17 มี.ค. 2557 นิรมล โฆษ นักข่าวเดอะสเตรทส์ไทมส์ ทดลองใช้บริการปลอมแปลงเอกสารในประเทศไทย หลังจากก่อนหน้านี้เคยมีการนำเสนอเรื่องประเทศไทยเป็นแหล่งปลอมแปลงหนังสือเดินทางที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก
โฆษ เริ่มต้นเล่าโดยกล่าวถึงฉากถนนข้าวสารในกรุงเทพฯ ที่เต็มไปด้วยร้านอาหาร เกสท์เฮาส์ บริษัททัวร์ และร้านค้าของที่ระลึก มีป้อมตำรวจอยู่ห่างออกไปเพียง 200 เมตร
โฆษ บอกว่าโดยปกติแล้วธุรกิจรับปลอมแปลงบัตรประจำตัวจะปรากฏให้เห็นได้ชัด แต่ในวันพุธที่เขาไป เขาต้องเดินตามหา เขาถามเด็กชาวเนปาลที่รับสักร่างกายผู้กำลังมองหาลูกค้า แล้วเขาก็พาตัวโฆษไปหาผู้ที่รับจ้างปลอมแปลงที่อยู่ห่างออกมาจากถนนข้าวสารเล็กน้อย มีโต๊ะและม้านั่งอยู่สองที่
นักข่าวสเตรทส์ไทมส์ระบุว่าผู้ที่ให้บริการเป็นคนไทยสวมเสื้อสีน้ำเงินและใส่แว่น เขารู้สึกถึงบรรยากาศของความวิตกกังวลตั้งแต่เริ่มต้น ชายผู้นั้นถามเขาว่ามาจากประเทศอะไร โฆษตอบไปว่าเป็นคนอินเดียและชายผู้นั้นก็มองอย่างไม่เชื่อสายตา จากนั้นเขาจึงนำอัลบั้มขนาดใหญ่ที่ใช้เก็บนามบัตรให้โฆษเลือกเปิดดู
โฆษ บอกว่าในที่เก็บนามบัตรมีตัวอย่างบัตร 100 แบบ ตั้งแต่ใบขับขี่ บัตรนักศึกษา บัตรพนักงานสายการบิน และบัตรจำพวกอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งมีแม้กระทั่งบัตรประจำตัวองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ (Interpol) หรือองค์กรตำรวจสากล และบัตรประจำตัวของสิงคโปร์ เมื่อโฆษแสดงความแปลกใจที่เห็นบัตรประจำตัวองค์กรตำรวจสากล (Interpol) เขาก็เริ่มถามว่าโฆษเป็นตำรวจสากลหรือเปล่า ซึ่งโฆษก็หัวเราะปฏิเสธไป
โฆษเลือกทำใบขับขี่สิงคโปร์ และบัตรพนักงานสายการบินกาตาร์ ซึ่งมีค่าทำใบละ 800 บาท และใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่งในการทำ โฆษให้รูปถ่ายหนังสือเดินทางสองใบและขอให้ช่วยปรับรูปบัตรพนักงานสายการบินให้เขาอยู่ในชุดสูทผูกเนคไท
นักข่าวสเตรทส์ไทมส์ยังได้กระซิบถามผู้ให้บริการว่าเขาจะสามารถทำหนังสือเดินทางได้ที่ไหน ซึ่งผู้ให้บริการตอบว่าเขาไม่ทราบ โฆษถามอีกว่าเขาสามารถทำบัตรประชาชนไทยได้หรือไม่ ผู้ให้บริการก็ตอบว่าเขาไม่รับทำบัตรประชาชนของไทย
"นี่คือสิ่งที่เจ้าหน้าที่บังคับกฎหมายเคยบอกกับผม คนทำบัตรปลอมเหล่านี้ไม่เคยทำบัตรประชาชนไทย นี่คือเหตุผลว่าทำไมตำรวจถึงปล่อยให้พวกเขาทำได้"โฆษกล่าว
"มีความเป็นไปได้อีกอย่างหนึ่งที่แหล่งข่าวของผมกล่าวถึงคือพวกเขาจ่ายเงินให้กับตำรวจ ซึ่งฟังดูน่าเชื่อถือเมื่อพิจารณาจากสภาพแวดล้อมและอาชีพของพวกเขา"โฆษกล่าว
หลังจากที่โฆษกลับไปรับบัตรตามเวลาที่กำหนดไว้ ชายผู้ให้บริการถามเขาว่าเป็นตำรวจใช่หรือเปล่า โฆษหัวเราะแล้วส่ายหน้า จากนั้นเขาก็ถามโฆษว่าพักอยู่ที่ไหนและมาทำอะไรในกรุงเทพฯ ซึ่งดูเหมือนเขาจะพอใจในสิ่งที่โฆษตอบ จากนั้นจึงมีชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ดูยังหนุ่ม เหมือนเป็นผู้ช่วยเขาปรากฏตัวและเอากระดาษยัดใส่มือเขา เป็นกระดาษชิ้นหนึ่งข้างในนั้นเป็นบัตรที่สั่งทำไว้
โฆษบอกว่าบัตรที่เขาสั่งทำดูเหมือนของจริงมากมีความแตกต่างกันเพียงอย่างเดียวคือบัตรปลอมจะไม่มีแถบสีโฮโลแกรม (holograms) ซึ่งเขาคิดว่าผู้ทำบัตรปลอมคงไม่สามารถทำบัตรที่มีแถบสีโฮโลแกรมได้
แหล่งข่าวที่เป็นเจ้าหน้าที่บอกกับโฆษว่า ถ้าหากเจ้าหน้าที่คนใดดูบัตรแต่เพียงผ่านๆ หรือแม้กระทั่งเปิดดูในกูเกิลเพื่อเปรียบเทียบ พวกเขาก็คงไม่เห็นว่ามีปัญหาอะไร
เรียบเรียงจาก
Fake Singapore driver's licence just like the real deal except no hologram, Straits Times, 13-03-2014
http://www.straitstimes.com/the-big-story/missing-mas-plane/story/fake-singapore-drivers-licence-just-the-real-deal-except-no-ho