ประเทศต่างๆ ในแถบแอฟริกากลาง เตรียมส่งทหารถึง 1,000 นาย และเจ้าหน้าที่รักษากฏหมาย เพื่อร่วมกันปฏิบัติการทางทหารปกป้องช้างโขลงสุดท้าย ในทุ่งหญ้าสะวันนา ซึ่งตกเป็นเป้าของพรานป่าชาว ซูดาน และการสังหารหมู่ พร้อมเชิญชวนประชาคมโลกสนับสนุน
ยาอุนเด, แคเมอรูน - กองทุนคุ้มครองสัตว์ป่าโลก หรือ WWF ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (23 มี.ค.) ประเทศต่างๆ ในแถบแอฟริกากลางกล่าวว่าจะส่งทหารถึง 1,000 นาย และเจ้าหน้าที่รักษากฏหมาย เพื่อร่วมในปฏิบัติการทางทหารในการปกป้องช้างโขลงสุดท้าย ในทุ่งหญ้าสะวันนา ที่กำลังเสี่ยงจะตกเป็นเป้าของพรานป่าชาว ซูดาน และการสังหารหมู่ในทันที
“เราแนะนำให้มีการขับเคลื่อนกองกำลังป้องกันและกองกำลังด้านความมั่นคงในประเทศที่ได้รับผลกระทบ” เพื่อหยุดยั้งพรานป่ากลุ่มนี้ โดย 8 ประเทศ จาก 10 ประเทศกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจแห่งรัฐในแอฟริกากลาง (ECCAS) ระบุในแถลงการณ์ร่วมหลังการประชุมฉุกเฉินระดับรัฐมนตรีเพื่อต่อต้านการล่าสัตว์ ที่จัดขึ้นเป็นเวลาสามวัน ณ กรุงยาอุนเด เมืองหลวงประเทศแคมเมอรูน ระหว่างวันที่ 21-23 มีนาคม
การประชุมในระดับสูงจัดขึ้นเพื่อหยุดยั้งเหตุการณ์ที่ ECCAS กล่าวถึงกลุ่มนายพรานติดอาวุธหนักชาวซูดาน 300 คน ขี่ม้าไล่ล่าช้างในทุ่งสะวันนาของแคเมอรูน, สาธารณรัฐแอฟริกากลาง และชาด
กลางดึกของวันที่ 14 - 15 มีนาคมในพื้นที่ภาคใต้ของชาด นายพรานกลุ่มนี้สังหารช้างอย่างน้อย 89 ตัวในคืนเดียว นับตั้งแต่ช่วง ต้นปีที่ผ่านมา พรานกลุ่มนี้ยังได้สังหารช้างอย่างน้อยสามสิบตัวในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง และเชื่อว่าคนกลุ่มนี้ เป็นผู้รับผิด ชอบการฆ่าหมู่ช้าง 300 ตัว ในอุทยานแห่งชาติบูบา จิดาของแคเมอรูน เมื่อช่วงต้นปี 2555 ซึ่งทำให้แคเมอรูนต้องส่งกำลัง ทหารชั้นแนวหน้า 600 นาย เพื่อป้องกันพรมแดนประเทศจากนักล่ากลุ่มนี้
เป็นการยากที่จะระบุถึงตัวเลขที่ชัดเจนของประชากรช้างสะวันน่าในประเทศเช่น สาธารณรัฐแอฟริกากลาง ประเทศที่ครั้งหนึ่ง เคยมีช้างสะวันนาจำนวนมากที่สุดในภูมิภาค แต่เชื่อว่าจำนวนช้างที่นี่ลดลงจากราวๆ 80,000 ตัวเมื่อสามสิบปีก่อน เหลือเพียง ไม่กี่ร้อยตัวในปัจจุบัน
มีการประมาณการณ์ว่าแผนฉุกเฉินนี้ต้องใช้งบประมาณมากราวๆ 1.8 ล้านยูโร หรือประมาณเกือบ 70 ล้านบาท เพื่อใช้ในการ สนับสนุนปฏิบัติการทางอากาศ, ยานพาหนะทางบก, การจัดซื้อโทศัพท์ดาวเทียม, การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการณ์ร่วมทางทหาร รวมทั้งระบบแบ่งปันและวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียล-ไทม์ รวมทั้งภารกิจทางการทูตไปยังซูดานและซูดานใต้ ซึ่งเชื่อว่าเป็นประเทศ ต้นทางของนายพรานกลุ่มนี้
แม้ในแถลงการณ์จะระบุว่า ประเทศในกลุ่ม ECCAS จะร่วมกันสนับสนุนเงินทุนในปฏิบัติการนี้เอง แต่พวกเขาก็ได้เรียกร้อง ไปยังประชาคมโลกให้ “ร่วมระดมและจัดหาเงินทุนเสริม” เพื่อสร้างความต่อเนื่องความพยายามนี้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
“ข่าวนี้เป็นข่าวที่ดีอย่างยิ่ง ทั้ง ECCAS และชาติสมาชิก ควรได้รับการแสดงความยินดีต่อความมุ่งมั่นที่จะหยุดยั้ง กลุ่มนักฆ่าช้างกลุ่มนี้ ให้ได้อย่างเด็ดขาด” บาส ฮุจเบรกส์ หัวหน้าโครงการต่อต้านการลักลอบค้าสัตว์ป่า สาขาแอฟริกากลาง ของ WWF กล่าว
“ตอนนี้ก็ขึ้นอยู่กับประเทศผู้ซื้อ โดยเฉพาะจีนและไทย ที่จะแสดงให้เห็นว่าพวกเขามีความกล้าหาญ และมุ่งมั่นเท่าเทียมกับ ประเทศในแถบแอฟริกากลางเหล่านี้” เขากล่าวเสริม
ในแถลงการณ์ ประเทศกลุ่ม ECCAS แสดงความยินดีต่อการตัดสินใจของประเทศไทย เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ในการสั่งห้ามการ ค้างาช้างในประเทศ และเรียกร้องให้ไทยเร่งปฏิบัติตามการตัดสินใจครั้งนี้
ในแถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า ผู้ซื้องาช้างเอง “ก็ต้องเข้าใจถึงผลกระทบ” จากความต้องการงาช้างของพวกเขา และกล่าวเสริมว่า “ประเทศปลายทางควรต้องมีมาตรการในการลดความต้องการงาช้างเช่นกัน”
ในตอนสุดท้าย แถลงการณ์ยังระบุเพิ่มเติมด้วยว่า ประเทศในกลุ่ม ECCAS จะต้องดำเนินการเพื่อปรับปรุงกฏหมายของประเทศ เพื่อให้การล่าและค้างาช้างเป็นการกระทำความผิด “เทียบเท่าการก่ออาชญากรรมข้ามชาติในรูปแบบอื่นๆ” เช่น การลักลอบ ขนยาเสพย์ติด หรืออาวุธเบา
หลังการประกาศเจตนารมณ์ นายโรเบิร์ต แจ๊คสันเอกอัคราชทูตสหรัฐประจำแคเมอรูน กล่าวว่าเข้า “รู้สึกพอใจกับการประชุม และแผนที่ออกมาก็เป็นแผนการที่ดี”
“แต่การปฏิบัติตามแผนก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม ผมมีความกังวลว่าในแถลงการณ์ฉบับนี้ ไม่มีการกล่าวถึงการคอร์รัปชัน เนื่องจากนี่เป็นปัญหาโดยตรงที่ก่อให้เกิดปัญหาลักลอบล่าและค้าสัตว์ป่า” เขากล่าว
นิโคลัส เบอร์ลังกา มาร์ติเนซ หัวหน้าคณะความร่วมมือคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป ก็เป็นอีกคนที่แสดงความยินดีต่อ โครงการริเริ่มของ ECCAS โดยเขาบอกว่า “การรับรองมาตรการนี้ นับเป็นความทะเยอทะยานที่มีประสิทธิภาพเพียงพอจะ รับมือกับความเร่งด่วนของสถานการณ์ และผมจะให้ความสนใจต่อการปฏิบัติตามแผนการณ์ฉุกเฉินนี้ ร่วมกับพันธมิตรอื่นๆ”
“ผมยังขอแสดงความยกย่องต่อข้อเสนอที่จะเพิ่มความร่วมมือระหว่างกระทรวงต่างๆที่รับผิดชอบในการต่อสู้กับการลักลอบล่า และค้าสัตว์ป่า และยังอยากจะเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจรับผิดชอบเหล่านี้ สร้างความเชื่อมั่นว่า มีการใช้เงินบริจาคจากพันธมิตร อย่างเหมาะสม” เขากล่าวต่อ
ในแถลงการนี้ ประเทศในกลุ่ม ECCAS เน้นย้ำถึงคำมั่นที่จะปกป้องช้าง ซึ่งพวกกล่าวว่า “เป็นสมบัติทางธรรมชาติร่วมกันของ มนุษยชาติ”
“ประชาคมโลกจะยืนเคียงข้างแอฟริกากลาง” ฮุจเบรกส์ แห่งกองทุนคุ้มครองสัตว์ป่าโลก หรือ WWF กล่าว “และตอนนี้ทั่วโลกต่างให้ความสนใจกับภูมิภาคนี้แล้ว” เขากล่าวปิดท้าย
ในท้ายแถลงการณ์ของ WWF ระบุด้วยว่า จะร่วมรณรงค์เพื่อเพิ่มการปกป้องสายพันธุ์สัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เช่น แรด, เสือและช้าง ในความพยายาม ที่จะรักษาสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์เหล่านี้ ประเทศต้นทาง ทางผ่าน และปลายทาง จะต้องปรับปรุงการบังคับใช้ กฏหมาย การตรวจศุลกากร และระบบยุติธรรม WWF ยังขอเรียกร้องให้รัฐบาลในประเทศผู้บริโภค ใช้ความ พยายามเพื่อลดความต้องการ เพื่อลดการใช้ผลิตภัณฑ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์เหล่านี้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai