คำถามหนึ่งที่มักมีการพูดถึงอยู่เสมอคือ เหตุใดประเทศไทยจึงยังไม่สามารถยกระดับตัวเองให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้ โดยเฉพาะมักมีการเปรียบเทียบกับเกาหลีใต้ที่เริ่มการพัฒนาประเทศมาพร้อมๆ กัน ในขณะที่ปัจจุบันเกาหลีใต้มีความล้ำหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปไกลกว่าไทยมาก ส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์นี้ สิ่งที่น่าสนใจคือ หากย้อนหลังไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว รัฐบาลเกาหลีใต้เคยส่งคนมาเรียนมหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่ธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์ และเกาหลีใต้ก็สามารถยกระดับตัวเองจากประเทศกำลังพัฒนาให้เป็นประเทศพัฒนาแล้วได้เพียงในชั่วข้ามทศวรรษเท่านั้นเอง
เมื่อหันกลับมามองที่ประเทศไทย คำถามใหญ่ก็คือ เกิดอะไรขึ้นกับการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีของไทยตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา วงการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีของไทยมีความก้าวหน้าไปมากน้อยเพียงใด มีจุดอ่อน-จุดแข็งอะไรบ้าง และนโยบายทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีของไทยทั้งที่ผ่านมาและที่กำลังจะดำเนินต่อไปในอนาคตเป็นอย่างไร
ประชาไท สนทนากับนักอนาคตศาสตร์ ‘ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์’ กรรมการผู้จัดการบริษัท โนวิสเคปคอนซัลติ้งค์กรุ๊ป จำกัด ผู้คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ถึงมุมมองต่อพัฒนาการทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีของไทย และมุมมองต่อนโยบายทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีของรัฐบาลใหม่ที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมีบุคลากรจากวงการวิทยาศาสตร์เข้าไปร่วมงานมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ รวมทั้งพูดคุยถึงโอกาสการเพิ่มขนาดการลงทุนในการทำวิจัยและพัฒนา และการกระตุ้นภาคเอกชนในประเทศให้สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ จากการร่วมทำเมกะโปรเจกต์กับรัฐ รวมถึงข้อเสนอแนะและความจำเป็นของการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในสังคมไทย
รัฐบาลปัจจุบันเพิ่งประกาศนโยบาย ซึ่งมีนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีอยู่ด้วย แต่ก่อนอื่นอยากให้อาจารย์ให้พื้นฐานก่อนว่า วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศยังไงบ้าง
มันเป็นเหมือนยาดำแทรกไปในทุกนโยบาย คนทั่วไปอาจจะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว อย่างเช่น เราพูดถึงนโยบายสาธารณสุข นโยบายความมั่นคง นโยบายเหล่านี้ไล่ไปเลยตั้งแต่ A ถึง Z จะมีวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีซ่อนอยู่หมด ทุกกระทรวงเกือบจะมีห้องปฏิบัติการของตัวเองหมด กระทรวงยุติธรรมก็จะมีห้องปฏิบัติการที่เรารู้กันก็พวก CSI (Crime Scene Investigation : นิติเวชวิทยา) สิ่งเหล่านี้เป็นวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีหมด
ทีนี้ นโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีเป็นเหมือนพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้การใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีในสาขาอื่นๆ เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสามารถที่จะสร้างฐานและโอกาสใหม่ๆ ในการพัฒนาประเทศในระยะยาว
ปัญหาที่ประเทศไทยเจอก็คือ คนส่วนใหญ่มองว่าวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีเป็นเรื่องของประเทศที่มีความก้าวหน้าสูง เป็นเรื่องที่ประเทศไทยยังห่างไกลอีกเยอะ เราลองมองดูเกาหลีเมื่อสัก 30-40 ปีก่อน เขาส่งคนมาเรียนที่จุฬา ธรรมศาสตร์ แล้วกลับไป อีกไม่กี่ปีเขาก็สามารถทำการวิจัยและพัฒนา (research and development : R&D) เพิ่มความสามารถทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้ชั่วข้ามทศวรรษเท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้น สิ่งที่ขับเคลื่อนทำให้ประเทศเหล่านี้ตื่นก็คือ การมีนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เข้มแข้งและนำไปปฏิบัติได้จริง
ที่ผ่านมาปัญหาอย่างหนึ่งของกระทรวงวิทยาศาสตร์ คือการที่รัฐมนตรีซึ่งมาจากฝ่ายการเมืองอาจจะไม่เข้าใจการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อย่างเช่น รัฐบาลที่ผ่านมามีข้าราชการบางส่วนประท้วงด้วยการแต่งชุดดำ แต่พอมาถึงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ มีคนจากสายวิทยาศาสตร์เข้าไปร่วม 3-4 คน น่าจะเป็นนิมิตรหมายที่ดีหรือเปล่า
โดยส่วนตัวผมมองว่า ไม่เกี่ยวกับนักการเมืองจะจบสายไหนมา เป็นคนที่อยู่ในหรือนอกวงการวิทยาศาสตร์ เพราะคนที่เป็นรัฐมนตรีสามารถที่จะมาจากสารพัดภูมิหลังได้ แต่ตัวทัศนคติและการเปิดใจรับต่างหากที่สำคัญ การเปิดใจที่จะเรียนรู้งานของตัวเอง คือสิ่งสำคัญ ไม่มีอะไรการันตีว่าคนข้างในหรือคนข้างนอก อันไหนจะดีกว่ากัน ขึ้นอยู่กับทัศนะส่วนตัวหรือความเห็นของเขามากกว่า
ทีนี้ในส่วนที่ตั้งคำถาม ผมมองว่าบริบทของเมืองไทยยังมีช่องว่างระหว่างความเข้าใจของคนที่ทำงานการเมืองกับคนที่ทำงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีค่อนข้างจะสูงในระดับหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งก็คือกระทรวงวิทยาศาสตร์ถ้าพูดกันตรงๆ มันเป็นกระทรวงเกรดซี ถ้าเลือกได้ นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งหลายคนไม่ค่อยอยากมานั่งเป็นรัฐมนตรี แต่ก็ไม่ใช่ทุกคน นักการเมืองบางพรรคก็เป็นนักวิทยาศาสตร์ และเห็นมาแล้วว่าหลายท่านก็ทำงานได้ดี
ก็คงต้องรอดูว่า คนในวงการจะมีโอกาสนำเอาสิ่งที่เป็นปัญหาคอขวดในวงการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีของไทยเอามาปรับและแก้ไขให้ดีขึ้นได้หรือเปล่าในโอกาสที่เขาได้เข้าไปปฏิรูปในตอนนี้
ถ้ามองในมุมกลับ การนำคนที่เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีมาเป็นรัฐมนตรี จะมีข้อจำกัดหรือจะมีโอกาสติดกับดักของตัวเองไหมเมื่อเข้ามาทำงาน
ผู้ที่เข้ามาในรัฐบาลชุดนี้มีอะไรที่น่าสนใจมากกว่ารัฐบาลที่ผ่านมาในมุมของวงการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพราะมีคณะรัฐมนตรีอย่างน้อย 3 ท่าน มาจากสายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นรองนายกฯ ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ที่ดูแลด้านสังคม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษา กฤษณพงศ์ กีรติกร และรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ ซึ่งอยู่ในวงการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีของไทยมาหลายทศวรรษแล้ว
จะเห็นได้ว่า ถ้าเรามองน้ำหนักของ ค.ร.ม.ค่อนข้างจะบอกได้ว่า มีเทคโนแครตสายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีเยอะที่สุดเท่าที่เคยมี ค.ร.ม.มา ก็จะต้องคอยดูว่าจะมีโมเมนตัมของการเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหนอย่างไร
ที่ถามว่า จะมีจุดอ่อน-จุดด้อยของการที่มีคนมาจากในวงการ คงต้องมองว่าจุดแข็งคือ รู้ปัญหาอยู่แล้ว แต่จุดด้อยก็คือแรงกดดัน แต่ละท่านจะมีความสามารถในการเปลี่ยนแปลง มีความสามารถที่จะขจัดปัญหาคอขวดต่างๆ ที่เรารู้กันอยู่แล้วในวงการได้มากน้อยแค่ไหน ผมมองว่าเป็นแรงกดดันของผู้ที่มารับหน้าที่มากกว่า
ถ้าย้อนดูที่ตัวนโยบายด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ซึ่งมีทั้งหมด 5 ข้อ โดยภาพรวมแล้วมีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่เป็นนัยสำคัญไหม หรือว่าเป็นนโยบายที่ต่อเนื่องกันมา
ผมมองว่าเป็นนโยบายต่อเนื่องจากแผนแม่บทวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีแห่งชาติ ซึ่งจะล้อไปกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ของสภาพัฒน์ ประกาศใช้ประมาณปี 2555 ถ้ามองกรอบเวลาก็คือ 2555-2559
หลักการสำคัญก็คือ พยายามให้ความสำคัญต่อการเพิ่มการลงทุนในภาครัฐและเอกชนในการทำวิจัยและพัฒนา ที่เราพูดกันถึง GERD (Gross Expenditure Research and Development) หรือการลงทุนทำวิจัยและพัฒนาในภาครัฐและเอกชน ซึ่งไทยเราย่ำอยู่กับที่มาเป็นสิบๆ ปีแล้ว อยู่ที่ประมาณ 0.2 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ ตามแผนต้องการให้อยู่ที่ 1 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีในปี 2559 ก็ต้องมาดูว่าจะเพิ่มได้หรือเปล่าเป็น 5 เท่า อันนี้เป็นหัวใจสำคัญข้อที่ 1 เป็นนโยบายข้อแรกของรัฐบาลชุดนี้ในเรื่องวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม คือเพิ่มการลงทุนภาครัฐและเอกชนจาก 0.2 เปอร์เซ็นต์ไปเป็น 1 เปอร์เซ็นต์ ต้องดูว่าจะเพิ่มได้ในช่วงเวลาปีใด
อีกส่วนหนึ่งคือ ตอนนี้สัดส่วนการลงทุนวิจัยและพัฒนาจากภาครัฐและเอกชนอยู่ประมาณฝ่ายละครึ่ง รู้สึกว่าเอกชนจะลงทุนเยอะกว่ารัฐไปแล้ว นี่เป็นครั้งแรกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเด็นก็คือว่าเราจะเพิ่มอีก 20 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ ยังไงให้ภาครัฐหดเหลือ 30 เปอร์เซ็นต์ เอกชนเป็น 70 เปอร์เซ็นต์
เราก็ต้องมาดูที่พื้นฐานอุตสาหกรรมหลักๆ ของไทย ซึ่งเป็นเอกชนจากต่างชาติเยอะ ในช่วงสิบปีมีการย้ายแล็ปปฏิบัติการวิจัยและพัฒนา ย้ายวิศวกรอุปกรณ์และโครงสร้างการผลิต (Facilities Engineer) เข้ามาในเมืองไทยเยอะ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนตร์ อุตสาหกรรมอิเลคทรอนิคส์ มีอุตสาหกรรมใหม่ๆ งอกขึ้นมา ซึ่งก็ไม่ได้เยอะ เพราะฉะนั้น หนึ่ง ก็ต้องพึ่งผู้ลงทุนต่างชาติ สอง บริษัทขนาดใหญ่ของคนไทย เช่นที่เรารู้จักกันดีในกลุ่มอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ปิโตรเลียม และพวกอาหารเหล่านี้ เขาทำการวิจัยและพัฒนากันเยอะ
จะเห็นได้ว่า ธงนำของกลุ่มอุตสาหกรรมไทย คืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่ทำในเรื่องของการวิจัยและพัฒนาไปหมดแล้ว ก็เลยทำให้สัดส่วนมันเปลี่ยน ความท้าทายต่อไปก็คือ ทำยังไงให้บริษัทขนาดกลางเพิ่มสัดส่วนการทำวิจัยและพัฒนา ตรงนี้ต่างหากที่จะต้องตั้งโจทย์ ว่าทำยังไงให้คนที่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการทำวิจัยและพัฒนา เพิ่มการลงทุนได้
ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา เราไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการลงทุนเพื่อการทำวิจัยและพัฒนาให้ได้ถึงร้อยละ 1 เพราะอะไรเราจึงไปไม่ถึงเป้าหมาย
ต้องยอมรับว่า พัฒนาการของภาครัฐและเอกชนก็ล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด ภาครัฐบางปีก็ถูกตัดงบการวิจัยและพัฒนา มากน้อยก็แล้วแต่ ในภาคเอกชนผมมองว่าสัดส่วนการลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ว่าไม่ได้เพิ่มขึ้นจนผิดหูผิดตา จนสามารถที่จะทำอะไรได้ ในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่การที่งบการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้น คือการอัดฉีดเข้าไปจากภาครัฐ แล้วไปกระตุ้นเอกชนลงทุนเพิ่มโดยให้สิทธิพิเศษหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสิทธิพิเศษทางภาษี สิทธิในการเข้าถึงทำเลที่ดีในการตั้งโรงงาน การส่งออกการนำเข้า ความสะดวกสบายต่างๆ ที่ได้จากหน่วยงานรัฐ รวมทั้งการกู้เงิน
ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่ากระบวนการเพิ่มขึ้นของงบการวิจัยและพัฒนามันซับซ้อน บางทีเรายังพึ่งภาครัฐมากเกินไป เอกชนก็ยังไม่กล้าลงเต็มตัว จะมีก็แค่ไม่กี่เจ้า
ถ้าดูจากแนวโน้มการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ โอกาสที่จะเพิ่มงบวิจัยและพัฒนาก็ไม่น่าที่จะเป็นไปได้
มีนโยบายอยู่ข้อหนึ่งที่พูดเรื่องการจะทำให้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เข้าไปมีส่วนช่วยทำเมกะโปรเจกต์ต่างๆ อาจจะเป็นส่วนช่วยทางอ้อมที่ทำให้ GERD หรือการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของเมืองไทยเพิ่มขึ้น แต่ประเด็นคือ เมกะโปรเจกต์เหล่านี้ ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการในภาคเอกชนน่าจะเป็นคนไทยเยอะ ถ้าเป็นคนไทยเยอะก็มีความสามารถที่จะลงทุนทำวิจัยและพัฒนาเพื่อที่จะเอามาใช้กับโครงการใหญ่ๆ ของประเทศ ซึ่งโมเดลนี้ใช้ในเดนมาร์ก สวีเดน เยอรมัน ญี่ปุ่น อเมริกา คือรัฐมีโครงการขนาดใหญ่ รัฐไปผูกขนมกินกับเอกชนบางราย แล้วก็ได้งบประมาณจากรัฐไป อเมริกาคือต้นตำรับเลย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการทหาร
ถ้าเมืองไทยทำอย่างนี้ได้ แปลว่าเรากำลังเจริญรอยตามสิ่งที่ประเทศที่ ผมใช้คำว่า tier 1 คือประเทศที่เป็นผู้นำทำเมื่อประมาณปี ค.ศ.1960-1970
ของไทยเคยมีในลักษณะแบบนี้บ้างหรือยัง
ยังไม่มีโมเดลแบบนี้ คือพอมีเมกะโปรเจกต์แล้วมอบหมายให้เอกชนภายในประเทศไปทำ แล้วต้องพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเอง แบบนี้ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมเท่าไหร่ ถ้าทำได้ข้อ 4 ก็จะมีผล ผมยังมองว่าคงจะต้องถูกตั้งคำถามเรื่องธรรมาภิบาลด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีพอสมควร
มันจะคล้ายๆ กับรัฐบาลยุคที่มีการเลือกตั้งเข้ามา คือทำไมถึงให้บริษัทของคนนี้เข้ามาดำเนินการ มีความเกี่ยวข้องกันหรือเปล่า คือมันต้องโปร่งใสจริงๆ อันนี้ผมก็เป็นห่วงเหมือนกันว่ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของไทยไม่ได้กระตุ้น เขาเรียกว่าเป็น public procurement for innovation คือการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเพื่อกระตุ้นการทำนวัตกรรม พูดง่ายๆ คือเอาเงินภาครัฐไปใส่กระเป๋าเอกชนแล้วให้เอกชนภายในประเทศโต อันนี้เป็นสิ่งที่ทำกันหลายประเทศ
แต่ผมไม่แน่ใจว่าบริบทของเมืองไทยตอนนี้ เรื่องของการตรวจสอบ เรื่องทัศนคติของกลุ่มคนจะมองเป็นยังไงอันนี้ก็น่าสนใจ
โมเดลนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในเมืองไทย ?
โมเดลนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในเมืองไทย โดยเฉพาะในบริบทของเมกะโปรเจกต์ มันเกิดขึ้นในบางโครงการเล็กๆ ที่ไม่มีความต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นก็ไม่มี spillover effect
พอจะยกมาตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ที่มีโมเดลในลักษณะนี้ได้ไหม
อย่างกรณีของอินโดนีเซีย มาเลเซีย ก็มีความพยายามทำ อาจจะล้มลุกคลุกคลาน อาจจะไม่ประสบความสำเร็จมากขนาดหนัก ไม่เหมือนกับโมเดลในญี่ปุ่น สมมติว่ารัฐต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็จ่ายเงินลงไปให้บริษัทก่อสร้างญี่ปุ่นพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ และก็ต้องมาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ เช่น ปูนซีเมนต์เทคโนโลยีใหม่ สะพานเทคโนโลยีตัวใหม่ อุโมงค์ที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งสามารถเอาไปหากินกับประเทศอื่นๆ ได้ด้วยเช่นกัน อย่างสิงคโปร์น่าจะทำได้ ทำไปแล้วด้วยซ้ำ
แต่กรณีของไทยเป็นการนำเข้าเทคโนโลยีเข้ามาใช้โดยตรงมากกว่า ?
ที่ผ่านมาเป็นอย่างนั้น เท่าที่ดูตามนโยบายอันนี้มองเรื่องระบบขนส่ง โดยเฉพาะระบบราง ขนส่งยานยนต์ เรื่องของไฟฟ้า การบริหารจัดการน้ำ แต่ผมว่าสิ่งสำคัญที่น่าสนใจคือ เรื่องระบบรางกับระบบน้ำ
มองอีกแง่หนึ่ง ที่เป็นแบบนี้เพราะยังไม่เห็นว่าภาคเอกชนของเราที่มีศักยภาพพอที่จะเข้ามาร่วมกับรัฐในเมกะโปรเจกต์ด้วยหรือเปล่า
ผมว่าเอกชนไทยส่วนใหญ่มีความสามารถในการร่วมกับรัฐ และก็หาหุ้นส่วนทางด้านเทคโนโลยีเก่งๆ ได้ ประเด็นก็คือ เขามีความอยากที่จะพัฒนาเทคโนโลยียกระดับตัวเองมากแค่ไหน เพราะฉะนั้นรัฐต้องไปกระตุ้นบอกว่าถ้าคุณต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของเมกะโปรเจกต์ คุณจะต้องแลกด้วยความรู้ทางเทคโนโลยีที่คุณต้องพัฒนาเอง
ตรงนี้เป็นจุดที่น่าสนใจมากว่าจะทำได้มากน้อยแค่ไหน ผมว่าไม่ใช่เรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวแล้ว การถ่ายทอดทางเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่เราพยายามทำกันมา 30 กว่าปีแล้ว ก็ไม่ค่อยสำเร็จเท่าไหร่ แต่อันนี้เป็นเรื่องของการสร้างองค์ความรู้ความสามารถของบริษัทภายในประเทศ
กลับมาที่นโยบายข้อที่ 3 เรื่องการปฏิรูประบบ แรงจูงใจ ระเบียบ กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่างๆ มองตรงนี้ยังไง
ผมว่ามันก็ไม่ต่างจากด้านอุตสาหกรรม ด้านพาณิชย์ ก็คือคุณติดต่อกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีมันไม่ใช่ one stop service หรอก มันยุ่งยากไปหมด สมมติคุณอยากทำเรื่องนวัตกรรมก็ต้องไปหาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ต่ำว่า 3-4 หน่วยงาน อาจจะคุยกันคนละมุมแต่ช่วยในเรื่องเดียวกัน
เพราะฉะนั้น เรื่องของความชัดเจนในการแบ่งหน้าที่หน่วยงาน ในการปรับโครงสร้างกระทรวง และในส่วนของการปรับกฎเกณฑ์โดยเฉพาะแรงจูงใจทางด้านการเงินและภาษีน่าจะมีความชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของบริษัทที่เป็นธุรกิจเกิดใหม่ (Startup) กลุ่มบริษัทที่ตั้งใหม่ กลุ่มเอสเอ็มอีภาคต่างจังหวัดที่ไม่ได้อยู่ในศูนย์กลางอย่าง กทม.หรือปริมณฑล ผมว่ามีความสำคัญมาก เพราะจะเป็นแหล่งที่สร้างงาน และคนเรียนจบด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ไม่ต้องมา กทม.แต่ทำงานกับเอสเอ็มอีหรือธุรกิจเกิดใหม่ที่อยู่ตามต่างจังหวัด ก็จะทำให้เศรษฐกิจเมืองเติบโตด้วย อันนี้มีผลเยอะมากๆ
มันก็จะเชื่อมโยงไปข้อ 2 ที่พูดเรื่องการสร้างสังคมนวัตกรรม ซึ่งในนโยบายมอง 2 มุมก็คือ ต้องการส่งเสริมความสามารถในการเรียนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (Science-Technology-Engineering-Match: STEM) เพราะจะมีผลต่อการจัดอันดับว่าปีนี้การศึกษาของไทยเราตกไปอยู่อันดับ 8 ของอาเซียน ก็เพราะการเรียนการสอนเรื่องของ STEM บางส่วนด้วยเช่นกัน
ผมมองว่าในมิตินี้ก็คือ ทำให้เด็กมีศักยภาพและความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ ความคิดเชิงวิทยาศาสตร์ แต่จะเปิดโอกาสให้เด็กมีความสามารถในการประยุกต์เอาความรู้เหล่านั้นมาใช้กับชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดการทำนวัตกรรมเล็กๆ น้อยๆ อันนี้ยังเป็นความท้าทายของกระทรวงวิทยาศาสตร์ในเวลานี้ ว่าจะทำยังไงให้ต่อไปถึงนวัตกรรมได้
อีกส่วนหนึ่งมองเรื่องของการแพร่กระจายโอกาสทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปสู่ภูมิภาค อันนี้ก็สำคัญ เพราะเป็นจุดอ่อนของกระทรวงมาโดยตลอด ใช้คำว่ามี arm range ไปสู่ต่างจังหวัดค่อนข้างจะน้อย อย่างมากก็คือในจังหวัดที่เป็นจุดเชื่อมต่อซึ่งมีมหาวิทยาลัยอยู่ เพราะฉะนั้นจะเห็นว่ารัฐ คือกระทรวงวิทยาศาสตร์มีความสัมพันธ์ที่ดีมากต่อเนื่องมาตลอดกับมหาวิทยาลัยทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และเอกชนขนาดใหญ่ เขาเรียกว่า ‘สามเหลี่ยมวิจัย’ (research triangle) ก็ทำกันมาเป็นสิบๆ ปีแล้วก็ล้มลุกคลุกคลานเหมือนกันตอนนี้
นโยบายข้อสุดท้ายพูดถึงการจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อาจารย์มองนโยบายข้อนี้ยังไง
เหมือนกับว่า เมื่อคุณพยายามที่จะทำอะไรใหม่ๆ สิ่งที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพเดิมอาจจะต้องปรับเปลี่ยน คำถามคือจะปรับตรงไหน แล้วจะเพิ่มหรือเสริมตรงไหน มีการพูดตั้งห้องทดลอง ตั้งศูนย์วิเคราะห์ ตั้งสถาบันและศูนย์วิจัย
ผมมองว่าส่วนนี้เป็นฝั่งของต้นน้ำจนถึงกลางน้ำ แต่สิ่งที่ขาดเยอะตอนนี้คือ facilitating unit ในฝั่งปลายน้ำ เช่น จะทำให้เกิด open science เป็นวิทยาศาสตร์เปิดได้ยังไง สังคมจะเข้าถึงวิทยาศาสตร์ได้ยังไง การสื่อสารวิทยาศาสตร์สำคัญยังไง โครงสร้างเหล่านี้เหมือนกระทรวงเกรดซีในกระทรวงเกรดซี จะเห็นได้ว่านโยบายข้อนี้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างระบบที่มีผลโดยตรงกับนักวิจัย มีผลโดยตรงกับบริษัท แต่สิ่งที่จะทำให้เกิดสังคมความรู้ สังคมฐานดิจิตอลต่างๆ ที่รองนายกฯ ท่านหนึ่งพูดว่าประเทศไทยต้องทำเศรษฐกิจดิจิตอลแล้ว ก็คือทำให้สังคมเข้าถึงองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ได้ง่าย แล้วคนธรรมดาสามัญในสังคมสามารถเป็นนักวิทยาศาสตร์ได้โดยที่ไม่ต้องออกแรงเยอะ การเข้าถึงวิทยาศาสตร์ องค์ความรู้พวกนี้ต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติว่าคุณต้องทำปลายน้ำเยอะด้วยเช่นกัน
ในนโยบายข้อที่ 5 ดูเหมือนจะขาดเรื่องการปฏิสัมพันธ์กับสังคม แต่เราก็มีพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์อยู่ตามจุดต่างๆ อยู่แล้ว แบบนี้ถือว่าใช่หรือเปล่า
มันต้องทำมากกว่านั้น ผมถึงบอกว่ายังทำปลายน้ำไม่พอ กลางน้ำเรามีค่อนข้างเยอะ เรามีศูนย์แห่งชาติ อย่างศูนย์เทียบวัด แต่อาจจะไม่พอ เห็นด้วยว่าจะต้องมีการพัฒนาเพิ่มให้กับเอกชนรายย่อย แต่มันจบที่เอกชนไง
พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ก็เป็นอะไรที่ตอบโจทย์ได้ระดับหนึ่ง คนธรรมดาทั่วไปอย่างมากก็รู้จักรายการ Mega clever ฉลาดสุดๆ คือต้องทำให้คนในสังคมชินชากับองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ชินชากับการที่เราสามารถหาความรู้ที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์ที่ไปตอบโต้กับสิ่งที่เป็นวิทยาศาสตร์เทียม (pseudoscience) ได้ดี ใช้ชีวิต 24 ชั่วโมงบนพื้นฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ความรู้ด้านวิศวกรรม ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ
สิ่งเหล่านี้จะช่วยทำให้เกิดความต้องการใหม่ๆ ในสังคม คนรู้สึกว่าวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของเราจริงๆ ถ้าเช่นนั้นจะไปตอบคำถามข้ออื่นและจะช่วยได้เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลงการทุนวิจัยและพัฒนา ตลาดที่ต้องใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีในประเทศ เมกะโปรเจกต์
เพราะคนในสังคมเริ่มใกล้ชิดกับข้อมูลเหล่านั้นมากขึ้น จะเห็นได้ว่าตัวนโยบายน่าจะเขยิบไปอีกนิดหนึ่ง ขยายออกไปสู่ภาคสังคม แล้วก็มีปฏิสัมพันธ์ 2 ทางกับคนทั่วไปบ้าง
ถ้าดูนโยบาย 5 ข้อจากสายตาของคนที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงวิทยาศาสตร์ อาจจะเห็นว่าเป็นนโยบายที่คืบไปข้างหน้า แต่คำถามใหญ่คือทำไม 30 ปีที่แล้วเกาหลีมาเรียนจากเรา แต่ถึงวันนี้เกาหลีทิ้งห่างไปไกลจากเรามาก เรามีข้อผิดพลาดอะไรกับนโยบายที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง
มันมองเป็น 2 ชั้นเหมือนชั้นของขนมเค้ก คือความคิดและการกระทำของคนที่อยู่ในวงการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีมีความต่อเนื่องมาตลอด คือเวลาต้องการแก้ปัญหาใดๆ เขาก็แก้กันมาตลอด นโยบายเป็นเหมือนกระจกเงาก็สะท้อนปัญหามาตลอด แต่การลงมือปฏิบัติต่างหาก
อันนี้ต้องมองว่าระดับนโยบายที่สูงกว่า คือคนที่ตัดสินใจบางทีไม่ได้เอาสิ่งที่เป็นนโยบายดีๆ ไปทำ นี่เป็นข้อสังเกตข้อแรกก็คือ รัฐบาลแต่ละรัฐบาลที่เข้ามา ถึงเวลาให้ความสำคัญในเรื่องอื่นไปเสียแล้ว วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีดูเหมือนจะทำๆ แต่ถึงเวลาก็ไป มันก็ไม่มีความต่อเนื่องในระดับรัฐบาล แต่มีความต่อเนื่องเชิงนโยบายกับความต่อเนื่องของคนที่อยู่ในวงการ อาจจะไม่ชัดเท่ากับวงการสาธารณสุข เพราะมีผลกระทบโดยตรงกับสังคมไทยอย่างเห็นได้ชัดกว่าวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี
อย่างกรณีประเทศเกาหลีที่ยกตัวอย่างมา คือเขาทำจริงๆ เขามองว่าวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีคือตัวที่เปลี่ยนประเทศของเขา เป็นเรื่องของการจัดทำลำดับความสำคัญด้วย
อาจารย์บอกว่าเราเน้นการทำวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีมากกว่านวัตกรรม ตรงนี้มีส่วนมากน้อยแค่ไหน
ผมมองว่ามันเป็น deadlock คนในวงการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ส่วนใหญ่จะอยู่ห้องทดลองในมหาวิทยาลัย คนส่วนน้อยก็อาจจะเคยอยู่ในสถาบันเหล่านี้ แล้วก็ไปตั้งบริษัท เอกชนก็จะมีเทคโนโลยีที่เข้ามาจากข้างนอกของเขาเอง ซื้อมาบ้าง ทำเองบ้าง มีความเชื่อมโยงในระดับที่สูงบ้าง ต่ำบ้าง กระเพื่อมมาตลลอด
เพราะฉะนั้น เวลาเราพูดถึงนวัตกรรมซึ่งมันคือปลายน้ำแล้ว เป็นเรื่องของตลาด เรื่องของสังคม ซึ่งโดยปรกติแล้วนักวิจัยจะจบตรงที่การได้ผลงานวิจัย แล้วเอาไปให้เอกชนทำต่อ บางทีเอกชนบอกว่ารอไม่ไหว ก็ไปหาองค์ความรู้ที่อื่น เพราะฉะนั้นมีความอ่อนแอในสะพานตัวนี้อยู่พอสมควร
ดังนั้น เวลาเราพูดถึงนโยบายนวัตกรรม บางทีค่อนข้างที่จะกว้างมาก หรือไม่ก็แคบไปเลย คือหมายถึงแค่นวัตกรรมที่มาจากห้องทดลองที่มาจากเทคโนโลยี
อย่างประเทศเกาหลีที่อาจารย์ยกมาเป็นอย่าง เขามาสามารถยกระดับตัวเองขึ้นมาได้ ตัวคนที่มาดูนโยบายต้องมาจากสายวิทยาศาสตร์ไหม
ผสมกัน เป็นทั้งคนที่มาจากสายวิทยาศาสตร์ สายวิศวกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ยังมีเลย นักอนาคตศาสตร์ก็มี แล้วก็มีหน่วยงานที่ทำนโยบาย เป็นเหมือนตัวกลางที่เชื่อมระหว่างคนทำความรู้กับคนนำความรู้ไปใช้อย่างเป็นระบบ พูดง่ายๆ ยี่ปั๊วทางด้านองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีของเขาดี
ถ้าดูประเทศในอาเซียนโดยที่ตัดสิงคโปร์ออกไป พอจะมีประเทศไหนบ้างที่สามารถจะยกระดับตัวเองด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีได้
มีไทยกับมาเลเซีย ไม่ต่างกันเท่าไหร่ มาเลเซียอาจมีภาษีเหนือกว่าตรงที่รัฐบาลเขาอยู่มานาน และให้ความสำคัญทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อัดฉีดงบประมาณเข้าไปทั้งในมหาวิทยาลัย ทั้งในเรื่องห้องทดลองปฏิบัติการ ตอนนี้ของเขา 1 เปอร์เซ็นต์กว่าแล้วในการลงทุนทางด้านการวิจัยและพัฒนา
มีข้อสังเกตหรือว่าข้อกังวลอะไรไหมกับรัฐบาลนี้ หรือมีข้อเสนออะไรบ้างไหม
ผมก็อยากให้งบมันถึง 1 เปอร์เซ็นต์ตามสิ่งที่หวังไว้ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากอะไรก็ตาม การที่เรายกระดับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมด้วยการเพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาก็มีความจำเป็น พอมาถึงจุดที่ 1 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ 2 เปอร์เซ็นต์จะช่วยประเทศได้เยอะ ไม่ใช่ว่าน้อยเกินไป ตอนนี้มันไม่พอ เรากำลังพูดถึงพอดีกับขาด ผมว่าตอนนี้เรายังขาด คือทำให้มันพอดีซะ
ในส่วนเรื่องของสภาพแวดล้อมด้านนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องโอกาสของธุรกิจเกิดใหม่ ผมว่าประสบปัญหามากทีเดียวไม่ใช่ธุรกิจเกิดใหม่ในอุตสาหกรรมที่สามารถหาทุนในต่างประเทศได้ เป็นธุรกิจเกิดใหม่ที่จะต้องหากินจากตลาดในประเทศ
อันนี้มีความสำคัญมาก เพราะว่าเศรษฐกิจใหม่จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจภายในประเทศถูกยกระดับด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ไม่ใช่จากการที่เราบริโภคเพียงอย่างเดียว อย่างญี่ปุ่น เกาหลี อเมริกาที่เขาโตไปได้อีกวงรอบหนึ่ง ทุกครั้งมักจะมาจากการที่เขามีบริษัทใหม่ๆ เข้าไปเปลี่ยนกฎในตลาดของเขา
ทีนี้คนที่เข้าไปเปลี่ยนกฎในตลาด มักจะมากับนวัตกรรมใหม่ที่ไปฆ่านวัตกรรมเดิม ซึ่งร้อยละ 80-90 เป็นนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยี มันเป็นเรื่องของไอเดีย คุณสามารถที่จะเอาเทคโนโลยีเหล่านี้ไปใช้ได้อย่างเป็นระบบและเร็วแค่ไหน
แต่เมืองไทยเรายังต้องพัฒนาเยอะในส่วนของเอกชนด้วย เพราะเอกชนส่วนใหญ่ที่เป็นเอสเอ็มอีหรือบริษัทขนาดใหญ่ ยังดำเนินธุรกิจแบบดั้งเดิม ในขณะที่ธุรกิจเกิดใหม่ก็โดดเดี่ยวตัวเองออกจากกระบวนการทั้งระบบพอสมควรทีเดียว นโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมน่าจะเข้าไปช่วยกลุ่มนี้เยอะๆ โดยเฉพาะอีกส่วนหนึ่งคือเรื่องของสังคม คนที่อยู่ในความยากจน คนที่ด้อยโอกาส คนแก่ คนพิการ จะเป็นตัวที่กระตุ้นการใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีได้เป็นอย่างดีเลย
นโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ที่มา mof.go.th
8. การพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม
รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการวิจัย การพัฒนาต่อยอดและการสร้างนวัตกรรมเพื่อนำไปสู่การผลิตและบริการที่ทันสมัยดังนี้
8.1 สนับสนุนการเพิ่มค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาของประเทศเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายให้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 1 ของรายได้ประชาชาติ และมีสัดส่วนรัฐต่อเอกชน 30:70 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขันและมีความก้าวหน้าทัดเทียมกับประเทศอื่นที่มีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกัน และจัดระบบบริหารงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรมให้มีเอกภาพและประสิทธิภาพ โดยให้มีความเชื่อมโยงกับภาคเอกชน
8.2 เร่งเสริมสร้างสังคมนวัตกรรม โดยส่งเสริมระบบการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงระหว่างวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ การผลิตกำลังคนในสาขาที่ขาดแคลน การเชื่อมโยงระหว่างการเรียนรู้กับการทำงาน การให้บุคลากรด้านการวิจัยของภาครัฐสามารถไปทำงานในภาคเอกชน และการให้อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมมีช่องทางได้เทคโนโลยีโดยความร่วมมือจากหน่วยงานและสถานศึกษาภาครัฐ
8.3 ปฏิรูประบบการให้สิ่งจูงใจ ระเบียบและกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการนำงานวิจัยและพัฒนาไปต่อยอดหรือใช้ประโยชน์ รวมทั้งส่งเสริมการจัดท้าแผนพัฒนาการวิจัยและพัฒนาในระดับภาคหรือกลุ่มจังหวัดเพื่อให้ตรงกับความต้องการของท้องถิ่น ผลักดันงานวิจัยและพัฒนาไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย หน่วยงานวิจัยของรัฐ และภาคเอกชน
8.4 ส่งเสริมให้โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของประเทศ เช่น ด้านพลังงานสะอาด ระบบราง ยานยนต์ ไฟฟ้า การจัดการน้ำและขยะ ใช้ประโยชน์จากผลการศึกษาวิจัยและพัฒนาและนวัตกรรมของไทยตามความเหมาะสม ไม่เพียงแต่จะใช้เทคโนโลยีจากต่างประเทศ ส่งเสริมการใช้เครื่องมือ วัสดุ และสินค้าอื่นๆ ที่เป็นผลจากการวิจัยและพัฒนาภายในประเทศในวงกว้าง โดยจัดให้มีนโยบายจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐที่เอื้ออ้านวย เพื่อสร้างโอกาสการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศ ในกรณีที่จำเป็นจะต้องจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีจากต่างประเทศจะให้มีเงื่อนไขการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อให้สามารถพึ่งตนเองได้ในอนาคตด้วย
8.5 ปรับปรุงและจัดเตรียมให้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านการวิจัยและพัฒนา และด้านนวัตกรรมซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาที่สำคัญในการต่อยอดสู่การใช้เชิงพาณิชย์ของภาคอุตสาหกรรมให้มีความพร้อม ทันสมัย และกระจายในพื้นที่ต่างๆ เช่น การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ การตั้งศูนย์วิเคราะห์ ห้องปฏิบัติการสถาบัน และศูนย์วิจัย เป็นต้น