การแถลงข่าวผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ของนายสม รังสี ผู้นำพรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านของกัมพูชา ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ทั้งนี้นายสม รังสี ซึ่งอยู่ระหว่างลี้ภัยการเมือง และมีกำหนดเดินทางมายังประเทศไทยเพื่อจัดเสวนาและเปิดตัวหนังสือ แต่ได้ถูกทางการไทยห้ามไม่ให้เข้าประเทศและถูกส่งตัวกลับ ทำให้ต้องแถลงข่าวผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์มาจากสิงคโปร์แทน (ที่มาของภาพ: Takato Mitsunaga)
หลังจากมีข่าวว่า นายสม รังสี ผู้นำฝ่ายค้านกัมพูชา พรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) ซึ่งมีกำหนดเสวนาและเปิดตัวหนังสือ"เราไม่ใช่ตัวปัญหา: การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในกัมพูชาของข้าพเจ้า" (We Didn't Start the Fire: My Struggle for Democracy in Cambodia) ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) แต่มีรายงานว่าเขาถูกเจ้าหน้าที่ไทยห้ามไม่ให้เข้าประเทศและถูกส่งกลับนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
ล่าสุด เมื่อเวลา 19.00 น. วานนี้ (5 มิ.ย. 56) ซึ่งเป็นกำหนดการเดิมที่เขาจะมาเสวนาที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) นั้น ในเวลานัดหมายดังกล่าวเข้าได้ใช้วิธีแถลงข่าวและตอบคำถามผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ผ่านทางวีดีโอคอนเฟอเรนซ์จากประเทศสิงคโปร์แทน โดยในการแถลงเขาได้กล่าวในหลายประเด็น ทั้งเรื่องการเลือกตั้งทั่วไปในกัมพูชาที่จะมาถึงในปลายเดือนกรกฎาคม รวมทั้งเรื่องที่เขาถูกปฏิเสธจากทางการไทยไม่ให้เข้าประเทศ
นายสม รังสีกล่าวว่า รู้สึกแปลกใจมากที่ตนไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศ โดยเขากล่าวว่าได้เดินทางจากเกาหลีใต้เพื่อเข้าประเทศไทย แต่เจ้าหน้าที่ทางการระดับสูงของไทยกล่าวว่าไม่อนุญาตให้เข้า และชี้ว่าอาจกลับมาใหม่ได้ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมซึ่งเป็นช่วงหลังการเลือกตั้งทั่วไปกัมพูชา ซึ่งตนเข้าใจว่าเป็นการกดดันจากรัฐบาลกัมพูชามายังรัฐบาลไทยอีกทีหนึ่ง
เขากล่าวว่า เมื่อสองเดือนก่อนหน้านี้ได้เดินทางมายังประเทศไทยได้ตามปกติ และได้ไปเยือนประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคด้วยอาทิ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย พม่า โดยได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากรัฐบาล
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา เขาได้เดินทางไปสหรัฐอเมริกาเพื่อเปิดตัวหนังสืออัตชีวประวัติของตนเอง และบรรยายในที่ต่างๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาทางสังคมและการเมืองในกัมพูชา
"ประเทศที่มีประชาธิปไตยที่คึกคักต่างยินดีต้อนรับผมเป็นอย่างดีทั้งนั้น"สมกล่าว และระบุว่ารัฐบาลกัมพูชาคงรู้สึกหวั่นเกรงที่ตนเข้ามาใกล้ชิดกัมพูชามากเกินไป
ต่อการเลือกตั้งทั่วไปในกัมพูชาที่จะจัดขึ้นในวันที่ 28 กรกฎาคมนี้ เขาเรียกร้องให้นานาชาติไม่ให้ยอมรับความชอบธรรมของการจัดการเลือกตั้งดังกล่าว เพราะชี้ว่าครั้งที่ผ่านๆ มาก็เป็นไปอย่างไม่โปร่งใส และยังกล่าวถึงรายงานของการสังเกตการณ์เลือกตั้งของสถาบัน National Democratic Institute ด้วยว่า มีบัญชีรายชื่อของผู้มีสิทธิเลือกตั้งปลอมออกมาถึงร้อยละ 10 ของผู้เลือกตั้งทั้งหมด เพื่อเพิ่มคะแนนให้กับพรรครัฐบาล และราวร้อยละ 15 มิได้รับสิทธิในการเลือกตั้ง
เมื่อตัวแทนจากสหภาพยุโรปถามเรื่องการส่งผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งในครั้งที่จะถึงนี้ ว่าตอนนี้ยังไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลให้ส่งผู้แทนเข้าไป ทั้งๆ ที่ครั้งก่อนสามารถร่วมสังเกตการณ์ได้ นายสมกล่าวว่า ประชาคมนานาชาติไม่จำเป็นต้องส่งผู้แทนเข้าไปสังเกตการณ์ เนื่องจากจะเท่ากับยอมรับความชอบธรรมของการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น "ทำไมพวกเขาควรต้องเสียเงินเพื่อเข้ามาดูการเลือกตั้งที่มีบทสรุปไปล่วงหน้าแล้ว (ว่าไม่สะอาดและยุติธรรม)"สมกล่าว
ทั้งนี้การเลือกตั้งทั่วไปของกัมพูชา มีกำหนดจัดในวันที่ 28 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้ โดยปัจจุบัน พรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) นำโดยนายฮุน เซ็น ครองเสียงข้างมากอยู่ในสภาโดยมี ส.ส. 90 คน ส่วนพรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) ที่มีนายสม รังสี เป็นผู้นำ ขณะนี้มีเสียงในสภา 26 ที่นั่ง
สำหรับพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล เดิมชื่อพรรคประชาชนปฏิวัติกัมพูชา (KPRP) ครองอำนาจมาตั้งแต่ปี 2524 โดยนายฮุน เซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ปกครองกัมพูชามาอย่างยาวนานกว่า 27 ปี และประกาศว่าจะอยู่ในอำนาจอีก 30 ปี ส่วนพรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) เกิดจากการรวมกันของพรรคฝ่ายค้านกัมพูชา 2 พรรคคือพรรคสม รังสี และพรรคสิทธิมนุษยชนตั้งแต่กลางปี 2555 และจะร่วมกันแข่งขันในการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกรกฎาคมนี้
อนึ่งกรณีส่งกลับหรือการห้ามไม่ให้นักการเมืองหรือนักกิจกรรมในประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในประเทศไทยเพื่อแถลงข่าวหรือจัดประชุมนั้น ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยที่ก่อนหน้านี้ ในเดือนกันยายนปี 2553 องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส คือ สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (International Federation for Human Rights: FIDH) และคณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนเวียดนาม (the Vietnam Committee on Human Rights: VCHR) เคยมีกำหนดจะแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) แต่ต้องยกเลิกการจัดงานเนื่องจากกระทรวงการต่างประเทศของไทยขณะนั้น ไม่อนุมัติวีซ่าให้กับผู้ที่จะเข้ามาแถลงข่าว (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)