ลูกจ้างผลิต กกน. “เจเพรส” ร้องถูกนายจ้างย้ายสาขา หวังลดต้นทุน โอดเดินทางไกลค่าใช้จ่ายเพิ่ม
(16 ก.ย.) ที่กระทรวงแรงงาน พนักงานบริษัท ไทยเจ.เพรส จำกัด อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี จำนวนกว่า 100 คน เดินทางมายังสำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เพื่อขอให้ช่วยเจรจากับนายจ้างซึ่งจะย้ายให้ไปทำงานในสาขาของที่อยู่ไกลออกไปจากที่ทำงานเดิม 25 กิโลเมตร เนื่องจากไม่สะดวกในการเดินทางและค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โดยมี นายสมหวัง หมอยาดี ผู้อำนวยการกลุ่มงานประนีประนอมข้อพิพาทแรงงานและข้อขัดแย้งและเจ้าหน้าที่กลุ่มงานฯ ได้มารับเรื่องร้องเรียนและพูดคุยกับพนักงาน
นางสมใจ เงินสา ตัวแทนพนักงานบริษัท ไทยเจ.เพรส จำกัด จ.ปราจีนบุรี กล่าวระหว่างประชุมหารือว่า ปัจจุบันมีพนักงานทำงานอยู่ในโรงงานที่ อ.กบินทร์บุรี ภายในนิคมอุตสาหกรรมปราจีนบุรีกว่า 270 คน และบริษัทเตรียมจะย้ายพนักงานให้ไปทำงานในที่อยู่ไกลออกไป 25 กิโลเมตร เพื่อลดต้นทุนการผลิต แต่ตนรวมทั้งเพื่อนพนักงานรวมกว่า 100 คน ไม่ต้องการย้ายเพราะต้องเดินทางไกล มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นและสถานที่แออัด ห้องน้ำไม่เพียงพอ นอกจากนี้ พนักงานหลายคนมีสุขภาพไม่แข็งแรง จึงมาขอให้ กสร. ช่วยเจรจากับนายจ้าง
นายสมหวัง กล่าวว่า เบื้องต้นขอให้พนักงานบริษัท ไทยเจ.เพรส จำกัด ทุกคนเขียนคำร้องไว้ โดย กสร. จะส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปช่วยเจรจากับนายจ้าง โดยยึดหลักไม่ให้พนักงานทุกคนต้องตกงาน และขอให้มีสวัสดิการร้องรับ เช่น รถรับ-ส่ง ค่าอาหาร
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 16-9-2557)
นิด้าโพลระบุคุณภาพบัณฑิตไทยค่านิยมใบปริญญา
กรุงเทพฯ 17 ก.ย.- นิด้าโพลสำรวจปัญหาคุณภาพบัณฑิตไทย มีค่านิยมแค่ต้องการใบปริญญา ไม่มุ่งความรู้ ขณะที่มหาวิทยาลัยมุ่งผลประโยชน์ทางธุรกิจมากไป อีกทั้งระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่มีคุณภาพ
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ปัญหาคุณภาพบัณฑิตไทย” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 15-16 กันยายน 2557 กรณีศึกษาจากประชาชนที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป รวมทั้งสิ้น 1,250 หน่วยตัวอย่าง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 42.72 ระบุว่า ผู้เรียนไม่สนใจที่จะได้รับความรู้ มีค่านิยมแค่ต้องการใบปริญญาเท่านั้น รองลงมา ร้อยละ 42.56 ระบุว่า มหาวิทยาลัยมุ่งผลประโยชน์ในเชิงธุรกิจมากเกินไป (จ่ายครบจบแน่) ร้อยละ 32.40 ระบุว่า หลักสูตรเน้นทฤษฎีมากกว่าปฏิบัติ บัณฑิตจึงไม่สามารถทำงานจริงได้ ร้อยละ 29.28 ระบุว่า ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่มีคุณภาพ จึงส่งผลต่อคุณภาพนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ร้อยละ 28 ระบุว่า หลักสูตรไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ร้อยละ 21.92 ระบุว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งไม่มีคุณภาพ ร้อยละ 17.84 ระบุว่า นโยบายมหาวิทยาลัยนอกระบบ (ทำให้มหาวิทยาลัยเน้นความอยู่รอดมากกว่าคุณภาพการศึกษา)
ร้อยละ 11.36 ระบุว่า ความล้มเหลวของผู้บริหารสถานศึกษา ร้อยละ 11.12 ระบุว่า ความล้มเหลวของหน่วยงานกำกับมหาวิทยาลัย ร้อยละ 5.76 ระบุว่า ปัญหาการเมืองในมหาวิทยาลัย ร้อยละ 1.92 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ นักศึกษามีค่านิยมที่เรียนตามเพื่อน หรือเรียนไม่ตรงสาขา เมื่อจบไปแล้วทำงานไม่ตรงกับสาขาที่เรียนมา ทำให้มีบัณฑิตจบออกมาเกินความต้องการของตลาดแรงงาน รวมไปถึงมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยของผู้บริหารหรือนโยบายในระดับกระทรวงศึกษาธิการจนถึงระดับสถาบันการศึกษา และขาดการสร้างจิตสำนึกในเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม และความอดทน บางสถาบันเน้นการทำกิจกรรมขณะเรียนมากเกินไป ประกอบกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และ ร้อยละ 0.64 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อระดับคุณภาพของบัณฑิตไทยในปัจุบัน พบว่า ประชาชน ร้อยละ 2.24 ระบุว่า บัณฑิตไทยในปัจจุบันมีคุณภาพสูง ร้อยละ 30.80 ระบุว่า ค่อนข้างมีคุณภาพ ร้อยละ 45.44 ระบุว่า ไม่ค่อยมีคุณภาพ ร้อยละ 19.20 ระบุว่า มีคุณภาพต่ำ และร้อยละ 2.32 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อกระทรวงศึกษาธิการควรการจัดการทดสอบกลางเพื่อประเมินมาตรฐานบัณฑิตหรือไม่ พบว่า ร้อยละ 75.44 ระบุว่า ควรมีการจัดทดสอบกลาง เพราะทำให้ทราบว่าบัณฑิตมีความรู้อยู่ในเกณฑ์ระดับใด มีข้อบกพร่องและต้องปรับปรุงในเรื่องใดบ้าง เป็นการยกระดับคุณภาพของการศึกษาไทยให้มีมาตรฐานยิ่งขึ้น ทำให้บัณฑิตที่จบไปนั้นมีคุณภาพ ความรู้ความสามารถ ความพร้อมในการทำงาน และสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ร้อยละ 22.48 ระบุว่า ไม่ควร เพราะมีการสอบย่อย สอบระหว่างภาค และปลายภาคเรียนอยู่แล้ว เป็นการทดสอบที่ซ้ำซ้อน และทำให้นักศึกษาต้องพะวงในเรื่องของการแบ่งเวลาอ่านหนังสือเพื่อเตรียมตัวสอบการทดสอบกลาง ซึ่งการสอบเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการวัดคุณภาพของบัณฑิต คุณภาพที่แท้จริงของบัณฑิตที่จบมา คือประสิทธิภาพของการทำงานมากกว่า ควรแก้ไขที่สาเหตุหลัก เช่น ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน หลักสูตรการเรียนการสอน คุณภาพของอาจารย์/ผู้สอน การบริหารจัดการของมหาวิทยาลัย เป็นต้น และร้อยละ 2.08 ไม่ระบุ /ไม่แน่ใจ
(สำนักข่าวไทย, 17-9-2557)
กสร.ตั้งเป้าผลิต จนท.ความปลอดภัย 1.2 หมื่นคน
นายพานิช จิตร์แจ้ง อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2558 กสร. ได้รับมาจำนวน 1,102 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นงบที่ใช้ดำเนินการของกรมฯ ที่เหลือเป็นงบในการจัดซื้อจัดจ้างประมาณ 76 ล้านบาท ซึ่งจะนำมาใช้ในการจัดซื้อรถยนต์ทดแทนรถยนต์เดิมที่เสื่อมสภาพ รวมทั้งจัดซื้อคอมพิวเตอร์ และแท็บเล็ต ให้แก่เจ้าหน้าที่ตรวจแรงงานเพื่อใช้บันทึกข้อมูลในการลงพื้นที่ โดยจะใช้งบประมาณอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ ตามนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งจะกำชับให้ข้าราชการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า
นายพานิช กล่าวอีกว่า ส่วนภารกิจของ กสร. ในปี 2558 นั้น จะเน้นในเรื่องการป้องกันและแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ โดยยึดหลัก 3 ข้อ คือ การป้องกัน การตรวจแรงงานอย่างเข้มข้น การร่วมมือและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูแลแรงงานในระบบให้ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนแรงงานนอกระบบจะส่งเสริมให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ลดการสูญเสียชิ้นงาน อีกทั้งจะดูแลให้แรงงานมีความปลอดภัยในการทำงาน โดยตั้งเป้าหมายว่าจะผลิตบุคลากรด้านความปลอดภัยเพื่อช่วยงานเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย (จป.) วิชาชีพให้ได้ 12,000 คน และมีการปรับปรุงระบบการจัดเก็บข้อมูลด้านความปลอดภัย
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 18-9-2557)
กรมจัดหางาน เตือน แรงงานไทยระวังถูกหลอกไปญี่ปุ่น
เมื่อวันที่ 18 ก.ย. ที่ จ.เชียงใหม่ นายประพันธ์ วิศิษฏจินดา รักษาการจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า กรมการจัดหางานได้รับรายงานจากสำนักงานแรงงานในประเทศญี่ปุ่นว่า คนไทยที่มีถิ่นพำนักอาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่นแจ้งว่า มีเพื่อนหรือญาติที่ประเทศไทยถูกชักชวนไปทำงานก่อสร้างที่จังหวัดฟุกุชิมะ (Fukushima) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากสึนามิและแผ่นดินไหวใหญ่ และกำลังเร่งฟื้นฟูความเสียหาย โดยผู้ชักชวนอ้างว่าจะมีการรับคนงานก่อสร้างเป็นจำนวนมาก และสามารถเข้าไปทำงานได้เลย ซึ่งจะต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 4 แสนบาทเกี่ยวกับเรื่องนี้ กรมการจัดหางานแจ้งว่า รัฐบาลญี่ปุ่นไม่มีนโยบายรับแรงงานต่างชาติไร้ฝีมือ และผู้ที่จะไปทำงานก่อสร้างในประเทศญี่ปุ่นจะต้องไปในลักษณะผู้ฝึกปฏิบัติงานเทคนิคผ่านองค์กรผู้รับผู้ส่งเท่านั้น สำหรับเรื่องที่รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ด้านการก่อสร้าง เพื่อดำเนินงานบูรณะฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว และการเตรียมงานแข่งขันกีฬาโอลิมปิก และพาราลิมปิกในปี 2563 ซึ่งยังขาดแคลนแรงงานอีกประมาณ 150,000 คนนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นได้กำหนดให้ขยายระยะเวลาการอนุญาตการรับผู้ฝึกงานด้านเทคนิคชาวต่างชาติเฉพาะผู้สำเร็จการฝึกงานประเภทงานก่อสร้างเท่านั้น โดยจะมีผลบังคับใช้เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558-2563 อย่างไรก็ตาม ระเบียบต่างๆ ในเชิงปฏิบัติต้องรอการประกาศจากทางการญี่ปุ่นก่อน ซึ่งกรมการจัดหางานจะได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบต่อไป ดังนั้น สำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ จึงขอแจ้งเตือนประชาชนคนหางานที่มีความสนใจจะเดินทางไปทำงาน ฝึกงานในประเทศญี่ปุ่น ให้ระมัดระวังการถูกหลอกลวงจากสาย นายหน้าจัดหางานเถื่อน หากมีข้อสงสัยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ งานจัดหางานต่างประเทศ โทรศัพท์ 053-112744ต่อ 20 ทุกวันเวลาราชการ
(ไทยรัฐ, 18-9-2557)
ลงนามความร่วมมือปลูกจิตสำนึกการใช้หนี้ กยศ.มุ่งให้ผู้กู้ยืมมีความรับผิดชอบต่อสังคม
นางสาวฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) เปิดเผยถึง การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา และระดับอาชีวศึกษา เพื่อขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมแก่ผู้กู้ยืมเงินกองทุนฯ ว่า ในการร่วมลงนามครั้งนี้มีสถานศึกษาเข้าร่วมลงนามจำนวน 24 แห่ง โดยกำหนดให้มีการจัดทำหลักสูตร สร้างจิตสำนึก อันเป็นการส่งเสริมคุณธรรมความซื่อสัตย์สุจริต และจิตอาสา เพื่อให้ผู้กู้ยืมเงินเห็นคุณค่าของเงินกู้ยืม และมีจิตสำนึกที่จะมอบโอกาสให้รุ่นน้องได้เรียนต่อ อันจะเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมการสร้างเครือข่ายส่งเสริมความรับผิดชอบทางการเงิน และเพื่อให้ความร่วมมือกับกองทุนในการประชาสัมพันธ์และรณรงค์ให้ข้าราชการ พนักงานและลูกจ้างในสังกัดที่เป็นผู้กู้ยืมเงินกองทุนให้ชำระเงินคืน โดยทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันสำรวจข้อมูลการเป็นผู้กู้ยืมเงิน เพื่อสร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบและกระตุ้นการชำระหนี้ให้แก่ผู้กู้ยืมเงินกองทุน โดยจากการร่วมมือในครั้งนี้กองทุนฯ เห็นว่า นับว่าเป็นโอกาสอันดี ที่สถานศึกษา ได้ให้ความสำคัญ กับเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ซึ่งเป็นเงินทุนหมุนเวียนที่มาจากภาษีของประชาชน อีกทั้งยังเห็นความสำคัญในการสร้างคุณภาพของนักศึกษา เพื่อผลักดันคนที่มีทั้งความรู้ จริยธรรม และคุณธรรม เพื่อไปพัฒนาประเทศชาติได้อย่างยั่งยืนต่อไป
(แนวหน้า, 18-9-2557)
เตือนคนหางานที่ต้องการไปทำงานที่ประเทศสิงคโปร์ ตรวจสอบข้อมูลก่อนการเดินทาง
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กรมการจัดหางานได้รับแจ้งจากสำนักงานแรงงานในประเทศสิงคโปร์ กรณีช่วยเหลือคนหางานที่ถูกหลอกลวงให้เดินทางไปทำงานในร้านอาหารไทยแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าโกลเด้นไมล์ และถูกนายจ้างร้านอาหารดังกล่าวกักตัวไว้โดยอ้างว่าทำงานยังไม่ครบสัญญาจ้าง และถูกเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานของสิงคโปร์จับกุมในความผิดฐานลักลอบเข้ามาทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน ซึ่งทางการสิงคโปร์ฟ้องร้องนายจ้างแต่ได้กันคนหางานดังกล่าวไว้ในฐานะพยานระหว่างรอผลคดีคนหางานกลุ่มนี้จะยังไม่สามารถเดินทางกลับประเทศได้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด ซึ่งทราบว่าคนหางานดังกล่าวกำลังประสบปัญหาเรื่องความเป็นอยู่รวมทั้งการทำงานที่ทางการสิงคโปร์จัดหาให้ในระหว่างรอคดีดังกล่าวสิ้นสุด
กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน จึงขอเตือนคนหางานอย่าลักลอบไปทำงานในประเทศสิงคโปร์ เนื่องจากประเทศสิงคโปร์มีกฎหมายที่เข้มงวดและรุนแรง กรณีที่พบว่ามีการลักลอบทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตการทำงานและไม่ทำงานกับนายจ้างตามที่ระบุตำแหน่งงานไว้ในใบอนุญาตการทำงาน จะมีโทษปรับไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ เหรียญสิงคโปร์ และ/หรือ จำคุกไม่เกิน ๒ ปี ทั้งนี้คนหางานสามารถสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางไปทำงานเพื่อป้องกัน การถูกหลอกลวงหรือถูกเอารัดเอาเปรียบจากการจ้างงาน หรือ แจ้งเบาะแสการหลอกลวงคนหางาน หรือร้องทุกข์ได้ที่ กองตรวจและคุ้มครองคนหางาน โทร.๐๒-๒๔๕-๖๗๖๓ หรือสายด่วน กรมการจัดหางาน โทร. ๑๖๙๔
(กรมการจัดหางาน, 18-9-2557)
ตรวจหมอชิต 2 หวั่นเป็นจุดหลอกลวงคนไทยไปใช้แรงงานบนเรือประมง
กรุงเทพฯ 20 ก.ย. - นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร กรรมการผู้จัดการบริษัทขนส่ง จำกัด หรือ บขส. เปิดเผยว่า ได้ส่งเจ้าหน้าที่พร้อม ทหารและตำรวจร่วมกันตรวจสอบกรณีกลุ่มมิจฉาชีพ ใช้สถานที่บริเวณสถานีขนส่งหมอชิต 2 หลอกลวงคนไทยไปใช้แรงงานทาสบนเรือประมง ที่ประเทศอินโดนีเซีย ยอมรับว่าเมื่อปี 2551 บขส.เคยได้รับการร้องเรียนเรื่องดังกล่าวจริง เมื่อส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ มิจฉาชีพได้หลบออกจากพื้นที่ หลังจากนี้จะให้ตำรวจและทหารเข้ามาช่วยจัดระเบียบสถานีขนส่ง ส่วนประชาชนที่พบเบาะแส หรือกลุ่มบุคคลที่เข้าข่ายหลอกลวง ให้แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบและดำเนินคดีตามกฎหมายทันที
(สำนักข่าวไทย, 20-9-2557)
กรมการจัดหางาน ก.แรงงาน ร่วมกับ IOM เรียงลำดับรายชื่อผู้สมัครไปทำงานภาคเกษตรในอิสราเอลโดยวิธีสุ่มเรียงด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อความโปร่งใสและยุติธรรม
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน มอบหมายให้นายสิงหเดช ชูอำนาจ ผู้ตรวจราชการกรมการจัดหางาน เป็นประธานดำเนินการเรียงลำดับรายชื่อผู้สมัครและเป็นผู้แทนฝ่ายกรมการจัดหางาน ร่วมกับ MR.DRAGAN ALEKSOSKI SENIOR PROGRAM MANAGER IOM BANGKOK ผู้แทนฝ่ายองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน( IOM) เรียงลำดับรายชื่อผู้สมัครไปทำงานภาคเกษตรในประเทศอิสราเอลภายใต้โครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอลเพื่อการจัดหางาน (THAILAND - ISRAEL COOPERATION ON THE PLACEMENT OF WORKER : TIC) โดยวิธีสุ่มเรียงด้วยระบยคอมพิวเตอร์ เพื่อความโปร่งใสและยุติธรรม ในวันที่ 17 กันยายน 2557 ณ ห้องประชุมสำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
(กรมการจัดหางาน, 21-9-2557)
สหพันธ์พนักงานจ้างท้องถิ่นร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน เสนอให้ คสช. แก้ไขปัญหากรณีพนักงานจ้างท้องถิ่น ถูกเลิกจ้าง กว่า 1 หมื่นคน
(22 ก.ย.) นางปิยะพร จันทร์ละมุด พนักงานจ้างองค์การบริหารส่วนตำบลวังชมภู ในฐานะประธานสหพันธ์พนักงานจ้างท้องถิ่นแห่งประเทศไทย พร้อมคณะ กว่า 40 คน เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีพนักงานจ้างท้องถิ่นถูกเลิกจ้าง กว่า 10,000 คนที่ได้รับผลกระทบจากระเบียบการจ้างงานของคณะกรรมการกลาง ข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น (ก.จ./ ก.ท./ ก.อบต.) เพื่อขอความช่วยเหลือทางผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้เสนอเรื่องดังกล่างไปยังหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. และนายกรัฐมนตรี เพื่อแก้ไขปัญหา โดยดำเนินการช่วยเหลือพนักงานลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้
ทั้งนี้ มี นายรักษเกชา แฉ่ฉาย รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ตัวแทนจากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นผู้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว
(ไอเอ็นเอ็น, 22-9-2557)
แรงงานถูกหลอกในอินโดฯ 6 คน ถึงไทย 1 ต.ค. นี้ พม. เตรียมลงพื้นที่ตรวจสอบอีก 7 คน ด้านดีเอสไอ เตรียมสอบสวนดำเนินคดีต่อ
(22 ก.ย.) เวลา 15.00 น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พม. กล่าวภายหลังเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมเพื่อหารือถึงแนวทางการช่วยเหลือแรงงานประมงที่ถูกหลอกไปทำงานที่อินโดนีเซีย ว่า จากกรณีที่ 6 แรงงานประมงไทยถูกหลอกไปใช้แรงงานทาส จับปลาในน้ำน่านอินโดนีเซียนั้น ขณะนี้ ทางกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จะเป็นผู้ดำเนินการ ในการส่งตัวแรงงานประมงทั้ง 6 ราย กลับประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ 1 ต.ค. นี้ และทาง พม. จะจัดเจ้าหน้าที่ไปรับตัว รวมทั้งคัดแยกเหยื่อผู้เสียหาย จากนั้นจะนำตัวส่งเข้ารับการคุ้มครองสวัสดิภาพที่บ้านพักฯ เป็นการชั่วคราว เพื่อช่วยเหลือเยียวยา และวันที่ 27 ก.ย. นี้ ทางกระทรวงการต่างประเทศ จะร่วมกับ พม. ตำรวจ และกระทรวงแรงงาน ในการลงพื้นที่ไปยังเกาะอัมบน ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อตรวจสอบแรงงานประมงไทยอีกประมาณ 7 คน ที่ทราบว่าถูกหลอกไป เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป
พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวต่อว่า ได้มอบหมายให้ นายวิเชียร ชวลิต ปลัด พม. เตรียมจัดประชุมเรื่องการจัดระเบียบเรือประมง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ 25 ก.ย. นี้ เพื่อหารือถึงแนวทางการปฏิบัติ ส่วนการดำเนินคดี เป็นหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และตำรวจในการร่วมกันดูแล รวบรวมความคืบหน้าของคดีการค้ามนุษย์ที่ผ่านมา รายงานการแก้ไขปัญหามาทุก 7 วัน และตนจะรายงานความคืบหน้า ถึงการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 23 ก.ย. ต่อไป
ด้าน พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า ขณะนี้ข้อเท็จจริงตามที่แรงงานประมงคนแรก ได้เข้าร้องเรียนต่อสื่อนั้น มีลักษณะที่เข้าข่ายการค้ามนุษย์ ซึ่งสามารถดำเนินคดีฐานเป็นคดีพิเศษได้ทันที และเมื่อแรงงานประมงทั้ง 6 คน เดินทางมาถึงประเทศไทย จะนำเข้าสู่กระบวนการสอบสวน เพื่อดำเนินคดีต่อไป
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 22-9-2557)
เอกชนประมงจับมือรัฐสำรวจแรงงานไทยในอินโดฯ ที่อยากกลับบ้าน
23 ก.ย.-นายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย เผยเตรียมร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ สำรวจข้อมูลแรงงานประมงไทยในอินโดนีเซียที่ต้องการกลับประเทศ ย้ำที่ผ่านมากำชับสมาชิกไม่ให้ใช้แรงงานผิดกฎหมายและหลอกลวงมาทำงาน แต่ยอมรับควบคุมตรวจสอบยังยาก
นายวิริยะ ศิริชัยเอกวัฒน์ นายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย กล่าวถึงกรณีคนไทยถูกหลอกลวงไปทำงานบนเรือประมงไทยในน่านน้ำประเทศอินโดนีเซียว่า คนไทยที่ไปทำงานบนเรือประมงไทยที่ออกหาปลาในน่านน้ำอินโดนีเซียคาดว่ามีนับร้อยคน แต่คนไทยที่ถูกหลอกไปทำงานบนเรือประมงนั้นมีจำนวนน้อย ทั้งนี้ คนที่ไปส่วนใหญ่เป็นผู้ที่สมัครใจไปและมีเอกสารรับรอง เช่น มีหนังสือคนประจำเรือ หรือซี-แมนบุ๊ก มีสัญญาจ้าง รวมทั้งมีการจัดทำบัญชีรายชื่อลูกเรือ บันทึกข้อมูลการเข้า-ออกด่านตรวจศุลกากรซึ่งลูกเรือทุกคนต้องเซ็นชื่อกับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง จึงจะออกไปนอกน่านน้ำไทยกับเรือประมงได้นอกจากนี้ เรือมีการจดทะเบียนและผ่านการตรวจสอบตามขั้นตอนจากกรมเจ้าท่า ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองและด่านศุลกากร อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าสมาคมฯ พยายามดูแลไม่ให้สมาชิกใช้แรงงานผิดกฎหมาย ใช้แรงงานที่ถูกหลอกลวงมาทำงาน แต่ควบคุมและตรวจสอบได้ยากทำให้ปัญหานี้ยังคงมีอยู่
ส่วนการช่วยเหลือคนไทยที่ทำงานบนเรือประมงในอินโดนีเซีย ล่าสุดสมาคมฯ ได้ประชุมสมาชิกจะร่วมมือกับกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศตรวจสอบข้อมูลว่า มีคนไทยต้องการเดินทางกลับประเทศไทยจำนวนทั้งหมดกี่คนและมีปัญหาในกรณีใดบ้าง เช่น กรณีสมัครใจมาทำงานแล้วทำงานไม่ไหว มาทำงานประมงแล้วหนีขึ้นฝั่งไปทำงานอื่น ทำให้เป็นแรงงานผิดกฎหมายในอินโดนีเซีย ทั้งนี้ ได้กำชับสมาชิกสมาคมฯ ที่มีกว่า 260 ลำไม่ให้มีการใช้แรงงานผิดกฎหมาย ไม่ให้มีการหลอกลวงมาทำงาน และเมื่อช่วง 2-3 เดือนก่อนได้แก้ไขระเบียบของสมาคม 12 ข้อโดยเพิ่มเติมเนื้อหา เช่น เจ้าของเรือต้องแจ้งสัมปทานการหาปลา มีการจดทะเบียนเรือ มีสำเนารายชื่อลูกเรือใบแจ้งการออกเรือ
(สำนักข่าวไทย, 23-9-2557)
จบวุฒิ ป.ตรี ล้นตลาด ฉุดอัตราเงินเดือนไม่ขยับ
วันที่ 23 กันยายน 2557 น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล นักวิจัยอาวุโส มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา เปิดเผยว่า ค่าตอบแทนของแรงงานที่จบการศึกษาวุฒิปริญญาตรีในประเทศไทย มีการปรับลดลงอย่างต่อเนื่องหากเทียบกับช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
โดยผู้ที่เรียนจบปริญญาตรีได้รับค่าตอบแทนที่แตกต่างจากวุฒิมัธยมศึกษาตอนต้นเพียง 2.4 เท่า จากเดิมที่เคยห่างกัน 3 เท่า ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการจบวุฒิปริญญาตรีไม่ช่วยให้ได้รับค่าตอบแทนอย่างเหมาะสม ทั้งนี้สำหรับเหตุผลหลักมาจากค่านิยมการเรียนปริญญาตรีของคนไทย ทำให้มีวุฒิปริญญาตรีมากไปจนล้นตลาด และไม่จูงใจให้นายจ้างเพิ่มค่าตอบแทนที่มากพอตามวุฒิการศึกษา
อย่างไรก็ตามภาครัฐควรให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เด็กรุ่นใหม่หันมาเรียนในสายอาชีพ จะได้ตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น ก่อนจะมีปัญหาตามมาอีกหลายประการ
(สปริงนิวส์, 23-9-2557)
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai