3 เม.ย.56 เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ร่วมกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. จัดเวที “ฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย” โดยมีการ เสวนา “การจัดสวัสดิการสังคมโดยชุมชน” เพื่อผลักดันในเชิงนโยบายและปฏิบัติการจริงในพื้นที่ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ อดีตรองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ได้บรรยายพิเศษเรื่อง สถาบันการเงินกับการจัดสวัสดิการชุมชนที่หลากหลายมิติใหม่ของการสร้างความเป็นพลเมือง ว่า ขณะนี้มีหลายชุมชนที่มีการจัดการเรื่องสวัสดิการชุมชน โดยการใช้สถาบันการเงิน หรือองค์กรการเงินเป็นฐานราก โดยสามารถแยกจุดประสงค์ของการจัดตั้งได้เป็น 3 กลุ่มหลัก คือ 1. กลุ่มที่ทำเฉพาะเรื่องการเงิน เช่น การออม การกู้ ดอกเบี้ย ปันผล 2.กลุ่มที่ทำกิจกรรมเพื่อสวัสดิการอย่างแท้จริง ไม่มีเจตนาในการหากำไร โดยใช้การออมเงิน การเข้าหุ้น และนำไปสร้างเป็นสวัสดิการที่มีเจตนาช่วยคน และ 3. กลุ่มที่มีการทำกิจกรรมหลายอย่างทั้งการเงิน และการสร้างสวัสดิการไปพร้อมๆ กัน เช่น กิจกรรมสร้างอาชีพ ซึ่งไม่ว่าแต่ละชุมชนจะดำเนินการในรูปแบบใด การวางแผนถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ โดยจุดเริ่มต้นควรเริ่มจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะชาวบ้านที่ต้องเป็นแกนหลักในการสะท้อนปัญหา อีกทั้งต้องมีการวางกลยุทธ์ในการจัดการที่ดี ผู้นำต้องรู้จักสร้างความรู้ทางการเงินให้ชุมชนอยู่เสมอ สร้างระบบและจัดระบบเครือข่าย มีการประเมินตนเองเพื่อตรวจสอบการจัดสวัสดิการว่าดีหรือไม่อย่างไร และที่สำคัญจะต้องสร้างกฎเกณฑ์การตรวจสอบ มีความโปร่งใส มีระบบธรรมาภิบาล ไม่ใช่ทำหรือรู้เห็นกันแค่ไม่กี่คน
นอกจากนี้ ปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จที่แต่ละชุมชนจะสร้างสถาบันการเงินและจัดสวัสดิการชุมชนเพื่อนำไปสู่ความเป็นพลเมือง มี 5 ปัจจัย คือ 1. ชุมชนต้องมีการเติบโตที่มีการจัดการที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ไม่ใช่ชุมชนภาคเหนือไปลอกเลียนแบบการจัดการแบบคนภาคใต้มาทั้งหมด 2.การตอบสนองความต้องการของสมาชิกมีผลดีและนำไปสู่การมีคุณภาพ มีความเป็นอยู่ดี เป็นคนที่มีคุณภาพ 3.การเคลื่อนไหวของเงินในสถาบันการเงินในชุมชนจะต้องมาจากการออมหรือถือหุ้น 4.จะต้องมีสมาชิกมาใช้บริการในปริมาณมาก เนื่องจากสถาบันการเงินชุมชนไม่ได้คิดค่าธรรมเนียมมากเหมือนเอกชน จึงน่าจะเป็นแรงดูด และที่สำคัญการบริหารจัดการกันเอง ยังทำให้เกิดความสัมพันธ์และเข้ามาสู่กระบวนการการมีส่วนร่วมอย่างมีจิตอาสา และ 5.มีความสัมพันธ์กับนโยบายรัฐ
นายเอ็นนู กล่าวต่อว่า สำหรับข้อเสนอต่อไปที่อยากเสนอให้ชุมชน คือขณะนี้การจัดการสวัสดิการในแต่ละพื้นที่มักจะทำในลักษณะที่คล้ายกัน คือ เรื่องเกิด-แก่-เจ็บ-ตาย แต่ในความเป็นจริงยังสามารถจัดสวัสดิการที่หลาก หลายและทำในเชิงรุกได้ด้วย อาทิ การลดหนี้นอกระบบ ลดการสูญเสียที่ดินทำกิน เคหะสงเคราะห์ สงเคราะห์อาชีพ ต่อยอดการทำงาน พัฒนาอาชีพ พัฒนาผู้ด้อยโอกาส และการดูแลสิ่งแวดล้อม เป็นต้น เพราะขณะนี้ในหลายชุมชนเริ่มประสบปัญหาชาวบ้านไม่มีที่ดินทำกินแล้ว เพราะถูกนายทุนกว้านซื้อไปและหาประโยชน์ และอีกประเด็นสำคัญคือบางครั้งการจัดสวัสดิการยังตกหล่นสำหรับคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ ดังนั้นควรมีการพัฒนาเพื่อให้ผู้ด้อยโอกาสมีส่วนร่วมในความเป็นพลเมือง ที่จะพัฒนาชุมชน ทำสังคมไทยกลายเป็นสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน
นายชูชาติ บำรุง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งโพธิ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี กล่าวว่าเราเริ่มทำสวัสดิการชุมชนในปี 2548 โดยเริ่มจากทำแผนชุมชนว่า ชาวบ้านมีปัญหาความต้องการหรือเดือดร้อนในประเด็นใดบ้าง และท้องถิ่นก็เข้าไปหนุนเสริมกระบวนการให้ชาวบ้านเรียนรู้ว่าจะต้องพึ่งพาตนเองได้อย่างไร จนปัจจุบันสามารถจัดตั้งเป็นสวัสดิการได้ในหลากหลายด้าน จากความร่วมมือของ 3 ภาคส่วน เรียกว่าการจัดสวัสดิการจาก 3 ขา คือ ชุมชน ท้องถิ่น และรัฐบาล ซึ่งเมื่อมีการดำเนินการแล้วก็พบว่าชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในโครงการสวัสดิการเรื่องการส่งเสริมอาชีพ นอกจากนี้การจัดการสวัสดิการชุมชนยังเกิดผลที่เห็นได้ชัดคือชาวบ้านมีความสัมพันธ์ระหว่างกันดีขึ้น
นายศรัญวิทย์ ดาราศรี อดีตประธานสภาเทศบาลตำบลเชิงดอย อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การจัดสวัสดิการชุมชนของเรามีแนวคิดเกิดจากการช่วยเหลือกันระหว่างชาวบ้านก่อน เพราะเห็นว่านับวันสังคมยิ่งเดินไปในรูปแบบตัวใครตัวมัน ดังนั้นจึงขับเคลื่อนงานเพื่อทำให้ชุมชนหันมารวมตัวกัน โดยเริ่มแรกทำเพียงไม่กี่หมู่บ้านก็ขยายให้ครอบคลุมมากขึ้น แต่ข้อได้เปรียบของตำบลเชิงดอยคือได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนด้วย กลายเป็นการจัดการสวัสดิการ 4 ขา ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดีที่ทำให้สวัสดิการและองค์กรการเงินของชุมชนมีความเข้มแข็งมากขึ้น
นายภานุวุธ บูรพรหม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลผาสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน กล่าวว่า อยากแนะนำให้ชุมชนที่จะเริ่มจัดสวัสดิการชุมชน เริ่มจากสิ่งที่ง่ายที่สุดก่อนโดยเริ่มจาความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ และที่สำคัญต้องเน้นเรื่องการมีส่วนร่วมเป็นสำคัญ ส่วนท้องถิ่นเป็นแค่หน่วยสนับสนุน ทั้งนี้เห็นว่าปัจจุบันในหลายพื้นที่มีสวัสดิการอยู่แล้ว แต่ที่เป็นปัญหาคือเป็นไปในรูปแบบต่างคนต่างทำ จึงไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ดังนั้นทางแก้คือต้องหาจุดร่วมกันให้ได้ โดยท้องถิ่นอาจจะเข้าไปเป็นตัวเชื่อม และท้ายที่สุดที่ทุกสวัสดิการชุมชนควรคำนึงคือจะต้องดูแลชาวบ้านทั้งด้านจิตใจและร่างกาย เพราะเมื่อจิตดีกายดี การพัฒนาในชุมชนก็จะดีไปด้วย และนำไปสู่การสร้างความยั่งยืนได้สำเร็จในที่สุด