(8 ส.ค.56) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติออกแถลงการณ์ เรื่อง กรณีมีการกล่าวหาว่ามีการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนอันเกิดจากการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคง และการดำเนินการของกระบวนการทางนิติบัญญัติในการตรากฎหมายนิรโทษกรรม โดยมีรายละเอียดดังนี้
แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
เรื่อง กรณีมีการกล่าวหาว่ามีการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนอันเกิดจากการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคง และการดำเนินการของกระบวนการทางนิติบัญญัติในการตรากฎหมายนิรโทษกรรม
ตามที่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ในเขตพื้นที่เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตดุสิต กทม.ระหว่างวันที่ 1-10 สิงหาคม 2556 โดยให้เหตุผลว่ามีสถานการณ์ที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงและมีแนวโน้มจะยืดเยื้อเป็นเวลายาวนาน เนื่องจากจะมีการชุมนุมของประชาชนที่ออกมาคัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรม โดยมอบหมายให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นผู้รับผิดชอบตามกฎหมาย ซึ่งต่อมาก็ได้มีประกาศห้ามบุคคลเข้าออกบริเวณรัฐสภาและทำเนียบรัฐบาล
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ได้รับหนังสือร้องเรียนจากผู้แทนกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณและคณะเสนาธิการร่วม เรื่อง ขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีการประกาศ การบังคับใช้ การปฏิบัติหน้าที่ที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี, คณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร, ผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อย พนักงานเจ้าหน้าที่ คณะที่ปรึกษา, ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและเจ้าหน้าที่ตำรวจ, เจ้าหน้าที่รัฐอื่นที่เกี่ยวข้องว่าละเมิดต่อการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง รวมถึงคำร้องเรียนเพื่อขอให้ตรวจสอบในกรณีที่เกี่ยวข้องอื่นๆ นั้น ในการตรวจสอบตามบทบาทอำนาจหน้าที่ของ กสม.ในฐานะที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ตระหนักดีว่า การดำเนินการในเรื่องนี้ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2542 ที่ได้ให้อำนาจไว้ ในการนี้ได้มอบหมายให้ กสม.บางท่าน และมอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองตรวจสอบในเรื่องนี้โดยได้มีการลงพื้นที่การชุมนุมด้วย
ในเบื้องต้น กสม.ได้รับทราบถึงการดำเนินการของคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ตามที่ขอแถลงท่าทีต่อกรณีดังกล่าว ดังนี้
1. ประชาชนผู้ชุมนุมย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 63 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ. 1966 ข้อ 21 โดยรัฐบาลจะนำมากล่าวอ้างว่า การใช้เสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนดังกล่าว เป็นเงื่อนไขของกฎหมายที่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของรัฐบาลไม่ได้ และการที่รัฐบาลใช้มาตรการตามพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรต่อผู้ชุมนุมและประชาชนทั่วไป เช่น การจำกัดพื้นที่ในการเดินทาง หรือการจำกัดช่องทางในการติดตามข้อมูลข่าวสาร จึงเป็นมาตรการที่มีผลเป็นการละเมิดและยับยั้งการใช้สิทธิและเสรีภาพ และลิดรอนการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญของประชาชน
เนื่องจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวปัญหาการประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ที่มีลักษณะกระทบสิทธิและเสรีภาพอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาตลอดระยะเวลา 5 – 6 ปีที่ผ่านมา โดย กสม.พบว่า มาตรา 15 ของพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ที่ให้อำนาจรัฐบาลในการประกาศใช้กฎหมายนี้ได้นั้น ต้องเป็นกรณีที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และเหตุการณ์นั้นมีแนวโน้มที่จะมีอยู่เป็นเวลานาน ทั้งไม่สามารถแก้ได้ด้วยอำนาจหน้าที่ หรือความรับผิดชอบของหน่วยงานของรัฐที่มีอยู่ตามปกติ ดังนั้น การประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงต้องมีเหตุเกิดขึ้นก่อน และเหตุการณ์นั้นมีแนวโน้มที่จะมีอยู่ต่อไปเป็นเวลานาน แต่การที่รัฐบาลอ้างเหตุเพียงว่า การชุมนุมของประชาชนหรือฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลเป็นเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ทั้งยังไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นแต่อย่างใด จึงเป็นการใช้อำนาจเกินความจำเป็น และเกินสมควรแก่เหตุ เนื่องจากกลไกตามกฎหมายที่มีอยู่ตามปกติก็เพียงพอที่รัฐจะสามารถจัดการให้การชุมนุมเป็นไปอย่างสงบอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญได้อยู่แล้ว จึงไม่มีเงื่อนไขเพียงพอที่จะประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงแต่อย่างใด การประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงของรัฐบาลจึงมีลักษณะละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินขอบเขตที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองและคุ้มครองไว้ กสม.จึงใคร่ขอให้รัฐบาลพิจารณายกเลิกประกาศกฎหมายดังกล่าวโดยทันที และให้ปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมโดยยึดหลักนิติรัฐ หลักนิติธรรม และหลักการแห่งการเคารพสิทธิมนุษยชนตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
