เวที "ประเทศไทยของเราจะไปทางไหน"หลายฝ่ายเข้าร่วม แต่ไร้เงา ปชป. และ กปปส. โดยมีทั้งเสียงหนุนเลือกตั้งก่อน หรือปฏิรูปก่อน ด้านปลัดกระทรวงกลาโหมยืนยันบทบาทกองทัพจะปฏิบัติตาม รธน. สนับสนุนเลือกตั้ง และพร้อมร่วมมือทำให้เกิดความโปร่งใส ยุติธรรม
16 ธ.ค. 2556 - สำนักข่าวแห่งชาติรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ที่ผ่านมา มีการจัดเวทีเสวนา เรื่อง “ประเทศไทยของเราจะไปทางไหน” ที่รัฐบาลเป็นจ้าภาพ โดยเริ่มเวลา 09.30 น. โดยมีผู้เข้าร่วม ประกอบด้วย ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจ นักวิชาการอิสระ กลุ่มการเมือง และพรรคการเมือง แต่ไม่มีตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ และ กปปส.เข้าร่วม โดยธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยเริ่มเปิดประเด็นคำถามว่า "ควรมีการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ก่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ ปฏิรูปประเทศแล้วจัดการเลือกตั้ง ตามข้อเสนอของ กปปส."
ทั้งนี้มีผู้แสดงความเห็นจากทุกฝ่ายอย่างหลากหลาย โดยวีระพัฒน์ ปริยวงศ์ นักวิชาการอิสระ ยุทธพร อิสระชัย คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และอนุสรณ์ ธรรมใจ ตัวแทนสถาบันปรีดีพนมยงค์ เห็นว่า ควรจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ และให้พรรคการเมืองทำสัตยาบรรณร่วมกันว่า จะเคารพผลเลือกตั้งเพราะเป็นเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ ควบคู่กับการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อปฏิรูปประเทศ และตั้งคณะกรรมการปฏิรูป 1 ชุด แก้ไขวิกฤติการเมือง หรืออาจแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และหากต้องการให้การเลือกตั้งโปร่งใส สามารถทำได้ทันทีไม่ต้องรอให้มีสภาประชาชน ตามที่ กปปส.อ้าง โดยอาศัยกฎหมายประกอบการเลือกตั้ง มาตรา 25 ให้บุคคลส่งตัวแทนเข้าร่วมสังเกตการณ์เลือกตั้ง
ด้านฝ่ายที่เห็นว่า ควรปฏิรูปประเทศให้ก่อนจัดการเลือกตั้ง อาทิ เกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ส.ว.ราชบุรี และเจษฎ์ โทณวนิก คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม เห็นว่า รัฐบาลควรเลื่อนการเลือกตั้งไปก่อน เพื่อให้เกิดการปฏิรูปประเทศ ด้วยการปรับปรุงกฎหมายให้เกิดความเท่าเทียม และการปฏิรูปต้องปรับโครงสร้างทุกด้าน
ด้านความเห็นของกลุ่ม นปช. เห็นว่า ก่อนการปฏิรูปประเทศ ควรเริ่มต้นด้วยการรักษากฏหมาย และจำเป็นต้องมีนักการเมืองเข้าร่วมวงปฏิรูป เพราะเป็นตัวแปรสำคัญของการปฏิรูปประเทศ
สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์รายงานด้วยว่า พล.อ นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม ได้ยืนยันบทบาทของกองทัพ และจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและพิทักษ์ไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย โดยสนับสนุนให้เลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 และพร้อมร่วมมือทำให้การเลือกตั้งโปร่งใส ยุติธรรม ขณะที่ณรงค์ ศศิธร รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง เพื่อเข้าสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เนื่องจากประเทศสมาชิกอาเซียน มองว่า ความมั่นคงทางการเมืองของไทย มีความจำเป็นต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างสมบูรณ์แบบ เพราะไทยมีผลต่อความเติบโตของภูมิภาค
ขณะเดียวกัน ผู้ร่วมเสวนายังมองว่า นักการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญของความขัดแย้ง อาทิ ทรงศักดิ์ ทองศรี พรรคภูมิใจไทย และประวัติ ทองสมบูรณ์ ส.ว.มหาสารคาม เห็นว่า วิกฤติที่เกิดขึ้น มาจากนักการเมืองไม่ใช่ประชาชน ดังนั้น นักการเมืองต้องทำหน้าที่ปฏิรูปประเทศ ด้วยการยอมรับกติกา ปฏิบัติตามกฏหมายอย่างเคร่งครัด และถอยคนละก้าว เพื่อเปิดโอกาสไปสู่การเลือกตั้ง แล้วความขัดแย้งจะยุติลง
ด้านนายพงษ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะรวบรวมข้อคิดเห็นทั้งหมด เผยแพร่ต่อสาธารณชน และจัดทำรายงานให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา พร้อมเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องจัดเวทีในลักษณะนี้อีก เพราะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า ทุกฝ่ายเห็นพ้องให้ปฏิรูปประเทศไทย