ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีความแพ่ง ให้บริษัทประกันภัยชดใช้ค่าเสียหายให้ห้างเซ็นเตอร์วันกว่า 122,790,000 บาท ตามคำพิพากษาชั้นต้น จากเหตุการณ์ นปช.บุกขโมยทรัพย์สินและวางเพลิงเผาทรัพย์ แต่แก้อุทธรณ์จากพฤติการณ์ของ นปช.แค่จลาจล ถือเป็น “การก่อการร้าย”
25 ธ.ค. 2556 ผู้จัดการออนไลน์รางานว่า เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีความแพ่ง ที่บริษัทพีเพิล พลาซ่า หรือห้างสรรพสินค้าเซ็นเตอร์วัน เป็นโจทก์ฟ้องบริษัท แอกซ่า ประกันภัย จำกัด ให้จ่ายค่าเสียหาย 122,790,000 บาท กรณีถูกวางเพลิงเผาทรัพย์และขโมยทรัพย์สินระหว่างการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง หรือ นปช.เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 โดยสรุปคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาพยานและหลักฐาน พบว่า เนื่องจาก
- หลังเกิดเพลิงไหม้แล้วได้มีรถดับเพลิงเข้าไปดับเพลิงแต่ได้ถูกขัดขวางจากผู้ชุมนุม
- พบลูกธนูที่พันด้วยผ้าตกอยู่บริเวณชั้นล่างของอาคารศูนย์การค้า
- พบร่องรอยกระสุนปืนเป็นรูอยู่หลายรูบริเวณเสาด้านหน้าอาคาร
ดังนั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เชื่อว่าการวางเพลิงเกิดจากกลุ่มมวัยรุ่นคึกคะนอง จักรยานยนต์รับจ้างและคนขับรถซาเล้งซื้อของเก่าที่มีเจตนาลักทรัพย์และพิจารณาโดยสรุปจากพยานหลักฐานเกี่ยวกับการวางเพลิงแล้ว พบว่า การวางเพลิงเกิดจากการกระทำของกลุ่มผู้ชุมนุม นปช.บางส่วนที่ต้องการใช้ความรุนแรง และ/หรือข่มขู่ เพื่อผลทางการเมือง เพื่อต้องการส่งผลให้รัฐบาลและประชาชนหวาดกลัว การกระทำของกลุ่ม นปช.ที่วางเพลิงนั้น เข้านิยาม “การกระทำการก่อการร้าย”
ก่อนหน้านี้ นายทวี ประจวบลาภ อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ได้เคยกล่าวถึงกรณีที่ศาลแพ่ง ได้เคยมีคำพิพากษาให้บริษัท เทเวศประกันภัย ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกว่า 3 พันล้านบาท ให้กลับกลุ่มเซ็นทรัลฯ จากกรณีที่เกิดเหตุไฟไหม้ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ระหว่างการกระชับพื้นที่เมื่อ 19 พ.ค. 53 ของ ศอฉ.เช่นกัน โดยระบุว่าไม่ใช่ก่อการร้ายแต่เป็นเพียงการจลาจลจึงอยู่ในเงื่อนไขกรมธรรม์ที่คุ้มครอง เนื่องจากคดีแพ่งที่ศาลแพ่งตัดสินไปนั้น เป็นกรณีที่เซ็นทรัลฯ ยื่นฟ้องบริษัทเทเวศประกันภัยแต่เพียงผู้เดียว ไม่ได้ยื่นฟ้องบุคคลที่ถูกฟ้องในคดีอาญา
โดยที่ศาลอาญามีอยู่ 2 คดี คือ คดีก่อการร้าย ซึ่งมีจำเลย 24 คน และมีแกนนำ นปช.อยู่ด้วย ส่วนอีกคดีเป็นจำเลยในคดีเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์สินผู้อื่น ดังนั้นตามหลักกฎหมายเมื่อจำเลยในคดีแพ่งและจำเลยในคดีอาญาเป็นคนละคนกัน จึงไม่มีผลผูกพันจำเลยในคดีอาญา อีกทั้งคำพิพากษาของศาลแพ่งก็ไม่ได้มีการกล่าวถึงจำเลยที่ถูกฟ้องในคดีอาญาเลย สรุปแล้วไม่มีผลต่อคำพิพากษาในคดีอาญาทั้ง 2 คดี