10 เม.ย.56 ASTVผู้จัดการออนไลน์รายงาน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่ง แบงก์ชาติ-กระทรวงการคลัง ติดตามสถานการณ์ค่าบาทแข็งค่าขึ้นลงรวดเร็วอย่างใกล้ชิด และช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบ ขณะที่แบงก์ชาติกังวลค่าเงินบาทที่มีการเคลื่อนไหวรวดเร็วแบบวันต่อวัน พร้อมย้ำไม่จำเป็นต้องออกมาตรการลดดอกเบี้ยนโยบายทางการเงิน
ภายหลัง นายกรัฐมนตรี เรียกรัฐมนตรี และคณะทำงานกำกับการบริหารนโยบายเศรษฐกิจ คือ นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายนิวัฒน์ธำรงค์ บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายวรวิทย์ จำปีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง นายพันศักดิ์ วิญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาด้านนโยบายของนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือเรื่องสถานการณ์ค่าบาทแข็งค่าหลุด 29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา อยู่ที่ 28.91-28.95 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าแข็งค่าขึ้นในรอบ 16 ปี นับตั้งแต่ปี 2540
ธปท.รับบาทแข็งค่าเร็วเกินไป
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงการเคลื่อนไหวของอัตราค่าเงินบาทที่มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว หรือมีความผิดปกติของการเคลื่อนไหวหรือไม่ พร้อมสอบถามว่าจำเป็นที่รัฐบาลต้องออกมาตรการพิเศษช่วยเหลือหรือไม่ และมีผู้ประกอบการกลุ่มใดจะได้รับผลกระทบบ้าง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รายงานว่า เงินบาทมีการแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วเกินไปจริง ธปท.จึงมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง และได้ส่งหนังสือไปยังศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ฯ (คัสโตเดียน) เพื่อให้ธนาคารที่ดูแลการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติตรวจเช็กรายชื่อผู้ลงทุนในการติดตาม และพิจารณาประกอบว่าจำเป็นต้องออกมาตรการดูแลค่าเงินเพิ่มเติมหรือไม่
ชี้ผลดีกับผู้นำเข้าสินค้าในราคาถูกลง
สำหรับค่าบาทแข็งจะเป็นผลดีกับผู้นำเข้าสินค้าในราคาถูกลง โดยเฉพาะวัตถุดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศ แต่ตรงกันข้าม ผู้ส่งออกจะได้รับผลกระทบบ้าง เช่น ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดกลาง (เอสเอ็มอี) ซึ่งการดำเนินการของแบงก์ชาติที่ผ่านมา ได้ขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการต่างๆ สามารถบริหารความเสี่ยงในรูปแบบต่างๆ ได้ เช่น การให้คำแนะนำในการประกันความเสี่ยง การให้วงเงินในการใช้ผลิตภัณฑ์บริหารความเสี่ยง และการรับฝากรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศให้คล่องตัวมากขึ้น
นายกรัฐมนตรี จึงให้แบงก์ชาติ และกระทรวงการคลัง จับตาการเคลื่อนไหวของเงินบาทอย่างใกล้ชิด การไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติ และการช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอีรายย่อยภาคอุตสาหกรรมใดได้รับผลกระทบบ้าง ซึ่งแบงก์ชาติมีการติดตามการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องอยู่แล้ว โดยเฉพาะการตรวจสอบว่าเงินทุนที่ไหลเข้าเป็นเงินทุนประเภทใด และมีการซื้อขายในลักษณะใด รวมถึงนักลงทุนต่างชาติใช้โอกาสค่าบาทแข็งเข้ามาลงทุนซื้อขายเพื่อหวังเก็งกำไรในตลาดทุนด้วย
เผยมาตรการลดดอกเบี้ยนโยบายทางการเงินยังไม่จำเป็น
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยยอมรับว่า กังวลการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทที่มีการแข็งค่าขึ้นลงอย่างรวดเร็วแบบวันต่อวัน แต่ยืนยันว่า ยังไม่จำเป็นต้องมีการออกมาตรการลดดอกเบี้ยนโยบายทางการเงิน แบงก์ชาติ ยังสามารถควบคุม และดูแลสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทได้อยู่
คลังเผยยังมีโอกาสแข็งค่าขึ้นอีก
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง ยอมรับว่า ยังมีโอกาสที่ค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม ยังไม่จำเป็นต้องออกมาตรการลดดอกเบี้ยนโยบายการเงิน พร้อมแนะผู้ประกอบการกู้เงินในประเทศมากกว่าภายนอกประเทศ ส่วนโครงการในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทนั้น จะกู้เงินในประเทศเป็นหลัก
ธปท. เลือกใช้วิธีที่เป็นธรรมชาติในการจัดการก่อน
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์รายงานด้วยว่า สำหรับการดูแลค่าเงินบาทของ ธปท. นั้น นายประสาร กล่าวว่า ธปท.มีการดูแลเป็นปกติอยู่แล้ว เพียงแต่การดูแลไม่จำเป็นว่าจะต้องเข้าแทรกแซงในตลาดเงินเสมอไป เพราะว่า ธปท. เองก็มีเครื่องมือหลายชั้นในการดูแล โดยมีตั้งแต่การปล่อยให้เงินบาทเคลื่อนไหวตามกลไกตลาด ซึ่งถือเป็นเครื่องมือแรกๆ ของ ธปท. เครื่องมือถัดมา เช่น การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการชาวไทยออกไปลงทุนต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความสมดุลของเงินทุนที่ไหลเข้าและไหลออก ซึ่งล่าสุด ธปท.จะขายเพิ่มให้กับนักลงทุนรายใหญ่ที่สนใจออกไปลงทุนต่างประเทศได้อย่างไม่จำกัด
ส่วนเครื่องมือที่สาม คือ การแทรกแซงในตลาดเงิน ถ้าธปท.เห็นว่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวที่ผิดไปจากสภาวะปกติ ก็สามารถเข้าไปแทรกแซงในตลาดเงินได้ ส่วนเครื่องมือที่สี่ คือ การกำกับดูแลการเคลื่อนย้ายของเงินทุนในรูปแบบต่างๆ ซึ่งขณะนี้ ธปท. อยู่ในสถานะที่เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
นายประสาร กล่าวด้วยว่า ทั้ง 4 เครื่องมือที่ ธปท. มีนั้น จะเห็นว่ามีเครื่องมือที่เป็นลักษณะของวิธีธรรมชาติ และที่ไม่ใช่วิธีธรรมชาติ ซึ่งทางธปท.เองจะเลือกใช้วิธีที่เป็นธรรมชาติก่อน เช่น ตอนนี้มีหน่วยงานภาครัฐหรือรัฐวิสาหกิจใด ที่มีหนี้ต่างประเทศ ธปท.ก็จะสนับสนุนให้ชำระหนี้เหล่านั้นก่อนกำหนด หรือหน่วยงานใดที่ต้องลงทุนด้วยการสั่งซื้อเครื่องจักรจากต่างประเทศ ทางธปท.ก็ให้การสนับสนุนเต็มที่ เพราะเห็นว่าเป็นจังหวะดี ที่จะมีการลงทุนเพิ่มในช่วงนี้ ในขณะที่วิธีที่ไม่ได้เป็นธรรมชาตินั้น จะใช้ในกรณีที่มีความจำเป็นจริงๆ เท่านั้น
ปัดควบคุมเงินทุนหวั่นผลกระทบข้างเคียง
"การควบคุมเงินทุนนั้น เป็นเรื่องที่ต้องคิดให้รอบคอบ อย่างประเทศบราซิลที่เขาใช้วิธีเก็บภาษีเงินที่เข้ามาลงทุน พอทำไปจริงๆ มันมีผลข้างเคียงอื่น เช่น เงินลงทุนจริงที่เขาอยากได้ พวกนี้ก็ได้รับผลกระทบพลอยหยุดชะงักไปด้วย จนกระทั่งหลังๆ เขาเองก็อยากจะปรับลดภาษีที่เรียกเก็บตรงนี้ลง ดังนั้นเวลาเราจะทำอะไรก็ต้องดูให้รอบคอบ ว่า จะมีผลข้างเคียงขึ้นบ้างหรือไม่"นายประสาร กล่าว
สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจและภาคการส่งออก จากสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้น นายประสาร กล่าวว่า เวลานี้กำลังประเมินกันอยู่ แต่ถ้าดูกรณีของเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐนั้น จากการศึกษาของธปท.ช่วงที่ผ่านมา พบว่าการแข็งค่าของเงินบาทไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อภาคการส่งออกมากนัก หากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ายังสามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง
ส่วนเงินบาทเทียบกับค่าเงินเยนนั้น พบว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะได้ประโยชน์จากการแข็งค่าของเงินบาท เพราะไทยไม่ได้เป็นประเทศคู่แข่งกับญี่ปุ่น แต่เป็นประเทศคู่ค้า โดยอุตสาหกรรมไทยมีการนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นค่อนข้างมาก
เยนเทียบดอลล์อ่อนค่าทุบสถิติ
รานงานภาวะตลาดปริวรรตเงินตราเอเชีย โดยเงินดอลลาร์แข็งสุดรอบ 47 เดือน ขณะที่เงินเยนร่วงลงแตะจุดต่ำสุดรอบหลายปี เมื่อเทียบกับดอลลาร์และยูโร โดยนักลงทุนเทขายเยนออกมา ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) กำลังดำเนินนโยบายต่อต้านภาวะเงินฝืดในช่วงนี้ โดยดอลลาร์ดีดตัวขึ้นไปแตะระดับ 99.67 เยนซึ่งเป็นจุดสูงสุด นับตั้งแต่เดือนพ.ค.2009 แต่ต่อมาคำสั่งขายทำกำไรได้กดดันดอลลาร์ให้ร่วงลงสู่ 99.25 เยน ขณะที่ยูโรขึ้นไปแตะ 129.935 เยน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ เดือนม.ค.2010 โดยในช่วงนี้ยูโรอยู่ที่ 129.59 เยน แข็งค่าขึ้น 0.3 % นับตั้งแต่บีโอเจเปิดเผยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในวันพฤหัสบดี ที่ 4 เม.ย. ดอลลาร์/เยนก็ได้พุ่งขึ้นมาแล้วราว 7 %
สรท.ชี้ภาครัฐลอยแพผู้ส่งออก
นายไพบูลย์ พลสุวรรณา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ในช่วง 3 เดือน แรกของปีนี้เงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ 5 % และผู้ผลิตเพื่อการส่งออกมีมาร์จินระหว่าง 3-5% และเมื่อมาเจอปัญหาเงินบาทแข็งค่าเช่นนี้ มีโอกาสสูงที่กำไรจะหายไป รวมทั้งเงินเยนอ่อนค่าลงด้วยทำให้กระทบการส่งออกไปญี่ปุ่นด้วย
"เราชี้แจงผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ได้ตอบสนองอะไรมากนัก และกระทรวงพาณิชย์ก็ได้ยกเลิกนัดหารือผลกระทบกับภาคเอกชนในสัปดาห์นี้ ซึ่งเหมือนรัฐบาลก็ไม่ได้ดำเนินการอะไรช่วยเหลือผู้ส่งออก รวมทั้งยังบอกให้ผู้ส่งออกหาทางช่วยเหลือตัวเอง โดยแนะนำให้นำเข้าเครื่องจักรในช่วงเงินบาทแข็งค่า รวมทั้งให้ออกไปลงทุนในต่างประเทศและซื้อประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน แต่ภาครัฐไม่รู้ว่าแต่ละแนวทางมีข้อจำกัด ไม่สามารถดำเนินการได้ทุกราย"นายไพบูลย์ ระบุ
ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้ส่งออกต้องช่วยเหลือตัวเอง เพื่อบริหารภาวะขาดทุนที่อาจเกิดขึ้น โดยผู้ผลิตเพื่อส่งออกบางรายต้องบริหารเพื่อให้ขาดทุนน้อยที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาหลายฝ่ายมองว่าผู้ส่งออกก็อยู่รอดมาตลอด เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมาผู้ส่งออกเจอปัญหาเงินบาทแข็งค่าหลายครั้ง แต่ภาครัฐไม่รู้ว่าผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าครั้งนี้ค่อนข้างสูง ซึ่งทำให้การส่งออกไตรมาส 2 ไม่ดีเหมือนไตรมาส 1 เพราะเจรจาคำสั่งซื้อช่วงเงินบาทแข็งค่า