3 เม.ย.56 เมื่อเวลา 13.30 นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ พร้อมกับนางชาเดีย มาฮาบาน ประธานกลุ่ม Aceh Women’s League จากประเทศอินโดนีเซีย จัดโครงการเสริมสร้างศักยภาพในการทำหน้าที่เสริมสร้างสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ เพื่ออบรมกลุ่มผู้หญิงเพื่อทำความเข้าใจกระบวนการการเป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง ระหว่างวันที่ 3 - 5 เมษายน 2556 ณ โรงแรมซีเอส.ปัตตานี โดยมีผู้หญิงระดับแกนนำในชุมชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้เข้าร่วม สนับสนุนโดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวเปิดพิธีว่า ตนให้การสนับสนุนผู้หญิงให้มีบทบาทในกระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบันระหว่างตัวแทนกลุ่มขบวนการต่อต้านรัฐกับตัวแทนรัฐไทย ที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งตนย้ำว่า เท่าที่เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นกลุ่มต่างๆ ในสังคม ไม่พบว่า กลุ่มใดไม่ต้องการสันติสุขในพื้นที่ และกลุ่มขบวนการต่อต้านรัฐอย่าง ขบวนการบีอาร์เอ็น (BRN) เองก็ตอบรับการพูดคุย
พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อไปว่า ในกระบวนการพูดคุยกับกลุ่มที่เห็นต่างจากรัฐที่จับอาวุธ มีกระบวนการเดินหน้าที่ชัดเจนอยู่แล้ว แต่ปัญหาคือกระบวนการพูดคุยเพื่อรับฟังเสียงประชาชนยังไม่มีในพื้นที่ จึงขอเชิญชวนให้ผู้หญิงเข้ามีบทบาทในส่วนนี้
พ.ต.อ.ทวี เปิดเผยด้วยว่า ในการพูดคุยสันติภาพครั้งที่ผ่านมา ได้แลกเปลี่ยนกับผู้นำการพูดคุยทางฝั่งขบวนการว่า ต้องการให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมด้วยหรือไม่ ซึ่งผู้นำการพูดคุยฝั่งขบวนการบอกว่า บีอาร์เอ็นไม่ได้ปฏิเสธผู้หญิงที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพเพื่อคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า กระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องการเสียงของประชาชน แต่ยังไม่สามารถรับฟังเสียงประชาชนได้ ซึ่งตนเชื่อว่า ผู้หญิงสามารถเข้าใจปัญหาและลงไปดึงความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ได้ เพื่อส่งต่อให้กลุ่มที่กำลังจะเจรจาสามารถยุติความขัดแย้งในอนาคต เพราะฉะนั้นต้องรับฟังและทำตามในสิ่งที่ประชาชนต้องการ
“การใช้อาวุธ และการใช้กำลังจะสามารถบังคับคนให้ทำตามได้ แต่ไม่สามารถเปลี่ยนความคิดคนอื่นได้ ดังนั้น การเจรจาจะเปลี่ยนไปสู่การแก้ปัญหาจากรากเหง้าได้” พ.ต.อ.ทวี กล่าว
พ.ต.อ.ทวี ยังฝากด้วยว่า โจทย์ที่ต้องชวนคิดกันให้มากคือ การทำความเข้าใจกับคนที่มีความคิดต่างในพื้นที่ไม่ใช่เรื่องยาก การถามถึงความคิดต่างของคนในขบวนการติดอาวุธก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่สิ่งที่ยากที่สุดและต้องทำคือ ต้องถามความคิดต่างของสังคมไทยทั่วประเทศที่ยังไม่เข้าใจว่า ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ต้องทำความเข้าใจและสนับสนุนกระบวนการสันติภาพในพื้นที่อย่างไร
“อยากให้กำลังใจผู้หญิงทุกคนที่จะช่วยหนุนกระบวนการสันติภาพ อาจจะเจอสิ่งที่ท้าทาย แต่สันติภาพไม่อาจจะเกิดขึ้นได้จากคนสองกลุ่ม หรือคนๆ เดียว เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่” พ.ต.อ.ทวี กล่าว