3 เม.ย.2557 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมออกแถลงการณ์เตือนหลังเกิดเหตุการณ์คนร้ายดักยิงคณะผู้ใหญ่บ้านเสียชีวิต 3 ศพ ที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา เมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยระบุว่าการก่อเหตุรุนแรงต่อผู้บริสุทธิ์อย่างเป็นระบบ อาจละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและเข้าข่ายการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
...........................................
แถลงการณ์
อย่าล้ำเส้น ฆ่าผู้บริสุทธิ์อย่างเป็นระบบ
การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์จะกลายเป็นอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ
ตามข่าวเผยแพร่ทางสื่อสาธารณะระบุว่าในวันพุธที่ 2 เม.ย.2557 เกิดเหตุคนร้ายดักยิงคณะผู้ใหญ่บ้าน ขณะเดินทางเสียชีวิต 3 ราย คือนายเอียะ ศรีทอง อายุ 47 ปี เป็นผู้ใหญ่บ้านบ้านกาสังใน หมู่ 6 ต.ตาเนาะปูเต๊ะ นางเฉลียว พิกุลกลิ่น อายุ 50 ปี และ นางอุไร ทับทอง อายุ 47 ปี โดยทั้งคู่เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านเดียวกัน สภาพศพทั้งสามอยู่ในเครื่องแบบผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน โดยศพนางอุไรถูกทำลายโดยไม่ปรากฏว่ามีศีรษะอยู่บริเวณศพ จุดเกิดเหตุอยู่บนถนนในหมู่บ้าน สายบ้านกาสัง-บ้านกาสังใน หมู่ 6 ต.ตาเนาะปูเต๊ะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา และในวันเดียวกัน ที่ ต. ทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จ. ปัตตานี มีเหตุรอบยิงนางประภรณ์ แก้วมณีรัตน์ อายุ 51 ปี ซึ่งเป็นอาสารักษาดินแดน (อส.) ประจำ จ.ปัตตานี เสียชีวิต แม้ว่าทั้งสองเหตุการณ์จะยังคงอยู่ในระหว่างการสืบสวนสอบสวนหาสาเหตุ หากแต่การฆ่าสังหารผู้บริสุทธิ์ทั้งเด็กและผู้หญิงในสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่มีจำนวนและความรุนแรงมากขึ้นในปี 2556 และช่วงสามเดือนแรกของปี 2557 ทั้งการฆ่าสังหารและเผาศพ การฆ่าสังหารพระ สตรีและเด็ก เหตุการณ์ความรุนแรงต่อพลเรือนอาจเข้าข่าย “อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ” ที่กลุ่มก่อความไม่สงบจะต้องรับผิดทางอาญาตามหลักการของกฎหมายอาญาระหว่างประเทศ ทั้งนี้แตกต่างจากการรับผิดของรัฐในกรณีที่มี “การละเมิดสิทธิมนุษยชน”
การละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นหมายถึงการละเมิดที่กระทำโดยรัฐบาลต่อสิทธิที่ได้รับการรับรองในกฎหมายสิทธิมนุษยชนระดับประเทศ ภูมิภาค และระหว่างประเทศ และการกระทำและการงดเว้นการกระทำที่เป็นของรัฐโดยตรง รวมทั้งการไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีด้านกฎหมายที่มีต่อมาตรฐานสิทธิมนุษยชน การละเมิดเกิดขึ้นเมื่อกฎหมาย นโยบาย หรือการปฏิบัติเป็นการละเมิดอย่างจงใจ หรือเป็นการเพิกเฉยต่อพันธกรณีของรัฐที่เกี่ยวข้อง หรือเมื่อรัฐไม่สามารถปฏิบัติตาม หรือกระทำการให้เกิดผลตามมาตรฐานที่กำหนด การละเมิดเพิ่มเติมยังเกิดขึ้นเมื่อรัฐเพิกถอน หรือกำจัดมาตรการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่มีอยู่ทั้งสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน
หากถ้ามีการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนเช่นเหตุการณ์ฆ่าสังหารพลเรือนดังกล่าวข้างต้น ซึ่งมักใช้ในความหมายทั่วไปแทนคำว่า “การละเมิด” นั้นจะหมายถึงการกระทำของกลุ่มที่สนับสนุนโดยรัฐและกลุ่มที่ไม่ใช่ของรัฐด้วย (เช่น กลุ่มก่อความไม่สงบ) การฆ่าสังหารผู้บริสุทธิ์ด้วยอย่างเป็นระบบอาจเข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Crime against Humanity) ซึ่งเท่ากับว่าเป็น “การละเมิด” กฎหมายระหว่างประเทศ โดยกลุ่มที่กระทำทั้งที่เป็นรัฐและไม่ใช่รัฐจะต้องรับผิดทางอาญาตามหลักการของกฎหมายอาญาระหว่างประเทศ หากการสืบสวนสอบสวนพบว่าการกระทำเป็นส่วนหนึ่งของการฆ่าสังหารอย่างแพร่หลายและอย่างเป็นระบบที่กระทำต่อพลเรือน
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอเรียกร้องให้กลุ่มผู้ใช้ความรุนแรงทุกฝ่ายยุติการฆ่าสังหารต่อพลเรือนผู้บริสุทธิ์ในสถานการณ์ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ การฆ่าสังหารผู้บริสุทธิ์ ชาย หญิง เด็ก เป้าอ่อนแอ รวมทั้งการทำลายศพ ที่เป็นการกระทำอย่างเป็นระบบแพร่หลายจะเข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ การต่อสู้เพื่อเรียกร้องความไม่เป็นธรรมต้องอาศัยความชอบธรรมในการต่อสู้ วงจรความรุนแรงจะนำมาแต่เพียงความสูญเสียต่อมวลมนุษยชาติ