ในโอกาสครบรอบ 86 ปี การประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกเมื่อ 28 มิถุนายน 2475 ขอพาคุณผู้อ่านย้อนเวลา-เยี่ยมชมอาคารซึ่งใช้เป็นที่ทำการรัฐสภา 3 แห่ง ทั้งในอดีต ปัจจุบัน (และอนาคต) ประกอบด้วย พระที่นั่งอนันตสมาคม (2475-2517) อาคารรัฐสภา (2517-ปัจจุบัน) และสัปปายะสภาสถาน ซึ่งหากไม่เลื่อนอีก คาดว่าจะแล้วเสร็จธันวาคมปี 2562
วันนี้เมื่อ 86 ปีที่แล้วหรือเมื่อ 28 มิถุนายน 2475 ถือเป็นวันประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันแรก
โดยภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา "พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475"เมื่อ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 "โดยที่คณะราษฎรได้ขอร้องให้อยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม เพื่อบ้านเมืองจะได้เจริญขึ้น""และโดยที่ได้ทรงยอมรับตามคำขอร้องของคณะราษฎร"[อ่านเพิ่มเติม]
และต่อมาในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 สภาผู้แทนราษฎรอันประกอบด้วย สมาชิกซึ่งคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารได้ตั้งขึ้น จำนวน 70 นาย ได้ประชุมกันเป็นครั้งแรก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม และมีการเลือกฝ่ายบริหารคือ "คณะกรรมการราษฎร"หรือคณะรัฐมนตรีชุดแรก 14 คน โดย พระยามโนปกรณ์นิติธาดา อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา เป็นประธานคณะกรรมการราษฎร เทียบได้กับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน
ในโอกาสครบรอบ 86 ปีของสภาผู้แทนราษฎร จึงขอพาท่านผู้อ่านเยี่ยมชมสถานที่ซึ่งใช้เป็นที่ทำการรัฐสภาตลอดยุคการเมืองไทยสมัยใหม่ จากอดีต ปัจจุบัน จนถึงอนาคต
พระที่นั่งอนันตสมาคม(พ.ศ. 2475-2517)
ใช้เป็นรัฐสภาตั้งแต่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 - 2517
หลัง พ.ศ. 2517 ยังคงใช้เป็นสถานที่ประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา
ปัจจุบันปิดปรับปรุงแบบไม่มีกำหนดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560
ก่อสร้าง 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451 แล้วเสร็จพ.ศ. 2458
งบประมาณก่อสร้าง 15 ล้านบาท หรือ 21.43% ของงบประมาณแผ่นดินปี พ.ศ. 2458 (69,991,604 บาท)
การเดินทาง:รถเมล์สาย 70 (ถ.อู่ทองใน), 72, 503 (ถ.ศรีอยุธยา)
รถไฟฟ้า BTS สถานีพญาไท (ห่างออกไป 3.12 กม.)
เส้นทางรถไฟฟ้าในอนาคต
MRT สายสีม่วง สถานีสามเสน (ห่างออกไป 1.18 กม.)
MRT สายสีม่วง สถานีหอสมุดแห่งชาติ (ห่างออกไป 1.15 กม.)
