสนา และพวกเขาก็มักจะไม่เชื่อในเรื่องโลกหลังความตาย แต่ผู้ไม่เชื่อในศาสนากลุ่มที่ 6 นี้ยังคงเชื่อว่าพิธีกรรมหรือคำสอนของบางศาสนามีประโยชน์
"พวกเขามองว่ามันเป็นคำสอนเชิงปรัชญาในเรื่องวิธีการใช้ชีวิตและวิธีการมีความสุข มากกว่าจะเป็นการหลุดพ้นเหนือธรรมชาติ"นักวิจัยกล่าวในรายงาน "ยกตัวอย่างเช่น คนกลุ่มนี้อาจจะเข้าร่วมกับพิธีกรรมหรืองานเทศกาลเฉพาะอย่าง รวมถึงงานแสดงดนตรี การฝึกสมาธิ การเรียนโยคะ หรือประเพณีในวันหยุด"
นักวิจัยกล่าวอีกว่า ผู้ไม่เชื่อในศาสนากลุ่มนี้มักจะยึดกับพิธีกรรมเนื่องจากประเพณีของครอบครัว ส่วนอื่นๆ ก็อาจจะมาจากความรู้สึกผูกพันหรือเคารพชมชอบโดยส่วนตัวกับ "สัญญะที่แฝงอยู่"ในพิธีกรรมทางศาสนา ความเชื่อ และงานประเพณี
แปลและเรียบเรียงจาก
Behold, the six types of atheists, Dan Merica, CNN, 15-07-2013
http://religion.blogs.cnn.com/2013/07/15/the-six-types-of-atheists/