(22 ส.ค.56) เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า ที่ห้องพิจารณา 505 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถนนเจริญกรุง ศาลอ่านคำพิพากษาในคดีที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายอาญากรุงเทพใต้ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายซาอิด โมราดิ และนายมูฮัมหมัด ฮาซาอิ สัญชาติอหร่าน เป็นจำเลยที่ 1 และ 2 ตามลำดับ ในความผิดฐานก่อให้เกิดระเบิด ก่อให้เกิดเพลิงไหม้ ทำให้เสียทรัพย์ พระราชบัญญัติอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน พ.ศ.2490 และพยายามฆ่าผู้อื่น รวม 6 ข้อหา
จากกรณีที่จำเลยทั้งสองร่วมกันทำให้เกิดเหตุระเบิดที่บริเวณซอยปรีดีพนมยงค์ รวม 3 จุด เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2555 จำเลยทั้งสองคนประกอบระเบิดแสวงเครื่องใส่ในเครื่องรับวิทยุ จนทำให้นายซาอิด บาดเจ็บขาซ้ายขาดและตาขวาบอด และทรัพย์สินในที่เกิดเหตุได้รับความเสียหายจำนวนมาก ศาลพิพากษาว่า นายซาอิด โมราดิ จำเลยที่ 1 ตามพ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 และมีความผิดในข้อหาใช้วัตถุระเบิดและทำให้เกิดระเบิด โดยพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่และผู้อื่น ให้จำคุกตลอดชีวิต
นอกจากนี้ ให้ชดใช้ค่าเสียหายให้กับบริษัททรู 6,691 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. 2555 จนกว่าจะชดใช้หมด เนื่องจากระเบิดทำตู้โทรศัพท์สาธารณะเสียหาย และปรับเงิน 100 บาท ฐานพกพาอาวุธไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร
ส่วนมูฮัมหมัด ฮาซาอิ จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ.2490 จำคุก 15 ปี และให้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายกับเจ้าของบ้านเป็นเงิน 2 ล้านบาท
ทั้งนี้ การพิพากษาในวันนี้มีเอกอัครราชทูตประเทศอิสราเอล เข้าร่วมฟังคำพิพากษาด้วย
สำหรับคดีนี้ อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องจำเลย 5 คน โดยมีผู้ต้องหา 2 คนหนีกลับประเทศอิหร่านก่อนเกิดเหตุระเบิด คือ นางไลล่า โรฮานี่ และนายนูโรซิ ซายัน อารี อัคบาร์ ส่วนนายซีดา การ์ด ซาเดด มะห์ซูด มาเซเดกัส ผู้ต้องหาที่ร่วมก่อเหตุถูกดำเนินคดีอยู่ในประเทศมาเลเซีย ซึ่งไทยได้ประสานขอให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนแล้ว และศาลชั้นต้นมาเลยเซียมีคำพิพากษาให้ส่งตัวมาดำเนินคดีในไทย แต่จำเลยอยู่ระหว่างอุทธรณ์คดี
ด้านนายกิตติพงษ์ เกียรติธนภูมิ ทนายความจำเลย กล่าวว่า ในเรื่องอุทรณ์จะยื่นหรือไม่โดยหลังจากนี้จะเข้าไปคุยกับจำเลยทั้งสองในเรือนจำ พร้อมทั้งปรึกษากับครอบครัวของจำเลยทั้งสองว่ามีความเห็นอย่างไร ซึ่งหากจะยื่นอุทรณ์ต้องทำภายใน 30 วัน ทั้งนี้ ภายหลังทราบคำพิพากษา จำเลยที่ 2 รู้สึกดีใจในผลคำพิพากษา ส่วนจำเลยที่ 1 ไม่มีปฏิกิรยาใดๆ อย่างไรก็ตาม ระหว่างไทยกับประเทศอิหร่าน มีสนธิสัญญาแลกเปลี่ยนตัวนักโทษกันอยู่ ซึ่งสามารถประสานขอตัวจำเลยไปคุมขังประเทศบ้านเกิดได้
ส่วนเรื่องคดีก่อการร้าย อัยการไม่ได้ฟ้องข้อหานี้ เป็นเพียงข้อกล่าวอ้างของตำรวจเท่านั้น