นายพลผู้ปกครองประเทศอินโดนีเซียด้วยระบอบเผด็จการทหารยาวนานถึง 32 ปี ได้รับการเสนอชื่อเป็นวีรบุรุษแห่งชาติ ขณะที่เจ้าหน้าที่กระทรวงกิจการสังคมเผยต้องผ่านการพิจารณาของคณะทำงานและนักประวัติศาสตร์ก่อน
24 เม.ย.อันตารานิวส์รายงานว่า กระทรวงกิจการสังคมของอินโดนีเซียจะหารือกันอีกครั้งว่าจะยกย่องให้อดีตประธานาธิบดี ซูฮาร์โต และอับดุล เราะห์มาน วาฮิด เป็นวีรบุรุษของชาติหรือไม่
อานดิ ฮานินดิโต ผู้อำนวยการด้านการคัดเลือกวีรบุรุษแห่งชาติ ของกระทรวงกิจการสังคมเปิดเผยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (23 เม.ย.)ว่า รายชื่อบุคคลที่ได้รับการเสนอให้เป็นวีรบุรุษของชาติซึ่งเคยถูกเสนอเข้ามา แต่ไม่ได้รับการพิจารณารอบปีที่ผ่านมาขณะนี้มีอยู่ทั้งสิ้น 9 คน โดย 2ใน 9 นั้นคือ ซูฮาร์โต และอับดุลเราะห์มาน วาฮิด โดยรายชื่อทั้ง 9 นั้นไม่ได้ถูกนำมาอภิปรายในวาระที่แล้วคือระหว่างปี 2554-2555 แต่จะมีการอภิปรายกันอีกครั้งหลังจากที่รัฐมนตรีได้รับข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลเหล่านี้
ทั้งนี้กระบวนการเสนอชื่อวีรบุรุษแห่งชาติ มาจากการเสนอจากจังหวัดต่างๆ ซึ่งเสนอชื่อบุคคลที่หลากหลายเพื่อให้กระทรวงกิจการสังคมได้พิจารณาข้อเสนอ ส่วนคณะกรรมการที่จะพิจารณานั้นจะประกอบไปด้วยคณะทำงานจากกระทรวงกิจการสังคม และนักประวัติศาสตร์อีก 13 คน เพื่อร่วมกันพิจารณาว่าใครสมควรจะได้รับการยกย่องเป็นวีรบุรุษของชาติ
ซูฮาร์โตเป็นผู้นำที่มาจากกองทัพ และมีบทบาทสำคัญในการกวาดล้างและสังหารแนวร่วมสังคมนิยมจำนวนนับล้านคน เขาก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากซูการ์โนในปี 1968
ภายใต้การปกครองของซูฮาร์โต เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งเชิงบวกและลบ ยุค “ระเบียบใหม่” ของซูฮาร์โต ทำให้เกิดการปกครองรวมศูนย์และกองทัพมีอิทธพลแทรกแซงรัฐบาล ขณะเดียวกันก็ทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพอยู่ได้บนความแตกต่างหลากหลายทั้งทางชาติพันธุ์ ภาษาและวัฒนธรรม แนวทางต่อต้านคอมมิวนิสต์ของทำให้เขาได้รับการสนับสนุนทางทั้งทางเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับตะวันตก ภายใต้การปกครองของเขา มีการใช้กำลังทหารในการจัดการปัญหาในติมอร์ตะวันออก ซึ่งเรียกร้องอิสรภาพ โดยมีผู้เสียชีวิตนับแสนคน
ในช่วงทศวรรษที่ 2540 ปัญหาการคอร์รัปชั่นขนานใหญ่ที่ดำเนินมายาวนานผนวกกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำจาก “พิษต้มยำกุ้ง” ที่เริ่มจากประเทศไทย เป็นตัวกระตุ้นให้นักศึกษาและประชาชนออกมาขับไล่รัฐบาล โดยวันที่ 16 พ.ค. 2541 นักศึกษาทั่งประเทศกว่าแสนคนออกมาเดินขบวนครั้งใหญ่และเข้ายึดรัฐสภาได้สำเร็จเรียกร้องให้เขาลาออก แม้ว่าจะมีการพยายามใช้กำลังทหารเข้าปราบปราม แต่ซูฮาร์โตไม่มีฐานสนับสนุนที่มากพอในประเทศ ที่สุดแล้ว เขาประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 21 พฤษภาคม 2541 เป็นการสิ้นสุดระบอบเผด็จการทหารที่ยาวนานกว่า 32 ปี