นักกิจกรรมและผู้ผลิตสื่อ นำเสนอประสบการณ์จากผู้หญิงชาวไอร์แลนด์ 12 คนที่ต้องเดินทางไปทำแท้งในอังกฤษ ผ่านภาพยนตร์เรื่อง No More Shame ซึ่งจะฉายที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะในไอร์แลนด์ และผ่านทางเว็บยูทูบ เฟซบุ๊ก วันพฤหัสฯ นี้ เพื่อชวนสังคมอภิปรายในประเด็นนี้หลังทางการไอร์แลนด์ปรับกฎหมายทำแท้ง ที่ห้ามแม้กระทั่งผู้ถูกข่มขืน ผู้ที่ทารกเป็นโรคร้ายแรงถึงชีวิต ทำแท้งภายในประเทศ
ส่วนหนึ่งของวิดีโอรณรงค์ จาก http://www.youtube.com/user/NoMoreShameIreland
7 ส.ค. 2013 สำนักข่าวเดอะการ์เดียนเปิดเผยว่า ในวันพฤหัสบดีนี้ (8 ส.ค.) ที่เมืองคอร์ก สาธารณรัฐไอร์แลนด์จะมีการนำเสนอวิดีโอเรื่อง No More Shame (อย่าได้มีอีกเลย ความอดสู) ซึ่งเป็นเรื่องราวของผู้หญิงหลายคนในไอร์แลนด์ที่จำเป็นต้องเดินทางข้ามไปยังอังกฤษเพื่อทำแท้ง
ภาพยนตร์ดังกล่าวให้ผู้หญิง 12 คนที่ออกมาพูดถึงประสบการณ์ของตนเองเป็นครั้งแรก เพื่อเป็นการตอบโต้กฎหมายการปฏิรูปการทำแท้งของรัฐบาลไอร์แลนด์ที่ห้ามไม่ให้ผู้หญิงทำแท้งภายในสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ทำให้นักกิจกรรมหลายคนไม่พอใจ
กฎหมายปฏิรูปการทำแท้งดังกล่าวมีการผ่านร่างเมื่อเดือนที่ผ่านมา ซึ่งระบุห้ามไม่ให้ผู้หญิงที่เป็นเหยื่อข่มขืน สมสู่ร่วมสายโลหิต และผู้หญิงที่ทราบว่าทารกในครรภ์ของตนไม่สามารถมีชีวิตรอดได้เนื่องจากความผิดปกติตั้งแต่ในครรภ์ ทำแท้งภายในไอร์แลนด์
ภาพยนตร์เรื่อง No More Shame มาจากปากคำของผู้หญิงชาวไอร์แลนด์ 12 คน ที่เดินทางไปอังกฤษเพื่อทำแท้งแต่จะมีการพากย์เสียงทับโดยนักพากย์เพื่อคุ้มครองการระบุตัวตนของพวกเธอ ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการข่มขู่ที่อาจจะเกิดขึ้นได้
ภาพยนตร์ดังกล่าวจะมีการจัดฉายในวันพฤหัสฯ นี้ ที่ศูนย์ศิลปะทริสเคลในเมืองคอร์ก สาธารณรัฐไอร์แลนด์ พร้อมกับการแสดงนิทรรศการศิลปะเกี่ยวกับประสบการณ์ทำแท้งในชีวิตจริง นอกจากนี้ยังมีการเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊ก และยูทูบในวันเดียวกัน และมีการเชิญชวนให้ผู้ใช้อัพโหลดวิดีโอของตัวเองที่พูดถึงประเด็นในเรื่องนี้ด้วย
โครงการภาพยนตร์ชุดนี้จัดทำโดยลอว์รา คินเซลลา นักวิจัยและผู้ผลิตสื่อให้นักกิจกรรม ร่วมกับ ลิซ ดันฟี นักข่าวและผู้ผลิตภาพยนตร์ พวกเธอบอกว่าเป้าหมายของพวกเธอคือต้องการให้ผู้หญิงทั้ง 12 คนได้มีโอกาสพูดถึงประสบการณ์ที่ต้องเดินทางไปทำแท้งและกระตุ้นให้เกิดการอภิปรายในประเด็นที่เงียบหายไปในการถกเถียงสาธารณะ
"นานมาแล้วที่วัฒนธรรมของความเงียบทำให้เราไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้ โดยมีการสร้างกำแพงกฎหมายเพื่อกีดกั้นสิทธิขั้นพื้นฐานในการเจริญพันธุ์"ดร.แซนดรา แมคอวอย จากภาควิชาสตรีศึกษาของมหาวิทยาลัยคอร์กกล่าว
แซนดรา ชี้ให้เห็นอีกว่าการเปลี่ยนแปลงกฎหมายการคุ้มครองชีวิตช่วงตั้งครรภ์ปี 2013 (Protection of Life During Pregnancy Act 2013) อาจมีส่วนในการทำให้ไม่สามารถช่วยชีวิตของ สาวิตา ฮาลาปันนาวาร์ ผู้เสียชีวิตจากการถูกปฏิเสธไม่ให้มีการทำแท้งฉุกเฉินเมื่อปีที่ผ่านมา
"กฎหมายนี้ทำให้ผู้หญิงที่ต้องการทำแท้งภายในเขตไอร์แลนด์ถือเป็นอาชญากรรม แม้แต่ในกรณีที่ถูกข่มขืน กฎหมายนี้ไม่ได้ช่วยเหลือคู่สามีภรรยาที่ถูกวินิจฉัยว่าลูกในครรภ์ไม่สามารถรอดชีวิตได้เพราะมีความผิดปกติในครรภ์ ภาพยนตร์ No More Shame เป็นการสำรวจเรื่องราวความยุ่งยากซับซ้อนของการตั้งครรภ์ในภาวะวิกฤต ที่ยังคงเป็นเรื่องห้ามพูดถึง มีเป้าหมายต้องการให้มีการแลกเปลี่ยนอภิปรายกันด้วยความเป็นคน และทำให้เห็นความสำคัญในการเคารพชีวิตของผู้หญิงที่นอกเหนือไปจากความสามารถในการสืบเผ่าพันธุ์"แซนดรา บอกอีกว่า ข้อถกเถียงเรื่องนี้ในเชิงกฎหมายและศาสนาเหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้หญิง
แคลร์ (นามสมมติ) เป็นหนึ่งในผู้เล่าประสบการณ์ผ่าน No More Shame เธอบอกว่าเธอกับสามีอยากมีลูก แต่เธอตรวจพบว่าทารกในครรภ์ของเธออยู่ในภาวะไม่มีกะโหลกศีรษะและสมอง (Anencephaly) ซึ่งจะทำให้เด็กเกิดมาไม่มีสติรับรู้ ไม่รู้สึกตัว และมักจะเสียชีวิตภายหลังคลอดไม่กี่ชั่วโมง ทำให้เธอคิดว่าลูกของเธอคงไม่ได้สัมผัสทั้งความสุขและความเจ็บปวด จึงตัดสินใจเอาเด็กออก แต่กฎหมายของไอร์แลนด์ก็ไม่อนุญาต ทำให้เธอต้องเดินทางไปที่คลินิกในอังกฤษ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกสบายใจขึ้นมาก "คนทำงานที่นั่นเย็นชามาก ฉันอยากบอกพวกเขาว่ามันคือช่วงเวลาที่แย่ที่สุดในชีวิตฉัน และฉันอยากมีลูก"
กระทรวงสาธารณสุขของสาธารณรัฐไอร์แลนด์เปิดเผยว่ามีผู้หญิงชาวไอร์แลนด์ราว 4,000 คนเดินทางไปยังสถานพยาบาลในอังกฤษเพื่อทำแท้งเมื่อปี 2012 โดยมี 124 คนที่เป็นผู้หญิงอายุต่ำกว่า 18 ปี
ก่อนหน้านี้เมื่อปี 1992 ศาลสูงสุดของไอร์แลนด์เคยตัดสินให้มีการอนุญาตทำแท้งหากการตั้งครรภ์เป็นอันตรายต่อมารดา
ทางการไอร์แลนด์ยังได้ถูกกดดันจากศาลสิทธิมนุษยชนของสหภาพยุโรปเรื่องการละเมิดสิทธิของผู้หญิงที่กำลังรักษาตัวจากการเป็นมะเร็งต้องเดินทางออกไปทำแท้งนอกประเทศ แม้จะมีการปฏิรูปกฎหมายใหม่แล้ว แต่ก็ยังไม่มีการอนุญาตให้ผู้หญิงที่อยู่ในสภาพเดียวกันทำแท้งในประเทศ
เรียบเรียงจาก
Irish film breaks silence on abortion trail to UK, The Guardian, 07-08-2013
http://www.theguardian.com/world/2013/aug/07/irish-film-no-more-silence-abortion-uk
DAN BUCKLEY: Women tell abortion stories as they urge No More Shame, Irish Examiner, 07-08-2013
http://www.irishexaminer.com/ireland/cwmhsnauqloj/rss2/