โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย นักกิจกรรมด้านแรงงานร้อง ‘อีเลคโทรลักซ์’ รับคนงาน 129 คน กลับเข้าทำงาน ชวนคัดค้านการเลิกจ้าง ส่งข้อความกดดันบริษัท ผู้บริโภคถ่ายรูปกับสินค้า ขอบริษัทฯ รับคนงานกลับเข้าทำงาน
26 มี.ค.56 เวลา 10.30 น. ที่สำนักงานใหญ่บริษัทอีเลคโทรลักซ์ อาคารเอ็มเอสไอจี ถ.เพชรบุรี โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย ตัวแทนสหภาพแรงงานอีเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย นักกิจกรรมด้านแรงงาน เช่น จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ เยาวภา ดอนเส จากสหพันธ์แรงงานนานาชาติกิจการเคมีภัณฑ์ เป็นต้น เดินทางมายื่นจดหมายและชุมนุมเรียกร้องให้บริษัทปฏิบัติตามข้อตกลงกับ IF METALL และประธานสหภาพแรงงานอีเลคโทรลักซ์ ประเทศสวีเดน เมื่อวันที่ 26 ก.พ.ที่ผ่านมา เรียกพนักงานและคณะกรรมการสหภาพแรงงาน 129 คน คนกลับเข้าทำงานทันทีด้วยสภาพการจ้างเดิมทันทีและไม่มีเงื่อนไข ขอให้บริษัทรักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับพนักงานและสังคม ดั่งสโลแกนของบริษัทอีเล็คโทรลักซ์ทุกสาขาทั่วโลกที่ว่า ‘เราคำนึงถึงคุณ’ ‘Thinking of You’
โดยจดหมายดังกล่าวมีองค์กรด้านแรงงานร่วมลงชื่อ 6 องค์กร ประกอบด้วย สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ กลุ่มผู้ใช้แรงงานย่านรังสิต สหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊ส สหภาพแรงงานประชาธิปไตย กลุ่มคนงาน Try Arm และสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย เป็นต้น รวมทั้งนักกิจกรรมและผู้บริโภคร่วมลงชื่อในจดหมายด้วย
อย่างไรก็ตามบริษัทไม่มีการส่งตัวแทนมารับจดหมายดังกล่าวจนกระทั้งเวลา 11.30 น. กลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าวได้เผาจดหมายและยุติการชุมนุม ทั้งนี้สหภาพแรงงานอีเลคโทรลักซ์ ได้ชุมนุมที่บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ริมคลองเปรมประชากรหน้าทำเนียบรัฐบาลต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค.เป็นต้นมา
จดหมายดังกล่าวระบุว่า เนื่องจากโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนส่งเสริมสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชนก่อตั้งมาเป็นเวลา 13 ปี และเป็นสมาชิกของ Good Electronics Network ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสหภาพแรงงานอีเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย และติดตามปัญหาการเลิกจ้างสมาชิกและคณะกรรมการสหภาพแรงงานบริษัทอีเลคโทรลักซ์ (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 129 คน มาตั้งแต่เดือนมกราคม รวมทั้งรณรงค์สนับสนุนการต่อสู้กลับเข้าทำงานของสหภาพแรงงานอีเลคโทรลักซ์ประเทศไทยมาจนถึงปัจจุบัน เรากังวลกับปัญหานี้มาก เพราะเป็นการละเมิดสิทธิแรงงาน และทำให้พนักงานได้รับความเดือดร้อน ความกังวลของเรามีดังนี้
1. พฤติกรรมการล้มล้างสหภาพแรงงานของผู้บริหารบริษัทอีเล็คโทรลักซ์ ประเทศไทย หลังจากการทำข้อตกลงกับ IF METALL ยืนยันรับกลับสมาชิกและคณะกรรมการสหภาพแรงงานทั้งหมดเข้าทำงาน สภาพการจ้างเดิม ผู้บริหารบริษัทในประเทศไทยใช้อำนาจตามอำเภอใจ ล้มข้อตกลงที่ทำกับผู้แทนสหภาพแรงงานอีเลคโทรลักซ์ สวีเดน, IF METALL และ IndustriALL Global Union
2. พฤติกรรมการละเมิดมาตรฐานแรงงานสากล ILO 87 และ 98 และมาตรฐานจรรยาบรรณแรงงานกลุ่มประเทศ OECD ซึ่งสวีเดนเป็นสมาชิก เรื่องการเคารพสิทธิการรวมกลุ่มและการเจรจาต่อรองร่วมของคนงานในเรื่องต่างๆ ที่กระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนงาน
3. การกักขังหน่วงเหนี่ยวสมาชิกสหภาพแรงงานและคณะกรรมการสหภาพแรงงานอีเล็คโทรลักซ์ การเลิกจ้างประธานสหภาพแรงงานเมื่อวันที่ 11 มกราคม ในขณะที่เขากำลังทำหน้าที่ตัวแทนคนงานในการเจรจาและการตั้งคำถามกับบริษัทเรื่องการพิจารณาข้อเรียกร้องของพนักงานเรื่องการบรรจุพนักงานเหมาค่าแรงที่ทำงานหนักและรับเพียงค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่มีสวัสดิการ ให้เป็นพนักงานประจำของบริษัทเพื่อความเสมอภาคและไม่เลือกปฏิบัติในการจ้างงาน ตลอดจนการปรับค่าจ้างตามอายุงานของพนักงานเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อพนักงานที่ทำงานให้กับบริษัทมาหลายปี
4. การประกาศเลิกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงานด้วยวาจาจำนวน 129 คน อย่างไม่เป็นธรรมในวันที่ 11 ม.ค. ภายหลังการกักขังหน่วงเหนี่ยวพวกเขาเป็นเวลาหลายชั่วโมง
ผอ.โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย ชวนคัดค้านการเลิกจ้าง ส่งข้อความกดดันบริษัท
พัชณีย์ คำหนัก ผู้อำนวยการโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย กล่าวถึงวัตถุประสงค์การมายืนจดหมายด้วยว่า วันนี้เป็นวันประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทอีเลคโทรลักซ์สวีเดน แนวร่วมกับสหภาพแรงงานอีเลคโทรลักซ์ประเทศไทยจึงจัดประท้วงบริษัทในประเทศเพื่อแสดงให้เห็นว่ามีการกดขี่พนักงาน ทำลายสหภาพแรงงานอย่างไร และสอดรับกับการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานที่ต่างประเทศที่กำลังไปเจรจากับริษัทแม่ที่สวีเดน เพื่อให้เห็นท่าทีของนายจ้างล่าสุดหลังจากล้มเหลวที่จะรับคนงานกลับในการเจรจาวันที่ 14 มีนาที่ผ่านมา
สำหรับการที่บริษัทไม่มีการส่งตัวแทนมารับจดหมายนั้น ผอ.โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย ระบุว่าเหตุการณ์นี้ไม่เกินความคาดหมาย แต่เราจะเผยแผ่จดหมายฉบับนี้ทางสื่ออินเตอร์เน็ทต่อไป ซึ่งข้างในจดหมายจะบอกถึงข้อที่บริษัทละเมิดสิทธิแรงงาน
พัชณีย์ คำหนัก กล่าวด้วยว่า ทางโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทยสนับสนุนการต่อสู้กรณีปัญหานี้ โดยทำงานสร้างพื้นที่ข่าวของตนเอง เพื่อเป็นปากเสียงให้คนงาน ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ปัญหา สรุปประเด็นปัญหาละเมิดสิทธิแรงงานให้ชัดเจนขึ้น ทำงานร่วมกับกรณีปัญหาเพื่อช่วยประสานงานกับกลุ่มสหภาพแรงงานอื่นๆ ให้หนุนช่วย เช่น การเชื้อเชิญให้มีการเยี่ยมเยียนเพื่อให้รับรู้ปัญหาพนักงานอีเลคโทรลักซ์ ณ ที่ชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลมาตลอด และถ่ายรูปสินค้า คัดค้านการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและส่งข้อความกดดันบริษัท ผ่านสื่ออินเตอร์เน็ทไปยังเครือข่ายแรงงาน เพื่อนักกิจกรรมด้วยกัน
ผู้บริโภคถ่ายรูปกับสินค้า ขอ บ.รับคนงานกลับ
เมื่อช่วงเดือน ก.พ. – มี.ค. ที่ผ่านมา โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย ได้จัดกิจกรรมทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก ถ่ายรูปคู่กับสินค้าอีเลคโทรลักซ์ พร้อมข้อความเรียกร้องให้บริษัทฯ รับคนงานที่ถูกเลิกจ้างกลับเข้าทำงาน พร้อมส่งเสริมสิทธิแรงงาน เช่น
"สนับสนุนสิทธิการต่อรองสภาพการจ้างของสหภาพแรงงานอิเล็คโทรลักซ์ ประเทศไทย""Supporting collective bargaining rights of the Thailand Electrolux Workers' Union" - พิภพ อุดมอิทธิพงศ์, นักเขียนนักแปลอิสระ
“หากจะเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าใหม่ ก็พิจารณาถึงการปฏิบัติที่บริษัทมีต่อแรงงานด้วย ... สนับสนุนการประท้วงของคนงานอีเลคโทรลักซ์" - ภัควดี วีระภาสพงษ์, นักเขียนนักแปลอิสระ
"สินค้ายี่ห้อนี้คุณภาพดี เข้ามาลงทุนในไทย ผลิตโดยคนงานไทย กำลังขายดี แต่ถ้าจะเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าอีก ก็คงต้องดูเรื่องสิทธิแรงงาน และการปฏิบัติต่อคนงานเป็นเรื่องสำคัญ ขอให้บริษัทรับคนงานอิเล็คโทรลักซ์กลับเข้าทำงาน" - วรดุลย์ ตุลารักษ์ นักวิจัยด้านเศรษฐกิจและแรงงาน
"เราใช้สินค้าของคุณ แต่เรากังวัลใจเกี่ยวกับกรณีการเลิกจ้างในโรงงานที่ประเทศไทย บริษัทฯ ควรรับพนักงานที่ถูกเลิกจ้างทั้งหมดกลับเข้าทำงาน และทำการเจรจากับสหภาพแรงงานต่อ" - พัชณีย์ คำหนัก
"ฉันใช้สินค้าของคุณ แต่ฉันกังวลใจเกี่ยวกับกรณีการเลิกจ้างในโรงงานที่ประเทศไทยบริษัทฯ ควรรับพนักงานที่ถูกเลิกจ้างทั้งหมดกลับเข้าทำงาน และทำการเจรจากับสหภาพแรงงานต่อ" - จิราภรณ์ หิรัญบูรณะ