6 มิ.ย. 56 กลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองกว่า 30 คน จาก มูลนิธิเครือข่ายครอบครอบครัว เครือข่ายครอบครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ และเครือข่ายสื่อเพื่อเด็ก เข้ายื่นหนังสือ กทสช.ให้ลงโทษทางปกครองสูงสุดต่อรายการไทยแลนด์ก๊อตทาเลนท์ ซีซัน 3 ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เหตุ “ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” เข้ายื่นหนังสือต่อ สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช.ด้านกิจกรรมกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ขอให้จัดการรายการ ไทยแลนด์ก๊อตทาเลนท์ ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3
สืบเนื่องรายการไทยแลนด์ก๊อตทาเลนต์ซีซัน 3 ที่ออกอากาศในวันอาทิตย์ที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมแข่งขันที่ใช้ชื่อ "สิทธัตถะ เอมเมอรัล" แสดงการร้องเพลงจีน และช่วงแนะนำตัวได้แสดงประพฤติที่กรรมการทั้ง 3 ท่านเห็นว่าไม่เหมาะสมต่อวัฒนธรรมไทย เช่น พูดลงท้ายไม่มีหางเสียง ไม่ทักทายสวัสดีและไม่ยกมือไหว้ เป็นต้น ทำให้กรรมการ 2 ท่าน กดปุ่มไม่ให้ผ่านทันทีพร้อมกับลุกออกจากที่นั่งและเดินออกจากที่ถ่ายทำรายการ จากนั้นกรรมการทั้ง 2 ท่าน ได้ให้ความเห็นต่อกันและกันจากอีกห้องหนึ่งถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมดังกล่าวฯ อธิบายเหตุผลในการเดินออกจากที่นั้นว่าไม่สนับสนุนผู้แสดงรายนี้ เนื่องจากไม่ให้ความเคารพและไม่ปฏิบัติตามวัฒนธรรมอันดีของไทย อาจทำให้คนดูอาจเกิดการเลียนแบบพฤติกรรมไม่เหมาะสมได้ แต่ยังมีกรรมการที่เหลืออีกหนึ่งท่านนั่งอยู่และให้โอกาสผู้เข้าร่วมแข่งขันได้ทำการแสดงจนจบ
เมื่อการแสดงการร้องเพลงของผู้เข้าร่วมแข่งขันคนดังกล่าวเริ่มขึ้น ผู้ชมจำนวนมากในห้องส่งรวมถึงกรรมการแสดงท่าทีไม่พอใจต่อการแสดงนั้น ด้วยแสดงสัญลักษณ์ของความไม่พอใจและเป็นไปในเชิงขับไล่ มีการส่งเสียงโห่ร้อง การยกนิ้วโป้งชี้ลงพื้น และการไขว้แขนเพื่อแสดงสัญลักษณ์ของการปฏิเสธ ขณะเดียวกันผู้เข้าร่วมแข่งขันไม่ได้มีการตอบสนองใดๆ ทางสีหน้าและพฤติกรรมในทางที่ไม่พอใจหรือเสียใจที่โดนขับไล่ ในท้ายที่สุดกรรมการคนสุดท้ายก็กดปุ่มสัญลักษณ์ไม่ให้ผ่านเข้ารอบซึ่งหมายความว่าผู้เข้าร่วมแข่งขันท่านนั้นตกรอบไป
อัญญาอร พานิชพึ่งรัถประธานเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ กล่าวว่า การออกอากาศของรายการขัดกับ หมวดที่ 2 จริยธรรมของการแพร่ภาพและการกระจายเสียง ข้อ 2.5.1.3 ข้อ 25.1.6 และข้อ 2.5.1.8 แห่ง ข้อบังคับสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียงว่าด้วยมาตรฐานทางจริยธรรมและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ ซึ่งอาศัยความตามข้อ 18(4) แห่งธรรมนูญสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและกระจายเสียง (ประเทศไทย) 2554 เนื่องจากปัญหาที่พบคือ รายการไม่ระมัดระวังหรือรัดกุมเพียงพอในการนำเสนอเรื่องราว ภาพและเสียงเกี่ยวกับบุคคลผู้ที่อาจมีลักษณะของความเปราะบาง (vulnerable) หรือพิการในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง
“รายการนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการนำเสนอที่ไม่เหมาะสมและผิดต่อข้อบังคับ ซึ่งออกอากาศทางฟรีทีวี ในช่วงพาร์มไทม์ เป็นช่วงเวลาที่มีผู้รับชมมาก การแสดงรายการนี้เป็นเทปบันทึกรายการ ผู้ผลิตสามารถควบคุมและดูแลการผลิตให้รัดกุมและเหมาะสมมากกว่านี้ สามารถตัดการนำเสนอได้ แต่ผู้ผลิตและสถานีได้แสดงความบกพร่องของการไม่รัดกุมและคำนึงตามข้อบังคับดังกล่าว แสดงให้เห็นว่ารายการจงใจนำเสนอและสร้างความคลางแคลงใจให้แก่ผู้ชมถึงสุขภาพจิตของผู้แสดงอันอาจจะกระทบต่อการละเมิดศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ใน ข้อ 11 (ค)(3) แห่งประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเรื่อง หลักเกณฑ์การจัดทำผังรายการสำหรับการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2556” อัญญาอร กล่าว
นอกจากนี้ยังได้เรียกร้องให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ 4 ข้อ
“ข้อแรกขอให้มีการแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสุขภาพจิตของผู้แสดงที่ใช้ชื่อว่า “สิทธัตถะ เอมเมอรัล” เพื่อสร้างความกระจ่างกับสังคมอันจะนำไปสู่การพิจารณาเรื่องของความเหมาะสมในการนำเสนอตามจริยธรรมและจรรยาบรรณรวมถึงข้อกฎหมายต่างๆ
ข้อสองหากพบว่าผู้แสดงคนดังกล่าวมีสุขภาพจิตที่เปราะบางหรือพิการในลักษณะใดลักษณะหนึ่งตามความเห็นของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ให้ดำเนินการต่อสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง ๓ และ บริษัท เวิร์คพ้อยท์ เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ตามโทษที่บัญญัติไว้ตามกฎหมายอย่างสูงสุดและเคร่งครัดพร้อมกับให้ผู้ผลิตรายการตลอดจนสถานีแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมโดยถอดรายการนี้ออกจากผังรายการเพื่อสร้างมาตรฐานการผลิตรายการและการออกอากาศรายการที่รัดกุมโดยคำนึงถึงกลุ่มคนที่แตกต่างหลากหลายทางสังคมตลอดจนการไม่ลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในอนาคตข้างหน้า
ข้อสามขอให้เชิญสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียงมาพิจารณาและดำเนินการใช้กลไกการกำกับดูแลตัวเองอย่างเต็มที่ให้กรณีที่พิสูจน์แล้วว่าผิดจริงตามกฎข้อบังคับต่างๆ
และข้อสี่เรียกร้องให้ กสทช. ลงโทษทางปกครองสูงสุดต่อสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ในฐานะผู้รับใบอนุญาตที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 37 ของ พรบ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551ที่ห้ามมิให้ออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่มีผลกระทบต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสือมทรามทางจิตใจของประชาชน"
เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชนได้กล่าวถึงการเรียกร้องให้ กสทช.ลงโทษทางปกครองสูงสุดต่อผู้ประกอบการและรายการ ไทยแลนด์ก๊อตทาเลนท์ ตาม มาตรา 37 พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจกรรมโทรทัศน์ พ.ศ.2551 เพราะการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้น ถือเป็นการสร้างผลกระทบต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนเช่นกัน
“การตีความว่าการละเมิดศีลธรรมอันดีของสังคมนั้น ต้องตีความรวมถึงการสร้างให้ผู้ชมเกิดความเข้าใจผิดในกลุ่มคนพิการ กลุ่มคนออทิสติก คนอ้วน ฯลฯ ให้เกิดการดูหมิ่น ดูถูก กีดกันการแสดงออกในความสามารถ และไม่ยอมรับในการอยู่ร่วมกัน ของคนที่หลากหลายในสังคม เป็นการสร้างอคติต่อคนที่มีความแตกต่าง ซึ่งเข้าข่ายการสร้างผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจ” น.ส.เข็มพรกล่าว
สุภิญญา กลางณรงค์คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กล่าวหลังได้รับหนังสือว่า จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การประชุม กสท. เพื่อประชุมในวันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน 2556 นี้ เพื่อให้คณะกรรมการลงมติการตัดสินกรณีเนื้อหาเกี่ยวกับกฎหมายมาตรา 37
“เรื่องของมาตรา 37เป็นเรื่องที่น่าจับตาว่าจะมีการตีความว่าเข้าข่ายการละเมิดศีลธรรมอันดีของสังคมหรือไม่ เพราะเท่าที่ผ่านมายังไม่เคยตีความในมาตรานี้ ต้องเข้าสู่การพิจารณาร่วมของบอร์ด กสท.ก่อน ในกรณีเรื่องจริยธรรมด้านสื่อนั้น กสทช.ไม่ได้ทำหน้าที่ควบคุมตรงนี้โดยตรงแต่จะส่งเรื่องนี้ให้สภาวิชาชีพดำเนินการพิจารณาว่าผิดจริยธรรมหรือไม่และจะมีกระบวนการดำเนินการต่อไปอย่างไร เพราะเป็นอำนาจสภาวิชาชีพในการกำกับดูแลตรวจสอบกันเอง และในกรณีนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการจัดการจัดเรตติ้งเพื่อปรับผังรายการให้เหมาะสม เพราะรายการนี้นำเสนออยู่ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่เด็กเยาวชนและครอบครัวดูมากที่สุด จึงต้องเป็นรายการที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อจัดระบบและคุณภาพเพื่อก้าวสู่ทีวีดิจิตอล” สุภิญญากล่าว
ส่วนในการเยียวยาเร่งด่วนจากเหตุการณ์นี้ เธอกล่าวว่า ทางกสทช.จะเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งตัวแทนจากช่อง 3 บริษัท เวิร์คพ้อยท์ เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) มูลนิธิเครือข่ายครอบครอบครัว เครือข่ายครอบครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ และเครือข่ายสื่อเพื่อเด็ก เพื่อหาวิธีทางเยียวยาทางสังคมต่อไป