นักศึกษาชายแดนใต้ในนาม PERMAS ออกโรงประชาสัมพันธ์ รณรงค์ เชิญชวนคนในพื้นที่ร่วมงานเวทีเสวนากระบวนการเจรจาสันติภาพ เพื่อเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมเกี่ยวกับแนวทางสู่สันติภาพที่ส่งผลโดยตรงต่อคนในพื้นที่
เมื่อวันที่ 17-19 มีนาคม 2556 นักศึกษาชายแดนใต้รวมตัวกันในนาม สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ [PERMAS] ออกโรงประชาสัมพันธ์ รณรงค์เชิญชวนให้คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกภาคส่วน ร่วมงานเวทีเสวนา หรือ Bicara Patani ในหัวข้อ “28 ก.พ. : สัญญาณบวกหรือลบต่อกระบวนการสันติภาพปาตานี” ในวันที่ 23 มีนาคม 2556 เวลา 13.00 น. – 16.30 น. ณ หอประชุมสำนักงานอธิการบดี (สนอ.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่สร้างการมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนในพื้นที่ ผ่านการเรียนรู้ในเรื่องหลักการ เงื่อนไข และขั้นตอนของกระบวนการเจรจาสันติภาพตามหลักสากลที่แท้จริง
นายกริยา บิน วันอาห์หมัด มูซอ เลขาธิการ PERMAS กล่าวว่า “วัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ เนื่องจากเวทีการพูดคุยระหว่างรัฐไทยและ BRN ที่ผ่านมาและที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 28 มีนาคม 2556 นี้ ภาคประชาสังคมและภาคประชาชนควรจะมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมของตนเองด้วย โดยเฉพาะภาคประชาชนผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียมากที่สุด
พวกเราเล็งเห็นถึงความสำคัญว่าควรที่จะเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ถึงข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวกับกระบวนการเจรจาสันติภาพ เพื่อเป็นการยกระดับองค์ความรู้สู่การนำไปวิเคราะห์และสังเคราะห์ต่อได้” กริยา กล่าว
นายกริยากล่าวต่อว่า “เวทีครั้งนี้เราร่วมจัดกันหลายองค์กร ซึ่งมีองค์ภาคีที่ร่วมจัดอยู่ประมาณ 10 องค์กรด้วยกัน แต่ผู้จัดงานหลักในเรื่องของกระบวนการเวทีเสวนาปาตานี หรือ Bicara Patani ก็จะเป็นสำนักสื่อ Wartani ส่วนทางนักศึกษาเองก็จะช่วยอำนวยความสะดวกในเรื่องต่างๆอย่างเช่น เรื่องสถานที่ การประชาสัมพันธ์งาน เป็นต้น” กริยา กล่าว
นายรอซาลี บิน อุสมาน สานานะอะ รองเลขาธิการ PERMAS กล่าวว่า “สำหรับหน้าที่ของพวกเราคือ เจ้าภาพงาน ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ในส่วนของพวกเราก็จะมีการจัดเตรียมสถานที่ และลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมาร่วมกันมีส่วนร่วมในงานครั้งนี้ด้วย โดยเราจะแยกเป็นสามกลุ่มหลักๆด้วยกัน เพื่อจะได้เข้าถึงคนในพื้นที่ทุกคนจริงๆ
โดยมีสมาพันธ์นักศึกษาจังหวัดยะลา [PERMAS YALA] สมาพันธ์นักศึกษาจังหวัดนราธิวาส [PERMAS NARATHIWAT] และสมาพันธ์นักศึกษาจังหวัดปัตตานี [PERMAS PATTANI] ร่วมกับสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดสงขลา [PERMAS SONGKHLA] แบ่งโซนประชาสัมพันธ์เป็นจังหวัดต่างๆในพื้นที่ปาตานี” รอซาลี กล่าว
นายฟัรดี บิน การี ซาและ นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร
ม.ราชภัฎยะลา ชั้นปีที่ 4 และเลขาธิการ PERMAS YALA กล่าวว่า “พวกเราลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์งานในครั้งนี้ก็เพื่อต้องการให้ประชาชนตื่นตัวทางการเมืองมามีส่วนร่วมในกระบวนการเจรจาเพื่อสันติภาพของตนเองด้วย
สำหรับนักศึกษาจังหวัดยะลาร่วมกับนักศึกษาจากภาคใต้ตอนบน ในนาม PERMAS YALA เราได้ลงไปหลายพื้นที่มาก โดยใช้เวลาสามวันด้วยกัน ตั้งแต่วันที่ 17-19 มีนาคม 2556 หากจะจำแนกตามอำเภอก็มี อ.เมือง อ.รามัน อ.กรงปีนัง อ.บือนังสตา อ.ธารโต อ.กาบัง อ.ยะหา อ.นาทวี และ อ.สะบ้าย้อย เป็นต้น และคาดว่าวันที่ 23 มีนาคม 2556 ชาวบ้านคงจะทยอยออกมาอย่างมากจากการประเมินถึงความสนใจของชาวบ้านเอง” ฟัรดี กล่าว
นายอัสมาดี บิน อาห์หมัด บือเฮง นักศึกษาคณะวิทยาลัยอิสลาม มอ.ปัตตานี ชั้นปีที่ 3 และกรรมการบริหาร PERMAS PATTANI กล่าวว่า “ประชาชนในพื้นที่ให้ความสนใจมาก บางคนถึงกับขอบคุณและขอให้พวกเรา หรือนักศึกษายึดมั่นในการเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพปาตานีต่อไป และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความสนใจจากทุกฝ่าย ทุกชนชั้น ในสังคมปาตานี รวมทั้งประชาชนจากต่างพื้นที่ และหวังว่าคู่ขัดแย้งหลักอย่างรัฐไทย และ BRN จะให้ความสำคัญต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของพื้นที่อย่างแท้จริงเป็นหลัก” อัสมาดี กล่าว
นางสาวนาซูฮา บินตี อับดุลลอฮฺ มามุ คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมสาสตร์ มอ.ปัตตานี ชั้นปีที่ 2 และสมาชิก PERMAS PATTANI กล่าวว่า “การลงพื้นที่ครั้งนี้เราร่วมกับนักศึกษาจากสงขลา เราได้ลงไปหลายหมู่บ้านตามมติ PERMAS ให้ลงพื้นที่กระจายข่าวสารให้ถึงก้นบึ้งของชายขอบจริงๆก็จะมี อ.สายบุรี อ.ไม้แก่น อ.กะพ้อ อ.มายอ อ.ทุ่งยางแดง อ.ยะหริ่ง อ.ปานาเระ อ.โคกโพธิ์ อ.แม่ลาน อ.ยะรัง อ.เมือง จ.ปัตตานี และเทศบาลต้นไทร จ.นราธิวาส
คาดว่าประชาชนที่พวกเราได้เข้าไปพูดคุยน่าจะเข้าร่วมงานครั้งนี้อย่างมากและหลากหลาย เพราะเสียงตอบรับมานั้นประชาชนเห็นด้วยและพร้อมที่จะเข้ามาร่วมทำความเข้าใจด้วยกัน พวกเขาบอกว่า เขาจะต้องออกมาแสดงถึงสิทธิของตนเองในการกำหนดเงื่อนไขต่างๆเพื่อนำไปสู่โต๊ะการเจรจาสันติภาพให้ได้” นาซูฮา กล่าว”