ประมวลข่าวสารด้านลิขสิทธิ์กับอธิป จิตตฤกษ์ นำเสนอข่าว: จีนกับการผูกขาดธาตุโลหะหายาก ชิงความได้เปรียบการผลิตสิ่งอิเล็กทรอนิกส์, นักวิจัย MIT ค้นพบ “วัสดุมีชีวิต”
จีนกับการผูกขาด 17 ธาตุโลหะหายาก ...หรือน้ำมันของศตวรรษที่ 21
ธาตุโลหะหายากหรือที่เรียกภาษาอังกฤษว่า Rare Earth Element หรือ Rare Earth Metal คือธาตุ 17 ธาตุที่จริงๆ พบได้ในดินทั่วไปไม่ยากนัก แต่มักจะมีลักษณะกระจัดกระจายเป็นเศษเล็กๆ (ต่างจาก แร่หายาก (Rare Earth Mineral) ที่มักจะไม่พบทั่วไปแต่เมื่อพบมันก็มักจะกระจุกตัวกันเป็นก้อนใหญ่ๆ) นอกจากนี้ทั้ง 17 ธาตุยังมีลักษณะคล้ายคลังกันอีก ซึ่งส่งผลให้การสกัดธาตุออกจากกันในระบวนการถลุงแร่นั้นต้องใช้ทั้งเทคนิคขั้นสูงและสร้างของเสียทางเคมีออกมาอย่างมหาศาล
การต้องไปหาธาตุโลหะหายากนี้ทั้งๆ ที่หาได้ยากเย็น ดูจะบ่งว่ามันมีความสำคัญไม่น้อยต่อโลกยุคปัจจุบัน ซึ่งอันที่จริงธาตุโลหะเหล่านี้ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญขาดไม่ได้ของอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีระดับสูงในปัจจุบันสารพัด อาทิเช่น คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน เลนส์กล้องถ่ายรูป ทีวีจอแบน เครื่องยิงแสงเลเซอร์สารพัด แบตเตอร์รี่รถยนต์แบบลิเธี่ยม แบตเตอรี่นิวเคลียร์ แผ่นรับแสงอาทิตย์ของโซล่าร์เซลล์ กังหันลม แม่เหล็ก เซรามิค ระบบนำวิถีของจรวดมิสไซล์ เป็นต้น
ณ ขณะนี้ จีนเป็นผู้ผลิตธาตุโลหะหายากกว่า 90% ในโลก จีนได้ขยายการผลิตธาตุโลหะหายากส่วนใหญ่ของโลกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ดังที่เติ้ง เสี่ยว ผิง ประกาศในขณะเป็นผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ในปี 1992 ว่า "ตะวันออกกลางมีน้ำมัน แต่จีนเรามีธาตุโลหะหายาก"และอัตราส่วนแบ่งตลาดก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มาเป็นกว่า 90% ในปัจจุบัน
ความได้เปรียบในการผลิตของจีนนั้นนอกจากดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลที่เปิดโอกาสให้กับความเป็นไปได้ในการทำเหมืองแร่ และแรงงานราคาถูกอันลือชื่อแล้ว มันก็ยังมีกฎเกณฑ์ด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ต่ำด้วย
ปัจจัยทั้งหมดทำให้จีนมีต้นทุนการผลิตธาตุโลหะหายากถูกที่สุดในโลก และประเทศอื่นๆ ก็นำเข้าธาตุโลหะหายากจากจีนแทบจะทั้งสิ้น พูดง่ายๆ คืออุตสาหกรรมทำส่วนประกอบของสินค้ายุคดิจิทัลจำนวนมากจะต้องพึ่งการผลิตธาตุโลหะหายากจากจีน
แต่วันดีคืนดีจีนก็ประกาศลดปริมาณการส่งออกธาตุโลหะหายากลงในปี 2010 โดยอ้างเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม (ซึ่งก็มีส่วนจริง เพราะในจีนเองชุมชนโดยรวบไซต์การผลิตก็ต้องรับภาระของขยะเคมีอันเกิดจากการผลิตแร่ไปมหาศาล) นี่ทำให้ราคาธาตุโลหะหายากในตลาดโลกพุ่งพรวดและหลายๆ ประเทศก็ดูจะริเริ่มอุตสาหกรรมถลุงธาตุโลหะหายากของตัวเอง
นี่ทำให้ประเทศที่นำเข้าธาตุโลหะหายากอันดับต้นๆ ของญี่ปุ่นไปเจรจาการทำเหมืองธาตุโลหะหายากกับพม่า (ก่อนที่จะไปเจอแหล่งธาตุโลหะหายากในญี่ปุ่นเอง) และถึงกับทำให้เกาหลีเหนือกับใต้มาเจรจากันเกี่ยวกับการทำเหมืองธาตุโลหะในเปียงยางด้วยซ้ำ นอกจากนี้ทางอเมริกาและอินเดียก็ยังพยายามทำเหมืองธาตุโลหะหายากภายในประเทศตัวเองเพื่อการใช้ภายในประเทศอีกด้วย
อย่างไรก็ดีทั้งๆ ที่ประเทศต่างๆ พยายามจะผลิตธาตุโลหะหายากนี้ไว้ใช้เองในประเทศ มันก็ยังไม่ได้เปลี่ยนให้จีนตกไปจากการเป็นผู้ถือครองส่วนแบ่งตลาดทั้งกว่า 90% อยู่
และในที่สุดทั้งอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นก็ร่วมกันฟ้ององค์กรการค้าโลก (WTO) ว่าการสร้างโควต้าการส่งออกของจีนที่ทำให้ราคาแร่โลหะหายากในตลาดโลกพุ่งขึ้น ถือเป็นการสร้างข้อได้เปรียบให้กับอุตสาหกรรมที่ใช้แร่โลหะหายากภายในจีนเอง หรือพูดง่ายๆ คือมันทำให้ราคาของแร่หายากภายในจีนถูกกว่าที่อื่นๆ ทำให้ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกในจีนมีข้อได้เปรียบกว่าทุกๆ ที่ในโลกด้านราคาวัตถุดิบ (ตัวแทนทางการค้าของอเมริกาอ้างว่าผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกของอเมริกาต้องเผชิญหน้ากับราคาของธาตุโลหะหายากที่แพงกว่าราคาในจีนถึง 3 เท่า) ซึ่งนี่เป็นการละเมิดข้อตกลงของ WTO
ล่าสุด WTO ก็ได้ตัดสินมาแล้วว่าจีนมีความผิดจริงและต้องยกเลิกโควต้าการค้าเสีย และจีนก็ยังสามารถจะอุทธรณ์ได้อยู่ ก่อนที่อาจต้องเผชิญหน้ากับการลงโทษทางการค้าของอเมริกา ยุโรปและ ญี่ปุ่นต่อไป
ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าโครงการผลิตธาตุโลหะหายากเพื่อการใช้ในประเทศของหลายๆ ประเทศจะหยุดไปแต่อย่างใดเพราะในขณะนี้ เทคโนโลยีทางการทหารและความมั่นคงจำนวนมากก็ต้องพึ่งพาธาตุโลหะหายาก ไม่ว่าจะเป็นโดรน จรวดนำวิถี เลเซอร์ ไปจนถึงอาวุธอัจฉรียะอีกสารพัด ดังนั้นในแง่หนึ่ง ความมั่งคงด้านธาตุโลหะหายากจึงเป็นความมั่นคงของชาติด้วย
Source:
- http://thediplomat.com/2013/01/the-new-prize-china-and-indias-rare-earth-scramble/?allpages=yes
- http://www.theguardian.com/sustainable-business/rare-earth-mining-china-social-environmental-costs
- http://www.forbes.com/sites/larrybell/2012/04/15/chinas-rare-earth-metals-monopoly-neednt-put-an-electronics-stranglehold-on-america/
- http://www.theverge.com/2014/3/26/5549318/china-restrictions-on-rare-earths-violate-trade-law
- http://www.theverge.com/2013/3/25/4145144/japan-discovers-large-rare-earth-metals-reserve-hurt-chinese-monopoly
- http://www.theverge.com/2012/3/14/2869304/us-eu-japan-china-rare-earth-metal-trade-complaint-wto
นักชีววิทยาเชิงสังเคราะห์จาก MIT สร้าง "วัสดุมีชีวิต"ได้แล้ว
เทคโนโลยีใหม่ๆ ในยุคปัจจุบันจำนวนมากได้ทำให้เส้นแบ่งระหว่างสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตแพร่เลือนไป ซึ่งนั่นจะกระทบกับระบบศีลธรรมและจริยศาสตร์ของเราอย่างไรก็คงจะเป็นปัญหาของเหล่านักปรัชญาและนักมนุษย์ศาสตร์ ไม่ใช่สำหรับนักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ
พัฒนาการทางเทคโนโลยีล่าสุดที่ทีมนักวิจัยจาก MIT (ที่นำโดยนักชีววิทยาเชิงสังเคราะห์) รายงานในวารสาร Nature Materials ได้ทดลอง "ตั้งโปรแกรม"การหลั่งเมือกของเซลล์แบคทีเรียใหม่ให้สามารถยึดติดกับอนุภาคระดับนาโนของทองคำได้ ผลที่ได้คือเซลล์แบคที่เรียทีนำไฟฟ้าได้ (ซึ่งจริงๆ จะเรียกสิ่งนี้ว่า "แบคทีเรียไซบอร์ก"ก็น่าจะพอได้)
นี่ดูจะเป็นเรื่องเล็กๆ เท่านั้น แต่นัยยะของมันใหญ่โตมากเพราะในทางทฤษฎีนี่หมายความว่าการดัดแปลงเซลล์ในระดับยีนส์ให้ไปผสมกับวัสดุที่ปกติมันไปผสมด้วยไม่ได้จะเป็นไปได้ และนี่จะนำมาสู่การสร้างวัตถุสิ่งของที่ "มีชีวิต"ได้จำนวนมาก
ทางทีมวิจัยเองกำลังพยายามต่อยอดสร้าง "กาวมีชีวิต"อยู่ ซึ่งมันก็คือกาวที่สามารถจะสมานตัวมันเองได้เมื่อมันหลุดออกจากกัน
อย่างไรก็ดีนักชีววิทยาเชิงสังเคราะห์คนอื่นก็ชี้ว่านัยยะของการค้นพบนี้ยิ่งใหญ่กว่านั้น เพราะ ในทางทฤษฎี เราสามารถจะ "ตั้งโปรแกรม"เซลล์ให้ออกมาเป็นรูปร่างอะไรก็ได้
เช่น เราอาจจะตั้งโปรแกรมเซลล์ให้ประสานกับโลหะผสมกันมีรูปร่างเป็นเก้าอี้ พอเราเอาไปเพาะ เราก็จะได้เก้าอี้โลหะที่ถ้าขาหักแล้วมันก็สามารถจะต่อกันดังเดิมได้
นี่อาจฟังดูเหลือเชื่อแต่ตัวอย่างของวัสดุที่มีลักษณะในแบบดังกล่าวก็คือเซลล์กระดูกของมนุษย์นั่นเองที่แต่ละส่วน "ถูกโปรแกรม"มาโดยธรรมชาติให้จับตัวกับแคลเซียมและมีรูปร่างอย่างที่มันเป็น
ซึ่งถ้าจะให้อธิบายง่ายๆ สิ่งที่นักชีววิทยาเชิงสังเคราะห์ความความเป็นไปได้ทำก็คือ ทำการ "ตั้งโปรแกรม"เซลล์ชนิดอื่นๆ ใหม่ให้จับกับวัสดุหรืออนุภาคอะไรก็ได้ที่ต้องการ ให้มีรูปร่างตามที่ต้องการนั่นเอง
Source:
- http://www.bbc.com/news/science-environment-26691016
- http://newsoffice.mit.edu/2014/engineers-design-living-materials
- http://rt.com/usa/bacteria-solar-electricity-artificial-217/
โอลิมปิกของเหล่าไซบอร์ก
ในยุคสมัยใหม่ที่กีฬาเป็นการแข่งขันเพื่อความบันเทิง กติกาที่จะเอื้อให้เหล่านักกีฬาได้ประลองทักษะที่ได้ฝึกฝนมาอย่างเท่าเทียมกันก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้
ในโลกของกีฬา การดัดแปลงร่างกายให้ "ผิดมนุษย์"เพื่อทักษะทางกีฬาที่มาขึ้นล้วนเป็นเรื่องผิดบาปที่ทำให้นักกีฬาถูกอัปเปหิไปจากอุตสาหกรรมไปจนถึงยึดแชมป์ย้อนหลังไปนักต่อนักแล้ว ซึ่งกรณีที่จะพบเห็นได้บ่อยที่สุดก็คือการใช้ยาโด๊ปเพื่อเพิ่มศักยภาพร่างกาย
ซึ่งอีกด้านหนึ่งการแข่งกีฬาของผู้ที่ร่างกายด้อยกว่ามนุษย์ทั่วไปเนื่องจาก "ความพิการ"ก็ต้องแยกออกไปเพราะนั่นไม่อาจหาความยุติธรรมได้หากแข่งกับบุคคลทั่วไปที่มีอวัยวะสมบูรณ์ครบกว่า
อย่างไรก็ดีในยุคที่อวัยวะเทียมก้าวหน้าขึ้น อวัยวะเทียมก็เริ่มจะมีศักยภาพในการเพิ่มทักษะที่เหนือมนุษย์ขึ้น อย่างน้อยๆ การที่นักวิ่งขาเทียมคู่อย่าง Oscar Pistorius แข่งความเร็วชนะพวกนักวิ่งที่มีแข้งขาสมบูรณ์ได้ก็ทำให้เกิดคำถามว่าขาเทียมของเขาน่าจะเป็นที่มาของข้อได้เปรียบ (เช่นทำให้เหนื่อยน้อยกว่าขาจริง)
แต่ตอนนี้เทคโนโลยีมันไม่ใช่แค่นั้น การพยายามใส่ความสามารถเหนือมนุษย์ไปในเหล่าอวัยวะเทียมมีมากขึ้นเรื่อยๆ
และบรรดาผู้ติดตั้งอวัยวะเหล่านั้นก็ไม่มีที่ทางในโลกกีฬา
ในที่สุดทางสวิสก็เลยจะจัดโอลิมปิกสำหรับคนเหล่านี้ขึ้นในนาม Cybathlon หรือชื่อรองว่า The Championship for Robot-Assisted Parathletes
กล่าวคือนี่คือโอลิมปิกสำหรับผู้พิการที่ติดตั้งเทคโนโลยี "หุ่นยนต์"เข้าไปในร่างกายนั่นเอง ซึ่งการแข่งขันก็มีสารพัด ตั้งแต่การขับรถด้วยสมอง แข่งแขนกล วิ่งแข่งขากล แข่งขับหุ่นยนต์ที่ประกอบเข้ากับร่างกาย (exoskeleton) เป็นต้น
เข้าชมเว็บของการแข่งครั้งนี้ได้ที่ http://www.cybathlon.ethz.ch/
Source: http://gigaom.com/2014/03/25/humans-and-robots-will-come-together-to-compete-in-the-2016-cybathalon/
สภาบราซิลผ่านกฎหมาย "สิทธิอินเทอร์เน็ต"ออกมาในที่สุด
อินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่ทางสังคมที่ขยายตัวมากหลังการปฏิวัติดิจิทัลในทศวรรษที่ 2000
เมื่อพื้นที่ขยายตัวก็มีผู้คนเข้ามาทำกิจกรรมต่างๆ มากมาย ซึ่งกิจกรรมเหล่านั้นในหลายๆ ครั้งก็ไม่มีสถานะทางกฎหมายชัดเจนในกรอบของกฎหมายรัฐชาติแบบดั้งเดิม
ในแง่หนึ่งอินเทอร์เน็ตคือแดนเถื่อนที่คนแทบจะทำอะไรก็ได้ ดังนั้นรัฐชาติจำนวนมากจึงตั้งป้อมควบคุมกิจกรรมบนอินเทอร์เน็ตแบบเต็มที่
อย่างไรก็ดีการใช้อำนาจแบบนั้นก็ทำให้เกิดภาวะที่รัฐใช้อำนาจในแบบที่ตนไม่สามารถใช้ในโลกออฟไลน์ไปอีก อินเทอร์เน็ตก็เลยกลายเป็นโลกของรัฐที่มีอำนาจตามแต่ที่ตนจะมีปัญญาใช้ด้านหนึ่ง กับพลเมืองเน็ตผู้มีเสรีภาพเท่ากับที่ตนหนีอำนาจรัฐได้ในที่สุด
ประเทศจำนวนมากร่างกฎหมายอินเทอร์เน็ตมามากมายเพื่อรองรับการใช้อำนาจรัฐบนอินเทอร์เน็ตอย่างเฉพาะเจาะจง
แต่บราซิลก็เป็นประเทศเดียวที่ร่างกฎหมายอินเทอร์เน็ตมาโดยคำนึงถึงสิทธิผู้ใช้อินเทอร์เน็ต และกฎหมายตัวนี้ก็เรียกกันว่า Marco Civil Bill
กฏหมายนี้ใช้เวลาตั้งแต่เริ่มร่างในปี 2009 พร้อมรับฟังเสียงจากภาคประชาสังคมหลากหลายมาตลอดกระบวนการ มาจนล่าสุดสภาผ่านล่างกฎหมายนี้ ไปเรียบร้อยแล้วเมื่อต้นปี 2014 นี้ และมันก็เหลือด่านแค่วุฒิสภาและการลงนามของประธานาธิบดีเท่านั้น
รายละเอียดหลักๆ ของกฎหมายนี้คือ การกำหนดของเขตในการบังคับการเก็บข้อมูลของเหล่าผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ทาง ISP ต้องเก็บ 1 ปี ส่วนผู้ให้บริการอื่นๆ ต้องเก็บครึ่งปี) การบัญญัติชัดเจนว่าผู้ให้บริการจะต้องไม่มีการเลือกบฏิบัติกับข้อมูล (Net Neutrality) และมีกำหนดว่า "ตัวกลาง"ทั้งหลายจะไม่ถือว่ามีภาระใดๆ ทั้งนั้นตราบเท่าที่ทำตามคำสั่งศาล (ทั้งนี้ยังไม่รวมกรณีเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ที่จะถูกกำหนดด้วยกฎหมายอีกตัวทีอยู่ในกระบวนการ)
นอกจากนี้กฎหมายนี้ยังมีการระบุสิทธิผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสารพัดตั้งแต่เรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลไปถึงเสรีภาพในการแสดงออกอีกด้วย
ทั้งนี้ร่างกฎหมายนี้ก็ยังเป็นภาษาโปรตุเกสอยู่ ยังไม่มีให้อ่านเป็นภาษาอังกฤษแต่อย่างใด
Source:
- http://gigaom.com/2014/03/26/brazilian-lawmakers-approve-bill-of-online-rights-minus-local-storage-requirements/
- http://infojustice.org/archives/32527