วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดโครงการ “ค่ายนักเขียนแนวสตรีนิยม” แนะวิธีการเขียนแบบสตรีนิยมเพื่อวิพากษ์สังคมชายเป็นใหญ่
เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2557 วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดโครงการ“ค่ายนักเขียนแนวสตรีนิยม ครั้งที่ 1”โดยในช่วงเช้ามีการบรรยาย “การเขียน การวิจารณ์ในแนวสตรีนิยม” โดยมีผู้บรรยายคือ ธาริตา อิทนาม อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ธาริตากล่าวว่า กระแสสตรีนิยม หรือการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีมีประวัติศาสตร์ พัฒนาการที่ยาวนาน และหลากหลาย โดยเรามักจะแบ่งกระแสสตรีนิยมออกเป็น 3 กระแส สตรีนิยมที่เกิดขึ้นกระแสแรก หรือคลื่นลูกที่หนึ่งเกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 17-19 โดยเป็นการเรียกร้องสิทธิของผู้หญิงให้มีความเท่าเทียมกับผู้ชาย ด้วยความเชื่อที่ว่าผู้หญิงโดยธรรมชาตินั้นมีศักดิ์ศรีความเป็นคนเท่าเทียมกับผู้ชาย แต่ถูกโครงสร้างทางสังคมไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย หรือจารีตประเพณีทำให้ผู้หญิงดูอ่อนแอกว่าผู้ชาย การเรียกร้องสิทธิสตรีในยุคนี้จึงกระทำผ่านการเรียกร้องให้ผู้หญิงได้รับการศึกษา และสิทธิในเลือกตั้งเท่าเทียมกับผู้ชาย
งานเขียนที่มีอิทธิพลมากในช่วงเวลาดังกล่าวคือ “คำประกาศอิสรภาพของผู้หญิง” ของแมรี่ โวลสโตนคราฟต์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศในสังคมยุโรป
คลื่นสตรีนิยมลูกที่สอง เกิดขึ้นในช่วงปี 1960-1980 สตรีนิยมในยุคนี้เริ่มตระหนักในข้อเท็จจริงที่ว่าผู้หญิงแตกต่างจากผู้ชายโดยธรรมชาติ เช่น ผู้หญิงมีมดลูก ผู้หญิงต้องอุ้มท้อง ผู้หญิงต้องมีประจำเดือน การเรียกร้องแค่ความเท่าเทียมกับผู้ชายอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอ สตรีนิยมในยุคนี้จึงมุ่งเรียกร้องสิทธิของผู้หญิงที่ผู้ชายละเลยและไม่สามารถเข้าใจได้ เช่น สิทธิในการทำแท้ง สิทธิในการคุมกำเนิด ซึ่งเป็นการต่อสู้กับศาสนาอย่างชัดเจน เพราะศาสนาเป็นสิ่งที่ขวางกั้นไม่ให้ผู้หญิงสามารถมีเสรีภาพบนเรือนร่างของตัวเองได้
นอกจากนี้คลื่นลูกที่สองยังพยายามตั้งคำถามกับความเป็นหญิง (femininity) และแนวคิดเรื่องสังคมชายเป็นใหญ่ (Patriarchal society) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างความไม่เท่าเทียมทางเพศ หน้าที่ของผู้หญิงคือต้องทำงานบ้าน และรับหน้าที่ในการสืบพันธุ์ ในขณะที่หน้าที่ของผู้ชายคือออกไปทำงานนอกบ้านเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ได้รับการยอมรับจากสังคม แนวคิดดังกล่าวนำไปสู่ทฤษฎีที่ว่าเพศสภาวะ (gender) เป็นสิ่งที่ถูกประกอบสร้างทางสังคม เช่น การซื้อของเล่นให้ลูก เราจะเห็นความแตกต่างกันอย่างชัดเจน เด็กผู้หญิงต้องใช้ของสีชมพู เล่นตุ๊กตา ในขณะที่ลูกผู้ชายเล่นรถแข่ง หุ่นยนต์ พ่อแม่ทุกคนซื้อของเล่นเหล่านี้เตรียมไว้ให้ลูกก่อนลูกจะเกิดเสียด้วยซ้ำ การศึกษาก็มีส่วนร่วมในการสร้างความเป็นหญิง แม้ผู้หญิงในยุคนี้จะได้รับโอกาสทางการศึกษามากขึ้นจริง แต่การศึกษาของผู้หญิงกลับเป็นการฝึกให้ผู้หญิงกลายเป็นแม่บ้าน เช่น ทักษะในการทำครัว เย็บปักทักร้อย การทำบัญชี ในขณะที่ผู้ชายสามารถศึกษาความรู้ที่จะนำไปใช้ประกอบวิชาชีพได้
งานเขียนที่มีอิทธิพลในยุคนี้คือของซีโมน เดอ โบวัวร์ เรื่อง The Second Sex ที่มองว่าผู้หญิงไม่ได้เกิดมาเป็นผู้หญิงแต่ถูกทำให้กลายเป็นหญิง
คลื่นสตรีนิยมลูกที่สามเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1980-ปัจจุบัน สตรีนิยมในยุคนี้ปฏิเสธแนวคิดเรื่องเพศสภาวะ และรับแนวคิดเรื่องความหลากหลายทางเพศเข้ามา โดยเชื่อว่าเพศไม่มีความตายตัว สิ่งที่สตรีนิยมกระแสที่ผ่านมาพยายามทำคือการสถาปนาคำนิยามเพศที่ตายตัว ทำให้โลกมีเพียงแค่ชายกับหญิงจนหลงลืมความหลากหลายทางเพศอื่นๆ เช่น เลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล ทรานสเจนเดอร์ (LGBT) หากอัตลักษณ์ทางเพศเป็นการประกอบสร้างทางสังคมจริง เพศก็ไม่ควรมีแค่ชายกับหญิง แนวคิดเรื่อง LGBT จึงเกิดขึ้น
สตรีนิยมในยุคนี้ยังตระหนักอีกด้วยว่าปัญหาของผู้หญิงไม่สามารถมีความเป็นสากลได้ ผู้หญิงจากต่าง วัฒนธรรม กลุ่มชาติพันธุ์และชนชั้นย่อมมีปัญหาแตกต่างจากสตรีผิวขาวชนชั้นกลางในยุโรป ซึ่งเป็นผู้วางแนวคิดให้กับสตรีนิยม 2 กระแสที่ผ่านมา ความเป็นหญิง (femininity) จึงไม่มีความเป็นสากล ผู้หญิงในแต่ละพื้นที่จำเป็นต้องเรียกร้องสิทธิที่แตกต่างกัน
นักคิดที่สำคัญในยุคนี้คือจูดิท บัทเลอร์ เธอยอมรับว่าความเป็นหญิงเป็นสิ่งประกอบสร้างทางสังคม แต่มันต้องมีความหลากหลาย เช่น สก๊อย พริตตี้ เด็กไซด์ไลน์ ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องมีลักษณะที่ตายตัว แต่เราแสดงออกอย่างหลากหลายตามแต่โครงสร้างหรือสภาพแวดล้อมที่เราอาศัยอยู่ เช่น เราเป็นอาจารย์ในตอนกลางวัน พอกลางคืนเราอาจจะไปเป็นสก๊อยก็ได้ เพราะมันไม่มีแก่นมาบังคับให้เราต้องแสดงออกแบบใดแบบหนึ่งตลอดเวลา เราจึงควรทำลายคำว่าผู้หญิง/ผู้ชาย เพื่อทำให้เพศ และอัตลักษณ์ทางเพศเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
ในมุมของวรรณกรรมสตรีนิยม พัฒนาการของนักเขียนหญิงในโลกตะวันตกสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ช่วง งานเขียนของผู้หญิงเริ่มมีขึ้นในช่วงที่ผู้หญิงได้รับสิทธิทางการศึกษา ในยุคแรกคือช่วง Feminine phase (1840-80) ในยุคนี้ งานเขียนของผู้หญิงส่วนใหญ่เป็นการลอกขนบการเขียนแบบผู้ชาย บางทีผู้เขียนที่เป็นหญิงจำเป็นต้องใช้นามปากกาของผู้ชาย หรือบางครั้งก็ไม่ใส่ชื่อเลย เพราะสำนักพิมพ์รวมถึงผู้อ่านเชื่อว่าผู้ชายมีทักษะในการเขียนเก่งกว่าผู้หญิงเนื่องจากผู้หญิงด้อยการศึกษา ในยุคที่ 2 คือ Feminist phase (1880-1920) เป็นยุคที่ผู้หญิงเข้าถึงการศึกษามากขึ้น เริ่มเกิดการยอมรับในศักยภาพของผู้หญิง ผู้เขียนจึงสามารถแสดงตัวตนออกมาได้ ส่วนในยุคสุดท้ายคือ 3. Female phase (1920-ปัจจุบัน) เป็นยุคที่ผู้หญิงพัฒนาแนวการเขียนของตัวเอง หรือที่เรียกกันว่า “การเขียนของผู้หญิง”
งานเขียนเกี่ยวกับผู้หญิงในยุคแรกมักจะเป็นการบรรยายถึงชีวิตรักของผู้หญิงที่ต้องรอคอยชายหนุ่มมามอบความรักให้ ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในยุคนั้นที่ผู้หญิงไม่สามารถยืนได้ด้วยลำแข้งของตัวเอง เนื่องจากไม่สามารถครอบครองทรัพย์สินได้ จึงต้องรอให้ผู้ชายที่มีฐานะร่ำรวยมาช่วยดูแลในฐานะคู่ชีวิต จนในยุคต่อมาเริ่มมีนักเขียนสตรีที่เริ่มเห็นปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศในงานวรรณกรรม เช่น เวอร์จิเนีย วูล์ฟ ได้เขียนเรื่อง The Room of One’s Own ที่ชี้ให้เห็นว่าสภาพสังคมบีบให้ผู้หญิงไม่สามารถเติบโตมาเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงได้ นับจากนั้นมางานเขียนของผู้หญิงก็เริ่มมีมากขึ้น โดยส่วนใหญ่และมักจะเป็นการเขียนถึงเสียงของผู้หญิงที่ถูกทำให้เงียบลงในงานเขียนของผู้ชาย และมีส่วนช่วยในการสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความขัดแย้งทางวัฒนธรรม เช่น The Women Warrior ของ Maxine Hong Kingston ที่สะท้อนความลักลั่นของค่านิยมผู้หญิงที่ดีในวัฒนธรรมจีน กับวัฒนธรรมตะวันตก หรือ Persepolis ที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมในอิหร่าน
ในช่วงบ่าย เป็นกิจกรรมการบรรยายในหัวข้อ“การเขียนที่ชายขอบ ชายขอบของการเขียน” โดยชนิดา ชิตบัณฑิตย์ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยา และมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ชนิดากล่าวว่าพื้นที่ชายขอบ (Margin) มีความสำคัญเนื่องจากเป็นพื้นที่เปิดให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างถอนรากถอนโคน (radical critique) นักวรรณกรรมแนวหลังสมัยใหม่นิยมชื่อเบล ฮุ๊ค เป็นผู้ที่ให้ความสำคัญกับทางเลือกและตำแหน่งแห่งที่ทางสังคม (choice and location) เธอมองว่าตำแหน่งแห่งที่ของผู้เขียนมีความสำคัญ เพราะส่งผลต่อวิธีการมองโลกของผู้เขียน ทำให้ผู้เขียนเลือกที่จะต่อต้าน หรือสนับสนุนวัฒนธรรมกระแสหลักที่ครอบงำจิตใจอยู่ (colonizing mentality)
ยกตัวอย่างเช่นหากผู้เขียนเป็นหญิง และถูกกดขี่โดยสามี เธอย่อมเขียนงานที่แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของสังคมชายเป็นใหญ่ ในทางกลับกันหากผู้เขียนเป็นผู้ชายที่เป็นฝ่ายกดขี่ภรรยา เขาก็มีแนวโน้มที่จะเขียนงานที่สนับสนุนสังคมชายเป็นใหญ่ ซึ่งคนที่อยู่ตรงชายขอบของสังคมชายเป็นใหญ่ก็คือผู้หญิงผิวสี เพราะต้องประสบกับปัญหาซ้อนทับมากมายทั้งเรื่องเพศ เรื่องสีผิว เรื่องเศรษฐกิจ พวกเธอจึงเป็นส่วนล่างสุดของการกดขี่ในสังคมชายเป็นใหญ่ ซึ่งตัวเบล ฮุ๊คเองก็เป็นผู้หญิงผิวสีที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ เช่นกัน
การอ่านงานเขียนของผู้ที่อยู่ตรงชายขอบจึงมีส่วนสำคัญในการทำความเข้าใจโครงสร้างการกดขี่ของสังคม อย่างไรก็ตามกระบวนการเขียนที่ชายขอบก็เป็นสิ่งที่ยากมาก เพราะเราต้องบรรยายถึงประสบการณ์การการถูกกดขี่ของเรา นั่นหมายความว่าเราต้องเข้าไปเผชิญกับมันเสียก่อน เราถึงจะสามารถตีแผ่มันออกมาได้อย่างถอนรากถอนโคน ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นประสบการณ์ที่เจ็บปวด และไม่น่าจดจำ
การพูดหรือการเขียนถึงประสบการณ์ดังกล่าวก็จะยิ่งเป็นการตอกย้ำความเจ็บปวดดังกล่าวซ้ำมากขึ้นไปอีก คนส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะไม่พูด และถึงพูดไปก็มักจะไม่มีคนฟังเพราะมันเป็นสิ่งที่สังคมกระแสหลักรับไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่นคนส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยสนใจเรื่องราวการกดขี่ของผู้หญิงค้าบริการทางเพศ เพราะสังคมมีมุมมองในแง่ลบต่อผู้หญิงค้าบริการทางเพศอยู่แล้ว การเขียนที่ชายขอบจึงมีความยากและท้าทาย
อย่างไรก็ตามเบล ฮุ๊คมิได้มองว่ามีเพียงแค่คนที่ชายขอบอย่างเช่นผู้หญิงผิวสีเท่านั้นที่สามารถวิพากษ์โครงสร้างทางสังคมได้ คนทุกคนในสังคมล้วนถูกโครงสร้างทางสังคมกดขี่ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หน้าที่ของเราจึงไม่ใช่การพูดแทนคนอื่น แต่ต้องพูดถึงการกดขี่ในมุมมองของเราเอง ผู้ชายก็สามารถวิพากษ์ความไม่เป็นธรรมจากสังคมชายเป็นใหญ่ได้ผ่านมุมมองของผู้ชาย เช่นสังคมชายเป็นใหญ่บังคับให้ผู้ชายต้องทำงานและเล่นฟิตเนสอย่างหนักให้มีมัดกล้ามที่สวยงาม และเมื่อเรานำองค์ความรู้จากชายขอบหลายๆ แห่งมาแลกเปลี่ยนกัน เราก็จะเกิดองค์ความรู้ที่เป็นสากล สามารถตระหนักในปัญหาของผู้อื่นโดยที่ไม่หลงลืมรากเหง้าของตัวเราเอง
เบล ฮุ๊คยังเสนออีกว่านอกจากการเขียนที่ชายขอบจะเป็นสิ่งสำคัญแล้ว การทำความเข้าใจชายขอบของการเขียนก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน เบล ฮุ๊คมองว่าภาษา หรือวิธีการเขียนที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับความเป็นกลาง เหตุผลที่ปราศจากอารมณ์และอคติ ล้วนมีส่วนในการปิดกั้นมิให้คนที่ชายขอบสามารถบรรยายถึงการกดขี่ได้อย่างตรงไปตรงมา
การเขียนที่จะสะท้อนแง่มุมของการกดขี่ได้ดีจำเป็นต้องสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของผู้เขียน ณ ช่วงเวลาที่เขาถูกกดขี่ด้วย งานเขียนอย่างเช่นไดอารี่ หรือสมุดบันทึกจึงเป็นวรรณกรรมที่มีคุณค่า เพราะมันสะท้อนวิถีชีวิต และรูปแบการกดขี่ที่ผู้เขียนประสบในทุกมิติ คนส่วนใหญ่มักจะมองว่าการตีแผ่ดังกล่าวเป็นการเอาเรื่องส่วนตัวออกมาสู่สาธารณะ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เรื่องส่วนตัวล้วนแต่เป็นผลการทบจากการเมืองทั้งสิ้น (personal is political) เพราะการดำเนินชีวิตของเราในแต่ละวันไม่สามารถหลีกเลี่ยงค่านิยม หรือความคาดหวังทางสังคมไปได้เลย
ตัวอย่างวรรณกรรมของไทยที่ใช้วิธีการเขียนลักษณะนี้คือ “เอดส์ไดอารี่” ที่เป็นบันทึกในแต่ละวันของผู้หญิงคนหนึ่งที่ติดเชื้อเอชไอวี ทั้งๆ ที่เธอไม่เคยมีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศเลย หนังสือเล่มนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และมีส่วนทำให้ผู้อ่านเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อภาพลักษณ์ของผู้ป่วยเอดส์ว่าไม่จำเป็นต้องนอนรอความตายแต่เพียงอย่างเดียว โดยเขาสามารถใช้ชีวิตเหมือนคนปกติ และไม่ได้มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศแบบที่สังคมเข้าใจกัน