กลุ่มหนุน พ.ร.บ.เชียงใหม่จัดการตนเองแถลงข่าวที่เชียงใหม่ ยืนยันหลักการ “ลดการรวมศูนย์อำนาจตรงกลาง”และ “เพิ่มอำนาจให้ ปชช.ดูแลจัดการตนเอง” ให้ทุกกลุ่มทุกฝ่ายในท้องถิ่นปรึกษาหารือกันจะได้เกิดปรองดองสมานฉันท์กันจริงๆ ระบุพร้อมจับตา กม.ปฏิรูป 16 ฉบับรวมทั้งการปฏิรูปที่ดิน ด้าน จนท.ทหารเข้ามาสั่งเบรคและเชิญไปพูดคุย ล่าสุดปล่อยตัวแล้ว
ภาพระหว่าง ภาคีขับเคลื่อนเชียงใหม่จัดการตนเอง นำโดยนายชัชวาลย์ ทองดีเลิศอ่านแถลงการณ์ที่หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ช่วงเช้าวันนี้ (24 มิ.ย.) ก่อนถูกทหารเข้ามาขอให้ยุติกิจกรรมและเชิญไปสอบถามที่ มทบ.33 ล่าสุดได้รับการปล่อยตัวแล้ว (ที่มาของภาพ: คลิปนักข่าวเมือง TPBS)
24 มิ.ย. 2557 - ที่หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ หลังอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จ.เชียงใหม่ เครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็นและภาคีขับเคลื่อนเชียงใหม่จัดการตนเอง ได้เตรียมออกแถลงการณ์และประกาศจุดยืนกระจายอำนาจเพื่อการปรองดองและสนับสนุนการขับเคลื่อนเชียงใหม่จัดการตนเอง และสนับสนุนกฎหมาย พ.ร.บ.การบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร หรือ พ.ร.บ.เชียงใหม่จัดการตนเอง ซึ่งที่ผ่านมาทางกลุ่มได้ล่ารายชื่อเสนอกฎหมายเข้าสู่รัฐสภาแล้วตั้งแต่วันที่ 26 ต.ค. 2556 และอยู่ที่เลขานุการรัฐสภา
ขณะเดียวกันมีรายงานด้วยว่า เครือข่ายองค์กรชุมชนและประชาสังคมเพื่อการปฏิรูป (คชสป.) 15 จังหวัดภาคเหนือ ก็เตรียมที่จะออกแถลงการณ์ปักหมุด 24 มิถุนายน “หนึ่งล้านรายชื่อเปลี่ยนประเทศไทย” สนับสนุนจังหวัดจัดการตนเองเช่นกัน
อย่างไรก็ตามในเวลา 10.00 น. ระหว่างการอ่านแถลงการณ์เกี่ยวกับแนวคิดเชียงใหม่จัดการตนเองโดย นายชัชวาล ทองดีเลิศ เลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือก เจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจได้ขอให้ยุติการอ่านแถลงการณ์ และควบคุมตัวผู้อ่านแถลงการณ์ทั้งหมดประมาณ 10 คน ไปสอบถามที่มณฑลทหารบกที่ 33 (มทบ.33) ค่ายกาวิละ จ.เชียงใหม่
ต่อมา นายชำนาญ จันทร์เรือง ผู้ยกร่าง พ.ร.บ.การบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวไปสอบถามด้วยให้สัมภาษณ์ว่าทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวแล้ว การสอบถามใช้เวลา 1 ชั่วโมง โดยมีนายทหารยศพันเอกมาพูดคุยด้วย ทั้งนี้ฝ่ายทหารขอร้องไม่ให้มีการเคลื่อนไหวในห้วงเวลานี้ ทั้งนี้นายชำนาญระบุว่าทางกลุ่มประกอบด้วยองค์กรประชาสังคมทุกสีเสื้อในเชียงใหม่ ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปและการกระจายอำนาจเป็นจุดยืนร่วมกันของทุกกลุ่มทุกฝ่าย ที่ผ่านมามีการล่ารายชื่อเพื่อสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.การบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร และยื่นเสนอต่อรัฐสภาแล้วตั้งแต่วันที่ 26 ต.ค. 2556 และอยู่ที่ขั้นตอนของเลขานุการรัฐสภา อย่างไรก็ตามเกิดสถานการณ์ทางการเมืองขึ้นเสียก่อน
ทั้งนี้ เว็บไซต์นักข่าวพลเมือง TPBS เผยแพร่คลิปอ่านแถลงการณ์และแถลงการณ์ฉบับเต็มดังกล่าว มีเนื้อหาดังนี้
"สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ความขัดแย้งของคนในสังคม สะท้อนถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม อันเกิดจาก “โครงสร้างการรวมศูนย์อำนาจ” การบริหารประเทศไว้ที่ส่วนกลางมายาวนาน
แม้จะพยายามคลี่คลาย ด้วยการ “การจายอำนาจการปกครอง” มาให้ท้องถิ่นโดยลำดับ ผ่านรูปแบบต่างๆ เช่น กรุงเทพมหานคร อบจ. เทศบาล อบต. แต่ยังพบอุปสรรคและข้อจำกัดมากมาย ประชาชนไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่น พัฒนาสังคมได้อย่างที่ควรจะเป็น
ในปัจจุบันประชาชนมีการรับรู้ มีการเรียนรู้มากขึ้น มีความตื่นตัวมากขึ้นในทุกๆ ด้าน และมีความพร้อมที่จะเข้าร่วมพัฒนาสร้างท้องถิ่น พัฒนาสังคมได้อย่างที่ควรจะเป็น
“ภาคีขับเคลื่อนเชียงใหม่จัดการตนเอง” ซึ่งประกอบด้วยประชาชนทุกภาคส่วน หลากหลายกลุ่ม หลากหลายสีเสื้อ ได้ร่วมรณรงค์ขับเคลื่อน “แนวคิดเชียงใหม่จัดการตนเอง” มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 ให้ทุกคนทุกกลุ่มลุกขึ้นมาจัดการตนเอง ตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชนท้อง ลุ่มน้ำ และจังหวัด สนับสนุนรูปธรรมการจัดการตนเองทั้งเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ทั้งในชุมชนชนบทและในเมือง การผลิตและการตลาดเกษตรอินทรีย์ กองทุนและการจัดสวัสดิการสังคม การศึกษาทางเลือก การสืบสารวัฒนธรรมภูมิปัญหา การจัดการไฟป่าหมอกควัน ฯลฯ
ขณะเดียวกันได้ร่วมจัดเวทีประชาชนหลากหลายกลุ่ม “เพื่อสร้างวิสัยทัศน์เมืงเชียงใหม่ร่วมกัน” พร้อมทั้งเสนอร่าง พ.ร.บ.การบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร พ.ศ.ต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2556
วันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันดี ที่ทุกคนได้ร่วมกันเปลี่ยนแปลงด้วยแนวคิดจัดการตนเอง จากระดับฐานราก ครอบครัว ชุมชน จังหวัด และประเทศ ซึ่งสามารถลงมือทำทันทีด้วยพลังพลเมืองในระดับชุมชน ทั้งการดูแลธรรมชาติสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะ การผลิตและสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ การจัดตั้งกองทุนสุขภาพและสวัสดิการ การจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับท้องถิ่น การอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมภูมิปัญญา และมีการสื่อสารกับสาธารณะ ถึงรูปธรรมหรือตัวอย่างการจัดการตนเองที่ประสบความสำเร็จ ตลอดจนสร้างการเชื่อมโยงขยายพลความสำเร็จอย่างกว้างขวาง
นอกจากนั้น เราจะร่วมกันติดตามขับเคลื่อนกฏหมายภาคประชาชน อาทิ
ร่าง พ .ร. บ. การบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร
ร่าง พ .ร. บ. จังหวัดปกครองตนเอง
ร่าง พ.ร.บ. ปฏิรูปที่ดิน 4 ฉบับ
รวมถึง ร่างกฏหมายภาคประชาชนอีกประมาณ 10 ฉบับ ต่อไปอย่างใกล้ชิด
ภาคีขับเคลื่อนเชียงใหม่จัดการตนเองเชื่อมั่นว่า แนวติดจังหวัดจัดการตนเองที่ “ลดการรวมศูนย์อำนาจตรงกลาง”และ “เพิ่มอำนาจให้ประชาชนดูแลจัดการตนเอง” จะสร้างความเข้มแข็มของการเป็นพลเมือง สร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นฐานที่เข้มแข็งให้ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมในอนาคต
และจากการทำงานที่ผ่านมา ภาคีขับเคลื่อนเชียงใหม่จัดการตนเองพบว่า การร่วมกันจัดการตนเองของประชาชนในจังหวัดเป็นการสร้างโอกาสสร้างเวทีให้ทุกกลุ่มทุกฝ่ายได้มาพูดปรึกษาหารือกัน เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์ถิ่นฐานบ้านเมืองที่อยู่อาศัย ให้เจริญรุ่งเรืองและสงบสุข ได้ทำให้เกิดความ “ปรองดอง สมานฉันท์” ได้อย่างแท้จริงในฐานะคนท้องถิ่นเดียวกัน
ด้วยความสมานฉันท์
ภาคีขับเคลื่อนเชียงใหม่จัดการตนเอง
24 มิถุนายน 2557