สิริพรรณ นกสวน ชี้แจงกรณีที่ในโซเชียลมีเดียมีการเผยแพร่งานวิจัย "การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2554ฯ"และระบุว่า "ภาคที่มีการซื้อเสียงได้ผลมากที่สุดคือ ภาคใต้และภาคกลาง"นั้น ขอชี้แจงว่าเป็นคำกล่าวที่ไม่ตรงกับข้อสรุปของการศึกษา
22 ธ.ค. 2556 - เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. ที่ผ่านมา สิริพรรณ นกสวน รองศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ชี้แจงทางเฟซบุ๊ค กรณีที่มีการเผยแพร่งานวิจัย "การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2554: ศึกษาบทบาทพรรคการเมือง และพฤติกรรมและการตัดสินใจเลือกตั้งของประชาชนในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง"และระบุว่า "ภาคที่มีการซื้อเสียงได้ผลมากที่สุดคือ ภาคใต้และภาคกลาง"โดยสิริพรรรณชี้แจงว่าเป็นคำกล่าวที่ไม่ตรงกับข้อสรุปของการศึกษา โดยรายละเอียดของคำชี้แจงมีดังนี้
000
สำหรับผู้ที่สนใจรายงานวิจัย เรื่องการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2554: ศึกษาบทบาทพรรคการเมือง และพฤติกรรมและการตัดสินใจเลือกตั้งของประชาชนในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง สามารถเข้าไปอ่านได้ที่นี่นะคะ http://www.tdw.polsci.chula.ac.th/?q=Elected_members_of_parliament
ขออนุญาตชี้แจงด้วยว่า การที่ social media เผยแพร่ผลการวิจัยว่า “ภาคที่มีการซื้อเสียงได้ผลมากที่สุดคือ ภาคใต้และภาคกลาง” เป็นคำกล่าวที่ไม่ตรงกับข้อสรุปของการศึกษา
คำถามที่ใช้ในการวิจัยข้อหนึ่งคือ "ท่านรู้สึกว่าการรับเงิน ผลประโยชน์ หรือ ค่าตอบแทน เป็นสิ่งผูกมัดให้ท่านต้องเลือกผู้สมัครหรือไม่?"ผลทั้งประเทศ ตอบ ต้องเลือก 10.1% ที่เหลือ ตอบไม่ต้องเลือก การที่คนใต้ตอบต้องเลือก ย่อมไม่ได้แปลว่า มีการซื้อเสียงมากที่สุดในภาคใต้ อาจตีความได้เพียงว่าคนใต้ หากรับผลประโยชน์มา ก็จะตอบแทนด้วยการลงคะแนนให้ ใน%สูงกว่าภาคอื่น ส่วนภาคใดจะมีการซื้อเสียงสูงที่สุดและได้ผลมากที่สุด ย่อมไม่อยู่ในวิสัยที่งานวิจัยชิ้นนี้จะตอบได้
หากนำผลคะแนนเลือกตั้งมาวิเคราะห์ประกอบแล้ว จะเห็นว่า ในภาคใต้ พรรคที่มาเป็นอันดับหนึ่งในทุกเขต ชนะพรรคอันดับ 2 ด้วยคะแนนล้นหลาม เกิน 10,000 เสียง บางเขตชนะกันเกิน 80,000 คะแนน (ยกเว้นใน 4 จังหวัดที่มีพี่น้องมุสลิมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก การแข่งขันจะสูสี) การชนะขาดเกิดขึ้นในภาคเหนือทุกเขตเลือกตั้ง ยกเว้นเขต 2 อุตรดิตถ์ และ 97 เขต ต่อ 29 เขต ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
การชนะกันด้วยคะแนนเสียงจำนวนมากเช่นนี้ ชี้ว่าเงินและการซื้อเสียงไม่น่าจะเป็นปัจจัยหลักในชัยชนะ ด้วยเหตุผลเบื้องต้น 2 ข้อ คือ หนึ่ง คะแนนที่ทิ้งห่างกันมาก บ่งบอกว่าประชาชนเลือกเพราะชอบผู้สมัครและพรรคการเมืองนั้น ซื้อเสียงหรือไม่ประชาชนจำนวนมากก็เลือกอยู่แล้ว และสอง นักการเมืองย่อมคำนวณต้นทุนที่เหมาะสมเพื่อประกันชัยชนะ แต่จะไม่ทุ่มซื้อคะแนนส่วนเกินจำนวนมาก
ขณะเดียวกันงานวิจัยมิได้ปฏิเสธว่า ไม่มีการซื้อเสียง ข้อค้นพบในหลายพื้นที่คือ มีการใช้เงินจำนวนมาก แต่ผู้สมัครที่ใช้เงินมหาศาลกลับไม่ชนะ การศึกษาพบว่าปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกตั้งของประชาชนส่วนใหญ่ ได้แก่ พรรคการเมือง นโยบาย และความต้องการตอบสนองผลประโยชน์และความคาดหวังของตน ในขณะที่ความสัมพันธ์ส่วนบุคคล หัวคะแนน และการซื้อขายเสียงมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยลง และมีความซับซ้อนมากขึ้น
ส่วนในประเด็นว่า คนจบการศึกษาสูงกว่า ป.ตรีเลือกพรรคเพื่อไทยมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์นั้น พบว่า ในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2550 ประชากรกลุ่มนี้เลือกพรรคประชาธิปัตย์มากกว่าพรรคเพื่อไทย (พลังประชาชนขณะนั้น) การตัดสินใจเลือกตั้งที่เปลี่ยนไปของประชากรกลุ่มนี้ในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2554 น่าจะเป็นผลจากมุมมองที่มีต่อปรากฎการณ์ชุมนุม เมษา พฤษภา 2553
การวิจัยใช้แบบสอบถามผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 6,558 ชุด ใน 22 จังหวัด 45 เขตเลือกตั้ง สุ่มเลือก 98 หน่วยเลือกตั้งจากทุกภูมิภาค อัตราความคลาดเคลื่อนไม่เกินร้อยละ 3 ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 และสัมภาษณ์หัวคะแนน ผู้สนับสนุนพรรคการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และสื่อมวลชนในพื้นที่
000
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า บทคัดย่อ "การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2554 ศึกษาบทบาทพรรคการเมือง และพฤติกรรมและการตัดสินใจเลือกตั้งของประชาชนในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง"มีดังนี้ โดยสามารถดาวโหลดงานวิจัยได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ติดตามประชาธิปไตย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2554 ศึกษาบทบาทพรรคการเมือง และพฤติกรรมและการตัดสินใจเลือกตั้งของประชาชนในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง
บทคัดย่อ
โครงการศึกษาการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2554 : ศึกษาบทบาท พรรคการเมือง และพฤติกรรมและการตัดสินใจเลือกตั้งของประชาชนในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง เป็นการวิจัยใช้แบบสอบถาม ควบคู่กับการเก็บข้อมูลภาคสนาม ด้วยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกและการสังเกตการณ์ในพื้นที่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2554 รวมถึงศึกษาปัญหา อุปสรรค และกลยุทธ์ในการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมือง และผู้สมัครรับเลือกตั้ง เพื่อนำไปเป็นข้อเสนอแนะต่อแนวทางพัฒนาและส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพสอดคล้องกับสถานการณ์การเมืองภายใต้ความขัดแย้งและบริบทของสังคมไทย การวิจัยใช้แบบสอบถามในการเก็บข้อมูลปฐมภูมิ (Primary Data) จากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 22 จังหวัด ทั่วทุกภูมิภาค จำนวน 6,558 ชุด และสัมภาษณ์หัวคะแนน ผู้สนับสนุนพรรคการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และสื่อมวลชน จำนวนทั้งสิ้น 94 คน โดยใช้วิธีวิเคราะห์เชิงปริมาณ (Quantitative Analysis) ร่วมกับการวิเคราะห์เชิงพรรณนา (Descriptive Methods)
จากการศึกษาวิจัย พบว่า ปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกตั้งของประชาชน ส่วนใหญ่ในการเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ.2554 ได้แก่ พรรคการเมือง นโยบาย และความต้องการตอบสนองผลประโยชน์และความคาดหวังของตน ในขณะที่ความสัมพันธ์ส่วนบุคคล หัวคะแนน และการซื้อขายเสียงมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยกว่าปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น อาจกล่าวได้ว่า พฤติกรรมการใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชนไทยในปัจจุบัน ตั้งอยู่บนการคำนวณทั้งผลประโยชน์เชิงวัตถุและความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์ตามวัฒนธรรมการเมือง นอกจากปัจจัยข้างต้น ตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการเลือกตั้งในครั้งนี้ ซึ่งต่างไปจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่าน ๆ มา คือ ความขัดแย้งทางการเมืองและกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง
ในประเด็นความขัดแย้งทางการเมือง พบว่า ถึงแม้ประชาชนส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับ “ตัวเอง” มากที่สุด แต่ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นได้ส่งผลให้กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองกลายเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกตั้งของประชาชนในการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นอันดับ 4 รองจากตัวเอง ครอบครัว และเพื่อน โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีประชาชนสนับสนุนกลุ่มเคลื่อนไหวดังกล่าวอาศัยอยู่ ในลักษณะที่มีความใกล้เคียงกับการเมืองแบบภูมิภาคนิยม (regionalism) การแข่งขันในการเลือกตั้งครั้งนี้ในหลายพื้นที่มีความเข้มข้นเป็นอย่างมาก โดยความเข้มข้นของการแข่งขันจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับความกระตือรือร้นในการไปใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว
ปัญหาและอุปสรรคในการเลือกตั้งมีความเกี่ยวข้องกับบริบทความขัดแย้งทางการเมือง มีการเผาทำลายป้ายหาเสียง และข่มขู่หัวคะแนน ทำให้การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครเป็นไปในลักษณะลงพื้นที่เฉพาะพื้นที่ของกลุ่มผู้สนับสนุนตนเป็นหลัก จึงเป็นการตัดโอกาสของประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งที่มีความเห็นแตกต่างในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
ข้อเสนอแนะต่อแนวทางการส่งเสริมและการพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชนแบ่งออกเป็น 2 ด้าน ด้านหนึ่งเป็นการทำให้ประชาชนรู้สึกมีประสิทธิภาพและมีอำนาจในการกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และอีกด้านหนึ่งเป็นการออกแบบกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่ปฏิบัติได้จริง
จากการศึกษาวิจัยนี้ ได้ข้อสรุปว่า องค์กร หน่วยงาน และผู้มีหน้าที่ในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ต้องตระหนักว่า ยิ่งประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นเท่าใด รัฐจะต้องอำนวยความสะดวกในขั้นตอน และกระบวนการต่างๆ มากยิ่งขึ้น นั่นหมายความว่า ยิ่งต้องการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมือง บทบาทของรัฐยิ่งต้องมีมากขึ้น และต้องยอมรับว่า เมื่อประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองในประเด็นต่างๆ มากขึ้น สภาพความเป็นการเมือง (Politicized) ของประเด็นต่างๆ จะยิ่งมีมากขึ้น การทำหน้าที่ขององค์กรต่างๆ จึงยิ่งต้องมีความผูกพันและเชื่อมโยงกับประชาชน รับฟังปัญหาความต้องการของประชาชนมากขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่มีความขัดแย้งและหลากหลายกว่าในอดีต