Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

สมาคมนักกฎหมายสิทธิฯ เรียกร้อง "ปลอดประสพ"ยุติพูดยั่วยุให้ จนท. ละเมิดประชาชน

$
0
0

กรณี "ปลอดประสพ สุรัสวดี"แถลงข่าวเรียกผู้ชุมนุมเป็น "ขยะ"และขู่ว่าจะจับกุมหากมาชุมนุมในช่วงประชุมน้ำเอเชีย-แปซิฟิกที่เชียงใหม่นั้น ล่าสุดสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้ขอโทษ และยุติการใช้ถ้อยคำข่มขู่เสรีภาพประชาชน  ด้าน "ยิ่งลักษณ"ระบุจะรับฟังความคิดเห็นผู้ชุมนุม และจะไปสอบถาม "ปลอดประสพ"ว่าเจตนาอะไร

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเรียกร้อง "ปลอดประสพ"ขอโทษ
และยุติการใช้ถ้อยคำข่มขู่เสรีภาพประชาชน

วันนี้ (14 พ.ค.) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน) ศูนย์ข้อมูลชุมนุม (CRC) คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ภาคใต้) เครือข่ายติดตามแผนพัฒนา จ.สตูล ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง "การละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และเสรีภาพในการชุมนุม กรณีการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนของนายปลอดประสพ สุรัสวดี"โดยมีเนื้อหาดังนี้

"จากกรณีที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว เมื่อวันที่ 12  พฤษภาคม 2556 ระหว่างการเดินทางมาตรวจดูความเรียบร้อยของสถานที่จัดการประชุมผู้นำด้านน้ำเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 2 ระหว่าง 14-20 พ.ค. 2556 นี้ ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่ เกี่ยวกับการที่อาจจะมีกลุ่มมวลชนที่ทำงานด้านทรัพยากรน้ำมาเคลื่อนไหวชุมนุมและแสดงความเห็นระหว่างการประชุมในครั้งนี้ว่า“มาก็จับ ทำผิดกฎหมายก็จับ มันไม่ใช่ที่ที่จะมาประท้วง ฝากบอกไปด้วย มาประชุม เพื่อสร้างชื่อเสียง สร้างหน้าสร้างตาให้ประชาชน ไม่มีที่ไหนใครเขาไปทำร้ายใคร บรูไนเขามาพูดเรื่องบรูไน อิหร่านเขาก็มาพูดเรื่องอิหร่าน เกาหลีเขาก็มาพูดเรื่องเกาหลี คุณจะมาประท้วงอะไร อย่ามานะ ทำผิดกฎหมาย สั่งจับเลย และคนเชียงใหม่ก็ไม่ควรปล่อยให้พวกขยะเหล่านี้มาเกะกะ คุณเขียนอย่างผมพูดเลย กล้าเขียนหรือไม่” [1]นั้น

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) [2] มีความเห็นว่า คำให้สัมภาษณ์ดังกล่าวเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และอาจนำไปสู่การละเมิดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. การชุมนุมโดยสงบ เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองไว้โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 63 ซึ่งบัญญัติว่า  “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ” และ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ. 1966 ข้อ 21 “สิทธิในการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับการคุ้มครอง” ซึ่งประเทศไทยเข้าเป็นภาคีของสนธิสัญญาฉบับนี้โดยการภาคยานุวัติเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2539 และมีผลบังคับใช้กับไทยเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2540” การภาคยานุวัติดังกล่าวผูกพันต่อประเทศไทย ทั้งรัฐบาล รัฐสภาและศาล ต้องมีหน้าที่ในการดำเนินการให้สิทธิเสรีภาพที่รับรองไว้ในกติกาฯได้รับการปฏิบัติจริง (fulfill)โดยรัฐมีหน้าที่เคารพสิทธิ (respect) กล่าวคือ ไม่กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนเสียเอง คุ้มครอง (protect) กล่าวคือ ป้องกันมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดกระทำการการละเมิดสิทธิผู้อื่นหรือมีการละเมิดสิทธิระหว่างประชาชนด้วยกัน แต่รัฐสามารถจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมดังกล่าวได้ หากเป็นการกระทำโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงครามหรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก[3] รัฐบาลจึงมีหน้าที่ในการคุ้มครองประชาชนทุกกลุ่มได้ใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ [4]โดยต้องไม่เป็นผู้กระตุ้นหรือริเริ่มให้มีการละเมิดเสรีภาพดังกล่าวเสียเอง  ดังเช่นที่นายปลอดประสพ  ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน

2. คำให้สัมภาษณ์ของรองนายกรัฐมนตรี ที่ว่า “มา(ชุมนุม)ก็จับ” และ “อย่ามานะ ทำผิดกฎหมาย สั่งจับเลย “เป็นการริเริ่มหรือกระตุ้นให้มีการละเมิดเสรีภาพในการชุมนุมโดยผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงของรัฐบาลอย่างชัดเจนและหากมีการปฏิบัติการตามที่กล่าวจริง ย่อมเป็นการปฏิเสธสิทธิที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจตามกฎหมาย เป็นการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ การกระทำของรัฐบาลจึงเป็นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนโดยรู้อยู่แล้วว่าไม่มีอำนาจ [5]และหากมีการจับผู้ชุมนุมซึ่งชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ก็เป็นการจับโดยมิชอบ เพราะเจ้าพนักงานจะจับผู้อื่นได้เพียงเท่าที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้อำนาจไว้เท่านั้น [6]ประชาชนไม่ว่าจะเป็นกลุ่มมวลชนด้านทรัพยากรน้ำหรือกลุ่มอื่นใดย่อมสามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบได้เท่าเทียมกัน ตราบเท่าที่เป็นการชุมนุมโดยสงบและขอให้เจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายโดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ  

3. การที่รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “คนเชียงใหม่ก็ไม่ควรปล่อยให้พวกขยะเหล่านี้มาเกะกะ” นั้นถ้อยคำดังกล่าว ถือเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะเป็นการลดคุณค่าของมนุษย์เป็นเพียงวัตถุ สิ่งของ และเป็นการหมิ่นเกียรติของความเป็นมนุษย์“เกียรติ” เป็นคุณค่าที่สำคัญของศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ มนุษย์ทุกคนต่างมีเกียรติเท่ากันโดยสมบูรณ์ตราบเท่าที่ยังไม่ถูกลบหลู่ การลบหลู่ทำให้คุณค่าของมนุษย์ลดน้อยถอยลง มนุษย์แต่ละคนแม้จะมีความแตกต่างกันในทางสังคม แต่มนุษย์ก็มีเกียรติเท่ากัน ความเป็นมนุษย์ของบุคคลย่อมเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการรับรองไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่แห่งใดก็ตาม [7]ถ้อยคำดังกล่าวนอกจากเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แล้ว อาจเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทผู้ชุมนุม [8]ด้วย และยังเป็นการแสดงทัศนคติที่ขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้เสรีภาพในการชุมนุม  อันเป็นรากฐานของระบอบประชาธิปไตย

จากเหตุผลดังกล่าวสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและองค์กรดังมีรายชื่อแนบท้ายนี้ขอเรียกร้องให้นายปลอดประสพ สุรัสวดีและรัฐบาล

1. ให้นายปลอดประสพ สุรัสวดี ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย กล่าวขอโทษประชาชนในการใช้ถ้อยคำดังกล่าวต่อสื่อมวลชนทุกแขนง

2. ให้ยุติการใช้ถ้อยคำข่มขู่ คุกคามและไม่เอื้อต่อการสิทธิเสรีภาพของประชาชน

3. ให้ยุติการการใช้ถ้อยคำที่มีลักษณะเป็นการลดทอนคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน

4. ให้ยุติการให้ความเห็นที่มีลักษณะเป็นการกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

5. ให้ปฏิบัติต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนตามกรอบของกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น ๆ อย่างเคร่งครัด"

 

หมายเหตุท้ายแถลงการณ์

[1] http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNMk9ETTJOVFl5TXc9PQ

[2] สนส.ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2551 โดย ทนายความและนักกฎหมายที่มุ่งมั่นทำงานด้านสิทธิมนุษยชน  มีวัตถุประสงค์ ในการเป็นสถาบันที่มีภารกิจ เพื่อ ส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน  โดยส่งเสริมให้มีการศึกษาและเผยแพร่สิทธิมนุษยชนให้เป็นที่ยอมรับในสังคม ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงความยุติธรรม สิทธิเสรีภาพของประชาชน บนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชนและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

[3] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 63 วรรค 2

[4] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 81 (2)

[5] ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

[6] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78

[7] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 4 มาตรา 28 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ. 1966 ข้อ 16

[8] ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326

 

ด้าน "ยิ่งลักษณ์"ระบุยินดีรับฟังความเห็นจากผู้ชุนุม-และจะประสานปลอดประสพว่ามีเจตนาอะไร

ขณะที่ มติชนรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ถึงกรณีที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ประกาศห้ามม็อบชุมนุมบริเวณใกล้เคียงกับสถานที่จัดการประชุมผู้นำด้านน้ำเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 2 ที่ จ.เชียงใหม่ ว่า เรื่องของผู้ชุมนุมนั้นยินดีรับฟังข้อคิดเห็น และข้อเสนอต่างๆ การปะชุมเอเชีย วอเตอร์ ซัมมิต เป็นของสหประชาชาติที่ไทยรับเป็นเจ้าภาพครั้งที่ 2

เมื่อถามว่า การพูดของนายปลอดประสพเหมือนเป็นการเรียกแขกที่กลายเป็นว่าต่อไปรัฐบาลจะไม่ได้รับความร่วมมือจากภาคประชาชน น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า "เดี๋ยวต้องประสานกับท่านว่าหมายความเจตนาอย่างไร เพราะว่าจริงๆ แล้วอาจจะเป็นการพูด แต่จริงๆ แล้วเจตนาก็เชื่อว่าเราทุกคนยินดีรับฟังค่ะ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles