Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

กสท.เคาะเกณฑ์ประมูลทีวีดิจิตอลธุรกิจ 24 ช่อง

$
0
0

บอร์ด กสท.เห็นชอบร่างประกาศหลักเกณฑ์ประมูลทีวีดิจิตอล ช่องบริการธุรกิจ 24 ช่อง เข้าบอร์ด กสทช. 22 พ.ค.นี้ คาด ส.ค.-ก.ย. พร้อมประมูล 



 

ไทยรัฐออนไลน์  รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 พ.ค. พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กสท. ว่า ที่ประชุมอนุมัติร่างประกาศ หลักเกณฑ์ และวิธีการ การให้บริการทีวีดิจิตอลช่องธุรกิจ โดยร่างดังกล่าวมีความสำคัญเรื่องวิธีการและกระบวนการให้บริการช่องธุรกิจ โดยจะเสนอบอร์ด กสทช.วันที่ 22 พ.ค.2556 ก่อนรับฟังความเห็นสาธารณะสำหรับร่างประกาศฉบับดังกล่าว จะเกี่ยวกับกระบวนการทั้งหมดที่จัดประมูลคลื่นความถี่ทีวีดิจิตอลประเภทธุรกิจทั้ง 24 ช่อง โดยผู้ได้รับใบอนุญาตมีเงื่อนไข ได้แก่ จะต้องจัดให้มีการตรวจสอบระบบตามที่คณะกรรมการกำหนด จัดให้มีกระบวนการรับเรื่องร้องเรียน และจัดให้มีบริการที่เหมาะสม เพื่อประโยชน์เพิ่มเติมตามข้อเสนอแนะของอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค

ประธาน กสท. กล่าวต่อว่า กสทช. กำหนดรูปแบบการประมูลช่องธุรกิจ 24 ช่อง โดยให้แต่ละรายประมูลได้ไม่เกิน 1 ช่องรายการ และผู้ประมูลทั่วไป จะประมูลในช่องข่าวไม่ได้ ส่วนราคาเริ่มต้นการประมูล เป็นไปตามที่ประกาศไว้ก่อนหน้า และการเพิ่มราคาประมูลในแต่ละครั้งจะกำหนดไว้ชัดเจน ได้แก่ ช่องรายการทั่วไป คุณภาพคมชัดสูง (ไฮเดฟิเนชั่น) หรือ HD 7 ช่อง ราคาช่องละ 1,510 ล้านบาท เพิ่มขึ้นครั้งละ 10 ล้านบาท ช่องรายการทั่วไป คุณภาพคมชัดปกติ (สแตนดาร์ด) หรือ SD 7 ช่อง ราคาช่องละ 380 ล้านบาท เพิ่มขึ้นครั้งละ 5 ล้านบาท ช่องข่าว 7 ช่อง ราคาช่องละ 220 ล้านบาท เพิ่มขึ้นช่องละ 2 ล้านบาท และช่องเด็กเยาวชนและครอบครัว 3 ช่อง ราคาช่องละ 140 ล้านบาท เพิ่มขึ้นครั้งละ 1 ล้านบาท

พ.อ.นที กล่าวอีกว่า การชำระเงินของผู้เข้าประมูล แบ่งเป็น 2 ก้อน ได้แก่ ก้อนแรกเป็นราคาขั้นต่ำ หรือราคาเริ่มต้นการประมูลในแต่ละช่อง จะแบ่งเป็น 4 งวด หรือภายใน 4 ปี คือ 50% 30% 10% และ 10% เพื่อให้สอดคล้องกับการขยายโครงข่าย และสนับสนุนคูปองในการเปลี่ยนผ่านให้ประชาชน โดยคาดว่าจะเริ่มต้นแจกคูปองได้ในช่วงต้นปี 2557 ส่วนเงินก้อนที่สอง เป็นเงินที่เพิ่มจากการแข่งขัน แบ่งออกเป็น 6 งวด ระยะเวลา 6 ปี คือ งวดแรกและงวดสอง จ่าย 10% ของเงินที่เพิ่มมาจากการแข่งขัน ส่วนงวดที่สามถึงหก จ่ายงวดละ 20% โดยเงินส่วนนี้จะนำเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (USO) โดยหลังจากการพิจารณาจากบอร์ด กสทช. ในวันที่ 22 พ.ค.นี้ จะเข้าสู่กระบวนการรับฟังความเห็นสาธารณะ ซึ่งกรอบเวลาการประมูลจะอยู่ในช่วง ส.ค.-ก.ย.2556 หรืออาจขยายออกไปไม่เกินกว่า 1-2 เดือน

ประธาน กสท. กล่าวด้วยว่า วิธีการประมูลจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ชั่วโมง เบื้องต้นผู้เข้าประมูลแต่ละบริษัทจะเข้าได้เพียง 3 คน และสามารถเคาะประมูลได้อย่างไม่จำกัด จนครบเวลา 1 ชั่วโมง ยกเว้นมีผู้ชนะในแต่ละประเภทมากกว่าที่กำหนด จึงจะขยายเวลาออกไปครั้งละ 5 นาที จนกว่าจะได้ผู้ชนะ และหลังจากนั้นจะทราบผลผู้ชนะทันที โดย กสทช.จะแบ่งกลุ่มการประมูลออกเป็น 4 กลุ่ม และไม่ได้ประมูลพร้อมกันในช่วงเวลา หรือวันเดียวกัน โดยผู้ประกอบการที่ชนะประมูลจะได้ใบอนุญาตหลังประมูลจบ 60 วัน มีอายุ 15 ปี โดยขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดวันเวลา และประเภทที่จะเริ่มประมูลก่อนอย่างแน่ชัด แต่มีแนวโน้มว่าอาจจะมีการประมูลช่องรายการทั่วไปประเภท HD เป็นลำดับแรก และช่องรายการเด็กเป็นประเภทสุดท้าย

สำหรับมาตรการป้องกันการฮั้วประมูลนั้น จะใช้กฎของสำนักงานหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แต่ กสทช. ไม่ได้กำหนดคุณสมบัติของบริษัทที่เข้าร่วมประมูลว่า ต้องมีทุนจดทะเบียนมากน้อยเพียงใด แต่ต้องเป็นนิติบุคคล เป็นบริษัท จำกัด หรือมหาชน

“การประมูลแบบนี้ เรียกว่ารูปแบบวิธีการประมูล การประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลในการบริการธุรกิจระดับชาติ เป็นวิธีการประมูลปกติ หรือฟอร์เวิร์ดออปชั่น หมายถึงมาประมูลแข่งขันเพื่อซื้อของ โดยจะต้องเพิ่มราคาประมูลขึ้นเรื่อยๆ จะไม่สามารถเพิ่มแบบกระโดดได้ เพราะไม่ต้องการให้ผู้ชนะการประมูลมีราคาที่แตกต่างกันมาก สำหรับผู้ชนะการประมูลจะได้รับสิทธิ์ 3 ข้อ คือ เป็นเจ้าของช่องตามมาตรฐาน กสทช. กำหนด 2.จะได้เป็นผู้เลือกช่องก่อน 3.จะได้รับสิทธิ์เลือกโครงข่าย โดยการใช้ลำดับตัดสินการเลือกโครงข่าย” พ.อ.นทีกล่าว

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมการประมูล จะต้องเสียเงินค่าซื้อซองจำนวน 1 ล้านบาท ต่อ 1 ช่องรายการ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหามีจำนวนคนมาขอรับซองมาก แล้วถึงเวลายื่นซองกลับเหลือเพียงไม่กี่ราย และหลังยื่นขอใบอนุญาตแล้ว จะต้องวางมัดจำค่ายื่นซอง 10% ของช่องรายการ เช่น ช่องรายการเด็กราคาเริ่มต้น 140 ล้านบาท ต้องวางมัดจำ จำนวน 14 ล้านบาท ช่องข่าวราคาเริ่มต้น 220 ล้านบาท ต้องวางมัดจำ 22 ล้านบาท สำหรับค่าประกันซอง 10% นั้นจะคืนให้ภายใน 30 วัน หากผู้เข้าร่วมไม่ชนะการประมูล

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles