3 เม.ย. 2557 กสทช. ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล จัดการประชุมนานาชาติ: การคุ้มครองผู้บริโภคในยุคดิจิตอล ระหว่างวันที่ 3-4 เม.ย. ที่โรงแรมดิเอมเพรส จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีผู้บริโภคจากทั่วโลกกว่า 200 คน จาก 81 องค์กร 32 ประเทศเข้าร่วม
อแมนดา ลอง ผู้อำนวยการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล หนึ่งในองค์กรร่วมจัด ชี้ถึงผลกระทบยุคดิจิตอลต่อประชาชน โดยยกตัวอย่างโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก ซึ่งมีจำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊กมีมากกว่าประชากรอินเดีย มูลค่าทางการเงินมากกว่า 170,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มากกว่า GDP ของนิวซีแลนด์ พร้อมระบุว่า ประเด็นที่ต้องให้ความสนใจในยุคดิจิตอล ได้แก่ การคุ้มครองผู้บริโภคในประเด็นความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัย การปกป้องอัตลักษณ์ของบุคคล ความปลอดภัยของเด็ก การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต สิทธิที่จะเลือกสินค้า และการสอดแนมข้อมูลที่ส่งผ่านทางดิจิตอล
สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า งานนี้เป็นครั้งแรกของการรวมตัวกันของผู้บริโภคจากทั่วโลกในไทย จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะได้รับประโยชน์ ความรู้ จากประเด็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิตอล รวมทั้งการเชื่อมโยงประเด็นและปัญหาของผู้บริโภคในระดับสากล ทั้งนี้ เมื่อพูดถึงยุคดิจิตอลซึ่งโลกทั้งโลกเชื่อมกัน แต่ละประเทศจึงไม่สามารถมีกฎหมายของตัวเองตามลำพัง แต่ต้องมีมาตรฐานที่เป็นสากลด้วย
สุภิญญา กล่าวด้วยว่า การเข้าสู่ยุคดิจิตอล เป็นเหมือนการเปิดหน้าต่างออกไปเห็นข้างนอกที่กว้างขึ้น ได้รับอากาศดี ขณะเดียวกัน ก็มีมลพิษเข้ามาด้วย แต่เราก็ไม่สามารถปิดหน้าต่างได้อีก จึงต้องมีเครื่องปกป้องมลพิษ หรือคือ กสทช.ที่จะทำหน้าที่กำกับดูแลให้เกิดการแข่งขันและการเท่าทันสื่อ ขณะที่คนในบ้านหรือคือผู้บริโภคนั้นก็ต้องเข้มแข็งพอที่จะปกป้องตัวเองด้วย
5 ข้อเรียกร้องของคนใช้โทรศัพท์มือถือ
ด้าน อินดรานี ทูรายสิงทาม หัวหน้าสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและตะวันออกกลาง กล่าวในหัวข้อ "วันคุ้มครองผู้บริโภคโลก"ว่า วันคุ้มครองผู้บริโภคโลกปีนี้ กำหนดวาระเรื่อง Fix Our Phone Rights หรือ "กู้สิทธิ พิชิตโทร"เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือกว่า 6.8 พันล้านคนทั่วโลก โดยมีการใช้โทรศัพท์มือถือในการทำงานหลายอย่าง ตั้งแต่ติดต่อสื่อสาร ติดตามข่าวสารการเลือกตั้ง การกีฬา ไปจนถึงทำธุรกรรมออนไลน์ โทรศัพท์มือถือจึงเป็นเครื่องมือส่งเสริมอำนาจและเพิ่มพลังให้พลเมืองผู้บริโภค ขณะที่เรื่องที่มีการร้องเรียนมากที่สุดก็คือเรื่องโทรคมนาคมเช่นกัน
สำหรับข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสิทธิด้านโทรศัพท์มือถือมี 5 ประเด็น ได้แก่
หนึ่ง สัญญาที่ยุติธรรมและเป็นธรรม เนื่องจากพบว่า ที่ผ่านมา มีการเซ็นสัญญาที่คลุมเครือ บางครั้งมีการต่อสัญญาอัตโนมัติ ไม่รู้ว่าถูกล็อคให้อยู่ในสัญญาเป็นเวลานาน บางครั้งต้องจ่ายเงินเมื่อจะยกเลิกสัญญา
สอง การให้บริการที่คุ้มค่า เพราะพบว่ามีบริการที่ไม่ครอบคลุม สายหลุดบ่อย ไม่มีบริการรับเรื่องร้องเรียน-แก้ปัญหาให้ผู้บริโภค ร้องเรียนไม่ได้
สาม ผู้บริโภคต้องได้รับใบแจ้งหนี้ที่ยุติธรรมและโปร่งใส เช่น แจกแจงค่าใช้จ่ายอย่างละเอียด เนื่องจากมักมีค่าบริการแฝง ค่าบริการโรมมิ่งสูง
สี่ อำนาจกับผู้บริโภคในการดูแลข้อมูลตัวเอง เนื่องจากบางครั้งผู้บริโภคได้รับ SMS จากการที่ข้อมูลส่วนตัวถูกเปิดเผยโดยไม่ได้รับอนุญาต ในสหรัฐฯ มีการสอดแนมทางมือถือ
ห้า ความเป็นจำเป็นที่ต้องรับฟังและตอบสนองข้อร้องเรียนของผู้บริโภค หลายประเทศผู้บริโภคไม่มีช่องทางร้องเรียน บางประเทศต้องฟ้องร้องในศาล ซึ่งหมายถึงค่าใช้จ่ายจำนวนมากตามมา
สารี อ๋องสมหวัง ประธานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านโทรคมนาคม กสทช. และเลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ปัจจุบัน ไทยมีจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ 90.96 ล้านคน เท่ากับบางคนมีโทรศัพท์มือถือ 2 เครื่อง โดย ปัญหาที่ได้รับการร้องเรียนในไทยมากที่สุด ได้แก่ เรื่อง
มาตรฐานการบริการ ตามด้วยเรื่องสัญญาการใช้บริการที่ไม่ชัดเจน การจำกัดระยะเวลาการใช้โทรศัพท์ในระบบบัตรเติมเงิน ซึ่งต่อมา กสทช.ได้ขยายระยะเวลาในการใช้ทุกครั้งที่เติมเงินแล้ว การย้ายค่ายเบอร์เดิมที่มีบางค่ายไม่ยอมให้ย้าย ข้อมูลที่ให้แก่ผู้บริโภคไม่เพียงพอ การคิดค่าบริการด้วยเสียงเกินกว่าที่กำหนด การลงทะเบียนในระบบเติมเงินทำได้ยาก เงินที่เติมไว้ค้างในค่ายเดิมไม่สามารถขอคืนได้
สารีชี้ว่า ความท้าทายของไทย คือการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่แก้ปัญหารายบุคคล ชดเชยค่าเสียหาย ดำเนินการตามที่มีการร้องเรียน และให้ข้อมูลเรื่องสิทธิผู้บริโภคอย่างเพียงพอ พร้อมชี้ว่า ตอนนี้ไม่ใช่แค่บริการด้านเสียง แต่เป็นมีเรื่องข้อมูลต่างๆ ในโทรศัพท์มือถือด้วย
ทั้งนี้ การประชุมในวันแรก (วันที่ 3 เมย.) มีหัวข้อน่าสนใจได้แก่ วันคุ้มครองผู้บริโภคโลก ปี 2014 การรณรงค์เรื่อง “กู้สิทธิพิชิตโทร” (Fix our phone rights!) และการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม อาทิ การชำระเงินออนไลน์ & การผลิตเนื้อหาดิจิตอล ข้อตกลง TPP (Trans-Pacific Partnership Agreement) : การคุ้มครองผู้บริโภคในประเด็นกฎหมายลิขสิทธิ์และเนื้อหา และ มาตรฐาน ISO/IEC เกี่ยวกับข้อตกลงเรื่องรูปแบบบริการ และการดำเนินงานด้านการจ่ายเงินผ่านมือถือของ W3C เป็นต้น
ส่วนวันที่สอง (4 เมย.) มีหัวข้อประชุม ได้แก่ คุณภาพบริการของผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมเกี่ยวกับ ประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการบรอดแคส อาทิ สิทธิในการรับชมทีวีของผู้บริโภค: มาตรฐานใหม่ในยุคดิจิตอล แนวโน้มและทิศทางของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ในระบบ ดิจิตอลและการจัดการช่องว่างของคลื่น นโยบายและทิศทางการกำกับดูแล และ ทบทวนบทเรียนจากแนวทางสหประชาชาติสำหรับการคุ้มครองผู้บริโภค
ทั้งนี้ ติดตามและรับฟังการถ่ายทอดสดการประชุมทั้งสองวันได้ทาง www.nbtc.go.th และความเคลื่อนไหวเพิ่มเติม ดาวน์โหลดเอกสารประกอบได้ทาง www.facebook.com/DigitalConsumerRights และทวิตเตอร์ @NbtcRights