อภิชาติ (เสื้อขาว) ได้รับการปล่อยตัวเมื่อค่ำที่ผ่านมา
อัพเดท: เวลา 19.20 น. จ.ส.อ.อภิชาติ พงศ์สวัสดิ์ ผู้ต้องหาคดีชูป้ายค้านรัฐประหาร-ม.112 ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แล้ว โดยเขากล่าวว่า การยกคำร้องฝากขังฯ ครั้งนี้ทำให้คนอื่นๆ ที่ถูกควบคุมตัวอยู่มีความหวังที่จะยื่นคัดค้านคำร้องฝากขังต่อไป
เมื่อเวลา 9.00 น. 24 มิถุนายน 2557 ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 506 ศาลอาญากรุงเทพฯใต้ ศาลได้นัดพิจารณาคดีเรื่อง ไต่สวนคำร้องขอฝากขังผลัดที่3 จ.ส.อ.อภิชาติ พงศ์สวัสดิ์ ผู้ชูป้ายต้านรัฐประหารหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และถูกควบคุมตัวตั้งแต่เวลา 19.30 ของวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 และจากการควบคุมตัวครบ 7 วัน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งข้อกล่าวหามาตรา 112, 215, 216 และมาตรา 14 อนุ 3 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และได้ฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยไม่ให้ประกันตัว โดยพนักงานสืบสวนสอบสวนกองปราบปรามฯ เป็นผู้ร้องขอฝากขังผู้ต้องหาซึ่งเป็นขอฝากขังเป็นผลัดที่ 3 ภายหลังจากที่ฝากขังมาก่อน 2 ผลัด เป็นเวลา 24 วัน
สำหรับการไต่สวนในวันนี้ พนักงานสอบสวนในฐานะผู้ร้องได้อ้างเหตุจำเป็นในการร้องฝากขังต่อ โดยอ้างเหตุว่าพนักงานสืบสวนสอบสวน ยังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการสืบสวน โดยเป็นการส่งหนังสือและหลักฐานดังกล่าวให้คณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นฯ ซึ่งต้องได้รับการแต่งตั้งจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อให้ดำเนินการพิจารณาและส่งความเห็นกลับมายังพนักงานสืบสวนปองปราบฯ โดยทางพนักงานสืบสวนกำลังรอให้มีการตั้งคณะกรรมการฯ และจำเป็นต้องทำการตรวจสอบลายนิ้วมือและประวัติการโพสต์ทางอินเทอร์เนตของผู้ต้องหาก จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) รวมถึงต้องการรอความเห็นจากนักวิชาการจาก 4 สถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนเกี่ยวกับข้อความที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหา ในการช่วยตีความความหมายในการแสดงข้อความของผู้ต้องหา
ด้านทนายผู้ต้องหาได้คัดค้านเหตุจำเป็นในการฝากขังต่อ สามประเด็นหลัก คือ
1.ผู้ต้องหามีภาระจำเป็นทางด้านการศึกษา ซึ่งผู้ต้องหาอยู่ในขั้นตอนการเขียนสารนิพนธ์ ในโครงการประกาศนียบัตรบัณฑิตอาสาสมัคร สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นส่วนสุดท้ายในการสำเร็จการศึกษา ภายหลังจากผู้ต้องหาได้ปฏิบัติงานภาคสนามในพื้นที่เป็นที่เรียบร้อย และผู้ต้องหามีความจำเป็นต้องไปดำเนินการลงทะเบียนเพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาโทด้วยตัวเอง ในสาขาชนบทศึกษาและการพัฒนา ในสถาบันการศึกษาแห่งเดียวกัน ตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย หากไม่สามารถไปดำเนินการได้ก็จะสูญเสียโอกาสในการศึกษาต่อทันทีหลังจากที่ผู้ต้องหาผ่านการสอบคัดเลือกได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
2. ยังไม่มีกระบวนการดำเนินการสืบสวนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้ต้องหา ทนายผู้ต้องหาคัดค้านว่าทั้งหมดเป็นกระบวนการภายในของพนักงานสืบสวนฯ ซึ่งเป็นกระบวนการของผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องหา ดังนั้นไม่มีเหตุจำเป็นที่ต้องฝากขังผู้ต้องหาต่อไป
3. ปัญหาทางครอบครัวที่ผู้ต้องหาต้องดูแลมารดา และการฝากขังต่อไปจะทำให้ถูกระงับค่าตอบแทนจากการทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายต่อไป เนื่องจากไม่ได้ทำงาน แต่อย่างไรก็ตามทางคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายได้เคยรับรองผู้ต้องหาว่าหากได้รับการปล่อยตัวจะดูแลความประพฤติผู้ต้องหาให้อยู่ในวินัยของสำนักงาน
ขณะที่ รองศาสตราจารย์ ดร.นภาพร อติวานิชยพงศ์ อาจารย์จากสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะพยานของผู้ต้องหา ได้เบิกความยืนยันพฤติกรรมของจำเลยว่ามีความประพฤติดีและจะไม่หลบหนี นอกจากนั้นแล้ว ผู้ต้องหายังเคยมีประวัติที่ได้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมอย่างมากมาย และยาวนาน
จากนั้นเมื่อเวลาประมาณ 15. 00 น. ศาลได้อ่านคำสั่งฯ โดยมีความเห็นว่า จากที่ผู้ร้อง ได้อ้างว่าอยู่ในกระบวนการส่งหลักฐานให้นักวิชาการ รัฐเอกชน ให้ความเห็นนั้น ศาลมีความเห็นว่า ผู้ต้องหา ได้กำลังศึกษาอยู่และมีภาระในการเขียนสารนิพนธ์ให้เสร็จสิ้นกระบวนการประกอบกับทั้งผู้ต้อง และศาลเห็นว่าผู้ต้องหา มีสถานที่ทำงานที่เป็นหลักแหล่งที่ชัดเจนแน่นอน สามารถติดตามได้ ถ้าหากมีการฝากขังต่อไปก็อาจจะทำให้ผู้ต้องหาเกิดผลกระทบหลายอย่าง อาทิ การต้องถูกเลิกจ้างจนไม่สามารถเลี้ยงดูแม่ มีปัญหาต่อการศึกษาต่อ ซึ่งไม่สามารถทดแทนได้หรือชดเชยได้ในภายหลัง
ศาลจึงมีคำสั่งยกคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาของพนักงานสืบสวน และสั่งให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาจากถูกคุมขังในเรือนจำมาแล้ว 2 ผลัด รวม 24 วัน และภายหลังจากถูกควบคุมตัวที่กองปราบโดยเจ้าหน้าที่ทหารมาแล้ว 7 วัน