นิตยสารไทม์ชี้คดีฆาตกรรมฮันนาห์ วิทเธอริดจ์ และเดวิด มิลเลอร์ 2 นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่เกาะเต่าเผยให้เห็นอาชญากรรมในมุมมืดของไทย อีกทั้งยังสะท้อนกระบวนการสืบคดีที่ไม่มีประสิทธิภาพของทางการซึ่งถนัดป้ายสีคนนอก ไม่มีการคุ้มครองพยาน และกล่าวโทษเหยื่อ
24 ก.ย. 2557 นิตยสารไทม์รายงานกรณีการฆาตกรรมนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ 2 คนที่เกาะเต่า ในประเทศไทย โดยระบุว่าคดีนี้แสดงให้เห็นถึง "ด้านมืด"ของประเทศไทย ทั้งในแง่ของความรุนแรงจากในุมมืดและความเงอะงะของกระบวนการยุติธรรมในไทย
กรณีการฆาตกรรมนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ ฮันนาห์ วิทเธอริดจ์ อายุ 23 ปี และเดวิด มิลเลอร์ อายุ 24 ปี ที่เกาะเต่า เป็นเรื่องที่โด่งดังไปทั่วโลก เหตุเกิดเมื่อคนทำความสะอาดชายหาดไปพบร่างของทั้งสองคนเมื่อวันที่ 15 ก.ย. พร้อมจอบเปื้อนเลือดอยู่ใกล้ๆ ซึ่งในตอนนี้มีการยืนยันแล้วว่ามีการใช้จอบและไม้กระบองเป็นอาวุธสังหาร อีกทั้งยังเป็นไปได้สูงว่าจะมีผู้ลงมือ 2 คน
นิตยสารไทม์ระบุว่าก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยกล่าวหาคนงานข้ามชาติชาวพม่าและอ้างว่าคนไทยไม่ทำแบบนี้ ซึ่งพอล แควกเลีย นักวิเคราะห์ด้านความเสี่ยงที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ กล่าวว่าคนงานข้ามชาติมักจะตกเป็นเป้าหมายเวลาที่มีอาชญากรรมเกิดขึ้น
หลังจากนั้นก็มีการออกกฎหมายควบคุมการจ้างแรงงานข้ามชาติออกมาอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อพวกเขาหาหลักฐานมามัดตัวแรงงานชาวพม่าไม่ได้ พวกเขาก็หาเป้าหมายจำเลยเป็นคนนอกประเทศอีกโดยชี้เป้าไปที่นักท่องเที่ยวอีกรายคือ คริสโตเฟอร์ อลัน แวร์ ที่เป็นเพื่อนร่วมห้องของมิลเลอร์ตั้งปมเป็นประเด็นชู้สาว
มีการจับกุมตัวแวร์ที่สนามบินในกรุงเทพฯ แต่ผลการตรวจพิสูจน์ดีเอนเอที่ก้นบุหรี่ที่ทิ้งไว้ในที่เกิดเหตุก็ทำให้แวร์พ้นจากข้อกล่าวหา ทำให้เจ้าหน้าที่ทางการไทยหันไปสงสัยคนไทย 2 คนที่เคยลวนลามวิทเธอริดจ์ในคืนก่อนหน้าที่เธอจะถูกสังหารตามคำบอกเล่าของฌอน แมคแอนนา เพื่อนของมิลเลอร์ ซึ่งมิลเลอร์เป็นผู้ที่ช่วยเหลือวิทเธอริดจ์ไว้ แต่เมื่อแมคแอนนานำรูปภาพผู้ต้องหาเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตเขาก็ถูกขู่ฆ่าจนต้องหลบซ่อนตัว
ขณะที่ตำรวจไทยเปิดเผยว่าเคยเรียกผู้ต้องสงสัยชาวไทย 2 คนมาสอบปากคำแล้ว แต่ก็ปล่อยตัวไปหลังจากที่พวกเขาไม่ยอมให้ตรวจดีเอนเอ
แควกเลียกล่าวว่า ปัญหาคือสิ่งที่ทำให้เบี่ยงเบนความสนใจ เนื่องจากตำรวจทำงานอยู่ภายใต้แรงกดดันให้ต้องแถลงข่าวเรื่องความคืบหน้าอยู่ตลอดเวลาโดยมีสื่อคอยติดตามเรื่องนี้ทั้งในและนอกประเทศ
นิตยสารไทม์ระบุว่าคดีวิธเทอริดจ์และมิลเลอร์เป็นอีกครั้งที่แสดงให้เห็นด้านมืดของเกาะในประเทศไทยแบบที่เคยเขียนไว้ในนิยายเรื่องเดอะบีช โดยอเล็ก การ์แลนด์ เมื่อปี 2539 ซึ่งมีทั้งเรื่องยาเสพติด การข่มขืน การทำร้ายร่างกาย ล้วนแล้วแต่เป็นผลพวงมาจากการที่ประเทศไทยมักจะถูกมองว่าเป็น "แหล่งโลกีย์"ทำให้ดึงดูดกลุ่มอาชญากรรม
ไทม์ระบุว่าประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวมากกว่า 20 ล้านคนต่อปี ส่วนใหญ่มีความปลอดภัยดี แต่ก็ยังมีส่วนหนึ่งที่ไม่โชคดีนัก เช่นในหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษที่รายงานเรื่องเกี่ยวกับพัทยา เปิดเผยเรื่องราวอาชญากรรมทั้งการจี้ปล้น ขโมยโทรศัพท์ การยิงกัน แทงกัน รถชน จมน้ำ และเรื่องอื่นๆ ที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยว ส่วนเทศกาลฟูลมูนปาร์ตี้ที่เกาะพงันก็ถูกกล่าวหาว่ามีการข่มขืนและทำร้ายร่างกายซึ่งส่วนมากไม่ถูกนำมารายงาน
ไทม์ยังเปิดเผยในรายงานว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.เหล่าทัพ "ผู้ที่แต่งตั้งตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการรัฐประหาร 22 พ.ค."ได้ใช้วิธีการกล่าวโทษเหยื่อ สร้างความไม่พอใจให้กับหลายคน แม้ว่าต่อมาเขาจะขอโทษต่อสิ่งที่พูดออกไป
ไทม์ระบุอีกว่าเหตุการฆาตกรรมในคดีนี้ผ่านไป 8 วันแล้ว แต่ก็ยังไม่มีผู้ต้องสงสัยคนใดถูกจับกุมหรือระบุตัว ซึ่งไทม์ชี้ว่า "สำหรับคนที่คุ้นเคยกับกระบวนการยุติธรรมที่ไร้ประสิทธิภาพในประเทศนี้คงไม่มีใครแปลกใจ"
เรียบเรียงจาก
What the Murder of Two British Tourists Tells Us About Thailand’s Dark Side, Time, 23-09-2014
http://time.com/3420299/thailand-koh-tao-murder-hannah-witheridge-david-miller/