วานนี้ (23 เม.ย.) ที่ห้อง 202 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาหัวข้อ "วิกฤตคาบสมุทรเกาหลีรอบใหม่: ความไม่มั่นคงในภูมิภาคและทางออก"มีวิทยากรประกอบด้วย รศ.ดร. จุลชีพ ชินวรรโณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.ดร. นภดล ชาติประเสริฐ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ผศ.ดร. กิตติ ประเสริฐสุข คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย อ.ดร. จันจิรา สมบัติพูนศิริ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ โดยประชาไทได้นำเสนอในส่วนของการนำเสนอโดย รศ.ดร.จุลชีพ ชินวรรโณ ไปแล้วนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
คลิปการอภิปรายโดย ผศ.ดร.กิตติ ประเสริฐสุข ในการเสวนา "วิกฤตคาบสมุทรเกาหลีรอบใหม่: ความไม่มั่นคงในภูมิภาคและทางออก"เมื่อ 23 เม.ย. ที่ผ่านมา ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ด้าน ผศ.ดร.กิตติ ประเสริฐสุข คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งอภิปรายต่อจาก รศ.ดร.จุลชีพนั้นตอนหนึ่งกล่าวว่า ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่เกิดขึ้นตลอด 20 ปีที่ผ่านมาหลังสงครามเย็น เพราะเกาหลีเหนืออยู่ในภาวะที่ไม่มั่นคง หลังขาดมหาอำนาจอย่างอดีตสหภาพโซเวียตสนับสนุน ขณะที่จีนก็มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจแบบตลาด ดังนั้นเกาหลีเหนือจึงคิดเรียกร้องความสนใจเพื่อให้ได้ความช่วยเหลือ เพราะฉะนั้นจึงใช้นโยบาย "Threat for Aid"หรือ ข่มขู่เพื่อให้ได้ความช่วยเหลือ เช่น บอกจะพัฒนานิวเคลียร์ พลังงานนิวเคลียร์ และอาจจะเป็นอาวุธนิวเคลียร์ก็ได้ หรือจะเดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ จะทดสอบจรวดส่งดาวเทียม ซึ่งเป็นการทดสอบจรวดมิสไซล์หลายครั้ง และหลังจากนั้นสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ก็จะให้ความช่วยเหลือ เช่น ให้ความช่วยเหลือด้านอาหาร และพลังงาน แลกกับการยุติเรื่องการทดลองเกี่ยวกับนิวเคลียร์ หรือแลกกับการเปิดให้ผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรปรมาณูระหว่างประเทศเข้าไปตรวจสอบว่าเกาหลีเหนือจะผลิตอาวุธนิวเคลียร์หรือไม่
โดย ผศ.ดร.กิตติ กล่าวว่าความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีมีความแตกต่างจากความตึงเครียดครั้งก่อนๆ 4 ประการ
ประการแรกคึม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือคนใหม่ ยังอ่อนวัย ขาดประสบการณ์ และมีพฤติกรรมซึ่งไม่สามารถคาดทำนายได้ ซึ่งเรื่องนี้ทำให้คนญี่ปุ่นซึ่งมีความระแวดระวัง ก็กังวลสูงว่าผู้นำใหม่คนนี้จะทำอะไร และเกรงว่าอาจจะวู่วาม
ขณะเดียวกัน ในเกาหลีเหนือ ทางฝ่ายทหารก็ต้องการท้าทายอำนาจคิม จอง อึน และอำนาจอีกส่วนหนึ่งก็อยู่ที่จาง ซุง แต็ก อาเขยของคิม จอง อึน คำถามคือคิม จอง อึน จะกุมสภาพไว้ได้มากน้อยแค่ไหน
