รายงานบทสนทนาในกิจกรรม ‘กาแฟปฏิรูป’ บก.ลายจุด จับเข่าคุย อลงกรณ์ พลบุตร เรื่องพิมพ์เขียวปฏิรูป ปชป.เสนอระบบ primary ในพรรคสู่สถาบันประชาชน รับ ‘ดีแต่พูด-อิงเผด็จการ’ ทำแบรนด์เสีย นัดหน้าเล็งซดกาแฟกับกุนซือเพื่อไทย ภูมิธรรม-ประธาน นปช.
5 มิ.ย.56 เวลาประมาณ 9.30 น. ที่ร้านกาแฟ Starbucks อัมรินทร์พลาซ่า ใกล้สี่แยกราชประสงค์ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด และนายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งพึ่งมีการเสนอร่าง “พิมพ์เขียวปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์” จนเป็นที่สนใจของคนในสังคม นัดสนทนากันภายใต้ชื่อกิจกรรม "กาแฟปฏิรูป"เพื่อสนทนาถกเถียงโดยการนำข้อเสียและสิ่งที่ตัวเองจะปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงตัวเองมาแลกเปลี่ยนกัน เพื่อสร้างบรรยากาศ "ความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์"โดย บก.ลายจุด มีแผนว่าจะเชิญนายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย และ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. สนทนาด้วยคำถามเดียวกันว่า “จะปฏิรูปองค์กรตัวเองอย่างไร” เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิรูปประเทศไทยโดยเริ่มจากตัวเองหรือองค์กรตัวเองก่อน และหากกระแสสังคมตอบรับบก.ลายจุดยังระบุว่าอาจมีกระบวนการคุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ด้วยโดยให้คนที่สังคมยอมรับคุย
สำหรับบรรยากาศในการสนทนาระหว่าง บก.ลายจุด กับ นายอลงกรณ์ เป็นไปโดยถ้อยทีถ้อยอาศัย ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ส่วนมากเป็นการนำเสนอทัศนะทางการเมืองและพิมพ์เขียวปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์โดยนายอลงกรณ์ ซึ่งทั้งคู่สั่งกาแฟร้อนพร้อมขนม โดย บก.ลายจุด เป็นผู้เลี้ยงในราคา 270 บาท พร้อมทั้งมีนายนภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ ผู้สื่อข่าวข่าวเนชั่น ร่วมทวีตสดทางทวิตเตอร์ด้วย
นำการเมืองมาสู่ความเชื่อถือและศรัทธาในระบบรัฐสภา
นายอลงกรณ์ เปิดบทการสนทนาว่าเรื่องการปฏิรูปพรรคมีปฏิกิริยาทั้งภายในพรรคและโซเชียลมีเดียให้ความสนใจมาก และเห็น บก.ลายจุด เข้าใจและสนใจจึงมาสนทนากันในวันนี้ บริบทของการปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์คือการหาทางออกให้กับประเทศไทย จะเป็นการก้าวไปสู่การปฏิรูปประเทศไทย โดยมองประเด็นปัญหาของประเทศที่เป็นอยู่ในวันนี้ว่ามองไม่เห็นอนาคตและไม่รู้ว่าวันใดจะเกิดการรบราฆ่าฟันกัน เกิดการนองเลือก การรัฐประหารบ้านเมืองก็จะถอยหลังทุกครั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว และคิดว่านักการเมืองควรเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการทำให้ปัญหาเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นซ้ำรอย
“ย้อนกลับมาดูตัวเองมันก็เห็นว่ามันต้องแก้ ถ้าเราไม่แก้ก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาอีกต่อไป ผมอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมือง และเป็นระบบการเมืองที่เป็น 2 พรรคการเมืองใหญ่ เพราะฉะนั้นมันต้องมีคนเริ่มต้น ผมก็คิดว่าถ้าเราสามารถปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์ให้เป็นพรรคการเมืองที่มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ มีอุดมการณ์ และสามารถสร้างระบบการเมืองที่ดีในการแข่งขันเชิงคุณภาพ นำการเมืองมาสู่ความเชื่อถือและศรัทธาในระบบรัฐสภาได้” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว
นายอลงกรณ์ กล่าวด้วยว่าข้อเสนอของการปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นสิ่งที่พึ่งเกิดขึ้น แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังการเลือกตั้งปี 2554 แต่ก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น
กลับมาเป็นบริษัทมหาชนไม่ใช่บริษัทจำกัด บริษัทครอบครัว
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่าเรายังมีทุนทางการเมืองที่ดี ไม่ใช่แย่ไปเสียทั้งหมด อย่างน้อยประชาธิปัตย์ข้อดีคือเป็นสถาบันทางการเมือง ไม่มีใครเป็นเจ้าของเหมือนบริษัทมหาชน เพียงแต่ว่ามีวัฒนธรรมองค์กรที่เริ่มจะย้อนกลับไปเป็นบริษัทจำกัด คือ เหมือนเป็นบริษัทครอบครัว อยู่กันนานและใกล้ชิด ในที่สุดก็เหมือนกับว่าเป็นครอบครัว เป็นพ่อเป็นแม่เป็นปู่เป็นตา ลูกหลานไม่ว่าจบในจบนอก พอมาอยู่ในวัฒนธรรมของครอบครัวที่มีความใกล้ชิดกัน แต่ก็เป็นด้านหนึ่งที่ต้องมองว่าอาจส่งผลต่อความกล้าในการแสดงออก เนื่องจากถูกอิทธิพลของผู้อาวุโส
ในเรื่องความเป็นองค์กรทางการเมือง การบริหารองค์กรจะต้องไม่ใช่ทิศทางแบบนั้น ต้องกลับมาเป็นบริษัทมหาชน เมื่อมีปัญหาด้านการบริหารองค์กรก็ควร Re-engineering (การปรับรื้อระบบ) ปรับวิธีคิด และฝึกคนขึ้นมาเพื่อให้รองรับกับวัฒนธรรมองค์กรที่ทันสมัยและเป็นประชาธิปไตยเปิดกว้าง ยังคิดว่าพรรคเพื่อไทยง่ายกว่าเพราะเป็นบริษัทจำกัดที่บริหารโดยครอบครัว อย่างไรก็ตาม เมื่อเราเริ่มต้นว่ากุญแจที่จะไขไปสู่การปฏิรูปประเทศได้ จะไขไปสู่ทางออกของประเทศได้มันต้องมีการเริ่มต้น และโดยหน้าที่เรารับผิดชอบต้องยอมเสียสละที่จะปฏิรูปตัวเอง หลังจากนั้นจะเกิดปฏิกิริยาเป็นลูกโซ่
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันด้วยว่า เขาไม่ใช่คนเดียวในพรรค แต่มีอีกจำนวนไม่น้อยที่เห็นด้วยกับการปฏิรูปพรรค วันนี้หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคเห็นพ้องว่าเราต้องปฏิรูปใหญ่ เรื่องการบริหารจัดการ วัฒนธรรมองค์กร และภายในสัปดาห์เศษก็จะสรุปตัวร่างของการปฏิรูปของพรรค
ระบอบประชาธิปไตยอยู่บนความแตกต่าง จึงได้เกิดคำว่าเสียงข้างมาก-ข้างน้อย
บก.ลายจุด แลกเปลี่ยนด้วยว่า สังคมภายนอกขานรับ และคนที่ไม่ได้อยู่ในปีกสุดโต่งของแต่ละฝ่ายก็น่าจะขานรับกับเรื่องแนวทางการปฏิรูป เรื่องการคุย แม้ว่าในเรื่องที่ยังเถียงกันอยู่เห็นไม่ตรงกันมากๆ ก็ยังเถียงกันอยู่ได้ แต่เรื่องที่คุยกันได้ก็น่าจะได้คุยกัน
ขณะที่อลงกรณ์ มองว่า “พัฒนาการประชาธิปไตยของไทยลุ่มๆดอนๆ และมีการฉวยโอกาสในการสร้างแนวคิดที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยแฝงเข้ามาในประชาธิปไตย ความจริงคนที่เป็นนักประชาธิปไตยจริงๆ ต้องยอมรับความแตกต่างได้ และไม่ใช่ความแตกแยกด้วย ผมจะคุยกับจ่าประสิทธิ์ หรือผมจะคุยกับ บก.ลายจุด หรือจะให้ผมไปคุยกับใครผมคุยได้ทั้งนั้น ระบอบประชาธิปไตยมันอยู่บนความแตกต่าง จึงได้เกิดคำว่าเสียงข้างมากข้างน้อย”
อลงกรณ์ กล่าวด้วยว่า พรรคการเมืองต้องเป็นตัวอย่าง เป็นสัญลักษณ์ของสถาบันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย นักการเมืองเองก็ต้องแสดงความเป็นสถาบันประชาธิปไตย เป็นตัวอย่างความเข้าใจเรื่องความแตกต่างของความคิด
คนประชาธิปัตย์บางส่วนกลัวการปฏิรูปพรรคมากกว่าคุณทักษิณ
“เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีการประชุมงบประมาณมีเพื่อนๆ ทางพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยพูดสรุปตรงกันว่า คุณทักษิณกลัวการปฏิรูปของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะจะทำให้แข่งด้วยยากมาก แต่ว่าคนประชาธิปัตย์บางส่วนกลับกลัวการปฏิรูปมากกว่าคุณทักษิณ” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว
สำหรับการปฏิรูปพรรค อลงกรณ์ มองว่าหากทำได้ 100% เชื่อว่าประเทศไทยมีความหวังแน่นอน มันไม่ใช่ว่าเราผิดหรือเราไม่ดีอย่างที่หลายคนในพรรคประชาธิปัตย์คิด แต่เรากำลังทำสิ่งที่ดีและสร้างสิ่งที่เป็นอนาคตเพื่อเป็นทางออกของประเทศ
“เราต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงที่ตัวเรา และถ้าเราเริ่มการเปลี่ยนแปลงเราก็จะเป็นผู้กำหนดการเปลี่ยนแปลง การที่เราเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง มันหมายถึงว่าคู่แข่งของเราคือพรรคเพื่อไทยเขาจะตามเราไม่ทัน เขาเองก็ต้องปฏิรูปและก็ทำให้เกิดความเป็นบริษัทมหาชน เป็นพรรคของมหาชน” อลงกรณ์กล่าว
ความหวังอยู่ที่ 2 พรรคใหญ่
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าในระบบการเมือง 2 พรรคใหญ่ มันก็มีความหวังอยู่ 2 พรรคเหมือนกับหัวรถจักร ก็มี 2 หัวรถจักรเท่านั้นเอง ส่วนเรื่องทางเลือกที่ 3 นั้น มองว่ายาก ตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นคือการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. เพราะเมื่อมีการแข่งขันคนก็จะดูที่คู่เอก ไม่มีใครดูที่คู่รอง และพัฒนาการทางการเมืองทั่วโลกที่พัฒนาการในแนวทางประชาธิปไตยจะไปสู่ระบบการเมืองแบบ 2 ขั้ว
อลงกรณ์ กล่าวถึงข้อเสนอของตนเองในการปฏิรูปพรรค ปชป. ว่า ให้มีการจัดตั้งสำนักวิจัยและพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ประเทศ สำนักวิจัยและพัฒนากฎหมาย สำนักวิจัยและพัฒนางบประมาณแผ่นดิน ศูนย์ต่อต้านคอรัปชั่น ศูนย์ช่วยเหลือประชาชน ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักพัฒนาสาขาพรรคและสมาชิก เพราะตอนหลังประชาธิปัตย์แพ้เพราะนโยบายโดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา เงินเป็นปัจจัยภายนอก แต่ปัจจัยภายในคือเราไม่มีสำนักงานที่จะทำนโยบายเป็นการเฉพาะ ดังนั้นการพัฒนานโยบายจึงไม่เกิด รวมทั้งยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงเมื่อเราเป็นรัฐบาลเรามีปัญหาการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ เพราะการไม่เตรียมพร้อม
“ดีแต่พูด” แบรนดิ้งปัญหาการนำนโยบายไปปฏิบัติของพรรค
“ก่อนปี 44 พรรคประชาธิปัตย์แข่งกันเองกับนักการเมืองหรือว่าอดีตข้าราชการ วิธีคิด วิธีทำงานไม่ค่อยต่างกันเท่าไร แต่พอปี 44 นักธุรกิจหมื่นล้านมาแข่ง เพราะฉะนั้นวิธีคิดก็เปลี่ยนแปลง การบริหารก็เปลี่ยนแปลง ผมถึงบอกว่าสิ่งหนึ่งที่ผมยอมรับคือ เวลาที่พรรคไทยรักไทยหรือเพื่อไทยเป็นรัฐบาลเขานำนโยบายมาปฏิบัติทันที ดีไม่ดี เหมาะสมหรือไม่ ถูกต้องหรือไม่อีกประเด็นหนึ่ง แต่การเอานโยบายมาปฏิบัติทันที คนเกิดความเชื่อมั่น พูดจริง ทำจริง และพอเขาสะท้อนพรรคประชาธิปัตย์ว่า “ดีแต่พูด” เราก็ถูกแบรนดิ้งไปหมดแล้ว เพราะเวลาที่เราบริหารมันก็มีปัญหาจริงๆ ในการนำนโยบายไปปฏิบัติ” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว
ต้องสร้าง Policy Choice(ทางเลือกนโยบาย)
อลงกรณ์ เสนอว่าต้องมี Policy Choice(ทางเลือกนโยบาย) เพราะเมื่อการเมืองพัฒนา คุณต้องมีทางเลือกให้เขาเลือก ไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งมีทางเลือก อีกฝ่ายไม่มีทางเลือก ไม่ใช่ว่าวิจารณ์นโยบายนั้นไม่ดี แต่ไม่มีทางเลือกให้ประชาชน โดยยกตัวอย่างว่า เรื่อง 2 ล้านล้านนั้นคิดอยู่ในใจว่าตอนประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลทำไมไม่คิด ไม่ทำแบบนี้บ้าง คิดที่จะลงทุนประเทศ แต่ก็ติดตรงนั้นนี้ เราอาจไปคิดว่าเราสามารถลดหนี้สาธารณะต่อจีดีพีได้ รู้สึกภูมิใจที่ได้ลดและรักษาวินัยการคลัง ซึ่งมันอาจจะถูกเมื่อทศวรรษก่อน แต่ถึงวันนี้ไม่ใช่แล้ว เราต้องคิดถึงการเติบโต การแข่งขันด้วย แต่รัฐบาลนี้ก็ไม่ได้เรื่องที่คิดแต่เรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ น่ามีการคิดด้านโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม การสร้างคน เพิ่มงบวิจัยและการพัฒนา
“ต้องสร้างให้คนคิดอย่างเป็นลูกไก่ ไม่ใช่ลูกนก เพราะลูกนกจะคอยแต่อยู่ในรังอ้าปากรอแม่มาป้อน แต่ลูกไก่จะขุดคุ้ยหาอาหารด้วยตัวเอง” อลงกรณ์กล่าวถึงการพัฒนาคน
เปิดใจให้กว้าง เป็นประชาธิปไตย อย่าอิงแอบเผด็จการ อย่าเดินในทางลัด
“เรามาผิดทิศผิดทางเสียแล้ว และวันหนึ่งมันอาจจะถึงจุดที่เราเปลี่ยนกลับมาไม่ได้ คนที่จะเปลี่ยนได้คือพรรค ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ปฏิรูปตัวเอง สร้างความทันสมัยให้กับองค์กร มีวิธีคิดที่ทันโลก ทันสมัย เปิดใจให้กว้าง เป็นประชาธิปไตย อย่าอิงแอบเผด็จการ อย่าเดินในทางลัด ผมคิดว่าผมเองก็เดินผิด ผมเป็นส่วนหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ ผมต้องรับผิดชอบ แต่ขอโอกาสให้ผม ผมจะแก้ตัว ผมว่าถ้าเราเริ่มต้นตรงนี้เหมือนกับพรรคเพื่อไทย ถ้าคุณทักษิณอาจจบอกว่าผมผิด ที่ผ่านมาขออภัย ให้โอกาสผมจะแก้ไข พรรคเพื่อไทยก็จะเป็นพรรคการเมืองแบบบริษัทมหาชน คนเสื้อแดงก็ยอมรับในการพัฒนาการเมืองในระบบรัฐสภา ส.ส.ก็สามารถที่จะสร้างสังคมที่เป็นธรรมสร้างระบบนิติธรรมที่เป็นธรรมกับทุกคนอย่างแท้จริง มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย” อลงกรณ์กล่าว
ระบบ Primary กุญแจพรรคสู่การเป็นสถาบันของประชาชน
“เราต้องสร้างพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันทางการเมือง ไม่ใช่สถาบันของนักการเมือง” อลงกรณ์ กล่าว พร้อมอธิบายด้วยว่าต้องพัฒนาพรรคจากสถาบันของนักการเมืองไปสู่สถาบันทางการเมือง โดยระบบ Primary หรือระบบการคัดเลือกเลือกตั้งเบื้องต้นเป็นกุญแจที่จะเปิดให้พรรคกลับไปหาประชาชน ไปหาสมาชิกพรรค ตาเราจะเห็น หูเราจะได้ยิน เราอยู่ตึกสูงเราไม่ได้ยินว่ารากหญ้าเขาคิดอย่างไร เขาเดือดร้อนหรือไม่ ไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างไร ระบบการคัดเลือกเลือกตั้งเบื้องต้นมันไม่ใช่แค่กลไกหนึ่งของการเลือกตั้งหรือการสรรหาผู้สมัคร ส.ส.ในพื้นที่ แต่จริงๆ มันคือการเป็นสถาบันของประชาชนต่อไป” อลงกรณ์กล่าว
บก.ลายจุด วอนสังคมหนุนอลงกรณ์
บก.ลายจุด ยังกล่าวหลังการพูดคุยด้วยว่าอยากให้สังคมสนับสนุนคุณอลงกรณ์ เนื่องจากเขาได้ลงเปิดสนามแล้ว โดยเริ่มด้วยการเสนอว่าจะเปลี่ยนแปลงตัวเองและองค์กรอย่างไร เพราะหากไม่มีใครลงมาร่วม เกมส์นี้ก็ไปต่อไม่ได้ พร้อมฝันด้วยว่าหากกระแสสังคมตอบรับ เขาอาจเสนอให้มีวงสนทนาแบบนี้กับทักษิณ ชินวัตร ในฝั่งแดง ส่วนอีกฝั่งยังนึกไม่ออก แต่ในเบื้องต้นอาจเป็น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งก็คงเป็นไปได้ยาก และไม่จำเป็นต้องเป็นตนที่เป็นคนไปคุย อาจเป็นคนที่พร้อมและสังคมยอมรับไปคุยก็ได้
สำหรับคำถามว่ากิจกรรมนี้เป็นการโหนกระแสอลงกรณ์เพื่อโจมตีพรรค.ปชป.หรือไม่ บก.ลายจุด กล่าวว่า จริงๆ เป็นการใช้กระแสที่คุณอลงกรณ์จุดเพื่อไปกดดันพรรคเพื่อไทยเพื่อให้มีการปฏิรูปด้วยเช่นกันมากกว่า
ต่อคำถามที่ เมื่อ 3 ปีก่อนมีวงปฏิรูปของหมอประเวศ วะสี แต่บก.ลายจุดไม่ร่วมด้วยนั้น เขาองว่าตอนนั้นบรรยากาศยังไม่พร้อม เพราะเพิ่งจะมีการสลายการชุมนุม มีคนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก สำหรับกระบวนการที่จะเดินหน้าต่อไปนั้นอยากให้เกิดบรรยากาศ "ความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์"แต่หากประเด็นไหนที่ยอมกันไม่ได้ต้องขัดแย้งก็สู้ตามกระบวนการกันต่อไป