ภาพจากเฟซบุ๊ก องค์ชายแสนซน นักรบประชาธิปไตย
เมื่อวันที่ 10 เม.ย.56 เวลาประมาณ 9.00 น. เสื้อแดงกลุ่ม ‘แนวร่วม 29 มกรา ปลดปล่อยนักโทษการเมือง’ รวมตัวที่กำแพงประวัติศาสตร์ 6 ตุลา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ประมาณ 200 คน ก่อนเดินทางไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อทวงถามความคืบหน้าในการให้ความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยการนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง หลังจากที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ส่งข้อเสนอแนวทางการออกกฎหมายนิรโทษกรรมทั้งหมดให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วกว่า 2 เดือน โดย เมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมากลุ่มดังกล่าวได้ยื่น ‘ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่าด้วยเรื่องนิรโทษกรรมและขจัดความขัดแย้ง’ ภายใต้แคมเปญ “29 มกรา หมื่นปลดปล่อย” ร่างนี้เสนอโดย คณะนิติราษฎร์ เมื่อวันที่ 13 ม.ค.ซึ่งเห็นว่าเป็นวิธีการนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองได้ ครอบคลุมคนที่มีความเห็นแตกต่างทางการเมืองทุกฝ่าย รวดเร็วกว่าการเป็นออก พ.ร.บ.
นอกจากร่างนี้แล้วยังมี พ.ร.ก.นิรโทษกรรมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ(คอ.นธ.) ที่ถูกเสนอไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเพื่อให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อกฎหมาย โดยในการทวงถามความคืบหน้าของแนวร่วม 29 มกราครั้งนี้ มีผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นตัวแทนออกมารับหนังสือ
ภาพจากเฟซบุ๊ก RedHard Dang
สุดา รังกุพันธุ์ ตัวแทนแนวร่วม 29 มกรา ปลดปล่อยนักโทษการเมือง กล่าวถึงเหตุผลในทางถามความคืบหน้าต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า ขณะนี้เป็นเวลา 2 เดือนแล้วที่ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา รวมทั้งวันนี้เป็นวันครบรอบ 3 ปีของการสูญเสียในเหตุการณ์ 10 เม.ย.53 เราร่วมกันรำลึกความเสียหายที่เกิดขึ้น นักโทษการเมืองก็เป็นความเสียหายที่ยังตกค้างอยู่และรอรับการแก้ปัญหาโดยด่วน จึงได้มีการรวมตัวการทวงถามการทำงานของคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอให้กฤษฎีกาเร่งรัดในการให้ความเห็นเพื่อส่งคืนยังรัฐบาล และทันต่อการประชุมสมัยสภาที่อาจจะสิ้นสุดในวันที่ 28 เม.ย.นี้
สุดากล่าวว่า ประชาชนที่เข้าร่วมครั้งนี้ส่วนมากเป็นผู้ที่อยู่ในจังหวัดที่มีนักโทษการเมือง เช่น จ.มุกดาหาร จ.เชียงใหม่ จ.มหาสารคาม ซึ่งเป็นผู้ที่รับรู้ปัญหาเป็นอย่างดีเนื่องจากอยู่ในพื้นที่ของการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ก็มีสัญญาณที่ดีคือกรณีที่กลุ่ม 40 ส.ส.ได้รวมตัวกันยื่น ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เข้าสู่สภา เพียงแต่ควรที่จะเลื่อนวาระการพิจารณาให้เร็วขึ้น แต่ปรากฏว่าไม่มีการประชุมสภาทำให้ไม่มีการพิจารณาเรื่องนี้ไปด้วยซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย
สุดากล่าวอีกว่า ความแตกต่างที่ชัดเจนของร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยการนิรโทษกรรมของคณะนิติราษฎร์ก็คือมีการตั้ง ‘คณะกรรมการขจัดความขัดแย้ง’ ซึ่งคณะกรรมการนี้ก็จะทำให้สังคมมีโอกาสเข้าถึงความเป็นจริงเข้าถึงความยุติธรรมอย่างชัดเจน และสามารถที่จะใช้เวลาคลีคลายความขัดแย้งโดยไม่เร่งรัด แต่ในระหว่างที่คณะกรรมการทำงานก็ต้องมีการปล่อยตัวชั่วคราวประชาชนผู้ถูกจับกุมคุมขังโดยทันที เชื่อว่าเรื่องนี้จะเป็นทางออกของสังคมไทยที่มีความกังวลในมาตรฐานของกระบวนการยุติธรรม
“กลุ่มที่เคลื่อนไหวการนิรโทษกรรมทุกกลุ่มไม่ได้ยึดติดกับรูปแบบที่ตัวเองเสนอ ขอเพียงเนื้อหาครอบคลุมผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมและถูกละเมิดสิทธิพลเมืองอย่างร้ายแรงจนเป็นนักโทษการเมือง” สุดากล่าว
ทั้งนี้ ขณะนี้มีเสื้อแดงที่ถูกคุมขังในเรือนจำอยู่ 32 คน โดยมีผู้ที่ไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวทั้งหมด 22 คน ที่เรือนจำหลักสี่ 18 คน ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 2 คน และที่ทัณฑสถานหญิง 1 คน และที่เรือนจำที่เป็นคุกทหารรายล่าสุดอีก 1 คน นอกนั้นเป็นส่วนที่คดีถึงที่สุดแล้ว
สุดา รังกุพันธุ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากสิ้นสุดการประชุมของแนวร่วม 29 มกราฯ สุดา เปิดเผยว่า เมื่อเย็นที่ผ่านมามีข่าวออกมาว่าจะมีการปิดประชุมสภาวันที่ 20 เม.ย. ดังนั้นโอกาสที่จะผ่านวาระที่ 1 ของ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของกลุ่ม 40 ส.ส.จึงยาก ทางกลุ่มจึงตัดสินใจที่จะขับเคลื่อนกันต่อไป โดยจะใช้ช่องทางโดยตรงในการเข้าชื่อเสนอ ร่างกฎหมาย ไม่ต้องพึ่งพาหรือผลักดันให้ ครม.ดำเนินการแทน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงต้องใช้จำนวน 50,000 รายชื่อ
สุดากล่าวว่า ปัญหาของการแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะมีปัญหาเรื่องของศาลรัฐธรรมนูญด้วย แนวร่วม 29 มกราฯ จึงมีข้อเสนอยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญควบคู่ไปด้วยกันเลย ตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์และตั้งคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญแทน เพื่อเป็นการปรับกลไกใหม่ในการแก้ปัญหาการเมืองไทยที่เป็นผลจากรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยจะมีการล่ารายชื่อในที่ชุมนุมรำลึกเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ราชประสงค์วันที่ 19 พ.ค.นี้