พระที่นั่งองค์นี้นับได้ว่า เป็นรัฐสภาแห่งแรกของประเทศไทย โดยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ต่อมาหลังประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ในวันถัดมาคือวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารได้แต่งตั้งผู้แทนราษฎร 70 คน และมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรและประชุมกันเป็นครั้งแรก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม และเมื่อการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรทั่วประเทศได้สำเร็จลง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้โปรดให้สภาผู้แทนราษฎรประชุมกันที่พระที่นั่งนี้ได้ต่อไป
พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นรัฐสภา โดยเฉพาะการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และในบางยุคที่มี 2 สภา คือมีพฤฒสภาหรือวุฒิสภา ก็จะใช้พระที่นั่งอภิเศกดุสิต ภายในพระราชวังดุสิตเป็นที่ประชุมพฤฒสภา
กระทั่งเมื่อสมาชิกรัฐสภาเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น และต้องมีที่ทำการข้าราชการฝ่ายรัฐสภา จึงมีการวางโครงการสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ แต่โครงการทั้ง 3 ครั้งก็ไม่สำเร็จ เพราะคณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งเสียก่อน จนกระทั่งมาสำเร็จในครั้งที่ 4 เริ่มก่อสร้างสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร โดยเริ่มก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่เมื่อ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513 โดยอาคารรัฐสภาแห่งใหม่เปิดใช้ประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2517
พระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ภายในพระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 (ที่มา: โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย)
ส่วนพระที่นั่งอนันตสมาคมยังคงใช้ในทางรัฐพิธีเกี่ยวกับรัฐสภา เช่น รัฐพิธีเปิดสมัยประชุม รัฐพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ และเคยมีการใช้ชั้นล่างของพระที่นั่งเป็นพิพิธภัณฑ์รัฐสภา ก่อนที่ในปี 2541 จะย้ายไปจัดแสดงที่ห้องจัดแสดงพิพิธภัณฑ์รัฐสภา อาคารรัฐสภา
ทั้งนี้พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธี รัฐพิธี สำคัญๆ มากมาย อาทิ รัฐพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยล่าสุดคือพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
และยังเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีสถาปนา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ และการเสด็จออกมหาสมาคมของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชอีก 4 ครั้ง
อาคารที่ถูกใช้เป็นที่ทำการรัฐสภาแห่งแรกคือพระที่นั่งอนันตสมาคม โดยตัวพระที่นั่งเริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2451 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2458 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมใช้เวลาสร้างทั้งหมด 8 ปี โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานชื่อพระที่นั่งว่า พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งเป็นชื่อพระที่นั่งองค์หนึ่งภายในพระอภิเนาว์นิเวศน์ พระบรมมหาราชวัง สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระอภิเนาว์นิเวศน์นี้ต่อมามีสภาพทรุดโทรมยากแก่การบูรณะจึงได้รื้อลง
พระที่นั่งอนันตสมาคมเมื่อมองจากภายนอก ภาพถ่ายเมื่อ 3 กันยายน 2017
ที่มา: Midhun Subhash/Wikipedia (CC0)
การประชุมรัฐสภา สมัยรัฐบาล พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา
ภาพถ่ายราว พ.ศ. 2480 ที่มา: รัฐสภาไทย/Wikipedia (Public Domain)
ข้อมูลด้านสถาปัตยกรรม
ผู้ออกแบบ
หัวหน้าสถาปนิกคือ มาริโอ ตามานโญ (Mario Tamagno) มีเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นแม่กองจัดการก่อสร้าง และมีพระยาประชากรกิจวิจารณ์ (โอ อมาตยกุล) เป็นผู้ช่วย วิศวกรคือ ซี อัลเลกรี นอกจากนี้ยังมีเอกฤทธิ์ หมั่นเฟ้นดี (Ercole Manfredi) สถาปนิกชาวอิตาลี สังกัดกระทรวงโยธาธิการ เป็นผู้รับผิดชอบติดตั้งแผ่นทองแดงหลังคาโดมพระที่นั่งอนันตสมาคม โดยคุมการก่อสร้างหลังคาโดมจนแล้วเสร็จ
โดยตามาญโญ ผู้มีผลงานออกแบบอาคารสถานีรถไฟหัวลำโพง พระที่นั่งอัมพรสถาน บ้านนรสิงห์ (ทำเนียบรัฐบาล) บ้านพิษณุโลก วังบางขุนพรหม (ที่ทำการธนาคารแห่งประเทศไทย) ฯลฯ
ลักษณะสถาปัตยกรรม
พระที่นั่งอนันตสมาคม มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบนีโอเรอเนสซองส์ (Neo Renaissance) และนีโอคลาสสิก (Neo classic) ตกแต่งพระที่นั่งด้วยหินอ่อน ซึ่งสั่งมาจากเมืองคาร์รารา ประเทศอิตาลี โดยมีจุดเด่น คือมีหลังคาโดมคลาสสิกของโรมอยู่ตรงกลาง และมีโดมเล็กๆ โดยรอบอีก 6 โดม รวมทั้งสิ้นมี 7 โดม โดยโดมทั้งหมดทำขึ้นจากทองแดง ต่อมาเกิดสนิมสีเขียวขึ้นตามกาลเวลา ขนาดขององค์พระที่นั่งฯ ส่วนกว้างประมาณได้ 49.50 เมตร ยาว 112.50 เมตร และสูง 49.50 เมตร
ลักษณะของโดมมีอิทธิพลมาจากโดม วิหารเซนต์ปีเตอร์ แห่งนครรัฐวาติกัน และโบสถ์เซนต์ปอลแห่งกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
บนเพดานโดมมีภาพเขียนเฟรสโก เขียนบนปูนเปียก เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจที่สำคัญ ของรัชกาลที่ 1-6 จำนวน 6 ภาพ โดยฝีมือเขียนภาพของกาลิเลโอ คินี (Galileo Chini) และผู้ช่วยคือ คาร์โล ริโกลี (Carlo Riguli) และโจวันนิ สะกวันซิ (Giovanni Sguanci)
ว่ากันว่าศิลปินผู้มีชื่ออย่าง "เหม เวชกร"ซึ่งในเวลานั้นยังเป็นเด็กชายเหมอายุราว 11-12 ปี มีโอกาสใกล้ชิดกับจิตรกรเหล่านี้ด้วย เนื่องจากพ่อแม่หย่าร้างกันทำให้เขาอยู่กับลุงผู้อุปการะเป็นเวลาสั้นๆ คือ ม.ร.ว.แดง ทินกร โดย ม.ร.ว.แดงทำงานกับเจ้าพระยายมราช ผู้กำกับดูแลการก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม และ ม.ร.ว.แดง ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลจิตรกรชาวอิตาลี
และก็ด้วยคาร์โล ริโกลี เห็นฝีมือวาดภาพของเด็กชายเหม ที่เขียนสีชอล์กจนเปรอะสะพานท่าน้ำ จึงชักชวนและขออนุญาตจาก ม.ร.ว. แดง ให้เหมไปอยู่เป็นลูกมือบดสี ส่งพู่กัน ในงานเขียนภาพจิตรกรรมบนเพดานโดม ของพระที่นั่งอนันตสมาคม อย่างไรก็ตามเหมไม่มีโอกาสเดินทางไปศึกษาต่อด้านศิลปะที่อิตาลี เนื่องจากพ่อของเด็กชายเหมทราบเข้า จึงให้คนมาลักตัวเด็กชายเหมไปเสียก่อน
สำหรับภาพเขียนบนปูนเปียก บนเพดานโดมพระที่นั่งอนันตสมาคมมีรายละเอียดดังนี้
เพดานโดมด้านทิศเหนือ เป็นภาพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เสด็จกลับจากราชการทัพที่เขมร
เพดานโดมด้านทิศตะวันออก เป็นภาพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอุปถัมภ์งานศิลปะ
เพดานโดมด้านทิศตะวันตก เป็นภาพเหตุการณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับเบื้องหน้าพระพุทธชินสีห์ แวดล้อมด้วย พระภิกษุและนักบวชต่างชาติศาสนนิกายต่างๆ แสดงนัยแห่งพระราชจรรยา ที่ทรงเป็นองค์ศาสนูปถัมภกของทุกศาสนาโดยไม่รังเกียจกีดกัน
เพดานโดมด้านทิศใต้ของท้องพระโรงกลาง เป็นภาพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานอภัยทาน และทรงเลิกประเพณีทาส
เพดานโดมด้านทิศตะวันออกของท้องพระโรงกลาง เป็นภาพเหตุการณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกประทับ ณ พระที่นั่งบุษบกมาลาที่มุขเด็จ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เนื่องในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช เมื่อ พ.ศ. 2454
เพดานโดมกลาง ซึ่งเป็นโดมใหญ่ที่สุด มีจารึกพระปรมาภิไธยย่อ “จปร.” ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เพดานนับจากจากใต้โดมตลอดทั้งบริเวณท้องพระโรงกลางมีจารึกพระปรมาภิไธยย่อ “จปร.” สลับกัน “วปร.” อันเป็นพระปรมาภิไธยย่อของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
อ่านเพิ่มเติม
ศรันย์ ทองปาน. "ความทรงจำแห่งสยาม ของ กาลิเลโอ คินี",ใน นิตยสารสารคดี ปีที่ 17 ฉบับที่ 207 เดือน พฤษภาคม 2545 [อ่านออนไลน์]
ศรันย์ ทองปาน. "จิตรกรไร้สำนักเรียน ช่างเขียนนอกสถาบัน", ใน นิตยสารสารคดี ปีที่ 16 ฉบับที่ 188เดือนตุลาคม 2543 [อ่านออนไลน์]
พระที่นั่งอนันตสมาคม, วิกิพีเดีย [เข้าถึงข้อมูล 13 มิถุนายน 2561] [อ่านออนไลน์]
Mario Tamagno, Wikipedia [เข้าถึงข้อมูล 13 มิถุนายน 2561] [อ่านออนไลน์]
อาคารรัฐสภา
ใช้เป็นรัฐสภาตั้งแต่ 19 กันยายน พ.ศ. 2517 จนถึงปัจจุบัน
ก่อสร้าง 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513 แล้วเสร็จ พ.ศ. 2517
งบประมาณก่อสร้าง 51 ล้านบาท หรือ 0.14% ของงบประมาณแผ่นดินปี พ.ศ. 2517 (36,000,000,000 บาท)
การเดินทาง: รถเมล์สาย 70 (ถ.อู่ทองใน) 18, 28ร, 125ร, 515 (ถ.ราชวิถี)
รถไฟฟ้า BTS สถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ห่างออกไป 2.91 กม.
เส้นทางรถไฟฟ้าในอนาคต
MRT สายสีม่วง สถานีสามเสน (ห่างออกไป 0.78 กม.)
ข้อมูลด้านสถาปัตยกรรม
สถาปนิก พล จุลเสวก
สถาปัตยกรรม โมเดิร์น
อาคารรัฐสภาและประวัติศาสตร์การเมืองไทย
อาคารรัฐสภาที่ตั้งอยู่บน ถ.อู่ทองใน ตัดกับ ถ.ราชวิถีนั้น เริ่มมีการวางโครงการสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ หลังจากจำนวนสมาชิกรัฐสภาเพิ่มขึ้นตามอัตราประชากรที่เพิ่มขึ้น และจำต้องมีที่ทำการของข้าราชการฝ่ายรัฐสภา จึงจำต้องสร้างอาคารรัฐสภาที่รับความต้องการดังกล่าวได้ โดยมีการวางแผนสร้างถึง 4 ครั้ง แต่สามครั้งแรกไปไม่ตลอดรอดฝั่งเพราะคณะรัฐมนตรีซึ่งริเริ่มโครงการต้องพ้นจากตำแหน่งไปเสียก่อน ในครั้งที่สี่ เริ่มโครงการก่อสร้างเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513 มีกำหนดสร้างเสร็จภายใน 850 วัน ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 51,027,360 บาท ประกอบด้วยอาคารหลัก 3 หลัง คือ
หลังที่ 1 เป็นตึก 3 ชั้นใช้เป็นที่ประชุมวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร และการประชุมร่วมกันของสภาทั้งสอง ส่วนอื่น ๆ เป็นที่ทำการของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา ประธาน และรองประธานของสภาทั้งสอง
หลังที่ 2 เป็นตึก 7 ชั้น ใช้เป็นสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาและโรงพิมพ์รัฐสภา
หลังที่ 3 เป็นตึก 2 ชั้นใช้เป็นสโมสรรัฐสภา
สถานที่ทำการใหม่ของรัฐสภา ใช้ประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2517 สมัยรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ สมัยที 2 ส่วนพระที่นั่งอนันตสมาคมใช้แต่ในทางรัฐพิธีเกี่ยวกับรัฐสภา เช่น รัฐพิธีเปิดสมัยประชุม รัฐพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ
โดยอาคารรัฐสภาหลังปัจจุบันอยู่ร่วมกับการเมืองไทยสมัยใหม่หลายครั้งหลายหน โดยมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 12-13 ธันวาคม พ.ศ. 2517 สมัยรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ ผู้เสนอญัตติคือสมัคร สุนทรเวชและคณะ เกิดขึ้นที่อาคารรัฐสภาแห่งนี้ นับเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจในรอบ 27 ปี หลังจากทิ้งช่วงไปตั้งแต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 19-27 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 สมัยรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ร.น. ซึ่งผู้เสนอคือ พ.ต.ควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
โดยอาคารรัฐสภาปัจจุบันถูกใช้อภิปรายไม่ไว้วางใจนับตั้งแต่ครั้งที่ 6 เรื่อยมาจนถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ 41 เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 และลงมติเมื่อ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยมีผู้เสนอคือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (อ่านสถิติการอภิปรายไม่ไว้วางใจ)
และนอกจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ อาคารรัฐสภาแห่งนี้ยังผ่านร้อนผ่านหนาวมากับการเมืองไทยสมัยใหม่หลายหน ทั้งรัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้ง รัฐบาลกึ่งพลเรือน รัฐบาลทหาร ตั้งแต่การลงมติให้ความเห็นชอบรัฐธรรมนูญ 2540 เมื่อ 27 กันยายน พ.ศ. 2540 จนถึงการแย่งเก้าอี้สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาเมื่อ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 กรณี เชน เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ โยนเก้าอี้ระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพราะไม่พอใจที่ ส.ส.รัฐบาลพรรคเพื่อไทยไม่ยอมให้อภิปรายเรื่องราคายางพารา เมื่อ 5 กันยายน พ.ศ. 2556 (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
จนถึงการลงมติผ่าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม "เหมาเข่ง"เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ที่ปิดประชุมในเวลา 04.25 น. (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)เป็นเหตุแห่งการชุมนุมต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่บานปลายเป็นการชุมนุมของ กปปส. และเกิดการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ในเวลาต่อมา ฯลฯ
อ่านเพิ่มเติม
ประมวลข้อมูลรายงานการประชุม การภิปรายทั่วไปในรัฐสภา พ.ศ. 2477-ปัจจุบัน, เว็บไซต์รัฐสภา [อ่านออนไลน์]
อาคารรัฐสภาไทย, วิกิพีเดีย [อ่านออนไลน์]
สัปปายะสภาสถาน (กำลังก่อสร้าง)
จะใช้เป็นรัฐสภาตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2562 (ถ้าแล้วเสร็จ)
ก่อสร้าง 8 มิถุนายน พ.ศ. 2556 (คาดว่าจะแล้วเสร็จธันวาคม พ.ศ. 2562)
(เดิมคาดว่าจะแล้วเสร็จ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ต่อมามีการขยายเวลาก่อสร้าง 3 ครั้ง รวม 1,482 วัน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2562)
งบประมาณก่อสร้าง 22,987,266,200 บาท
ปี 2561 รัฐบาลอนุมัติเพิ่ม 512,500,000 บาท
รวมใช้งบประมาณ 23,499,766,200 บาท คิดเป็น 0.78 ของงบประมาณปี พ.ศ. 2562 (3,000,000,000,000 บาท)
การเดินทาง:รถเมล์สาย สาย 3, 16, 30ร, 32, 33ร, 49, 65, 66, 505 (ถ.สามเสน)
รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน/สายสีม่วง สถานีเตาปูน ห่างออกไป 2.34 กม.
เส้นทางรถไฟฟ้าในอนาคต
MRT สายสีม่วง สถานีรัฐสภา
สัปปายะสภาสถานและการเมืองไทยในยุคอันใกล้นี้
สัปปายะสภาสถาน เป็นโครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ของประเทศไทยและแห่งที่ 3 ของประเทศไทยแทนที่อาคารเดิมบริเวณ ถ.อู่ทองใน ข้างสวนสัตว์ดุสิต ข้อมูลจากวิกิพีเดียโครงการก่อสร้างตั้งอยู่ติดริ่มฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บนถนนทหาร (เกียกกาย) แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต โครงการได้ริเริ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2551 สมัยที่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ในการประชุมจัดหาสถานที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ จนมีมติเลือกที่เดินราชพัสดุถนนทหาร (เกียกกาย) แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต เป็นสถานที่ในการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่
สัปปายะสภาสถาน เป็นผลงานชนะเลิศการประกวดแบบของธีรพล นิยม ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) จากผู้ส่งประกวดรอบสุดท้ายทั้งหมด 5 ราย โดยนับเป็นการประกวดแบบครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศนับตั้งแต่การประกวดแบบสนามบินสุวรรณภูมิ ชิงเงินรางวัลชนะเลิศสูงถึง 200 ล้านบาท มีผู้ส่งเข้าประกวดทั้งหมด 133 ราย และผ่านเข้าในรอบสุดท้ายทั้งหมด 5 ราย
โดยเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ก็ได้มีการตัดสินคัดเลือกแบบของธีรพล นิยม โดยมีกรรมการ 12 คนประกอบไปด้วย สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ด้านสถาปัตยกรรมสถาน สภาวิศวกรรม และศิลปินแห่งชาติ พิจารณาการประกวดโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่
สำหรับอาคารได้รับการวางศิลาฤกษ์ในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2553 โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารรัฐสภาแห่งใหม่
โครงการได้เริ่มวางเสาเข็มตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2556 โดยมีบริษัทซิโนไทยเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งเดิมต้องแล้วเสร็จภายใน 900 วัน หรือในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 แต่ปัจจุบันโครงการได้ล่าช้าออกไป เนื่องจากปัญหาการส่งมอบพื้นที่และการปรับรายละเอียดแบบก่อสร้างในบางส่วน ทำให้โครงการได้เลื่อนออกไป โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปี 2562
ส่วนปัญหาที่ทำให้การก่อสร้างล่าช้านั้น จเร พันธ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่าเป็นเพราะการส่งมอบพื้นที่ไม่เป็นไปตามสัญญา พื้นที่บางส่วนยังไม่ได้รับมอบคืนจากหน่วยงานเดิม การขนย้ายดินออกจากพื้นที่ก่อสร้างไม่เป็นไปตามแผน และปัญหาอุทกภัยปี พ.ศ. 2554
ข้อมูลด้านสถาปัตยกรรม
สถาปนิก ธีรพล นิยมและคณะ
งานสถาปัตยกรรมไทย ภิญโญ สุวรรณคีรี และเผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี
สวน ปิยเมศ ไกรฤกษ์
โครงสร้าง เสาเข็มทั้งหมดจำนวน 1,673 ต้น
เสาไม้สักจำนวน 4,000 ต้นล้อมรอบอาคาร
พื้นที่ใช้สอย 424,000 ตร.ม.
จากข้อมูลในวิกิพีเดียสำหรับชื่อ "สัปปายะสภาสถาน"เป็นการรวมคำระหว่าง "สัปปายะ"และ "สภาสถาน"โดย "สัปปายะ"หรือ "สัปปายะ 7"ซึ่งแปลว่า สิ่งที่สบาย, สภาพเอื้อ, สิ่งที่เกื้อกูล, สิ่งที่เหมาะสมกัน เมื่อรวมกับ "สภาสถาน"จึงมีความหมายถึง สภาที่มีแต่ความสงบร่มเย็นสบาย
โดยสถาปนิกได้ออกแบบนำเสนอคติและสัญลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมของไทยในอดีตผสมผสานไปกับเทคโนโลยีการก่อสร้าง ระบบโครงสร้างทางสังคม และระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขในปัจจุบัน ผ่านทางรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่บนพื้นฐานทางภาษาและฉันทลักษณ์ตามอย่างสถาปัตยกรรมไทยแบบประเพณี ตามคติ ไตรภูมิ ที่นอกจากจะแสดงเอกลักษณ์ทางจิตวิญญาณถึงความเป็นไทย ยังมีความหมายเพื่อให้คนไทยและเหล่า ฯพณฯ ที่ดี และพวกบรรดานักการเมืองในเสื้อสูทประชาธิปไตย เมื่อเข้ามาอยู่ในสภาจะสำนึกถึง "บาปบุญคุณโทษ"พลิกฟื้นจิตใจผู้คนให้ประกอบกรรมดี นอกจากนี้ยังใช้แนวคิดของ "สถาปัตยกรรมสีเขียว" (Green Architecture) ซึ่งเห็นได้จากการปลูกต้นไม้ใหญ่ล้อมรอบอาคาร
สัปปายะสภาสถาน เป็นโครงการสร้างรัฐสภาขนาดใหญ่ บนพื้นที่ดิน 191,356 ตารางเมตร มีพื้นที่ใช้สอยในอาคาร 424,000 ตารางเมตร มีความสูงจากฐานถึงยอดเจดีย์พระสุเมรุ 134.56 เมตร ภายในประกอบด้วยโถงรับรอง ส.ส. และ ส.ว., ห้องประชุมของ ส.ส. หรือที่เรียกว่า "ห้องพระสุริยัน", ห้องประชุม ส.ว. หรือที่เรียกว่า "ห้องพระจันทรา", โถงรัฐพิธี, พิพิธภัณฑ์ประชาธิปไตย, ห้องอาหาร ส.ส., ห้องอาหาร ส.ว. ในส่วนของดาดฟ้าอาคาร ประกอบด้วยกำแพงแก้วล้อมรอบส่วนเจดีย์และพิพิธภัณฑ์ชาติไทย
สัปปายะสภาสถาน ถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งการวิจารณ์ว่าออกแบบที่เหมือน "วัด"โดย ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็ได้ออกมาวิจารณ์ในช่วงที่มีการประกวดแบบในปี พ.ศ. 2552 ว่า ใช้ความหมายเดิมๆ ศีลธรรมเป็นเรื่องจอมปลอม ไม่คำนึงถึงปัญหาความขัดแย้งทางศาสนาของสังคม และการใช้งานไม่เอื้อให้เป็นพื้นที่ของประชาชนอย่างแท้จริง รวมทั้งการใช้แนวคิดด้านพระพุทธศาสนามากเกินไปจนไม่มีมุมมองด้านประชาธิปไตย หรือการออกแบบที่อยู่ในกรอบของภาษาความเป็นไทยทางสถาปัตยกรรม (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
อ่านเพิ่มเติม
สัปปายะสภาสถาน, วิกิพีเดีย [อ่านออนไลน์]
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai