ในโอกาสครบ 7 เดือน การหายตัวไปของ “สมบัด สมพอน” ประทับจิต นีละไพจิตร อภิปรายในเสวนา “ทางเลือก-สู่สันติภาพ” เล่าเรื่องการบังคับให้สูญหายในโลก พร้อมเสนอสังคมช่วยกันบอกเล่าเรื่องราวของคนหาย เพื่อเรียกคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้เหยื่อและครอบครัวของผู้ที่ถูกทำให้สูญหาย
เมื่อวันที่ 15 ก.ค. ที่ผ่านมา โครงการ “มองไปไกลกว่าสมบัด สมพอน” ซึ่งตั้งขึ้นหลังการหายตัวไปของนักพัฒนาอาวุโสชาวลาว สมบัด สมพอน ได้จัดรำลึกถึงการหายตัวไปของเขาครบรอบ 7 เดือน โดยมีการเสวนาเรื่อง “ทางเลือก-สู่สันติภาพ” โดย ประทับจิต นีละไพจิตร คณะทำงานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ และบุตรสาวของทนายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งหายตัวไปเมื่อ 9 ปีที่แล้ว
ประทับจิต เริ่มการเสวนาว่า ได้ค้นเอกสารในสังคมไทยว่ามีเรื่องเกี่ยวกับคนหายหรือเปล่า พบว่าในทศวรรษที่ 1950 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับการถ่ายทอดวิธีการทำให้บุคคลสูญหายมาจากสหรัฐอเมริกาในช่วงที่มีการฝึกทางทหาร โดยในขณะนั้นสหรัฐอเมริกาซึ่งต่อต้านคอมมิวนิสต์ก็มีการถ่ายทอดเทคนิควิธี โดยกลุ่มหลักที่รับเทคนิคเหล่านี้คือตำรวจ ก่อนขยายไปที่ทหาร
ในสังคมไทยมีกรณีคนหายเยอะมาก แต่ยังไม่มีการรวบยอดว่า การบังคับให้สูญหาย โดยเฉพาะการสูญหายโดยการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นอย่างไร มีแต่การใช้คำว่า "หาย"หรือ “missing” อีกคำหนึ่งคือ "อุ้มหาย"และยิ่งในกฎหมายของไทยยิ่งแล้วใหญ่ ไม่มีคำ และไม่มีการระบุว่าการบังคับให้สูญหาย เป็นความผิดทางอาชญากรรม
ทุกวันนี้ในสังคมไทย ในลาว ในหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้จะมีการลงนามรับอนุสัญญาสหประชาชาติป้องกันมิให้คนหาย แต่การทำให้คนหาย ยังไม่เป็นความผิดภายในประเทศ
สำหรับในวงการวิชาการพบว่ามีกระบวนการที่คนถูกลักพาตัว มีวัตถุประสงค์ได้แก่ หนึ่ง กำจัดบุคคลนั้น สอง เอาข้อมูลสำคัญจากคนนั้น และกรณีคนหายแล้วรอดกลับมา ก็จะบอกว่าตนเองถูกทรมานแต่ส่วนมากเสียชีวิตและไม่รู้ว่าศพอยู่ที่ไหน
นิยามของสหประชาชาติบอกว่า การสูญหายแปลว่ามีการกระทำ มีการลักพาตัว มีการอุ้ม มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพ แล้วคนกระทำเน้นไปที่ผู้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือแขนขาของรัฐ แต่ในอนุสัญญาโรม เรื่องการก่ออาชญากรรมในมนุษยชาติ ก็ขยายนิยามไปถึงกลุ่มผู้กระทำอื่นที่มิใช่รัฐ เช่น กลุ่มทางการเมืองที่ใช้ความรุนแรงด้วย อย่างเช่น กลุ่มเหมาอิสต์ในเนปาล หรือกรณีในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มต่อต้านรัฐก็มีการใช้วิธีทำให้หายเหมือนกัน
การทำให้สูญหาย นอกจากมีการกระทำ มีคนกระทำแล้ว ที่น่าสนใจคือรัฐ มักจะมีการปฏิเสธอย่างชัดเจนว่าไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำ มีการปกปิดสถานที่ควบคุมตัว และปกปิดสถานที่ฝังศพของผู้ที่สูญหาย
ในกรณีของสมบัดิ สมพอน เมื่อเทียบกับกรณีหายตัวไปของสมชาย นีละไพจิตร นั้นกรณีของทนายสมชาย ไม่มีกล้องวงจรปิด มีแต่พยานชี้ตัว เพราะฉะนั้นคดีในศาลจึงอ่อนมาก แต่ขนาดของคุณสมบัด สมพอน มีภาพจากกล้องวงจรปิด เห็นตำรวจจราจรเรียกรถเข้าไป คือมีการกระทำ แม้จะอ้างภายหลังว่าไม่ได้เป็นผู้นำไป แต่เขาก็เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ รัฐเองจำเป็นต้องเป็นผู้ตอบคำถามนี้ อย่างน้อยคือตอบคำถามว่าคนที่เรียกตัวนายสมบัด สมพอนอยู่ที่ไหน
ตอนแรกทางการลาวออกมาบอกว่าไม่รู้ ไม่เห็น แต่ข้อสังเกตกรณีที่พบมากที่สุดทั่วโลกคือ ทางการส่วนใหญ่จะโทษสาเหตุของการหายตัวไปว่า เหยื่อหายไปเอง หรือมีเรื่องส่วนตัวอยู่แล้ว หรือมีแนวโน้มจะหายตัวไปเอง
ไม่รู้ไม่เห็น แต่พอมีแรงกดดันมากๆ หลังจากนั้นมีแถลงการณ์ มีการส่งคำถาม โดยเฉพาะจากทางยุโรป ไปถามรัฐบาลลาวว่าสมบัด สมพอน หายไปไหน รัฐบาลก็ใช้วิธีบอกว่าได้แจ้งไปทางตำรวจสากล ตำรวจสหรัฐอเมริกา ตำรวจประเทศนั้นประเทศนี้แล้ว ประกาศหาไปกับตำรวจทั่วโลกแล้ว ใครที่มีเบาะแส มาบอกได้เลย เราพร้อมจะไปตามหาสมบัด สมพอน ทั้งทีตำรวจประเทศเหล่านั้นไม่ได้เป็นผู้เรียกตัวสมบัด สมพอน
เมื่อมีคนหาย ซึ่งไม่รู้ว่าอยู่หรือตายนั้น ได้ก่อเกิดความสบสนขึ้นในสังคม โดยเฉพาะในสังคมส่วนมากเวลาที่คนได้ยินรัฐบาลพูดอะไรบางอย่างก็มีแนวโน้มจะเชื่อ ที่ว่าสื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญนั้น บางครั้งสื่อมวลชนก็ไปประโคมข่าวให้รัฐบาล ว่าคนๆ นี้มีปัญหาแบบนี้นะ เพราะฉะนั้นเขาจึงมีแนวโน้มที่จะหาย ในขณะที่ความเห็นจากครอบครัวของเหยื่อ กลับมีน้ำหนักในสังคมน้อยมาก
และการทำให้บุคคลสูญหาย เปิดโอกาสให้กับการตีความได้หลากหลาย ทำให้ผู้กระทำละเว้นต่อการรับผิดชอบ ผู้กระทำออกมาปฏิเสธได้ง่ายๆ ว่าไม่ได้เป็นผู้กระทำ ช่องว่างของความคลุมเครือนี้ ทำให้การทำให้บุคคลสูญหาย ร้ายแรงกว่าการทำให้คนตายเสียอีก และรัฐได้ประโยชน์เต็มๆ จากการกระทำที่คลุมเครือ นอกจากนี้การทำให้บุคคลสูญหายก็มีรูปแบบคล้ายกันทั่วโลก เป้าหมายก็เพื่อกำจัดศัตรูทางการเมือง ที่มีความคิดเห็นต่างจากรัฐออกไป
ต่อมาประทับจิต อภิปรายเรื่องความคลุมเครือเมื่อมีบุคคลสูญหายก่อให้เกิดอะไรกับเหยื่อบ้าง โดยได้ยกตัวอย่างจากกรณีที่เกิดขึ้นในเนปาล โคลัมเบีย ฟิลิปปินส์ ภาคเหนือของไทย ว่าเหยื่อในแต่ละที่ ในแต่ละสังคมเจอกับอะไรบ้าง ทั้งนี้เหยื่อกลับเป็นผู้ที่เสียประโยชน์ สิ่งที่มองเห็นได้ก็คือ เหยื่อได้รับผลกระทบทางจิตใจ แทนที่เวลาผ่านไปเหยื่อจะลืม เหยื่อยิ่งครุ่นคิด ครอบครัวของผู้สูญหายยิ่งครุ่นคิด ความคลุมเครือมันร้ายแรงขนาดที่ว่า เหตุการณ์การหายไม่ได้จบลง ณ วันที่หาย แต่ความคลุมเครือที่ยังดำเนินต่อไป ระหว่างที่ยังหาศพไม่พบ ทำให้ภาวะความสูญเสีย ที่เกิดขึ้นทางจิตใจยาวขึ้นไปด้วย
ส่วนผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองนั้น หลายที่โดยเฉพาะในเอเชีย ซึ่งเพศชายเป็นใหญ่ พบว่า หลังจากสามีซึ่งถูกทำให้หายตัวหรือเสียชีวิต ผู้หญิงหลายคนต้องออกมาทำงาน ปัญหาสำคัญคือในสังคมที่ผู้หญิงยากจน ไม่มีความรู้ หลายคนต้องออกมาเป็นขอทาน เมื่อออกมาพึ่งชุมชน ก็ถูกทำให้กลายเป็นคนรับใช้ของชุมชน
เรื่องสังคม วัฒนธรรม พบว่า จะเห็นได้ว่า ในหลายสังคม มีพิธีกรรมเกี่ยวกับการเกิดและการตาย พิธีกรรมทางสังคมมีความสำคัญ เพราะมันบอกตำแหน่งแห่งที่ บอกสถานะของสมาชิกในสังคม แต่ประเด็นคือหลังจากมีการสูญหาย ไม่มีพิธีกรรมเกี่ยวกับการสูญหาย ไม่มีการเปลี่ยนผ่าน เพื่อให้จบ ยุติ สถานะของเขาเหล่านั้น
ความทุกข์ทรมานจึงเกิดขึ้นกับหลายสังคม เช่น ครอบครัวของผู้สูญหายในอินเดีย หรือชาวละหู่ในภาคเหนือของไทย ที่เชื่อว่าการตายโดยไม่เป็นธรรมชาติ หรือตายโหง จะนำความโชคร้ายมาสู่สังคม หรือบ้านเรือน ทำให้ผู้หญิงที่สมาชิกในครอบครัวเป็นสูญหายจะถูกกีดกันทางสังคม
ในสังคมอินเดีย มีการแต้มจุดเพื่อแสดงสัญลักษณ์ว่าแต่งงานแล้วหรือไม่ได้แต่งงาน ผู้หญิงที่สามีสูญหาย ก็ไม่รู้ว่าจะเอาจุดออก หรือไม่เอาจุดออก เชื่อไหมว่าแค่จุดสีแดงบนหน้าผากนั้นสำคัญมาก เรื่องคนหายจึงไม่เฉพาะการพรากคนที่เขารักไป แต่ยังพรากเอาความเป็นอัตลักษณ์ ความเป็นสมาชิกในสังคมหนึ่งหายไปด้วย
เมื่อมีคนหาย ครอบครัวหลายครอบครัวโดยเฉพาะผู้หญิง อยู่ไม่ได้ในชุมชน ครอบครัวของสามีก็ไม่รับ หลายคนต้องออกจากชุมชนไป ในสหรัฐอเมริกา มีกรณีที่ญาติของคนหายฆ่าตัวตายเยอะมาก
ในทางการเมืองก็สำคัญ เหยื่อต้องแลกเพื่อขอความร่วมมือจากรัฐ ส่วนใหญ่ต้องยอมรับก่อนว่าเหยื่อหายไปเอง เจ้าหน้าที่รัฐไม่เกี่ยวข้อง เพื่อขอความช่วยเหลือ แต่ขณะเดียวกันก็ยังลังเลว่าอยากพิสูจน์ว่าเจ้าหน้าที่รัฐนั่นแหละที่ทำ หรือเกี่ยวข้อง ทำให้คนของเราหายไป
ในตอนท้าย ประทับจิต กล่าวถึงวิธีที่เหยื่อซึ่งมีสมาชิกครอบครัวเป็นผู้สูญหายเลือกใช้ เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลง บูรณาการศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขาขึ้นมาประกอบด้วย หนึ่งสานเสวนาระดับครอบครัวเป็นกระบวนการเยียวยาที่เหยื่อทำได้ตั้งแต่ในครอบครัว จับเข่าคุยกัน อธิบายว่าครอบครัวมีปัญหาอย่างไร เพื่อให้ยอมรับได้ว่าเรากำลังเผชิญกับความคลุมเครือที่จะเป็นภาวะระยะยาว สองสานเสวนาระดับชุมชนมีการสร้างกลไกเพื่อระบุสถานะผู้ที่สูญหายในชุมชน คุยกันว่าสถานการณ์ในชุมชนเป็นแบบนี้ ชุมชนช่วยกันกอบกู้ความรู้สึก สร้างความช่วยเหลือให้เหยื่อ
และวิธีสุดท้ายที่น่าสนใจและเรากำลังทำในที่นี้คือ"สร้างเรื่องเล่า"ทั้งนี้สิ่งที่น่ากลัวในการทำให้คนหายคือ ผู้กระทำมักจะมีการผูกขาดอำนาจเกี่ยวกับคนหาย ว่าเขาเป็นใคร เขาไปทำอะไร แต่เราพบว่าจุดเริ่มต้นสำคัญมากๆ เหยื่อในละตินอเมริกามารวมตัวกัน และออกมาเรียกร้องได้ก็คือ การสร้างเรื่องเล่าเกี่ยวกับคนที่หายไป
“ดิฉันก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่รู้จักสมบัด สมพอนมาก่อน แต่หลังจากที่เขาหายไป ก็ได้ศึกษาก็ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเขามากขึ้น ถ้าหากว่าทุกวันที่ 15 เรายังออกมายืนชูป้ายว่าเราเชื่อในสิ่งที่เขาทำ เรายังใช้การพัฒนาตามแนวทางของเขา เรายังเชื่อในพลังของเยาวชนแบบที่คุณสมบัด สมพอนเป็น กระบวนการแบบนี้คือการสร้างเรื่องเล่า ซึ่งต้องอาศัยคนทั้งสังคม ไม่เฉพาะครอบครัวของเขา เพราะครอบครัวก็เผชิญภาวะหนักแล้ว นี่คือสิ่งที่ดิฉันคิดว่าเป็นแสงเล็กๆ ที่ปลายอุโมงค์” ประทับจิตกล่าว
โดยหนึ่งในวิธีที่จะทำให้คุณสมบัดกลับมาก็คือ สร้างเรื่องเล่าด้วยกันเกี่ยวกับคนที่หายไปให้มากที่สุด ว่าเขาคือใคร เขาทำอะไร เขาไม่ควรหายไปอย่างไร นี่คือแสงที่ปลายอุโมงค์เล็กๆ ที่จะสามารถช่วยเหลือเหยื่อจำนวนมาก ดิฉันและแม่ได้พบกับ ภรรยาของสมบัด สมพอน และพบว่าแรงของการจัดกิจกรรมต่างๆ ได้ส่งผลต่อแรงใจให้กับภรรยาของสมบัด สมพอน
“การสร้างเรื่องเล่ามีพลังอำนาจมาก ถ้าทุกคนออกมาสร้างเรื่องเล่า ว่าเขาหายไม่ได้หายไปเอง หายจากการถูกเรียกในวันนั้น หายเพราะมีคนนำไป จะยิ่งทำให้เรื่องเล่าของเขาไม่หายไป เรื่องเล่าจะสลายเมฆหมอกของความคลุมเครือ จากคำอธิบายนานา ที่วนอยู่ในสังคม ขึ้นมาได้ในที่สุด”