2. กสม.ขอแสดงความกังวลต่อการใช้อำนาจรัฐที่มีการกล่าวหาว่า มีลักษณะคุกคามต่อการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ดังเช่น กรณีเจ้าหน้าที่ผู้ใช้อำนาจรัฐจะเรียกตัวนายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บรรณาธิการข่าวการเมืองและความมั่นคง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และนายเดชาธร ธีรพิริยะ แกนนำคนเสื้อแดงจังหวัดชลบุรี ที่ใช้นามแฝงว่า ปุ๊ ชลบุรี นักสู้ธุลีดิน นางสาววารุณี คำดวงศรี และผู้ใช้นามแฝงว่า Yo Onsine อดีตผู้ร่วมถ่ายทำรายการแดดร่มชมตลาดผู้โพสต์ข้อความในลักษณะจะมีการปฏิวัติรัฐประหาร และขอให้ประชาชนกักตุนน้ำและอาหารให้พร้อม ผ่านโซเชียลมีเดีย ทำให้ประชาชนตื่นตระหนก มาสอบสวน ซึ่งหากพบว่ากระทำผิดจริง พนักงานสอบสวนจะแจ้งข้อหาผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแก่กฎหมายแผ่นดิน เกิดความปั่นป่วน ซึ่งจะก่อให้เกิดความไม่สงบในราชอาณาจักร ซึ่งการใช้อำนาจรัฐดังกล่าวต้องตั้งอยู่ในสมมุติฐานแห่งความชอบธรรม สมเหตุสมผล และมีความยุติธรรม เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปในกรอบของรัฐธรรมนูญและกฎหมายอย่างเคร่งครัด
3. กรณีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ระหว่างวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2554 ฉบับของนายวรชัย เหมะ ส.ส.พรรคเพื่อไทยจังหวัดสมุทรปราการกับคณะเป็นผู้เสนอ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรกำลังพิจารณาอยู่ในขณะนี้ นั้น กสม.เห็นว่าเรื่องนี้มีความละเอียดอ่อนต่อการดำเนินการตามหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรมตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ อาจนำมาซึ่งการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของรัฐและบุคคลที่มีส่วนสร้างสถานการณ์ความรุนแรงต่อชีวิตและร่างกายของผู้อื่น อาจกระทบต่อความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม อีกทั้งประเด็นนี้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้มีความเห็นแถลงต่อกรณีดังกล่าวว่า ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมซึ่งกำลังพิจารณาในที่ประชุมสภาในขณะนี้อาจเป็นการไม่ชอบ และเรียกร้องรัฐบาลไทยว่า ควรจะต้องแน่ใจว่าการนิรโทษกรรมใดๆ ก็ตาม จะต้องไม่รวมไปถึงผู้ที่จะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน และใช้มาตรการเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดดังกล่าว และรัฐบาลไทยจะสร้างเป็นบรรทัดฐานที่สำคัญ หากยังปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนของไทยเอง รวมถึงคุมตัวผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของประชาชน และผู้ได้รับบาดเจ็บในระหว่างชุมนุมประท้วงดังกล่าว
ดังนั้น กฎหมายนิรโทษกรรมควรออกมาในสภาวการณ์ที่สุกงอมในเรื่องการทำให้สิทธิการรับรู้ความเป็นจริงปรากฏต่อสาธารณชน และนำไปสู่การได้ข้อสรุปในความเป็นจริงที่เข้าใจและยอมรับในเรื่องการไม่เอาผิดต่อประชาชนที่เข้ามาใช้สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ดังนั้น ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการทางนิติบัญญัติสมควรพิจารณาข้อเรียกร้องที่ให้มีการชะลอการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว แล้วเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายดังกล่าวอย่างกว้างขวางและทั่วถึง อันนำไปสู่การลดเงื่อนไขที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นของสังคมและประชาชนในชาติในฐานะที่เป็นพลเมืองไทย
4. กรณีการงดการถ่ายทอดสดการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ของสภาผู้แทนราษฎรทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 NBT นั้น กสม.เห็นว่า กรณีนี้เป็นความจำเป็นที่มีประชาชนให้ความสนใจติดตามการดำเนินการของกระบวนการนิติบัญญัติของประเทศ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสมควรจัดให้มีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ให้กว้างขวาง เพื่อให้เสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลสาธารณะตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ของประชาชนบรรลุผลในทางปฏิบัติ จึงขอเรียกร้องมายังรัฐบาลและรัฐสภาได้พิจารณาจัดให้มีถ่ายทอดสดทางช่อง 11 NBT เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้โดยง่าย
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
8 สิงหาคม 2556