มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค-มูลนิธิชีววิถี ยืนยันใช้ห้องทดลองได้รับการรับรองในการตรวจ เหตุไม่เปิดชื่อเพราะห้องทดลองถูกกดดันมากและต่อไปอาจไม่มีห้องทดลองรับตรวจให้ในอนาคต พร้อมยินดีและขอนัดพบนายกฯ เพื่อเสนอกลไกคุ้มครองผู้บริโภค
(18 ก.ค.56) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและมูลนิธิชีววิถี เผยแพร่ใบแถลงข่าว ระบุว่า หลังจากการแถลงผลการตรวจข้าวสารถุงของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และมูลนิธิชีววิถี เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา ปรากฏว่า รัฐมนตรี รัฐมนตรีช่วย อธิบดี ผู้บริหารระดับสูง และผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก ออกมาตั้งคำถาม กล่าวหา และเบี่ยงเบนสาระสำคัญของปัญหาข้าว ทั้งๆ ที่ควรมาช่วยกันแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ช่วยกันคุ้มครองผู้บริโภคและพัฒนาคุณภาพข้าวในประเทศไทย
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและมูลนิธิชีววิถี ยืนยันว่า ตลอดระยะเวลาการทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและความั่นคงด้านอาหารของทั้งสององค์กรมาเกือบ 30 ปี มีหลักในการทำงานเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งเสมอ เราทำงานร่วมกับภาครัฐ ประชาชนและภาคเอกชนมาโดยตลอด ทำงานด้วยหลักวิชาการ เปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้
"คำกล่าวหาของนายยรรยง พวงราช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์และนายนิวัติ สุธีมีชัยกุล รองปลัดกระทรวง ที่ว่า “ตรวจหลังบ้าน” เป็นเรื่องที่ดูถูกดูแคลนองค์กรผู้บริโภคและมูลนิธิทั้งสอง ยอมรับไม่ได้ เพราะศูนย์ทดสอบของนิตยสารฉลาดซื้อ ตรวจสอบคุณภาพของสินค้าทุกเดือน และโดยเฉพาะกลุ่มอาหาร ไม่ว่าจะขนมปังที่ผสมยากันบูดเกินมาตรฐาน ซึ่งก็พบด้วยว่า ในท้องตลาดมีขนมปังที่ไม่มียากันบูด สารเคมีเกินมาตรฐานในผัก หรือแม้แต่การตรวจความหอมของข้าวหอมมะลิ จนนำมาซึ่งตรารับรองเทพนมของกระทรวงพาณิชย์"มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและมูลนิธิชีววิถี ระบุและว่า ทุกครั้งของการเปิดเผยข้อมูลต้องผ่านห้องปฏิบัติการที่มีมาตรฐานเท่านั้น และมีนักวิชาการมืออาชีพด้านต่างๆ ที่ได้สนับสนุนการทำงานมาโดยตลอด และร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยามาอย่างต่อเนื่อง
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและมูลนิธิชีววิถี ระบุว่า การตรวจข้าวสารบรรจุถุงครั้งนี้ ข้าวสารถุงทั้งหมดถูกส่งตรวจ ไปตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน ในเวลาใกล้เคียงกับที่หน่วยงานภาครัฐส่งตรวจ แต่ต่างก็ออกมาแจ้งกับประชาชนว่า ไม่มีสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน จนกระทั่งการแถลงข่าวผลการตรวจสอบของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และมูลนิธิชีววิถีเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ก็ได้รับการยืนยันจาก อย.ว่า มีบางยี่ห้อ ตกค้างเกินมาตรฐานจริง
"ถึงเวลาที่สิทธิของผู้บริโภคไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการได้รับข้อมูลข้อเท็จจริง สิทธิในการเลือกซื้อ สิทธิในการได้รับความปลอดภัย ประชาชนไทยที่ถูกละเลยและไม่เคยให้ความสำคัญมาเป็นเวลานาน ต้องได้รับการคุ้มครอง"
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและมูลนิธิชีววิถี กล่าวถึงข้อเสนอและการพยายามผลักดันให้ข้าวสารถุงมีตรารับรองของ อย. ว่า ไม่ใช่ทางออก เพราะข้าวสารเป็นสินค้าทั่วไป การมีตรา อย.ไม่ได้รับประกันว่าข้าวสารไม่มีสารเคมีตกค้าง และอาจจะทำให้บริษัทขนาดเล็ก ผู้ผลิตรายย่อย ที่ดำเนินการได้มาตรฐานประสบปัญหา แต่การสุ่มตรวจอย่างมีระบบ เปิดเผย โปร่งใส มีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายต่างหาก เป็นสิ่งที่สำคัญที่จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค และสนับสนุนผู้ผลิตที่มีมาตรฐานที่แท้จริง
ส่วนข้อแนะนำให้ประชาชนล้างข้าวเพื่อที่สารเหล่านี้จะหายไป มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและมูลนิธิชีววิถี มองว่า เป็นข้อเสนอที่ไม่เพียงพอ แต่ทุกภาคส่วนต้องมุ่งมั่นดูแลประชาชนด้วยการทำให้ข้าวที่บริโภคในประเทศดีเท่าระดับการส่งออก ลดการใช้สารเคมีอย่างเป็นระบบ ยิ่งกว่านั้น การใช้สารเคมีต้องไม่ตกค้างเกินมาตรฐาน และควรเป็นโอกาสเพิกถอนยกเลิกการขึ้นทะเบียนสารเคมีที่เป็นอันตราย หรือแม้แต่เมธิลโบรไมด์ที่เป็นอันตรายชัดเจนต่อสภาวะแวดล้อม ซึ่งประเทศไทยได้ตกลงยกเลิกการใช้ในปี 2557 หรือปรับปรุงสารเคมีตกค้าง เพื่อมาตรฐานปลอดภัยของการปนเปื้อนสารเคมีของไทย อย่างน้อยให้มีความใกล้เคียงกับประเทศคู่ค้า เช่น จีน
อนึ่ง ในวันพรุ่งนี้ (19 ก.ค.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและมูลนิธิชีววิถี จะร่วมประชุมกับผู้ประกอบการและสมาคมผู้ค้าข้าวถุง เพื่อพัฒนาคุณภาพข้าวสารเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ มูลนิธิทั้งสองระบุด้วยว่า ยินดีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ เอ่ยปากชวนให้ไปพบ จึงจะขอเข้าพบนายกฯ เพื่อเสนอกลไกสำคัญในการคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศ โดยขณะนี้กำลังติดต่อประสานงานกับนายสุรนันท์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและมูลนิธิชีววิถี ทิ้งท้ายด้วยว่า หากจะกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว การตรวจสอบสินค้าและรายงานประชาชนนี้ มูลนิธิฯ ทั้งสองคงไม่จำเป็นต้องทำมาก หากประเทศไทยมีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเป็นกลไกที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540 จนถึงรัฐธรรมนูญปัจจุบัน