Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

ปลดล็อคปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก...กระจายอำนาจทางการศึกษา...คืนโรงเรียนให้ชุมชน

$
0
0

ข้อสรุปจาก เวทีระดมความเห็นเพื่อขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษา : เวทีเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็ก สังกัด สพฐ./ โรงเรียนชุมชน เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ.2557 เสนอกระจายอำนาจการศึกษา ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ปฎิรูปหลักสูตร ตัวชี้วัด การประเมินผล การบริหาร ข้อบังคับการศึกษาและการจัดสรรงบประมาณ

 

0000

 

ระบบการศึกษาที่มุ่งสอนแต่หลักสูตรแกนกลางเป็นหลัก ได้พรากเด็กให้ห่างไกลจากการเรียนรู้เรื่องราวอันเป็น "ราก"ของความเป็นตัวเขา ความเป็นพ่อแม่ เครือญาติและชุมชนของเขา

ขณะที่ห้องเรียนกำลังพรากเด็กให้ห่างไกลจากชุมชน ...นโยบายการยุบโรงเรียนขนาดเล็กก็กำลังแสดงแสนยานุภาพในการย่อยทำลายความเป็นชุมชนให้ค่อยๆ สูญสลายเข้าสู่การเป็นสังคมปัจเจกอย่างเต็มตัว

โรงเรียนขนาดเล็ก เป็นภาพสะท้อนของปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเฉพาะเรื่องการกระจายงบประมาณทางการศึกษา ที่ไม่สามารถกระจายลงไปให้เกิดความเท่าเทียมและเข้าถึงในการศึกษาได้อย่างแท้จริง เพราะการจัดสรรงบประมาณรายหัวเด็กนักเรียนนั้นไม่สมดุลกับสภาพความเป็นจริง ทั้งๆ ที่ต้นทุนของเด็กแต่ละคนต่างกันตามสภาพพื้นที่ แต่ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนที่ด้อยโอกาส โรงเรียนเล็ก กลาง ใหญ่ กลับได้รับงบประมาณอุดหนุนรายหัวเด็กเท่ากัน ดังนั้นโรงเรียนที่ด้อยโอกาสอยู่แล้วจึงไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะพัฒนาโรงเรียน ไหนจะขาดครู ขาดอุปกรณ์การเรียนการสอนจนนำไปสู่การเกิดความเหลื่อมล้ำของคุณภาพและศักยภาพทางการศึกษาตามมา

ขณะเดียวกัน ระบบการศึกษาไทยก็ได้สร้างให้คนเกิดความเหลื่อมล้ำต่ำสูง เพราะโรงเรียนที่ดีมีคุณภาพยังกระจายออกไปไม่ทั่วถึงทุกท้องถิ่น สถานการณ์เช่นนี้กดดันให้พ่อแม่ผู้ปกครองที่พอมีกำลังทางเศรษฐกิจส่งลูกเข้าเรียนในโรงเรียนเด่น โรงเรียนดังที่อยู่ในเมืองเป็นหลัก ขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองที่มีฐานะยากจนก็ขาดทางเลือก จึงต้องให้ลูกเข้าเรียนในโรงเรียนที่ด้อยคุณภาพกว่า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนขนาดเล็กและขนาดกลางค่อนข้างเล็ก ที่โรงเรียนเหล่านี้ต้องเผชิญกับปัญหาการจัดสรรงบประมาณรายหัวเด็กที่ไม่เป็นธรรม เด็กน้อยงบน้อย ขาดการพิจารณาตามสภาพจริง จนไม่มีงบเพียงพอที่จะสามารถพัฒนาโรงเรียนและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพ แต่แทนที่รัฐจะส่งเสริมให้โรงเรียนในชุมชนเหล่านี้มีการจัดการพัฒนาเพื่อให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น ให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพเท่าเทียมกันด้วยการจัดสรรงบประมาณให้นั้น กลับซ้ำเติมด้วยการเพิกเฉยและแก้ปัญหาด้วยการยุบควบรวมดังที่ปรากฎกับโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่เขตการศึกษาจำนวนมาก

นอกจากนี้ อำนาจการจัดการศึกษาที่ผูกขาดอยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการยังเป็นเงื่อนล็อคสำคัญที่ทำให้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กไม่สามารถแก้ไขจัดการปัญหาด้วยตนเองได้ ทั้งการผูกขาดเรื่องบุคลากร ที่ครูต้องมีใบประกอบวิชาชีพและส่วนกลางเป็นผู้คัดเลือกครูเพื่อส่งลงมาท้องถิ่น หลายโรงเรียนเผชิญปัญหามีเด็กแต่ไม่มีครูด้วยจำนวนเด็กที่ต่ำกว่าเกณฑ์ทำให้กระทรวงศึกษาฯ ไม่ส่งครูลงมาประจำ หลายโรงเรียนเผชิญปัญหาครูไม่ครบชั้น ครู ๑ คนทำทั้งงานธุรการ งานการเรียนการสอนในทุกชั้นเรียน ทั้งปัญหาการโยกย้ายเปลี่ยนแปลงผู้บริหารอยู่โดยตลอด ทำให้นโยบายการบริหารโรงเรียนกระท่อนกระแท่นไม่ต่อเนื่อง เปลี่ยนแปลงไปมาจนยากที่จะแก้ไขปัญหาได้อย่างจริงจัง

ปัญหาจากหลักสูตรแกนกลาง และการประเมินวัดผลที่มีเกณฑ์การประเมินและตัวบ่งชี้วัดคุณภาพการศึกษาที่ไม่หลากหลาย วัดผลแบบเดียว ไม้บรรทัดเดียวที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง รวมทั้งนโยบายการศึกษาที่มุ่งเน้นความเป็นเลิศทางวิชาการ แต่กลับทำลายความเป็นเลิศของศักยภาพผู้เรียนที่หลากหลาย อีกทั้งยังละเลยไม่ให้ความสำคัญกับองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นอีกด้วย

ด้วยเงื่อนล็อคเช่นนี้ เครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็ก สังกัด สพฐ./ โรงเรียนชุมชน จึงมีข้อเสนอเพื่อปลดล็อคการศึกษา ปลดล็อคปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ดังนี้

1.ปฏิรูปการกระจายอำนาจ

แยกการเมืองออกจากการศึกษา ปฏิรูปอำนาจการจัดการศึกษาที่ส่วนกลาง ด้วยการลดขนาดส่วนกลาง เช่น สพฐ.ให้เล็กลงและกระจายบุคลากร กระจายงบประมาณลงไปยังโรงเรียนต่างๆ ให้ชุมชนสามารถเป็นผู้จัดการศึกษาได้ ด้วยการระดมทรัพยากรภายในชุมชน/ท้องถิ่นเข้ามาใช้ในการจัดการเรียนรู้ รวมทั้งให้ทุกพรรคการเมืองมาร่วมกันจัดทำแผนทางการศึกษา และมีการทำสัตยาบันร่วมกันเพื่อให้นโยบายทางการศึกษาเป็นไปอย่างต่อเนื่องและไม่ถูกแทรกแซงจากทางการเมือง

2.ปฏิรูปกระบวนทัศน์ทางการศึกษา

จากรัฐเป็นผู้จัดการศึกษาเท่านั้น ให้ทุกคนมีส่วนร่วมทางการศึกษา โดยเบื้องต้นให้จัดทำข้อตกลงระหว่างผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง ชุมชน เพื่อทำหน้าที่ในการจัดการศึกษาร่วมกัน และมีการจัดทำคู่มือผู้ปกครองว่าจะมีบทบาทหน้าที่เชื่อมโยงกันอย่างไรบ้าง และระยะยาวนั้นให้มีการเชื่อมร้อยเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็กให้มีกิจกรรมที่จะสร้างความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่องด้วยการจัดเวทีสมัชชาประจำปี สื่อสารกับสังคมอย่างต่อเนื่องเพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทางการศึกษาใหม่ที่เชื่อมั่นในการเรียนรู้ที่หลากหลายตลอดชีวิต

3.ปฏิรูปการบริหารจัดการ

ในระยะสั้น โรงเรียนทุกโรงเรียนจะต้องมีผู้บริหาร ส่วนในระยะยาวนั้น งานบริหารงานบุคคลของโรงเรียนขนาดเล็กต้องมีการปรับเปลี่ยนด้านอัตรากำลัง ให้มีอัตรากำลังที่สอดคล้องกับบริบทโรงเรียน ไม่ใช่หลักเกณฑ์เดียวกับโรงเรียนขนาดใหญ่ ต้องจัดครูให้ครบชั้นเรียน โดยในการคัดเลือกครู การผลิตครูนั้น ชุมชนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วม โดยบุคลากรครูไม่จำเป็นจะต้องมีใบประกอบวิชาชีพ เพื่อเปิดโอกาสให้บุคลากรในชุมชนสามารถเป็นผู้จัดการศึกษาได้

รวมทั้งให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการบุคลากรสถานศึกษา เช่น การคัดเลือกเข้า/ให้ออก ให้เป็นสิทธิของผู้บริหารและบุคลากรครูภายในโรงเรียนนั้นๆ

4.ปฏิรูปหลักสูตรการศึกษา ตัวชี้วัด ประเมินผล

ปรับการเรียน เปลี่ยนการสอน ด้วยการจัดทำหลักสูตรที่ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม เชื่อมร้อยชุมชน ผู้ปกครอง ศาสนสถาน และบุคลากรส่วนต่างๆ โดยต้องเป็นหลักสูตรที่สอดคล้องกับท้องถิ่น สอดคล้องกับเด็กนักเรียนรายบุคคล ไม่ใช่หลักสูตรเดียวสอนทั่วประเทศตั้งแต่ยอดดอยจรดท้องทะเล เพราะบริบทต่าง เงื่อนไขต่าง การจัดการเรียนรู้ย่อมต่างกัน รวมทั้งทลายกำแพงเรื่องของชั้นเรียน เพราะที่ผ่านมาระบบชั้นเรียนเป็นอุปสรรคสกัดกั้นความก้าวหน้าของเด็กที่มีความสามารถ

จากตัวชี้วัดและระบบการประเมินผลแบบเดียวทั้งประเทศ ต้องปรับวิธีการประเมินเป็นรายบุคคลมีการประเมินที่หลากหลายทั้งเรื่องทักษะชีวิต คุณธรรม ไม่เฉพาะวิชาการเท่านั้น ขณะเดียวกัน การทำวิทยฐานะต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการเป็นการประเมินวิทยฐานะเชิงประจักษ์ที่แท้จริงจากตัวผู้เรียน ทั้งในเชิงคุณธรรม จริยธรรม และวิชาการ

5.ปฏิรูปนโยบายกฎหมายการศึกษา

แก้ไขข้อบังคับเรื่องใบประกอบวิชาชีพ เพื่อให้ได้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถที่หลากหลาย ปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติไม่ให้แยกส่วน แต่ให้มีแนวทางการจัดการศึกษาที่เชื่อมร้อยกันตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงมหาวิทยาลัย รวมทั้งแก้ไขให้ท้องถิ่นเข้ามาสนับสนุนการจัดการศึกษาในสัดส่วนที่ชัดเจน เพราะที่ผ่านมาท้องถิ่นสนับสนุนงบประมาณอาหารเสริมเท่านั้น ควรจะมีกฎหมายเสริมหนุนให้ชัดเจนว่า สนับสนุนเท่าไหร่ในแต่ละปี

6.ปฏิรูปการจัดสรรงบประมาณทางการศึกษา

การจัดสรรงบประมาณทางการศึกษา ต้องจัดสรรให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ ยกเลิกการจัดสรรงบประมาณรายหัว ให้เป็นการอุดหนุนงบประมาณภาคครัวเรือนแทน เพื่อให้มีงบประมาณที่เพียงพอสอดคล้องต่อบริบทพื้นที่มากขึ้น รวมทั้งมีการระดมทรัพยากรทางการศึกษาจากทุกภาคส่วน เช่น ให้โอกาสเอกชนเข้ามาสนับสนุนโรงเรียน

เครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็ก/ โรงเรียนชุมชน ก่อตัวขึ้นมาจากสถานการณ์ปัญหานโยบายการยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ที่ละเลยต่อการให้ความสำคัญต่อหน่วยเล็กๆ อย่างชุมชน ทั้งๆ ที่ชุมชนท้องถิ่นเป็นพื้นฐาน เป็นรากของชีวิต

หยุดพรากเด็กจากชุมชน ถึงเวลาปฏิรูปการศึกษา ด้วยการกระจายอำนาจการบริหารจัดการศึกษาให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาตามกลไกที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 เพื่ออนาคตทางการศึกษาของเด็กและเยาวชนลูกหลานเรา

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles