ข่าวการเสียชีวิตของดาราผู้มักได้รับบทตลกขบขันอย่างโรบิน วิลเลียมส์ ระบุว่าเขามี 'โรคซึมเศร้า'ซึ่งเว็บไซต์วิทยาศาสตร์เปิดเผยว่าโรคนี้ไม่ใช่แค่อารมณ์เศร้าเสียใจทั่วๆ ไป บางคนอาจจะแสดงออกปกติหรือตลกขบขัน แต่ไม่มีใครรู้ว่าภายในซ่อนอาการของโรคไว้ซึ่งบางครั้งก็มาจากสาเหตุทางกายภาพอย่างเช่นสารเคมีในสมอง หรือมีสาเหตุอื่นๆ ด้านสังคม
ภาพสุดท้ายที่วิลเลียมส์อัพลงอินสตาแกรม
12 ส.ค. 2557 จากกรณีที่โรบิน วิลเลียมส์ ดาราชื่อดังของฮอลลิวูดเสียชีวิตเมื่อช่วงบ่ายวันอาทิตย์ที่ผ่านมาตามเวลาของสหรัฐฯ ทีมสืบสวนเชื่อว่าเขาเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายด้วยการแขวนคอตัวเอง อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ชันสูตรยังต้องผ่านขั้นตอนการตรวจหาสารพิษก่อนรายงานผลขั้นสุดท้าย
ตัวแทนของวิลเลียมส์กล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสื่อเอนเตอร์เทนเมนต์วีคลีย์ว่า ช่วงไม่นานมานี้วิลเลียมส์ต้องต่อสู้กับโรคซึมเศร้าหรือ Depression ซึ่งเป็นโรคที่ชาวอเมริกันฯ เป็นกันมากตามข้อมูลของสถาบันสุขภาพจิตของสหรัฐฯ โดยจากการสำรวจในปี 2555 มีประชากรวัยผู้ใหญ่ราว 16 ล้านคนเคยผ่านช่วงภาวะซึมเศร้าอย่างหนัก หรือมีอาการแบบโรคซึมเศร้า
แต่คนจำนวนมากยังเข้าใจโรคซึมเศร้าผิดไปและคิดว่ามันเป็นอาการเดียวกับอารมณ์เศร้าหรือ sadness โดยสตีเฟน อิลาดี อาจารย์ด้านจิตวิทยาคลินิกจากมหาวิทยาลัยแคนซัสกล่าวว่า ผู้คนมักจะพูดถึง 'โรคซึมเศร้า'ในชีวิตประจำวันแต่มักจะหมายถึงอารมณ์เศร้าทั่วไปมากกว่าสิ่งที่ร้ายแรงกว่านั้น
เว็บไซต์ไลฟ์ไซเอนซ์ระบุถึงเกร็ดความรู้เรื่องโรคซึมเศร้าเอาไว้ดังนี้ แม้ว่าโรคซึมเศร้าจะเกิดได้กับคนทุกช่วงวัยแต่ค่าเฉลี่ยมาตรฐานของผู้เป็นโรคซึมเศร้าอยู่ที่ 32.5 ปีจากการสำรวจของวิทยาลัยการแพทย์เซนต์หลุยส์มหาวิทยาลัยวอชิงตัน โรคซึมเศร้ามักพบในหญิงมากกว่าชาย แต่อาการของโรคในผู้ชายมักจะหนักกว่าและมีการพยายามหลีกเลี่ยงอารมณ์เศร้าของตัวเองมากกว่า
นอกจากนี้ผู้ชายที่เป็นโรคซึมเศร้ามักจะปกปิดอาการไม่ให้เห็นมากกว่า ทำให้มักจะไม่มีใครสังเกต นอกจากนี้ผู้ชายยังมีสถิติฆ่าตัวตายจากอาการของโรคนี้มากกว่าผู้หญิง เนื่องจากมักไม่ได้รับการตรวจโรคและรับการรักษา
โรคซึมเศร้าเป็นมากกว่าแค่อารมณ์เศร้า บางครั้งผู้ที่เป็นโรคอาจจะแสดงออกภายนอกร่าเริงหรือดูเหมือนคนอารมณ์ปกติทั่วไป อาการของโรคซึมเศร้า ได้แก่ การสูญเสียความสนใจหรือความปรารถนาจะปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน กระสับกระส่าย ฉุนเฉียวง่าย มีความต้องการทางเพศลดลง สมาธิลดลง มีอาการนอนไม่หลับหรือนอนหลับมากเกินไป มีความรู้สึกเหนื่อยล้าเป็นเวลานาน ในแง่จิตใจจะมีความรู้สึกสิ้นหวัง เห็นคุณค่าในตัวเองต่ำ หลีกเลี่ยงการเข้าสังคมหรือการปฏิบัติกิจวัตรทั่วไป ในรายที่เห็นหนักอาจจะมีอาการประสาทหลอนร่วมด้วย
สมาคมจิตวิทยาสหรัฐฯ ระบุว่า การที่คนเข้าใจโรคนี้ผิดและมีความเชื่อแบบปักใจในเรื่องนี้ทำให้หลายคนไม่คิดหาทางช่วยเหลือ โดยอาการกังวลและความรู้สึกโดดเดี่ยวซึ่งไม่ได้แสดงออกมาอาจจะทำให้อาการแย่ลงกว่าเดิม
สาเหตุการเกิดโรคซึมเศร้าไม่ได้มีที่มาจากทางด้านสังคมแต่อย่างเดียว แต่อาจจะมาจากในระดับชีววิทยา เช่น สารเคมีในสมองขาดสมดุลซึ่งมีสมมติฐานว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมด้วย บางครั้งอาจจะมาจากอาการป่วย เช่น โรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย มะเร็ง อาการเจ็บปวดเป็นระยะเวลานาน และอาการป่วยอื่นๆ นอกจากนี้ สตรีที่เพิ่งให้กำเนิดบุตรหรืออยู่ในช่วงวัยหมดระดูก็อาจจะมีอาการของโรคซึมเศร้าเนื่องจากฮอร์โมนในร่างกาย การใช้ยาชาหรือยาความดันโลหิตสูงก็เกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้าเช่นกัน
ในแง่สาเหตุด้านสังคมจะมาจากการเคยมีประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก ภาวะว่างงาน การสูญเสียคนที่รัก ปัญหาการเงิน การหย่าร้าง หรือหลายๆ ปัจจัยรวมกัน
ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าและไม่ได้รับการรักษาอาจสร้างปัญหาต่อชีวิตตนเองได้ทั้งเรื่องการใช้ยาเสพติด มีอาการวิตกกังวล มีความยากลำบากในการทำงานหรือการเรียน จนถึงขั้นคิดฆ่าตัวตาย
ก่อนหน้านี้โรบิน วิลเลียมส์ เคยกล่าวติดตลกเกี่ยวกับการติดสุราและยาเสพติดของตัวเอง ช่วงไม่นานมานี้เขาต้องกลับเข้าศูนย์ฟื้นฟูเพื่อ "แก้ไข"อาการติดสุรา
ซูซาน ชไนเดอร์ ภรรยาของวิลเลียมส์กล่าวว่าเธอเสียใจเป็นที่สุดต่อการจากไปของวิลเลียมส์และขอให้สื่อเคารพความเป็นส่วนตัวของครอบครัวเธอในช่วงเวลานี้
"ในฐานะที่เขาจะเป็นที่จดจำ พวกเราหวังว่าจะไม่เน้นจดจำการเสียชีวิตของโรบิน แต่ขอให้จดจำช่วงเวลานับไม่ถ้วนที่เขาได้สร้างความสนุกสนานและเสียงหัวเราะให้กับคนนับล้าน"ชไนเดอร์กล่าว
โรบิน วิลเลียมส์ เป็นดาราที่เคยได้รับบทบาทนำในเรื่อง 'ครูครับ เราจะสู้เพื่อฝัน' (Dead Poets Society), 'จูแมนจี้ เกมดูดโลกมหัศจรรย์' (Jumanji), 'พลังรักข้ามขอบฟ้า ตามรักถึงสวรรค์' (What Dreams May Come) และงานพากย์เสียงภาพยนตร์การ์ตูนอีกหลายเรื่อง
เรียบเรียงจาก
Robin Williams death: Police confirm suicide, BBC, 12-08-2014
http://www.bbc.com/news/entertainment-arts-28765693
Robin Williams' Death: The Difference Between Depression & Normal Sadness, Livescience, 11-08-2014
http://www.livescience.com/47302-robin-williams-death-depression-sadness.html
Depression: Causes, Symptoms and Treatments, 27-05-2013
http://www.livescience.com/34718-depression-treatment-psychotherapy-anti-depressants.html
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
http://en.wikipedia.org/wiki/Robin_Williams