25 ธ.ค.2556 สำนักข่าวไทยรายงานว่า พระราชกฤษฎีกาลดภาษีบุคคลธรรมดาใหม่มีผลบังคับใช้แล้ว สำหรับเงินได้ปีภาษี 2556 และปีภาษี 2557 หลังลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.56
ด้วยขณะนี้พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 575) พ.ศ.2556 กำหนดให้ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2556 โดยมีผลบังคับใช้สำหรับเงินได้ปีภาษี 2556 และปีภาษี 2557 ทั้งนี้ กรมสรรพากรขอชี้แจงเกี่ยวกับการลดอัตราภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดาตามพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว ดังนี้ อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กำหนดให้ลดอัตราภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้สุทธิจากเดิมที่มี 5 ขั้นอัตรา เปลี่ยนเป็น 7 ขั้นอัตรา คือ
ขั้นที่ 1 เงินได้สุทธิส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท เสียภาษีร้อยละ 5
ขั้นที่ 2 ส่วนที่เกิน 300,000 บาท แต่ไม่เกิน 500,000 บาท ร้อยละ 10
ขั้นที่ 3 ส่วนที่เกิน 500,000 บาท แต่ไม่เกิน 750,000 บาท ร้อยละ 15
ขั้นที่ 4 ส่วนที่เกิน 750,000 บาท แต่ไม่เกิน 1,000,000 บาท ร้อยละ 20
ขั้นที่ 5 ส่วนที่เกิน 1,000,000 บาท แต่ไม่เกิน 2,000,000 บาท ร้อยละ 25
ขั้นที่ 6 ส่วนที่เกิน 2,000,000 บาท แต่ไม่เกิน 4,000,000 บาท ร้อยละ 30
ขั้นที่ 7 ส่วนที่เกิน 4,000,000 บาท เสียภาษีร้อยละ 35
สำหรับเงินได้สุทธิหลังจากการคำนวณ (เงินได้พึงประเมิน หักค่าใช้จ่าย และหักลดหย่อน) ส่วนที่ไม่เกิน 150,000 บาทแรก ยังคงได้รับยกเว้นภาษี ทั้งนี้ ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 470) พ.ศ.2551
ส่วนปี 2556 การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมิน ตามประมวลรัษฎากร มีสิทธิคำนวณภาษีโดยใช้อัตราภาษีใหม่ตั้งแต่เดือนมกราคม 2556 สำหรับการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายของเดือนธันวาคม 2556 ผู้จ่ายเงินได้มีสิทธิคำนวณภาษีตามอัตราภาษีใหม่ เช่น การจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ให้นำเงินได้ที่จ่ายให้ผู้มีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงทั้งปี หักค่าใช้จ่ายในอัตราร้อยละ 40 ของเงินได้พึงประเมินแต่ไม่เกิน 60,000 บาท แล้วนำไปหักลดหย่อน ตามที่ผู้มีเงินได้แจ้งไว้ เหลือเงินได้สุทธิเท่าใด ให้คำนวณภาษีตามอัตราภาษีใหม่ จากนั้นให้นำภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่หักไว้แล้ว ถึงเดือนพฤศจิกายน 2556 มาหักออก ถ้ามีภาษีที่ต้องเสียเพิ่มเติมเท่าใด ก็ให้หักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งไว้เท่านั้น ถ้าไม่มีภาษีที่ต้องเสียเพิ่มเติม (เนื่องจากจำนวนเงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย ที่หักไว้แล้ว ถึงเดือนพฤศจิกายน 2556 มีจำนวนมากกว่าภาษีที่คำนวณได้) ผู้จ่ายเงินได้ ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี (ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91) ซึ่งคำนวณภาษี โดยนำเงินได้พึงประเมิน หักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนเหลือเท่าใดเป็นเงินได้สุทธิ ให้คำนวณภาษีตามอัตราภาษีใหม่
นอกจากนี้สำนักข่าวไทยยังรายงานด้วยว่า ปีภาษี 2557 การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94) และการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี (ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91) ให้คำนวณภาษีโดยใช้อัตราภาษีใหม่แล้วแต่กรณี การลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาดังกล่าว เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายในการบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้มีเงินได้ เพื่อสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สร้างความเป็นธรรมในสังคม และเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ หรือ RD Call Center โทร.1161 หรือ www.rd.go.th.
อัตราภาษีแบบเก่า 5 ขั้นอัตรา
ผู้มีเงินได้สุทธิตั้งแต่ 0-150,000 บาท/ปี ได้รับการยกเว้นภาษี
ผู้มีเงินได้สุทธิตั้งแต่ 150,001-500,000 บาท/ปี จะเสียภาษี 10 % ของรายได้สุทธิ
ผู้ที่มีเงินได้สุทธิตั้งแต่ 500,001-1,000,000 บาท/ปี จะเสียภาษี 20 % ของรายได้สุทธิ
ผู้ที่มีเงินได้สุทธิตั้งแต่ 1,000,001-4,000,000 บาท/ปี จะเสียภาษี 30 % ของรายได้สุทธิ
ผู้ที่มีเงินได้สุทธิตั้งแต่ 4,000,001 บาท/ปี ขึ้นไป จะเสียภาษี 37 % ของรายได้สุทธิ
จาก @ThaiPBS, กรมสรรพากร