สืบเนื่องจากกรณี จริยา ผู้ปฏิบัติฝ่าหลุนกง อายุราว 70 ปี ถูกทำร้ายโดยชายแปลกหน้า ขณะปฏิบัติฝ่าหลุนกง บริเวณหน้าบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ตรงข้ามสถานทูตจีน ถ.รัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ที่ผ่านมา วันนี้ (27 มี.ค.56) จริยายังคงเดินทางไปปฏิบัติฝ่าหลุนกงตามปกติ โดยเธอมองว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่สันติ ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน ทั้งนี้ นับแต่วันที่เกิดเรื่อง มีผู้ปฏิบัติฝ่าหลุนกงชาวจีนมานั่งสมาธิอยู่ด้วยเป็นครั้งคราว
ด้าน ไพฑูรย์ สุริยะวงศ์ไพศาล กลุ่มผู้ฝึกฝ่าหลุนกง กล่าวว่า ที่ผ่านมา จริยาเคยถูกทำร้ายร่างกายหลายครั้งแล้ว เหตุการณ์เช่นนี้คล้ายกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียกร้องความเป็นธรรมที่หน้าสถานทูตจีนทั่วโลก ที่ไปเรียกร้องให้รัฐบาลจีนยุติการปราบปรามที่ผิดศีลธรรมและรัฐธรรมนูญจีนเอง
เขากล่าวว่า ทางกลุ่มเห็นด้วยกับการกระทำของเธอ เพราะเป็นสิทธิในการแสดงออกอย่างสันติ ชอบด้วยกฎหมาย
"เป็นความสมัครใจของป้าเอง หลายคนเคยห้าม เพราะเป็นห่วงความปลอดภัย แต่เขายังคิดว่าถนัดทำอย่างนี้"ไพฑูรย์กล่าวและว่า ต่อหน้าอิทธิพลมืดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ถ้านิ่งเฉย ฝ่าหลุนกงคงหายไปจากโลก
ไพฑูรย์ ระบุว่า เมื่อก่อน เคยมีตำรวจสันติบาลไปสังเกตการณ์ แต่หลังๆ เมื่อเห็นว่าไม่กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และไม่ได้ทำให้คนเดินเท้าเดือดร้อน จึงไม่ได้ไปดูแล้ว ซึ่งก็ทำให้เกิดช่องโหว่เรื่องความปลอดภัย ทั้งนี้ เรียกร้องว่ารัฐควรคุ้มครองการแสดงออกอย่างสันติและชอบด้วยหลักศีลธรรมนี้ด้วย
อนึ่ง "ฝ่าหลุนกง"อธิบายตัวเองว่าเป็นการฝึกจิตบำเพ็ญธรรม เผยแพร่ในจีนเมื่อปี 2535 ต่อมา ทางการจีนเกรงว่าฝ่าหลุนกงจะเป็นภัยคุกคามต่อรัฐบาล ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม ปี 2542 ผู้นำในพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีคำสั่งให้จับกุมผู้ฝึกฝ่าหลุนกง รวมถึงมีการออกข่าวโจมตี ผู้ฝึกฝ่าหลุนกงหลายแสนคนถูกส่งไปควบคุมตัวในเรือนจำ ค่ายสัมมนา ค่ายใช้แรงงานของรัฐบาล ส่งผลให้ผู้ฝึกฝ่าหลุนกงจำนวนมากต้องหลบหนีออกนอกประเทศ หนึ่งในนั้นคือประเทศไทย โดยในกรุงเทพฯ มีการรวมตัวของผู้ปฏิบัติฝ่าหลุนกงในรูปแบบการออกกำลังกาย ที่สวนลุมพินี