ศาลสูงของสหรัฐฯ มีมติเอกฉันท์ให้มอนซานโตชนะคดีฟ้องเกษตรรายย่อยในรัฐอินเดียน่าข้อหานำเมล็ดพันธุ์มีสิทธิบัตรไปปลูกซ้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต ขณะที่ศูนย์ความปลอดภัยทางอาหารชี้การยึดถือสิทธิบัตรเป็นการทำลายเกษตรรายย่อย
เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2013 ศาลสูงของสหรัฐฯ ตัดสินว่าชาวนาในสหรัฐฯ ผู้ซื้อเมล็ดพันธุ์ที่มีการจดสิทธิบัตรโดยบรรษัทมอนซานโตไม่สามารถนำเมล็ดพันธุ์มาใช้เพาะปลูกได้หากไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของสิทธิบัตร
คดีดังกล่าวเกิดขึ้นจากกรณีความขัดแย้งระหว่างชาวนาในรัฐอินเดียนากับบรรษัทเกษตรอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่อย่างมอนซานโต ต่อเรื่องการใช้เมล็ดพันธุ์ที่จดสิทธิบัตร โดยเวอร์นอน โบว์แมน ชาวนาในสหรัฐฯ ถูกฟ้องร้องโดยมอนซานโตในข้อหาละเมิดสิทธิบัตร โดยที่โบว์แมนได้ซื้อเมล็ดถั่วเหลืองผสมจากโรงเก็บในท้องถิ่นแต่ว่าในเมล็ดเหล่านั้นมีเมล็ดที่มอนซานโตจดสิทธิบัตรอยู่ด้วย
หลังจากนั้นโบว์แมนนำจึงนำเมล็ดไปเพาะปลูกและพ่นสารกำจัดศัตรูพืชโดยที่มีเมล็ดพันธุ์ "ราวด์อัพเรดี"ของมอนซานโตซึ่งมีฤทธิ์ทนทานต่อยารวมอยู่ด้วย โบว์แมนให้เหตุผลว่าที่เขาทำเช่นนั้นเพราะต้องการให้เมล็ดพันธุ์ของเขาทนต่อยากำจัดศัตรูพืช ซึ่งมอนซานโตกล่าวหาว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิบัตร
อย่างไรก็ตามมีข้อถกเถียงตามหลักการข้อสิ้นสุดสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา (Patent exhaustion) ที่กล่าวไว้ว่าหลังจากวัตถุที่ถูกจดสิทธิบัตรถูกจำหน่ายออกไปแล้ว ผู้ซื้อมีสิทธิในการขายต่อหรือนำมาใช้ตามแต่ที่เขาเห็นสมควร
แต่รายงานความคิดเห็นของศาลกล่าวว่ากรณีข้อสิ้นสุดสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาถูกนำมาใช้อย่างเจาะจงแต่เฉพาะตัวสินค้าที่ถูกซื้อไปเท่านั้น ในที่นี่คือตัวเมล็ดพันธุ์ที่ถูกซื้อมา หมายความว่ายังคงมีการห้ามไม่ให้นำ 'สิ่งผลิตซ้ำ'จากสินค้ามาสร้างใหม่ มาใช้ หรือนำไปขายต่อ
ศาลกล่าวว่าแม้ว่าทางมอนซานโตจะไม่มีสิทธิในการแทรกแซงการใช้เมล็ดพันธู์ราวด์อัพเรดี แต่หลักการข้อสิ้นสุดทรัพย์สินทางปัญญาก็ไม่ได้อนุญาติให้โบว์แมนนำเมล็ดพันธุ์ไปผลิตซ้ำโดยปราศจากคำยินยอมจากมอนซานโต วิ่งที่โบว์แมนทำได้คือการนำเมล็ดพันธุ์มาบริโภคเองหรือนำไปเลี้ยงสัตว์ของเขาเท่านั้น
โดยก่อนหน้านี้ในศาลชั้นต้นมอนซานโตได้ฟ้องศาลและชนะคดีโดยการให้มอนซานโตเสียหาย 84,456 ดอลลาร์ (ราว 2,500,000 บาท) จนกระทั่งมีการยื่นเรื่องให้ศาลสูงพิจารณาคดีอีกครั้ง
แม้ว่าผู้บริหารของมอนซานโตจะให้เหตุผลว่าการปกป้องสิทธิบัตรดังกล่าวเป็นเรื่องที่ควรกระทำเพราะเทคโนโลยีชีวภาพของพวกเขาจะช่วยหล่อเลี้ยงความต้องการอาหารของโลก แต่ศูนย์เพื่อความปลอดภัยทางอาหาร (Center for Food Safty) ไม่เห็นด้วย โดยที่ แอนดรูว์ คิมเบรลล์ ผู้อำนวยการศูนย์ฯ กล่าวว่าศาลตัดสินปกป้องมอนซานโตแทนที่จะปกป้องชาวนาเป็นเรื่องขัดกับหลักตรรกะและวิทยาศาสตร์เกษตร เพราะว่าการผลิตซ้ำเมล็ดพันธุ์เป็นสิ่งที่ธรรมชาติกระทำ ไม่ใช่ชาวนา
ทางด้าน บิลล์ ฟรีส นักวิเคราะห์นโยบายวิทยาศาสตร์ของศูนย์เพื่อความปลอดภัยทางอาหารกล่าวว่าการจดสิทธิบัตรเป็นการให้อำนาจกับบรรษัทอย่างมากและเป็นการสร้างความเสียหายต่อชาวนา และการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ด้วยวิธีของโบว์แมนเป็นสิ่งที่ช่วยลดภาระด้านราคาเมล็ดพันธุ์ชีวเทคโนโลยีที่ถีบราคาสูงขึ้นอย่างมาก โดยมอนซานโตมีการวางเงื่อนไขให้ชาวนาที่ซื้อเมล็ดเซนต์สัญญาไม่เก็บกักเมล็ดพันธุ์ทำให้พวกเขาต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ทุกปี
ศูนย์เพื่อความปลอดภัยทางอาหารได้เก็บข้อมูลการฟ้องร้องคดีโดยมอนซานโต ซึ่งระบุว่ามอนซานโตได้ฟ้องร้องคดีละเมิดสิทธิบัตรมาแล้ว 140 คดี มีผู้เกี่ยวข้องเป็นชาวนา 410 ราย ธุรกิจฟาร์มขนาดเล็ก 56 แห่ง และสามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้เป็นเงินรวมทั้งหมดราว 23.67 ล้านดอลลาร์ (ราว 702 ล้านบาท)
โบว์แมนบอกว่าเขายอมรับเงื่อนไขของมอนซานโตและซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ทุกปี เมล็ดพันธุ์เทคโนโลยีดังกล่าวมีเกษตรกรในสหรัฐฯ นำมาใช้ร้อยละ 90 เนื่องจากมียีนส์ทนต่อยากำจัดศัตรูพืช แต่โบว์แมนก็นำเมล็ดพันธุ์มาเพาะปลูกซ้ำครั้งที่สองในช่วงฤดูเพาะปลูกหลังเก็บเกี่ยวข้าวสาลี เพราะเมล็ดพันธุ์ช่วงปลายปีมักจะปลูกขึ้นยากและเขาไม่ต้องการซื้อเมล็ดพันธุ์ราคาสูงที่มีสิทธิบัตร
เรียบเรียงจาก
US Supreme Court Rules In Favour Of Monsanto In Patent Exhaustion Case, IP-Watch, 13-05-2013
High court backs Monsanto patent in seed case, Boston Globe, 14-05-2013
Supreme Court sides with Monsanto in major patent case, USA Today, 13-05-2013
Farmer’s Supreme Court Challenge Puts Monsanto Patents at Risk, New York Times, 15-02-2013