Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

แพทย์ชนบท-เครือข่ายผู้ป่วยประท้วง P4P รมว.สธ.สวนข้อประท้วงไม่สามารถรับได้

$
0
0

กลุ่มแพทย์ชนบท-เครือข่ายผู้ป่วยแต่งดำบุก สธ. ต้านระบบจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน สหภาพฯ อภ. ร้อง ปกป้ององค์กร ยุติให้ข่าวโจมตีรายวัน ด้าน รมว.สธ.ชี้ข้อเสนอผู้ชุมนุมขัดหลักการไม่สามารถรับได้ ยันระเบียบการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน ยืดหยุ่น ปรับได้ตามพื้นที่ แจงกรณี อภ. ต้องการให้เกิดความโปร่งใส สร้างความเชื่อมั่นประชาชน

24 เม.ย.56 สำนักข่าวไทยรายงาน ชมรมแพทย์ชนบทกว่า 300 คน ร่วมกับเครือข่ายประชาชนผู้เสียหายทางการแพทย์ เครือข่ายผู้ป่วยโรคเอดส์ โรคไต และโรคมะเร็ง รวมตัวกันแต่งชุดดำ ที่ห้องโถงกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จังหวัดนนทบุรี เรียกร้องพร้อมแสดงการคัดค้านแนวทางการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน (Pay for Performance : P4P) รวมทั้งพบการเข้าแทรกแซงองค์กรอิสระทางสาธารณสุข เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งเชื่อว่าจะกระทบภาคประชาชนในระยะยาว

รวมทั้งมีการประกาศเจตนารมณ์ไม่ยอมรับนายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมทั้งจะมีการไปยื่นเรื่องให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ สำนักงานการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย

ขณะที่หน้าสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สหภาพแรงงานองค์การเภสัชกรรม (อภ.) รวมตัวกันปราศรัยเรียกร้องให้ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  และ นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม ปกป้องไม่ให้มีการออกข่าวโจมตีองค์การเภสัชกรรมรายวัน เพราะอาจจะกระทบต่อการบริโภคยาของประเทศจนทำให้ประชาชนไม่มั่นใจในยาที่ผลิตภายในประเทศ แล้วหันไปใช้ยาที่นำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพงกว่า

 

หมอประดิษฐ ชี้ข้อเสนอผู้ชุมนุมขัดหลักการไม่สามารถรับได้ ยันระเบียบการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน ยืดหยุ่น ปรับได้ตามพื้นที่

วันเดียวกัน เว็บไซต์สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีรายงาน ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรม และคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันแถลงเกี่ยวกับกรณีที่ชมรมแพทย์ชนบท กลุ่มสหภาพองค์การเภสัชกรรม กลุ่มเครือข่ายผู้ป่วยโรคเอดส์ โรคไต และมะเร็ง มาชุมนุมเรียกร้องเรื่องประกาศการจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุขและเรื่องขององค์การเภสัชกรรม

นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์

นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวว่า ในวันนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้เชิญตัวแทนผู้ชุมนุมมาพูดคุยทำความเข้าใจร่วมกัน ซึ่งได้รับข้อเสนอจากกลุ่มผู้มาชุมนุมว่าจะเจรจากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขต่อเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขยอมรับในข้อเสนอ 2 ข้อ คือ

1.ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเรื่อง การทบทวนหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนกำลังคนภาครัฐกระทรวงสาธารณสุข

และ2.ให้ใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 4 และ 6 เหมือนเดิม ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักการ จึงไม่สามารถรับข้อเสนอได้ที่ผ่านมา สิ่งที่ผู้ชุมนุมเรียกร้องมาโดยตลอด เป็นรายละเอียดปลีกย่อยในทางปฏิบัติ ซึ่งในระเบียบได้ยืดหยุ่นให้สามารถปรับได้ตามความเหมาะสม และให้อยู่ในอำนาจของเขตและพื้นที่พิจารณา ทั้งเรื่องของจำนวนเงิน หลักเกณฑ์ในแง่ของพื้นที่และจำนวนปีที่ทำงานในพื้นที่  สามารถมาคุยหารือกันได้

สำหรับข้อกังวลต่างๆ ในทางปฏิบัติหลังจากมีการปรับระบบการจ่ายค่าตอบแทน เช่น จะทำให้แพทย์ลาออกมากขึ้นนั้น จากข้อมูลพบว่าขณะนี้การลาออกไม่แตกต่างจากปกติ สาเหตุส่วนใหญ่ของการลาออกคือไปศึกษาต่อ และมีผลการวิจัยของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขพบว่า การจ่ายค่าตอบแทนแบบเหมาจ่ายไม่ได้มีผลต่อการลาออกของแพทย์ เพราะแพทย์ส่วนใหญ่ไม่ได้มองเรื่องเงินเป็นหลัก แต่มีจุดมุ่งหมายในชีวิต เช่น ไปเรียนต่อในระดับที่เชี่ยวชาญขึ้น โดยระบบการจ่ายค่าตอบแทนนี้จะเพิ่มประสิทธิภาพการบริการประชาชน ไม่ใช่ทำให้เกิดการแก่งแย่งผลงาน หรือการทำงานเพื่อล่าแต้ม โดยรัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณค่าตอบแทนอย่างเต็มที่ ซึ่งครม.มีมติชัดเจนว่าถ้าเงินไม่พอให้ขอเพิ่มเติมจากครม.ได้อีก ซึ่งความวิตกกังวลต่างๆ ที่เกิดขึ้นขณะนี้ คล้ายกับช่วงการเริ่มต้นโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค มีหลายฝ่ายวิตกกังวลและบอกว่าไม่ดี จนกระทั่งขณะนี้ประชาชนได้รับสิ่งที่ดีขึ้น และกลายเป็นความภาคภูมิใจร่วมกันของทุกฝ่าย รวมทั้งแพทย์ชนบทด้วย

“อยากขอให้ทุกฝ่ายมองไปข้างหน้า ว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากสิ่งที่เราจะทำในอนาคตจะดีกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้เป็นเรื่องของความไม่เข้าใจกันในเรื่องของรายละเอียดปลีกย่อยที่ปรับได้ ซึ่งมติครม.ได้พูดชัดว่าให้มีการประเมินผลการดำเนินการช่วง 1 ปี และทบทวนในช่วง 3-4 เดือนนี้ เพราะจะมีการใช้เงินผ่านสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและจะให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพเข้ามาร่วมเป็นตัวกลาง”นายแพทย์ประดิษฐกล่าว

แจงกรณี อภ. ต้องการให้เกิดความโปร่งใส สร้างความเชื่อมั่นประชาชน

นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อไปว่า สำหรับเรื่องที่สมาพันธ์องค์การเภสัชกรรมและเครือข่ายผู้ป่วยร้องเรียนเรื่องการเข้าไปตรวจสอบองค์การเภสัชกรรม ขอยืนยันว่าทำด้วยความตั้งใจดีและทำเพื่อประชาชน ต้องการให้องค์การเภสัชกรรมซึ่งเป็นองค์กรของรัฐมีความโปร่งใส และเกิดความเชื่อมั่นแก่ประชาชน ส่วนความห่วงใยว่าอาจเกิดปัญหาการทุจริตในการจัดซื้อเครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดนั้น ขอให้ช่วยกันจับตาดูต่อไป หากพบหลักฐานว่ามีการทุจริตก็ขอให้ทำบันทึกแจ้งเข้ามา หรือเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสอบสวน ไม่ได้มีการปิดกั้น ซึ่งแพทย์ชนบทก็มีชื่อเสียงในเรื่องการสะสางการทุจริตต่างๆ ยินดีที่จะมาช่วยกันส่งเสริมให้กระทรวงฯขาวสะอาด

