เครือข่ายประชาสังคมจังหวัด เครือข่ายสมาชิกสภาพัฒนาการเมือง และเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลภาคอีสาน 20 จังหวัด เสนอ 5 ข้อแก้วิกฤติการเมือง ประกาศเดินหน้าปฏิรูปประเทศโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ยกระดับแนวทางจังหวัดจัดการตนเอง ประชาธิปไตยชุมชน
21 ธ.ค.2556 เครือข่ายประชาสังคมจังหวัด เครือข่ายสมาชิกสภาพัฒนาการเมือง และเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลภาคอีสาน 20 จังหวัด แถลงการณ์ ฉบับที่ 1/2556 เกี่ยวกับถานการณ์ความขัดแย้งทางกรเมืองในปัจจุบัน พร้อมเสนอ 5 ข้อแก้วิกฤติการเมืองของประเทศ โดยชูการกระจายอำนาจให้จังหวัดจัดการตนเอง การจัดความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างและการจัดการระบบทรัพยากรโดยการมีส่วนร่วม
แถลงการณ์ดังกล่าวมีรายละเอียด ดังนี้
คำประกาศแถลงการณ์ “เครือข่ายประชาสังคมจังหวัด เครือข่ายสมาชิกสภาพัฒนาการเมือง และเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลภาคอีสาน 20 จังหวัด” ฉบับที่ 1/2556 จากวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองตามที่ปรากฏขึ้นในปัจจุบัน สาเหตุหลักๆ เกิดมาจาก การรวมศูนย์โครงสร้างอำนาจ การตัดสินใจ และการจัดการทุกเรื่องไว้ที่ส่วนกลาง ทำให้ระบบการบริหารประเทศไร้ประสิทธิภาพ ไม่สอดคล้องกับความต้องการของคนในชุมชน ตรวจสอบได้ยาก ประชาชนขาดพื้นที่การมีส่วนร่วมทางการเมือง ส่งผลทำให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรและการกระจุกตัวของความเจริญ ความเหลื่อมล้ำ และสร้างความขัดแย้งทางสังคม ที่ผ่านมาเครือข่ายประชาสังคมจังหวัด เครือข่ายสมาชิกสภาพัฒนาการเมือง และเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลภาคอีสาน 20 จังหวัด ได้ดำเนินการจัดการแก้ไขปัญหาการรวมศูนย์อำนาจ โดยผลักดันและขับเคลื่อนกันมาตลอด รูปธรรมคือการกระจายอำนาจให้จังหวัดจัดการตนเอง การจัดความสัมพันธ์เชิงโครงสร้าง การจัดการระบบทรัพยากร การดำเนินการในลักษณะเช่นนี้ได้ส่งผลให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายทั้งชุมชนท้องถิ่นกับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งถือว่าเป็นพลังของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของประเทศ จากวิกฤติการเมืองในปัจจุบัน เครือข่ายประชาสังคมจังหวัด เครือข่ายสมาชิกสภาพัฒนาการเมือง และเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลภาคอีสาน 20 จังหวัด ขอเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาวิกฤตทางการเมืองของประเทศ 5 ข้อดังนี้ 1.ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจการบริหารประเทศ ลดอำนาจส่วนกลางลง ผลักดันให้เกิดการกระจายอำนาจและการจัดการตนเอง โดยการปฏิรูปเชิงโครงสร้างลดอำนาจรัฐลง เพิ่มอำนาจประชาชน ให้อำนาจอยู่ที่ท้องถิ่น และสนับสนุนให้ประชาชนเจ้าของพื้นที่ มีอำนาจในการตัดสินใจบริหารจัดการท้องถิ่นของตนเอง ในลักษณะจังหวัดจัดการตนเอง 2.ปฏิรูประบบการเงินการคลังของประเทศ ต้องปฏิรูประบบการเงินการคลัง ทำให้แต่ละท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มจากการจัดการระบบภาษีใหม่ เพิ่มอำนาจการจัดเก็บภาษีบางประเภท 3.ปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่น เสนอให้ยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาคลงทั้งหมด โอนอำนาจบริหารจัดการทรัพยากร เศรษฐกิจ สังคมและการเมืองท้องถิ่นให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้เป็นผู้จัดการเกี่ยวกับที่ดิน น้ำ ป่า เป็นผู้บริหารโรงเรียนและวิทยาลัยท้องถิ่นวางแผนพัฒนาในท้องถิ่น กำหนดอัตราภาษีบางประเภทในท้องถิ่นของตนเองได้ออกกฎเกณฑ์และมีตำรวจท้องถิ่นของตนเองดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยและบังคับใช้กฎเกณฑ์เหล่านั้นและมีระบบราชการของตนเอง เป็นต้น 4.สร้างพลังพลเมืองในการปฏิรูปประเทศ ต้องส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง สร้างกระบวนการทางการเมืองที่เปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรม โดยตั้งสมัชชาประชาชนทุกระดับมีบทบาทให้คำแนะนำและตรวจสอบโครงการต่างๆ แม้ไม่มีอำนาจเท่าสภาท้องถิ่นในการยับยั้งโครงการแต่อาจมีมติบังคับให้นำประเด็นที่ขัดแย้งไปสู่การลงประชามติได้ 5.จากข้อเสนอทั้ง 4 ข้อ เครือข่ายประชาสังคมจังหวัด เครือข่ายสมาชิกสภาพัฒนาการเมือง และเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลภาคอีสาน 20 จังหวัด ขอประกาศว่าจะเดินหน้าขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทยโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ยกระดับแนวทางจังหวัดจัดการตนเอง ประชาธิปไตยชุมชน การจัดการทรัพยากร เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ไปสู่จังหวัดปกครองตนเองในทุกพื้นที่อย่างเข้มข้นร่วมกับภาคี ท้องถิ่น ท้องที่และทุกภาคส่วน นับแต่นี้ไป เครือข่ายประชาสังคมจังหวัด เครือข่ายสมาชิกสภาพัฒนาการเมือง และเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลภาคอีสาน 20 จังหวัด จึงขอประกาศแถลงการณ์มาเพื่อทราบและปฏิบัติ 21 ธ.ค.56 |
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai