Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 18-24 มิ.ย. 2557

$
0
0
"ปณิธาน"เห็นด้วยกับการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย 
 
นายปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จัดระเบียบแรงงานต่างด้าวในประเทศว่า เรื่องการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่เคยมีมติ ครม.รับหลักการให้มีการจัดระเบียบตามข้อเสนอของสภาความมั่นคงแห่งชาติมาแล้ว และขณะนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ คสช.จะได้ดำเนินการให้เกิดความเรียบร้อย
 
นายปณิธาน กล่าวว่า ปัจจุบันมีแรงงานผิดกฎหมายอยู่ในประเทศไทยประมาณ 3 ล้านคน โดยกลุ่มที่เข้ามานานแล้วประมาณ 200,000 คนนั้นไม่ค่อยมีปัญหาอะไร กลุ่มที่เฝ้าระวังเป็นแรงงานจากพม่า ลาว เวียดนาม ประมาณ 2 ล้านคน รวมทั้งกลุ่มโรฮิงญา ซึ่งเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างมีปัญหา เข้าใจว่าเริ่มมีการเปิดให้ทยอยลงทะเบียนแสดงตัวตนเพื่อจดทะเบียนจัดระเบียบเข้าสู่ระบบปกติ ซึ่งจะทำให้แรงงานเหล่านี้ได้รับการคุ้มครองดูแลสิทธิขั้นพื้นฐาน และจะทำให้ภาพพจน์ของไทยในสายตาต่างชาติดีขึ้นในการดูแลแรงงาน
 
นายปณิธาน กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องปกติของการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว แต่จำเป็นที่จะต้องมีการสื่อสารกับต่างชาติทั้งประเทศต้นทางและนานาชาติเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน เพราะที่ผ่านมายังมีความเข้าใจผิดและเกิดการตื่นตระหนกอยู่ แต่เชื่อว่าจะสามารถดำเนินการได้สำเร็จ เพราะมีศักยภาพในการดำเนินการมากขึ้น เพราะมีสายบังคับบัญชาในเรื่องการดูแลพรมแดนและดูแลแรงงานชัดเจนขึ้น
 
“ผมเข้าใจว่า คสช.พยายามเร่งรัด กระตุ้นให้เอกอัครราชทูตชี้แจงทำความเข้าใจ และต้องสื่อสารให้ชัดเจนว่าไม่ใช่เป็นการกวาดล้างกดดันประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นการเอาเข้าระบบ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเข้าใจว่ามีอยู่ประมาณเกือบ 2 ล้านคน ต้องอาศัยความร่วมมือจากนายจ้างและประเทศต้นทางในการระบุตัวตน ซึ่งกระบวนการค่อนข้างจะซับซ้อน” นายปณิธาน กล่าว
 
อย่างไรก็ตาม นายปณิธาน กล่าวว่า น่าจะพลิกวิกฤติตรงนี้ให้เป็นโอกาส เอาแรงงานที่กลับไปแล้วกลับเข้ามาอยู่ระบบอย่างถูกกฎหมาย และใช้โอกาสนี้ชี้แจงกับต่างประเทศด้วยว่าเรากำลังจัดระเบียบใหม่ ถ้าทำได้จะเป็นโอกาสของประเทศไทย และทหารก็มีกำลังมาก สามารถจัดจุดตรวจ จุดลงทะเบียนได้
 
“นอกจากนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการลงทะเบียนแรงงานต่างด้าวคือเรื่องนายหน้า หรือมีเรื่องความไม่เข้าใจในการกรอกเอกสาร ซึ่งเคยเป็นช่องโหว่ในอดีตที่ต้องแก้ไขด้วย” นายปณิธาน กล่าว
 
(สำนักข่าวไทย, 14-6-2557)
 
ข้อมูลแรงงานต่างด้าวในไทยกว่า 2.3 ล้านคน
 
สำหรับข้อมูลล่าสุดของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน พบว่าแรงงานต่างด้าวที่ทำงานอยู่ในไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายในระบบของกรมการจัดหางาน มีทั้งหมด 2,304,700 คน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานพม่ามากที่สุด 1,736,740 คน รองลงมาเป็นแรงงานและกัมพูชา  
 