ด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ก่อนที่จะออกประกาศฉบับที่ 8 และ 9 กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการ 3 ประเด็น ได้แก่ 1.เรื่องการปรับพื้นที่ โดยเปิดโอกาสให้โรงพยาบาลที่คิดว่าจะเปลี่ยนแปลงพื้นที่ส่งเข้ามาภายในวันที่ 19 เมษายน 2556 ขณะนี้ได้รับแล้ว และคณะกรรมการที่มีนายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ร่วมกับหน่วยงานภายนอก เช่น สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง และหน่วยงานอื่นๆ จะพิจารณาภายในสัปดาห์หน้า

ประเด็นที่ 2 คือรายละเอียดของประกาศฉบับที่ 9 ซึ่งเป็นเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน กระทรวงฯได้รับฟังความคิดเห็นและพยายามจะปรับหลักเกณฑ์การเก็บคะแนน ได้เปิดให้ยืดหยุ่นให้คณะกรรมการระดับเขตพิจารณาปรับแก้ได้ตามความเหมาะสม โดยประกาศฉบับดังกล่าวครอบคลุมทั้งเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาและการฟื้นฟูสมรรถภาพ รวมทั้งการออกชุมชน งานด้านบริหารและวิชาการด้วย ส่วนรายละเอียดของการเก็บคะแนน หากจะปรับเปลี่ยนไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว ให้อยู่ในการวินิจฉัยของคณะกรรมการระดับเขต

ส่วนเรื่องที่ 3 คือวงเงินค่าตอบแทน ในเบื้องต้นนี้ ได้กำหนดให้ใช้เงินบำรุงของโรงพยาบาลเพิ่มเติมให้   ร้อยละ 1 เป็นขั้นต่ำ หากจะขอเพิ่มเป็นร้อยละ 2 ก็อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการเขตเช่นกันแต่หากมากกว่า ร้อยละ 2 ให้อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการระดับกระทรวงเป็นผู้พิจารณา ซึ่งเมื่อวานนี้ (23 เมษายน 2556) ได้ชี้แจงนโยบายให้แก่ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้แทนผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชนทุกเขตไปแล้ว และได้เน้นย้ำนโยบายของรัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุขว่า ให้มีการบริหารจัดการยา เวชภัณฑ์และเรื่องอื่นๆ ให้เกิดประสิทธิภาพ หากแห่งใดดำเนินการได้ดี  ก็สามารถนำเงินส่วนที่ประหยัดได้ให้ผู้ตรวจราชการฯ นำมาบริหารจัดการเป็นค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงานด้วย และได้ให้เดินหน้าทำความเข้าใจเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ โดยในวันพรุ่งนี้ตนจะเดินทางลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี และในเดือนหน้าจะประชุมชี้แจงบุคลากรทั่วประเทศอีกครั้ง จำนวน 6 รุ่น ทั้งเรื่องแนวทางปฏิรูประบบของกระทรวงสาธารณสุข และค่าตอบแทนตามผลปฏิบัติงาน

นายแพทย์ณรงค์ได้ชี้แจงกรณีของการจัดซื้อเครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือดให้อสม.ทั่วประเทศ งบประมาณ 153 ล้านบาท ว่า เป็นงบประมาณที่ตั้งโดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เพื่อซื้อชุดอุปกรณ์ที่จำเป็นสนับสนุนการทำงานของอสม.จากการประชุมสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวานนี้ นายแพทย์สาธารณสุขหลายท่านมีความกังวลถึงความไม่ชัดเจน จึงได้ให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพไปทบทวนให้ชัดเจน และชะลอการจัดซื้อไปก่อน และให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขลงไปดูแลในพื้นที่ ว่าจังหวัดใดดำเนินการจัดซื้อไปแล้วบ้าง ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีหนังสือกำชับไปยังจังหวัดอย่างชัดเจนให้ดำเนินการจัดซื้อตามระเบียบพัสดุให้ถูกต้อง และรายงานผลให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขรับทราบ นอกจากนี้ ยังได้ให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพพิจารณาเรื่องขอบเขตการทำงานของอสม.ว่าสามารถเจาะเลือดได้หรือไม่ โดยหารือกับสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาเทคนิคการแพทย์ และแพทยสภา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles