Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all 14385 articles
Browse latest View live

สมาชิก Pussy Riot ถูกดำเนินคดีหลังป่วนเกมนัดชิงบอลโลก

$
0
0

4 นักกิจกรรมรัสเซียจากกลุ่ม Pussy Riot ถูกดำเนินคดีหลังวิ่งลงกล่าวสนามในเกมนักชิงบอลโลก เพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐยุติการดำเนินคดีกับผู้เห็นต่างทางการเมือง

 
 
 
จากเพจ PussyRiot
 
16 ก.ค. 2561 สำนักข่าว BBCรายงานว่า เจ้าหน้าตำรวจที่รัสเซียได้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ประท้วง 4 รายของกลุ่ม Pussy Riot ที่วิ่งเข้าไปป่วนการแข่งขันระหว่างฟุตบอลโลกรอบชิงชนะเลิศระหว่างทีมชาติฝรั่งเศส และทีมชาติโครเอเชียเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ทั้งสี่ถูกตั้งข้อหา 2 คดี ได้แก่ ฝ่าฝืนกฎการชมกีฬา และแต่งตัวเลียนแบบเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 รูเบิ้ล (ประมาน 5,300 บาท) และ 1,500 รูเบิ้ล (ประมาน 800 บาท)
 
นักกิจกรรมทั้งสี่ ซึ่งเป็นผู้ชาย 1 คน และผู้หญิงอีก 3 คน ได้กระโดดลงไปในสนามในช่วงครึ่งหลังของการแข่งขัน ก่อนจะถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยลากตัวออกจากสนาม หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว กลุ่ม Pussy Riot ได้ทวีตข้อความระบุว่า นักกิจกรรมทั้งสี่คนถูกกักตัวข้ามคืนที่สถานีตำรวจก่อนจะถูกนำตัวไปศาลในวันต่อมา 
 
ทางกลุ่มยังได้ระบุข้อเรียก 6 ข้อของการประท้วงดังกล่าวได้แก่ 1. ปล่อยนักโทษทางการเมืองทั้งหมด 2. หยุดการจำคุกคนที่กด “ไลค์” 3. หยุดการจับกุมผู้ประท้วงอย่างผิดกฎหมาย 4. เปิดให้มีการแข่งขันทางการเมือง และ 5. ยุติการการดำเนินคดีและจับคนเข้าคุกอย่างไม่มีเหตุผล และ 6. คือ เปลี่ยนตำรวจที่ทำตัวเหมือนมนุษย์โลกให้เป็นตำรวจที่ดีงามแบบเทวดา โดยข้อเรียกร้องข้อสุดท้ายนี่เป็นเหตุผลที่ผู้ประท้วงทั้ง 4 คนแต่งตัวเลียนแบบเจ้าหน้าที่ตำรวจรัสเซีย
 
ก่อนหน้านี้ สมาชิกกลุ่ม Pussy Riot 3 คน เคยถูกตัดสินจำคุกหลังแสดงดนตรีพังค์ที่มีเนื้อหาโจมตีประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ในช่วงการเลือกตั้งเมื่อปี 2012 โดย BBC ระบุว่าผู้ชายที่กระโดดลงไปในสนามคือ ปีเตอร์ เวอร์ซิลอฟ สามีของ นาเดซด้า โตโลคอนนิโคว่า หนึ่งในสามสมาชิก Pussy Riot ที่ถูกจำคุกเมื่อปี 2012 นั่นเอง
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รัฐบาลใหม่มาเลเซียเดินหน้ารถไฟฟ้าสายใหม่ หลังหั่นงบได้ 47% จากแผนรัฐบาลเดิม

$
0
0

หลิมกวนอิง รมว.คลังของพรรครัฐบาลชุดใหม่มาเลเซีย "แนวร่วมแห่งความหวัง"ปัดฝุ่นโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า LRT3 จากรัฐบาลชุดเก่าโดยตั้งงบก่อสร้างราว 1.36 แสนล้านบาท ลดได้ 1.23 แสนล้านบาท หรือ 47% จากงบที่รัฐบาลชุดก่อนเคยเสนอไว้สูงถึง 2.59 แสนล้านบาท โดยการหั่นงบรอบนี้ เป็นการทำตามสัญญาช่วงหาเสียงเลือกตั้งว่าจะลดงบประมาณของโครงการที่มีการใช้จ่ายสูงเกินจริง

หน้าแรกของแผ่นพับแสดงข้อมูลโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า LRT3 โดยล่าสุด รมว.คลังมาเลเซียคนใหม่ สั่งหั่นงบประมาณลง 47%

แผนที่ก่อสร้างรถไฟฟ้า LRT3 จากสถานี Bandar Utama ไปยัง Johan Setia ระยะทาง 37 กม.

มาเลเซียกินีรายงานว่า รัฐบาลมาเลเซียชุดใหม่รื้อฟื้นโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าแบบรางเบา LRT3 อีกครั้งหนึ่ง สามารถปรับลดการใช้งบประมาณโครงการนี้ไปได้จำนวนมากโดยคงประสิทธิภาพเดิมไว้ จากที่ก่อนหน้านี้เคยมีการระงับโครงการไปในสมัยรัฐบาลของนาจิป ราซัค ทั้งนี้มีการอนุมัติงบประมาณก่อสร้างรถไฟฟ้า LRT3 เมื่อสัปดาห์ก่อน โดยปรับงบประมาณเหลือ 16,630 ล้านริงกิต หรือ 136,000 ล้านบาท หรือลดลงจากเริ่มร้อยละ 47 ขณะที่รัฐบาลเดิมเสนอใช้ประมาณ 31,650 ล้านริงกิต หรือ 258,900 ล้านบาท

โดย รมว.คลังของรัฐบาลปัจจุบัน หลิมกวนอิง ระบุว่าการตั้งงบประมาณใหม่สำหรับโครงการถไฟฟ้า LRT3 ความยาว 37 กม. รอบนี้ช่วยประหยัดเงินของประเทศได้ 15,020 ล้านริงกิต หรือราว 122,800 ล้านบาท โดยการงบประมาณในครั้งนี้จะเป็นเรื่องที่ทำตามที่สัญญาเอาไว้ช่วงเลือกตั้งว่าจะลดการใช้งบประมาณโครงการสูงเกินจริงจากรัฐบาลก่อน

สำหรับรายละเอียดของการหั่นโครงการ ได้แก่ 1. มีการลดการสั่งซื้อขบวนรถไฟฟ้าแบบ 6 ตู้โดยสาร 42 ขบวน เหลือสั่งซื้อแบบ 3 ตู้โดยสาร 22 ขบวน โดยผลการศึกษาใหม่ระบุว่าขบวนรถไฟจำนวน 22 ขบวน เพียงพอกับความต้องการของผู้โดยสารไปจนถึงปี พ.ศ. 2578

2. ลดขนาดก่อสร้างโรงเก็บและซ่อมบำรุงขบวนรถไฟฟ้า 3. ออกแบบสถานีรถไฟฟ้าใหม่ โดยยึดรูปแบบสถานีที่มีอยู่เดิมคือ Kelana Jaya LRT แทนการออกแบบเป็นสถานีขนาดใหญ่

3. ยกเลิกการก่อสร้าง 5 สถานีรถไฟฟ้า LRT เนื่องจากผลการศึกษาพบว่ายังมีผู้โดยสารน้อย

4. ยกเลิกอุโมงค์และทางยกระดับความยาว 2 กม. ที่ยังไม่จำเป็น ที่สถานี Persiaran Hishamuddin และ Shah Alam

5. ขยายเวลาก่อสร้างจนแล้วเสร็จไปอีก 4 ปี จากเดิมปี 2563 ไปเป็นปี 2567 โดยโครงการจะสร้างเสร็จช้าไป 4 ปี เนื่องจากมีการตัดงบประมาณที่เรียกว่า "ค่าเร่งก่อสร้าง"ออกไปด้วย

หลิมกวนอิง ยังแถลงถึงรายละเอียดการปรับลดงบประมาณในครั้งนี้ต่อไปว่า ถึงแม้งบ 16,630 ริงกิต จะถือเป็นงบประมาณครอบคลุมรายจ่ายโครงการทั้งหมด รวมไปถึงค่าสัญญารับเหมา, ค่าจัดซื้อที่ดิน, ค่าบริหารโครงการ, ค่าธรรมเนียมที่ปรึกษา, ค่าปฏิบัติการ และค่าต้นทุน อีกทั้งยังคัดรวมกับภาวะเงินเฟ้อช่วงที่มีการก่อสร้างไว้แล้ว การประเมินงบประมาณโครงการใหม่ยังช่วยลดค่าดอกเบี้ยได้อีกถึง 14,000 ล้านริงกิต หรือราว 115,000 ล้านบาท ด้วย

นอกจากแถลงประกาศเรื่องนี้แล้ว ในวันที่ 10 ก.ค. ที่ผ่านมารัฐบาลชุดใหม่ของมาเลเซียยังปฏิเสธคำขอของบริษัท Prasarana Malaysia ที่ของบประมาณโครงการเพิ่ม 22,000 ล้านริงกิต หรือ 180,000 ล้านบาท ด้วย โดยทางรัฐมนตรีกระทรวงการคลังระบุว่าพวกเขาจะไม่ให้งบประมาณเพิ่มเติมจนกว่าจะมีการทยทวนปรับงบประมาณใหม่ในทางที่จะทำให้ใช้งบประมาณน้อยลงขณะที่ยังคงคุณภาพ ความสมบูรณ์ และความปลอดภัย ของระบบรางและบริการเอาไว้ได้

ทางการมาเลเซียแถลงอีกว่ารถไฟฟ้า LRT3 เป็นโครงการที่สำคัญซึ่งจะสามารถขนส่งผู้โดยสารได้มากถึง 36,700 ราย ต่อชั่วโมงในทุกเส้นทาง ช่วยแก้ปัญหารถติดได้สำหรับถนนในเขตกลังถึงเปตาลิงจายา โดยที่พวกเขาใช้วิธีการที่เรียกว่าหุ้นส่วนส่งมอบโครงการ (project delivery partner หรือ PDP) ซึ่งเป็นการหารือและปรับการจัดหาวัตถุดิบระหว่างหุ้นส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบริษัท Prasarana Malaysia, บรรษัทร่วมทุนการก่อสร้างของมาเลเซียเอ็มอาร์ซีบี จอร์จ เคนต์ และคณะกรรมการการขนส่งทางบก

เรียบเรียงจาก

Putrajaya greenlights LRT3 after halving cost​​​​​​​, Malaysiakini, 12-07-2018

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประกาศ 5 ลักษณะสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์

$
0
0
กก.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ออกประกาศ 5 ลักษณะสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ ตั้งแต่ขัดต่อศีลธรรม ยุยงปลุกปั่น ส่งเสริมการละเมิดสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขัดต่อกฎหมาย รวมทั้งขัดต่อหลักจรรยาบรรณสื่อด้วย
 
 
16 ก.ค.2561 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เรื่อง กําหนดลักษณะของสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ พ.ศ.2561 ระบุว่า ประกาศ ณ วันที่ 10 ก.ค.2561 โดย วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทน นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
 
รายละเอียดประกาศระบุว่า โดยที่ พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ.2558 กําหนดให้คณะกรรมการประกาศกําหนดลักษณะของสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ เพื่อประโยชน์ในการควบคุมดูแล กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้ดําเนินกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการส่งเสริม และสนับสนุนให้ประชาชนโดยเฉพาะเด็ก เยาวชนและครอบครัวมีทักษะในการรู้เท่าทันสื่อเฝ้าระวังสื่อ ที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ และสามารถใช้สื่อในการพัฒนาตนเอง ชุมชนและสังคม อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 21 (2) แห่ง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัย และสร้างสรรค์ พ.ศ.2558 ประกอบกับมติที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัย และสร้างสรรค์ ในการประชุมครั้งที่ 4/2561 เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2561 คณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จึงกําหนดลักษณะของสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ไว้ ดังต่อไปนี้
 
1. สื่อที่มีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรม จริยธรรม และวัฒนธรรมอันดีของสังคม หรือส่งผลกระทางลบต่อจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน ครอบครัว ชุมชน และสังคมอย่างร้ายแรง
 
2. สื่อที่มีเนื้อหาก่อให้เกิดความแตกแยก ยั่วยุ และสร้างความเกลียดชังต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลจนอาจก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือจิตใจ
 
3. สื่อที่มีเนื้อหาส่งเสริมการละเมิดสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
 
4. สื่อที่มีเนื้อหาขัดต่อกฎหมาย
 
5. สื่อที่มีเนื้อหาขัดต่อหลักจรรยาบรรณสื่อ หรือแนวปฏิบัติของวิชาชีพสื่อนั้นๆ
 
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สื่อฟินแลนด์ติดป้ายต้อนรับประชดประชุมทรัมป์-ปูติน วิพากษ์พฤติกรรมคุมสื่อ

$
0
0

นสพ. ใหญ่สุดของฟินแลนด์ประท้วงการมาเยือนของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และผู้นำรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ด้วยข้อความต้อนรับแบบประชดประชันจากสื่อหนังสือพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุดในฟินแลนด์โดยมีเจตนาวิจารณ์ผู้นำทั้งสองกรณีการลิดรอนเสรีภาพสื่อ

มีการประท้วงใหญ่ในกรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2561 หนึ่งวันก่อนที่จะมีการพบปะหารือกันระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ที่จัดขึ้นในฟินแลนด์

 

 

ภาพป้ายโฆษณาข้อความต้อนรับในฟินแลนด์ (ที่มา: Twitter/Kaius Niemi)

ผู้นำทั้งสองประเทศได้รับการ ‘ต้อนรับ’ ด้วยป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ที่หนังสือพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุดในฟินแลนด์ 'เฮลซิงงิน ซาโนมัต'เป็นผู้ซื้อโฆษณา ป้ายโฆษณาดังกล่าวระบุข้อความว่า "คุณประธานาธิบดี ยินดีต้อนรับสู่ดินแดนที่มีเสรีภาพสื่อ"ซึ่งมีเจตนาจิกกัดทั้งทรัมป์และปูตินที่ทำตัวเป็นศัตรูกับนักข่าวและเป็นปฏิปักษ์ต่อเสรีภาพสื่อ

ไคอุส นิเอมี หัวหน้ากองบรรณาธิการของเฮลซิงงิน ซาโนมัต กล่าวว่าข้อความดังกล่าวเป็นถ้อยแถลงในฐานะตัวแทนของงานข่าวเชิงวิพากษ์และมีคุณภาพทั้งหลาย ในการต้อนรับประธานาธิบดีสองประเทศนี้พวกเขาต้องการย้ำเตือนพวกเขาให้เห็นความสำคัญของเสรีภาพสื่อ "สื่อไม่ควรจะเป็นสุนัขรับใช้ประธานาธิบดีหรือระบอบใดๆ"

หนังสือพิมพ์เฮลซิงงิน ซาโนมัตทำวิดีโอที่ชื่อ "The Land of Free Press (ดินแดนแห่งสื่อเสรี)"อธิบายว่าพวกเขาจงใจซื้อโฆษณาป้ายต่างๆ ตามทางระหว่างสนามบินกับสถานที่ประชุมรวมมากกว่า 280 ป้าย ซึ่งนอกจากข้อความต้อนรับดังกล่าวแล้ว ยังมีข้อความต่างๆ ที่เป็นพาดหัวข่าวในอดีตเกี่ยวข้องกับผู้นำสองคนนี้โดยเฉพาะพาดหัวข่าวที่ประธานาธิบดีสองคนนี้ขัดแย้งกับสื่อหรือพูดเกี่ยวกับสื่อ เช่น การที่ทรัมป์โทษสื่อเวลาไม่พอใจเรื่องต่างๆ วิดีโอดังกล่าวยังระบุอีกว่าผู้นำทั้งสองคนนี้มีความพยายามควบคุมสื่อทั้งคู่

มีการตั้งข้อสังเกตว่าปูตินและทรัมป์พบปะหารือกันที่กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ในวันที่ 16 ก.ค. 2561 ไม่กี่วันหลังจากมีการดำเนินคดีกับทหารรัสเซียในข้อหาพยายามแทรกแซงการเลือกตั้ง โดยที่สำนักงานที่ปรึกษาพิเศษของ โรเบิร์ต มุลเลอร์ ประกาศเมื่อวันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมาว่ามีการตั้งข้อหาเจ้าหน้าที่ทหารรัสเซีย 12 นาย จากเรื่องที่พวกเขาถูกกล่าวหาว่ามีความเกี่ยวข้องกับการพยายามแทรกแซงการเลือกตั้งปี 2559 ของสหรัฐฯ โดยรัฐบาลรัสเซีย

นอกจากป้ายโฆษณาแล้ว ประชาชนชาวฟินแลนด์ยังออกมาประท้วงแสดงความไม่พอใจผู้นำทั้งสองประเทศที่มาประชุมในประเทศของพวกเขา มีผู้ประท้วงชูป้าย "ไม่ต้อนรับ"โดยผู้ประท้วงรายหนึ่ง ผู้ประท้วงรายอื่นถือป้ายที่มีรูปการ์ตูนทรัมป์กับปูตินโอบกอดกันพร้อมข้อความก่นด่าทั้งคู่ ผู้ประท้วงชื่อ แอนนา บรูน กล่าวว่าเธอรู้สึกไม่ดีที่ผู้นำทั้งสองคนมาที่ประเทศเธอ บรูนบอกว่าเธอต่อต้านสิ่งที่เธอเรียกว่า ‘การเมืองของมหาอำนาจ’ ที่นำมาเล่นกันในเมืองบ้านเกิดของเธอ

เรียบเรียงจาก

Finnish Newspaper Greets Trump and Putin With Billboards Defending 'Free Press', Common Dreams, Jul. 15, 2018

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวแคลิฟอร์เนียนำ 'มอนซานโต'ขึ้นศาลได้ครั้งแรกกรณียาฆ่าหญ้าก่อมะเร็ง

$
0
0
เมื่อเดือนที่แล้วมีการฟ้องร้องมอนซานโต บรรษัทเกษตรเคมีภัณฑ์ในสหรัฐฯ ด้วยข้อกล่าวหาว่าผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชทำให้คนสวนชาวแคลิฟอร์เนียเป็นมะเร็ง นับเป็นครั้งแรกที่มอนซานโตถูกดำเนินคดีจากที่ก่อนหน้านี้มีคนฟ้องร้องกรณีเดียวกันนับพันคน

 
 
หนึ่งในผลิตภัณฑ์ยี่ห้อราวน์อัพ (ที่มา: flickr/David Mulder)
 
สื่อ CBS นำเสนอกรณี เดอเวย์น จอห์นสัน ชาวมลรัฐแคลิฟอร์เนียผู้มีอาชีพคนดูแลสนามฟ้องร้องต่อบรรษัทมอนซานโต ผู้ผลิตยากำจัดวัชพืชยี่ห้อ 'ราวน์อัพ'โดยกล่าวหาว่าสารไกลโฟเซตในราวน์อัพทำให้เขาเป็นมะเร็งจากการใช้ผลิตภัณฑ์นี้ในการทำงานเป็นเวลาสองปี
 
จอห์นสันที่ปัจจุบันอายุ 46 ปีได้รับการตรวจพบว่าเป็นมะเร็งตั้งแต่ปี 2557 เขาฟ้องร้องมอนซานโตว่าไม่มีการใส่คำเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงอันตรายในการใช้งานและสัมผัสสารไกลโฟเซตที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ มีคนอื่นๆ ฟ้องร้องมอนซานโตในแบบเดียวกันนี้หลายพันคน แต่ตามกฎหมายของแคลิฟอร์เนีย คดีของจอห์นสันจะได้รับการพิจารณาก่อนเพราะว่าจอห์นสันใกล้จะเสียชีวิตแล้ว
 
ริคดี คลีแมน นักวิเคราะห์ด้านกฎหมายกล่าวว่าคดีของจอห์นสันมีความสำคัญในฐานะที่ผลการตัดสินของคดีนี้จะกลายเป็นตัวอย่างชี้นำให้กับการพิจารณาคดีสำหรับผู้ฟ้องร้องรายอื่นๆ อีกหลายพันคน
 
คลีแมนกล่าวว่ามีการฟ้องร้องคดีนี้จำนวนมากในมลรัฐซานฟรานซิสโกและเซนต์หลุยส์ที่เป็นแหล่งที่ตั้งของมอนซานโต ถ้าหากโจทก์ในคดีที่แคลิฟอร์เนียได้รับชัยชนะ ก็จะส่งผลต่อเนื่องไปสู่โจกท์คนอื่นๆ และทำให้มอนซานโตต้องพิจารณาตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองใหม่ แต่ถ้าโจทก์ในคดีที่แคลิฟอร์เนียแพ้ก็จะทำให้มอนซานโตอยู่ในจุดที่ได้เปรียบ
 
จนถึงตอนนี้มอนซานโตยังคงปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องที่สารเคมีในผลิตภัณฑ์ของพวกเขาทำให้เกิดมะเร็ง โดยแถลงว่า "พวกเรามีความเห็นใจต่อใครก็ตามที่ป่วยเป็นมะเร็ง แต่หลักฐานทางวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าไกลโฟเซตไม่ได้เป็นสาเหตุในเรื่องนี้ พวกเราจะรอเสนอหลักฐานนี้ต่อศาล"
 
อย่างไรก็ตาม คลีแมนบอกว่าโจทก์ในคดีนี้สามารถนำเสนอหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงให้เห็นว่าราวน์อัพทำให้เกิดมะเร็งได้จริงและมอนซานโตรู้เรื่องนี้ดีแต่ไม่เตือนผู้คน ถือเป็นการกลบเกลื่อนหลักฐานจากสายตาประชาชน ถ้าหากจอห์นสันสามารถพิสูจน์ได้สำเร็จ เขาก็ต้องการเรียกร้องค่าเสียหายในเชิงลงโทษต่อมอนซานโตไม่ว่ามันจะเป็นไปได้มากแค่ไหน เพราะฝ่ายมอนซานโตสามารถอ้างผู้เชี่ยวชาญฝ่ายพวกเขาและอ้างงานวิจัยจำนวนมาก อย่างไรก็ตามมีงานวิจัยจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี 2558 ที่ระบุว่าไกลโฟเซตในราวน์อัพอาจจะเป็นสารก่อมะเร็ง
 
มอนซานโตเป็นบรรษัทที่มีบริษัทแม่ในมลรัฐเซ็นต์หลุยส์ได้พัฒนาสารไกลโฟเซตในช่วงทศวรรษ 2510 ปัจจุบันยาฆ่าหญ้าราวน์อัพถูกจำหน่ายไปมากกว่า 160 ประเทศ ถูกใช้กับพืชผลมากกว่า 200 ชนิดโดยเกษตรกรในแคลิฟอร์เนีย นอกจากนั้นมันยังถูกใช้กับสนามหญ้าและสวนตามบ้านเรือนอีกด้วย
 
มอนซานโตไม่ได้ขายเพียงยาฆ่าหญ้า แต่ยังขายเมล็ดพันธุ์พืชที่ตัดต่อทางพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) ให้เป็นพืชที่ทนต่อสารไกลโฟเซตเพื่อไม่ให้ตายตามวัชพืชรอบๆ
 
เมื่อเวลาผ่านไป ยาฆ่าหญ้าตัวดังกล่าวเริ่มถูกจับตามองมากขึ้นเรื่อยๆ จากองค์กรวิจัยนานาชาติด้านมะเร็งที่เป็นส่วนหนึ่งขององค์การอนามัยโลก มีศูนย์ใหญ่อยู่ที่เมืองลีญง ประเทศฝรั่งเศส ในปี 2558 องค์กรดังกล่าวระบุว่าราวน์อัพมีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ก่อมะเร็ง จากนั้นก็ตามมาด้วยการฟ้องร้องจำนวนมากในศาลมลรัฐและศาลสูงของสหรัฐฯ จำนวนมาก โดยมลรัฐแคลิฟอร์เนียได้เพิ่มสารไกลโฟเซตเข้าไปอยู่ในรายการสารเคมีที่ก่อมะเร็ง
 
คริสติน เชพพาร์ด หนึ่งในผู้ฟ้องร้องมอนซานโตกล่าวว่าเธอใช้ราวน์อัพกำจัดวัชพืชในไร่กาแฟของเธอที่ฮาวายเป็นเวลาหลายปี จนในปี 2546 เธอถูกตรวจพบว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองและจะมีชีวิตอยู่ต่อได้เพียงหกเดือนซึ่งเธอเชื่อว่าราวน์อัพคือสาเหตุของมะเร็งนี้ แม้ตามรายงานข่าวเมื่อเดือน มี.ค. 2561 เธอมีอาการดีขึ้น แต่ก็ยังมีอาการเจ็บปวดอย่างสาหัสที่มือและขาจากการรักษามะเร็งและระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลง
 
เรียบเรียงจาก
 
Monsanto faces its first trial over allegations Roundup ingredient caused cancer, CBS News, Jun. 19, 2018
 
Monsanto's Roundup to face cancer claims in unusual court case, CBS News, Mar. 5, 2018
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'สมัชชาคนจน'ร้อง 'ประยุทธ์'แก้ปัญหา 'ยาฆ่าหญ้า-ค่าครองชีพ-บัตรทอง-สิทธิแรงงาน'

$
0
0
สมัชชาคนจนร้องประยุทธ์แก้ปัญหานำเข้าสารเคมีอันตราย ราคาน้ำมันที่ถีบตัวสูงขึ้น กระทบค่าครองชีพ ปัญหาสวัสดิการรักษาพยาบาลจากระบบบัตรทอง และปัญหาด้านแรงงาน ที่คนงานที่ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมมากขึ้น

17 ก.ค.2561 ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ. เดิม) บริเวณข้างทำเนียบรัฐบาล ตัวแทนสมัชชาคนจน นำโดย บุญยืน สุขใหม่ กรรมการบริหารสมัชชาคนจน ฝ่ายกฎหมายแรงงาน พร้อมตัวแทนสมัชชาคนจนกว่า 50 คน เดินทางยื่นหนังสือเรียกร้องถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่าน พันศักดิ์ เจริญ ผู้อำนวยการส่วนประสานมวลชนและองค์กรประชาชน เพื่อให้ภาครัฐเร่งรัดในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการบริหารงานของรัฐบาล คสช. ผ่านนโยบาย และออกประกาศคำสั่งต่างๆ รวม 4 ประเด็นคือ 

1. การนำเข้าสารเคมีอันตราย โดยเฉพาะ พาราควอต (ยาฆ่าหญ้า)เพื่อใช้ในภาคการเกษตร ที่ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย ให้ยังสามารถใช้ได้ในประเทศไทย ทั้งที่เกิดผลกระทบขึ้นมากมายต่อชีวิตเกษตรกร และผู้บริโภคประชาชนทั่วไป ทั้งเสียชีวิต และสะสมปนเปื้อนตกค้าง ในสภาพแวดล้อม และอาหารที่ทุกคนบริโภค จึงขอให้พิจารณาการจำกัดหรือยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 รายการ คือ พาราควอต คลอไพริฟอส และไกลโฟเซต

2. ราคาน้ำมันที่ถีบตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ค่าครองชีพของประชาชนแพงขึ้นทุกวัน ในขณะที่รายได้ของประชากร กลับไม่ได้มากตาม ทำให้คนไทยต้องจนลง จากเงินในกระเป๋าที่ต้องจ่ายไปเป็นค่าเชื้อเพลิงพลังงาน และจากปัญหาความไม่โปร่งใสในแวดวงธุรกิจพลังงาน

3. ปัญหาสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล จากระบบบัตรทอง ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่มีความพยายามจะปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. ดังกล่าว โดยผิดไปจากเจตนารมณ์เบื้องต้นที่ต้องการให้เกิดระบบสวัสดิการและความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ในด้านการดูแลรักษาพยาบาล เพื่อให้เกิดเป็นระบบหลักประกันสุขภาพของคนไทยทุกคน โดยจะส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกคนที่ใช้ระบบบัตรทอง โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนคนยากจน ที่จะถูกเลือกปฏิบัติสงเคราะห์อย่างไม่เป็นธรรม เกิดเป็นความเหลื่อมล้ำในด้านการดูแลสุขภาพและรักษาพยาบาล

4. ปัญหาด้านแรงงาน ที่ปัจจุบันมีจำนวนคนงานที่ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมมากขึ้น โดยที่หน่วยงานของรัฐไม่สามารถเข้าไปดูแลช่วยเหลือแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที กลับปล่อยให้บรรดาคนงานที่ถูกปิดงานเลิกจ้างไม่เป็นธรรมต้องเผชิญชะตากรรมโดยลำพัง โดยรัฐได้กำหนดนโยบายต่างๆ ที่ให้สิทธินักลงทุนมากขึ้นแทบทุกด้าน แต่สิทธิด้านแรงงานกลับไม่ได้รับการเหลียวแล แก้ไข

สำหรับรายละเอียดทั้ง 4 ประเด็นเรียกร้องมีดังนี้ 

ประเด็นการนำเข้าสารเคมีอันตราย

ประเด็นราคาน้ำมันที่ถีบตัวสูงขึ้น

ประเด็นระบบบัตรทอง

ประเด็นปัญหาด้านแรงงาน

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยิ่งห่างไกล สถิติป่วย ‘ตาต้อกระจก’ ยิ่งพุ่ง ไทยเดินหน้าผลิตจักษุแพทย์เพื่อชนบท

$
0
0

ยิ่งห่างไกล สถิติป่วย ‘ตาต้อกระจก’ ยิ่งพุ่ง 'ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ฯ' เสนอ สปสช.ต่อรองราคาเลนส์แก้ตาเอียง เพิ่มเติมในชุดสิทธิประโยชน์

17 ก.ค.2561 รศ.นพ.อนุชิต ปุญญทลังค์ ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ฉายภาพสถานการณ์ผู้ป่วยตาต้อกระจกในประเทศไทยว่า สถานการณ์เป็นไปเช่นเดียวกับทั่วโลก กล่าวคือประชากรที่มีอายุมากตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป จะป่วยเป็นต้อกระจกมากขึ้น แต่ภายหลังที่ประเทศไทยได้ทำโครงการลดการตาบอดจากต้อกระจก พบว่าผู้ป่วยที่เป็นต้อกระจกในระดับรุนแรงลดจำนวนลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในเขตเมืองที่พบผู้ป่วยน้อยมาก

“ในพื้นที่ห่างไกลยังคงมีผู้ป่วยอยู่ ในเขตอำเภอที่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 100-200 กิโลเมตร จะพบผู้ป่วยต้อกระจกในระดับรุนแรงหรือต้อสุกมากๆ ประมาณ 20-30% ของคนผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา แต่หากเป็นอำเภอที่ห่างไกลออกไปอีก เช่น อุ้มผาง ท่าศาลา จะพบผู้ป่วยประมาณ 70-80% ของผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา” นพ.อนุชิต กล่าว

นพ.อนุชิต กล่าวต่อไปว่า จากผลการศึกษาผ่านงานวิจัยพบว่าสาเหตุที่คนไข้ในพื้นที่ห่างไกลเป็นต้อกระจกสุกมากๆ จำนวนมาก เนื่องจากประชาชนมีความยากลำบากในการเดินทางเข้ารับการรักษา ประสบปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และมีความรู้สึกกลัวการเข้ารับการรักษา

“ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) อยู่ระหว่างการสำรวจว่าทั่วประเทศมีผู้ป่วยตาบอดจากต้อกระจกเท่าไร เพราะที่ผ่านมาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแหงชาติ (สปสช.) ได้เข้ามาช่วยทำโครงการลดจำนวนผู้ป่วยตาบอด ซึ่งทำให้ผู้ป่วยลดจำนวนลงมาก” นพ.อนุชิต กล่าว

ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สปสช.ได้ปรับปรุงสิทธิประโยชน์ดีขึ้นเรื่อยๆ และได้ขยายความครอบคลุมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในระยะแรกมีการกำหนดราคาเบิกจ่ายค่ารักษาต้อกระจกเล็กๆ กับต้อกระจกที่สุกมากๆ ในอัตราที่เท่ากัน เป็นเหตุให้โรงพยาบาลเอกชนเลือกที่จะรักษาผู้ป่วยเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งที่สุดแล้วจำนวนผู้ป่วยตาบอดของประเทศไทยก็ไม่ได้ลดง แต่หลังจาก สปสช.ปรับปรุงราคาก็ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นอย่างชัดเจน

“ย้อนกลับไปในอดีต เลนส์ที่เราใส่กันอยู่ในปัจจุบันมีราคาแพงมาก แต่พอ สปสช.เข้ามาช่วยในเรื่องนี้ เขาก็ใช้กลไกการต่อรองราคาซึ่งทำให้ซื้อได้ในราคาที่ถูกลง ผู้ป่วยเข้าถึงได้มากขึ้น โดยเลนส์เหล่านี้มีคุณภาพตามมาตรฐาน แต่อาจจะไม่ถึงกับทันสมัยใหม่ล่าสุด” นพ.อนุชิต กล่าว

นพ.อนุชิต กล่าวอีกว่า ส่วนตัวมีข้อเสนอเพิ่มเติมคืออยากให้ สปสช.เข้ามาดูเรื่องราคาเลนส์พิเศษแก้สายตาเอียง โดยอาจจะต่อรองราคาให้ถูกลงหรือให้คนไข้ช่วยจ่ายเล็กน้อย ซึ่งจะทำให้คนไข้ได้รับการรักษาในครั้งเดียวโดยไม่ต้องไปเสียค่าใช้จ่ายตัดแว่นสายตาเอียงอีก ซึ่งก็เป็นเรื่องที่พยายามผลักดันกันอยู่

สำหรับสถานการณ์จักษุแพทย์ในปัจจุบัน นพ.อนุชิต กล่าวว่า ในเมื่อผู้ป่วยอยู่ในเมืองเป็นจำนวนมาก จักษุแพทย์ในปัจจุบันจึงกระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง ขณะที่พื้นที่ต่างจังหวัดจะมีแพทย์น้อยมาก นั่นสะท้อนถึงปัญหาการกระจายตัวของจักษุแพทย์

อย่างไรก็ดี ทาง สธ.ได้ร่วมกับราชวิทยาลัยทุกๆ สาขา ซึ่งหนึ่งในนั้นคือราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ฯ ในการพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนของแพทย์ ทั้งเชิงการคงอยู่ของตัวแพทย์เองและทำให้แพทย์อยู่ในชนบทได้ เบื้องต้นมีการสำรวจและพบว่าในต่างจังหวัดขาดแคลนจักษุแพทย์ราวๆ 110 ตำแหน่ง ขณะที่ในแต่ละปีราชวิทยาลัยสามารถฝึกอบรมได้ประมาณ 40 กว่าราย จึงมีการคุยกันหลายฝ่ายทั้งเขตสุขภาพ สธ. สถาบันฝึกอบรมต่างๆ โดยเห็นตรงกันว่าจะร่วมกันผลิตให้ได้ถึงปีละ 50 ราย ซึ่งจะช่วยบรรเทาสถานการณ์ในปีนี้ได้

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสวนาอำนาจนำ และลัทธิ(ไม่)เสรีนิยม: เมื่อชนชั้นกลางไม่ชอบประชาธิปไตย

$
0
0

นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแม็กกิลล์ยกกรณีศึกษาไทยและสิงค์โปร์ โดยชี้ว่าชนชั้นกลางมีโอกาสถูกขัดเกลาให้เป็นคนหัวอนุรักษ์นิยมง่ายกว่าชนชั้นล่าง เผย 2 ปัจจัย “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” และ “คนดี” คืออุปสรรคประชาธิปไตยไทย ส่วน ‘ประจักษ์ ก้องกีรติ’ เสนอว่าชนชั้นกลางอาจหันหลังให้เผด็จการ หากสถาบันทางการเมืองเข้มแข็ง

แวดวงการศึกษาทางรัฐศาสตร์เคยเชื่อว่าชนชั้นกลางคือกำลังสำคัญในการวางรากฐานประชาธิปไตย ยิ่งประเทศไหนมีชนชั้นกลางเยอะ ประเทศนั้นก็มีโอกาสจะเป็นประชาธิปไตยเพิ่มมากขึ้น แต่ปรากฏการณ์ทั่วโลกในรอบทศวรรษที่ผ่านมาได้ทำให้เหล่านักรัฐศาสตร์ต้องกลับมาตั้งคำถามกับแนวคิดดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นขบวนการชนชั้นกลางในไทยที่ร่วมกันต่อต้านรัฐบาลพลเรือนของทักษิณและยิ่งลักษณ์ อีกทั้งประเทศที่มีชนชั้นกลางจำนวนมากอย่างประเทศจีน และสิงคโปร์ ก็ไม่ได้มีแนวโน้มที่จะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเลยแม้แต่น้อย

เพื่อตอบคำถามดังกล่าว ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ ร่วมกับ ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ จึงได้จัดงานเสวนา “Middle Classes in Southeast Asia : Hegemony and Illiberalism” ขึ้นเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2561 โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ ศ.ดร.อีริก คูฮอนต้า จากมหาวิทยาลัยแม็กกิลล์ ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ จากคณะรัฐศาสต์ ธรรมศาสตร์ อาจารย์ดุลยภาพ จาตุรงคกุล จากคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย รศ.ดร. เวียงรัฐ เนติโพธิ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

คลิปเสวนา "Middle Classes in Southeast Asia : Hegemony and Illiberalism"

 

ชนชั้นกลางถูกขัดเกลาให้ยอมรับเผด็จการง่ายกว่าชนชั้นแรงงาน

การชุมนุมของ กปปส. ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 (แฟ้มภาพ/ประชาไท)

อีริก คูฮอนต้าเริ่มอภิปรายด้วยการยกโควทของอริสโตเติ้ล นักปรัชญาการเมืองกรีกที่กล่าวไว้ว่า “ระบอบประชาธิปไตยโดยทั่วไปนั้นมีความความมั่นคงและยั่งยืนกว่าระบอบคณาธิปไตยก็ เพราะว่ามีชนชั้นกลางเป็นปัจจัยสำคัญ หากประชาธิปไตยไร้ซึ่งชนชั้นกลาง และชั้นล่างมีจำนวนมาก ย่อมเกิดปัญหา และพังทลายอย่างรวดเร็ว”

แม้จะเป็นถ้อยคำที่กล่าวเอาไว้นานกว่า 300 ปีก่อนคริสตกาล แนวคิดดังกล่าวได้ส่งผลต่อแนวคิดของนักรัฐศาสตร์สมัยใหม่อย่างมาก และได้กลายมาเป็นทฤษฎีการก้าวเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ (Modenization Theory) ที่อธิบายว่า การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจจะนำไปสู่การก่อตัวของชนชั้นกลางที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งคนกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะมีแนวคิดแบบเสรีนิยม มีความอดกลั้นทางการเมือง และต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง ชนชั้นกลางจึงเป็นกำลังสำคัญในการท้าทายอำนาจเผด็จการและเรียกร้องประชาธิปไตยภายในประเทศ

อย่างไรก็ตามคูฮอนต้ากล่าวว่า วิธีคิดดังกล่าวมองข้ามปัจจัยด้านอุดมการณ์ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการประกอบสร้างพฤติทางการเมืองของชนชั้นกลาง ข้อเสนอของเขาคือชนชั้นกลางสามารถถูก “กล่อมเกลา (socialized)” ให้เชื่อและยอมรับอุดมการณ์แบบอนุรักษ์นิยมและกลายเป็นผู้สนับสนุนระบอบอำนาจนิยมภายในประเทศ และเมื่ออุดมการณ์ดังกล่าวครอบงำสังคมได้ในระดับที่ไม่มีอุดมการณ์อื่นท้าทายได้ อุดมการณ์ดังกล่าวก็จะกลายเป็นอำนาจนำ (hegemony) ในท้ายที่สุด โดยคูฮอนต้าได้นิยามชนชั้นกลางว่าหมายถึง คนที่เป็นแรงงานมีฝีมือ อาศัยอยู่ในเมือง ได้รับการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยขึ้นไป และไม่มีทุน

คูฮอนต้ากล่าวว่า จริงที่อุดมการณ์ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อระบอบการเมืองภายในประเทศ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นเดียวกันว่าอุดมการณ์มีผลอย่างยิ่งต่อการกำหนดพฤติกรรมทางการเมืองของคนในสังคม โดยในกรณีของประเทศไทย อุดมการณ์ที่มีผลต่อการประกอบสร้างพฤติกรรมทางการเมืองของชนชั้นกลางไทยคือแนวคิดเรื่อง “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” และ แนวคิดเรื่อง “คนดี”

อุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ถูกสถาปนาขึ้นโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่เชื่อว่าประชาธิปไตยจะต้องสอดคล้องกับวัฒนธรรมของคนไทย ที่รักความมีเสถียรภาพ (stability) ความมีระเบียบ (order) ความสามัคคีของคนในชาติ (national unity) และความจงรักภักดีในสถาบันกษัตริย์ แนวคิดทั้งหมดนี้นำไปสู่การให้อำนาจแก่ฝ่ายบริหารมากกว่าฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นการส่งเสริมแนวคิดทางการเมืองแบบผูกขาดไปในท้ายที่สุด

อุดมการณ์ที่สองคือแนวคิดเรื่อง “คนดี” ซึ่งถูกคิดค้นโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งคูฮอนต้าอธิบายว่าคึกฤทธิ์เป็นคนที่นิยมระบอบศักดินา (fuedalism) อย่างมาก คือชื่นชอบสังคมมีลำดับชั้นโดยมีสถาบันกษัตริย์เป็นจุดสูงสุดของสังคม รองลงมาคือช้าราชการ นักการเมือง และประชาชนตามลำดับ เมื่อมีแนวคิดตั้งต้นมาจากระบบศักดินา คึกฤทธิ์จึงไม่ชอบการเลื่อนลำดับชั้นทางสังคมแต่มองว่าคนทุกคนควรจะทำหน้าที่ของตัวเองในสังคมให้ดีอย่างมีศีลธรรม และปราศจากความเห็นแก่ตัว (self-interest) การเมืองจึงอุดมการณ์ของคึกฤทธิ์จึงไม่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบ เพราะขอแค่เพียงให้คนดีได้ขึ้นมาปกครอง ประเทศก็จะดำเนินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง ในระบอบดังกล่าว การทำรัฐประหารจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น และยอมรับได้เพื่อขับไล่ผู้ปกครองที่ไม่มีศีลธรรมลงจากอำนาจ และสร้างเสถียรภาพภายในประเทศ

คูฮอนต้าสรุปว่า อุดมการณ์ทั้งสองข้างต้นได้ทำให้แนวประชาธิปไตยของไทยขัดแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นในมิติของความชอบธรรมในการปกครองที่ยึดติดกับแนวคิดทางศีลธรรมและศาสนา แทนที่จะเป็นหลักนิติธรรมและเสียงข้างมาก มองการแข่งขันทางการเมืองและการตรวจสอบถ่วงดุลว่าเป็นสิ่งที่บ่อนทำลายความสามัคคีและความสงบเรียบร้อยของสังคม ให้ความสำคัญกับคนดีมากกว่าคนที่มาจากการเลือกตั้ง สนับสนุนสังคมที่มีลำดับชั้น ทั้งๆ หนึ่งในเป้าหมายของระบอบประชาธิปไตยคือการสร้างความเท่าเทียมในสังคม และสุดท้ายคือยอมรับการทำรัฐประหาร ซึ่งไม่ใช่ทางออกของวิกฤติการเมืองในระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตย

คูฮอนต้ากล่าวต่อว่า อุดมการณ์ “การเมืองแบบไทยๆ” และ “คนดี” ปรากฏตัวออกมาอย่างชัดเจนผ่านวิกฤติการเมืองไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอเรื่อง สว. แต่งตั้งของขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ การเรียกร้องอย่างชัดเจนให้ทหารเข้าแทรกแซงการเมืองขบวนการ กปปส. จวบจนมาถึงรัฐบาล คสช. ที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่ากำลังเดินตามแนวคิดประชาธิปไตยแบบไทยๆ ของจอมพลสฤษดิ์ ผ่านการร่างรัฐธรรมนูญที่เน้นการสร้างเสถียรภาพทางการเมืองภายใต้การนำของกองทัพ มากกว่าการมีส่วนร่วมของประชาชน

คล้ายคลึงกับประเทศสิงคโปร์ ที่แม้จะมีการเลือกตั้ง และมีสัดส่วนชนชั้นกลางมากที่สุดในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่พรรคกิจกรรมสังคมกลับชนะการเลือกตั้งมาโดยตลอดนับตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งแรกในปี 1959 จึงไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยได้เต็มปาก ยิ่งไปกว่านั้น จากการสำรวจความพึงพอใจในระบอบการปกครองในปี 2009 ชาวสิงคโปร์กว่า 93% ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ารู้สึกพึงพอใจกับรูปแบบการปกครองในปัจจุบัน นั่นหมายความว่าชนชั้นกลางในสิงคโปร์ไม่มีแนวโน้มที่จะตั้งคำถาม หรือท้าทายรูปแบบการปกครองกึ่งอำนาจนิยมของประเทศตัวเองเลย เนื่องจากมีอุดมการณ์สามประการที่ครอบงำความคิดชนชั้นกลางสิงคโปร์อยู่นั่นคือ 1. “ความอยู่รอด (survival)” คือแนวคิดที่ว่าทำอย่างไรก็ได้ให้ตนเองและประเทศอยู่รอดได้ท่ามกลางปัญหาและความท้าทายต่างๆ 2. “หลักปฏิบัตินิยม (pragmatism)” คือแนวคิดที่เน้นประสิทธิภาพและปฏิบัติได้จริง และ 3. “หลักคุณธรรมนิยม (meritocracy)” คือแนวคิดที่ให้คุณค่ากับความสามารถของตัวบุคคล

คูฮอนต้ากล่าวว่าชนชั้นนำสิงคโปร์ประสบความสำเร็จในการสถาปนาอุดมการณ์ทางการเมืองว่า “พรรคกิจสังคมเหมาะสมที่จะปกครองประเทศ (หลักปฏิบัตินิยม) เพราะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ (หลักคุณธรรมนิยม) ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ท้าทาย (ความอยู่รอด)” สิงคโปร์ประสบความสำเร็จในการทำให้ประชาชนเชื่อว่าประเทศมีความท้าทายทางเศรษฐกิจ และการเมือง จึงจำเป็นจะต้องให้ผู้มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ทางการเมืองสูงอย่างพรรคกิจสังคมบริหารประเทศต่อไป ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพรรคกิจสังคมได้พิสูจน์ให้ประชาชนเห็นว่าสามารถบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมาอย่างต่อเนื่องได้จริง ในแง่นี้แนวคิดเรื่องคุณธรรมนิยม จึงไม่ต่างจากแนวคิดเรื่องคนดีของประเทศไทยมากนัก เพราะเป็นการสนับสนุนให้คนเพียงบางกลุ่มบริหารประเทศได้โดยไม่ต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุล ในท้ายที่สุดอุดมการณ์ดังกล่าวจึงสร้างความชอบธรรมให้ชนชั้นสูงปกครองประเทศต่อไป เพราะมองว่าชนชั้นนี้เหมาะสมที่สุดในการบริหารประเทศ

คูฮอนต้าอธิบายว่า อุดมการณ์ดังกล่าวยังถูกใช้เป็นข้ออ้างของรัฐบาลในการมองข้ามปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ เพราะมองว่าการที่คนยากจนนั้นเป็นเพราะพวกเขาไม่มีความพยายามหรือความสามารถมากพอ แม้สิงคโปร์จะมีพรรคฝ่ายค้านคือ พรรคคนงานที่มีฐานเสียงเป็นชนชั้นล่าง แต่พรรคดังกล่าวก็วิพากษ์วิจารณ์พรรคกิจสังคมแค่ในระดับนโยบายเท่านั้น

แต่ก็ใช่ว่าพรรคกิจสังคมจะไม่ถูกท้าทายเลย โดยในการเลือกตั้งปี 2011 พรรคกิจสังคมได้เสียงในสภาไปเพียง 66 เปอร์เซ็น ซึ่งลดลงเกือบ 10 เปอร์เซ็น จากการเลือกตั้งในปี 2005 แต่คะแนนเสียงหายไปเหล่านี้กลับไม่ใช่ชนชั้นกลาง แต่มาจากเขตพื้นที่ผู้ใช้แรงงานอาศัยอยู่เยอะ จึงกลายเป็นว่าชนชั้นที่พยายามจะท้าทายระบอบการเมืองของสิงคโปร์ไม่ใช่ชนชั้นกลาง แต่เป็นชนชั้นแรงงานเสียมากกว่า อย่างไรก็ตามพรรคกิจสังคมก็พยายามจะปรับตัวเพื่อดึงเสียงของชนชั้นแรงงานกลับมา โดยมีการออกนโยบายลดเงินเดือนรัฐมนตรี ลดราคาที่อยู่อาศัย และพัฒนาระบอบขนส่งมวลชนให้คนมีรายได้น้อยเข้าถึงได้มากขึ้น

คูฮอนต้าสรุปว่าชนชั้นกลางไม่เป็นผู้สนับสนุนประชาธิปไตยเสมอไป ชนชั้นกลางสามารถสลับไปมาระหว่างฝ่ายต่อต้านและสนับสนุนประชาธิปไตยได้ตลอดเวลา เพราะชนชั้นเหล่านี้มีโอกาสถึงการศึกษามากกว่าชนชั้นล่าง จึงถูกสถาบันทางสังคมกล่อมเกล่าให้เชื่อในอุดมการณ์ของรัฐได้ง่ายกว่าชนชั้นล่าง

“ความย้อนแย้งของเรื่องนี้คือยิ่งชนชั้นกลางมีการศึกษามากเท่าไหร่ พวกเขาก็ยิ่งถูกขัดเกลาให้มีแนวคิดตามอุดมการณ์ของรัฐได้มากขึ้นเท่านั้น แต่ไม่ใช่กับชนชั้นแรงงาน ชนชั้นแรงงานมีแนวโน้มที่จะท้าทายระบอบการเมืองอย่างต่อเนื่องมากกว่าชนชั้นกลางอย่างขัดเจน” คูฮอนต้ากล่าว

 

ชนชั้นกลางไทยสลับไปมาระหว่างฝ่ายสนับสนุน และต่อต้านประชาธิปไตย

การชุมนุมของ กปปส. ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
เมื่อเดือนธันวาคม 2556 (แฟ้มภาพ/ประชาไท)

กนกรัตน์ เลิศชูสกุลกล่าวว่า ที่ผ่านมาการศึกษาเรื่องชนชั้นกลางในไทยมักมีข้อจำกัดอยู่สองประการคือ 1. พยายามอธิบายว่าชนชั้นกลางต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งแบบตายตัว เช่นเป็นฝ่ายประชาธิปไตย เป็นฝ่ายสนับสนุนทหาร หรือเป็นไม่เอาการเลือกตั้ง และ 2. คือมักมุ่งศึกษาความพยายามของชนชั้นนำไทยมากเกินไป ในงานศึกษาของเธอ กนกรัตน์ได้ไปสัมภาษณ์ผู้ที่เคยร่วมชุมนุมกับพันธมิตร และ กปปส. จำนวน 100 คน ซึ่งเป็นทั้งผู้ชุมนุมทั่วๆ ไป ไปจนถึงระดับแกนนำ

ข้อค้นพบของกนกรัตน์คือ ชนชั้นกลางสลับไปมาตลอดระหว่างฝ่ายสนับสนุน และต่อต้านประชาธิปไตย โดยในระยะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ประชาธิปไตย (democratic transition) เช่นเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 กับเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ 2535 ชนชั้นกลางมีบทบาทอย่างยิ่งในการท้าทายเผด็จการทหาร แต่เข้าสู่ช่วงการทำให้ประชาธิปไตยเป็นปึกแผ่น (democratic consolidation) ชนชั้นกลับมีแนวโน้มที่จะต่อต้านประชาธิปไตย เพราะการเลือกตั้งทำให้ชนชั้นล่างมีอำนาจมากขึ้น ชนชั้นกลางจึงรู้สึกว่าตัวเองถูกกีดกันออกจากการเมือง ชนชั้นกลางไทยจึงเริ่มแสวงหาอำนาจทางการเมืองผ่านการนิยมตัวเองเป็นมวลชนที่จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์เพื่อสร้างความชอบธรรมในการต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

 

“เสรีนิยม” กับ “ประชาธิปไตย” ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน

หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 (แฟ้มภาพ/ประชาไท)

ดุลยภาพ จาตุรงคกุลกล่าวว่า นักรัฐศาสตร์สมัยใหม่มักจะตีความแนวคิดของอริสโตเติ้ลผิดซึ่งนำไปสู่การทำความเข้าใจชนชั้นกลางที่คลาดเคลื่อนตามไปด้วย แม้อริสโตเติ้ลจะมองว่าชนชั้นกลางจะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับระบอบประชาธิปไตย แต่เขาก็เสนออีกเช่นกันว่า เมื่อคนเราถูกทิ้งให้อยู่กับความโลภของตนเองจะกลายเป็นคนที่เห็นแก่ตัว เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง กล่าวคือมนุษย์ไม่ได้จำเป็นต้องยึดติดอุดมการณ์เสมอไป หากแต่ยึดติดกับผลประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้ง นั่นหมายความว่าชนชั้นกลางก็พร้อมที่จะร่วมมือกับฝ่ายที่ไม่เป็นประชาธิปไตยตลอดเวลาเพื่อรักษาอำนาจ และผลประโยชน์ของตัวเองไว้

ดุลยภาพยังเสนออีกด้วยว่าเราควรจะมองคำว่า “เสรีนิยม” แยกออกจากคำว่า “ประชาธิปไตย” เพราะสองสิ่งนี้ไม่ได้จำเป็นต้องสอดคล้องกันเสมอไป เนื่องจากแนวคิดประชาธิปไตยเน้นหลักความเท่าเทียมกัน ขณะที่แนวคิดเสรีนิยมเน้นเรื่องเสรีภาพ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือในช่วงการชุมนุมคนเสื้อแดง มีการสร้างแคมเปญ Respect My Vote ซึ่งเป็นแนวคิดแบบประชาธิปไตย แต่ในขณะเดียวกัน ฝ่าย กปปส. ก็มีการทำแคมเปญ Respect My Tax ซึ่งมีรากฐานมาจากแนวคิดเสรีนิยม

 

เผด็จการปรับตัวตลอดเวลา

ประจักษ์ ก้องกีรติเริ่มอภิปรายโดยกล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ เพราะปกติแล้วคูฮอนต้าขึ้นชื่อว่าเป็นนักวิชาการสายสถาบันนิยม ส่วนตัวเขามักจะศึกษาเรื่องการเมืองเชิงวัฒนธรรม แต่วันนี้เขาต้องการจะเสนอว่าการจะทำความเข้าใจพฤติกรรมทางการเมืองของชนชั้นกลางจำเป็นต้องกลับไปศึกษากลไกลทางการเมืองเชิงสถาบันด้วย

ประจักษ์เห็นด้วยกับคูฮอนต้าว่า อุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบไทยๆ กับ คนดี มีบทบาทอย่างยิ่งในการเมืองไทย แต่คำถามที่น่าคิดต่อคือรัฐไทยใช้วิธีการใดในการเผยแพร่อุดมการณ์ดังกล่าว เพราะต้องไม่ลืมว่านอกจากอุดมการณ์ทั้งสองแล้ว กลุ่มการเมืองต่างๆ ก็พยายามจะสถาปนา และเผยแพร่อุดมการณ์ทางการเมืองของตัวเองขึ้นมาท้าทายแนวคิดอนุรักษ์นิยมด้วยเช่นกัน แต่เมื่ออุดมการณ์เหล่านี้มาปะทะกัน ฝ่ายอุนรักษ์นิยมมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จมากกว่า เนื่องจากสถาบันทางการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย เช่นพรรคการเมือง และภาคประชาสังคมในไทยยังคงอ่อนแอเกินกว่าจะท้าทายระบอบการเมืองในปัจจุบันได้

นอกจากนี้ กระแสเศรษฐกิจโลกที่ดูจะดำเนินไปตามแนวทางเสรีนิยมใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งทำให้เกิดการเมืองแบบประชานิยมเพิ่มมากขึ้น นักการเมืองเริ่มแสวงหาความชอบธรรมทางการเมืองผ่านนโยบายที่ตอบสนองความต้องการของชนชั้นแรงงาน ซึ่งนโยบายเหล่านี้สร้างความไม่พึงพอใจให้กับชนชั้นกลาง ทำให้พวกเขารู้สึกว่าประชาธิไตยและการเลือกตั้งเป็นภัยคุกคามของพวกเขา หากประเทศนั้นมีสถาบันทางการเมืองที่เข้มแข็ง มีพรรคการเมืองที่เสนอนโยบายที่ก้าวหน้า และตอบสนองคนหลากหลายชนชั้น  ชนชั้นกลางก็อาจจะเลือกที่จะดำเนินตามครรลองประชาธิปไตย แต่ในกรณีของไทย สถาบันทางการเมืองเหล่านั้นกลับอ่อนแอ ชนชั้นกลางไทย จึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากสนับสนุนระบอบเผด็จการเพื่อให้ตัวเองได้เข้าถึงอำนาจทางการเมือง

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วงเสวนาชี้ควรจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย แต่ต้องให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม

$
0
0

รายงานเสวนา 'จัดระเบียบแผงลอย ถอยกันคนละก้าว'ชี้ควรจัดระเบียบ แต่ต้องให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมหาทางออกอย่างยั่งยืน ระยะสั้นควรทบทวนคืนพื้นที่ขายให้แก่ผู้ค้า ระยะกลางควรมีการปรึกษาหารือแนวทางในการจัดระเบียบ และระยะยาวควรมีการพัฒนากฎหมายขึ้นมาดูแล

เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายแผงลอยไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ได้จัดเวทีเสวนา “จัดระเบียบแผงลอย ถอยกันคนละก้าว” ณ ห้องประชุมเกษม สุวรรณกุล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีผู้เข้าร่วมประมาณ 350 คน โดยได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรปและ WIEGO

ในช่วงแรกมีการนำเสนอ “นโยบายจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยในกทม.  ภูมิทัศน์สวยใส คนยากไร้อดตาย” โดย กัณณิกา อังศุธนสมบัติ นักวิจัยอิสระ และเรวัตร ชอบธรรม ประธานเครือข่ายแผงลอยไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ดำเนินรายการโดย บวร ทรัพย์สิงห์ นักวิจัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กัณณิกา อังศุธนสมบัติ นำเสนอสถานการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นว่า หลังมาตรการหยุดผ่อนผันและการจัดระเบียบทางเท้าที่ผ่านมาเกือบสองปี ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยไม่สามารถขายในพื้นที่เดิมได้ทำให้ขาดรายได้ ต้องนำเงินเก่ามาใช้จนหมด ทำให้เป็นหนี้ บางคนช่วงมีรายได้ผ่อนบ้านและรถ เมื่อไม่มีรายได้ต้องหยุด และกระทบต่อการศึกษาของบุตรหลาน เป็นช่วงชีวิตที่ยากลำบาก ต้องประคองตัวเอง ส่วนใหญ่มีการศึกษาน้อยไม่สามารถเข้าถึงอาชีพชั้นสูงได้ และเป็นอาชีพที่ส่งต่อรุ่นสู่รุ่น รายได้เป็นเงินหมุนเวียนแต่ละวัน ซื้อของมาขายและเก็บผลกำไรไว้ใช้จ่าย ผู้ค้าดั้งเดิมจะมีความชำนาญในพื้นที่ สามารถให้ข้อเสนอแนะได้ว่าจะปรับปรุงภูมิทัศน์อย่างไร ดังนั้นภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของผู้ค้ากับการจัดระเบียบ ด้านการเยียวยา กทม. หาตลาดเอกชนให้แต่ค่าใช้จ่ายสูง บางแห่งอยู่ไกล ไม่มีผู้ไปซื้อ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อร้านค้าข้าง ๆ หาบเร่แผงลอย ทำให้ขาดรายได้เพราะไม่มีผู้ซื้อมาเดินจับจ่ายใช้สอยในบริเวณดังกล่าว เส้นทางเปลี่ยว และมีอาชญากรรมเพิ่มขึ้น ผู้ค้าในตลาดสดขายผักได้น้อยลง รวมทั้งมีปัญหาด้านสุขภาพซึ่งส่งผลมาจากความเครียด และบางรายฆ่าตัวตาย

กัณณิกา กล่าวถึงทางออกของปัญหาว่า การจัดระเบียบมีความจำเป็น เพราะในอดีตมีการถูกร้องเรียน ทั้งความสะอาดและกีดขวางทางเท้า กทม. ควรใช้โอกาสนี้จัดระเบียบใหม่ ต้องคืนอาชีพให้กับผู้ค้า และผู้ค้าก็ต้องปรับตัว

เรวัตร ชอบธรรม นำเสนอว่า ที่ผ่านมาได้เดินทางไปร้องเรียนกับหลายหน่วยงาน อาทิ สำนักงานกรุงเทพมหานคร กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แต่ไม่ได้รับการแก้ปัญหา ประเทศไทยได้รับการยกย่องว่าเป็น street food ที่ดีที่สุดในโลก แต่ทำไม กทม .จึงยกเลิก อีกทั้งหาบเร่แผงลอยยังสร้างประโยชน์กับทุกระดับ เป็นตัวกระจายสินค้าให้กับภาคเกษตรและอุตสาหกรรม มีผู้มาใช้บริการทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยว จึงอยากให้รัฐบาลมองเห็นความสำคัญ

ช่วงต่อมาเป็นการอภิปรายในหัวข้อ “จัดระเบียบแผงลอย ถอยกันคนละก้าว” วิทยากรคือ รศ.ดร. นฤมล นิราทร คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร. สมชัย จิตสุชน สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กทม. และ วิทูรย์ ศรีแก้ว สำนักเทศกิจ กทม. ดำเนินรายการโดย พูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ

รศ.ดร.นฤมล นิราทร อภิปรายว่า หาบเร่แผงลอยมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจฐานรากสูงมาก กทม. เป็นหน่วยปฏิบัติที่รับนโยบายจากรัฐบาล ที่ผ่านมาไม่มีความเป็นมิตรกับผู้ค้า และเรื่องการจัดระเบียบนี้ไปไกลกว่าอำนาจหน้าที่ของกทม. เราจะสร้างโอกาสจากวิกฤติครั้งนี้ได้อย่างไร ผู้ค้ามีลักษณะหลากหลาย ต้องมองผู้ค้าว่าเป็นผู้ประกอบการรายเล็ก รายย่อย และ SME เป็นการทำธุรกิจ รัฐจะมีนโยบายดูแลอย่างไร แต่ละรายต้องการความช่วยเหลืออย่างไร เพื่อจะได้กลับไปประกอบอาชีพได้ แต่ผู้ค้าต้องมีการปรับตัว เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะได้เข้าไปขายในพื้นที่เดิม ผู้ค้าต้องเผชิญกับการแข่งขันกับรสนิยมของผู้บริโภครุ่นใหม่ ต้องทันสมัย การขายอาหารต้องมีมาตรฐานสูงขึ้น แต่จุดเด่นคือคนยุคนี้คนวิ่งหาความสัมพันธ์ทางใจ และหาบเร่แผงลอยมีสิ่งที่คนขายของในร้านสะดวกซื้อไม่มี รวมทั้งการรวมตัวเป็นเครือข่ายที่ยั่งยืนก็เป็นสิ่งจำเป็น

วิทูรย์ ศรีแก้ว ร่วมอภิปรายว่า นโยบายมาจากข้อกฎหมาย ซึ่งมาจาก คสช. ตั้งแต่การจัดระเบียบวินมอเตอร์ไซค์ รถตู้ จนถึงหาบเร่แผงลอย ปัจจุบันจุดที่ยกเลิกแล้วห้ามกลับไปขายอีก ต้องรอการกำหนดจุดผ่อนผันโดยชอบด้วยกฎหมายต่อไป ซึ่ง กทม. ต้องเสนอจุดผ่อนผันต่อหัวหน้าสำนักงานตำรวจในพื้นที่ และได้รับความเห็นชอบจากเจ้าพนักงานจราจร

ดร.สมชัย จิตสุชน กล่าวว่าประเด็นหาบเร่แผงลอยเป็นประเด็นทาง นโยบายมากกว่าเรื่องกฎหมาย นโยบายการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยเกี่ยวข้องกับคนในระดับที่สูงมาก คสช. เป็นทหารจึงเน้นเรื่องระเบียบวินัย นโยบายค่อนข้างเร่งรีบ ทำให้ไม่มีเวลาปรับตัว ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยอยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำ รัฐต้องคำนึงถึงผลกระทบในวงกว้าง มาตรการเยียวยาต่าง ๆ ต้องช่วยเหลืออย่างจริงจัง และเน้นการมีส่วนร่วม ส่วนผู้ค้าต้องเข้ามาอยู่ในกรอบ และนำเสนอเรื่องราวปัญหาสู่ผู้มีอำนาจในระดับสูงด้านเศรษฐกิจ นอกจากนี้สามารถประยุกต์ใช้รูปแบบการจัดการของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีการสนับสนุนให้ไปอยู่ในที่ใหม่ที่ดีจริง ๆ

รสนา โตสิตระกูล อภิปรายว่า นโยบายทางการเมืองต้องมองเรื่องปากท้องของประชาชน และป้องกันปัญหาอาชญากรรมที่เกิดจากปัญหาทางเศรษฐกิจ หาบเร่แผงลอยช่วยให้การว่างงานในประเทศลดลง รัฐบาลต้องทำให้ทุกคนมีงานทำจะลดอาชญากรรมลงได้ สี่ปีที่ผ่านมา คสช. ใช้เงินเป็นแสนล้าน แต่ไม่ถึงเศรษฐกิจฐานราก เพราะอุ้มคนรวยทำให้รวยขึ้นและมีจีดีพีสูงขึ้น แต่คนทั่วไปจนลง ลำบากมากขึ้น รัฐปล่อยให้กิจการขนาดใหญ่กินรวบตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ให้อิสระเสรีกับกลุ่มทุนมากเกินไป ถ้าคนเล็กคนน้อยอยู่ไม่ได้ ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ก็อยู่ไม่ได้  

รสนา กล่าวต่อว่า รัฐต้องเปลี่ยนวิธีคิดจากการสั่งการ เป็นการทำงานอย่างมีส่วนร่วม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีเสรีภาพในการดูแลผู้คนในท้องถิ่น หาบเร่แผงลอยช่วยคนมีรายได้น้อย  ต้องให้แต่ละชุมชนหรือประชาคมมาช่วยกันดูแล รักษาความสะอาดและระเบียบทางเท้า และการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายมีความสำคัญเพราะจะทำให้เสียงดังมากขึ้น

หลังเสร็จสิ้นเวทีเสวนา เครือข่ายแผงลอยไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้อ่านแถลงการณ์ ซึ่งมีข้อเรียกร้องดังนี้

1. รัฐควรทบทวนยกเลิกนโยบายนี้ และคืนพื้นที่ค้าขายให้กับกลุ่มหาบเร่แผงลอยที่เคยได้รับอนุญาตอยู่เดิม

2. ให้โอกาสผู้ค้าได้เข้ามีส่วนร่วมในการพัฒนาแนวทางการจัดระเบียบกลุ่มผู้ค้าหาบเร่แผงลอย อันประกอบด้วย เจ้าหน้าที่เขต เครือข่ายผู้ค้า ตัวแทนภาคประชาชน นักวิชาการ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้อาชีพหาบเร่แผงลอยได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนาเมืองและสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้ ไม่ใช่การยกเลิกหาบเร่แผงลอยออกไปจากพื้นที่กรุงเทพมหานคร

3. ส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้ค้าในทุกพื้นที่เพื่อให้กลุ่มผู้ค้าสามารถประสานงานกับเจ้าหน้าที่เขตในพื้นที่และกำกับดูแลให้สมาชิกในพื้นที่ได้ปฏิบัติตามแนวทางและข้อเสนอแนะอันเกิดจากการประชุมปรึกษาหารือร่วมกัน เช่น การดูแลเรื่องความสะอาด การดูแลพื้นที่ตั้งแผงลอยให้มีทางเดินไม่น้อยกว่า1.5 เมตร การควบคุมเวลาตั้งแผงค้าให้เป็นไปตามที่กำหนด รวมทั้งการลงโทษผู้กระทำผิด

4. จัดหามาตรการเยียวยาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้ เช่น เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น

5. พิจารณาออกกฎหมายเรื่องการค้าริมทางเท้าเพื่อให้เกิดการจัดระเบียบผู้ค้าหาบเร่แผงลอยในระยะยาว และป้องกันไม่ให้เกิดนโยบายที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา จนเป็นผลกระทบกับการประกอบอาชีพโดยสุจริตของประชาชน

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โปรดเกล้าฯ ตั้ง ‘พล.อ.อภิรัชต์'เป็นนายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภฯ

$
0
0

โปรดเกล้าฯแต่งตั้ง ‘พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์'เป็นนายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์

17 ก.ค.2561 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศ แต่งตั้งนายทหารพิเศษ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งนายทหารพิเศษอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกอบมาตรา 4 และมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 มาตรา 10 มาตรา 13 มาตรา 15 และมาตรา 18 แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการ และการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้ง พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เป็นนายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม พุทธศักราช 2561 ประกาศ ณ วันที่ 17 กรกฎาคม พุทธศักราช 2561 เป็นปีที่ 3 ในรัชกาลปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา ไทยโพสต์เขียนบทวิเคราะว่า พลเอก อภิรัชต์ เป็นเต็ง 1 ที่จะได้ขึ้นเป็น ผู้ชัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) คนต่อไป 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคชม ‘ทันตแพทยสภา’ บังคับหมอฟันศึกษาต่อเนื่อง ชี้เป็นประโยชน์ ปชช.

$
0
0

เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เห็นด้วยสภาวิชาชีพออกประกาศบังคับทันตแพทย์ต้องศึกษาต่อเนื่อง เชื่อเกิดประโยชน์ แพทย์ทันสมัย-ประชาชนได้รับบริการที่ปลอดภัย พร้อมเสนอ เปิดรูปแบบการศึกษาที่หลากหลาย ไม่ควรคิดกรอบเฉพาะวิชาการ

17 ก.ค.2561 สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงการจัดการศึกษาต่อเนื่องของทันตแพทย์เพื่อต่ออายุใบประกอบวิชาชีพทันตกรรม ตามที่ทันตแพทยสภาได้ประกาศใช้ข้อบังคับว่าด้วยหลักเกณฑ์การเข้าร่วมการศึกษาต่อเนื่องของผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม พ.ศ.2560 ตอนหนึ่งว่า ประกาศข้อบังคับดังกล่าวได้ผ่านเวทีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาแล้ว ซึ่งพบส่วนใหญ่เห็นด้วย ดังนั้นการขับเคลื่อนของทันตแพทยสภาในการประกาศใช้ข้อบังคับดังกล่าวจึงนับว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง

สารี กล่าวว่า การศึกษาต่อเนื่องของผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมนั้น เป็นประโยชน์กับทั้งตัวของผู้ประกอบวิชาชีพซึ่งก็คือตัวของทันตแพทย์เองที่จะได้พัฒนาศักยภาพ เพิ่มเติมองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้เท่าทันต่อเทคโนโลยีและงานวิชาการ และยังเป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้เข้ารับการรักษาที่จะได้รับบริการที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวอีกว่า ความรู้ของผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การพัฒนาองค์ความรู้จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและไม่อาจจะหลีกเลี่ยงหรือนิ่งเฉยไปได้ เรื่องนี้เป็นบทบาทสำคัญของทันตแพทยสภา ซึ่งหากทันตแพทยสภาไม่ดำเนินการก็จะเท่ากับละเลยต่อหน้าที่ ดังนั้นการออกข้อบังคับเช่นนี้จึงเป็นสิ่งที่น่ายินดีและน่าสนับสนุน

“เราในฐานะองค์กรเพื่อผู้บริโภคขอสนับสนุนให้มีการเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบวิชาชีพทันตแพทย์ รวมถึงผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขอื่นๆ ได้ดำเนินการแล้วเ ทั้งแพทย์ พยาบาล เภสัชฯ ฯลฯ” สารี กล่าว

สำหรับกระบวนการและรูปแบบการศึกษาต่อเนื่องของผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เสนอว่า ไม่ควรจำกัดรูปแบบการเข้าร่วมอย่างเป็นทางการ และไม่ควรนับหน่วยกิจเฉพาะหลักสูตรที่ทันตแพทยสภาจัดให้เท่านั้น แต่ควรมีรูปแบบที่หลากหลายและเปิดกว้างมากขึ้น

ทั้งนี้ เพื่อไม่ส่งผลกระทบต่อเวลาในการปฏิบัติงานของทันตแพทย์มากนัก เช่น ทันตแพทย์ที่ทำงานในคลินิกเอกชนในกรุงเทพแต่อาสาไปทำงานในชนบท หรือทันตแพทย์ในชนบทมาเรียนรู้การทำงานในคลินิกเอกชน และการที่ทันตแพทย์ทำงานในปริมาณที่มาก หรืองานที่ต้องฝึกปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น

“สิ่งเหล่านี้ควรที่จะนับรวมหน่วยกิตได้ด้วย เพราะผลลัพธ์ที่ได้จากการทำงานคือเกิดกระบวนการเรียนรู้ใหม่ๆ แต่กระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวต้องมีเอกสารรับรองที่ชัดเจนจากหน่วยงานที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานทางวิชาชีพ” สารี ระบุ

อนึ่ง ข้อบังคับของทันตแพทยสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์การเข้าร่วมการศึกษาต่อเนื่องของผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม พ.ศ. 2560 ประกาศเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2560 โดยมีผลบังคับใช้ควบคู่กับการต่อใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันสาขาทันตกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ และใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพทันตกรรม

ทั้งนี้ ได้กำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพต้องเข้าร่วมการศึกษาต่อเนื่องและต้องสะสมหน่วยกิจกรรมให้ได้ไม่น้อยกว่า 100 หน่วย ภายในระยะเวลา 5 ปี

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ดูความรู้รอบเรือ เมื่อรัฐเล็งทุ่ม 3 พันล้านบาทซื้อเรือประมงไปทำปะการังเทียม

$
0
0

เปิดดูกฎหมาย ข้อบังคับ คำสั่งหัวหน้า คสช. กำกับการทำประมงผิดกฎหมายหรือ IUU เมื่อรองนายกฯ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะเผย จะซื้อเรือประมงที่ไม่มีใบอนุญาตทำประมง 680 ลำในวงเงิน 3 พันล้านบาท ที่ปรึกษาระบุ ซื้อไปแต่โครงเรือ รู้จัก IUU ใบเหลืองอียู กับมรสุมนโยบายที่ซัดเรือไทยทั้งในฝั่งและกลางทะเล นายกฯ สมาคมประมงลั่น ควรซื้อตั้งนานแล้ว

ที่มาภาพประกอบ เว็บไซต์ https://shiptoshorerights.org/

เมื่อ 16 ก.ค. 2561 มติชนรายงานว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีและประธานอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ไอยูยู-IUU-Illegal, Unreported and Unregulated)) ระบุหลังประชุมร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายว่า ที่ประชุมได้พิจารณาและเห็นชอบโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน ตามแผนบริหารจัดการประมงทะเลที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบไว้ตั้งแต่ 3 พ.ย. 2558

ลักษณะโครงการคือการซื้อเรือประมงที่ไม่มีใบอนุญาตทำการประมง มีการแจ้งจุดจอดและจัดทำ UVI (อัตลักษณ์เรือ) จากกรมเจ้าท่า และไม่มีคดีใดๆ โดยจะจัดซื้อในราคาตามสภาพจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 50 ของราคากลางเป็นจำนวน 680 ลำ ในวงเงินประมาณ 3,000 ล้านบาท แบ่งการจัดซื้อเป็นสามระยะ ระยะแรกจะเป็นการจัดซื้อเรือประมงขนาดเล็กและกลาง (น้ำหนักรวม 10-60 ตันกรอส) จำนวน 409 ลำ วงเงินประมาณ 690 ล้านบาท อีก 271 ลำที่เหลือเป็นกลุ่มเรือขนาดใหญ่จะได้ดำเนินการต่อไป คาดว่าไม่เกินกลางเดือน ส.ค. นี้จะเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาอีกครั้งเพื่อให้ซื้อเรือคืนระยแรกดำเนินการได้ภายใน 30 ก.ย. 2561 โดยการซื้อเรือคืนครั้งนี้นอกจากเป็นการลดจำนวนเรือประมงให้เหมาะสมกับปริมาณปลาแล้ว ยังช่วยบรรเทาผลกระทบจากการแก้ไขปัญหา IUU ด้วย

ผศ.ธนพร ศรียากูล คณะทำงานรองนายกฯ พล.อ.ฉัตรชัย ให้ข้อมูลกับประชาไทเพิ่มเติมว่าเรือที่ถูกซื้อไปนั้นเป็นการซื้อเพียงโครงเรือ ส่วนเครื่องนั้น เจ้าของเรือสามารถนำไปขายกับเซียงกงได้เพราะมีราคารับซื้อสูงกว่ารัฐบาล ปัจจุบันใบอนุญาตประมงอนุญาตให้เรือประมงออกทำการประมงได้ปีละ 240 วัน ในขณะที่สัดส่วนของเรือประมงกับสัตว์น้ำยังไม่มีความสมดุลเมื่อดูจากสถิติของกรมประมงแล้วก็พบว่าต้องมีการจำกัดจำนวนเรือ

“สถิติที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้นั้นลดลงเรื่อยๆ เมื่อพลอตกราฟเทียบกับเรือประมงที่จดทะเบียนกับกรมเจ้าท่าก็พบว่าสอดคล้องกัน คือจำนวนปลาลดลง แต่จำนวนเรือประมงที่จดทะเบียนกับกรมเจ้าท่าก่อนปี 2558 เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนั้น ขนาดของสัตว์น้ำที่ถูกจับมาได้ก็เล็กลงเรื่อยๆ ถ้าจะให้ปลาเพิ่มขึ้นก็ต้องลดความสามารถในการจับปลาเราให้ลดลง ในสหภาพยุโรปใช้วิธีโควตา คือเรือหนึ่งลำจับปลาได้ 1000 กก. ถ้าครบแล้วก็ออกจับปลาไม่ได้ แต่บ้านเราเห็นว่าสปีชีส์สัตว์น้ำ ลักษณะทางธรรมชาติอาจต่างจากอียู จึงใช้วิธีคุมเป็นจำนวนวัน”

ธนพรเล่าว่า ตั้งแต่ปี 2558 รัฐบาลมีมาตรการลดเรือออกจากระบบประมง ได้แก่วิธีสนับสนุนให้เจ้าของเรือสามารถซื้อเรือและใบอนุญาตของเรืออีกลำเพื่อนำโควตาวันออกทำประมงของอีกลำมาเป็นของตัวเองเพื่อให้ออกเรือได้นานขึ้น แล้วให้เรืออีกลำออกนอกระบบ คือไม่ทำการประมง เรียกวิธีนี้ว่าการควบรวมเรือ และวิธีที่สองคือการสนับสนุนให้ใช้เรือนอกระบบในงานอย่างอื่น เช่นเป็นเรือส่งสินค้า เรือโดยสาร เรือท่องเที่ยว จนมาถึงวิธีสุดท้ายคือการซื้อเรือคืน

“ตั้งแต่ปี 2558 มีเรือประมง 687 ลำที่ไม่สามารถออกทำการประมงได้อีกแล้ว เนื่องจากไม่มีใบอนุญาตทำการประมงตั้งแต่ปี 2559 จึงถูกจอดล็อกอยู่กับท่า พี่น้องเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากมาตรการลดจำนวนเรือมานานแล้ว รัฐบาลก็ใช้ทุกวิถีทางแล้วและพบว่าตอนนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมในการซื้อเรือคืน”

ต่อคำถามว่าการซื้อเรือเช่นนี้เป็นการสร้างความนิยมให้กับรัฐบาล คสช. หรือไม่ ธนพรตอบว่า การซื้อเรือเป็นไปตามแผนการจัดการประมงทะเลที่ ครม. ได้อนุวัตไว้ตั้งแต่ 3 พ.ย. 2558 ตนมองว่าการมาซื้อเรือในตอนที่ชาวประมงครหามานานเป็นเรื่องที่ผิดเวลา ถ้าจะเรียกคะแนนนิยมก็มีวิธีที่ง่ายกว่านั้น เช่นการทำให้เนื้อหาในพระราชกำหนดการประมงหย่อนยานลง

ด้านมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมการประมงฯ ได้เรียกร้องให้มีการซื้อเรือคืนมานานแล้ว แต่รัฐบาลไม่ยอมมาเยียวยาตั้งแต่ต้นทำให้ปัญหาของชาวประมงที่ไม่สามารถจดใบอนุญาตประมงได้ก็ต้องจอดแช่เป็นเวลาสามปี ทำให้มีปัญหาเรื่องปากท้อง

“จริงๆ ต้องซื้อตั้งแต่ปี 2558 แล้ว ไม่ใช่ปล่อยทิ้งไว้อย่างนี้ การแก้ปัญหา IUU คือถ้าเรือมากกว่าจำนวนสัตว์น้ำที่จะผลิตตามธรรมชาติคุณก็ต้องซื้อเรือออก ยุโรปใช้เวลา 15 ปี ซื้อเรือออกหมดเลย ใช้เงินตั้งห้าแสนล้าน ของเราไม่ได้ใช้เงินเลย ทำให้ชาวประมงเราเดือดร้อน”

“ทำไมเราถึงเรียกร้องตลอดว่าแก้ผิด คือคุณไม่ยอมเยียวยาตรงนี้ตั้งแต่ต้น ถ้าเอาเงินมาซื้อเรือเขาออกจากระบบ ปัญหา IUU ไม่ได้เป็นอะไร ที่มีปัญหาเดือดร้อนกันวันนี้คือเขาหยุดประกอบอาชีพ เขาไม่มีรายได้แล้วเขาจะประกอบอาชีพอะไร แต่ถ้าคุณตั้งงบมาซื้อเลยป่านนี้เขาก็มีทุนไปประกอบอาชีพใหม่ได้ 3 ปีแล้ว ซึ่งเสียเวลาไปสามปี กว่าจะซื้อก็ซื้อช้า” มงคลกล่าว

ทำความรู้จัก IUU ใบเหลืองอียู กับมรสุมทางนโยบายที่ซัดเรือไทยทั้งในฝั่งและกลางทะเล

มาตรการซื้อเรือคืนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างขนานใหญ่ของการทำประมงไทยที่เกิดขึ้นหลังจากสหภาพยุโรป (อียู) ให้ใบเหลืองแก่ประเทศไทยจากการที่ไทยไม่มีมาตรการที่จะป้องกันและขจัดปัญหาการทำประมงแบบผิดกฎหมาย ไม่รายงานและไร้การควบคุม (ไอยูยู-IUU-Illegal, Unreported and Unregulated) เมื่อเดือน เม.ย. 2558 ซึ่งเป็นที่มาของการจัดระเบียบเรือประมงในสารพัดมิติ

แต่ IUU ไม่ได้เป็นอะไรกับอียูโดยตรงตามที่หลายคนอาจเข้าใจเนื่องจากการมาเยือนไทยเป็นแพ็คคู่ เอกสารของกรมประมงระบุว่าองค์การอาหารแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้กำหนดแผนปฏิบัติการระหว่างประเทศเรื่อง IUU มาตั้งแต่ปี 2544 ด้วยความตั้งใจให้เกิดการบริหารจัดการและใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ IUU เป็นแผนปฏิบัติการให้ทุกประเทศนำไปปรับใช้บนพื้นฐานความสมัครใจ โดยคณะกรรมาธิการยุโรปมีความตั้งใจต่อสู้กับ IUU มานาน และได้ออกระเบียบเพื่อป้องกัน IUU ในปี 2551 เพื่อต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมายกับประเทศสมาชิกในอียูและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก และไทยเองก็เป็นผู้ส่งออกสินค้าประมงไปยังอียู จึงต้องทำการรับรองสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงให้เป็นไปตามระเบียบดังกล่าว เป็นเหตุให้ฝนที่ตกทางยุโรปหนาวมาถึงไทยแลนด์ในรูปแบบของใบเหลือง เพราะอียูเคยยื่นคำขาดให้ไทยแก้ไขปัญหาและปฏิรูปนโยบายเรื่อง IUU ไม่เช่นนั้นจะถูกห้ามส่งออกอาหารทะเลไปยังอียู ซึ่งสื่อวอยซ์ ออฟอเมริการายงานว่าอาจทำให้ไทยสูญเสียรายได้มากกว่า 500 ล้านดอลลาร์หรือราว 15,000 ล้านบาทต่อปี

รัฐบาล คสช. พยายามปรับตัวแบบระบบการประมงให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ไม่ให้มี IUU เกิดขึ้น มีการตราพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มาใช้แทนโดยเพิ่มข้อกำกับให้กับทั้งเรือและชาวประมง

อดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง ระบุว่า ตาม พ.ร.ก. ประมง 2558 แบ่งการประมงในน่านน้ำไทยเป็นสองประเภท หนึ่ง ประมงพื้นบ้าน คือเรือที่มีขนาดเรือไม่เกิน 10 ตันกรอส และประมงพาณิชย์ที่มีขนาดเรือตั้งแต่ 10 ตันกรอสขึ้นไป การทำประมงพื้นบ้านสนับสนุนให้จับสัตว์น้ำได้ไม่เกินสามไมล์ทะเล จากเดิมที่กำหนดไว้ 1.5 ไมล์ทะเล เรือประมงพื้นบ้านไ่ต้องมีใบอนุญาตทำการประมง แต่ต้องจดทะเบียนเรือจากกรมเจ้าท่า ขณะที่เรือประมงพาณิชย์คือการจับสัตว์น้ำมาจำหน่าย เมื่อ 2 เม.ย. 2560 มีเรือที่จดทะเบียนกับกรมเจ้าท่ารวม 37,000 ลำ แบ่งเป็นเรือประมงพื้นบ้าน 25,000 ลำ เรือประมงพาณิชย์ 12,000 ลำ (ที่มา: มติชน)

หน่วยตันกรอสคือการการคำนวณระวางบรรทุกสินค้าและห้องทั่วไปบนเรือ (ที่มา: ราชบัณฑิตยสภา)

ธนพรเล่าว่า หลังพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558ฉบับที่ต่อมามีปรับเป็นฉบับที่สองในปี 2560 บังคับใช้ เรือประมงพาณิชย์มีข้อกำกับเพิ่มเข้ามาดังนี้

  • จำกัดวันออกประมงตามใบอนุญาต เช่น เรืออวนลากออกได้ 240 วัน

  • พระราชกำหนดประมง เช่น เรือขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอสขึ้นไป ต้องติดอุปกรณ์ติดตามระบบ VMS แรงงานต้องมีใบอนุญาตถูกต้อง

  • เครื่องมือประมงที่ใช้ต้องถูกต้อง (ดูมาตรา 67-69 ในพระราชกำหนดฯ)

  • ออกทำประมงต้องแจ้งศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า – ออก (Port in-Port out - PIPO)

  • ออกประมงได้ไม่เกินครั้งละ 30 วัน

  • ถ้าเครื่อง VMS ที่ติดตั้งเอาไว้ดับลง สามารถถูกเรียกเข้าฝั่งได้ทุกเมื่อ

  • บันทึกการทำประมงหรือ Logbook

  • เข้าท่าเทียบเรือที่จดทะเบียนกับกรมประมงเท่านั้น

  • การชั่งน้ำหนักสัตว์น้ำที่ท่า โดยสัตว์น้ำที่ชั่งที่ท่า กับที่เรือต่างกันได้ไม่เกินร้อยละ 10

(ประมงพาณิชย์หมายถึงการประมงโดยใช้เรือประมงขนาดตั้งแต่สิบตันกรอสขึ้นไป หรือที่ใช้เครื่องยนต์มีกำลังแรงม้าถึงขนาดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด หรือใช้เรือประมงโดยมีหรือใช้เครื่องมือทำการประมงตามประเภท วิธี จำนวนแรงงานที่ใช้ หรือลักษณะการทำการประมงตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และหมายรวมถึงการใช้เรือประมงดังกล่าวทำการแปรรูปสัตว์น้ำไม่ว่าจะมีการทำประมงด้วยหรือไม่ก็ตาม)

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) รวบรวมสถิติว่ามีการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ตามอำนาจมาตรา 44 เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมายและแรงงานข้ามชาติ

  • คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 10/2558เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม จัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย(ศปมผ.) ทำหน้าที่กำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการทําประมงผิดกฎหมาย โดยมีกองทัพเรือ และศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) เป็นกำลังหลักในการปฏิบัติการทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออก (PIPO) จัดทําสมุดบันทึกการทําการประมง ตามรูปแบบ ระยะเวลา ให้ติดตั้งระบบติดตามเรือประมง (VMS) ไม่ให้เจ้าของเรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำการ เช่น ครอบครองเครื่องมือการทำการประมงที่ไม่ได้รับอนุญาต การนำเรือประมงที่มีเครื่องมือการทำการประมงที่ไม่ตรงกับอาชญาบัตรหรือไม่ได้รับอาชญาบัตรในการทำการประมงออกไปทำการประมง การนำเรือประมงที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายกำหนดออกทำการประมง เป็นต้น ควบคุมเรือประมง เรือบรรทุกสินค้าประมงห้องเย็นในการออกไปยังน่านน้ำต่างประเทศ ทะเลหลวง ควบคุมการขนถ่าย เก็บรักษาสัตว์น้ำเข้ามาในราชอาณาจักร กรณีที่ไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 - 30 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามแต่ข้อหาที่ฝ่าฝืน

  • คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 24/2558เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ให้งดจดทะเบียนเรือไทยจนกว่า ศปมผ. จะกำหนดให้จดทะเบียนได้ และควบคุมการใช้เครื่องมือทำประมงที่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ ห้ามมิให้บุคคลใดใช้หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อใช้ซึ่งเครื่องมือทําการประมง เช่น เครื่องมืออวนรุนที่ใช้ประกอบกับเรือยนต์, เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีขนาดช่องตาเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร ทําการประมงในเวลากลางคืนและ เครื่องมืออวนลากที่มีช่องตาอวนก้นถุงเล็กกว่า 5 เซนติเมตร เป็นต้น

  • คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 42/2558เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม เพิ่มเติมครั้งที่ 2 เพื่อปรับความแม่นยำในระบบรายชื่อทะเบียนเรือ

  • คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 17/2559เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดํารงตําแหน่ง สั่งให้วิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง ย้ายไปอยู่สำนักนายกรัฐมนตรีและให้อดิศร พร้อมเทพ พ้นจากตําแหน่ง รองอธิบดีกรมประมง ดํารงตําแหน่ง อธิบดีกรมประมงแทน

  • คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 18/2559เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 10/2558

  • คําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 69/2559เรื่อง การแก้ไขปัญหาการดําเนินคดีความผิดเกี่ยวกับกฎหมายการประมง ไม่ให้นับเวลาที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนีเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ

  • คําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2559เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม เพิ่มเติมครั้งที่ 3 เพื่อคุมจำนวนเรือประมง ควบคุมการขนถ่ายคนประจำเรือ ให้เรือประมงที่ไม่มีใบอนุญาตทำประมงแจ้งตำแหน่งจุดจอดเรือต่อ ผอ.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค

  • คําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2560เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม เพิ่มเติมครั้งที่ 4 เพื่อให้อำนาจเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมายได้ทันท่วงที

  • คําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 8/2561เรื่อง ยกเลิกบทบัญญัติบางประการในคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติว่าด้วย การแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม

หมายเหตุ: ประชาไทแก้ไขข้อความในส่วนของธนพร ที่ว่า "พระราชกำหนดประมง เช่น เรือขนาดไม่เกิน 30 ตันกรอสต้องติดอุปกรณ์ติดตามระบบ VMS"เป็น "พระราชกำหนดประมง เช่น เรือขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอสขึ้นไปต้องติดอุปกรณ์ติดตามระบบ VMS"เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2561 เวลา 00.47 น.

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อุทธรณ์ยกฟ้อง ‘วัฒนา'ละเมิดอำนาจศาล ปมให้สัมภาษณ์สื่อหน้าบันไดศาล

$
0
0

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ยกฟ้อง ‘วัฒนา เมืองสุข'คดีละเมิดอำนาจศาล ปมให้สัมภาษณ์สื่อหน้าบันไดศาล ชี้การตอบคำถามผู้สื่อข่าวก็เหมือนบุคคลทั่วไป ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดีหรือมีผลกระทบต่อคดี 

ที่มาภาพ Banrasdr Photo

เมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ศาลอาญา รัชดา ข่าวสดออนไลน์รายงานว่า ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีละเมิดอำนาจศาล หมายเลขดำ ล.14/2560 ที่ผู้อำนวยการศาลอาญา เป็นผู้กล่าวหา วัฒนา เมืองสุข อายุ 60 ปี อดีต รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และสมาชิกพรรคเพื่อไทย เป็นผู้ถูกกล่าวหา

กรณีเมื่อวันที่ 28 ส.ค 2560 วัฒนา ผู้ถูกกล่าวหา พร้อมด้วย นรินทร์พงศ์ จินาภักดิ์ ทนายความของวัฒนา ได้มายื่นคำร้องอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งฝากขังของพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ในคดีกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ต่อศาลอาญา หลังจากนั้นได้ไปยืนแถลงข่าวบริเวณหน้าบันไดศาลอาญาต่อสื่อมวลชน โดยไม่ได้ขออนุญาตจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาเพื่อเผยแพร่ข่าว อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติ (ก.บ.ศ.) ว่าด้วยการให้ข่าวและบริการข่าวศาลยุติธรรม
 
โดย คดีนี้ศาลอาญาที่เป็นศาลชั้นต้น พิพากษาจำคุก 2 เดือน ปรับ 500 บาท แต่ให้รอการลงโทษ 2 ปี และคุมประพฤติโดยกำหนดห้ามกระทำผิดซ้ำอีก ต่อมา วัฒนา ผู้ถูกกล่าวหายื่นอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้ว จากการไต่สวนได้ความว่าก่อนวันที่ 28 ส.ค. 2560 มีการส่งข้อความทางไลน์เชิญสื่อมวลชนร่วมทำข่าวการยื่นอุทธรณ์คำสั่งฝากขังที่บันไดศาล ลงชื่อ ร.ท.หญิงสุณิสา เลิศภควัต (นามสกุลเดิม) เมื่อถึงวันดังกล่าว ผู้ถูกกล่าวหาได้เข้ายื่นอุทธรณ์ต่อศาลแล้วลงไปหน้าบันไดศาล มีผู้สื่อข่าวสอบถามพูดคุย เจ้าหน้าที่จึงบันทึกภาพไว้ ปัญหาต้องวินิจฉัยว่าผู้ถูกกล่าวหาละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ ผู้กล่าวหามีพยานเจ้าหน้าที่เบิกความว่าหลังการยื่นอุทธรณ์ ผู้ถูกกล่าวหาได้แถลงต่อสื่อมวลชนประมาณ 5 นาที และได้รายงานเสนอให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาทราบ ขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาเบิกความว่าไม่ได้เป็นผู้ส่งข้อความทางไลน์ และไม่ทราบระเบียบการให้ข่าว ซึ่งสอบถามเจ้าหน้าที่แล้วบอกสามารถให้ข่าวได้ เป็นจุดที่ผู้สื่อข่าวทำอยู่เป็นประจำ

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การส่งข้อความทางไลน์ดังกล่าวไม่ปรากฏชัดว่าผู้ถูกกล่าวหามีส่วนเกี่ยวข้อง ลำพังการให้สัมภาษณ์จะบอกว่าเป็นการรู้เห็นเรื่องการส่งข้อความหาได้ไม่ โดยผู้ถูกกล่าวหาเดินออกมาให้ข่าวเหมือนกับบุคคลอื่นในคดีที่ไม่ได้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น และเป็นการตอบคำถามทั่วไปกับผู้สื่อข่าว ซึ่งเจ้าหน้าที่น่าจะเตือนได้ถ้าขัดระเบียบ แต่กลับมีการบันทึกภาพมาแจ้งเรื่องละเมิดอำนาจศาล จึงยังฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้นัดหมายผู้สื่อข่าว และการตอบคำถามผู้สื่อข่าวก็เหมือนบุคคลทั่วไป ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดีหรือมีผลกระทบต่อคดี ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีเจตนาฝ่าฝืนระเบียบ ไม่ถือว่าเป็นการประพฤติไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ถูกกล่าวหาฟังขึ้น พิพากษากลับว่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีความผิดละเมิดอำนาจศาล

 
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

TDRI แนะจัดฐานข้อมูลแรงงานข้ามชาติเป็น Big Data เพื่อบริหารแบบ Real time ให้เร็วที่สุด

$
0
0

หลังการปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จในการจัดระเบียบแรงงานข้ามชาติ ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน TDRI แนะจัดฐานข้อมูลแรงงานข้ามชาติเป็น Big Data เพื่อบริหารแบบ Real time ให้เร็วที่สุด

<--break- />

รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน TDRI 

18 ก.ค.2561 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) รายงานว่า รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน TDRI  กล่าวว่า การปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service - OSS) ไปเมื่อ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นการสิ้นสุด “การนิรโทษกรรม” แรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายและลักลอบทำงาน ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่า ประการแรก แรงงานต่างด้าวที่รอพิสูจน์สัญชาติจำนวนมากกว่า 900,000 คน รัฐบาลได้ใช้เวลาในการพิสูจน์สัญชาติได้แล้วเสร็จผ่านระบบ OSS ในพื้นที่ที่แรงงานต่างด้าวทำงานอยู่แล้ว ประการที่สอง รัฐบาลยังใจดีนิรโทษกรรมนายจ้างให้พาแรงงานที่ทำงานกับนายจ้างก่อน 31 มีนาคม 2561 แต่หลักฐานไม่ตรงและ/หรือไม่มีหลักฐานเอกสารใดๆให้สามารถนำไปจดทะเบียนและพิสูจน์สัญชาติให้เรียบร้อยภายใน 30 มิถุนายน 2561 ซึ่งก็ได้ใจนายจ้างเป็นจำนวนมากที่หาจังหวะนำแรงงานมาจดทะเบียนไม่ได้สักทีเพราะกลัวกฎหมายใหม่ที่จะทำโทษนายจ้างค่อนข้างรุนแรง ถึงแม้จะบ่นเกี่ยวกับการทำงานกระบวนการจดทะเบียนและพิสูจน์สัญชาติว่ายุ่งยากซับซ้อนมากจนต้องพึ่งนายหน้าก็ตาม แต่ทุกฝ่ายก็ช่วยกันดำเนินการจนผ่านไปได้ด้วยดี

และเมื่อสิ้นสุดเวลาผ่อนผันคาดว่าจะเป็น “ครั้งสุดท้าย” จำนวนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติทำงานเต็มปีและแรงงานต่างด้าวกลุ่มอื่นๆ คาดว่าจะมีจำนวนโดยประมาณดังนี้

1)    พิสูจน์สัญชาติเดิม  1,315,615 คน

2)    นำเข้าตามกรอบ MOU 637,770 คน

3)    รวม (1 + 2) 1,953,385 คน

4)    แรงงานต่างด้าวรูปแบบอื่นๆประมาณ 236,483 คน

5)    รวม (3 + 4)  2,189,868 คน

6)    พิสูจน์สัญชาติช่วงมีนาคม-มิถุนายน 2561 1,170,000 คน

7)    รวม (5 + 6)  3,359,868 คน

หมายเหตุ รวบรวมโดย รศ.ดร.ยงยุทธ  (กรกฎาคม 2561) และ รศ.ดร.ยงยุทธ ระบุว่า อาจจะไม่ตรงกับข้อมูลเป็นทางการ

จากตัวเลขข้างต้นถ้านับเฉพาะแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ น่าจะทำงานในประเทศไทยอยู่ประมาณ 3 ล้านคนเศษ หรือประมาณ 8% ของกำลังแรงงานของคนไทย นับว่าเป็นอัตราที่ตลาดแรงงานไทยต้องพึ่งแรงงานต่างด้าวทุกประเภทค่อนข้างสูงมาก โดยเฉพาะจาก 3 ประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตามการที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยโดยเฉพาะกระทรวงแรงงานได้จัดระเบียบการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวให้ถูกต้องตามกฎหมายได้มากกว่า 90% ก็ถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง แต่หน้าที่ของสำนักบริหารแรงงานต่างด้าวและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่จบ เนื่องจากตลาดแรงงานต่างด้าวมีความเป็นพลวัตในตัวของมันเอง นั่นคือจะต้องมีคนเข้า-ออกจากงานอยู่ทุกวัน อันเนื่องมาจากแรงงานต้องการออกเองเพื่อกลับภูมิลำเนา หรือถูกนายจ้างไล่ออก หรือออกเพราะไม่พอใจสภาพการทำงานและค่าตอบแทน หรืออาจจะประสบอุบัติเหตุหรือเสียชีวิต เป็นต้น ซึ่งทำให้จำนวนแรงงานพร่องลงไป ดังนั้นผู้ประกอบการจำเป็นต้องหาแรงงานต่างด้าวใหม่มาทดแทนแรงงานข้ามชาติที่หายไปถ้าไม่สามารถหาแรงงานไทยมาทดแทนได้

โจทย์ที่สำคัญก็คือ 1) จะเติมเต็มแรงงานต่างด้าวที่ออกจากงาน (Turn Over)ได้อย่างไร เช่น ถ้ามีคนงานออก 2-5% คิดเป็นคนงานต่างด้าวที่ทยอยออกประมาณ 60,000 - 150,000 คนตลอดปี ในเมื่อจะไม่มีการจดทะเบียนใหม่อีกแล้ว  2) คนงานจำนวนดังกล่าว ถ้าอายุของ Passport และอายุ Work Permit ยังไม่หมด แต่กลายเป็นคนผิดกฎหมายเพราะไม่มีนายจ้างจะทำอย่างไร ถ้าแรงงานเหล่านั้นบางส่วนยังไม่อยากกลับบ้าน 3) ทางรัฐบาลไทย โดยผู้ที่เกี่ยวข้องนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ถ้าจะยังต้องการรักษาความสำเร็จที่ได้บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวครั้งนี้จนสำเร็จเอาไว้ให้ได้ 4) ทำอย่างไรกับการลักลอบเข้ามาเพื่อหางานทำของแรงงานต่างด้าวใหม่และต่างด้าวผิดกฎหมายที่ค้างอยู่

ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การแก้ปัญหาข้างต้นตามความคิดเห็นส่วนตัวอาจจะทำได้ดังนี้  กรณีที่ 1 แรงงานต่างด้าวที่มีหลักฐานถูกต้องแต่กลายเป็นคนผิดกฎหมายและไม่ประสงค์ที่จะทำงานในไทยอีกต่อไป ก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากดำเนินการส่งกลับสถานเดียว กรณีที่ 2 กรณีที่มีการบังคับใช้กฎหมายและพบว่าแรงงานไม่มีหลักฐานใดๆเกี่ยวกับการอนุญาตให้ทำงานโดยรัฐ จะต้องทำประวัติไว้แล้วและต้องส่งกลับทันที (เพื่อลดภาระรายจ่ายของรัฐ) กรณีที่ 3  กรณีที่แรงงานต่างด้าวยังมีระยะเวลาวีซ่าผ่อนผันให้อยู่ในประเทศไทยและเคยมีใบอนุญาตทำงานและประสงค์จะอยู่ในประเทศไทย (เท่าที่เวลาที่เหลือ) รัฐบาลอาจจำเป็นต้องจัดตั้งศูนย์บางประเภทเพื่อรับแจ้งจดทะเบียนผู้ประสงค์จะทำงานเหล่านี้ก็ได้ จะไปเปิดที่บริเวณชายแดนหลักๆของไทย เช่น สระแก้ว หนองคาย แม่สาย แม่สอด เป็นต้น สำหรับนายจ้างที่ต้องการแรงงานและมีโควตาอยู่แล้วก็สามารถแจ้งความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวเอาไว้ที่ศูนย์จัดหางานชายแดน และสามารถ Matching กับแรงงานต่างด้าวได้โดยตรง กรณีที่ 4  ถ้านายจ้างที่มีโควตาอยู่แล้วก็อาจจะรับคนงานใหม่ผ่านกระบวนการ (MOU) มีการนำเข้าอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพื่อทดแทนแรงงานที่ขาดหายไป กรณีสุดท้าย ทางหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวเอาไว้ 3 ล้านคนเศษนั้นจะต้องรับจัดทำฐานข้อมูลแรงงานต่างด้าวเป็น Big Data เพื่อให้สามารถนำมาใช้บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวแบบ Real time ให้เร็วที่สุด

"จึงขอเสนอทางเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้โปรดพิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอแนะนี้โดยเร่งด่วนไม่มากก็น้อยเพื่อให้มาตรการของรัฐที่ได้ดำเนินการไปแล้วจนสำเร็จสามารถบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวจนเข้ารูปเข้ารอยไปแล้วไม่สูญเปล่า" รศ.ดร.ยงยุทธ เสนอ

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คำสั่งประหารชาวนาผู้ฆ่าคนเพื่อปกป้องที่ทำกิน สะท้อนปัญหาที่ดินในเวียดนาม

$
0
0

ศาลอุทธรณ์เวียดนามตัดสินประหารชีวิตเกษตรกรหลังยิงปืนฆ่าคนงานบริษัทเอกชนที่ใช้กำลังปิดล้อมบ้านและที่ดินทำกิน คำพิพากษาถูกครหาว่าหนักเกินไป ในขณะที่บริษัทมีพฤติกรรมผิดกฎหมายยังคงลอยนวล เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนปัญหาที่ดินที่ประชาชนเป็นเจ้าของที่ดินเพียงในทางทฤษฎีเพราะรัฐบาลท้องถิ่นเป็นคนดีลกับเอกชนเอง

17 ก.ค. 2561 ในเวียดนามมีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับ ดังวานเฮียน เกษตรกรที่ต่อสู้กลับเมื่อบริษัทเอกชนให้อันธพาลใช้กำลังบุกยึดที่ดินทำกินของพวกเขา

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ในเดือน ต.ค. ปี 2559 เมื่อบริษัทเอกชนด้านการลงทุนที่ชื่อ "ลองซัน"ใช้กลุ่มคนงานของพวกเขาติดอาวุธง่ายๆ กับรถไถอีกหลายคันบุกเข้าไปในพื้นที่พิพาทความเป็นเจ้าของระหว่างลองซันกับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ กลุ่มคนงานทำลายพืชผลจำนวนมากอันเป็นแหล่งรายได้ของเกษตรกร ทั้งยังรวมกลุ่มปิดล้อมบ้านของเกษตรกรทำให้เกษตรกรออกมาโต้ตอบ

โดยในเหตุการณ์นั้น ดังวานเฮียน หนึ่งในเกษตรที่ถูกปิดล้อมได้ยิงอาวุธปืนดัดแปลง (improvised gun) ขึ้นฟ้าด้วยหวังว่าจะสลายฝูงชนได้ แต่กลุ่มคนที่ล้อมบ้านพวกเขากลับไม่ยอมสลายตัวและยิ่งแสดงท่าทีที่รุนแรงมากขึ้นด้วยการขว้างปาก้อนหินและใช้รถไถขับเข้าไปใกล้บ้านพวกเขา ไม่ว่าจะด้วยความกลัวหรือด้วยภาวะเข้าตาจนก็ตาม ดังวานเฮียน และเกษตรกรอีกรายหนึ่งในเหตุการณ์คือ นินห์เวียตบิน ใช้ปืนยิงใส่กลุ่มคนงานโดยไม่ได้เล็งจำนวนหลายนัดแม้คนงานได้แตกตื่นและพากันวิ่งหนีแล้วก็ตาม เป็นเหตุให้มีคนเสียชีวิต 3 ราย และได้รับบาดเจ็บอีก 13 ราย

มีการดำเนินคดีกับเกษตรกรกลุ่มนี้ครั้งแรกเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ศาลชั้นต้นตัดสินให้เฮียนรับโทษประหารชีวิตในข้อหาฆาตกรรม คำตัดสินนี้ทำให้ผู้เข้าร่วมรับฟังคำตัดสินพากันแสดงความไม่พอใจ ถึงแม้ว่าจะมีการอุทธรณ์ในเวลาต่อมาแต่ศาลชั้นอุทธรณ์ก็ตัดสินให้คงไว้ซึ่งคำพิพากษาเดิม นั่นทำให้ชาวบ้านจากท้องถิ่นเดียวกับเฮียนแสดงความไม่พอใจอย่างโกรธเกรี้ยวจากความรู้สึกสิ้นหวังที่หน้าบันไดทางขึ้นศาล

คำตัดสินของศาลยังทำให้เกิดคำวิพากษ์วิจารณ์ตามมาจำนวนมากจากนักกฎหมายและจากนักวิชาการอิสระต่างๆ ที่บอกว่าการตัดสินเฮียนถึงขั้นประหารชีวิตนั้นเป็นคำตัดสินที่รุนแรงเกินความจำเป็นในขณะที่ปล่อยให้ลองซันลอยนวลทั้งที่บริษัทกระทำการแบบยุยงส่งเสริมและกระทำการผิดกฎหมายมาตลอด 8 ปีจนทำให้เกษตรกรทนไม่ไหวและออกมาโต้ตอบ

นอกจากนี้ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่ศาลไม่นำปัจจัยต่างๆ ตามกฎหมายอาญามาพิจารณาร่วมเพื่อลดโทษ เช่น การที่เฮียนเข้ามอบตัวเองและการที่เขาและครอบครัวให้การชดเชยเยียวยาครอบครัวของเหยื่อผู้เสียชีวิตแล้ว

ระบบจัดสรรที่ดินเวียดนามมีปัญหา

ในรายงานข่าวของเดอะเวียดนามมิสยังระบุถึงปัญหาระบบการจัดสรรที่ดินที่ย่ำแย่ของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามว่าถึงแม้ว่าชื่อของระบบจะฟังดูดีอย่าง "ประชาชนเป็นเจ้าของที่ดิน"แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้ก้าวหน้าแบบที่ชื่อระบุไว้ เพราะมันเป็นระบบที่รัฐบาลท้องถิ่นทำตัวเป็นตัวแทนรับมอบอำนาจหรือส่งเสริมกลุ่มนักลงทุน กลุ่มบรรษัทต่างๆ ด้วยการเอื้อประโยชน์ในการกว้านซื้อที่ดินของพวกเขาจากประชาชนทั่วไป

แม้รัฐจะอ้างว่าระบบนี้จำเป็นต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและทำให้กระบวนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์รวดเร็วขึ้นแต่ก็ทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน การเล่นพรรคเล่นพวกและการพลัดถิ่นภายในประเทศจำนวนมาก แม้จะผ่านการปฏิรูปมาหลายปีแล้ว แต่จากการสำรวจในปี 2560 ยังระบุว่าร้อยละ 70 ของเรื่องร้องเรียนต่อรัฐบาลระดับประเทศเป็นเรื่องปัญหาที่ดิน

ในกรณีของบริษัทลองซันนั้น ผู้ให้กรรมสิทธิ์ที่ดินแก่พวกเขาคือเจ้าหน้าที่ทางการจังหวัดดักนง เรื่องนี้ทำให้เกิดเป็นข้อพิพาทที่ดินทำกินกับเกษตรกรมานานแล้ว จนกระทั่งบริษัทลองซันตัดสินใจใช้กำลังเข้าโจมตีชาวบ้านทำให้ชาวบ้านพยายามติดต่อกับทางการเพื่อแจ้งปัญหาที่พวกเขาพบเจอ แต่ทางการก็นิ่งเฉยต่อปัญหา ทำให้ชาวบ้านต้องต่อสู้ป้องกันตัวเองจนกระทั่งเกิดเหตุน่าเศร้าดังกล่าว

หลังจากเกิดเหตุคนสังหารกันเองแล้ว เจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นก็ไม่ได้แสดงท่าทีใดๆ เดอะเวียดนามมิสมองว่าตัวศาลเองก็ไม่มีความเข้าใจมากพอในประเด็นเรื่องข้อพิพาทที่ดินทำกินที่เป็นปัญหาที่ชาวเวียดนามต้องเผชิญ และคำตัดสินโทษประหารชีวิตเกษตรกรที่สังหารผู้พยายามข้ามาทำร้ายตนจึงมีโอกาสทำให้ประชาชนทั่วไปมองว่าศาลเข้าข้างกลุ่มผลประโยชน์จำพวกที่มีการสมคบคิดกันระหว่างนายทุนกับรัฐบาล

ขณะเดียวกันนักกิจกรรมในเวียดนามก็มองว่าคำตัดสินในครั้งนี้อาจจะเป็นคำขู่ของรัฐบาลก็ได้เพื่อที่จะข่มขวัญกลุ่มเจ้าของที่ดินทำกินและผู้ต่อต้านรัฐบาล ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ถ้าหากระบบศาลไม่มีการพิจารณาใหม่หรือการยื่นฎีกาต่อประธานาธิบดีเวียดนามไม่สามารถเปลี่ยนแปลงผลการตัดสินได้ กรณีนี้ก็จะเป็นคดีแรกในเวียดนามที่ชาวนาต้องถูกประหารเพราะปกป้องผืนดินของตัวเอง

เรียบเรียงจาก

Farmer’s Death Sentence Upheld On Appeal: New Climax For Land Dispute In Vietnam?, The Vietnamese, Jul. 16, 2018

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พรรคประชาธิปไตยใหม่ #2 แก้แล้ง แก้จน ปฏิรูปยุติธรรมสไตล์ไทบ้าน

$
0
0

ภาคต่อของการพูดคุยกับแกนนำพรรคประชาธิปไตยใหม่และยุทธศาสตร์พรรคเล็กภายใต้เงื่อนไข รธน. 60 นอกจากนี้พวกเขายังชูนโยบายแก้ปัญหาหนี้สินและความยากจน ด้วยการเปิด "โรงพยาบาลรักษาหนี้"แก้ภัยแล้งด้วยบ่อบาดาลโซลาร์เซลล์ ชูข้อเสนอปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมสไตล์ไทบ้าน บัตรประชาชนใบละ 6 หมื่นบาท ใช้ประกันตัวจากคดีความ พร้อมให้กำลังใจพรรคเกิดใหม่ แต่ต้องยอมรับว่าด้วยเงื่อนไข รธน. ปัจจุบันนั้นไม่ง่าย

หลังจากพูดคุยกับแกนนำพรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคการเมืองขนาดเล็กแต่ไม่ธรรมดา เพราะพวกเขาเคยคว้า 1 ที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อในการเลือกตั้งปี 2554 มาแล้ว โดยตอนที่แล้วพวกเขาพูดถึงการปรับยุทธศาสตร์พรรค-แก้โจทย์รัฐธรรมนูญ 2560 (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)นอกจากนี้พวกเขายังเตรียมนโยบายสำหรับใช้รณรงค์ในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้โดยเน้นเดินลุยทั่วประเทศ พร้อมชูนโยบายแก้ปัญหาปากท้องและความยากจนสไตล์ไทบ้าน

 

เส้นทางต่อสู้จากครูถึงรัฐสภา

สุรทิน พิจารณ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ บอกว่าเส้นทางต่อสู้ทางการเมืองของพวกเขาเริ่มมาตั้งแต่สมัยลงสมัครประธานสภานักศึกษา วิทยาลัยครูอุบลราชธานี (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี) หลังจากนั้นเมื่อรับราชการเป็นครูประชาบาล ทั้งเขาและนิพนธ์ ชื่นตา รวมทั้งเพื่อนๆ รวมตัวกันในนาม "ชมรมครูภาคอีสาน"ในปี 2521 ก่อนพัฒนามาเป็น "ชมรมครูประชาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ"มาชุมนุมถึงกระทรวงศึกษาธิการและทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องการบรรจุครูเป็นข้าราชการประจำ โดยเป็นที่มาของ "สมาพันธ์สมาคมครูประถมศึกษาแห่งประเทศไทย"ในเวลาต่อมา

สุรทินเล่าด้วยว่าการต่อสู้ของขบวนการครูประชาบาลในเวลานั้น นอกจากต่อสู้เรียกร้องเรื่องสิทธิแล้ว ครูในชนบทก็มีเรื่องต้องช่วยเหลือประชาชนที่อยู่ในเขตอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยด้วย โดยครูบาอาจารย์ส่วนหนึ่งก็ส่งข้าวปลาอาหารไปช่วย จนกระทั่งสถานการณ์คลี่คลายคนเริ่มคืนสู่เมือง ขบวนการครูประชาบาลยังช่วยเหลือประชาชนในปัญหาอื่น ทั้งเรื่องไม่มีที่ดินทำกิน หนี้สิน พิพาทถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้ขับไล่ รวมทั้งติดตามเงินช่วยเหลือผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ฯลฯ

โดยตัวของสุรทินหลังจากนั้นได้ฉีกออกมาทำงานการเมือง เริ่มตั้งแต่เป็นผู้ช่วยของอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภา ซึ่งในเวลานั้นอุทัยเป็นแกนนำพรรคก้าวหน้าและพรรคเอกภาพ กระทั่งอุทัยยุติบทบาททางการเมือง สุรทินกับเพื่อนๆ ที่เคยร่วมงานต่อสู้มาตั้งแต่สมัยครูประชาบาลจึงรวมตัวกันอีกครั้งในนามพรรคประชาธิปไตยใหม่

ส่วนเรื่องนโยบายของพรรคประชาธิปไตยใหม่ แม้ว่ารัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้รัฐบาลในอนาคตต้องแถลงนโยบายให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ หรือการประกาศหาเสียงก็ต้องระบุวงเงิน ระบุแหล่งงบประมาณที่จะใช้ แต่หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่เชื่อมั่นว่าเขาจะสามารถอธิบายให้ กกต. ฟังได้

พรรคประชาธิปไตยใหม่ #1 เน้นเคาะประตูบ้าน ไม่หวั่นโซเชียล ไม่กลัวพลังดูด คสช.

 

เสนอปฏิรูประบบยุติธรรม เริ่มที่บัตรประชาชนใบละ 6 หมื่น

แกนนำพรรคประชาธิปไตยใหม่

ป้ายประชาสัมพันธ์ภายในพรรคประชาธิปไตยใหม่ป้ายหนึ่งก็คือ "บัตรประชาชนมีค่า 60,000 บาท"ซึ่งฟังดูเหลือเชื่อ อย่างไรก็ตามสุรทินอธิบายว่า นโยบายของพรรคก็คือบัตรประชาชน 1 ใบ มีมูลค่าประกันตัวในวงเงิน 60,000 บาท เขาเสนอว่าเหมือนเป็นเครดิตด้านความยุติธรรม แต่เดิมถ้าลูกชาวบ้านมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง เช่น มีเรื่องในวงหมอลำถูกตำรวจจับ พ่อแม่ก็ต้องหาเงิน หาหลักทรัพย์มาประกันลูก

"วิ่งไปเอาโฉนด วิ่งไปหา อบต. ก็ไม่อยู่ กำนันก็ไม่อยู่ ครูน้อยครูใหญ่ก็ไม่อยู่ไปดูหมอลำหมด วิ่งทั้งคืนใครจะให้เงิน 50,000 ลูกก็ติดคุกฟรี เราก็ไม่ได้นอน หมอลำก็ไม่ได้ดู แต่ถ้ามีบัตรประชาชน 1 ใบมีมูลค่าประกัน 60,000 วางใส่หน้าตำรวจเลย ให้ประกันมั้ย ไม่พอ เอาบัตรประชาชนของแม่มาอีก เป็น 120,000 ตำรวจก็ให้ประกัน อย่างน้อยก็ออกมาดูหมอลำ ปรับอารมณ์ก็ดีขึ้น ก็ไม่ตีกันแล้ว"สุรทินกล่าว

 

แก้ภัยแล้งด้วยบาดาลโซลาร์เซลล์ ไม่ต้องขับรถแจกน้ำ

อีกหนึ่งก็คือแดดออก น้ำแตก คือแดดออกมาปุ๊บน้ำพุ่งออกจากดินเลย คือบาดาลโซลาร์เซลล์ ต่อไปอีสานไม่ต้องปล่อยรถแจกน้ำแล้ว ใช้พลังงานแสงอาทิตย์สูบ เคยมีผู้ทดลองวิจัยมาแล้วที่ อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา ถังประปาสูง 20 เมตรยังสูบขึ้นถังได้ ทีนี้เราก็ทำที่นาใครนามัน หน้าแล้งก็สูบ มกราคมถึงเมษายนก็พอแล้ว เสร็จแล้วกรมบาดาลต้องบอกชาวบ้าน หน้าฝนต้องเอาน้ำลงใต้ดิน ไม่ใช่ว่ามีแต่สูบขึ้นมา คือน้ำใต้ดินของประเทศไทยหลายหมื่นปีมาแล้วยังไม่ได้เอามาใช้ ที่ผ่านมามีแต่พูดว่าแล้งๆๆ เอาน้ำมาสูบ

หน้าที่ของกรมชลประทาน คืออะไร แล้งเอาน้ำไปจ่าย สูบน้ำเข้า พอน้ำฝน ท่วม ก็สูบน้ำออก นี่คือภารกิจของกรมชลประทาน ไม่ได้คิดอย่างอื่นมากกว่านี้ ผมว่าถ้าเราเป็นรัฐบาลจะทำให้เกิดเรื่องใหม่ๆ ขึ้น อย่างบาดาลโซลาร์เซลล์ เอาไปปักที่ปลายยอดของภูเขา มันก็ดูดน้ำขึ้นไปแล้วปล่อยน้ำลงมา ไฟก็ไม่ไหม้หน้าแล้ง แค่สี่ห้าเดือนเท่านั้น หน้าฝนก็ให้น้ำลงใต้ดิน นี่คือนโยบายของพรรคประชาธิปไตยใหม่ซึ่งไม่ใช้งบประมาณเลย

 

ข้อเสนอตั้งกระทรวงศาสนา ทางออกเพื่อการอยู่ร่วมกัน?

สุรทินกล่าวด้วยว่า พรรคประชาธิปไตยใหม่จะมีข้อเสนอตั้งกระทรวงศาสนา โครงสร้างกระทรวงแบ่งเป็น กรมพุทธ สำนักคริสต์ สำนักมุสลิม กองซิกข์ กองฮินดู กรมกิจการพิเศษ ในกระทรวงจะมีธนาคารศาสนา ร่าง พ.ร.บ.ธนาคารศาสนา หลักการคือให้ตัวแทนของทุกศาสนาที่มีสัดส่วนผู้นับถือเกิน 1% เป็นกรรมการของธนาคาร ส่วนศาสนาพุทธให้ 2 คน ศาสนาอื่นที่มีผู้นับถือ 1% ขึ้นไปจะมีตัวแทนเป็นกรรมการศาสนาละ 1 คน

ทั้งนี้นโยบายเกี่ยวกับศาสนา เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนในสังคมไทย แต่สุรทินเสนอว่าที่ต้องตั้งกระทรวงศาสนา เพราะปัจจุบันยังไม่มีระบบระเบียบไปควบคุม แม้จะมีกรมการศาสนา สำนักงานพระพุทธศาสนา แต่ก็ดูแลไม่ทั่วถึง การตั้งกระทรวงศาสนาจะทำให้ศาสนิกของแต่ละศาสนาได้มีโอกาสพูดคุยกัน รวมทั้งขจัดความไม่เข้าใจกันในประเด็นต่างๆ โดยสุรทินยกตัวอย่างกรณีประชาพิจารณ์เพื่อสร้างมัสยิดในภาคอีสาน หรือการติดป้ายพระเจ้าสร้างโลกของผู้นับถือศาสนาคริสต์

สุรทินกล่าวด้วยว่า แต่ละศาสนาก็มีองค์กรกำกับอยู่แล้ว เช่น พระสงฆ์มีมหาเถรสมาคม แต่การตั้งกระทรวงศาสนาเป็นการบริการให้ทั่วถึง การมีธนาคารศาสนาจะช่วยให้การทำบุญเรี่ยไรไม่เป็นไปอย่างสะเปะสะปะ เพราะสามารถใช้บริการจากธนาคารศาสนาได้ เขายังยกตัวอย่างวัดบางแห่งถือสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์ถึง 20 บัญชี ก็สามารถเปลี่ยนมาฝากที่ธนาคารศาสนาแทน

 

โรงพยาบาลรักษาคนเป็นหนี้ ด้วยการส่งไปปลูกต้นไม้

อีกนโยบายหนึ่งที่พรรคประชาธิปไตยใหม่ใช้หาเสียงมาตั้งแต่ปี 2554 ก็คือการแก้ไขปัญหาหนี้สินด้วย "โรงพยาบาลรักษาหนี้"โดยสุรทินขยายความว่า "โรงพยาบาลรักษาหนี้ มีวิธีรักษาหนี้ด้วยการปลูกต้นไม้ใช้หนี้ หนีโรคร้อน"

โดยแนวทางปลูกต้นไม้ใช้หนี้ที่เขาพูดถึงนั้น เป็นแนวทางของ "ณรงค์ สังขะโห"แห่งศูนย์ศึกษายางนาแก้หนี้แก้จน วิธีการที่พรรคประชาธิปไตยใหม่นำมาต่อยอดคือตั้ง "โรงพยาบาลรักษาหนี้"

"บางคนอายว่าเป็นหนี้ แต่ถ้าเราบอกว่าป่วยเป็นหนี้ก็ได้ไม่อาย จะได้รักษา การเป็นหนี้ เขาว่าเหมือนโรคปิดบังซ่อนเร้น การตายเพราะหนี้ ทำให้ตายทั้งครอบครัว ตายทั้งตระกูลรวมทั้งคนค้ำประกันหนี้"

สุรทินอธิบายต่อว่านโยบายโรงพยาบาลรักษาหนี้ จะทำให้คนเลิกเป็นหนี้ในชาตินี้ไม่ใช่ชาติต่อไป โดยนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาหนี้สินเอกชนที่เขาประเมินว่าจะแก้ไขได้ราว 700,000 ล้านบาทนั้น จะไม่ใช้งบประมาณแผ่นดิน แต่จะให้คณะรัฐมนตรีออกพันธบัตรมาแก้หนี้ แล้วโอนหนี้จากสถาบันการเงิน เช่นนาย ก. หนี้ ธกส. 3 ล้านบ้าน ก็โอนเข้ากองทุนพันธบัตร ออกจากหนี้ ธกส. มาเป็นหนี้โรงพยาบาล โดยวิธีแก้หนี้จะให้คนเป็นหนี้ไปปลูกต้นไม้ใช้หนี้

ส่วนคำถามว่าปลูกอะไรถึงจะพอใช้หนี้ 3 ล้านบาท สุรทินกล่าวว่า จะให้ปลูกต้นยางนา พอลูกหนี้ที่เข้าโครงการเอาต้นยางนาไปปลูกลงดินและเจริญงอกงามดีแล้ว ให้โรงพยาบาลรักษาหนี้ตรวจภายใน 2 อาทิตย์ หากเป็นหนี้ 3 ล้านบาท ปลูกยางนา 1 ต้น ต้นละ 10,000 บาท ปลูก 300 ต้นก็ออกจากหนี้ทันที แต่มีภาระว่าต้องดูแลต้นยาง 25 ปี

โดยการปลูกต้นยาง 25 ปีจะนำไปใช้หนี้ด้วยการขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) หรือ "แหล่งคาร์บอนเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Offset)” โดยจะเป็นการขายให้กับองค์กรธุรกิจต่างๆ ตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) ของพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ที่กำหนดให้ภาคเอกชนที่มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมา

ทั้งนี้สุรทินประเมินว่าต้นยางอายุ 10 ปีจะเริ่มขายคาร์บอนเครดิตได้ โดยต้นยางนา 1 ต้น ขายคาร์บอนเครดิตได้ 10 ตัน รัฐบาลจะขายคาร์บอนเครดิตในปีที่ 11 ถ้าเป็นหนี้ 3 ล้านบาท ขายคาร์บอนเครดิต 300 ต้น ต้นละ 2,000 บาท ก็จะได้ 6 แสนบาท พอถึงปีที่ 15 ก็จะเป็นปีที่ 5 ที่ได้ขายคาร์บอนเครดิต ก็จะครบหนี้ 3 ล้านบาทพอดี

"รัฐบาลขายอยู่ 5 ปี หนี้ของคนปลูกก็หมดแล้ว ปีที่ 16 ก็แบ่งรายได้กันคนละครึ่ง ได้กำไรไปเรื่อยๆ จนถึงปีที่ 25 แต่ถ้าปีที่ 18 คนปลูกเสียชีวิต ลูกหลานก็ได้มรดกดูแลต่อไปปีที่ 25 นี่คือกำไรของรัฐบาลปีละ 300,000 บาทไปเรื่อยๆ พอถึงปีที่ 25 รัฐบาลหยุดเอาเงินคาร์บอนเครดิต จนกระทั่งรัฐบาลจะมาตัดเอาต้นไม้ เพราะต้นไม้เป็นของรัฐบาล ตัดวันไหนคนที่ปลูกก็หยุดขายคาร์บอนเครดิต"

ส่วนผลพลอยได้ระหว่างที่ปลูกยางนา ก็ได้เห็ดป่า คือเห็ดระโงก เห็ดปลวก เห็ดละหมาก เห็ดนาแดง

"เห็ดขึ้นมาทั้งปี เพราะเราไม่ทำให้ต้นยางมันเกิดไฟไหม้ เราเอาน้ำมาเติมเรื่อยๆ มันชุ่มตลอดปี นี่คือนโยบายของเรา คนมีกินอยู่ตลอดปี"สุรทินวาดฝัน

สุรทินมองภาพยาวว่าถ้าดินดีน้ำดี ส.ส. ต้องแจกพันธุ์ปลาให้ชาวบ้านเอาไปเลี้ยง ถ้าปลาเยอะ ก็ทำปลาร้าขายไปตะวันออกกลาง นอกจากนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องส่งเสริมตลาดชุมชน ตลาดข้างถนน ชาวบ้านมีสถานที่กระจายผลผลิต "พี่น้องปลูกพริก มะเขือ เอาลูกอ๊อดหมกดีๆ มาขายที่ตลาด คนขับรถอย่างเราก็กินของแปลก หมกเห็ดเผาะ หมดเห็ดระโงก ฯลฯ ที่ขายในตลาด ขายไข่มดแดงอีก ปีหนึ่งไม่รู้จะได้เท่าไหร่ นโยบายเราต้องเป็นจริงแบบนี้ คิดว่าจะทำอย่างไรถึงจะเปลี่ยนแปลงชีวิตพี่น้องในต่างจังหวัด"

 

ยกเลิกกองทุน กยศ. เสนอเรียนฟรีถึงปริญญาตรี

พรรคประชาธิปไตยใหม่ยังเสนอด้วยว่าต้องยกเลิกกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) แทนที่ด้วยนโยบายเรียนฟรีถึงปริญญาตรีโดยไม่ต้องสอบเข้าแทน

"เพราะเด็กไม่ทันมีงานทำ ก็ถูกเจ้าหนี้ฟ้องแล้ว พอเป็นคดีความ เขาจะไปสอบครู สอบตำรวจได้ไหม ก็ต้องเปลี่ยนนโยบายจาก กยศ. เป็นเรียนฟรีถึงปริญญาตรีถึงสมัครใจ"

สุรทินกล่าวต่อไปว่า เพราะมีการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญมาตราต้องจบปริญญาตรีถึงจะเป็นรัฐมนตรีได้ มหาวิทยาลัยของรัฐบางแห่งหน่วยกิตเกือบ 3,000 บาท ลูกชาวบ้านจะเรียนได้ที่ไหน ถ้าไม่ให้เขาเรียนฟรี

"วิธีเรียนฟรีคือไม่ต้องสอบเข้า ชอบเรียนที่ไหนก็เข้าไปเรียนก่อน แต่มีข้อแม้ว่าต้องสอบออกให้ได้ ถ้าสอบไม่ได้ก็ปรับผู้ปกครองในฐานะที่ไม่ดูแลลูกเต้า นี่คือเงื่อนไขที่วางไว้"

สมัยนี้จะฝากเอาลูกๆ หลานๆ เข้าโรงเรียนตั้งแต่เข้าอนุบาลก็หนักใจแล้ว พรรคประชาธิปไตยใหม่จะชูนโยบายเรียนฟรีทุกที่ ลดหนี้เกษตรกร เรียนฟรีทุกที่ "เรียนฟรีถึงปริญญาตรีโดยสมัครใจไม่ต้องสอบเข้า อยากเรียนนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าได้เลย โรงเรียนไหนมีนักเรียนเข้าเยอะ สอนดี ก็ให้ค่าตอบแทนครูเพิ่ม ให้เงินเดือนมากกว่านายกรัฐมนตรีก็ยังได้ ครูไม่ต้องไปขายแอมเวย์ ไม่ต้องขายประกัน ให้สอนกันตาเปียกตาแฉะเลย โรงเรียนไหนครูขี้เกียจสอน เงินเดือนก็ให้เท่าเดิม หมื่นห้าก็หมื่นห้าไปอย่างนั้น โรงเรียนไหนสอนนักเรียนดี มีคุณสมบัติดี มีกิริยามารยาทดี ก็เพิ่มค่าตอบแทนให้ ดีกว่าไปขายประกัน ขายแอมเวย์"สุรทินกล่าว

 

ยกเลิกหัวคิวไปทำงานต่างประเทศ รัฐบาลจัดการเอง

พรรคประชาธิปไตยใหม่ ยังมีข้อเสนอเรื่องนโยบายแรงงานว่าจะต้องยกเลิกกฎหมายแรงงานที่ใช้อยู่ และรัฐต้องมีบทบาทในเรื่องนโยบายแรงงานให้มากขึ้น เช่น เรื่องส่งคนไปทำงานต่างประเทศ แทนที่เอกชนจะประกาศรับสมัครเอง หรือผ่านนายหน้า บริษัทที่จะว่าจ้างต้องแจ้งมาที่กระทรวงแรงงาน แจ้งมาที่กรมจัดหางาน กรมจัดหางานจะประกาศรับสมัครเองโดยแบ่งไปตามท้องถิ่นต่างๆ พอได้คนมาสมัคร หากฝีมือยังไม่ได้ตามเกณฑ์ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะอบรมให้ จากนั้นรัฐมนตรีแรงงานบินไปส่งแรงงานถึงที่ ถ้ามีปัญหาก็แจ้งมาที่กระทรวง นอกจากนี้รัฐบาลต้องส่งหมอ ส่งพยาบาลไปดูแลถึงแคมป์คนงาน เพราะเงินที่แรงงานส่งกลับเมืองไทย ถือเป็นงบประมาณ

สุรทินเสนอด้วยว่ารัฐมนตรีห้ามเดินสายตัดริบบิ้นเปิดงานเกิน 4 ครั้งต่อเดือน รัฐมนตรีต้องเป็นเซลส์แมน รัฐมนตรีเกษตรต้องแบกจอบลงพื้นที่ตามหมู่บ้านต่างๆ จะได้รู้ว่ามีน้ำมีปลาไหม เขื่อนแตกต้องรู้ต้องลงไปดูพื้นที่จริง เวลาตรวจราชการ รัฐมนตรีห้ามนอนโรงแรม ต้องไปนอนที่วัด หรือนอนมัสยิดถ้าลงภาคใต้ รัฐมนตรีต้องไปกราบพระก่อน พระจะได้บอกว่าขาดเหลืออะไร รัฐมนตรีแจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบจะได้ปฏิบัติ เวลามีรายงานของราชการ รัฐมนตรีรับรายงานที่ศาลาวัดได้เลย ไม่ต้องไปเฝ้ารายงานที่โรงแรม พรรคผมจะกำหนดแบบนี้ พรรคอื่นผมไม่รู้

 

ให้กำลังใจพรรคใหม่
ไม่เห็น "พรรคอนาคตใหม่"เป็นคู่ต่อสู้

พรรคที่ไปจดใหม่ 65 พรรค ผมให้กำลังใจพรรคที่ไปจดใหม่ ทำไปเถิดในระบอบประชาธิปไตยต้องแข่งกันหลายๆ พรรคให้พี่น้องได้เลือก ผมอยากให้พรรคแต่ละพรรคเอานโยบายมาแข่งขันกันชอบประชาธิปไตยใหม่ก็เลือก ชอบพรรคใหม่ก็เลือก

สำหรับพรรคใหม่ๆ หลายพรรค ผมมองว่าศักยภาพไม่พอที่จะมาต่อสู้ทางการเมือง ถึงแม้อย่างเช่น พรรคอนาคตใหม่ ที่เป็นคนรุ่นใหม่ ไม่มีนักการเมืองเก่ามาแจมเลย มีแต่นักวิชาการ มีแต่คนรุ่นใหม่ ขอให้กำลังใจน้องๆ ธนาธร ส่วนปิยบุตรก็รู้จักกัน กลุ่มสหพรรคก็ให้กำลังใจอาจารย์ก็แล้วกัน การเมืองไทยไม่หมู ไม่ได้มาแนวเดียว เมืองนอกทำโซเชียลก็ได้รับเลือกตั้ง แต่ของเมืองไทยไม่ใช่ เมืองไทยต้องเปิดทุกกลยุทธ์ เปิดทุกแนวรบ ท่านถึงจะได้ ส.ส. ผมไม่คิดว่าโซเชียลจะเป็นสิ่งตัดสินใจว่าท่านจะได้ผู้แทน

พรรคประชาธิปไตยใหม่ลงหาเคาะประตู กินข้าววัด นอนศาลา ไหว้หลวงพ่อ ก็ยังไม่คิดว่าจะได้คะแนน

"ผมให้กำลังใจคุณธนาธร ท่านอาจารย์ปิยบุตรก็แล้วกันว่าทำไปเถอะ เที่ยวนี้ไม่ได้ผู้แทน เที่ยวหน้าก็ทำเรื่อยๆ เพราะว่ามันต้องให้พี่น้องได้รู้จักจริงๆ ผมไม่เชื่อว่าถ้ามาไลน์เป็นล้านๆ วันเดียวจะได้ สมัยก่อนพรรคประชาธิปไตยใหม่ก็มี ไลน์เป็นล้านแปด เวลาลงคะแนนทำไมมันได้ 3 พันคะแนน คนไลน์เข้ามาไม่ใช่เขาจะเลือก คะแนนไม่ได้อยู่ที่โซเชียล คะแนนอยู่ที่มือเขา ยิ่งเที่ยวนี้คะแนนไม่ได้อยู่ที่หน่วย เที่ยวนี้เขาจะคุยกันที่ครอบครัว จะคุยกันตอนทานข้าว"

"เพราะฉะนั้นทุกพรรคต้องถี่ถ้วน อย่าประมาท เที่ยวนี้กฎหมายไม่ได้ช่วยพรรคเล็ก แต่ไปช่วยฝังพรรคเล็ก ฝังไม่เห็นขาเลย เพราะพรรคเล็กจะได้คะแนนจริงๆ ต้องส่ง ส.ส. ลงให้ครบ 350 เขต ถึงจะมีคะแนนประเมิน 70,000 ได้ ส.ส. 1 คน"

พ.ร.บ.พรรคการเมืองฉบับนี้ช่วยฝังพรรคเล็กไม่ได้ผุดได้เกิด ไม่เหมือนแต่ก่อน การจัดสรรงบประมาณหลังเลือกตั้งจะจัดสรรตามความนิยม ถ้าไม่ได้ ส.ส. ไม่ได้เงิน มันก็จบ จะไปเอาเงินเมียมาทำพรรคหรือ การทำพรรคการเมืองไม่ง่าย พรรคตั้งใหม่ อาจจะไม่ถึงครึ่งที่จะทำพรรคใหม่ได้ ถึงเงื่อนเวลา 180 วันก็จะสลายตัว เรื่องจะทำพรรคเอาเงิน กกต. เหมือนสมัยก่อนไม่มีทางแล้ว

"ส่วนพรรคใหม่ที่ว่าเป็นคู่ต่อสู้ของพรรคประชาธิปไตยใหม่หรือไม่ ผมว่าไม่ใช่เลย ขอให้กำลังใจพรรคใหม่เสียอีก พรรคประชาธิปไตยใหม่ก็ไปอีกแนวทางหนึ่ง"สุรทินกล่าว

สุรทินประเมินด้วยว่า รัฐบาลหลังเลือกตั้งมี 4 แนวทาง หนึ่ง เพื่อไทยตั้งรัฐบาล สอง ประชาธิปัตย์ตั้งรัฐบาล สาม ทหารตั้งรัฐบาล แต่ยังมีแนวทางที่สี่ คือ พรรคขนาดกลางกับพรรคขนาดเล็กรวมกัน

"ถ้ากลุ่มที่ 4 เอนไปทางไหน ทางนั้นล่ะคือรัฐบาล"สุรทินกล่าว "แต่ถ้าพรรคใหม่รวมกัน ได้ ส.ส. ไม่ถึงพรรคละ 5 คน แล้วมันจะรวมกันตั้งรัฐบาลได้อย่างไร"ดังนั้น การเป็นพรรคการเมืองจะต้องคิดว่า ถ้าได้เป็นรัฐบาลจะทำอะไร พรรคประชาธิปไตยใหม่จึงเตรียมพร้อม มีการประเมินแทบทุกเดือน ทุกสัปดาห์ คุยกันว่าจะลงพื้นที่อย่างไร ไม่ใช่เน้นประชุมแถลงข่าว กินกาแฟแล้วหายไป

"การเมืองต้องทำงานอยู่ตรงนี้ 24 ชั่วโมง ต้องนอนคลุกฝุ่น นี่คือวิธีการของพรรคประชาธิปไตยใหม่ ไม่ได้หวั่นไหวเรื่องพรรคใหม่เลย"

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'คืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ'โพสต์ภาพถาม เป็นที่พักข้าราชการผู้น้อย?

$
0
0

เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพโพสต์ภาพแฉอาคารชุดสุดหรู ของผู้น้อย? และปริศนาพื้นที่บ้านเดี่ยว จี้ 'ประยุทธ์'รักษาคำพูด

ภาพจากเฟสบุ๊คแฟนเพจ 'เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ' 

18 ก.ค.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 16 และ 17 ก.ค. เฟสบุ๊คแฟนเพจ 'เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ'โพสต์แฉตุลาการ ตอนที่ 1 และ 2 อาคารชุดสุดหรู ของผู้น้อย และปริศนาพื้นที่บ้านเดี่ยว

เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ระบุว่า ข้อตกลงกับรัฐบาล 6 พ.ค.61 ไม่มีผู้อาศัย ในอาคารชุด 9 หลัง และบ้านพัก 45 หลัง จนถึงปัจจุบัน กลางเดือน ก.ค. 61 มีคนทยอยเข้าไปอยู่ในอาคารชุดทั้ง 9 หลัง ราว 30 ครอบครัว ไม่มีทีท่าว่าจะย้ายออก

เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ โต้สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่อ้างว่าเป็นข้าราชการผู้น้อย และขอความเห็นใจว่า ความจริง ในบรรดาอาคารชุดทั้ง 9 หลัง มีอาคารที่ออกแบบสำหรับข้าราชการศาล(ผู้น้อย)เพียงหลังเดียว จากการสังเกต ปัจจุบันมีผู้น้อยเข้าอยู่ เพียง 3 ห้อง ส่วนอาคารชุดที่เหลืออีก 8 หลัง เป็นอาคารชุดหรู ระดับเพนท์เฮ้าส์ ถ้าไม่เรียกว่าเพนท์เฮ้าส์ ก็น้องๆ ล่ะ เพราะทั้งอาคาร(3ชั้น) มีห้องพักเพียง 8 ห้อง พื้นที่ใช้สอยกว้างขวางโอฬารขนาดไหน นึกดู อาคารหรูเหล่านี้ เป็นของระดับผู้พิพากษา มีเงินเดือน เงินประจำและเงินพิเศษ รวมเกือบแสนบาทต่อเดือน จึงไม่แปลก ที่มี รถเบนซ์และรถหรูจอดอยู่ด้านหน้า แบบนี้จะอ้างได้อย่างไรว่าเป็นผู้น้อย
 
 
"เรามีรายชื่อพวกท่าน แทบทุกห้อง ตรวจสอบดูทราบว่าเป็นผู้พิพากษา จึงชัดเจนว่าอาคารชุดด้านบน ไม่ได้มีไว้สำหรับข้าราชการชั้นผู้น้อย เราไม่ใช่ศัตรูกัน ขอยืนยันว่าไม่ใช่ปฏิปักษ์และคู่กรณีใดๆ แต่อยากขอร้องให้ท่านย้ายออกเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงกับรัฐบาล เราเชื่อว่าบางท่านอึดอัดใจ แต่ชาวเชียงใหม่อึดอัดใจมากกว่า และเรายังยืนยันตามติดเรื่องป่าแหว่งต่อไป" เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ โพสต์
 
ผู้จัดการออนไลน์รายงานด้วยว่า ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ระบุด้วยว่า จากนี้เป็นต้นไปทางเครือข่ายจะมีการนำข้อมูลที่ไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับโครงการนี้ออกมาเปิดเผยเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบว่าการดำเนินการโครงการนี้อาจจะมีเรื่องที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จากเดิมที่ต้องการเพียงขอคืนพื้นที่ป่าเท่านั้น แม้จะมีข้อมูลเชิงลึกต่างๆ อยู่มากมายตั้งแต่แรกแต่ไม่เคยเปิดเผย อย่างไรก็ตาม เวลานี้มีความจำเป็นแล้วเพราะมีการผิดข้อตกลงกัน ซึ่งล่าสุด 17 ก.ค.61 มีการเปิดเผยข้อมูลและตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับบ้านพักทั้ง 45 หลัง ที่อาจจะดำเนินการผิดระเบียบสำนักงบประมาณ ที่เมื่อปี 2557 ที่มีการทำสัญญากัน มีการกำหนดว่าบ้านพักข้าราชการระดับอธิบดีผู้พิพากษามีเนื้อที่ไม่เกิน 155 ตารางเมตร เพราะดูแล้วน่าจะมีพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 300 ตารางเมตร โดยจากนี้จะมีการเปิดเผยข้อมูลเชิงลึกอื่นๆ ออกมาอีกไม่หยุดเพื่อให้ประชาชนช่วยกันพิจารณา

เครือข่ายขอคืนป่าฯ จี้ประยุทธ์รักษาคำพูด

ล่าสุดวันนี้ (18 ก.ค.61) เนชั่นทีวีรายงานว่า 10.00 น. ที่ห้องประชุม 1 ชั้น 2 อาคารศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ คณะอนุกรรมการจัดการกับสิ่งก่อสร้างจากกรณีก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการ ดังกล่าว ได้มีการจัดประชุมอนุกรรมการจัดการสิ่งก่อสร้างฯ โดยมี ธีระยุทธ กุคำใส สถาปนิก ชำนาญการ สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จ.เชียงใหม่ เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยคณะกรรมการที่ประกอบด้วยตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน นำโดย ธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ
 
รายงานข่าวระบุว่า การประชุมมีข้อสรุปว่าให้เร่งดำเนินการรื้อถอน บ้านพัก 45 หลังที่อยู่บนเนินเขา โดยเร่งด่วนเนื่องจากเสี่ยงที่จะสร้างความเสียหายอย่างมากในระบบโครงสร้างจากดินสไลด์ รวมทั้งกรณีเมื่อวานนี้ (17 ก.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสชช. กล่าวถึงกรณีเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ออกมาเรียกร้องอีกครั้ง ระบุพบอาคารชุด 9 หลัง ในโครงการบ้านพักตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 จ.เชียงใหม่ ที่รัฐบาลห้ามคนเข้าพักอาศัย มีข้าราชการระดับผู้พิพากษาเข้าไปพักอาศัยกว่า 30 ครอบครัวว่ายังไม่ได้รับรายงานเพิ่มเติม แต่พบว่าบ้านพักทั้ง 45 หลังยังไม่มีผู้เข้าไปอยู่อาศัย เพราะไม่ได้ให้พักอาศัย ส่วนของอาคารชุดมีการอยู่อาศัยมาก่อน ซึ่งได้ตกลงกันแล้วว่า เมื่อมีการก่อสร้างหลังใหม่ ต้องมีการย้ายออก และปรับพื้นที่คืนสู่สภาพเดิม แต่ก็ต้องเห็นใจเจ้าหน้าที่ที่เขาอยู่มาก่อน เราไม่ได้ให้เพิ่มเติม หลังจากที่มีกรณีศึกษาออกมาแล้ว คนที่เขาอยู่มาแล้วในช่วงที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว ต้องให้เขาอยู่ทำงานไปก่อน ต้องเห็นใจกันทั้ง 2 ฝ่าย จะให้เขาไปอยู่ที่ไหน นั่นคือปัญหาเพราะเป็นหน้าที่ ตนขอยืนยันว่ายังเป็นไปตามกติกาทุกประการ
 
ธีระศักดิ์ กล่าวว่า ในวันนี้คณะอนุกรรมการฯ สรุปแล้วว่า จะต้องรื้อ บ้านพัก 45 หลังเป็นเด็ดขาดแล้ว ส่วนอาคารชุด 9 หลัง จะรื้อเป็นอันดับต่อไป ซึ่งจะต้องส่งข้อมูลการประชุมครั้งนี้ไปยังคณะกรรมการชุดใหญ่ต่อไป แต่ขณะที่เมื่อวานนี้ ทางพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กลับพูดว่าการที่มีข้าราชการมาพักอาศัยในอาคารชุด 9 หลังนั้นก็ให้อยู่ไปก่อนจนกว่าจะหาและจัดสร้างที่ใหม่แล้วเสร็จ
 
แต่กระนั้นหากนายกฯ ลองกลับไปย้อนฟังที่ท่านเองเคยพูดไว้เมื่อ 2 เดือนก่อนว่า จะไม่อนุมัติให้ใครอยู่อาศัย ออกอากาศผ่านสื่อไปทั่วโลก ทางเครือข่ายต้องการให้นายกฯทำตามที่พูดไว้ จะมาอ้างว่าให้ผู้น้อยอยู่อาศัยไปก่อน อยู่ต่อไปจนกว่าจะหาที่อยู่ใหม่ได้นั้นจะเป็นการพูดกลับกลอก และรู้หรือไม่ว่าอาคารเดิมใช้เวลาสร้างกว่า 5 ปี ฉะนั้น หากรอให้สร้างอาคารใหม่เสร็จก็คงใช้เวลาไม่น้อยกว่า 5-6 ปีอย่างแน่นอน
 
ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ กล่าวต่อว่า ขอฝากไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ ท่านเป็นถึงนายกรัฐมนตรี ในเมื่อสัญญากับเครือข่ายกับประชาชนชาวเชียงใหม่แล้วว่าจะไม่มีผู้อยู่อาศัย ฉะนั้นควรจะมีแนวทางแก้ไขที่เหมาะสม อาทิ ยังมีอาคารชุดที่ไม่เกี่ยวข้องกับพื้นที่การรื้ออีก 4 หลัง ราว 40 กว่าห้อง นายกฯสามารถสั่งย้ายได้ทันที ให้ทุกคนที่อยู่ในเขตพิพาท มาอาศัยในอาคารชุดที่เหลือ 4 หลังก็หมดเรื่องแล้ว หากทำตามที่นายกฯพูดว่ารอที่ทำการใหม่เสร็จค่อยย้าย ต้องใช้เวลาอีกกี่สิบปี ในเมื่อจนปัจจุบันนี้ เรื่องการหาที่ใหม่ ก็ยังไม่คืบหน้า งบประมาณมาจากไหนก็ไร้คนทราบ ไม่มีสิ่งใดคืบหน้าทั้งนั้น

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ส่องการปรับเงินเดือนทหาร ปี 21-ปัจจุบัน

$
0
0

แม้ยกเลิก ‘จอมพล’ แต่เงินเดือนเท่าเดิม ย้อนดู พ.ร.บ.ทหาร ปี 21-58 ปรับเงินเดือน 5 ครั้ง เพิ่มเกินเท่าตัวปี 31 และ 51 ล่าสุดปี 58 เพิ่ม 8% ใช้งบ 2 หมื่นล้าน ปี 59 ปรับเงินเดือนทหาร-ตำรวจ ตำแหน่ง พล.ท.สูงสุด 76,800 บ. งบฯ กลาโหมปี 61 เพิ่ม 8.8 พันล้าน ขณะที่ปี 57 ไทยมีนายพลรวม 1,500-2,000 คน มากกว่าสหรัฐฯ 1 ใน 3 แม้ประชากรน้อยกว่า 5 เท่า

เปรียบเทียบอัตราการเพิ่มขึ้นของเงินเดือนระดับชั้นของข้าราชการทหาร พ.1 ป.1 น.1 น.5 และ น.9 กับ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ในปี 2527, 2531, 2535, 2551 และ 2558 

จากข่าวเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 61 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ยกเลิกตำแหน่งจอมพลแต่รับอัตราเงินเดือน น. 9 เท่าเดิม ตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เสนอร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร (ฉบับที่) พ.ศ.... ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการ พ.ศ.2551  

โดยเมื่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายแล้ว จะส่งผลให้กระทรวงกลาโหมไม่มีตำแหน่งอัตราจอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศ โดยนายทหารสัญญาบัตรยศจอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศ ที่มีอัตราเงินเดือนจอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศ ในระดับ น.9 จะถูกปรับเปลี่ยนเป็นยศพลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก และได้รับอัตราเงินเดือนพลเอกพิเศษ พลเรือเอกพิเศษ พลอากาศเอกพิเศษ ในระดับ น.9 เช่นเดิม ดังนั้นจึงไม่มีผลกระทบต่อเงินเดือน เนื่องจากนายทหารสัญญาบัตรเหล่านี้ยังคงได้รับเงินเดือนระดับ น.9 ต่อไปเช่นเดิม

ประชาไทชวนย้อนดูการขึ้นเงินเดือนทุกระดับชั้นของข้าราชการทหาร ตั้งแต่ พ.1, พ.2, ป.1, ป.2, น.1, น.2, น.3, น.4, น.5,

1.ทหารกองประจําการ และนักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหม ให้ได้รับเงินเดือนระดับ พ.1

2.พลทหารประจําการ (พลอาสาสมัคร) ให้ได้รับเงินเดือนระดับ พ.2

3.นายทหารประทวนยศตั้งแต่สิบตรี จ่าตรี จ่าอากาศตรี ถึงสิบเอก จ่าเอก จ่าอากาศเอก ให้ได้รับเงินเดือนระดับ ป.1

4.นายทหารประทวนยศตั้งแต่จ่าสิบตรี พันจ่าตรี พันจ่าอากาศตรี ถึงจ่าสิบเอก พันจ่าเอก พันจ่าอากาศเอก ให้ได้รับเงินเดือนระดับ ป.2

5.นายทหารประทวนยศจ่าสิบเอก พันจ่าเอก พันจ่าอากาศเอก อัตราเงินเดือน จ่าสิบเอกพิเศษ พันจ่าเอกพิเศษ พันจ่าอากาศเอกพิเศษ ให้ได้รับเงินเดือนระดับ ป.3

6.นายทหารสัญญาบัตรยศร้อยตรี เรือตรี เรืออากาศตรี ถึงร้อยเอก เรือเอก เรืออากาศเอก ให้ได้รับเงินเดือนระดับ น.1

7.นายทหารสัญญาบัตรยศพันตรี นาวาตรี นาวาอากาศตรี ให้ได้รับเงินเดือนระดับ น.2

8.นายทหารสัญญาบัตรยศพันโท นาวาโท นาวาอากาศโท ให้ได้รับเงินเดือนระดับ น.3

9.นายทหารสัญญาบัตรยศพันเอก นาวาเอก นาวาอากาศเอก ให้ได้รับเงินเดือนระดับ น.4

10.นายทหารสัญญาบัตรยศพลจัตวา พลเรือจัตวา พลอากาศจัตวา หรือพันเอก นาวาเอก นาวาอากาศเอกอัตราเงินเดือนพันเอกพิเศษ นาวาเอกพิเศษ นาวาอากาศเอกพิเศษ ให้ได้รับเงินเดือน ระดับ น.5

11.นายทหารสัญญาบัตรยศพลตรี พลเรือตรี พลอากาศตรี ให้ได้รับเงินเดือนระดับ น.6

12.นายทหารสัญญาบัตรยศพลโท พลเรือโท พลอากาศโท ให้ได้รับเงินเดือนระดับ น.7

13.นายทหารสัญญาบัตรยศพลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก ให้ได้รับเงินเดือนระดับ น.8

14.นายทหารสัญญาบัตรยศพลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก ที่เคยครองอัตราจอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศ ให้ได้รับเงินเดือนระดับ น.9

พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร 21-58 ปรับเงินเดือน 4 ครั้ง ล่าสุดเพิ่ม 8% ใช้งบ 2 หมื่นล้าน

โดย พ.ร.บ. ฉบับแรกคือ พ.ศ. 2521 จากนั้น พ.ร.บ. ฉบับที่ 2พ.ศ. 2527 ได้ปรับเงินเดือนข้าราชการทหารขึ้นเป็นครั้งแรก ปรับครั้งที่ 2 ใน พ.ร.บ. ฉบับที่ 3พ.ศ. 2531 ปรับครั้งที่ 3 ใน พ.ร.บ. ฉบับที่ 4พ.ศ. 2435 จากนั้นเว้นไปอีก 15 ปี และปรับครั้งที่ 4 ใน พ.ร.บ. ฉบับที่ 7พ.ศ. 2551 และปรับครั้งที่ 5 เพิ่มขึ้นประมาณ 8% ใน พ.ร.บ. ฉบับที่ 10พ.ศ. 2558 โดย สนช. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร ปรับเงินเดือนข้าราชการทหารเพื่อปรับเงินเดือนข้าราชการทหาร ทหารกองประจำการ และนักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหม ด้วยมติ 163 เสียง งดออกเสียง 14 เสียง จากทั้งหมด 177 เสียง โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรม สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน โดยวงเงินที่ใช้ในการดำเนินการในการปรับขึ้นเงินเดือนอัตรา 8 % จะอยู่ที่ประมาณ 20,000 ล้านบาท

ระดับเงินเดือน

2521 (รวมบัญชี 1,2,3)

2527

2531 (รวมบัญชีก. ข. ค. ง.)

2535

2551

2558

พ.1

300-660

420-1,255

560-2,900

800-3,000

1,360-6,050

1,469-6,534

พ. 2

900-1,950

1,255-3,535

2,100-7,010

3,000-6,350

4,870-15,290

5,260-16,513

ป. 1

1,000-3,115

1,255-4,685

2,100-8,270

3,000-7,610

4,870-19,520

5,260-21,082

ป. 2

1,485-3,535

2,765-5,745

3,550-10,270

5,260-9,700

7,140-23,400

7,711-25,272

ป. 3

ไม่มีตำแหน่ง

ไม่มีตำแหน่ง

ไม่มีตำแหน่ง

ไม่มีตำแหน่ง

10,350-26,990

11,178-29,189

น. 1

1,785-6,935

2,485-7,285

3,150-12,720

4,760-12,480

6,470-26,990

6,988-29,149

น. 2

4,110-8,895

5,205-9,385

5,800-15,770

8,390-15,380

13,160-28,880

14,213-31,190

น. 3

5,210-10,855

6,935-12,535

7,200-19,470

9,740-18,840

16,190-35,220

17,485-38,038

น. 4

6,710-13,095

8,475-13,095

8,950-22,770

11,980-23,170

19,860-49,830

21,449-53,816

น. 5

8,160-15,575

10,365-15,575

12,350-32,500

18,060-31,990

24,400-53,080

26,352-57,326

น. 6

9,790-16,975

11,975-16,975

14,300-36,250

22,180-37,740

29,980-62,080

32,378-67,760

น. 7

11,650-18,515

13,695-18,515

16,700-40,000

25,960-42,520

35,090-67,560

37,897-72,965

น. 8

12,690-18,515

14,935-18,515

18,400-40,000

28,920-42,520

39,090-67,560

42,217-72,965

น. 9

13,820-19,325

19,325

24,000-41,250

37,800-44,160

51,960-70,930

56,117-76,604


เปรียบเทียบการเพิ่มขึ้นของเงินเดือนเป็นเปอร์เซ็นต์

ระดับเงินเดือน

2527

2531

2535

2551

2558

พ.1

90

131

3

102

8

พ. 2

81

98

-9

140

8

ป. 1

50

77

-8

157

8

ป. 2

63

79

-6

141

8

ป. 3

ไม่มีตำแหน่ง

ไม่มีตำแหน่ง

ไม่มีตำแหน่ง

ตำแหน่งใหม่

8

น. 1

5

75

-2

116

8

น. 2

6

68

-2

88

8

น. 3

15

55

-3

87

8

น. 4

0

74

2

115

8

น. 5

0

109

-2

65

8

น. 6

0

114

4

64

8

น. 7

0

116

6

64

8

น. 8

0

116

6

59

8

น. 9

0

113

7

61

8


เมื่อคำนวณอัตราการเพิ่มของเงินเดือน โดยคิดจากอัตราเงินเดือนสูงสุดของแต่ละระดับ พบว่า ปี 2527 แต่ละระดับเงินเดือนมีทั้งที่ไม่เพิ่มขึ้นเลย (น.9) ไปจนถึงเพิ่มขึ้นประมาณ 90% (พ.1) ปี 2531 ทุกระดับเงินเดือนเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว จนถึงเกินเท่าตัว เพิ่มสูงสุด 131% (พ.1) รองลงมาคือ 116% (น.8) ปี 2535 เป็นปีที่เงินเดือนสูงสุดในแต่ละระดับลดลงหรือหากเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จะเป็นทหารในระดับสูง เช่น น.6 น.7 น.8 น.9 แต่ที่เพิ่มมากที่สุดคือ น.9 เพิ่ม 7% ปี 2551 เพิ่มขึ้นอย่างมากอีกครั้งทั้งเกือบทั้งตัวจนถึงเกินเท่าตัว และเพิ่มตำแหน่ง ป.3 เข้ามาด้วย เพิ่มสูงสุด 157% (ป.1) ส่วน น.4 เพิ่มขึ้น 115% น.5 เพิ่มขึ้น 65% น.6, น.7 เพิ่มขึ้น 64% น.8 เพิ่มขึ้น 59% และ น.9 เพิ่มขึ้น 61% และปี 2558 เฉลี่ยแล้วทุกระดับเงินเดือนเพิ่มขึ้น 8%

เปรียบเทียบกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในเขตกรุงเทพมหานครแต่ละปีตามราชกิจจานุเบกษาได้ดังนี้

 

2521

2527

2531

2535

2551

2558

บาท/ต่อวัน

35

70

76

115

203

300

บาท/ต่อเดือน

910

1,820

1,976

2,990

5,278

7,800

อัตราการเพิ่ม

 

100%

8.57%

51.31%

76.52%

47.78%

*ค่าจ้างขั้นต่ำรายเดือนคำนวณจากค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน x 26 วัน

ปี 59 ปรับเงินเดือนทหาร-ตำรวจ 400-1,300 บ. ตำแหน่ง พล.ท.สูงสุด 76,800 บ.

ปี 2559 (22 มี.ค.)ปรับเพิ่มเงินเดือนอีกครั้งเมื่อ ครม. เห็นชอบปรับอัตราเงินเดือนของข้าราชการทหาร ตำรวจ เพิ่มอัตราละ 400-1,300 บาท ตามหลักเกณฑ์และวิธีการเยียวยาให้กับข้าราชการทหาร ตำรวจและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำของอัตราเงินเดือน เนื่องจากที่ผ่านมามีการปรับเงินเดือนของข้าราชการพลเรือน ทำให้ฐานเงินเดือนสูงสุดของฝ่ายพลเรือนมีอัตราที่สูงกว่าภาคข้าราชการทหาร ตำรวจ จึงมีการเสนอให้ลดความเหลื่อมล้ำลง

โดยจะปรับเพดานอัตราเงินเดือนดังนี้ ระดับพล.ท. พล.ร.ท. พล.อ.ท.จากเงินเดือน 74,320 บาท เยียวยาเป็น 75,560 ถึง 76,800 บาท ระดับ พล.ต. พล.ร.ต. พล.อ.ต. จากเงินเดือน 69,040 บาท เยียวยาเป็น 70,360 ถึง 74,320 บาท ระดับ พ.อ. น.อ. น.อ.อ. จากเงินเดือน 58,390 บาท เยียวยาเป็น 59,500 บาท ระดับจ่าสิบตรี พันจ่าตรี พันจ่าอากาศตรี ถึงจ่าสิบเอก พันจ่าเอก พันจ่าอากาศเอก จากเงินเดือน 29,690 บาท เยียวยาเป็น 30,220 บาท ถึง 38,750 บาท และระดับสิบตรี จ่าตรี จ่าอากาศตรี ถึงสิบเอก จ่าเอก จ่าอากาศเอก จากเงินเดือน 21,480 บาท เยียวยาเป็น 21,880 บาท ถึง 38,750 บาท ส่วนข้าราชการตำรวจ ระดับ พล.ต.ท.จาก 74,320 บาท เยียวยาเป็น 75,560 บาท ถึง 76,800 บาท ระดับ พล.ต.ต.จากเงินเดือน 69,040 บาท เยียวยาเป็น 70,360 บาท ถึง 74,320 บาท ระดับพ.ต.อ.(พิเศษ) จากเงินเดือน 69,040 บาท เยียวยาเป็น 70,360 บาท ระดับ พ.ต.อ.จาก 58,390 บาทเยียวยาเป็น 59,500 บาท

ปี 60 สนช. ใช้เวลา 15 นาที ผ่านร่าง พ.ร.บ.ฯ เพิ่มอัตราเงินเดือนประจำตำแหน่งข้าราชการวิชาการกลาโหม

ปี 2560 (23 พ.ย.) ที่ประชุม สนช. ใช้เวลาเพียง 15 นาที เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร ด้วยมติเห็นชอบ 203 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง จากทั้งหมด 207 เสียง เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมบัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งข้าราชการ ประเภทวิชาการในสถาบันการศึกษาสังกัดกระทรวงกลาโหม และเพิ่มบัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งข้าราชการ ประเภทวิทยฐานะ โดยไม่นำชั้นยศทางทหารมาเป็นหลักเกณฑ์การพิจารณาการดำรงตำแหน่งทางวิชาการ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ โดยมีคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ จากนั้น วันที่ 26 มกราคม 2561 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พ.ร.บ ระเบียบข้าราชการทหาร (ฉบับที่ 11)พ.ศ.2561 ซึ่งเป็นการแก้ไขตามมติดังกล่าว

งบฯ กลาโหมปี 61 เพิ่ม 8.8 พันล้านจากปี 60 เพิ่มขึ้นทุกปีตั้งแต่ปี 58

พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 ได้จัดสรรงบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชนไปยังกระทรวงกลาโหมสูงถึง 2.2 แสนล้านบาท คิดเป็น 7.7% ของงบประมาณทั้งหมด ได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้นจากงบปี 2560 ถึง 8.8 พันล้านบาท ถือเป็นจำนวนที่เพิ่มสูงในอันดับต้นๆ ของกลุ่มกระทรวงด้วยกัน และหากนับย้อนไปตั้งแต่ คสช.เข้าควบคุมอำนาจการปกครอง จะพบว่างบกลาโหมไต่ระดับสูงขึ้นตลอด ตั้งแต่งบปี 2558 จำนวน 1.9 แสนล้าน เป็นทะลุ 2 แสนล้านในปี 2559 แล้วขยับขึ้นเป็น 2.1 แสนล้านในปี 2560 และล่าสุด 2.22 แสนล้าน ในปี 2561

งบของกระทรวงกลาโหมปี 2561มากเป็น 2 เท่าของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ดูแลเกษตรกรอย่างน้อย 11 ล้านคน มากเป็น 5 เท่าของกระทรวงแรงงาน ที่ดูแลแรงงานในระบบและนอกระบบรวมกว่า 38 ล้านคน และมากเป็น 15 เท่าของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งมีภารกิจสำคัญในการพัฒนาและสร้างความเป็นธรรมในสังคม โดยเฉพาะการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ และหากนำไปเทียบกับงบที่กระทรวงกลาโหมได้รับจัดสรรเมื่อเกือบสิบปีก่อนในปี พ.ศ. 2552 ซึ่งอยู่ที่ 1.70 แสนล้านบาท ก็จะเพิ่มขึ้นถึง 30% เลยทีเดียว

ย้อนดูปี 57 ไทยมีนายพลรวม 1,500-2,000 คน มากกว่าสหรัฐฯ 1ใน 3 แม้ประชากรน้อยกว่า 5 เท่า

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์พบว่า ปี 2557 บัญชีแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพล มีชื่ออยู่ในบัญชีถึง 1,092 คน นั่นคือนายพลเก่าและนายพลใหม่ (ขยับจากระดับพันเอกพิเศษขึ้นมา) รวมกัน แต่ยังไม่นับรวมนายพลที่ไม่ได้ขยับย้ายไปไหน ประเมินกันว่ารวมๆ แล้วน่าจะมีนายพลจากทุกเหล่าทัพมากถึง 1,500-2,000 คน

ย้อนดูจำนวนนายทหารชั้นนายพลในบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายวาระประจำปีย้อนหลัง 5-6 ปีก็จะเห็นความผิดปกติ โดยในปี 2552 มีนายพลในบัญชีรายชื่อ จำนวน 568 คน ปี 2553 ลดลงเล็กน้อยเหลือ 530 คน ปี 2554 ขยับขึ้นเป็น 584 คน จากนั้นปี 2555 ก้าวกระโดดขึ้นเป็น 811 คนตามด้วย 861 คนในปี 2556 และขึ้นถึงหลักพันในปี 2557 ที่จำนวน 1,092 คน นับจากปี 2554-2557 มีนายพลในบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว แน่นอนว่านายทหารยศ "พลเอก"ก็เพิ่มขึ้นตามลำดับด้วย

กานดา นาคน้อย นักวิชาการเขียนถึงประเด็นนี้ในบทความ ‘นายพลว่างงาน’ เมื่อ ต.ค.2557 ว่า เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ มีจำนวนนายพลเพียง 2 ใน 3 ของจำนวนนายพลไทย สหรัฐฯ มีกำลังพลประมาณ 3 เท่าของกำลังพลของกองทัพไทย เมื่อเปรียบเทียบด้วยจำนวนประชากรแล้ว สหรัฐฯ มีประชากรประมาณ 5 เท่าของไทย ดังนั้นสัดส่วนกำลังพลของกองทัพไทยต่อประชากรจึงสูงกว่าสัดส่วนกำลังพลของกองทัพสหรัฐฯเสียอีก และเมื่อตรวจสอบดูเรื่องสวัสดิการของนายพล งบจัดซื้อรถยนต์ประจำตำแหน่ง งบค่าน้ำมัน และงบค่าเดินทางไปต่างประเทศ กลับไม่สามารถหาสถิติได้

ปฏิรูปกลาโหม ตั้งเป้าปี 71 เหลือ 384 นายพล

อย่างไรก็ตาม เมื่อ ก.ค.2559 พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมสภากลาโหม ว่า ที่ประชุมเห็นชอบการปฏิรูปกระทรวงกลาโหม เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยการปรับระบบงานด้านกําลังพล ซึ่งปัจจุบันกระทรวงกลาโหมประสบปัญหาความคับคั่งของกําลังพลในชั้นยศสูง จึงต้องปรับลดให้มีขนาดที่เหมาะสม โดยส่วนแรกได้ปรับลดกําลังพลในตําแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ผู้ทรงคุณวุฒิ นายทหารปฏิบัติการลงร้อยละ 2.5 ต่อปี โดยเริ่มดําเนินการตั้งแต่ปี 2551 และสิ้นสุดในปี 2571 ซึ่งจะสามารถลดจํานวนกําลังพลดังกล่าวได้ถึงร้อยละ 50 โดยปี 2551 มีนายทหารระดับ พลตรี พลโท พลเอก ในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิ และ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทั้งหมด 768 คน และ จะลดลงในปี 2571 เหลือ 384 คน เช่นเดียวกับนายทหารชั้นยศพันเอกพิเศษ ในตำแหน่งนายทหารปฏิบัติการ (นปก.) ที่มีอยู่ตั้งแต่ปี 2551 จำนวน 2,698 คน จะต้องลดลงในปี 2571 เหลือ 1,349 คน

โฆษกกระทรวงกลาโหม ระบุด้วยว่า การลดจำนวนนายพล โดยลดอัตราผู้ทรงคุณวุฒิ และ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ จะเริ่มค่อยๆ ดำเนินการต่อไปเพราะที่ผ่านมาก็เริ่มทำมาแล้วตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งจะสอดคล้องกับการผลิตนักเรียนจากโรงเรียนเตรียมทหาร และนายร้อยฯ ทุกเหล่าทัพที่จะลดไปตามลำดับด้วย สำหรับการตั้งข้อสังเกตว่าในช่วงหลังมีตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิ และ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษในโผทหารจำนวนมากนั้น ก็เป็นปัญหาความคับคั่งในระดับรองลงไป ทั้งนี้ กระทรวงกลาโหมได้จัดทําโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกําหนดจํานวน 3 โครงการ เพื่อเป็นกลไกรองรับต่อภารกิจดังกล่าว ทั้งระดับชั้นยศนายพล และทุกชั้นยศ มีกําลังพลเข้าร่วมโครงการใน 3 ปี ที่ผ่านมา กว่า 15,000 นาย

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทักษิโณมิกส์ ในสายตารังสรรค์ ธนะพรพันธุ์

$
0
0

ระบอบการเมืองการปกครองภายใต้ทักษิโณมิกส์เป็นระบบเถ้าแก่

 

( ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ นำเสนอบทวิพากษ์ ระบอบทักษิโณมิกส์ ในการเสวนาเรื่อง ทักษโณมิกส์ ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ที่ผ่านมา)

มี3 หัวข้อ ที่ผมอยากจะพูดคือ

1. ทักษิโณมิกส์ คืออะไร
2. สาระสำคัญว่าด้วยทักษิโณมิกส์
3. มายาคติว่าด้วยทักษิโณมิกส์

สัมภาษณ์พิเศษ "พันศักดิ์ วิญญรัตน์" : คุณทักษิณไปแล้ว What do you do next?

$
0
0

 

Viewing all 14385 articles
Browse latest View live