ประการที่สองจีนไม่ได้มีท่าทีสนับสนุนเกาหลีเหนือมากเช่นเดิม จะเห็นได้จากสุนทรพจน์ของสี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีจีนที่โป๋อ่าวฟอรั่ม และการที่นายจอห์น เคอร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ หารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงและประธานาธิบดีของจีน โดยเกาหลีเหนือต้องจับสัญญาณจากจีนว่าจะทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน
ประการที่สามทั้งเกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกาก็ทำการซ้อมรบแบบจัดเต็ม มีการใช้ยุทโธปกรณ์สำคัญเช่น เครื่องบินล่องหนแบบ B2 ที่หลบเลี่ยงการตรวจจับเรดาห์ได้ ซึ่งหมายความว่าเครื่องบินนี้สามารถบินเข้าไปสอดแนมในเกาหลีเหนือเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นก็เป็นสิ่งที่เกาหลีเหนือไม่ชอบเป็นอย่างยิ่ง และการซ้อมรบก็ยาวนานมาก โดยการซ้อมรบเกาหลีใต้-สหรัฐอเมริกามี 2 ช่วง โดยในวันที่ 11-21 มีนาคม ภายใต้รหัส "Key Resolve"และที่กำลังดำเนินอยู่ตั้งแต่ 1 มีนาคม - 30 เมษายน เป็นเวลา 2 เดือน ภายใต้รหัส "Exercise Foal Eagle"ทำให้ทางเกาหลีเหนือไม่พอใจ
และปัจจุบันที่มีข่าวว่า เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกาพร้อมเจรจา ทางเกาหลีเหนือก็ยื่นเงื่อนไขว่าให้ยกเลิกการฝึกซ้อมทางทหารและยกเลิกการคว่ำบาตรจากสหประชาชาติก่อนถึงจะยอมเจรจา
ในด้านการเตรียมการรับมือเกาหลีเหนือ เกาหลีใต้มีการเตรียมเรือพิฆาต 2 ลำ และสหรัฐอเมริกาก็เตรียมเรือพิฆาต 2 ลำ ถ้ามีการยิงขีปนาวุธมาจากเกาหลีเหนือก็จะมีการยิงสกัด
ประการที่สี่ก็คือ ญี่ปุ่นเองก็มีการเตรียมตั้งรับ เพื่อตอบสนองต่อวิกฤตเกาหลีเหนือ โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่พึ่งพาตัวเอง และพึ่งต่างประเทศ
ส่วนที่พึ่งพาตัวเองนั้น ทั้งนี้เนื่องจากเกาหลีเหนือมีขีปนาวุธที่ชื่อว่า มูซูดาน รัศมีทำการ 3,000 - 4,000 กิโลเมตรซึ่งยิงถึงเกาะกวมได้ และครอบคลุมประเทศญี่ปุ่นด้วย ทำให้ญี่ปุ่นมีการติดตั้งจรวดต่อต้านขีปนาวุธแบบ PAC-3 ที่โตเกียว 4 เครื่อง ตั้งที่โอกินาว่า 1 เครื่อง และหากมีการยิงขีปนาวุธมาจริง ญี่ปุ่นก็จะยิงสกัดทันที
อย่างไรก็ตามยังไม่เคยมีการทดสอบขีปนาวุธ มูซูดาน ซึ่งถ้ายิงมาแล้วไม่ประสบความสำเร็จ เกาหลีเหนือก็จะเสียหน้า อย่างไรก็ตามอิหร่านก็พัฒนาขีปนาวุธในเทคโนโลยีเดียวกัน ซึ่งถ้าอิหร่านทดสอบแล้วสำเร็จ เกาหลีเหนือเห็นก็คงพร้อมใจที่จะทำเช่นนั้นบ้าง
แต่ปัจจุบันที่เกาหลีเหนือทำอยู่คือการเคลื่อนย้ายขีปนาวุธ Scud ที่เราเคยเห็นในสมัยสงครามอ่าวเปอร์เซีย โดย ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ประเมินวันที่เกาหลีเหนืออาจจะใช้งานขีปนาวุธได้แก่ วันที่ 25 เมษายน เป็นวันสถาปนากองทัพเกาหลีเหนือ หรือวันที่ 17 มิถุนายน วันครบรอบหยุดยิงสงครามเกาหลี แต่อย่างไรก็ตามตอนนี้สถานการณ์ที่คาบสมุทรเกาหลีก็คลี่คลายมากขึ้น
ในส่วนของการพึ่งพาต่างประเทศนั้น ญี่ปุ่นก็ร่วมมือกับสหรัฐอเมริกา และร่วมมือกับสหประชาชาติในการสนับสนุนมติของคณะมนตรีความมั่นคงในเรื่องการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ ญี่ปุ่นก็ญาติดีกับเกาหลีใต้มากขึ้น จะเริ่มจับมือกันมากขึ้น โดยเกาหลีใต้ก็ได้กล่าวกับญี่ปุ่นว่าเราพร้อมจะลงนามในข้อตกลงทางการทหารระหว่าง 2 ประเทศ ที่เคยจะลงนามตั้งแต่กรกฎาคมปีที่แล้ว เกาหลีใต้ไม่ยอมลงนาม เนื่องจากมีกรณีพิพาทเรื่องตำราเรียนทางประวัติศาสตร์ และมีการไปเยือนเกาะพิพาทด็อกโดหรือทาเคชิมาโดยประธานาธิบดีลี เมียง บัก
แต่เร็วๆ นี้เกาหลีใต้ประกาศว่าจะหันมาลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางทหารระหว่าง 2 ประเทศ ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ โดยมีการซ้อมรบ มีเรื่องสนับสนุนด้านโลจิติกส์ซึ่งกันและกัน ซึ่งที่จริงแล้วรัฐมนตรีต่างประเทศของเกาหลีใต้ มีกำหนดเยือนญี่ปุ่นในสัปดาห์นี้ แต่เลื่อนเนื่องจากตรงกับเทศกาลที่ศาลเจ้ายาสุคุนิของญี่ปุ่นพอดี สำหรับเทศกาลจะมีขึ้นประจำในเดือนเมษายนและสิงหาคม และความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่น-จีน ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ จะตกต่ำช่วงเวลานี้ทุกปี เนื่องจากจะมีนักการเมืองญี่ปุ่นไปเยือนศาลเจ้ายาสุคุนิ โดยในเดือนเมษายนปีนี้ มีรัฐมนตรีบางคนในญี่ปุ่นไปเยือนศาลเจ้า และนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นชินโสะ อาเบะ ก็เพิ่งส่งต้นสนที่เป็นไม้มงคลไปสักการะศาลเจ้า ซึ่งถ้านายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น หรือผู้มีตำแหน่งทางการเมืองไปเยือน จะถูกรัฐบาลจีน และเกาหลีใต้ประท้วงทันที
นอกจากนี้ที่น่าสนใจคือญี่ปุ่นกับนาโต้ โดยเลขาธิการนาโต้ (NATO) เพิ่งลงนามกับญี่ปุ่นเพื่อต่อต้านภัยคุกคามร่วมกันและนาโต้ได้ประณามเกาหลีเหนือ และข้อสังเกตก็คือนาโต้เองระยะหลังมีบทบาทนอกภูมิภาคอย่างมาก เช่น ในกรณีอัฟกานิสถาน
และในกรณีรัสเซีย ซึ่งเดิมญี่ปุ่นกับรัสเซีย มีปัญหาเขตแดนกันในพื้นที่ 4 เกาะทางตอนเหนือของฮอกไกโด แต่ในการประชุม G8 ที่ลอนดอน นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นชินโสะ อาเบะ ได้ขอคุยกับรัสเซียนอกรอบว่าต้องร่วมมือกันเรื่องเศรษฐกิจ และพลังงาน และขอให้ร่วมมือกันอย่างแข็งขันในการตอบโต้การกระทำของเกาหลีเหนือ จะเห็นได้ว่าญี่ปุ่นพยายามหามิตรมากขึ้น พยายามไม่ให้มีปัญหากับรัสเซีย เพื่อไม่ให้เผชิญศึกหลายด้าน เพราะญี่ปุ่นขัดแย้งกับจีนกรณีเกาะพิพาทเซนกากุ/เตี้ยวหวี อยู่แล้ว
ในช่วงท้าย ผศ.ดร.กิตติ ได้กล่าวถึง บทบาทของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ชินโสะ อาเบะ ซึ่งเมื่อ 10 ปีที่แล้วสมัยที่เป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรีสมัยนายกรัฐมนตรีจุนอิชิโระ โคะอิสุมินั้น อาเบะเคยตามคณะไปเยือนเกาหลีเหนือ แล้วพบว่ามีเครื่องดักฟังในห้องประชุม นอกจากนี้เขาก็มีบทบาทอย่างแข็งขันในการเรียกร้องให้เกาหลีเหนือออกมายอมรับว่าลักพาตัวพลเมืองชาวญี่ปุ่นไปเกาหลีเหนือ ซึ่งเกาหลีเหนือจะลักพาชาวญี่ปุ่นเพื่อสอนภาษาให้กับสายลับ และเพื่อการสวมรอยปลอมตัว ซึ่งในที่สุดคิม จอง อิล ผู้นำเกาหลีเหนือคนก่อนก็อ้อมแอ้มยอมรับว่ามีการลักพาตัวจริง มีการส่งกระดูกของผู้ที่ลักพาตัวไปคืนแต่สุดท้ายพบว่าเป็นการปลอมแปลง
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนนี้ยังมีความเป็นนักชาตินิยมที่แข็งกร้าว และประกาศอย่างแข็งขันว่าจะมีมาตรการเต็มที่ในกรณีเกาหลีเหนือด้วย