ขณะที่แรงงานต่างด้าวที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติแล้วมีจำนวน 1,824,508 คน ส่วนแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามบันทึกข้อตกลงระหว่างไทยกับประเทศต้นทาง หรือเอ็มโอยู มีจำนวน 373,880 คน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่นายจ้างยื่นบัญชีไว้รอการรับรองจากประเทศต้นทางอีกราว 160,000 คน
 
ส่วนแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบทำงานในกิจการประมง 22 จังหวัดของไทย  และนายจ้างได้นำมาจดทะเบียนให้เป็นแรงงานที่ถูกต้องในช่วงกลางปี 56 ถึงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มียอดเพียง 12,624 คนเท่านั้น ประมาณการว่ามีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายอยู่อีกถึง 2 ล้านคน
 
(สำนักข่าวไทย, 18-6-2557)
 
กองทุนสงเคราะห์ควักเพิ่ม 7.4 ล.บาทจ่ายชดเชยลูกจ้างสหฟาร์ม
 
นายพานิช จิตรแจ้ง อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าในการจ่ายเงินสงเคราะห์ลูกจ้าง เครือบริษัท สหฟาร์ม ว่า การประชุมคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างครั้งที่ 7/2557 ประจำเดือนมิถุนายน ได้พิจารณาและมีมติให้จ่ายเงินสงเคราะห์ลูกจ้าง ให้แก่ลูกจ้างบริษัทเครือสหฟาร์มที่ขอรับเงินสงเคราะห์ จำนวน 604 ราย จาก 12 บริษัท ได้แก่ จังหวัดกรุงเทพมหานคร บริษัท ฟู้ด ฟอร์ เดอะ เวิล์ด 1 ราย จำนวน 17,160 บาท บริษัท สหฟาร์มจำกัด 1 ราย จำนวน 18,000 บาท บริษัทไทย สแครทีจิคแคปปิตอล 1 ราย จำนวน 18,000 บาท จังหวัดพะเยา บริษัท เชียงคำเครื่องหนัง จำกัด 188 ราย จำนวนเงิน 3,194,713.43 บาท จังหวัดลำพูน บริษัท ไทย โจเอดชุ อิเล็คทริคคอร์ปอเรชั่น จำกัด 233 ราย จำนวนเงิน 1,790,558 บาท จังหวัดลพบุรี บริษัท สหฟาร์ม จำกัด 49 ราย เป็นจำนวนเงิน 833,401 บาท บริษัท โกลเด้น ไลน์ บิซิเนส จำกัด 17 ราย จำนวนเงิน 284,804 บาท จังหวัด จังหวัดนครปฐม บริษัท ไทย.โอ.การ์ดเซอร์วิสเซ็นเตอร์ จำกัด 2 ราย จำนวน 36,000 บาท จังหวัดปราจีนบุรี บริษัท พี.เอช.ฟุตแวร์ จำกัด 88 ราย จำนวน 1,097,403 บาท บริษัท สหฟาร์ม จำกัด 1 ราย จำนวน 18,000 บาท จังหวัดนครราชสีมา บริษัท ชิงธง จำกัด 8 ราย จำนวน 96,977 บาท จังหวัดมหาสารคาม ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.กิตตินันท์ จำกัด 15 ราย จำนวน 59,000 บาท รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 7,464,016.43 บาท
       
ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2556 - พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมามีการจ่ายเงินจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างให้แก่ลูกจ้างในเครือสหฟาร์มไปแล้วจำนวน 2,700 ราย คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 44,165,418 บาท
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 19-6-2557)
 
สหภาพฯ ยื่นหนังสือ “ปนัดดา” เสนอให้ อสมท เป็นองค์กรต้นแบบปราบโกง
 
(20 มิ.ย.) นายสุวิทย์ มิ่งมล ประธานสหภาพแรงงานบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) พร้อมสมาชิกสภภาพฯประมาณ 20 คน เดินทางเข้ายื่นหนังสือและสนับสนุนนโยบายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นต่อ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติหน้าที่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
       
นายสุวิทย์กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการ บมจ.อสมท ได้ทยอยลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งตามขั้นตอนจะต้องมีการสรรหาคณะกรรมการเข้ามาแทนตำแหน่งที่ว่างซึ่ง พนักงาน อสมท ทุกระดับได้มีการระดมความเห็นผ่านเวทีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.อสมท และประชาคม MCOT และมีฉันทามติเป็นเอกฉันท์ยืนหนังสือและหารือต่อ ม.ล.ปนัดดา ในฐานะที่กำกับดูแล บมจ.อสมท
       
ทั้งนี้ สหภาพพนักงาน อสมท มีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุน คสช.ในการพิจารณาส่งคณะกรรมการบริษัทชุดใหม่ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาบริหารงานแทนคณะกรรมการชุดเก่า และพนักงานมีมติเอกฉันท์เรียกร้องให้คณะกรรมการชุดเก่าลาออกจากตำแหน่งทั้งหมดโดยเร็ว เนื่องจากไม่สามารถตัดสินใจปัญหาโครงข่ายโทรทัศน์ดิจิตอลฯ ได้ และยืดเยื้อจนทำให้ บมจ.อสมท เกิดความเสียหาย ต้องดำเนินการเช่าอุปกรณ์โครงข่ายเกือบ 8 ล้านบาท
       
นายสุวิทย์กล่าวว่า พนักงาน อสมท ทราบว่า คสช.และปฎิบัติหน้าที่ปลัดสำนักนากรัฐมนตรี มีนโยบายเร่งปราบปรามการทุจริต โดยขอสนับสนุนนโยบายดังกล่าวและมีมติเป็นเอกฉันท์แจ้งต่อ คสช.ว่าพนักงาน อสมท ตั้งแต่ระดับปฎิบัติจนถึงระดับรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สนับสนุนให้ บมจ.อสมท เป็นหน่วยงานต้นแบบนำร่องในการปราบปรามการทุจริต เพื่อให้นโยบายการปราบปรามการทุจริตของ คสช.เป็นรูปธรรม
       
ทั้งนี้ ในวันที่ 23 มิ.ย.ทางกลุ่มพนักงานยังคงเดินหน้าเตรียมไปยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.อีกด้วย
       
ขณะที่ ม.ล.ปนัดดากล่าวว่า ได้ติดตามความเคลื่อนไหวของ อสมท มาโดยตลอด และทราบว่าประธานบอร์ดและคณะได้ลาออก ทั้งนี้เมื่อรับหนังสือของทางสหภาพฯ จะนำเข้าสู่กระบวนการศึกษาข้อเท็จจริง โดยเฉพาะเรื่องความไม่โปรงใส เพราะถือเป็นนโยบายหลักของภาครัฐที่จะต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาดหากพบว่ามีขั้นตอนการทุจริตคอร์รัปชัน และนำเรื่องของ อสมท เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงรับทราบต่อไป เพราะในยามที่บ้านเมืองมีภาวะวิกฤติทั้งสถานการณ์การเมือง การดำรงชีวิตรัฐบาลต้องเป็นตัวอย่าง ซึ่งการทำงานของข้าราชการตามแนวพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะต้องสนับสนุนคนดี เข้ามาปกครองบ้านเมือง คนไม่ดีไม่ควรเข้ามายุ่งวุ่นวาย ทุกฝ่ายควรช่วยกันตรวจสอบความถูกต้อง ตนจะทำให้เกิดผลโดยเร็วที่สุด
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 20-6-2557)
 
สธ.เตรียมเสนอเพิ่มตน.บุคลากรแพทย์หมื่นอัตรา
 
กระทรวงสาธารณสุข พร้อมส่งเสริมงานการให้บริการด้านสาธารณสุข เตรียมเสนอ คสช. พิจารณาเพิ่มตำแหน่งบุคลากรทางการแพทย์กว่าหมื่นอัตรา
 
น.พ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในรายการเดินหน้าประเทศไทย ผ่านทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ว่า การปฏิรูปบริการด้านสุขภาพและสาธารณสุขทั้งระบบ สิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน จะต้องส่งเสริม ป้องกัน ศึกษา และฟื้นฟู โดยจะพัฒนาการบริการในเชิงรุกให้มากขึ้น และจะปรับการบริการให้ถึงประชาชนมากที่สุด โดยจะขยายเวลา เร่งรัด เข้มงวดให้บุคลากรเข้าทำงานตามเวลา และเต็มเวลา ซึ่งจะต้องมีค่าตอบแทนแก่บุคลากรอย่างเป็นธรรม การขยายสถานที่ลงไปในชุมชนขยายการให้บริการจากโรงพยาบาลขนาดใหญ่ลงไปโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้ทั่วถึง ประชาชนไม่ต้องเดินทางไกล รวมทั้งระบบสนับสนุนต่างๆ ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ในเรื่องดังกล่าวผู้ตรวจราชการในแต่ละเขตได้มอบนโยบายให้ทุกเขตไปดำเนินการแล้ว โดยในส่วนผู้ป่วยกรณีฉุกเฉินทุกรายต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ในด้านของระบบยากำลังดำเนินการวางระบบการจัดซื้อรวมทุกโรงพยาบาลในยาตัวเดียวกัน เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ นอกจากนี้จะจัดตั้งเป็นศูนย์การให้คำปรึกษาทั้งการปรับรถพยาบาล รถฉุกเฉิน ส่วนกองทุนใหญ่ที่ดูแลเรื่องค่ารักษาพยาบาลของประชาชน ได้แก่ ประกันสังคม และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น ต้องปรับให้มีมาตรฐานเดียวกันในระยะยาว รวมทั้งปรับระบบการเงินให้สอดคล้องกับปัญหา โดยได้เสนอต่อ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้ว
 
นอกจากนี้ จะขยายจำนวนบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากในปัจจุบันมีปัญหาเรื่องของการขาดแคลนบุคลากร โดยเตรียมเสนอ คสช.พิจารณาเปิดตำแหน่งเพิ่มกว่าหมื่นอัตรา โดยได้เสนอหลักการต่อหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยาแล้ว รวมทั้งขยายเพดานเงินเดือน ค่าตอบแทนเพื่อให้มีความเป็นธรรมต่อบุคลากรยืนยันจะเพิ่มมาตรฐานคุณภาพการให้บริการสาธารณสุขให้พร้อมดูแลประชาชนอย่างดีที่สุด
 
(ไอเอ็นเอ็น 22-6-2557)
 
ส.อ.ท.ประกาศ 4 จุดยืนต่อปัญหาแรงงานในไทย
 
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แถลงภายหลังประชุมคณะกรรมการบริหาร ส.อ.ท. เพื่อพิจารณากำหนดท่าทีและการชี้แจงกรณีที่สหรัฐปรับลดระดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ในไทยลงไปอยู่ในระดับ teir 3 ว่า การที่ประเทศไทยถูกจัดอันดับในครั้งนี้ ยังไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับด้านการค้าของไทย แต่เป็นผลทางอ้อม กล่าวคือ ประเทศไทยจะถูกจับตามองเรื่องที่ไทยไม่ดูแลและแก้ปัญหาด้านมนุษยธรรมและปัญหาสังคม ซึ่งที่ผ่านมาสื่อต่างประเทศได้รณรงค์ไม่ให้ซื้อสินค้าประมง อาหารทะเลแช่แข็งและกุ้งจากไทย ซึ่งในส่วนของกุ้ง ประเทศไทยมีปัญหาส่งออกลดลงอยู่แล้วจากปัญหาโรคกุ้ง
 
นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ส.อ.ท.มี 4 จุดยืน ดังนี้ ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการใช้แรงงานผิดกฎหมายทั้งหมด, สนับสนุนการจัดระเบียบการใช้แรงงานต่างด้าวอย่างเป็นรูปธรรมนำไปปฎิบัติได้, ส.อ.ท.จะชี้แจงกับคู่ค้าในต่างประเทศเพื่อให้เกิดความเข้าใจในข้อเท็จจริงและสุดท้ายคือ ส.อ.ท.จะจัดตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาแรงงาน เพื่อทำหน้าที่ให้ข้อมูลข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาร่วมกับภาครัฐ
 
นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธาน ส.อ.ท. ในฐานะคณะทำงานแก้ไขปัญหาแรงงาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ส.อ.ท.จะไม่ตอบโต้สหรัฐ แต่จะเดินหน้าประชาสัมพันธ์ชี้แจงทำความเข้าใจถึงสถานการณ์และข้อเท็จจริงแรงงานในประเทศไทย โดยจะเริ่มในช่วง 1-2 สัปดาห์นับจากนี้ไป เพราะสถานการณ์ในไทย ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่ถูกจัดอันดับ โดยการประชาสัมพันธ์จะเน้นใช้สื่อสารไปยังผู้บริโภคและคู่ค้าในต่างประเทศผ่านโซเชียลมีเดีย เพราะเห็นว่าเป็นสื่อที่เข้าถึงผู้บริโภคได้มากที่สุด ด้านหน่วยงานภาครัฐของไทยเองก็ต้องชี้แจงหน่วยงานภาครัฐในต่างประเทศควบคู่กันไปด้วย
 
นอกจากนี้ ยังเดินหน้าชี้แจงคู่ค้า เพื่อขอความเห็นใจ พร้อมแจงข้อเท็จจริงสถานการณ์แรงงานในประเทศไทยว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยพยายามแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานมาโดยตลอด แต่อาจยังไม่ถึงระดับที่ทางสหรัฐต้องการ จนนำมาสู่การถูกจัดอันดับให้อยู่ใน tier 3 ซึ่งสหรัฐไม่มีอำนาจในการแซงชั่นด้านการค้า ผู้ประกอบการยังสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ แต่มีผลด้านจิตวิทยา ทำให้ผู้ประกอบการเกิดความรู้สึกแย่ อาจนำไปสู่การไม่ซื้อสินค้าไทย ที่ผ่านมาสหรัฐเคยมีการแซงชั่นมาแล้ว 21 ประเทศ ซึ่งมีจีนและรัสเซียรวมอยู่ด้วย แต่ครั้งนี้รวมไทยและอีก 3 ประเทศเพิ่มเข้ามา คือ มาเลเซีย เวเนซุเอลา และแกมเบีย ซึ่งจีน รัสเซีย และซาอุดีอาระเบีย ก็ยังคงทำการค้ากับสหรัฐได้ตามปกติ
 
(สำนักข่าวไทย, 23-6-2557)
 
เดินหน้ากองทุนพนักงานมหา'ลัย ย้ำสิทธิว่างงาน-ชราภาพประกันสังคมยังอยู่
 
รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ กล่าวว่า ขณะนี้การตั้งกองทุนรักษาพยาบาลพนักงานมหาวิทยาลัยของรัฐมีความคืบหน้ามาก เพราะหลังจากมีการหารือร่วมกันระหว่างศูนย์ประสานงานบุคลากรฯ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) มีความเป็นไปได้ในการก่อตั้งกองทุนดังกล่าว โดย สปสช. จะจัดตั้งคล้ายกองทุนรักษาพยาบาล อปท. ซึ่งกฎหมายเอื้อให้ดำเนินการในมาตรา 9 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ประกอบกับพนักงานมหาวิทยาลัยเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ จึงไม่สอดคล้องกับการอยู่ในระบบประกันสังคม
       
“ปัญหาคือตัวเลขของพนักงานมหาวิทยาลัยยังไม่ชัดเจน เพราะทราบแค่จำนวนพนักงานมหาวิทยาลัยในส่วนของ พนักงานประจำ พนักงานราชการ และลูกจ้างประมาณ 130,000 คน แต่ สกอ. ยังไม่มีตัวเลขลูกจ้างชั่วคราว และพนักงานมหาวิทยาลัยที่ทางมหาวิทยาลัยจ้างด้วยเงินของมหาวิทยาลัยเอง แต่เห็นว่า สกอ. เตรียมทำหนังสือเวียนไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อขอให้แจ้งตัวเลขนี้แล้ว คาดว่าจะประชุมและเสนอตัวเลขทั้งหมดได้ในการประชุมร่วมกันอีกครั้ง คาดว่าจะได้ข้อมูลภายใน 1 เดือน เรื่องนี้ถือเป็นความคืบหน้าที่มีความหวังมาก เพราะเมื่อได้ตัวเลขพนักงานมหาวิทยาลัยที่จะอยู่ในกองทุนทั้งหมด ก็จะนำมาคิดเป็นมูลค่าเงินของกองทุนได้ และจะเดินหน้าอย่างไรให้ชัดเจนต่อไป” รศ.วีรชัย กล่าว
       
ผู้สื่อข่าวถามว่าเหตุใดจึงไม่ต้องการอยู่ในระบบประกันสังคม รศ.วีรชัย กล่าวว่า ตามกฎหมายพนักงานมหาวิทยาลัยเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ใช่พนักงานเอกชนที่ต้องอยู่ในกองทุนประกันสังคม ซึ่งจริงๆ ควรบรรจุเป็นข้าราชการ แต่เมื่อตำแหน่งไม่เพียงพอก็ควรได้รับสิทธิสวัสดิการเทียบเท่า ซึ่งสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของหลักประกันสุขภาพฯ ถือว่าดี ทั้งนี้ การย้ายสิทธิรักษาพยาบาลมาให้ สปสช. ดูแล ไม่ได้หมายความว่าสิทธิเงินสะสมกองทุนชราภาพในระบบประกันสังคมจะหมดไปด้วย เพราะหากต้องการสิทธิดังกล่าวก็สามารถส่งต่อได้ เนื่องจากการจ่ายเงินจะมี 3 ส่วน คือ ส่วนรักษาพยาบาลเข้ากองทุนประกันสังคม 225 บาท กองทุนชราภาพ 450 บาท และประกันว่างงานอีก 75 บาท ซึ่ง 2 กองทุนที่เหลือยังสามารถจ่ายได้เพื่อรอรับสิทธิอีก
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 23-6-2557)
 
8 สมาคมประมงไทย แถลงยืนยันไม่ใช้แรงงานเด็ก
 
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานสมาพันธ์ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมประมงไทย ร่วมกับ 8 สมาคม อาทิ สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมกุ้งไทย สมาคมปลาป่นไทย และสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย แถลงถึงกรณีสหรัฐประกาศลดอันดับการค้ามนุษย์จากเทียร์ 2 เป็นเทียร์ 3 และขณะนี้อยู่ระหว่างให้แต่ละประเทศจัดทำรายละเอียดก่อนประกาศคว่ำบาตรมาตรการต่างๆ กับประเทศที่ถูกจัดอันดับ ว่า ในส่วนของประเทศไทยน้อมรับคำตัดสินของสหรัฐ แต่ถือว่าไม่แฟร์ ดังนั้น คงต้องติดตามคำตัดสินของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ภายใน 90 วัน ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร
 
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมประมง โดยเฉพาะกุ้งและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ขอปฏิเสธกรณีสหรัฐระบุอุตสาหกรรมกุ้งไทยมีการใช้แรงงานเด็ก แรงงานผิดกฎหมายเยี่ยงทาส ซึ่งตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา สมาคมต่างๆ ได้แก้ไขปรับปรุง ป้องกัน ทุกขั้นตอน จึงขอยืนยันว่าไม่มีการใช้แรงงานเด็กกระทำการเยี่ยงทาสอย่างที่กล่าวหา ที่ผ่านมาสมาคมได้แจ้งเบาะแส จนเจ้าหน้าที่บ้านเมืองลงโทษกับผู้กระทำผิดด้านแรงงาน ไม่ว่าแรงงานในประเทศ หรือแรงงานต่างด้าว ตามกฎหมายค่อนข้างรุนแรง อีกทั้งหากสมาชิกใดกระทำผิดต่อกฎหมายแรงงานจะถูกขับออกจากการเป็นสมาชิก ไม่สามารถทำการค้าหรือส่งออกอุตสาหกรรมกุ้งไปตลาดต่างประเทศได้ ถือเป็นมาตรการค่อนข้างรุนแรงและสมาชิกก็ติดตามกันอย่างต่อเนื่อง
 
นายพจน์กล่าวว่า ทางภาคเอกชนจะไม่มีการตอบโต้สหรัฐ แต่อยากให้หลายประเทศมีความมั่นใจในอุตสาหกรรมกุ้งไทยทุกขั้นตอนตามระบบสากล กลุ่มได้มีการจัดเตรียมข้อมูลและเอกสารห่วงโซ่ของภาคอุตสาหกรรมกุ้งไทยทุกขั้นตอน ซึ่งกระทรวงแรงงานและกระทรวงการต่างประเทศเห็นชอบแล้ว หลังจากนี้ไม่ว่าหน่วยงานใดสงสัยกลุ่มสามารถนำข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ไปชี้แจงทำความเข้าใจ และที่สำคัญแม้สหรัฐหรือสหภาพยุโรป (อียู) วิตกกังวลเกี่ยวกับห่วงโซ่การดำเนินอุตสาหกรรมประมงไทย แต่ขณะนี้ผู้ซื้อรายใหญ่ทั้งกลุ่มอียูและสหรัฐมีความมั่นใจว่าไม่มีการใช้แรงงานเยี่ยงทาสตามที่สื่อต่างประเทศโจมตีแต่อย่างใด
 
กลุ่มพร้อมให้หน่วยงานในต่างประเทศหรือประเทศไทย เช่น กลุ่มเอ็นจีโอ หรือผู้ค้าของไทยทั่วโลกที่ยังสงสัย สามารถเข้ามาตรวจสอบสถานการณ์จริงได้ ซึ่งกลุ่มพร้อมปฏิบัติตามกฎหมายไทยและสากล พร้อมต่อต้านการใช้แรงงานผิดกฎหมาย
 
ส่วนกรณีอียูประกาศทบทวนความสัมพันธ์ เท่าที่ได้รับรายงานจากกระทรวงการต่างประเทศของไทยจะไม่กระทบการค้ากับไทย แต่มีบางโครงการ เช่น การเปิดเขตการค้าเสรีไทย-อียู อาจต้องเลื่อนการลงนามบันทึกความเข้าใจออกไปก่อน เชื่อว่าเมื่อสถานการณ์ปกติ หลายประเทศจะให้ความสนใจประเทศไทย เพราะหลายประเทศมองว่าไทยจะเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคนี้
 
อย่างไรก็ตาม ก่อนเดือนกันยายนนี้ กลุ่มจะทำเรื่องชี้แจงการนำสินค้าไทย เช่น กุ้ง ปลาทูน่า ที่อยู่ในบัญชีจับตามองพิเศษของสหรัฐ ให้ออกจากรายการดังกล่าว เพราะเชื่อว่าทั้ง 2 กลุ่มทำตามหลักเกณฑ์ระบบสากล และไม่เกี่ยวข้องกับการถูกกล่าวหาใช้แรงงาน ซึ่งคาดหวังว่าสหรัฐจะยอมให้สินค้าทั้ง 2 ชนิด หลุดจากบัญชีดังกล่าว โดยกลุ่มมั่นใจอย่างมาก ซึ่งไทยได้กำหนดแนวทางว่า กลางเดือนกรกฎาคม ทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องนำข้อมูลต่างๆ มารวมกันไว้ให้เกิดความชัดเจนและเตรียมออกไปโรดโชว์ชี้แจงทำความเข้าใจทั้งสหรัฐและยุโรป
 
(สำนักข่าวไทย, 24-6-2557)
 
พนักงาน 3 แบงก์รัฐผวาโบนัสหด-สคร.จ้องปรับสิทธิประโยชน์บอร์ด
 
จากกรณีข่าวการพิจารณาปรับลดผลตอบแทนส่วนเกินของกรรมการรัฐวิสาหกิจ และการปรับลดโบนัสพนักงาน ทำให้ขณะนี้พนักงานรัฐวิสากิจกังวลกันมาก โดยเฉพาะแบงก์รัฐ 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ขณะนี้ยังไม่ได้รับโบนัสจากรอบการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมา 
 
"อย่าง ธ.ก.ส.ปกติจะจ่ายในเดือน มิ.ย.นี้ แต่ก็มีข่าวลือว่าจะถูกปรับลดโบนัสจากที่อนุมัติไว้ 6.88 เดือน เหลือแค่ 4 เดือน ทั้ง ๆ ที่พนักงานต้องทำงานอย่างหนักในปีบัญชีที่ผ่านมา ขณะที่ ธพว.กับไอแบงก์แม้ว่างบฯจะผ่านสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจรับรองแล้ว แต่ทางคลังก็บอกว่ามีหนี้เสียเยอะ และตัวเลขผลกำไรไม่ชัดเจน"แหล่งข่าวกล่าว
 
นายรักษ์ วรกิจโภคาทร รองกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารสายงานธุรกิจรายย่อย ไอแบงก์กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการจ่ายโบนัสพนักงาน เมื่อมีข่าวออกมาว่าจะปรับลดโบนัสพนักงานรัฐวิสาหกิจ จึงอาจจะส่งผลกระทบต่อการพิจารณาของกระทรวงการคลัง โดยปีที่ผ่านมาไอแบงก์มีผลกำไร สามารถจ่ายโบนัสพนักงานได้ 
 
ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการไอแบงก์เมื่อ 23 พ.ค.ได้มีมติอนุมัติจ่ายเงินโบนัสให้กับพนักงาน 3.27 เดือนเท่ากันทุกคน และจ่ายเพิ่มอีก 0.29 เดือนแก่พนักงานที่มีผลงานโดดเด่น โดยปี 2556 มีผลกำไรสุทธิที่ สตง.รับรองแล้ว 2,702 ล้านบาท ซึ่งการจ่ายโบนัสต้องให้กระทรวงการคลังอนุมัติ
 
ด้านนายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการ ธพว.กล่าวว่า การจ่ายโบนัสพนักงานต้องรอการตัดสินใจอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ซึ่งธนาคารได้เสนอเรื่องไปแล้ว
 
นายประสงค์ พูนธเนศ ผู้อำนวยการสคร.กล่าวว่า การปรับปรุงเรื่องสิทธิประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจนั้นต้องการมุ่งไปที่กรรมการมากกว่า เพราะถือว่าการเข้ามาเป็นกรรมการต้องเสียสละอย่างเช่นการใช้เงินรับรองไปตีกอล์ฟ ซึ่งคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งควรจะต้องไปพิจารณาความเหมาะสมด้วยตัวเองก่อน
 
ขณะที่นายรังสรรค์ศรีวรศาสตร์ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวว่า ได้สั่งการให้ สคร.รับไปดำเนินการเรื่องสิทธิประโยชน์รัฐวิสาหกิจตามนโยบาย คสช.แล้ว ซึ่งจะต้องรวบรวมข้อมูลจากรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งมาพิจารณา และเปรียบเทียบตามกลุ่ม อาทิ กลุ่มที่เป็นสถาบันการเงิน กลุ่มที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน กลุ่มพลังงาน เป็นต้น คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปใน 1 สัปดาห์นี้
 
"คงไม่ได้ลามไปถึงพนักงาน เพราะสิทธิประโยชน์ของพนักงานเป็นเรื่องที่แต่ละรัฐวิสาหกิจไปว่ากันเอง"นายรังสรรค์กล่าว
 
(ประชาชาติธุรกิจ, 24-6-2557)
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles